บทความชุด “ทำบุญวันพระ” (๔๐)-จบ

------------------------------

ถืออุโบสถ (๔)

------------------------------

คณะผู้ถืออุโบสถทำกิจกรรมภาคบ่ายจนถึงราวๆ บ่ายสี่โมงก็หยุด เพื่อเตรียมตัวสวดมนต์ทำวัตรเย็น

เรื่องทำวัตรสวดมนต์เป็นอันได้ความว่าทำกัน ๒ เวลา คือตอนเช้าหลังจากเสร็จพิธีทำบุญ และตอนเย็นในเวลาประมาณห้าโมงเย็นเวลาเดียวกับที่พระสงฆ์ทำวัตรเย็น

ที่น่าสนใจก็คือ ที่เรียกว่า “ทำวัตรเช้า-ทำวัตรเย็น” คือทำอะไร คำตอบก็อยู่ในคำที่ว่า “ทำวัตรสวดมนต์” หรือ “สวดมนต์ทำวัตร” แปลว่า ทำวัตรก็คือสวดมนต์ และสวดมนต์นั่นแหละคือทำวัตร

เราข้ามปัญหาที่ว่า-ทำไมต้องสวดมนต์ สวดเพื่ออะไร สวดแล้วได้ประโยชน์อะไร ปัญหานี้ละไว้ฐานเข้าใจ คือเข้าใจตรงกันแล้วการสวดมนต์เป็นกิจที่ดีที่ควรทำ ถ้ายังจะต้องมาตั้งคำถามกันอยู่ ก็เชิญตามสบาย ไปไหนก็ไปเถอะ อย่ามาเสียเวลาสวดเลย

แต่ถ้าถามเพื่อหาความรู้ ถามเพราะอยากรู้จริงๆ ก็ต้องยกไปพูดกันอีกเวทีหนึ่ง

ทีนี้ก็มาถึง-สวดมนต์คือสวดบทอะไรบ้าง บทสวดที่ยืนพื้นคือ บททำวัตรเช้าสวดตอนเช้า และทำวัตรเย็นสวดตอนเย็น บททำวัตรเช้าทำวัตรเย็นนั้นมีมาตรฐานลงตัวอยู่แล้วตามที่ท่านรจนาไว้ สวดตรงตามตัวบท ที่อาจมีปัญหาอยู่บ้างก็คือบทประกอบ คือนอกจากบททำวัตรเช้า-ทำวัตรเย็นแล้วสวดบทอะไรอีกบ้าง ตรงนี้แหละที่ผมว่านาสนใจ เพราะแต่ละวัดแต่ละแห่งน่าจะสวดไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับความสามารถของผู้สวดประกอบกับนโยบายของวัด

เท่าที่ลองพิจารณาดู บทสวดประกอบนี้น่าจะมี ๒ อย่าง คือ 

๑ บทสาธารณะ หมายถึงบทที่มีอยู่ในหนังสือสวดมนต์ทั่วไป บทประเภทนี้อาจยกมาจากพระไตรปิฎกหรือคัมภีร์ต่างๆ หรือเป็นบทที่บูรพาจารย์แต่ปางก่อนท่านรจนาไว้และเป็นที่รู้กันทั่วไป ใครเอาไปสวดก็สวดตรงกันตามต้นฉบับ

๒ บทสวดที่เป็นภูมิปัญญาพื้นถิ่น หมายถึงบทที่ผู้รู้ในพื้นถิ่นๆ นั้นๆ จดจำนำสวดสืบๆ กันมา ไม่มีในคัมภีร์หรือต้นฉบับสาธารณะ สวดได้รู้กันได้เฉพาะคนในพื้นถิ่นนั้นๆ ผมเข้าใจว่าบทสวดประเภทนี้น่าจะมีกระจายอยู่ตามพื้นถิ่นต่างๆ มากทีเดียว ยังไม่เคยได้ยินว่ามีใครรวบรวมไว้บ้างหรือเปล่า ถ้ามีใครสามารถเก็บรวบรวมไว้ได้หมด ก็จะเป็นขุมทรัพย์ทางปัญญาที่มีคุณค่ามหาศาลทีเดียว

บทสวดที่เป็นภูมิปัญญาพื้นถิ่นนี้นับวันก็จะสูญหายไปเรื่อยๆ เป็นงานที่ควรจะมีผู้รับผิดชอบคิดหาวิธีอนุรักษ์ไว้และส่งเสริมให้มีมั่นคงอยู่ประจำพื้นถิ่นนั้นๆ ตลอดไป

และก็เช่นเคย-งานเช่นนี้ถ้าผู้บริหารการคณะสงฆ์มีความคิดที่จะทำ โอกาสสำเร็จก็มีได้ไม่ยาก แต่ทำอย่างไรผู้บริหารการคณะสงฆ์จึงจะมีความคิดที่จะทำ-นี่สิยากมากๆ

..................

เรื่องการทำวัตรสวดมนต์นี้ จุดหนึ่งที่ผมเชื่อว่ายังไม่มีใครมองเห็นปัญหาก็คือ การสวดที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อน โดยเฉพาะการออกเสียงบางบทบางคำ

.........................................................

ยกตัวอย่างแค่คำเดียว คำว่า “อินฺทฺริยํ” 

เขียนแบบไทยเป็น “อินท๎ริยัง” 

คำนี้ควรออกเสียงอย่างไร 

ถ้าได้คำตอบที่ถูกต้อง และบอกกล่าวฝึกซ้อมสวดให้ตรงกันทั่วทุกวัด ก็จะเป็นความงดงามอย่างหนึ่งของการสวดมนต์

.........................................................

คำอื่นๆ อีก รวมทั้งจังหวะทำนองในการสวดที่ควรจะเป็นมาตรฐานเดียวกันได้ ผมว่าเราน่าจะช่วยกันตรวจสอบซักซ้อมและปฏิบัติให้ตรงกัน ก็จะยิ่งเป็นความงดงามในการสวดมนต์

..................

ทำวัตรสวดมนต์เย็นเสร็จ ก็คงเหลือการบุญอีกอย่างหนึ่งคือฟังเทศน์กัณฑ์เย็นหรือเทศน์ภาคค่ำ 

แต่ละวัดอาจจัดลำดับของตัวเอง ไม่จำเป็นต้องตรงกัน จะขยับลงไปเทศน์ตอนบ่ายหรือเทศน์ตอนทุ่มหนึ่งก็แล้วแต่ความสะดวกและความเหมาะสมของแต่ละวัด แต่สรุปแล้วก็คือเทศน์ในการทำบุญวันพระมี ๒ กัณฑ์ คือภาคเช้ากัณฑ์หนึ่ง และภาคค่ำกัณฑ์หนึ่ง เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วไป

ใครที่ฟังวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย (สวท.) ของกรมประชาสัมพันธ์เป็นประจำจะรู้ว่า ทุกวันพระ สวท. มีรายการแสดงพระธรรมเทศนา ๒ กัณฑ์ คือภาคเช้าในเวลา ๐๘:๐๐ น. หลังเทียบเวลา ภาคค่ำในเวลา ๑๘:๐๐ น. หลังเทียบเวลาเช่นกัน 

รายการแสดงพระธรรมเทศนาของ สวท. นี้มีมาช้านาน ผมไปอยู่วัดหนองกระทุ่ม อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี ตั้งแต่ปี ๒๔๙๖ อายุ ๘ ขวบ สมัยนั้นเครื่องรับวิทยุตามบ้านคนมีนับเครื่องได้ ที่วัดมีอยู่เครื่องหนึ่ง พอถึงวันพระจะเปิดรายการแสดงพระธรรมเทศนาให้ฟังกัน เข้าใจว่ารายการแสดงพระธรรมเทศนาจะต้องมีมาก่อนหน้านั้นแล้วหลายปี อาจจะมีมาพร้อมๆ กับการเปิดกระจายเสียงของ สวท. นั่นเลยก็ได้

ผมเป็น “แฟน” ฟังเทศน์ทางวิทยุ สวท.มาตั้งแต่เป็นเด็กวัด ฟังติดต่อกันเรื่อยมา จนกระทั่งออกจากวัดมาทำงานเป็นชาวบ้าน ครั้งหนึ่งเกือบจะไปเป็นข้าราชการกรมประชาสัมพันธ์เพื่อทำหน้าที่ประกาศอุโบสถและอาราธรรมวันพระ ตามที่คนใน สวท. ทาบทามมา แต่ตัดสินใจไม่ไปด้วยเหตุผลบางประการ

จากฟังเทศน์เฉยๆ ต่อมาก็ส่งเงินไป “บูชาธรรม” คือติดกัณฑ์เทศน์ทุกวันพระ เพิ่งจะมาเลิกฟังเมื่อไม่กี่ปีมานี้ ด้วยเหตุผลสำคัญคือ หมดศรัทธาในพระธรรมกถึกสมัยใหม่ที่มัก “แสดงธรรมของข้าพเจ้า” มากกว่าที่จะ “แสดงธรรมของพระพุทธเจ้า”

พระธรรมกถึกรุ่นเก่าที่ทาง สวท. อาราธนามาเทศน์ ถ้าไม่เป็น ป.ธ.๙ ก็ต้องเป็นพระราชาคณะ ซึ่งพระเกรดนี้เป็นที่มั่นใจได้ว่ามีความสามารถที่จะค้นคว้าพระไตรปิฎกหยิบยก "ธรรมะของพระพุทธเจ้า” มาแสดงได้อย่างเชี่ยวชาญและถูกต้อง มีความคิดเห็นของตนเองผสมบ้างก็น้อยที่สุดหรือแทบจะไม่มีเลย

พระธรรมกถึกรุ่นใหม่ สวท. ลดเกรดลงมา นั่นก็ยังยอมรับได้ ไม่ได้รังเกียจเลย แต่ที่รับไม่ได้ก็คือพระธรรมกถึกรุ่นใหม่ที่มีแต่ชื่อหัวข้อธรรมเท่านั้นที่บอกว่าเป็นธรรมะของพระพุทธเจ้า เนื้อในของคำเทศน์เป็น “ธรรมะของข้าพเจ้า” คือความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เทศน์เองทั้งสิ้น 

มีอยู่กัณฑ์หนึ่ง ท่านยก “ปุญญานิ ปรโลกสฺมึ ปติฏฺฐา โหนฺติ ปาณินํ” (บุญทั้งหลายเป็นที่พึ่งของเหล่าสัตว์ในโลกหน้า) ขึ้นตั้งเป็นนิกเขปบทตามแบบแผนของการเทศน์ แต่หลังจากนั้น-ตั้งแต่เริ่มคำว่า “บัดนี้ จะได้รับประทานแสดงพระธรรมเทศนา...” ไปจน “เอวัง ก็มีด้วยประการฉะนี้” เป็นเรื่องนอกหัวข้อทั้งหมด 

ไม่มีคำอธิบายพระบาลี “ปุญญานิ ปรโลกสฺมึ ปติฏฺฐา โหนฺติ ปาณินํ” แม้แต่คำเดียว! 

ตั้งแต่นั้นมาผมก็ลาขาด ไม่ได้ฟังเทศน์ทาง สวท. อีกเลยจนบัดนี้ แล้วก็ไม่ทราบด้วยว่ารายการแสดงพระธรรมเทศนาวันพระยังมีอยู่หรือว่ายกเลิกไปแล้ว 

จะอย่างไรก็ตาม ผมขอน้อมคารวะผู้บริหาร สวท. ยุคโน้นที่มีจิตเป็นมหากุศลคิดอ่านให้มีรายการแสดงพระธรรมเทศนาเป็นประจำทุกวันพระ 

แต่ในอนาคต เมื่อคนไทย-รุ่นที่ไม่เคยสวดมนต์ก่อนนอนและไม่รู้จักวันพระ-เติบโตขึ้นมาเป็นผู้บริหารบ้านเมือง ถึงตอนนั้น อย่าว่าแต่รายการแสดงพระธรรมเทศนาทางวิทยุเลย แม้แต่พระพุทธศาสนาทั้งศาสนาจะยังมีอยู่ในแผ่นดินไทยหรือเปล่า ก็ยังคาดเดาไม่ออก

..................

ทำวัตรสวดมนต์เย็นและฟังเทศน์ภาคค่ำจบ ก็เป็นอันว่ากิจวัตรของผู้ถืออุโบสถที่เป็นมาตรฐานภาคกลางวันจบลง 

ตั้งแต่หัวค่ำไปจนถึงเวลานอน ใครจะสนทนาธรรมหรือปฏิบัติจิตภาวนาเป็นส่วนตัวก็ถือว่าเป็นเวลาอิสระ พอสมควรแก่เวลาก็นอน

ตื่นนอนตอนตีสี่ อาจมีสัญญาณระฆังหรือไม่มีก็แล้วแต่วัฒนธรรมของวัด แต่ถ้าเป็นช่วงเวลาในพรรษา พระท่านลุกขึ้นทำวัตรสวดมนต์ตอนตีสี่เป็นกิจวัตรพิเศษเพิ่มขึ้นจากทำวัตรสวดมนต์เช้า-เย็น พระเคาะระฆัง คนถืออุโบสถก็ตื่นด้วยในเวลาเดียวกัน

เสียงเคาะระฆังตอนตีสี่ในพรรษา (รวมทั้งระฆังทำวัตรสวดมนต์เช้า-เย็นตามเวลาปกติ) กำลังจะหายไปจากแผ่นดินไทย

.........................................................

สมัยก่อน ได้ยินเสียงพระเคาะระฆังไม่ว่าเวลาไหน ชาวบ้านยกมือท่วมหัว-สาธุ พระท่านทำกิจของสงฆ์ อนุโมทนาสาธุ

สมัยนี้ ยังจำกันได้ไหมครับ พระเคาะระฆัง ชาวบ้านลุกขึ้นมาด่า-หนวกหูฉิบหาย ไอ้ห่า คนจะหลับจะนอน

.........................................................

ทำวัตรสวดมนต์จบก็ปฏิบัติธรรม นั่งสมาธิหรือเดินจงกรมตามอัธยาศัย พอสว่างก็ช่วยกันเก็บกวาดทำความสะอาดสถานที่ ลาพระ กลับบ้าน 

เป็นอันว่าการถืออุโบสถตลอดวันหนึ่งและคืนหนึ่งครบถ้วนบริบูรณ์ วันพระหน้าเจอกันใหม่

วัดมหาธาตุราชบุรี หลวงพ่อท่านเลี้ยงข้าวต้มคนถืออุโบสถก่อนกลับบ้านด้วย เพื่อที่ว่ากลับถึงบ้านแล้วจะได้ไม่ต้องกังวลเรื่องอาหารเช้า คนไหนไม่มีพาหนะกลับบ้าน ท่านจัดรถรวมตระเวนไปส่งถึงบ้านทุกคน

หลวงพ่อท่านจัดรถส่ง แต่ไม่จัดรถรับ ท่านให้เหตุผลว่า จัดรถไปรับเหมือนบังคับให้เขามา เพราะฉะนั้น ให้เขามาด้วยศรัทธาของเขาเองดีที่สุด แต่ขากลับควรอำนวยความสะดวกให้ตามสมควร

บทความชุด “ทำบุญวันพระ” ก็น่าจะจบบริบูรณ์ได้ในตอนนี้

---------------------

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๖ ธันวาคม ๒๕๖๕

๑๙:๒๑

[full-post]

ทำบุญวันพระ

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.