บทความชุด “ทำบุญวันพระ” (๓๙)
------------------------------
ถืออุโบสถ (๓)
------------------------------
บรรยายเรื่องทำบุญวันพระมาจนถึงฟังเทศน์กัณฑ์อุโบสถ ก็เท่ากับมาได้ครึ่งทาง ยังเหลืออีกครึ่งทาง
วัดที่มีการทำบุญทุกวันพระน่าจะทำได้ครบตามนี้ หลักๆ คือ ใส่บาตร (ทาน) สมาทานศีล (ศีล) สวดมนต์+ฟังเทศน์ (ภาวนา) ทานกับศีลทำตั้งแต่เริ่มพิธีการตอนเช้าเหมือนๆ กัน ส่วนภาวนาคือสวดมนต์+ฟังเทศน์ ทำตอนไหนแล้วแต่ว่าแต่ละวัดจะจัดลำดับอย่างไร อาจจะไม่ตามลำดับที่บรรยายมา แต่สรุปได้ว่าทำครบ ทาน+ศีล+ภาวนา
แต่การรักษาอุโบสถศีลหรือเรียกสั้นๆ ว่า “ถืออุโบสถ” นั้น บางวัดมีคนถือมาก บางวัดมีน้อย และบางวัดก็อาจจะไม่มี-ด้วยสาเหตุต่างๆ
ตามความคิดของผม คนถืออุโบสถควรจะมีทุกวัดและมีทุกวันพระ-ถ้าผู้บริหารวัด คือเจ้าอาวาส เข้มแข็งในเรื่องนี้
ที่ว่า “เข้มแข็ง” ก็มิใช่ว่าต้องมีความสามารถพิเศษมากมายอะไร มีแค่สามารถออกปากชักชวนญาติโยมให้มาถืออุโบสถได้ แค่นี้ก็พอแล้ว และโดยธรรมชาติของคน-โดยเฉพาะคนที่อยู่ข้างวัด ใกล้วัด หรือคุ้นกับวัด ถ้า “หลวงพ่อออกปาก” ย่อมมีความโน้มเอียงที่จะทำตามได้ง่าย ข้อสำคัญจึงอยู่ที่ว่าหลวงพ่อมีความคิดที่จะ “ออกปาก” บ้างหรือเปล่า
แล้วก็-เช่นเคย คือเหมือนกับทุกเรื่องทุกปัญหา-ถ้าผู้บริหารการคณะสงฆ์ซึ่งหมายถึงมหาเถรสมาคม มีนโยบาย มีมติ หรือมีคำสั่งออกมาให้วัดทั่วสังฆมณฑลชักชวนคนให้มาทำบุญวันพระและถืออุโบสถ ให้ทำกันทุกวัด จะมีคนมามากมาน้อย ถือมากถือน้อยไม่เป็นประมาณ แต่ขอให้ทำให้มีกันทุกวัด - อย่างที่หลวงพ่อวัดมหาธาตุราชบุรีท่านพูด-วัดหนึ่งมีคนเดียวก็ยังดี ขอให้มีทุกวัดเถอะ
ถ้าผู้บริหารการคณะสงฆ์มีนโยบายที่จะทำอย่างนี้ เรื่องก็จะง่ายแสนง่าย
..................
“ถืออุโบสถ” คือทำอะไร?
ถืออุโบสถก็คือ งดเว้น ๘ เรื่อง คือ (๑) ไม่ฆ่า (๒) ไม่ขโมย (๓) ไม่ทำกิจกรรมทางเพศ (๔) ไม่โกหก (๕) ไม่เสพของเมา (๖) ไม่กินหลังเที่ยงวัน (๗) ไม่เล่นรื่นเริงและแต่งตัวสวยงาม (๘) ไม่ติดการนั่งนอนสบาย
นี่ว่าตามสำนวนผม แต่ละข้อมีรายละเอียดหรือเงื่อนไขปลีกย่อยอีกบ้าง แต่หลักๆ มีตามที่ว่านี้
บางคนบอกว่า ทำไมจะต้องทรมานตัวเองแบบนี้
คือมองไปว่า การถืออุโบสถเป็นการทรมานตัวเอง ที่ชอบยกเป็นตัวอย่างก็คือเรื่องไม่กินหลังเที่ยงวันหรือไม่กินมื้อเย็น ทำไมจะต้องทนหิว บางทีก็พูดเลยไปถึงโทษที่จะเกิด เช่นเป็นโรคกระเพาะ
ถ้าให้ผมตอบ ผมก็จะบอกว่า-ไม่พร้อม อย่าถือ ถ้าคิดว่าเป็นการทรมานตัวเองก็อย่าทำ จบ
การถืออุโบสถเป็นเรื่องของคนที่พร้อมจะขัดเกลาตัวเอง ถ้าไม่พร้อม ก็-ตามสบาย ใครทำใครได้ ทางใครทางมัน
การถืออุโบสถเป็นการปรับสมดุลในชีวิตประจำวัน - อะไรที่เกินไปก็เอาออกเสียบ้าง - จับจุดนี้ได้ก็มีโอกาสที่จะเข้าใจ ส่วนจะพร้อมหรือไม่พร้อมที่จะทำ ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการตัวเองของแต่ละคน
เรามักติดอยู่กับการรับเอาเข้ามา เพื่อเสพเพื่อบริโภคเพื่อใช้สอย และส่วนมากก็จะเพลินไปกับการเสพบริโภคใช้สอย และเห็นว่าต้องมีต้องได้ต้องใช้ต้องเอาทั้งหมดจึงจะดี จนในที่สุดก็มักจะลงความเห็นว่า ทุกอย่างเป็นสิ่งจำเป็น ขาดไม่ได้ งดไม่ได้ อ้างอะไรไม่ออกก็บอกว่าเป็นกำไรชีวิต ดังนั้น แต่ละชีวิตก็จะสะสมส่วนเกินเข้าไปโดยเข้าใจว่าทั้งหมดนั้นเป็นส่วนที่จำเป็นทั้งสิ้น นี่คือพื้นฐานของแนวคิดหรือมุมมองที่ว่า-ถืออุโบสถหรือถือศีลเป็นการทรมานตัวเอง
ลองคิดเล่นๆ คิดในมุมกลับ มนุษย์เราจำเป็นต้องทำ ๘ เรื่องนี้ใช่ไหม คือ (๑) ต้องฆ่า (๒) ต้องขโมย (๓) ต้องทำกิจกรรมทางเพศ (๔) ต้องโกหก (๕) ต้องเสพของเมา (๖) ต้องกินหลังเที่ยงวัน (๗) ต้องเล่นรื่นเริงและแต่งตัวสวยงาม (๘) ต้องติดการนั่งนอนสบาย
ต้องทำ ๘ เรื่องนี้ทุกวัน ขาดไม่ได้ ชีวิตจึงจะอยู่เป็นสุข-ใช่หรือไม่
.........................................................
ถืออุโบสถไม่ใช่ถือทุกวัน
งดทั้ง ๘ เรื่องไม่ใช่ต้องงดตลอดชีวิต
๗ วัน งด ๑ วัน
ยังมีอีกตั้ง ๖ วันให้เสพสุขได้ตามสบาย
จะไม่ลองฝึกงดส่วนเกินดูบ้างหรือ
.........................................................
นี่ก็เป็นเพียงวิธีคิดอย่างหนึ่งเท่านั้น-ถ้าคิดจะถืออุโบสถ
แต่ถ้าคิดไม่เป็น เห็นไม่ได้ ก็ไม่มีใครว่าอะไร บอกแล้วว่า ใครทำใครได้ ทางใครทางมัน
..................
ฟังเทศน์กัณฑ์เช้าเสร็จ คนที่ตั้งใจเพียงแค่มาทำบุญ+ฟังเทศน์ ก็กลับบ้าน คนที่ตั้งใจถืออุโบสถก็อยู่ต่อ-นอนค้างวัด แต่คนถืออุโบสถบางคนที่ไม่สะดวกจะนอนค้างวัด อาจจะอยู่จนถึงฟังเทศน์กัณฑ์ค่ำแล้วกลับไปนอนบ้าน หรือฟังเทศน์กัณฑ์เช้าจบกลับบ้านเลย ก็สามารถทำได้
อยู่กับบ้าน ตั้งใจงดและสามารถงด ๘ เรื่องนั้นได้ ก็เป็นอุโบสถเท่ากัน
ฟังเทศน์กัณฑ์เช้าเสร็จ มีเวลาอีกพักใหญ่ๆ ก็เพล พระฉันเพล คนถืออุโบสถกินข้าวกลางวัน หลังเที่ยงวันไปแล้วเป็นเวลาพัก คนถืออุโบสถที่เป็นคนสูงอายุ ถ้าได้ “เอนหลัง” เสียหน่อยก็จะดี
พอ “ข้าวเรียงเม็ด” (ตามสำนวนของคนเก่า) ได้ที่ ก็ลุกขึ้นมาทำกิจวัตรหลัก เท่าที่นิยมกันในหมู่ผู้ถืออุโบสถก็คือ ปฏิบัติจิตภาวนา จะนั่งสมาธิ จะเดินจงกรม หรือจะปฏิบัติธรรมแบบไหนก็ทำกันไป ตั้งแต่ราวๆ บ่ายโมงไปจนถึงสี่โมงเย็น บางวัดอาจจัด “พระอาจารย์” มาสนทนาธรรมหรือมาสอนมานำปฏิบัติ ถ้าทำได้อย่างนั้นก็ประเสริฐแท้
ก่อนที่โรคโควิดจะมาเยือน ทุกวันพระชาวคณะอุโบสถวัดมหาธาตุราชบุรีจัดกิจกรรมสนทนาธรรมในช่วงบ่าย รูปแบบของกิจกรรมก็คือ ตั้งวงกัน ใครสงสัยเรื่องอะไรในกระบวนการศึกษาปฏิบัติธรรมก็ยกขึ้นมาสนทนาหาคำตอบ
ชาวคณะยกให้ผมเป็นหลักในการนำสนทนา ไม่ใช่เพราะเก่ง แต่เพราะมีโอกาสค้นคว้าหาคำตอบได้ถนัดกว่าคนอื่น
ปัญหาที่ยกขึ้นมาถามกันบางข้อฟังแล้วก็ขำ เช่น คนถืออุโบสถกินน้ำแข็งหลังเที่ยงวัน ผิดศีลอุโบสถหรือไม่?
ทั้งนี้เพราะศีลข้อ ๖ วิกาลโภชน์ (งดการกินหลังเที่ยงวัน) มีองค์ประกอบ ๔ ข้อ คือ -
.........................................................
๑. วิกาละตา = ล่วงตั้งแต่ตะวันเที่ยงแล้วไป (กินในเวลาหลังเที่ยงวันเป็นต้นไป)
๒. ยาวะกาลิกะตา = อาหารและลูกไม้ที่เป็นของเคี้ยวและกัด (ของที่กินเข้าลักษณะของห้ามกิน)
๓. อัชโฌหะระณะปะโยโค = ประโยคกลืนกิน (ลงมือกิน)
๔. เตนะ อัชโฌหะระณัง = กลืนให้ล่วงไหลลำคอลงไปด้วยประโยคนั้น (ของที่กินนั้นลงคอไป)
.........................................................
ถ้าครบองค์ประกอบทั้ง ๔ ข้อ ศีลข้อ ๖ ก็ขาด
องค์ประกอบข้อ ๒ “อาหารและลูกไม้ที่เป็นของเคี้ยวและกัด” น้ำแข็งเป็นของเคี้ยว เพราะฉะนั้น กินน้ำแข็งก็ต้องผิดศีล-ใช่หรือไม่?
ญาติมิตรที่อ่านมาถึงตรงนี้ลองพิจารณาหาคำตอบดูบ้างก็ได้ เป็นการฝึกสมองทดลองปัญญา
..................
ตามความเห็นของผม --
> ถ้าทุกวัดทำบุญวันพระ
> ถ้าทุกวันพระมีคนถืออุโบสถ
> ถ้าคนที่ถืออุโบสถทำกิจกรรมศึกษาหาความรู้ความเข้าใจทางธรรม
> โดยทุกวัดจัดพระอาจารย์หรือพระวิทยากรมาเป็นผู้นำ
> ทำเป็นประจำทุกบ่ายหรือค่ำแล้วแต่จะสะดวกเวลาไหน
ทำได้อย่างนี้ ผู้ถืออุโบสถก็จะได้ทั้งบุญคือความดี ได้ทั้งกุศลคือความฉลาด ได้ทั้งปริยัติและปฏิบัติครบถ้วน
คุ้มค่าที่เราสร้างวัดและมีวัด
คุ้มค่าที่มีการทำบุญวันพระ
คุ้มค่าที่มีคนมาทำบุญ
และคุ้มค่าที่มีคนถืออุโบสถทุกวันพระ
ขอถวายแนวคิดนี้แด่พระเดชพระคุณหลวงพ่อเจ้าอาวาสทุกวัดด้วยความเคารพยิ่งขอรับ
---------------------------
พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย
๕ ธันวาคม ๒๕๖๕
๑๘:๓๔
[full-post]
แสดงความคิดเห็น
ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ