ทองย้อย แสงสินชัย

#บาลีวันละคำ (3,828)


พยากรณ์พระอรหัต

สำนวนบาลีที่น่าคิด

อ่านว่า พะ-ยา-กอน-พฺระ-อะ-ระ-หัด

ประกอบด้วยคำว่า พยากรณ์ + พระอรหัต

(๑) “พยากรณ์” 

บาลีเป็น “วฺยากรณ” อ่านว่า วฺยา-กะ-ระ-นะ รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = แจ้ง) + อา (คำอุปสรรค = ทั่วไป) + กรฺ (ธาตุ = ทำ) + ยุ ปัจจัย, แปลง อิ (ที่ วิ) เป็น ย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), แปลง น เป็น ณ

: วิ > วฺย + อา = วฺยา + กรฺ = วฺยากร + ยุ > อน = วฺยากรน > วฺยากรณ แปลตามศัพท์ว่า (1) “เครื่องมืออันท่านอาศัยแยกศัพท์ออกตามรูปของตน” (2) “คัมภีร์ที่ท่านอาศัยจำแนกศัพท์ทั้งหลายออกเป็นรูปปกติ” (3) “การอันเขาทำให้แจ่มแจ้งโดยพิเศษ”

“วฺยากรณ” หมายถึง :

(1) การตอบคำถาม, การอธิบาย, การไขความ (answer, explanation, exposition)

(2) ไวยากรณ์ (grammar)

(3) การทำนาย (prediction)

กฎหรือวิธีตอบข้อสงสัยตามหลักในพระพุทธศาสนา :

(1) เอกังสพยากรณ์ = ตอบตรงๆ หรือตอบเป็นคำขาดไม่อ้อมค้อม

(2) ปฏิปุจฉาพยากรณ์ = ย้อนถามให้ผู้ถามชี้ประเด็นออกมาก่อน

(3) วิภัชชพยากรณ์ = ตอบแบบแยกประเด็น

(4) ฐปนียพยากรณ์ = ตอบโดยไม่ตอบ เพราะเห็นว่าไร้สาระ หรือเห็นว่าผู้ถามไม่ได้ถามเพราะต้องการคำตอบ แต่ถามหาเรื่อง

กฎหรือวิธีตอบแต่ละอย่างต้องเลือกใช้ให้เหมาะกับความสงสัยแต่ละเรื่อง ไม่ใช่ทุกอย่างใช้ได้กับความสงสัยทุกเรื่อง

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า -

“วฺยากรณ : (คำนาม) ‘วยากรณ์,’ ไวยากรณ์; การชี้แจ้ง, การแสดงไข; grammar; explaining, expounding.”

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า -

“พยากรณ์ : (คำกริยา) ทํานายหรือคาดการณ์โดยอาศัยหลักวิชา. (คำนาม) ชื่อคัมภีร์โหราศาสตร์ว่าด้วยการทํานาย. (ป., ส. วฺยากรณ).”

(๒) “พระอรหัต”

คำหลักคือ “อรหัต” บาลีเป็น “อรหตฺต” อ่านว่า อะ-ระ-หัด-ตะ โปรดสังเกตว่าไม่ใช่ “อรหนฺต” แต่เป็น “อรหตฺต” ถ้าไม่ระวังให้ดีจะเริ่มสับสนตั้งแต่ตรงนี้

“อรหตฺต” รากศัพท์มาจาก “อรหนฺต” นั่นเอง คือ “อรหนฺต” ลบ อนฺต ปัจจัย (อรหนฺต > อรห) + ตฺต ปัจจัย

ตฺต ปัจจัย เป็นปัจจัยในภาวตัทธิต ใช้แทนศัพท์ว่า “ภาว” = ความเป็น ศัพท์ที่ลงปัจจัยตัวนี้จึงต้องแปลว่า “ความเป็นแห่ง-” หรือ “ภาวะแห่ง-”

: อรหนฺต > อรห + ตฺต = อรหตฺต แปลตามศัพท์ว่า “ความเป็นแห่งพระอรหันต์” หรือ “ภาวะแห่งพระอรหันต์” หรือ “ความเป็นพระอรหันต์” 

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อรหตฺต” ไว้ดังนี้ -

(1) the state or condition of an Arahant, i. e. perfection in the Buddhist sense = Nibbāna (ภาวะหรือความเป็นพระอรหันต์, คือ ความดีเลิศโดยสมบูรณ์ในความหมายของพระพุทธศาสนา = นิพฺพาน) 

(2) final & absolute emancipation, Arahantship, the attainment of the last & highest stage of the Path (การหลุดพ้นสุดท้ายและโดยสมบูรณ์, ความเป็นพระอรหันต์, การบรรลุชั้นสุดท้ายและสูงสุดของมรรค)

“อรหตฺต” ในภาษาไทยใช้ว่า “อรหัต” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า -

“อรหัต, อรหัต- : (คำนาม) ความเป็นพระอรหันต์. (ป. อรหตฺต; ส. อรฺหตฺตฺว).”

“พระอรหัต” เป็นคนละคำกับ “พระอรหันต์”

“อรหันต์” อ่านว่า อะ-ระ-หัน พจนานุกรมฯ บอกว่า อ่านว่า ออ-ระ-หัน ก็ได้ ผู้เขียนบาลีวันละคำขอร้องให้อ่านว่า อะ-ระ-หัน ซึ่งเป็นการอ่านถูกหลักภาษา อย่าอ่านว่า ออ-ระ-หัน ซึ่งเป็นการอ่านแบบ “รักง่าย” (คือพอใจที่จะทำอะไรแบบง่ายๆ ไม่ศึกษาเรียนรู้ถึงหลักเกณฑ์เดิม) เขียนแบบบาลีเป็น “อรหนฺต” อ่านว่า อะ-ระ-หัน-ตะ รากศัพท์มาได้หลายทาง เช่น :

(1) อรหฺ (ธาตุ = สมควร) + อนฺต ปัจจัย = อรหนฺต แปลว่า “ผู้ควรแก่การบูชาพิเศษของเทพและมนุษย์ทั้งหลาย”

(2) น (คำนิบาต = ไม่, ไม่ใช่) > อ + รห (ธาตุ = สละ, ทอดทิ้ง) = อรห + อนฺต ปัจจัย = อรหนฺต แปลว่า “ผู้อันคนดีไม่ควรทอดทิ้ง”

(3) อริ ( = ข้าศึก) > อร + หนฺ (ธาตุ = กำจัด) = อรหน ลบที่สุดธาตุ > อรห + อนฺต ปัจจัย = อรหนฺต แปลว่า “ผู้กำจัดข้าศึกคือกิเลสได้แล้ว”

(4) อร ( = ดุม กำ กง อันประกอบเข้าเป็นวงล้อ) + หนฺ (ธาตุ = กำจัด, เบียดเบียน) = อรหน ลบที่สุดธาตุ > อรห + อนฺต ปัจจัย = อรหนฺต แปลว่า “ผู้หักซึ่งวงล้อแห่งสังสารวัฏได้แล้ว”

(5) น (คำนิบาต = ไม่ใช่, ไม่มี) > อ + รห ( = การไปมา) = อรห + อนฺต ปัจจัย = อรหนฺต แปลว่า “ผู้ไม่มีการไปมา” คือไม่ไปเกิดในภพภูมิไหนๆ อีก

(6) น (คำนิบาต = ไม่ใช่, ไม่มี) > อ + รห ( = ความลับ, ที่ลับ, ความชั่ว) = อรห + อนฺต ปัจจัย = อรหนฺต แปลว่า “ผู้ไม่มีความลับ” (ไม่มีความไม่ดีไม่งามที่จะต้องปิดบังใครๆ) “ผู้ไม่มีที่ลับ” (สำหรับที่จะแอบไปทำความไม่ดีไม่งาม) “ผู้ไม่มีความชั่ว”

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อรหนฺต” โดยวิธีทับศัพท์ว่า Arahant 

“อรหนฺต” ในภาษาไทยใช้ว่า “อรหันต์” 

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต แปลคำว่า “พระอรหันต์” เป็นอังกฤษว่า an Arahant; Arahat; worthy one; the Holy One; perfected one; one who has attained Nibbāna.

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า -

“อรหันต-, อรหันต์ : (คำนาม) ชื่อพระอริยบุคคลชั้นสูงสุดใน ๔ ชั้น คือ พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์ เรียกว่า พระอรหันต์. (ศัพท์นี้ใช้ อรหา หรือ อรหัง ก็มี แต่ถ้าใช้เป็นคําวิเศษณ์หรืออยู่หน้าสมาสต้องใช้ อรหันต). (ป.; ส. อรฺหนฺต).”

ขอย้ำว่า -

“พระอรหันต์” หมายถึง ตัวบุคคล

“พระอรหัต” หมายถึง คุณธรรมในตัวบุคคล

คำที่ประสงค์ในที่นี้คือ “พระอรหัต” (คุณธรรมในตัวบุคคล)

พยากรณ์ + พระอรหัต = พยากรณ์พระอรหัต (พะ-ยา-กอน-พฺระ-อะ-ระ-หัด) เป็นคำประสม แปลจากหน้าไปหลัง คือแปลตามศัพท์ว่า “การกระทำให้แจ้งซึ่งความเป็นพระอรหันต์” หมายถึง การอวดอ้างว่าตนมีคุณธรรมของพระอรหันต์ คืออวดว่าตนได้บรรลุมรรคผลอย่างใดอย่างหนึ่ง

ขยายความ :

คำว่า “พยากรณ์พระอรหัต” เป็นคำที่นักเรียนบาลีแปลมาจากข้อความในภาษาบาลีว่า “อญฺญํ พฺยากโรติ” (อัน-ยัง พฺยา-กะ-โร-ติ) แปลว่า “ย่อมพยากรณ์พระอรหัต”

ในคัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถาที่ใช้เป็นแบบเรียนวิชาแปลมคธเป็นไทยชั้นประโยค 1-2 และชั้นเปรียญธรรม 3 ประโยค จะมีเรื่องราวหลายตอนที่กล่าวถึงภิกษุพูดคุยสอบถามกันในเรื่องธรรมะ ภิกษุที่ถูกถามจะพูดถึงความรู้สึก หรือความคิด หรืออารมณ์บางอย่างของตน แล้วภิกษุที่ได้ฟังคำพูดเช่นนั้นก็จะไปกราบทูลพระพุทธเจ้าว่า “อญฺญํ พฺยากโรติ” (ภิกษุรูปนี้ย่อมพยากรณ์พระอรหัต) ก็คือไปฟ้องว่า ภิกษุรูปนั้นอวดอ้างว่าได้บรรลุมรรคผลนั่นเอง

ขอยกตัวอย่างคำพูดที่เข้าข่าย “พยากรณ์พระอรหัต” ดังนี้ 

- “ผมบรรลุแล้ว” (แบบนี้พยากรณ์พระอรหัตตรงๆ)

- “ตอนบวชใหม่ๆ ก็รู้สึกอยากโน่นอยากนี่ แต่เดี๋ยวนี้ชักไม่รู้สึกอยากอะไรอีกแล้ว”

- “ผมขอเกิดชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย”

..............

แถม:

อ่านเรื่องที่มีการกล่าวหาว่า “พยากรณ์พระอรหัต” ในคัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถา

เรื่องพระนันทเถระ ภาค 1

เรื่องพระจิตตหัตถเถระ ภาค 2

เรื่องพระโสไรยเถระ ภาค 2

เรื่องพระสัปปทาสเถระ ภาค 4

พระสัมมัชชนเถระ ภาค 6

เรื่องอสทิสทาน ภาค 6

พระนังคลกูฏเถระ ภาค 8

เรื่องพระติสสเถระผู้อยู่ในเงื้อมเขา ภาค 8

เรื่องภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ภาค 8

เรื่องสามเณร ภาค 8

เรื่องภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ภาค 8

เรื่องพระจันทาภเถระ ภาค 8 

เรื่องพระโชติกเถระ ภาค 8

เรื่องภิกษุผู้เคยเป็นนักฟ้อนรูปที่หนึ่ง ภาค 8

เรื่องพระวังคีสเถระ ภาค 8

เรื่องพระอังคุลิมาลเถระ ภาค 8

..............

https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=11&p=9

..............

ดูก่อนภราดา!

: จงพร้อมที่จะดังทุกครั้งที่มีคนตี

: แต่ถ้าจะเป็นกลองดี-อย่าดังเอง

[full-post]

พยากรณ์พระอรหัต

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.