ทองย้อย แสงสินชัย


บทความชุด “ทำบุญวันพระ” (๓๓)

------------------------------

อนุโมทนา + กรวดน้ำ (๔)

------------------------------

พระสงฆ์อนุโมทนา คือขึ้นบท ยะถา-สัพพี มีคำที่พูดกันเป็นเชิงปริศนาธรรมว่า “ยะถาให้ผี สัพพีให้คน”

คำนี้ไม่ใช่แค่คำคล้องจองธรรมดา แต่มีความหมายที่น่าศึกษา

“ยะถา” ในที่นี้เป็นคำขึ้นต้นบทอนุโมทนา คำเต็มๆ ของบท “ยะถา” มีดังนี้ -

.........................................................

ยะถา  วาริวะหา  ปูรา      ปะริปูเรนติ  สาคะรัง

เอวะเมวะ  อิโต  ทินนัง      เปตานัง  อุปะกัปปะติ

อิจฉิตัง  ปัตถิตัง  ตุมหัง     ขิปปะเมวะ  สะมิชฌะตุ

สัพเพ ปูเรนตุ  สังกัปปา      จันโท  ปัณณะระโส  ยะถา.

อิจฉิตัง  ปัตถิตัง  ตุมหัง     ขิปปะเมวะ  สะมิชฌะตุ

สัพเพ ปูเรนตุ  สังกัปปา      มะณิ  โชติระโส  ยะถา.

คำแปล: 

ห้วงน้ำที่เต็ม ย่อมยังสมุทรสาครให้บริบูรณ์ได้ ฉันใด

บุญที่ท่านอุทิศให้แล้วแต่โลกนี้ ย่อมสำเร็จประโยชน์แก่ผู้ที่ละโลกนี้ไปแล้วได้ ฉันนั้น 

ขออิฐผลที่ท่านปรารถนาแล้วตั้งใจแล้ว จงสำเร็จแก่ท่านโดยฉับพลัน

ขอความดำริทั้งปวง (คือคิดหวังสิ่งใดๆ ไว้) จงเต็มที่ เหมือนดวงจันทร์วันเพ็ญฉะนั้น

ขออิฐผลที่ท่านปรารถนาแล้วตั้งใจแล้ว จงสำเร็จแก่ท่านโดยฉับพลัน

ขอความดำริทั้งปวงจงเต็มที่ เหมือนแก้วมณีโชติรส (แก้วสารพัดนึก) ฉะนั้น

.........................................................

คำเต็มๆ ของบท “สัพพี” มีดังนี้ -

.........................................................

สัพพีติโย  วิวัชชันตุ           สัพพะโรโค  วินัสสะตุ 

มา  เต  ภะวัต๎วันตะราโย     สุขี  ทีฆายุโก  ภะวะ. 

อะภิวาทะนะสีลิสสะ           นิจจัง  วุฑฒาปะจายิโน

จัตตาโร  ธัมมา  วัฑฒันติ     อายุ  วัณโณ  สุขัง  พะลัง.


คำแปล:

ความจัญไรทั้งปวงจงบำราศไป โรคทั้งปวงของท่านจงหาย

อันตรายอย่ามีแก่ท่าน ท่านจงเป็นผู้มีความสุข มีอายุยืน

ธรรม 4 ประการ  คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ

ย่อมเจริญแก่บุคคลผู้มีปกติไหว้กราบ

มีปกติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่เป็นนิตย์

.........................................................

ตามความหมายในบท “ยะถา” จะเห็นได้ว่าเป็นการกล่าวถึงการอุทิศส่วนบุญให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว จึงมีคำกล่าวว่า “ยะถาให้ผี” 

ผู้ที่อุทิศส่วนบุญ ถ้ามีการกรวดน้ำ ก็ต้องเริ่มกรวดคือรินน้ำออกจากภาชนะตั้งแต่ประธานสงฆ์เริ่มว่าบท “ยะถา”

ตามความหมายในบท “สัพพี” จะเห็นได้ว่าเป็นการอำนวยพรให้แก่ผู้ที่มาร่วมในพิธี จึงมีคำกล่าวว่า “สัพพีให้คน” 

เพราะฉะนั้น จึงต้องกรวดน้ำให้เสร็จเมื่อพระว่าบท “ยะถา” จบ นั่นคือเมื่อพระขึ้นบท “สัพพี” ก็วางอุปกรณ์กรวดน้ำแล้วประนมมือรับพร 

ถ้า “สัพพี” แล้วยังกรวดน้ำเรื่อยไป ก็เท่ากับพระอำนวยพรแล้ว แต่ยังไม่รับนั่นเอง

เวลาฟังพระสงฆ์อนุโมทนา ยะถา-สัพพี ควรรู้ความหมายและรู้วิธีปฏิบัติในการกรวดน้ำ-รับพร แล้วตั้งจิตเจตนาให้ถูกต้องและปฏิบัติให้ถูกวิธี ดังนี้ ก็จะได้ชื่อว่าฉลาดในการทำบุญ คือได้ทั้งบุญคือความดี และได้ทั้งกุศลคือความฉลาด ซึ่งย่อมจะดีกว่าทำไป-หรือทำตามๆ กันไป-โดยไม่รู้ความหมาย

..............

ผมมีข้อสังเกตส่วนตัวที่ขออนุญาตแสดงไว้ ณ ที่นี้

ในการสวดพระอภิธรรมงานศพ เคยมีผู้เรียกร้องว่า พระสวดเป็นภาษาบาลี ฟังไม่รู้เรื่อง ทำไมไม่สวดเป็นภาษาไทย จะได้ฟังรู้เรื่อง และเพราะเหตุนี้เอง จึงมีคนจำนวนมากที่ไปร่วมพิธีสวดพระอภิธรรมนั่งคุยกันในระหว่างที่พระสวด โดยอ้างว่าฟังไปก็ไม่รู้เรื่อง คุยกันดีกว่า

แต่พระสวดในงานอื่น เช่นในงานที่มีการเจริญพระพุทธมนต์และในการทำบุญวันพระ พระสวดถวายพรพระและสวดบทอนุโมทนา ก็สวดเป็นภาษาบาลีเหมือนกัน แต่ยังไม่เคยได้ยินใครบ่นว่าฟังไม่รู้เรื่องและเรียกร้องให้สวดเป็นภาษาไทย-เหมือนที่เรียกร้องในการสวดพระอภิธรรมงานศพ

โดยเฉพาะบทอนุโมทนา ยะถา-สัพพี ก็เห็นฟังกันอย่างสงบทุกแห่งไป ไม่มีใครบ่นว่าฟังไม่รู้เรื่อง ทั้งๆ ที่ส่วนมาก-หรือทั้งหมด-ก็ฟังไม่รู้เรื่องพอๆ กับฟังสวดพระอภิธรรมนั่นเอง

เรื่องฟังพระสวดนี่ พระธรรมปัญญาภรณ์ (ไพบูลย์ ชินวํโส ป.ธ.๗) เจ้าวาสวัดมหาธาตุราชบุรี ท่านให้ข้อคิดไว้ ซึ่งผมเคยนำมาเสนอบ้างแล้ว ขอนำมาย้ำอีกครั้งหนึ่ง ดังนี้

หลวงพ่อวัดมหาธาตุราชบุรีท่านบอกว่า -

.............................

ฟังสวดเอาสมาธิ

ฟังเทศน์เอาปัญญา

.............................

อธิบายว่า พระสวดเป็นภาษาบาลี เราไม่ได้ฟังเพื่อจะรู้เรื่อง เพราะเราไม่รู้ภาษาบาลี แต่เราสามารถฟังเอาสมาธิได้ นั่นคือ กำหนดเสียงที่พระท่านสวด ไม่ว่าจะได้ยินเป็นคำว่าอะไร ก็เอาสติจดจ่อตามคำที่ได้ยินไปทุกคำ 

พระสวด “นะ” เราก็กำหนดรู้ตาม 

พระสวด “โม” เราก็กำหนดรู้ตาม 

พระสวดคำว่าอะไร เราก็กำหนดรู้ตามให้ทันทุกคำไป

ไม่ต้องไปอยากรู้ว่าคำนั้นคือคำอะไร เขียนอย่างไร แปลอย่างไร

กำหนดแต่เพียงว่า เราได้ยินคำอะไร แล้วต่อไปได้ยินคำอะไรอีก และคำอะไรอีก ... เอาสติสะกดรอยตามไปให้ทันทุกคำ ทำได้เช่นนี้ จิตเราจะดิ่งนิ่งอยู่กับเสียงสวดมนต์

เมื่อตั้งอารมณ์ไว้เช่นนี้ ก็ไม่มีปัญหากับเรื่องฟังไม่รู้เรื่อง เพราะขณะนั้นเราไม่ต้องการจะรู้เรื่อง เราต้องการเพียงประคองจิตให้ดิ่งนิ่งไปกับเสียงสวดเท่านั้น 

นี่คือ-ฟังสวดเอาสมาธิ

ต่อจากนั้น ถ้ายังอยากจะรู้เรื่อง ก็สามารถศึกษาหาความรู้เอาในเวลาอื่นโอกาสอื่น ที่เรียกว่า “ฟังเทศน์”

“ฟังเทศน์” ตรงตามถ้อยคำก็คือหาโอกาสฟังพระเทศน์ ไม่ว่าจะเป็นพระเทศน์สดๆ หรือเทศน์ผ่านสื่อ 

“ฟังเทศน์” ตามเนื้อหาสาระก็คือศึกษาจากหนังสือสื่อธรรมะ หรือจากแหล่งเผยแพร่ธรรมซึ่งมีมากมายหลากหลายรูปแบบ และสามารถเข้าถึงได้สะดวก 

อยากรู้ว่าที่พระสวดมีความหมายว่าอย่างไร หรืออยากรู้เรื่องอะไรอีก ตอนนั้นแหละตะลุยแสวงหาตักตวงได้เต็มที่ ไม่มีใครหวงห้ามเลย

ทำแบบนี้คือ-ฟังเทศน์เอาปัญญา

พระสวดประมาณครึ่งชั่วโมง เวลาอีก ๒๓ ชั่วโมงครึ่ง เราเอาไปทำอะไรหมด บริหารจัดการให้ดีๆ มีเวลาถมไปที่จะแสวงหาปัญญา 

ทำไมจะต้องเอาเป็นเอาตายรู้เรื่องให้ได้เฉพาะในเวลาที่พระกำลังสวด?

..............

บทที่พระสวดอนุโมทนา มี ยะถา-สัพพี เป็นบทนำ พอจบวรรคสุดท้าย “อายุ  วัณโณ  สุขัง  พะลัง” ท่านก็จะขึ้นบทอนุโมทนาอันเป็นบทเนื้อคือบทที่แสดงธรรมะต่างๆ 

บทอนุโมทนาที่พระสงฆ์ไทยสวดเป็นบทยืนพื้น (เลือกสวดบทใดบทหนึ่งหมุนเวียนไปความเหมาะสม) คือ -

บทกาลทานสุตตคาถา เรียกตามคำขึ้นต้นว่า “กาเล” 

บทโภชนานุโมทนาคาถา เรียกตามคำขึ้นต้นว่า “อายุโท” 

บทอัคคัปปสาทสุตตคาถา เรียกตามคำขึ้นต้นว่า “อัคคะโต เว” 

บทมงคลจักรวาฬน้อย เรียกตามคำขึ้นต้นว่า “สัพพะพุทธา”

และจบลงด้วยด้วยบทสัพพมงคลคาถาหรือมังคลโสตถิคาถา เรียกตามคำขึ้นต้นว่า “ภะวะตุสัพ” จบบทนี้ก็เป็นอันว่าเสร็จพิธีอนุโมทนา

บท “ภะวะตุสัพ” มีข้อความดังนี้ -

.........................................................

ภะวะตุ  สัพพะมังคะลัง      รักขันตุ  สัพพะเทวะตา 

สัพพะพุทธานุภาเวนะ         สะทา  โสตถี  ภะวันตุ  เต. 

ภะวะตุ  สัพพะมังคะลัง      รักขันตุ  สัพพะเทวะตา 

สัพพะธัมมานุภาเวนะ         สะทา  โสตถี  ภะวันตุ  เต. 

ภะวะตุ  สัพพะมังคะลัง       รักขันตุ  สัพพะเทวะตา 

สัพพะสังฆานุภาเวนะ          สะทา  โสตถี  ภะวันตุ  เต. 

คำแปล :

ขอสรรพมงคลจงมีแก่ท่าน  ขอเหล่าเทวดาทั้งปวงจงรักษาท่าน 

ด้วยอานุภาพแห่งพระพุทธเจ้าทั้งปวง ขอความสวัสดีทั้งหลายจงมีแก่ท่านทุกเมื่อ

ขอสรรพมงคลจงมีแก่ท่าน  ขอเหล่าเทวดาทั้งปวงจงรักษาท่าน 

ด้วยอานุภาพแห่งพระธรรมทั้งปวง ขอความสวัสดีทั้งหลายจงมีแก่ท่านทุกเมื่อ

ขอสรรพมงคลจงมีแก่ท่าน  ขอเหล่าเทวดาทั้งปวงจงรักษาท่าน 

ด้วยอานุภาพแห่งพระสงฆ์ทั้งปวง ขอความสวัสดีทั้งหลายจงมีแก่ท่านทุกเมื่อ

.........................................................

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๕

๑๗:๔๕

[right-side]

ทำบุญวันพระ

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.