ทองย้อย แสงสินชัย
#บาลีวันละคำ (3,826)
ชีพราหมณ์
คือคนเช่นไร
อ่านว่า ชี-พฺราม
ประกอบด้วยคำว่า ชี + พราหมณ์
(๑) “ชี”
คำว่า “ชี” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า -
“ชี : (คำนาม) นักบวช เช่น ท้าวธคือไกรษรงามสง่า เสด็จเข้าป่าเปนชี (ม. คำหลวง วนประเวศน์); คำเรียกหญิงที่นุ่งขาวห่มขาว โกนคิ้วโกนผม ถือศีล ๘, แม่ชี ก็เรียก. (ส. ชี ใช้พูดต้นนามเป็นเครื่องหมายแห่งความยกย่อง).”
ดูเหมือน พจนานุกรมฯ จะชี้เป็นนัยว่า “ชี” มาจากคำว่า “ชี” ในภาษาสันสกฤต
คนอินเดียที่ประชาชนนับถือมากๆ จะมีคำต่อท้ายชื่อว่า “ชี” เช่น Gandhi ji
พจนานุกรมฯ ยังมีคำว่า “ชีต้น” หมายถึงพระสงฆ์ที่เป็นอาจารย์ และมีคำว่า “ธชี” บอกว่าเป็นภาษาบาลี ให้ความหมายว่า พราหมณ์, นักบวช และว่าสันสกฤตเป็น “ธฺวชินฺ” แปลว่า ผู้ถือธง และหมายถึง “พราหมณ์” ด้วย
คำว่า “ธชี” จะพบบ่อยในร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดกเมื่อเอ่ยถึง ชูชก บางทีเพี้ยนเป็น “ตาชี”
ได้ข้อสรุปว่า คำว่า “ชี” แต่เดิมหมายถึงนักบวช ไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นเพศหญิง แม้แต่นักบวชชายก็เรียก “ชี” เช่นคำว่า “ชีต้น” แล้วยังมี “ชีปะขาว” ซึ่งหมายถึงผู้ชายที่ปลีกตัวไปอยู่วัด ไม่ได้บวช แต่นุ่งขาวห่มขาว
- “Ji - ชี” เป็นคำสันสกฤต ตระกูลเดียวกับบาลี ใช้เรียกควบนาม ด้วยความเคารพ เช่นที่คนอินเดียเรียกมหาตมะ คานธี ว่า Gandhi ji - คานธี ชี
- “ธชี” หมายถึงพราหมณ์ พราหมณ์ต้องนุ่งขาวห่มขาว และเป็นวรรณะนักบวช
เพราะฉะนั้น คำว่า “ชี” ที่ปัจจุบันหมายถึงหญิงที่นุ่งขาวห่มขาว โกนคิ้วโกนผมถือศีล ก็น่าจะมาจาก “ธชี” หรือ “ชี” ในบาลีสันสกฤต
(๒) “พราหมณ์”
เขียนแบบบาลีเป็น “พฺราหฺมณ” อ่านว่า พฺรา-หฺมะ-นะ รากศัพท์มาจาก พฺรหฺม + ปัจจัยและธาตุ
(1) “พฺรหฺม” รากศัพท์มาจาก พฺรหฺ (ธาตุ = เจริญ, ประเสริฐ) + ม (มะ) ปัจจัย
: พฺรหฺ + ม = พฺรหฺม แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เจริญด้วยคุณ” ใช้ในความหมายดังนี้ -
(1) ความดีประเสริฐสุด (the supreme good)
(2) คัมภีร์พระเวท, สูตรลึกลับ, คาถา, คำสวดมนต์ (Vedic text, mystic formula, prayer)
(3) เทพผู้ยิ่งใหญ่ในศาสนาพราหมณ์ ถือกันว่าเป็นผู้สร้างจักรวาล (the god Brahmā chief of the gods, often represented as the creator of the Universe)
(4) เทวดาพวกหนึ่งที่อยู่บนสรวงสวรรค์ชั้นสูงที่เรียกว่า พรหมโลก (a brahma god, a happy & blameless celestial being, an inhabitant of the higher heavens [brahma-loka])
(5) สิ่งศักดิ์สิทธิ์, คนศักดิ์สิทธิ์ (holy, pious, a holy person)
ในแง่ตัวบุคคล คำว่า “พฺรหฺม” หมายถึง -
(1) เทพสูงสุดหรือพระผู้เป็นเจ้าในศาสนาพราหมณ์
(2) เทพในพรหมโลก เป็นผู้ไม่เกี่ยวข้องด้วยกาม มี 2 พวกคือ รูปพรหม มี 16 ชั้น อรูปพรหม มี 4 ชั้น
(3) ผู้ประเสริฐด้วยคุณธรรม 4 ประการ คือ เมตตา (ปรารถนาให้อยู่เป็นปกติสุข) กรุณา (ตั้งใจช่วยเพื่อให้พ้นจากปัญหา) มุทิตา (ยินดีด้วยเมื่อมีสุขสมหวัง) อุเบกขา (วางอารมณ์เป็นกลางเมื่อได้ทำหน้าที่ถูกต้องครบถ้วนแล้ว)
ในที่นี้ “พฺรหฺม” มีความหมายตามข้อ (2) ที่เพิ่งกล่าวนี้ หรือข้อ (4) ข้างต้น
(2) พฺรหฺม + ปัจจัยและธาตุ
(ก) พฺรหฺม + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ลง น อาคมท้ายศัพท์แล้วแปลง น เป็น ณ, ทีฆะ อะ ที่ พฺร-(หฺม) เป็น อา (พฺรหฺม > พฺราหฺม)
: พฺรหฺม + ณ = พฺรหฺมณ > พฺรหฺม + น = พฺรหฺมน > พฺรหฺมณ > พฺราหฺมณ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เป็นเหล่ากอของพรหม”
(ข) พฺรหฺม (มนต์) + อณฺ (ธาตุ = ส่งเสียง) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะ อะ ที่ พฺร-(หฺม) เป็น อา (พฺรหฺม > พฺราหฺม)
: พฺรหฺม + อณฺ = พฺรหฺมณฺ + ณ = พฺรหฺมณณ > พฺรหฺมณ > พฺราหฺมณ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้สาธยายมนต์”
“พฺราหฺมณ” (ปุงลิงค์) หมายถึง (1) คนวรรณะพราหมณ์ (a member of the Brahman caste) (2) พราหมณาจารย์ (a Brahman teacher)
ในภาษาไทยใช้เป็น “พราหมณ-” (มีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย) และ “พราหมณ์” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า -
“พราหมณ-, พราหมณ์ ๑ : (คำนาม) คนในวรรณะที่ ๑ แห่งสังคมฮินดู ซึ่งมี ๔ วรรณะ ได้แก่ พราหมณ์ กษัตริย์ แพศย์ และศูทร, ผู้ที่ถือเพศไว้ผม นุ่งขาวห่มขาว เช่น พราหมณ์ปุโรหิต พราหมณ์พฤฒิบาศ. (ป., ส.).”
ชี + พราหมณ์ = ชีพราหมณ์ เป็นคำที่มีผู้คิดขึ้นเรียกผู้ถือศีลปฏิบัติธรรมตามกิจกรรมที่จัดขึ้นในบางโอกาส
ขยายความ :
“ชีพราหมณ์” เป็นคำที่สร้างขึ้นในภาษาไทย สันนิษฐานว่าเกิดจากแนวคิดที่ว่า -
๑ “ชี” คือสตรีที่โกนผม นุ่งขาวห่มขาว ถือศีล 8 เป็นนักบวชตามความรู้สึกของสังคมไทย ผู้ที่มาถือศีลปฏิบัติธรรมก็ถือศีลเหมือนชี เพียงแต่ไม่ได้โกนผมและทำพิธีบวชเป็นชี จะเรียก “ชี” คำเดียวก็ไม่ได้เพราะไม่ใช่ “ชี” โกนผม ยังมีสถานะเป็นชาวบ้านธรรมดา
๒ “พราหมณ์” ในห้วงนึกของคนไทย คือคนนุ่งขาวห่มขาว เป็นชาวบ้าน เพียงแต่ไม่ได้ถือศีลเป็นนักบวชเต็มตัว ผู้ที่มาถือศีลปฏิบัติก็นุ่งขาวห่มขาวเหมือนพราหมณ์ พอจะอนุโลมเรียก “พราหมณ์” ได้
๓ จึงเอาการถือศีลเหมือนชี มาเรียกว่า “ชี” ครึ่งหนึ่ง และเอาการนุ่งขาวห่มขาวเหมือนพราหมณ์ มาเรียกว่า “พราหมณ์” ครึ่งหนึ่ง ผสมกันเป็น “ชีพราหมณ์” มีความหมายว่า “ผู้นุ่งขาวห่มขาวเหมือนพราหมณ์ และถือศีลเหมือนชี”
นี่เป็นการอธิบายตามความเข้าใจของผู้เขียนบาลีวันละคำ เป็นการ “อธิบายช่วย” เพื่อให้คำว่า “ชีพราหมณ์” มีความหมายตรงตามการปฏิบัติ
ข้อสังเกต :
๑ การบวช “ชีพราหมณ์” คือผู้บวชนุ่งขาวห่มขาว สมาทานศีล 8 แต่ไม่โกนผม เคยมีผู้คิดคำเรียกขึ้นใหม่ว่า “บวชศีลจาริณี”
๒ ผู้คิดคำใหม่ อาจคิดว่าคำว่า “ชีพราหมณ์” ยังไม่เหมาะสม เพราะไปพ้องกับศาสนาพราหมณ์ จึงเลี่ยงไปใช้คำว่า “ศีลจาริณี” หรือ “บวชศีลจาริณี”
๓ คำว่า “ศีลจาริณี” ตามรูปศัพท์ใช้สำหรับสตรีเท่านั้น ผู้คิดคำนี้อาจนึกเพียงแค่ “ชี” หมายถึงสตรี จึงคิดคำที่เป็น “อิตถีลิงค์” ความจริงแล้ว “ชี” คำเดิมหมายถึงนักบวชชาย ต่อมาจึงขยายความกลายไปเป็นนักบวชหญิงในภาษาไทยปัจจุบัน
๔ ผู้ “บวชศีลจาริณี” มีทั้งชายและหญิง คำว่า “ศีลจาริณี” ถ้าใช้กับชายก็ผิดหลักไวยากรณ์ ถ้าไม่แก้ไข ต่อไปจะเป็นคำที่ผิดจนถูกไปอีกคำหนึ่ง
๕ อันที่จริง คำว่า “ศีลจารี” (สี-ละ-จา-รี) อันเป็นรูปคำเดิมของคำว่า “ศีลจาริณี” หมายถึงทั้งชายและหญิงได้อยู่แล้ว ไม่จำต้องแผลงรูปเป็น “-จาริณี” แต่ประการใด
..............
ดูก่อนภราดา!
: ศีลแปดเท่านี้ ถ้าดีมาก คนก็ยังอยากอนุโมทนา
: ศีลสองร้อยสามร้อย ถ้าดีน้อย คนก็ถอยศรัทธา
[right-side]
แสดงความคิดเห็น
ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ