บทความชุด “ทำบุญวันพระ” (๓๗)
------------------------------
ถืออุโบสถ (๑)
------------------------------
ทำบุญวันพระวัดมหาธาตุราชบุรี พอพระสงฆ์อนุโมทนาจบ ก็เป็นอันเสร็จพิธีช่วงแรกของภาคเช้า พระสงฆ์ฉันเช้าที่ศาลาทำบุญนั่นเลย บางวัดอาจใช้วิธียกสำรับกลับไปฉันที่หอฉันหรือคณะใครคณะมัน ตามธรรมเนียมหรือข้อตกลงของแต่ละวัดซึ่งอาจแตกต่างกันออกไป
ขณะพระกำลังฉัน คนที่มาวัดเพื่อทำบุญอย่างเดียวก็กลับบ้าน ส่วนคนที่มาวัดเพื่อทำบุญและฟังเทศน์หรือถืออุโบสถศีลก็ทำกิจกรรมต่อไป นั่นคือ สวดมนต์ทำวัตรเช้า
วัดมหาธาตุราชบุรีมีสถานที่กว้างขวาง สร้างอาคารหรือวิหารสำหรับไหว้พระสวดมนต์ได้สบายๆ ไม่ต้องทำกิจกรรมอัดกันอยู่ที่เดียวกัน พอทำวัตรเช้าเสร็จ พระก็ฉันเสร็จพอดี ญาติโยมกินข้าว พระก็ไปทำวัตรเช้า พระทำวัตรเสร็จ ญาติโยมก็กินข้าวเสร็จพอดี ต่อจากนี้ก็เป็นรายการฟังเทศน์
ฟังเทศน์กัณฑ์เช้า ชาววัดมหาธาตุราชบุรีอาราธนาอุโบสถศีล ไม่ใช่ศีล ๕ เหมือนฟังเทศน์ปกติ
เมื่อพระธรรมกถึกประจำวันพระนั้นขึ้นสู่ธรรมาสน์เรียบร้อยแล้ว ก็เริ่มด้วยประกาศอุโบสถโดยสมาชิกถืออุโบสถศีลที่รับหน้าที่ประจำ สมัยก่อนผู้ประกาศอุโบสถประจำเป็นแม่ชีสำนักประชุมนารี แต่ปัจจุบันผลัดเปลี่ยนกันระหว่างแม่ชีสำนักประชุมนารีกับสมาชิกถืออุโบสถศีลที่เป็นชาวบ้านธรรมดา
คำประกาศอุโบสถมีทั้งภาษาบาลีและภาษาไทย ภาษาบาลีจะมีข้อความตรงกัน แต่ภาษาไทยอาจยักเยื้องแตกต่างกันออกไปตามแต่ละวัด
ต่อไปนี้เป็นคำประกาศอุโบสถที่ใช้อยู่ที่วัดมหาธาตุราชบุรี
.........................................................
อัชชะ โภนโต ปักขัสสะ อัฏฐะมีทิวะโส. (ถ้าวันพระ ๑๕ ค่ำ ว่า ปัณณะระสีทิวะโส ถ้าวันพระ ๑๔ ค่ำ ว่า จาตุททะสีทิวะโส) เอวะรูโป โข โภนโต ทิวะโส พุทเธนะ ภะคะวะตา ปัญญัตตัสสะ ธัมมัสสะวะนัสสะ เจวะ ตะทัตถายะ อุปาสะกะอุปาสิกานัง อุโปสะถัสสะ จะ กาโล โหติ.
หันทะ มะยัง โภนโต สัพเพ อิธะ สะมาคะตา ตัสสะ ภะคะวะโต ธัมมานุธัมมะปะฏิปัตติยา ปูชะนัตถายะ, อิมัญจะ รัตติง อิมัญจะ ทิวะสัง อัฏฐังคะสะมันนาคะตัง อุโปสะถัง อุปะวะสิสสามาติ กาละปะริจเฉทัง กัต์วา ตัง ตัง เวระมะณิง อารัมมะณัง กะริต์วา อะวิกขิตตะจิตตา หุต์วา สักกัจจัง อุโปสะถัง สะมาทิเยยยามะ. อีทิสัง หิ อุโปสะถะกาลัง สัมปัตตานัง อัมหากัง ชีวิตัง มา นิรัตถะกัง โหตุ.
ขอประกาศเริ่มเรื่องความที่จะรักษาอุโบสถศีลให้สาธุชนทราบทั่วกันก่อนแต่สมาทาน, วันนี้เป็นวันอุโบสถ ขึ้น ๘ ค่ำ (เปลี่ยนไปตามวันพระนั้นๆ คือ แรม ๘ ค่ำ, ขึ้น ๑๕ ค่ำ, แรม ๑๕ ค่ำ หรือ แรม ๑๔ ค่ำ) แห่งปักษ์, เป็นวันที่สาธุชนอุบาสกอุบาสิกาพึงสดับพระธรรมเทศนาและรักษาอุโบสถศีลอันประกอบไปด้วยองค์ ๘ ประการ
บัดนี้ ขอกุศลอันยิ่งใหญ่ คือการตั้งจิตสมาทานองค์ ๘ ประการแห่งอุโบสถนั้นจงเกิดมีแก่สาธุชนทั้งหลายผู้มาประชุมพร้อมกันในสถานที่นี้, จงกำหนดว่า เราจักรักษาอุโบสถศีลสิ้นคืนและวันวันนี้, พึงทำความเว้นจากโทษนั้นๆ ให้เป็นอารมณ์ คือ
เว้นจากฆ่าสัตว์ ๑
เว้นจากถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้ด้วยอาการแห่งขโมย ๑
เว้นจากกรรมอันเป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์ ๑
เว้นจากพูดปด ๑
เว้นจากดื่มสุราเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ๑
เว้นจากบริโภคอาหารในเวลาวิกาล คือตั้งแต่ตะวันเที่ยงแล้วไป ๑
เว้นจากฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรี และดูการละเล่นอันเป็นข้าศึกแก่กุศล และทัดทรงประดับตกแต่งร่างกายด้วยระเบียบดอกไม้ ของหอม เครื่องย้อมเครื่องทา ๑
เว้นจากที่นอนสูงและที่นอนใหญ่ ภายในมีนุ่นและสำลี ๑ ฉะนี้
อย่าให้จิตฟุ้งซ่านส่งไปอื่น จงสมาทานองค์ ๘ ประการแห่งอุโบสถนั้นโดยเคารพ เพื่อจะบูชาองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นด้วยธัมมานุธัมมปฏิบัติ ตามกำลังของคฤหัสถ์ทั้งหลาย, ชีวิตของเราทั้งหลายที่ได้ดำรงมาจนถึงวันอุโบสถเช่นนี้แล้ว อย่าให้ล่วงไปเปล่าปราศจากประโยชน์เลย.
.........................................................
เมื่อประกาศอุโบสถจบแล้ว ก็อาราธนาอุโบสถศีลพร้อมกัน
คำอาราธนาอุโบสถศีลว่าดังนี้ -
.........................................................
มะยัง ภันเต, ติสะระเณนะ สะหะ, อัฏฐังคะสะมันนาคะตัง อุโปสะถัง ยาจามะ,
ทุติยัมปิ มะยัง ภันเต, ติสะระเณนะ สะหะ, อัฏฐังคะสะมันนาคะตัง อุโปสะถัง ยาจามะ,
ตะติยัมปิ มะยัง ภันเต, ติสะระเณนะ สะหะ, อัฏฐังคะสะมันนาคะตัง อุโปสะถัง ยาจามะ.
.........................................................
ต่อจากนั้น พระผู้เทศน์ก็ให้ศีลอุโบสถ
เพื่อความสมบูรณ์ของเรื่อง ขอนำตัวบทศีลอุโบสถมาเสนอไว้ในที่นี้พร้อมทั้งคำแปล (เวลาสมาทานจริง ว่าเฉพาะคำบาลี) ดังนี้ -
.........................................................
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (๓ จบ)
พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ
ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ
สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ
ทุติยัมปิ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ
ทุติยัมปิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ
ทุติยัมปิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ
ตะติยัมปิ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ
ตะติยัมปิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ
ตะติยัมปิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ.
(เมื่อพระสงฆ์ว่า ติสะระณะคะมะนัง นิฏฐิตัง พึงรับพร้อมกันว่า อามะ ภันเต
พระให้ศีลต่อไป ปกติว่าเฉพาะคำบาลี ไม่ต้องแปล ในที่นี้ลงคำแปลไว้เพื่อให้รู้ความหมาย)
๑. ปาณาติปาตา เวระมะณีสิกขาปะทัง สะมาทิยามิ.
(ข้าพเจ้าขอสมาทานซึ่งสิกขาบทคือเจตนาวิรัติ เครื่องงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ด้วยตนเอง และใช้ผู้อื่นให้ฆ่า)
๒. อะทินนาทานา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ.
(ข้าพเจ้าขอสมาทานซึ่งสิกขาบทคือเจตนาวิรัติ เครื่องงดเว้นจากการถือเอาซึ่งสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ด้วยตนเอง และใช้ให้ผู้อื่นถือเอา)
๓. อะพ๎รัห๎มะจะริยา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
(ข้าพเจ้าขอสมาทานซึ่งสิกขาบทคือเจตนาวิรัติ เครื่องงดเว้นจากการเสพอสัทธรรม อันไม่ใช่วิสัยของผู้ประพฤติธรรมอันประเสริฐ)
๔. มุสาวาทา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ.
(ข้าพเจ้าขอสมาทานซึ่งสิกขาบทคือเจตนาวิรัติ เครื่องงดเว้นจากการกล่าวเท็จด้วยตนเอง และเสี้ยมสอนผู้อื่นให้กล่าว)
๕. สุราเมระยะมัชชะปะมาทัฏฐานา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ.
(ข้าพเจ้าขอสมาทานซึ่งสิกขาบทคือเจตนาวิรัติ เครื่องงดเว้นจากการดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท)
๖. วิกาละโภชะนา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ.
(ข้าพเจ้าขอสมาทานซึ่งสิกขาบทคือเจตนาวิรัติ เครื่องงดเว้นจากการบริโภคอาหารในเวลาวิกาล)
๗. นัจจะ คีตะ วาทิตะ วิสูกะทัสสะนะ, มาลา คันธะ วิเลปะนะ ธาระณะ มัณฑะนะ วิภูสะนัฏฐานา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ.
(ข้าพเจ้าขอสมาทานซึ่งสิกขาบทคือเจตนาวิรัติ เครื่องงดเว้นจากการฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรี ดูฟังการละเล่นอันเป็นข้าศึกแก่การกุศล และทัดทรงด้วยระเบียบดอกไม้ ลูบไล้ทาตัวด้วยของหอม เครื่องแต่งเครื่องย้อมต่าง ๆ)
๘. อุจจาสะยะนะมะหาสะยะนา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ.
(ข้าพเจ้าขอสมาทานซึ่งสิกขาบทคือเจตนาวิรัติ เครื่องงดเว้นจากการนั่งนอนบนที่นอนอันสูงและใหญ่)
(ต่อไปนี้ ว่าคำแปลด้วย พระว่านำเป็นวรรคๆ โยมว่าตาม)
อิมัง อัฏฐังคะสะมันนาคะตัง, พุทธะปัญญัตตัง อุโปสะถัง, อิมัญจะ รัตติง อิมัญจะ ทิวะสัง, สัมมะเทวะ อะภิรักขิตุง สะมาทิยามิ.
ข้าพเจ้าสมาทานซึ่งอุโบสถศีล อันประกอบไปด้วยองค์แปดประการนี้, เพื่อจะรักษาไว้ให้ดีมิให้ขาดมิให้ทำลาย, ตลอดวันหนึ่งและคืนหนึ่ง ณ เวลาวันนี้
(ต่อไปนี้พระว่า)
อิมานิ อัฏฐะ สิกขาปะทานิ อัจเจกัง รัตตินทิวัง อุโปสะถะสีละวะเสนะ ตุมเหหิ อุปาสะกะอุปาสิกาภูเตหิ สาธุกัง อะขัณฑัง กัต์วา อัปปะมาเทนะ รักขิตัพพานิ.
(รับพร้อมกันว่า อามะ ภันเต)
สีเลนะ สุคะติง ยันติ (พระหยุด, รับพร้อมกันว่า สาธุ)
สีเลนะ โภคะสัมปะทา (พระหยุด, รับพร้อมกันว่า สาธุ)
สีเลนะ นิพพุติง ยันติ (พระหยุด, รับพร้อมกันว่า สาธุ)
ตัส๎มา สีลัง วิโสธะเย. (รับพร้อมกันว่า อามะ ภันเต)
.........................................................
หมายเหตุ: โปรดสังเกตว่า ศีลข้อ ๓ ถ้าเป็นศีล ๕ จะเป็น “ปาณาติปาตา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ” แต่ศีลอุโบสถเป็น “อะพ๎รัห๎มะจะริยา ...” ควรศึกษาต่อไปถึงความแตกต่าง
.........................................................
พิธีรับศีลอุโบสถจบแค่นี้ ต่อจากนี้ก็อาราธนาธรรมและฟังเทศน์ต่อไป
พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย
๓ ธันวาคม ๒๕๖๕
๑๙:๐๙
[right-side]
แสดงความคิดเห็น
ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ