ปาฬิสัททา


การศึกษาพระอภิธรรม

มีมาตั้งแต่ในสมัยล้านนา

      .....ในล้านนามีการศึกษาพระอภิธรรมที่เจริญรุ่งเรืองมาก่อน ดังจะเห็นได้จากคัมภีร์บาฬีโยชนาอรรถกถาพระอภิธรรมหลายคัมภีร์ ซึ่งเป็นผลงานของพระญาณกิตติมหาเถระ ชาวเมืองเชียงใหม่ เกิดขึ้นในช่วงรัชสมัยพระเจ้าสิริภูวนาทิจจธรรมราชา (พระเมืองแก้ว) รัชกาลที่ ๑๑ แห่งพระราชวงศ์มังราย (พ.ศ.๒๐๓๘-๒๐๖๘)[1] ดังรายชื่อคัมภีร์ดังต่อไปนี้[2]

      (๑) อฏฺฐสาลินีอตฺถโยชนา  (โยชนาอรรถกถาธรรมสังคณี)

      (๒) สมฺโมหวิโนทนีอตฺถโยชนา (โยชนาอรรถกถาวิภังค์)

      (๓) ปญฺจปกรณฏฺฐกถาอตฺถโยชนา  (โยชนาอรรถกถาปัญจปกรณ์)

      (๔) อภิธมฺมตฺถสงฺคหตฺถโยชนา[3] (โยชนาอรรถกถาอภิธัมมัตถสังคหะ)

      (๕) อภิธมฺมตฺถภาวินิยตฺถโยชนา (ปญฺจิกา) (โยชนาฎีกาอภิธัมมัตถสังคหะ)

      .....และนอกจากพระญาณกิตติมหาเถระจะรจนาคัมภีร์บาฬีโยชนาอรรถกถาพระอภิธรรมแล้ว ยังรจนาคัมภีร์ "สมนฺตปาสาทิกาอตฺถโยชนา" (โยชนาอรรถกถาพระวินัยปิฎก) และ "กจฺจายนรูปทีปนี" (โยชนากัจจายนไวยากรณ์) ไว้อีกด้วย

      .....ในปัจจุบันคณะสงฆ์ไทยได้ใช้คัมภีร์ "สมนฺตปาสาทิกาอตฺถโยชนา" (โยชนาอรรถกถาวินัยปิฎก) ประกอบหลักสูตร ป.ธ.๕ และ ป.ธ.๖ และคัมภีร์ "อภิธมฺมตฺถภาวินิยตฺถโยชนา (ปญฺจิกา)" (โยชนาฎีกาอภิธัมมัตถสังคหะ) ประกอบหลักสูตร ป.ธ.๙ ซึ่งมีการปริวรรตและตีพิมพ์ให้อยู่ในรูปอักษรบาฬีไทยของมหามกุฏราชวิทยาลัยมาก่อน 

      .....นอกจากนั้นมูลนิธิภูมิพโลภิกขุ ยังได้ปริวรรตและตีพิมพ์คัมภีร์ "อฏฺฐสาลินีอตฺถโยชนา" (โยชนาอรรถกถาธรรมสังคณี) และ "สมฺโมหวิโนทนีอตฺถโยชนา" (โยชนาอรรถกถาวิภังค์) ให้อยู่ในรูปอักษรบาฬีไทยปัจจุบัน และคาดว่ากำลังดำเนินการปริวรรตและตีพิมพ์เล่มอื่นๆ ในกาลต่อไป

      ....."คัมภีร์โยชนา" คือ คู่มือประกอบการศึกษาพระบาฬี อรรถกถา ฏีกา โดยพระโยชนาจารย์ ท่านจะประกอบปาฐเสสะ (โยคศัพท์เข้ามาให้ชัดเจนยิ่งขึ้น) แปลศัพท์ยากให้เป็นศัพท์ง่าย (แปลบาฬีเป็นบาฬี) บอกหน้าที่ของบทในประโยค (สัมพันธ์/การก) วิเคราะห์ศัพท์ (สมาส, ตัทธิต, กิตก์) และบอกธาตุปัจจัย พร้อมทั้งบอกสูตรบาฬีไวยากรณ์ มีกัจจายนสูตรเป็นต้น เพื่อให้รู้ต้นตอที่มาของรูปศัพท์ เพื่อง่ายต่อความเข้าใจโครงสร้างภาษาบาฬี การตีความ และการแปลเป็นภาษาท้องถิ่นอื่นๆ   

-----------------------

      [1] คัมภีร์โยชนาอรรถกถาพระอภิธรรม ที่ระบุปีที่รจนา มีเพียงคัมภีร์เดียว คือ "อภิธมฺมตฺถภาวินิยตฺถโยชนา" (โยชนาฎีกาอภิธัมมัตถสังคหะ) ส่วนชื่อพระเถระผู้รจนา วัดที่พำนักและเมืองที่รจนา แสดงข้อความเหมือนกันทุกคัมภีร์ ดังข้อความท้ายคัมภีร์ว่า;

      .....อิติ อภินวปุรวฺหยนครสฺส ปจฺฉิมุตฺตรทิสาภาเค ปติฏฺฐิเต ปนสาราเม สิรีติภูวนาทิจฺจธมฺมราเชน การาปิเต เคเห วสนฺเตน สกลพฺยากรณาสงฺคญฺญาณจารินา สาฏฺฐกถติปิฏกธเรน ญาณกิตฺตีติ นามเธยฺเยน เถเรน กตา ปญฺจิกา นาม อตฺถโยชนา กตกิจฺจสฺส พุทฺธภูตสฺส ภควโต ยมกสาลานมนฺตเร ปรินิพฺพุติโต ปญฺจตาฬีสาธิเกสุ ทฺวีสุ วสฺสสหสฺเสสุ ปริปุณฺเณสุ อติกฺกนฺเตสุ จตุสฏฺฐิวสฺสาธิเก อฏฺฐสตสกราเช เวสาขมาสสฺส กาฬปกฺเข พุธทิเน นิฏฺฐํ สมฺปตฺตาติ. (อภิธมฺมตฺถวิภาวินิยา ปญฺจิกา นาม อตฺถโยชนา (ตติโย ภาโค) หน้า ๕๙๒ มมร.)  

      .....แปลความว่า; คัมภีร์อรรถโยชนา ชื่อปัญจิกา พระเถระผู้มีนามว่า "ญาณกิตติ" ผู้ทรงพระไตรปิฎกกับด้วยอรรถกถา ผู้เชี่ยวชาญในคัมภีร์ไวยากรณ์ทั้งสิ้น ผู้อยู่ในเรือนที่พระเจ้าสิริภูวนาทิจจธรรมราชาทรงสร้างถวาย ณ พระอารามชื่อว่า "วัดขนุน" ที่ตั้งอยู่ในทิศตะวันตกเฉียงเหนือ แห่งนครที่มีชื่อว่า "เชียงใหม่" (อภินวปุร) รจนาเสร็จสมบูรณ์ในวันพุธ ข้างแรม เดือนวิสาขะ ปีจุลศักราช ๘๖๔ ก้าวล่วงสู่ปี ๒๐๔๕ บริบูรณ์ นับแต่กาลปรินิพพานในระหว่างคู่ต้นสาละของพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้เป็นพระพุทธเจ้า ผู้ทรงทำกิจเสร็จแล้ว ด้วยประการฉะนี้.

      .....จากหลักฐานท่านมีชีวิตอยู่ในช่วงรัชสมัยพระเจ้าสิริภูวนาทิจจธัมมราชา (พระเมืองแก้ว) รัชกาลที่ ๑๑ ราชวงศ์มังราย (พ.ศ.๒๐๓๘-๒๐๖๘) (รายพระนามพระมหากษัตริย์ล้านนา-วิกิพีเดีย)

      [2] พรรณเพ็ญ เครือไทย, บรรณาธิการ. วรรณกรรมพุทธศาสนาในล้านนา (เชียงใหม่ ; สุริวงศ์บุ๊คเซนเตอร์, ๒๕๔๐), หน้า ๑๔-๑๕. และ สมเด็จพระวันรัตน. สังคีติยวงศ์ ภาษาบาฬี. พระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาลลักษมณ) แปล (กรุงเทพฯ : คณะสงฆ์วัดพระเชตุพน จัดพิมพ์ในการออกเมรุพระราชทานเพลิงศพพระธรรมปัญญาบดี (ถาวร ติสฺสานุกโร), ๒๕๕๘), อธิบายหนังสือสังคีติยวงศ์ โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ หน้า ๑๒.  

      [3] "อภิธมฺมตฺถสงฺคหตฺถโยชนา" (โยชนาอรรถกถาอภิธัมมัตถสังคหะ) ท้ายคัมภีร์ไม่ได้ระบุชื่อผู้รจนา แต่สันนิษฐานได้ว่าน่าจะเป็นพระญาณกิตติมหาเถระ ผู้รจนา "อภิธมฺมตฺถภาวินีอตฺถโยชนา" (โยชนาฎีกาอภิธัมมัตถสังคหะ) เพราะว่าทั้ง ๒ คัมภีร์นี้เป็นคัมภีร์ที่มาคู่กัน และต้องใช้ศึกษาร่วมกัน กล่าวคือ คัมภีร์ฏีกาเป็นคัมภีร์ที่อธิบายคัมภีร์อรรถกถานั่นเอง

อ่าน "การศึกษาพระอภิธรรม (ปรมัตถ์) ในล้านนา เมื่อราวปีพุทธศักราช ๒๔๕๒ ช่วงสมัยรัตนโกสินทร์ยุคปรับปรุงประเทศ พ.ศ. ๒๓๙๔-๒๔๗๕"

https://www.facebook.com/.../a.288701624.../990991308065515/

-----------------------

ขอบคุณภาพเจดีย์วัดเจ็ดยอด (มหาโพธาราม) อ.เมือง เชียงใหม่ สถานที่ทำสังคายนาพระไตรปิฎก เมื่อ พ.ศ. ๒๐๒๐ ในรัชสมัยพระเจ้าติโลกราช แห่งพระราชวงศ์มังราย จากอินเตอร์เน็ต และภาพป้ายชื่อห่อคัมภีร์บาฬีโยชนาอัฏฐสาลินี อักษรธรรมล้านนา (ใบลาน) ฉบับวัดสูงเม่น อ.สูงเม่น จ.แพร่


[full-post]

ประวัติการศึกษาพระอภิธรรม,อภิธรรม,

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.