๒. นามรูปปัจจยปริคคหญาณ

    การค้นหาเหตุของรูปนาม

      ปัญญาที่กำหนดรู้เหตุปัจจัยของรูปนามตามความเป็นจริงนั้น ผู้ปรารถนาบรรลุกังขาวิตรณวิสุทธิควรค้นหาเหตุปัจจัยของรูปนาม อุปมาเหมือนนายแพทย์ผ่าตัดที่ชาญฉลาดเมื่อพบโรคแล้ว ก็ค้นนหาสมุฏฐานของโรคนั้นต่อไป หรือเหมือนบุรุษที่มีเมตตาเมื่อพบเห็นทารกนอนแบเบาะอยู่ในตรอกจึงรำพึงว่า เด็กนี้เป็นลูกของใครหนอ รูปนามเป็นสภาวธรรมที่มีเหตุ จะบังเกิด โดย ไม่มีเหตุมิได้ จะกล่าวว่าเหตุของรูปนาม คือ เทพเจ้านั้น ก็ไม่เป็นจริง เพราะว่าทุกสิ่งทุกอย่างจะนอกไปจากรูปนามนั้นไม่มี หรือจะกล่าวว่า รูปนามก็คือเทพเจ้า แม้กล่าวอย่างนี้รูปนามก็คงต้องมีเหตุอยู่นั่นแหละ

      เมื่อจักค้นหาเหตุของรูปนามก็ควรพิจารณาเหตุของรูปกายก่อนว่า กายนี้มิได้เกิดในดอกบัวชนิดต่างๆ มิได้เกิดในแก้วมณีต่างๆ หากแต่เกิดขึ้นระหว่างกระเพาะอาหารใหม่และเก่า ด้านหลังเป็นพื้นท้อง ด้านหน้าเป็นกระดูก ล้อมรอบด้วยไส้ใหญ่และไส้น้อยเต็มไปด้วยของปฏิกูล กลิ่นเหม็นดุจตัวหนอนที่เกิดขึ้นในขนมบูด น้ำครำ หลุมโสโครก

      รูปธรรมนี้มีเหตุมีปัจจัยให้เกิดขึ้น ๕ อย่างคือ อวิชชา ๑ ตัณหา ๑ อุปาทาน ๑ กรรม ๑ อาหาร ๑ 

      ก็ธรรม ๔ อย่างคือ อวิชชา ๑ ตัณหา ๑ อุปาทาน ๑ กรรม ๑ (อภิสังขาร ๓ หรือกัมมภวะ) จัดเป็นเหตุ เพราะเป็นตัวทำให้เกิด 

      อาหารจัดเป็นปัจจัยเพราะเป็นตัวอุปถัมภ์ 

อนึ่ง ในธรรม ๕ นั้น ท่านจัดดังนี้ คือ

      อวิชชา ตัณหา อุปาทาน เป็นที่อาศัยของรูป เปรียบเหมือนมารดาเป็นที่อาศัยของทารก

      กรรม เป็นผู้ให้เกิด เปรียบเหมือนบิดาเป็นผู้ทำให้บุตรเกิด

      อาหาร เป็นผู้ค้ำจุนให้รูปกายนี้ดำรงอยู่ เปรียบเหมือนพี่เลี้ยงคอยอุ้มชูทารก

เมื่อกำหนดเหตุปัจจัยของรูปได้ดังนี้แล้ว จึงกำหนดเหตุปัจจัยของนามต่อไปว่า - 

      จักขุวิญญาณจิต อาศัยจักขุปสาท และรูปารมณ์เกิดขึ้นดังนี้เป็นต้น เมื่อเห็นเหตุปัจจัยของรูปนามตามความเป็นจริงเนืองๆ เสมอว่า รูปนามในปัจจุบันก็มี เหตุปัจจัยเช่นนี้ แม้ในอดีตและอนาคตก็มีเหตุปัจจัยเช่นเดียวกัน เมื่อทราบอยู่อย่างนี้ก็สามารถละความสงสัย ๑๖ อย่าง ที่เกี่ยวกับกาล ๓ เสียได้


เหตุปัจจัยของรูปนามตามนัยอภิธรรม

      เหตุปัจจัยของนามมี ๒ อย่างคือ ๑. สาธารณปัจจัย ๒. อสาธารณปัจจัย คือ- 

      ทวาร ๓ และอารมณ์ ๖ เป็นสาธารณปัจจัยของนาม เพราะเป็นไปแก่นามทุกประเภท

      ส่วนธรรมอื่นๆ มี มนสิการเป็นต้น เป็นอสาธารณปัจจัยของนาม เพราะเป็นไปเฉพาะนามเท่านั้นเช่น โยนิโสมนสิการ เป็นปัจจัยแก่นามที่เป็นกุศล และอโยนิโสมนสิการเป็นปัจจัยแก่นามที่เป็นอกุศล กรรมเป็นปัจจัยแก่นามที่เป็นวิบาก และธรรมมีภวังค์เป็นต้น เป็นปัจจัยแก่นามที่เป็นกิริยา

      กรรม จิต อุตุ และอาหาร เป็นเหตุปัจจัยของรูป 

      กรรมที่เป็นอดีตเท่านั้นที่เป็นสมุฏฐานของกัมมชรูป 

      จิตเป็นปัจจัยของจิตตชรูป 

      อุตุเป็นปัจจัยของอุตุชรูป 

      อาหารเป็นปัจจัยของอาหารชรูปในปวัตติกาล

      เมื่อพิจารณาถึงเหตุปัจจัยของรูปนามอยู่ดังนี้เรื่อยไป ก็ทำให้ทราบว่ารูปนามในอดีตหรืออนาคตก็จะเป็นไปเช่นนี้ และสามารถละความสงสัย ๑๖ ประการได้


การกำหนดรู้เหตุปัจจัยของรูปนามทางปฏิจาสมุปบาทโดยปฏิโลม

      เมื่อเห็นความชราและแตกดับของสังขารคือ มรณะ แล้วก็พิจารณาว่า ชรามรณะเกิด เพราะมีชาติ, ชาติเกิดมีเพราะมีภพ, ภพมีเพราะมีอุปาทาน, อุปาทานมี เพราะมีตัณหา, ตัณหามีเพราะมีเวทนา, เวทนามีเพราะมีผัสสะ, ผัสสะมีเพราะอายตนะ ๖, อายตนะ ๖ มีเพราะมีรูปนาม, รูปนามมีเพราะมีวิญญาณ, วิญญาณมีเพราะมีสังขาร, สังขารมีเพราะมีอวิชชา, ก็จะละความสงสัยได้ นี้เป็นการพิจารณาโดยปฏิโลมแต่จะพิจารณาโดยอนุโลมก็ได้ว่า เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงเกิดสังขาร ฯลฯ เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงเกิดชรา มรณะ ก็จะละความสงสัยได้เช่นกันการกำหนดรู้เหตุปัจจัยของรูปนามทางกรรมและวิบาก

      ธรรม ๕ อย่าง ในภพก่อนคือ อวิชชา สังขาร ตัณหา อุปาทาน และกัมมภพ เป็นเหตุปัจจัยของปฏิสนธิในภพนี้

      ปฏิสนธิในภพนี้ได้แก่ วิญญาณ รูปนาม สพายตนะ ผัสสะ และเวทนา เป็นผลของกรรมที่ทำไว้ในภพก่อน

      เมื่ออายตนะทั้งหลายแก่กล้าแล้วในภพนี้ ธรรม ๕ อย่างคือ ตัณหา อุปาทาน กัมมภพ อวิชชา และสังขาร ก็เป็นเหตุปัจจัยของปฏิสนธิในภพต่อไป

      รูปนาม ก็คือ ผลแห่งกรรม เพราะฉะนั้นเหตุปัจจัยของรูปนาม ก็คือ กัมมวัฏนั่นเอง เมื่อพิจารณาเหตุปัจจัยของรูปนามโดยกัมมวัฏและวิปากวัฏดังนี้แล้ว ก็จะเห็นว่ารูปนามในขณะนี้เป็นไปด้วยเหตุปัจจัยแม้ในอดีตและอนาคตก็เป็นไปเช่นเดียวกัน อีกทั้งกรรมและวิบากของกรรม, กัมมวัฏและวิปากวัฏ, ความเป็นไปของกรรมและความเป็นไปของวิบาก, ความสืบต่อของกรรมและความสืบต่อของวิปากทั้งกิริยา (อนันตรปัจจัย) และผลของกิริยา (อนันตรปัจจยุปบัน) ก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน

      กมฺมวิปากา วตฺตนฺติ     วิปาโก กมฺมสมฺภโว

      กมฺมา ปุนพฺภโว โหติ     เอวํ โลโก ปวตฺตติ

   วิปากทั้งหลาย เป็นไปเพราะกรรม วิบากเกิดขึ้นจาก

   กรรม และภพใหม่ก็เกิดขึ้นจากกรรม โลกหมุนเวียนอยู่

   ด้วยกรรมและวิบาก อย่างนี้

      เมื่อพิจารณาถึงเหตุปัจจัยของรูปนามทางกรรมและวิบากอยู่เนืองๆ ความสงสัย ๑๖ อย่าง เป็นต้นว่าข้าพเจ้าได้มีมาแล้วหรือ ? ก็จะหมดไปได้ คงปรากฏมีอยู่แต่รูปนาม ที่เป็นไปในภพ ๓ โยนิ ๔ คติ ๕ ฐิติ ๗ และสัตตาวาส ๙ เท่านั้น ที่เป็นไปด้วยความสัมพันธ์ของเหตุและผล มิได้มีผู้สร้าง และผู้เสวยแต่อย่างใดเมื่อเห็นได้อย่างนี้ชื่อว่าเห็นด้วยปัญญาอันชอบ แต่เมื่อมีเหตุและผลบัณฑิตทั้งหลายจึงกล่าวกันเพียงเพื่อให้หมายรู้ร่วมกันว่า "มีผู้สร้าง" "มีผู้เสวย" ฉะนั้นท่านผู้รู้แต่โบราณจึงกล่าวว่า

      กมฺมสฺส การโก นตฺถิ     วิปากสฺส จ เวทโก

      สุทฺธธมฺมา ปวตฺตนฺติ      เอเวตํ สมฺมทสฺสนํ.

   ผู้สร้างกรรมไม่มี และผู้เสวยผลก็ไม่มี ธรรมะล้วนๆ เป็นไป

   อย่างเดียวเท่านั้นนี่เป็น สัมมทัสสนะ (ความเห็นชอบ)

      เอวํ กมฺเม วิปาเก จ     วตฺตมาเน สเหตุเก

      พีชรุกฺขาทิกานํ ว         ปุพฺพา โกฏิ น นายติ.

   เมื่อกรรมและวิบากพร้อมทั้งเหตุ เป็นไปอยู่อย่างนี้ ก็

  ไม่มีใครรู้เบื้องต้นและเบื้องปลาย เช่นเดียวกับไม่มีใครรู้

   เบื้องต้นและเบื้องปลาย เมล็ดพืชและต้นไม้เป็นต้น ฉะนั้น

      เอวเมตํ อภิญฺญาย    ภิกฺขุ พุทฺธสฺส สาวโก

      คมฺภีรํ นิปุณํ สุญฺญํ    ปจฺจยํ ปฏิวิชฺฌติ.

  พระภิกษุผู้เป็นสาวกของพระพุทธเจ้ารู้ข้อความนี้

  ด้วยปัญญารู้ยิ่งดังกล่าวมานี้ จึงแทงตลอดซึ่งปัจจัย

  (ของรูปนาม) อันลึกซึ้งละเอียดและว่างเปล่า

      กมฺมํ นตฺถิ วิปากมฺหิ        ปาโก กมฺเม น วิชฺชติ

      อญฺญมญฺญํ อุโภ สุญฺญา    น จ กมฺมํ วินา ผลํ.

  กรรมไม่มีอยู่ในวิบาก วิบากก็ไม่มีอยู่ในกรรม กรรม

  และวิบากทั้งสอง ต่างว่างเปล่าซึ่งกันและกัน แต่ว่าเว้น

  กรรมเสียแล้ว ผลก็ไม่มี

      ผเลน สุญฺญํ ตํ กมฺมํ     ผลํ กมฺเม น วิชฺชติ

      กมฺมญฺจ โข อุปาทาย     ตโต นิพฺพตฺตตี ผลํ.

      กรรมนั้นว่างเปล่าจากผล ผลก็มิได้มีอยู่ในกรรม แต่

เพราะอาศัยกรรม ผลจึงเกิดขึ้น

      น เหตฺถ เทโว พฺรหฺมา วา      สํสารสฺสตฺถิ การโก

      สุทฺธธมฺมา ปวตฺตนฺติ           เหตุสมฺภารปจฺจยา.

      ความจริงในโลกนี้ไม่มีเทพเจ้า ไม่มีพระพรหม ไม่มีผู้สร้างสังสารวัฏ 

      มีแต่ธรรมล้วนๆ เป็นไปเพราะการประกอบกันเข้าของเหตุเป็นปัจจัย.

      การกำหนดรู้เหตุปัจจัยของรูปนามทางกัมมวัฏและวิปากวัฎ แล้วละความสงสัยใน ๓ กาลได้ ก็เป็นอันได้รู้ธรรมทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน สิ้นทั้งปวงแล้ว ความรู้เช่นนี้เรียกว่า "ญาตปริญญา" คือการกำหนดรู้ว่าเป็นรูปเป็นนามพร้อมด้วยเหตุปัจจัยของรูปนาม


อุปมาระหว่างเหตุกับผล

      ขันธ์ทั้งหลายที่เกิดแล้วในอดีตเพราะมีกรรมเป็นปัจจัยก็ได้ดับไปแล้วในอดีตส่วนขันร์ที่เกิดใหม่ในภพนี้ก็เป็นอีกพวกหนึ่ง มิได้เป็นขันธ์ที่มาจากอดีตภพ ส่วนขันธ์ที่จักเกิดในภพหน้าก็เป็นอีกพวกหนึ่งมิได้เป็นขันธ์ที่ไปจากปัจจุบันภพนี้เปรียบเหมือน :-

      ๑. การสาธยายมนต์ของอาจารย์กับการสาธยายมนต์ของลูกศิษย์ มิใช่เป็นสิ่งเดียวกัน เป็นของคนละคน แต่การสาธยายมนต์ของลูกศิษย์จะเกิดขึ้นได้นั้น ต้องอาศัยการสาธยายมนต์ของอาจารย์เป็นเหตุเป็นปัจจัย

      ๒. ใบหน้าที่ถูกตกแต่งกับเงาใบหน้าที่ถูกตกแต่งมิใช่เป็นสิ่งเดียวกัน แต่เงาใบหน้าที่ถูกตกแต่งจะเกิดขึ้นได้นั้น ต้องอาศัยการตกแต่งใบหน้าเป็นเหตุเป็นปัจจัย

      ๓. เปลวประทีปอันหนึ่งกับเปลวประทีปอีกอันหนึ่งมิใช่ไส้เดียวกัน แต่เปลวประทีปอีกอันหนึ่งจะเกิดขึ้นได้นั้น ต้องอาศัยเปลวประทีปอันก่อนเป็นเหตุเป็นปัจจัย

      ธรรมทั้งหลายจากอดีตภพมิได้ติตตามไปในปัจจุบันภพหรืออนาคตภพแต่อย่างใดเลย แต่ขันธ์ อายตนะ ธาตุที่เกิดขึ้นในปัจจุบันภพนี้ต้องอาศัยขันธ์ อายตนะธาตุในอดีตภพเป็นปัจจัย และขันธ์ อายตนะ ธาตุที่จักเกิดขึ้นในอนาคตนั้นก็ต้องอาศัยขันธ์ อายตนะ ธาตุในปัจจุบันภพเป็นปัจจัย

      ยเถว จกฺขุวิญฺญาณํ     นโนธาตุอนนฺตรํ

      น เจว อาคตํ นาปี      น นิพฺพตฺตํ อนนฺตรํ

      ตเถว ปฏิสนฺธิมฺหิ       วตฺตเต จิตฺตสนฺตติ

      ปุริมํ ภิชฺชตี จิตฺตํ        ปจฺฉิมํ ชายตี ตโต

      เตสํ อนฺตริกา นตฺถิ      วีจิ เตสํ น วิชฺชติ

      น จิโต คจฺฉตี กิญฺจิ      ปฏิสนฺธิ จ ชายติ.


      จักขุวิญญาณจิต เกิดขึ้นในลำดับแห่งมโนธาตุคือ ปัญจทวารา-

      วัชชนจิต แต่ไม่ได้มาจากปัญจทวาราวัชชนจิต และไม่ได้เกิดใน

      ลำดับแห่งปัญจทวาราวัชชนจิตก็หามิได้ฉันใด ความสืบต่อแห่งจิต

      ย่อมเป็นไปในปฏิสนธิจิต ฉันนั้นเหมือนกัน จิตดวงก่อนคือจุติจิต

      ย่อมแตกดับ จิตดวงหลังคือปฏิสนธิจิต ย่อมเกิดต่อจากจุติจิตนั้น

      ระหว่างคั่นของจุติจิตกับปฏิสนธิจิตทั้งสองนั้นย่อมไม่มี ลูกคลื่นก็

      ไม่มีแก่จิตทั้งสองนั้น จิตอะไรๆ ไม่ได้ไปจากจุติจิตนี้แต่ปฏิสนธิจิต

      ก็เกิดขึ้นได้


ปัจจยปริคคหญาณในชื่ออื่น

      ปัญญาที่กำหนดรู้เหตุปัจจัยของรูปนามเรียกว่า ปัจจัยปริคคหญาณ โดยทางอาการดับและเกิดของรูปนาม เมื่อกำลังของปัจจยปริคคหญาณนี้มีมากขึ้นก็สามารถละความสงสัย ๑๖ อย่างได้ ถึงความสงสัยอีก ๘ อย่างก็ละได้ แม้ทิฎฐิ ๖๒ ประการก็ระงับไปด้วย

      ความเห็นที่บริสุทธิ์ เพราะข้ามพ้นความสงสัยในกาลทั้ง ๓ ด้วยการกำหนดรู้ปัจจัยของรูปและนามเรียกว่า "กังขาวิตรณวิสุทธิ" 

      การกำหนดรู้ถึงความตั้งอยู่ของธรรมที่เป็นปัจจัยเรียกว่า "ธัมมฐิติญาณ" 

      การกำหนดรู้ถึงรูปนามตามความเป็นจริงเรียกว่า "ยถาภูตญาณ" 

      ความเห็นโดยชอบเรียกว่า "สัมมาทัสสนะ"

      คำว่า "ธัมมฐิติญาณ" "ยถาภูตญาณ" และ "สัมมาทัสสนะ" เป็นคำที่มีความหมายเดียวกับคำว่า "กังขาวิตรณวิสุทธิ"


อานิสงส์ของปัจจยปริคคหญาณ

      ถ้าพระโยคาวจรใดเจริญวิปัสสนาภาวนาจนสมาธิญาณแก่กล้าขึ้น เห็นรูปนามชัดเจนแล้วก็จะสามารถรู้ได้ว่า รูปนามทั้งสองนั้นเป็นเหตุเป็นผล เป็นปัจจัยซึ่งกันและกัน คือ รูปเป็นเหตุ นามเป็นผล หรือนามเป็นเหตุ รูปเป็นผล หาใช่เป็นตัวตน สัตว์บุคคล เราเขาไม่ ก็จะข้ามพ้นความสงสัยต่างๆ ไปได้ เช่นนี้เรียกว่า "กังขาวิตรณวิสุทธิ"

      อานิสงส์ของญาณนี้ ในพระบวรพุทธศาสนาได้ชื่อว่าเป็นพระจุลโสดาบันเป็นผู้ที่สมควรจะเบาใจได้ในเมื่อตายไปแล้วคือ หากว่าญาณที่ตนได้บรรลุนี้ไม่เสื่อมในชาติหน้าซึ่งต่อจากชาตินี้ก็จะได้ไปเกิดในสุคติภูมิคือ เทวโลก เป็นต้น ปีดอบายภูมิทั้ง ๔ ได้อย่างแน่นอน แต่ในชาติต่อไปอีกคือ ชาติที่ ๓ นั้นการปีดอบายภูมิไม่แน่นอนถ้าต้องการปีดให้ได้อย่างแน่นอนเด็ดขาด ต้องอุตสาหะปฏิบัติวิปัสสนาภาวนาต่อไปอีกจนกระทั่งบรรลุพระอริยมรรค อริยผล สมกับคำที่ท่านกล่าวไว้ในบาลีว่า

      อิมินา ปน ญาเณน สมนฺนาคโต วิปสฺสโก พุทฺธสาสเน ลทฺธสฺสาโส ลทฺธปติฏฺโฐ นิยตคติโก จูลโสตาปนฺโน นาม โหติ ฯ อปปริหีนกงฺขาวิตรณวิสุทฺธิโก วิปสฺสโก โลกิยสีลสมาธิปญฺญาสมฺปทาหิ สมนฺนาคตตฺตา อุตุตรี อปุปฏิวิชุมนุโต สดติปรายโนว โตีติ วุตุตํ นิยตคติโกติ ตโต เอว จูลโสตาปนฺโน นาม โหติ ฯ

      พระโยคาวจรบุคคลผู้บรรลุถึงญาณนี้แล้ว ย่อมถึงความเบาใจและได้ที่พึ่งในพระพุทธศาสนา ชื่อว่า จุลโสดาบัน มีคติที่เที่ยงแท้ในชาติหน้าซึ่งต่อจากชาตินี้จะไปสู่สุคติ ปีคอบายภูมิเสียได้ถ้าหากว่าญาณนี้ไม่เสื่อม แต่ในชาติที่ ๓ ต่อจากนั้นไปไม่แน่นอน จะปิดอบายภูมิได้อย่างแน่นอนคือ ชาติ ๒ เท่านั้น ถ้าต้องการปิดแน่นอนต้องบำเพ็ญความเพียรเจริญวิปัสสนากรรมฐานต่อไป จนกระทั่งบรรถอริยมรรด อริยผลผู้เจริญวิปัสสนา ซึ่งประกอบด้วยปัจจยปริดคญาณนี้ เป็นผู้ใด้ความเบาใจได้ที่พึ่งในพระพุทธศาสนา และเป็นผู้มีคติที่แน่นอน เรียกได้ว่า พระดูพโสดาบันบุคคล

      ฉะนั้นผู้มีความประสงค์จะข้ามพ้นความสงสัย พึงเป็นผู้มีสติกำหนดรู้ปัจจัยของรูปนาม ตามความเป็นจริงเถิด.


จบ นามรูปปัจจยปริคคหญาณ

-------///-------


[full-post]

ปริจเฉทที่๙,อภิธัมมัตถสังคหะ,วิปัสสนากรรมฐาน,ปัจจยปริคคหญาณ

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.