บทความชุด “ทำบุญวันพระ” (๓๖)
------------------------------
อนุโมทนา + กรวดน้ำ (๗)
------------------------------
บทกรวดน้ำพระอนุรุทธ
.........................................................
อิมินา ปะนะ ทาเนนะ มา เม ทาลิททิยัง อะหุ
นัตถีติ วะจะนัง นามะ มา อะโหสิ ภะวาภะเว.
แปลว่า
ด้วยอำนาจแห่งทานนี้ ขอความยากจนเข็ญใจจงอย่าได้มีแก่ข้าพเจ้า
ขอให้ข้าพเจ้าอย่าได้ยินได้ฟังคำว่า “ไม่มี” ทุกภพทุกชาติเทอญ.
ที่มา: ธัมมปทัฏฐกถา ภาค ๘ สุมนสามเณรวัตถุ (๒๖๓)
.........................................................
พระอนุรุทธ (อ่านว่า อะ-นุ-รุด) หรือจะเรียกเป็นพระอนุรุทธะ (อะ-นุ-รุด-ทะ) หรือพระอนุรุทธเถระ (อะ-นุ-รุด-ทะ-เถ-ระ) ก็ได้ เป็นพระมหาสาวกองค์หนึ่ง ชาติตระกูลเดิมเป็นเจ้าชายในศากยวงศ์ เป็นโอรสของเจ้าสุกโกทนะ (คัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถาว่าเป็นโอรสของเจ้าอมิโตทนะ) เป็นอนุชาของเจ้ามหานามะผู้เป็นราชาปกครองแคว้นศากยะต่อจากพระเจ้าสุทโธทนะ พระอนุรุทธออกบวชพร้อมกับเจ้าชาย ๕ องค์ คือ ภัททิยะ อานนท์ ภคุ กิมพิละ และเทวทัตต์ เรียนกรรมฐานในสำนักของพระสารีบุตร ได้บรรลุพระอรหัตที่ป่าปาจีนวังสทายวัน ในแคว้นเจตี พระพุทธเจ้าทรงยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในทางทิพยจักษุ ในวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน พระอนุรุทธเป็นพระเถระผู้ใหญ่อยู่ในเหตุการณ์ก่อนที่พระมหากัสสปะจะมาถึง
ในสมัยพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า ปทุมุตตระ (พระพุทธเจ้าพระองค์ที่ ๑๐ นับพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า ทีปังกร เป็นพระองค์ที่ ๑ พระพุทธเจ้าของเราตั้งความปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าในสมัยพระพุทธเจ้าทีปังกร) พระอนุรุทธ (ในอดีตชาติโน้น) ตั้งความปรารถนาเป็นพระสาวกผู้เลิศในทางทิพยจักษุ พระพุทธเจ้าปทุมุตตระทรงพยากรณ์ว่าจะสำเร็จในศาสนาของพระโคดมพุทธเจ้าคือพระพุทธเข้าของเราพระองค์นี้ ซึ่งนับเวลาจากสมัยพระพุทธเจ้าปทุมุตตระก็ยาวนานถึงแสนกัป
ครั้นมาถึงกัปปัจจุบันนี้ คือ (๑) เวลาผ่านมาแล้วแสนกัป (๒) กัปปัจจุบันเรียกว่า “ภัทรกัป” แปลว่า “กัปเจริญ” เพราะมีพระพุทธเจ้ามาตรัสถึง ๕ พระองค์ คือ (๑) พระกกุสันธะ (๒) พระโกนาคมนะ (๓) พระกัสสปะ (๔) พระโคตมะ (๕) พระเมตเตยยะ ตรัสไปแล้ว ๔ พระองค์ ยังจะมาตรัสข้างหน้าอีก ๑ พระองค์คือพระเมตเตยยะที่เราเรียกกันว่า “พระศรีอารย์”
ศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์ที่ ๔ ยังดำรงอยู่ คือพระพุทธศาสนาที่โลกรู้จักอยู่ในปัจจุบันนี้ เมื่อสิ้นศาสนาของพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์จะมีช่วงเวลาว่างศาสนา เรียกว่า “พุทธันดร” เวลาที่ว่างศาสนานี้จะยาวนานจนกว่าพระพุทธเจ้าพระองค์ต่อไปจะมาตรัส ดังนั้น ในภัทรกัปนี้จึงมี “พุทธันดร” มาแล้ว ๓ ช่วง คือ
ช่วงที่ ๑ ระหว่างพระกกุสันธะกับพระโกนาคมนะ
ช่วงที่ ๒ ระหว่างพระโกนาคมนะกับพระกัสสปะ
ช่วงที่ ๓ ระหว่างพระกัสสปะกับพระโคตมะ
ที่ต้องเท้าความยาวหน่อยก็เพราะประวัติพระอนุรุทธบอกว่า คำอธิษฐานที่ขึ้นต้นว่า “อิมินา” ดังแสดงไว้ข้างต้นนั้น ท่านตั้งจิตปรารถนาต่อหน้าพระปัจเจกพุทธเจ้านามว่า “อุปริฏฐะ”
สิ่งที่ต้องเข้าใจก็คือ ผู้ที่เราเรียกว่า “พระปัจเจกพุทธเจ้า” นั้น จะเกิดขึ้นเฉพาะในช่วงเวลาที่เป็น “พุทธันดร” เท่านั้น พระพุทธเจ้ากับพระปัจเจกพุทธเจ้าจะไม่เกิดขึ้นพร้อมกัน
ถ้ายังมีศาสนาของพระพุทธเจ้าอยู่ ใครได้ตรัสรู้ธรรมก็เป็น “อนุพุทธะ” คือผู้รู้ตามธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้
เมื่อสิ้นศาสนาของพระพุทธเจ้าแล้ว แปลว่าโลกไม่รู้จักคำสอนของพระพุทธเจ้าอีกต่อไป ตอนนั้นใครได้ตรัสรู้ธรรมก็จะเป็น “ปัจเจกพุทธะ” ซึ่งแปลว่า “ผู้รู้ธรรมเฉพาะตนคนเดียว” เนื่องจากไม่มีใครบอกกล่าวสั่งสอนธรรมให้ใครรู้ แต่ละคนต้องค้นคว้าปฏิบัติไปเฉพาะตน เมื่อตรัสรู้ก็รู้ได้เฉพาะตน นี่คือความหมายของคำว่า “ปัจเจกพุทธะ” เมื่อเอ่ยถึง “พระปัจเจกพุทธเจ้า” จะได้เข้าใจถูก
เมื่อเข้าใจอย่างนี้ แล้วฟังเรื่องว่าพระอนุรุทธท่านตั้งจิตปรารถนาต่อหน้าพระปัจเจกพุทธเจ้า ก็จะมองภาพออกว่า คาถา “อิมินาพระอนุรุทธ” นี้เกิดขึ้นในช่วงเวลา “พุทธันดร” คือโลกว่างศาสนา แต่ในประวัติไม่ได้ระบุว่าเป็นพุทธันดรช่วงไหน จึงต้องสันนิษฐานว่าเป็นพุทธันดรใดพุทธันดรหนึ่งในกัปนี้-ดังที่แสดงข้างต้น
ประวัติพระอนุรุทธบอกว่า “ในกัปนี้” คือในช่วงเวลาพุทธันดรใดพุทธันดรหนึ่งที่ผ่านมานี้ ท่านเกิดในครอบครัวยากจนในเมืองพาราณสี มีชื่อว่า “อันนภาระ” (น่าจะแปลว่า “คนส่งอาหาร”) เป็นลูกจ้างเกี่ยวหญ้าของสุมนเศรษฐี ท่านเศรษฐีผู้นี้ทำบุญถวายทานเป็นประจำ
วันหนึ่ง ขณะหาบหญ้ากลับบ้าน นายอันนภาระได้พบพระอุปริฏฐปัจเจกพุทธเจ้าระหว่างทาง
ตามเรื่องว่าพระอุปริฏฐปัจเจกพุทธเจ้าเพิ่งออกจากนิโรธสมาบัติ เล็งญาณดูว่าควรจะไปโปรดใคร
ท่านว่าผู้ถวายทานแก่พระที่เพิ่งออกจากนิโรธสมาบัติ จะเห็นผลแห่งทานในปัจจุบันทันที
พระอุปริฏฐปัจเจกพุทธเจ้าเห็นว่า นายอันนภาระมีศรัทธาสามารถทำบุญครั้งนี้ได้ จึงไปโปรด
นายอันนภาระเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าก็ถามว่า พระคุณเจ้าได้อาหารบิณฑบาตหรือยัง ท่านตอบว่าเดี๋ยวก็คงจะได้ ได้ยินดังนั้นก็เกิดศรัทธาอยากจะใส่บาตร แต่ไม่แน่ใจว่าที่บ้านจะมีอาหารหรือเปล่า จึงบอกให้พระรออยู่ตรงนั้น ตัวเองทิ้งหาบหญ้าวิ่งกลับบ้าน
นายอันนภาระต้องวิ่งถึง ๔ ขา คือ -
ขาที่ ๑ วิ่งตัวเปล่ากลับบ้าน ถึงบ้านถามเมียว่าเก็บอาหารของตนไว้หรือเปล่า เมียบอกว่ายังอยู่
ขาที่ ๒ วิ่งตัวเปล่าจากบ้านกลับมาเอาบาตรพระ
ขาที่ ๓ ถือบาตรวิ่งกลับบ้าน ถึงบ้านเอาอาหารใส่บาตร
ขาที่ ๔ ประคองบาตรที่เต็มด้วยอาหารวิ่งกลับมาที่พระ ถวายบาตรให้พระ
ถวายบาตรแล้วจึงตั้งความปรารถนาว่า “อิมินา ปะนะ ทาเนนะ ...”
พระปัจเจกพุทธเจ้าอำนวยพรว่า “เอวัง โหตุ” แปลว่า “จงสำเร็จดังปรารถนาเถิด”
พอนายอันนภาระถวายทานเสร็จ เทวดาที่บ้านสุมนเศรษฐีก็สาธุการขึ้น ๓ ครั้ง ท่านเศรษฐีแปลกใจ ทำบุญถวายทานมาก็นานนักหนาไม่เคยได้ยินเทวดาสาธุการ จึงพูดประชดว่า อ้อ นี่เพิ่งรู้รึว่าฉันทำบุญ
เทวดาตอบว่า ข้าพเจ้าไม่ได้สาธุการบุญท่านเศรษฐี แต่สาธุการบุญของนายอันนภาระ เศรษฐีชักเดือด หมอนั่นเป็นแค่ลูกจ้างจะทำบุญอะไรได้ เรียกตัวมาถาม ครั้นทราบความจริงก็ขอซื้ออาหารที่นายอันนภาระใส่บาตรเพื่อตัวจะได้เป็นเจ้าของทานและจะได้บุญจากการถวายทาน นายอันนภาระไม่ตกลง แม้เศรษฐีจะให้ราคาสูงขึ้นสักเท่าไรก็ไม่ตกลง เศรษฐีหมดปัญญา บอกว่าถ้าเช่นนั้นขอแบ่งส่วนบุญก็แล้วกัน นายอันนภาระไม่แน่ใจว่าแบ่งส่วนบุญแล้วบุญของตัวจะหมดไปหรือเปล่า จึงวิ่งกลับไปถามพระปัจเจกพุทธเจ้า
พระปัจเจกพุทธเจ้าตอบว่า ยิ่งแบ่ง บุญก็ยิ่งมากขึ้น เหมือนต่อเทียน ยิ่งต่อมาก ก็ยิ่งสว่างมาก
นายอันนภาระฟังแล้วก็เข้าใจ จึงมาแบ่งส่วนบุญให้เศรษฐี เศรษฐีให้เงินตอบแทนก็ไม่ยอมรับ ตอบเด็ดขาดมากว่า “กระผมไม่ขายบุญ”
เศรษฐีซึ้งน้ำใจ ยกที่ทางสร้างบ้านให้ แบ่งสมบัติให้ พระเจ้าแผ่นดินทรงทราบเรื่องก็ทรงขอแบ่งส่วนบุญด้วย พระราชทานทรัพย์สมบัติให้เป็นอันมาก แล้วทรงตั้งให้เป็นเศรษฐีประจำเมือง เป็นอันว่านายอันนภาระได้รับผลบุญในปัจจุบันทันตาเห็นจริงๆ
..................
ในระหว่างที่ยังไม่รู้ว่าบทกรวดน้ำบทไหนเป็น “อิมินาน้อย” ผมขอเสนอให้บทกรวดน้ำพระอนุรุทธซึ่งขึ้นต้นว่า “อิมินา ...” เช่นเดียวกัน และเป็นบทสั้นเพียง ๔ วรรค ๑ คาถา เป็น “อิมินาน้อย” ไปพลางๆ ขอเรียกว่า “บทกรวดน้ำพระอนุรุทธ” หรือใครจะเรียก “อิมินาพระอนุรุทธ” ก็ไม่ขัดข้อง
ทุกครั้งที่ใส่บาตรหรือถวายทาน ถ้ายังตัดสินใจไม่ได้ว่าจะกรวดน้ำด้วยบทอะไรดี ขอเสนอ “บทกรวดน้ำพระอนุรุทธ” หรือ “อิมินาพระอนุรุทธ” ไว้ใน “อ้อมใจของมิตรรักแฟนเพลง” อีกบทหนึ่งครับ
.........................................................
อ่านประวัติบทกรวดน้ำพระอนุรุทธ
https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=35&p=12
.........................................................
พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย
๒ ธันวาคม ๒๕๖๕
๑๐:๕๗
....................................................
ภาพประกอบ: คนเกี่ยวหญ้า อาชีพของนายอันนภาระ
[right-side]
แสดงความคิดเห็น
ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ