ทองย้อย แสงสินชัย
#บาลีวันละคำ (3,824)
อาจารโคจร
แปลไม่ยาก แต่เข้าใจไม่ง่าย
ภาษาไทยอ่านว่า อา-จา-ระ-โค-จอน
ประกอบด้วยคำว่า อาจาร + โคจร
(๑) “อาจาร”
บาลีอ่านว่า อา-จา-ระ รากศัพท์มาจาก อา (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ยิ่ง) + จรฺ (ธาตุ = ประพฤติ; ศึกษา) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, “ทีฆะต้นธาตุ” คือ อะ ที่ จ-(รฺ) เป็น อา (จรฺ > จาร)
: อา + จรฺ = อาจรฺ + ณ = อาจรฺณ > อาจรฺ > อาจารฺ แปลตามศัพท์ว่า “อาการที่ประพฤติอย่างยิ่ง” “อาการที่ศึกษาอย่างทั่วถึง” (คือเอาใจใส่ให้ความสำคัญต่อเรื่องนั้นๆ) หมายถึง อาจาระ, ความประพฤติ, การปฏิบัติ, ความประพฤติชอบ, กิริยามารยาทที่ดี (way of behaving, conduct, practice, right conduct, good manners)
บาลี “อาจารฺ” สันสกฤตก็เป็น “อาจารฺ”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า -
“อาจาร : (คำนาม) ระเบียบมรรยาท (กฤติกาแห่งมรรยาท); วินัยบัญญัติ; วินัย; ขนบธรรมเนียม; กริยาประพันธ์; rule of conduct; ordinance; precept; custom or usage; practice.”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ว่า -
“อาจาร, อาจาร- : (คำนาม) ความประพฤติ, ความประพฤติดี; จรรยา, มรรยาท; ธรรมเนียม, แบบแผน, หลัก. (ป., ส.).”
(๒) “โคจร”
บาลีอ่านว่า โค-จะ-ระ รากศัพท์ประกอบด้วย โค + จรฺ (ธาตุ = เที่ยวไป)
“โค” ในภาษาบาลีมีความหมายหลายอย่าง กล่าวคือ วัว, แผ่นดิน, ดวงอาทิตย์, อินทรีย์ ( = เครื่องรับอารมณ์ที่มากระทบ เช่น ตา + สิ่งที่ตาเห็น)
: โค + จรฺ = โคจร แปลตามศัพท์ว่า -
(1) “ที่เป็นที่เที่ยวไปแห่งโค” ความหมายเดิมคือท้องทุ่งสำหรับต้อนโคไปหากิน แล้วขยายไปเป็นทุ่งหญ้าสำหรับเลี้ยงสัตว์ทั่วไป และเป็นสำนวนหมายถึง “ออกไปเที่ยวหากิน” (มักใช้กับสัตว์)
(2) “การท่องเที่ยวไปบนแผ่นดิน” หมายถึง การเดินทางเคลื่อนที่ไปเรื่อยๆ
ความหมายนี้บางตำราว่าหมายถึง “การเดินทางของดวงอาทิตย์” : โค = ดวงอาทิตย์
(3) “ที่เหมือนกับที่ท่องเที่ยวไปแห่งโค” คือสถานที่เที่ยวบิณฑบาตของภิกษุ (เปรียบเหมือนสถานที่ซึ่งโคไปเที่ยวหากิน)
(4) “ที่เป็นที่เที่ยวไปแห่งอินทรีย์” คือรูป เสียง กลิ่น รส เป็นต้น อันรวมเรียกว่า “อารมณ์”
สรุปว่า “โคจร” หมายถึง อาหาร = การหากิน, การเดินทาง, สถานที่อันควรไป และ อารมณ์
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “โคจร” (โค-จอน) ไว้ว่า -
(1) (คำนาม) อารมณ์ เช่น มีพุทธานุสติเป็นโคจร
(2) (คำกริยา) เดินไปตามวิถี เช่น ดวงอาทิตย์โคจร ดวงจันทร์โคจรรอบโลก
(3) (คำกริยา) เที่ยว เช่น โคจรมาพบกัน
(4) คํานี้โดยมากใช้แก่ดาวนพเคราะห์, เมื่อว่าเฉพาะทางที่พระอาทิตย์โคจร มีจุดสุดอยู่ 6 แห่งที่อยู่ตรงข้ามกันเป็นคู่ ๆ คือ ครีษมายัน กับ เหมายัน คู่หนึ่ง, วสันตวิษุวัต กับ ศารทวิษุวัต คู่หนึ่ง, พสุสงกรานต์ 2 แห่ง คู่หนึ่ง. (ป., ส. โคจร ว่า การเที่ยวไปของดวงอาทิตย์)
ในที่นี้ “โคจร” หมายถึง สถานที่อันควรไป คำที่ตรงกันข้ามคือ “อโคจร” หมายถึง สถานที่อันไม่ควรไป
อาจาร + โคจร = อาจารโคจร บาลีอ่านว่า อา-จา-ระ-โค-จะ-ระ แปลทับศัพท์ว่า “อาจาระและโคจร”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อาจารโคจร” ว่า pasturing in good conduct; i. e. practice of right behavior (ดื่มด่ำอยู่ในความประพฤติอันดีงาม; คือปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเป็นกิจวัตร)
อาจแปลแบบจับความได้ว่า “อาจารโคจร” ก็คือ ความประพฤติปฏิบัติอันสมควรแก่ภูมิเพศบรรพชิต
คำเต็มของศัพท์นี้คือ “อาจารโคจรสมฺปนฺน” (อา-จา-ระ-โค-จะ-ระ-สำ-ปัน-นะ) แปลว่า “ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจร”
ขยายความ :
จะเข้าใจความหมายของ “อาจารโคจร” และ “อาจารโคจรสมฺปนฺน” ชัดขึ้น ควรดูกลุ่มคำที่ประกอบเข้าเป็นประโยคในข้อความเต็มๆ ดังนี้ -
..............
โส เอวํ ปพฺพชิโต สมาโน ปาติโมกฺขสํวรสํวุโต วิหรติ อาจารโคจรสมฺปนฺโน อณุมตฺเตสุ วชฺเชสุ ภยทสฺสาวี สมาทาย สิกฺขติ สิกฺขาปเทสุ กายกมฺมวจีกมฺเมน สมนฺนาคโต กุสเลน ปริสุทฺธาชีโว สีลสมฺปนฺโน อินฺทฺริเยสุ คุตฺตทฺวาโร สติสมฺปชญฺเญน สมนฺนาคโต สนฺตุฏฺโฐ ฯ
ที่มา: สามัญญผลสูตร ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค
พระไตรปิฎกเล่ม ๙ ข้อ ๑๐๒
..............
แปล:
โส เอวํ ปพฺพชิโต สมาโน ปาติโมกฺขสํวรสํวุโต วิหรติ
เมื่อบวชแล้ว สำรวมระวังในพระปาติโมกข์
อาจารโคจรสมฺปนฺโน
ถึงพร้อมด้วยมรรยาทและโคจร (คือความประพฤติปฏิบัติอันสมควรแก่ภูมิเพศบรรพชิต)
อณุมตฺเตสุ วชฺเชสุ ภยทสฺสาวี
โทษผิดเพียงเล็กน้อยก็เห็นว่าเป็นภัยน่ากลัว (ไม่กล้าล่วงละเมิด)
สมาทาย สิกฺขติ สิกฺขาปเทสุ
สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย
กายกมฺมวจีกมฺเมน สมนฺนาคโต กุสเลน
ประกอบด้วยกายกรรมวจีกรรมที่เป็นกุศล
ปริสุทฺธาชีโว
เลี้ยงชีพอย่างบริสุทธิ์
สีลสมฺปนฺโน
ถึงพร้อมด้วยศีล
อินฺทฺริเยสุ คุตฺตทฺวาโร
คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย
(ตาเห็น หูได้ยิน จมูกได้กลิ่น ฯลฯ มีสติรู้เท่านั้น ไม่หลงชอบหลงชังตามไป)
สติสมฺปชญฺเญน สมนฺนาคโต
ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ
สนฺตุฏฺโฐ ฯ
เป็นผู้สันโดษ
..............
คัมภีร์สมันตปาสาทิกา ภาค 2 หน้า 394 ตอนอธิบายคัมภีร์มหาวิภังค์ วินัยปิฎก ขยายความคำว่า “อาจารโคจรสมฺปนฺน” ไว้ดังนี้ -
..............
อาจารโคจรสมฺปนฺโนติ มิจฺฉาชีวปฏิเสธเกน นเวฬุทานาทินา อาจาเรน เวสิยาทิอโคจรํ ปหาย สทฺธาสมฺปนฺนกุลาทินา จ โคจเรน สมฺปนฺโน อาจารโคจรสมฺปนฺโน ฯ
คัมภีร์สมันตปาสาทิกาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย แปลไว้ดังนี้ -
คำว่า อาจารโคจรสมฺปนฺโน หมายความว่า ละอโคจรมีหญิงแพศยาเป็นต้น ด้วยอาจาระที่ป้องกันมิจฉาชีพมีการไม่ให้ไม้ไผ่เป็นต้น แล้วถึงพร้อมด้วยโคจรมีสกุลที่สมบูรณ์ด้วยศรัทธาเป็นต้น ชื่อว่าผู้ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจร
..............
ผู้เขียนบาลีวันละคำขอขยายความตามอัตโนมติ ดังนี้ -
..............
อาจาระ คือประพฤติถูกต้องป้องกันไม่ให้บรรพชิตหาเลี้ยงชีพในทางผิด ก็ประพฤติได้-เช่นเอาสิ่งของที่ตนมีแลกกับลาภสักการะที่เขาจะให้เป็นต้น-แบบนี้ไม่ทำ
อโคจร คือสถานที่อันบรรพชิตไม่ควรเข้าไปข้องแวะ เช่นสำนักหญิงบริการเป็นต้น (ยังมีที่อื่นๆ อีก) ก็เว้นได้
ต่อจากนั้น ถ้าจะมีปฏิสัมพันธ์กับใครกลุ่มไหน ก็เลือกเฉพาะที่เขามีศรัทธาเลื่อมใสอย่างบริสุทธิ์ใจ คือไม่ใช่ไปแสดงแต่งกิริยาวาจาล่อหลอกให้เขาเลื่อมใส
ประพฤติได้เช่นนี้ ชื่อว่า “อาจารโคจรสมฺปนฺน” แปลเอาความว่า “ผู้ถึงพร้อมด้วยความประพฤติปฏิบัติอันสมควรแก่ภูมิเพศบรรพชิต”
..............
ดูก่อนภราดา!
: อย่าทำให้เขาศรัทธาที่จะประพฤติตามท่าน
: แต่จงทำให้เขาศรัทธาที่จะประพฤติตามธรรม
[right-side]
แสดงความคิดเห็น
ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ