สมเกียรติ พลเดชอุดมคุณ


กัมมจตุกกะ (ตอนที่หนึ่ง)

   ว่าด้วยกรรม ๔ อย่าง โดยเกี่ยวกับกิจ

   ชื่อว่า กรรม มี ๔ อย่าง โดยเกี่ยวกับกิจ คือ ชนกกรรม ๑ อุปถัมภกกรรม ๑ อุปปีฬกกรรม ๑, อุปฆาตกกรรม ๑. 

คำอธิบายกรรม ๔ อย่าง โดยเกี่ยวกับกิจ

   บัดนี้ ท่านอาจารย์ประสงค์แสดง กัมมจตุกกะ (กรรมหมวด ๔) ต่อไป เริ่มคำว่า ชื่อว่า กรรม มี ๔ อย่าง เป็นต้น ก็แต่ว่าบัณฑิตพึงทราบเกี่ยว ว่า “กรรม” ก่อน

   คำว่า กรรม มีวจนัตถะ (ความหมายของคำ) ว่า อตฺตโน ผลํ กโรตีติ กมฺมํแปลว่า ธรรมชาติอย่างหนึ่งชื่อว่า กรรม เพราะมีความหมายว่า กระทำผล ของตน ดังนี้. ความว่า สร้าง จัดแจง ผลที่เป็นของตน ๆ เหมือนอย่างที่ตรัสไว้ว่า “กมฺมํ สตฺเต วิภชติ ยทิทํ หีนปฺปณีตตาย” (ม อุ ๑๔/๓๔๒) แปลว่า “กรรม ย่อมจำแนกสัตว์ ทั้งหลาย เพื่อความเป็นผู้เลวและประณีต” ดังนี้ เป็นต้น.

   อีกอย่างหนึ่ง มีวจนัตถะ ว่า "กรียเต ตนฺติ กมฺมํ" แปลว่า ธรรมชาติอย่างหนึ่งชื่อว่า กรรม เพราะมีความหมายว่า เป็นสิ่งที่สัตว์กระทำไว้ ดังนี้ เหมือนอย่างที่ท่านพระสารีบุตรเถระกล่าวไว้ว่า  “นตฺถิ สุกตทุกฺกตานํ กมฺมานํ ผลํ วิปาโกติ วตฺถุ เอวํวาโท มิจฺฉาภินิเวสปรามาโส ทิฏฺฐิ” (ขุ.ป.๓๑/๑๙๙)แปลว่า “ที่ตั้งแต่ ทิฏฐิ คือวาทะอย่างนี้ว่า “ผลวิบากของกรรมที่บุคคลทำไว้ดีหรือไม่ดี หามีไม่ ดัง นี้ เป็นความยึดมั่นถือมั่นผิด ๆ เป็นทิฏฐิ” ดังนี้. อธิบายว่า สิ่งเดียวกันนั่นเทียว เล็งถึงความเป็นธรรมชาติที่สร้างผลของตนให้เกิดขึ้น ไม่แตะต้องตัวบุคคล ก็เรียกว่า "กรรม" โดยความหมายว่า กระทำผลของตน สิ่งนั้นแหละ เพราะเหตุที่มิได้เกิดขึ้นเอง ทว่า สัตว์ทำให้เกิดขึ้น เล็งถึงความเป็นสิ่งที่สัตว์ทำให้เกิดขึ้น ก็เรียก ว่า “กรรม” โดยความหมายว่า เป็นสิ่งที่สัตว์กระทำ ฉะนี้แล.

    หากจะถามว่า “ก็สภาวธรรมที่ท่านเรียกว่า กรรม นั้น คืออะไรเล่า?” ดังนี้

    ก็ย่อมมีคำตอบว่า คือ เจตนา ที่เป็นไปในคราวฆ่า

    สัตว์เป็นต้น ข้อนี้ สมจริงดังที่ตรัสไว้ว่า “เจตนาหํ ภิกฺขเว กมฺมํ วทามิ เจตยิตฺวา กมฺมํ กโรติ กาเยน วาจายมนสา”(องฺ.ฉกฺก.๒๒/๔๕๑) แปลว่า “ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวเจตนาว่าเป็นกรรม บุคคลจงใจ (มีเจตนา) แล้วก็ทำกรรมด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ” ดังนี้.

   พึงทราบว่า ธรรมบางอย่าง แม้ว่าไม่ใช่เจตนา แต่สัมปยุตกับเจตนา ก็ชื่อ ว่า กรรม เพราะมีลักษณะสร้างผลวิบากของตนนั่นเอง เหมือนอย่างที่ตรัส ไว้ว่า “กตมญฺจ ภิกฺฺขเว กมฺมํ อกณฺหํอกณฺหอสฺุกฺกวิปากํ กมฺมกฺขยาย สํวตฺตติ? สมฺมาทิฏฺฐิ ฯเปฯ สมฺมาสมาธิ......สติสมฺโพชฺฌงฺโค ฯเปฯ อุเปกฺขา สมฺโพชฺฌงฺโค”(องฺ.จตุกฺก.๒๑/๓๓๘-๙) แปลว่า “ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย กรรมไม่ดำไม่ขาว มีวิบากไม่ดำ ไม่ขาว เป็นไปเพื่อความสิ้นกรรม เป็นไฉน? ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ ...ได้แก่ สติสัมโพชฌงค์ ฯลฯ อุเบกขาสัมโพชฌงค์” ดังนี้. เป็นอันตรัสธรรม ๑๕ อย่าง คือ พระอริยมรรคมีองค์ ๘ และโพชฌงค์ ๗ ว่าเป็นกรรม ก็ธรรม ๑๕ อย่างเหล่านี้มิใช่เจตนา แต่เป็นธรรมที่สัมปยุตกับเจตนา.

   อนึ่ง แม้ธรรมที่ไม่ใช่เจตนาอย่างอื่น ๆ นอกเหนือไปจากธรรม ๑๕ อย่าง ที่กล่าวมาแล้วเหล่านี้ ก็จัดเป็นกรรมเหมือนกัน ได้แก่ ธรรม ๖ อย่าง คือ อกุศล กรรม ๓ อย่าง ได้แก่ อภิชฌา - โลภะที่เป็นความเพ่งเล็งอยากได้ ๑, พยาบาท - โทสะที่เป็นความปองร้าย ๑, มิจฉาทิฏฐิ - ความเห็นผิดว่าทานไม่มีผลเป็นต้น ที่รวมเรียกว่า อกุศลมโนกรรม และกุศลธรรม ๓ อย่าง คือ อนภิชฌา -  อโลภะ ที่ห้ามอภิชฌานั้น ๑, อัพยาบาท-อโทสะที่ห้ามพยาบาท ๑, สัมมาทิฏฐิ ความ เห็นชอบคือปัญญาที่ห้ามมิจฉาทิฏฐินั้น ๑ ที่รวมเรียกว่า กุศลมโนกรรม. 

   รวมความว่า ในคราวที่การกระทำทั้งหลายจะเป็นบุญก็ตาม เป็นบาปก็ตาม สำเร็จลง ถ้าหากว่าการกระทำครั้งนั้น ๆ สำเร็จลงได้เพราะอาศัยเจตนาออกหน้า เป็นประธาน เป็นใหญ่ ก็กล่าวได้ว่า มีเจตนาเป็นผู้ทำให้สำเร็จ คือเป็นกรรม หากว่าสำเร็จลงได้เพราะอาศัยธรรมอย่างอื่นที่ประกอบร่วมกันกับเจตนาออกหน้า เป็นประธาน เป็นใหญ่ ก็กล่าวได้ว่า มีธรรมนั้นๆ เป็นผู้ให้สำเร็จ คือเป็นกรรม ฉะนี้แล.

   ท้วงว่า ก็ถ้าหากว่า ธรรมแม้อย่างอื่นมีอนภิชฌา (อโลภะ) เป็นต้นซึ่งไม่ใช่ เจตนาเลย แต่เป็นธรรมที่สัมปยุตกับเจตนา ก็จัดเป็นกรรมได้ไซร้ เมื่อเป็นเช่นนี้ ใน ปกรณ์มหาปัฏฐาน วาระแห่งกัมมปัจจัย เพราะเหตุไรพระองค์ทรงยกเฉพาะ กุศลเจตนาและอกุศลเจตนาเท่านั้นว่าเป็นนานักขณิกกัมมปัจจัย (ปัจจัยคือกรรม ที่มีขณะต่างไปจากวิบากของตน) ยังวิบากให้บังเกิด ไม่ทรงยกเอาธรรมอย่างอื่น ที่สัมปยุตกับเจตนานั่นแหละ ไว้ด้วยเล่า?

   เฉลยว่า เป็นความจริงว่า เกี่ยวกับการยังวิบากให้บังเกิดแห่งกรรมนั้น ว่า โดยปริยายด้านอภิธรรมแล้ว กุศลเจตนาและอกุศลเจตนาเท่านั้น ย่อมยังวิบาก ให้บังเกิดได้ ไม่ใช่ธรรมเหล่าอื่นนอกนี้ ธรรมเหล่าอื่นนอกนี้ไม่มีการให้วิบากเป็น สภาพ เพราะฉะนั้น พระองค์จึงทรงยกเฉพาะกุศลเจตนาและอกุศลเจตนา เท่านั้น ในฐานะเป็น นานักขณิกกัมมปัจจัย ไม่ทรงยกเอาธรรมเหล่าอื่นเข้าไว้ด้วย ก็แต่ ว่าการกล่าวถึงธรรมอย่างอื่นมีอนภิชฌาเป็นต้น ว่าเป็นกรรมที่ให้วิบากได้ก็ โดยปริยาย โดยเกี่ยวกับในคราวนั้น ๆ การกระทำนั้นๆ สำเร็จได้ด้วยอาศัยธรรม นั้น ๆ ออกหน้า เป็นประธาน เป็นใหญ่ ยิ่งกว่าเจตนาเท่านั้นนั่นเที่ยว การกล่าว ถึงธรรมเหล่าอื่นที่ไม่ใช่เจตนาว่าเป็นกรรม มิได้มีความหมายว่า ธรรมเหล่านั้น แต่ละอย่างมีการให้วิบากเป็นสภาพตามลำพังตน เจตนาเท่านั้นมีการให้วิบาก เป็นสภาพ เพราะฉะนั้น เมื่อเล็งถึงการให้วิบากแล้ว ย่อมไม่อาจกล่าวถึงธรรม เหล่าอื่นโดยเว้นเจตนาได้เลย เพราะเหตุนั้นนั่นเอง ท่านพระอรรถกถาจารย์ เมื่อ กล่าวถึงธรรมอื่น ๆ ที่ไม่ใช่เจตนาว่าเป็นกรรม ท่านจึงทำคำนิยามให้อิงเจตนา ว่า “ธรรมบางอย่างที่สัมปยุตกับเจตนาก็ชื่อว่ากรรม” ดังนี้ ก็ถ้าหากว่าธรรมบางอย่างที่ว่านี้ สามารถให้วิบากได้ตามลำพังตนแล้ว ประโยชน์อะไรด้วยคำ ว่า “สัมปยุตกับเจตนา” เล่า

   เปรียบเหมือนว่า การงานที่พวกอำมาตย์ได้กระทำตามอำนาจที่มีอยู่ตามปกติของตน ไม่ต้องคอยฟังรับสั่งของพระราชา คนทั้งหลายย่อมกล่าวถึงบุคคลผู้ ทำว่า “พวกอำมาตย์กระทำ” ส่วนการงานใด พวกอำมาตย์แม้ว่าเป็นผู้ต้องกระทำ นั่นแหละ แต่ไม่อาจทำตามอำนาจที่มีอยู่ตามปกติของตนได้ ต้องอาศัยพระราชารับสั่งจึงทำได้ การงานนี้ แม้พวกอำมาตย์กระทำ คนทั้งหลายย่อมกล่าว ถึงบุคคลผู้ทำว่า “พระราชาทรงกระทำ” เพราะวาระนี้ พระราชานั่นเทียว ทรง ออกหน้า เป็นประธาน เป็นใหญ่ ข้อนี้ฉันใด วิบากที่เจตนาทั้งหลายทำให้ บังเกิดได้ตามความสามารถ ตามปกติของตน บัณฑิตย่อมกล่าวถึงธรรมผู้ทำให้บังเกิด ว่า “เจตนาเป็นผู้กระทำ คือ เป็นกรรม” ส่วนวิบากที่แม้เจตนาทำให้ บังเกิดนั่นแหละ แต่ว่าไม่อาจทำได้ตามความสามารถที่มีอยู่ตามปกติของตน ต้อง อิงอาศัยธรรมอื่นที่สัมปยุตกับตนที่ออกหน้า เป็นประธาน เป็นใหญ่กว่าตน จึงจะ สามารถทำวิบากให้บังเกิดได้ วาระนี้ บัณฑิตย่อมกล่าวถึงธรรมผู้ทำให้บังเกิด โดย ไม่ละเจตนา ว่า “ธรรมที่สัมปยุตกับเจตนา เป็นผู้กระทำ คือเป็นกรรม” เพราะ วาระนี้ ธรรมอย่างอื่นที่สัมปยุตกับเจตนาเป็นประธาน เป็นใหญ่ ฉันนั้นเหมือน กัน วิบากเปรียบเหมือนการงานที่อำมาตย์ทำ เจตนาเปรียบเหมือนอำมาตย์ผู้ทำ ธรรมที่สัมปยุตกับเจตนาเปรียบเหมือนพระราชา ฉะนี้แล

   บัณฑิตทราบเกี่ยวกับคำว่า “กรรม” อย่างนี้แล้ว ก๊พึงทราบการจำแนกกรรมเป็น ๔ อย่าง โดยเกี่ยวกับกิจ ต่อไปเถิด.

   คำว่า โดยเกี่ยวกับกิจ คือ โดยมีความเป็นไปเกี่ยวกับกิจ ๔ อย่าง คือ การทำให้เกิด ๑, การอุปถัมภ์ ๑, การเข้าไปเบียดเบียน ๑, การเข้าไปตัดรอน ๑ เพราะเหตุนั้น ท่านอาจารย์จึงกล่าวว่า “คือชนกกรรม” ดังนี้เป็นต้น


อธิบายชนกกรรม

   ในบรรดากรรม ๔ อย่างเหล่านี้ กรรมชื่อว่า ชนกกรรม เพราะมีความหมาย ว่า ทำให้เกิด ความว่า กุศลเจตนา และอกุศลเจตนา ผู้ทำวิบากและกตัตตารูป (แปลว่า “รูปที่กรรมได้ทำไว้” ได้แก่ กัมมชรูป-รูปที่เกิดจากกรรมนั่นเอง) ให้เกิด ทั้งในปฏิสนธิกาล คือในขณะแรกที่สัตว์เกิด และในปวัตติกาล คือในคราวเป็นไป หลังปฏิสนธิ ชื่อว่า ชนกกรรม, ก็อะไรเล่า ชื่อว่า วิบาก กล่าวโดยปริยายว่า ชื่อ ว่า วิบาก ได้แก่ การปฏิสนธิ (เกิด) ในสุคติหรือทุคติ การเห็น การได้ยิน การได้ กลิ่น การได้ลิ้มรส การได้ถูกต้องอารมณ์ที่กระทบกาย เป็นต้น อันจะยังสุขโสมนัส หรือทุกข์โทมนัสให้เกิด. ถ้าเป็นผลของกุศลกรรม ก็ได้แก่การได้ปฏิสนธิในสุคติ มีมนุษย์เป็นต้น - ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรม ก็ได้แก่การได้ปฏิสนธิในทุคติมีนรกเป็นต้น การได้เห็นรูปที่เป็นอนิฏฐารมณ์เป็นต้น ก็คำว่า วิบาก นี้ มีวจนัตถะและคำอธิบายอันได้กล่าวแล้วในปริจเฉทที่ ๑ (อภิธัมมัฏฐสังคหะ)นั่นเทียว

      ส่วน คำว่า กัมมชรูป ที่กล่าวถึงในที่นี้ โดยชื่อว่า กตัตตารูป นั้น มีวจนัตถะ (ความหมายของคำ) ว่า กมุมโต ชาตตฺตา กมฺมชํ แปลว่า รูป ชื่อว่า กัมมชรูป ก็เพราะความที่เกิดจากกรรม ดังนี้ ได้แก่ รูป ๑๘ อย่าง คือ รูปที่เกิด จากกรรมอย่างเดียวแน่นอน ๙ อย่าง คือ ปสาทรูป ๕ มีจักขุปสาทรูปเป็นต้น หทยรูป ๑ ภาวะรูป (ความเป็นหญิง, ความเป็นชาย) ๒ ชีวิตรูป ๑, และรูปที่ เกิดจากกรรมก็ได้ จากสมุฏฐานอื่นมีจิตเป็นต้นก็ได้ อีก ๙ อย่าง คือ มหาภูต รูป ๔, วัณณะ (สี) ๑, คันธะ (กลิ่น) ๑, รสะ (รส) ๑, โอชา (อาหาร) ๑, ปริจเฉทรูป (รูปที่ตัดตอนขอบเขตของกลุ่มรูป) ๑, ดังนี้ ซึ่งมีคำอรรถาธิบายอย่างแจ่มแจ้งในปริเฉทที่ ๖ ข้างหน้า อาจจะกล่าวโดยปริยายพระสูตร ก็ได้ ว่ารูปที่ เป็นผลของกรรมนั้น ได้แก่ รูปกายของสัตว์อันประกอบด้วยประสาททั้งหลาย มี ประสาทตาเป็นต้น อันเป็นที่รองรับวิบากดังกล่าวนั้น รวมกันอยู่เป็นกลุ่มก้อน ปรากฏเป็นอวัยวะทั้งหลายต่าง ๆ กัน มีมือเท้าเป็นต้น ทั้งวิบาก และกตัตตารูป หรือกัมมชรูป ดังกล่าวนี้ ล้วนเป็นผลของชนกกรรม ก็ชนกกรรมที่เป็นอดีตให้ วิบากไปแล้วในภพอดีตนั้นแหละ ก็มี ที่เป็นอดีตให้วิบากในภพปัจจุบัน ก็มี ที่เป็นปัจจุบันให้วิบากในภพปัจจุบันนี้นี่แหละ ก็มี ที่เป็นปัจจุบันให้วิบากในภพ อนาคต ก็มี ฉะนี้แล. ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ คือ ชนกกรรม


อธิบายอุปถัมภกกรรม

   กรรม ชื่อว่า อุปถัมภกกรรม เพราะมีความหมายว่าอุปถัมภ์ (ค้ำจุน) ความว่า กุศลกรรม และอกุศลกรรม บางอย่าง แม้ว่าจะไม่สามารถทำวิบากให้เกิด ได้เอง เหมือนอย่างชนกกรรม ถึงกระนั้นก็เป็นปัจจัยค้ำจุน สนับสนุนให้วิบากของ กรรมอื่น (คือของชนกกรรมนั่นแหละ) ได้เป็นไปนานยิ่ง จึงเป็นเหมือนหญิง พี่เลี้ยงที่คอยอุปถัมภ์ โอบอุ้มบุตรของหญิงผู้เป็นนายจ้าง ฉะนั้น หากเป็นกุศล ก็ ย่อมอุปถัมภ์ คือค้ำจุนวิบากของชนกกรรมที่เป็นกุศล ให้ได้เป็นไปนาน ๆ คือเกิด อยู่ได้บ่อย ๆ ในปวัตติกาล เมื่อกุศลวิบากอันมีอารมณ์น่าปรารถนา เป็นไปอยู่ บ่อย ๆ อย่างนี้ สัตว์ผู้นั้นก็ย่อมเป็นผู้เสวยสุขโสมนัส อันเนื่องจากวิบากนั้นอยู่ เสมอ ทางตาบ้าง ทางหูเป็นต้นบ้าง อนึ่ง ย่อมอุปถัมภ์วิบาก โดยการสร้าง ความสม่ำเสมอกันแห่งธาตุ ๔ อันเป็นปัจจัยแก่ความเป็นผู้มีโรคน้อย มีอนามัยดี

เมื่อมีโรคน้อย มีอนามัยดี ชนกกรรมฝ่ายกุศลนั้นก็ย่อมได้โอกาส ทำกายวิญญาณ อันสหรคตด้วยสุขให้เกิดได้โดยง่าย ยังสัตว์ผู้นั้นให้ได้เสวยความสุขกายไปตลอดกาลนานทีเดียว เมื่อเป็นเช่นนี้ บุคคลผู้นั้นก็นับได้ว่าเป็นผู้ได้เสวยสุขอันเนื่องจากวิบากของกุศลชนกกรรมที่เกิดอยู่บ่อย ๆ ทางทวาร แม้ทั้ง ๖ ฉะนี้แล

   ก็ถ้าหากว่า อุปถัมภกกรรมนั้นเป็นอกุศล ก็ย่อมอุปถัมภ์ค้ำจุนวิบากของ ชนกกรรมที่เป็นอกุศล ให้ได้เป็นไปนาน ๆ บ่อย ๆ ในปวัตติกาลนั้นเหมือนกัน เมื่ออกุศลวิบากอันมีอารมณ์ไม่น่าปรารถนาเป็นไปอยู่บ่อย ๆ อย่างนี้ สัตว์ผู้นั้นก็ ย่อมเสวยทุกข์โทมนัสอันเนื่องมาจากวิบากนั้นอยู่เสมอ ทางตาบ้าง ทางหูเป็นต้นบ้าง และเช่นเดียวกัน ย่อมอุปถัมภ์วิบาก โดยการสร้างความไม่สม่ำเสมอกันแห่ง ธาตุ ๔ อันเป็นปัจจัยแก่ความเป็นผู้มีโรคมาก มีอนามัยไม่ดี เมื่อเป็นผู้มีโรคมาก มีอนามัยไม่ดี ชนกกรรมฝ่ายอกุศลนั้น ก็ย่อมได้โอกาสทำกายวิญญาณอันสหรคต ด้วยทุกข์นั้น ให้บังเกิดได้โดยง่าย เป็นเหตุให้สัตว์ผู้นั้นเสวยทุกข์ทางกายไปตลอดกาลนานทีเดียว แล.

   รวมความว่า อุปถัมภกกรรมฝ่ายกุศล ย่อมอุปถัมภ์วิบากของชนกกรรมที่ เป็นฝ่ายเดียวกับตน คือเป็นกุศล ให้ได้เป็นไปนาน ๆ ทั้งยังความเป็นผู้มีโรคน้อย มีอนามัยดี อันเป็นปัจจัยแก่สุขทางกายให้สำเร็จ อุปถัมภกกรรมฝ่ายอกุศล ก็เช่นเดียวกัน ย่อมอุปถัมภ์วิบากของชนกกรรมที่เป็นฝ่ายเดียวกับตน คือเป็นอกุศลกรรมให้ได้ๅเป็นไปนานๆ ทั้งยังความเป็นผู้มีโรคมาก มีอนามัยไม่ดี อันเป็นปัจจัยแก่ทุกข์ทางกายให้สำเร็จ.

   อาจารย์บางท่านกล่าวว่า “คำว่า อุปถัมภ์วิบาก เป็นเพียงผลูปจารโวหาร (คำพูดพาดพิงถึงผล) ความจริงอุปถัมภ์ชนกกรรมนั่นแหละ โดยตรงทีเดียว โดย การที่ตนเกิดขึ้นแล้ว ก็สนับสนุน คือเพิ่มกำลังให้แก่ชนกกรรมอันเป็นฝ่ายเดียวกับตนนั้น ให้มีความสามารถในอันยังวิบากให้เป็นไปได้นาน ๆ เมื่อเป็นอย่างนี้ อุปถัมภกกรรมนี้ จึงมีได้ทั้งประเภทที่เป็นอดีต ทั้งประเภทที่เป็นปัจจุบัน” ดังนี้.

    อีกอย่างหนึ่ง ในคราวกระทำกรรม จะเป็นกุศลก็ตาม เป็นอกุศลก็ตาม หาก มีเจตนาเป็นไปครบทั้ง ๓ กาล (หรือแม้เพียง ๒ กาล) คือ กาลก่อนทำ ๑ กาลกําลังทํา ๑ กาลภายหลังทํา ๑ เจตนาที่เป็นไปในการกำลังทำ เป็นตัวทำให้สําเร็จ การกระทำ ย่อมมีกำลังมากว่าเจตนานอกนี้ จึงเป็นชนกกรรมโดยมาก เจตนาในกาล ๒ นอกนี้ ย่อมเป็นอุปถัมภกกรรม ฉะนี้แล.


อธิบายอุปปีฬกกรรม

   กรรม ชื่อว่า อุปปีฬิกกรรม กรรม เพราะมีความหมายว่าเข้าไปเบียดเบียน พึงทราบว่า อุปปีฬิกกรรมนี้ มีความเป็นไปโดยประการตรงข้ามกับอุปถัมภกกรรมที่ได้กล่าวแล้ว คือ แม้ว่าจะไม่สามารถทำวิบากให้เกิดได้ เช่นเดียวกับอุปถัมภก ถึงกระนั้น ก็มีความผิดแปลกไปจากอุปถัมภกรรมอย่างตรงกันข้าม โดยการที่เข้าไปเบียดเบียน คือขัดขวางความเป็นไปได้นาน ๆ แห่งวิบากของชนกกรรม หากเป็นกุศลก็ย่อมเบียดเบียน คือขัดขวางความเป็นไปได้นาน ๆ แห่ง วิบากของชนกกรรมที่เป็นอกุศล ทำให้วิบากของชนกกรรมฝ่ายอกุศลนั้น เป็นไป ในปวัตติกาลนั้นได้ไม่นาน อนึ่ง ย่อมเบียดเบียนวิบากของชนกกรรมฝ่ายอกุศล โดยการเบียดเบียนเหตุแห่งพยาธิ (ความเจ็บไข้ได้ป่วย) เบียดเบียนเหตุแห่งความ ไม่สม่ำเสมอกันแห่งธาตุ ๔ เป็นต้น เป็นเหตุให้วิบากกายวิญญาณอันสหรคตด้วยทุกข์เป็นไปได้ยาก เป็นไปได้ไม่นาน เพราะฉะนั้น สัตว์ผู้นั้น แม้ว่าเสวยทุกข์อันเนื่องมาจากวิบากของอกุศล ก็เสวยอยู่ได้ไม่นาน แม้ความที่อุปปีฬิกกรรมที่เป็นอกุศล เบียดเบียนวิบากของชนกกรรมที่เป็นกุศล บัณฑิตพึงทราบตามทำนอง เดียวกันนี้ โดยเกี่ยวกับการเข้าไปเบียดเบียน คือ ขัดขวางความเป็นไปได้นานๆ แห่งวิบากของชนกกรรมฝ่ายกุศล และเข้าไปเบียดเบียนความสม่ำเสมอกันแห่ง ธาตุ ๔ อันเป็นเหตุให้วิบากกายวิญญาณอันสหรคตด้วยสุขเป็นไปได้ยาก เพราะ ฉะนั้น สัตว์ผู้นั้น แม้ว่าเสวยสุขอันเนื่องมาจากวิบากของกุศล ก็เสวยอยู่ได้ไม่นานแล 

   รวมความว่า อุปปีฬิกกรรมฝ่ายกุศล ย่อมเบียดเบียนวิบากของชนกกรรมที่เป็นฝ่ายตรงกันข้ามกับตน คือ เป็นกุศล ไม่ยอมให้เป็นไปได้นานๆ.

   ส่วนอาจารย์บางท่าน กล่าวว่า “แม้คำว่า เบียดเบียนวิบากของชนกกรรม นี้ ก็พึงเห็นว่า เป็นผลูปจารโวหารนั่นแหละ ความจริงเบียดเบียนชนกกรรมโดยตรงทีเดียว โดยการที่ตนเกิดแล้วก็ขัดขวาง คือบั่นทอนกำลังของชนกกรรมฝ่ายตรงข้ามกับตน ให้หมดความสามารถในการให้วิบากติดต่อกันไปนาน ๆ เมื่อเป็นอย่างนี้ อุปปีฬกกรรม นี้ จึงมีได้ทั้งประเภทที่เป็นอดีต ทั้งประเภทที่เป็นปัจจุบัน" ฉะนี้แล


อธิบายอุปฆาตกกรรม

   กรรมชื่อว่า อุปฆาตกกรรม เพราะมีความหมายว่าเข้าไปตัดรอน ความว่า เข้าไปตัดรอนวิบากของกรรมอื่น โดยการที่ขจัดความสามารถในการยังวิบากให้ บังเกิดของกรรมอื่นนั้น ซึ่งเป็นกรรมที่ทรามกำลังกว่า ทั้งในปฏิสนธิกาล ทั้งในปวัตติกาล เมื่อกรรมนั้นหมดความสามารถในการให้วิบากแล้ว ตนก็ทำวิบากให้ บังเกิดเสียเอง อีกอย่างหนึ่ง กรรมที่แม้ไม่อาจให้วิบากได้เอง แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ก็ขัดขวางความเกิดขึ้นแห่งวิบากของกรรมอื่น ตามประการที่กล่าวแล้ว มอบโอกาส การเผล็ดวิบากแห่งกรรมอื่นอีกอย่างหนึ่ง ก็ชื่อว่า อุปฆาตกกรรม นั่นแหละ

   ท้วงว่า ถ้าหากว่า อุปฆาตกกรรม นี้ ตัดรอนความเกิดขึ้นแห่งวิบากของกรรมอื่น แล้วทำวิบากให้เกิดเสียเองอย่างนี้ไซร้ เมื่อเป็นเช่นนี้ จะไม่ถึงความปะปนกับชนกกรรมไปหรือ เพราะต่างก็มีการทำวิบากให้เกิดด้วยกัน?

   เฉลยว่า ไม่ถึงความปะปนกันกับชนกกรรมหรอก ด้วยว่าชนกกรรมนั้น ก็สักแต่ว่าทำวิบากให้เกิดเท่านั้น ส่วนอุปฆาตกกรรม แม้มีการทำวิบากให้เกิดได้เช่นเดียวกับชนกกรรม ก็มีกิจอื่น ที่แปลกไป คือการเข้าไปตัดรอนวิบากของกรรมอื่นด้วย ซึ่งกิจที่พิเศษนี้นั่นเทียว เป็นเหตุให้กรรมนี้ได้ชื่อว่า อุปฆาตกกรรม แล รวมความว่า กรรมใด เป็นกุศลก็ตาม เป็นอกุศลก็ตาม ทำวิบากให้เกิดได้เองก็ตาม ไม่อาจทําวิบากให้เกิดได้เอง ได้แต่มอบให้กรรมอื่นเผล็ดวิบากก็ตาม เมื่อมีความเป็นไปเกี่ยวกับกิจหรือการ ตัดรอนความสามารถในการให้วิบากของกรรมอื่น ก็ย่อมได้ชื่อว่า อุปฆาตกกรรม ทั้งสิ้น 

   มหัคคตกรรม ย่อมตัดรอนความสามารถในอันยังวิบากให้บังเกิดของกามา วจรกรรม ทั้งในปฏิสนธิกาล ทั้งในปวัตติกาล แล้วยังวิบากคือมหัคคตวิบากของตนให้บังเกิดเสียเอง มหัคคตกรรมที่สูงกว่า ย่อมตัดรอนความสามารถในอันยังวิบากให้บังเกิดของมหัคคตกรรมที่ต่ำกว่า แล้วยังวิบากของตนให้บังเกิดเสียเอง เช่นเดียวกัน

   อนันตริยกรรม ๕ อย่าง ย่อมตัดรอนความสามารถในอันยังวิบากให้บังเกิดของโลกิยกุศลกรรม และอกุศลกรรมอย่างอื่นทั้งหมด แล้วยังวิบากของตนให้บังเกิดเสียเอง

   บรรดามรรคกรรมทั้งหลาย มีโสดาปัตติมรรคเป็นต้น โสดาปัตติมรรคย่อมตัดรอนความสามารถในอันยังวิบากให้บังเกิดในอบายของอกุศลกรรม และย่อม ตัดรอนความสามารถในอันยังวิบากให้บังเกิดในภพที่ ๘ ของกุศลกรรม และแม้ของอกุศลกรรม แต่มิได้ทำวิบากมีปฏิสนธิเป็นต้น ในภพถัดไปให้บังเกิดเสียเอง เพราะมรรคกรรมเป็นไปเพื่อการตัดขาดวัฏฏะ ได้แต่มอบโอกาสให้กุศลกรรมที่ประณีตอย่างอื่น ๆ ได้เผล็ดวิบาก เป็นเหตุให้ท่านเกิดในที่ใดก็ตาม เป็นผู้ถึง พร้อมด้วยสกุล ทรัพย์สมบัติ เป็นต้น หรือเป็นเทวดาผู้รุ่งเรืองกว่าเทวดาเหล่าอื่น ด้วยอารมณ์ที่เป็นทิพย์เป็นต้น แม้มรรคกรรมที่เหลือ มีสกทาคามิมรรคเป็นต้น บัณฑิตที่พึงประกอบความตามสมควร ตามทำนองเดียวกันนี้.

------------------


[full-post]

ปริจเฉทที่๕,อภิธัมมัตถสังคหะ,กรรมจตุกะ,ชนกกรรม

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.