ทองย้อย แสงสินชัย

#บาลีวันละคำ (3,825)


สังฆ์คตะ

สังฆทานตัวจริง

อ่านว่า สัง-คะ-ตะ

ประกอบด้วยคำว่า สังฆ์ + คตะ

(๑) “สังฆ์”

เขียนแบบบาลีเป็น “สงฺฆ” อ่านว่า สัง-คะ รากศัพท์มาจาก สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, ร่วมกัน) + หนฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + อ (อะ) ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น ง (สํ > สงฺ), แปลง หนฺ เป็น ฆ

: สํ > สงฺ + หนฺ > ฆ + อ = สงฺฆ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า -

(1) “หมู่เป็นที่ไปรวมกันแห่งส่วนย่อยโดยไม่แปลกกัน” หมายความว่า ส่วนย่อยที่มีคุณสมบัติหลักๆ “ไม่แปลกกัน” คือมีคุณสมบัติตรงกัน เหมือนกัน ส่วนย่อยดังกล่าวนี้ไปอยู่รวมกัน คือเกาะกลุ่มกัน ดังนี้เรียกว่า “สงฺฆ”

(2) “หมู่ที่รวมกันโดยมีความเห็นและศีลเสมอกัน” ความหมายนี้เล็งที่บรรพชิตหรือสาวกที่เป็นนักบวชในลัทธิศาสนาต่างๆ เช่นภิกษุในพระพุทธศาสนาเป็นต้น ต้องมีความคิดเห็นและความประพฤติลงรอยกันจึงจะรวมเป็น “สงฺฆ” อยู่ได้

“สงฺฆ” จึงหมายถึง หมู่, กอง, กลุ่ม, คณะ

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สงฺฆ” เป็นอังกฤษว่า -

(1) multitude, assemblage (ฝูงชน, ชุมนุมชน, หมู่, ฝูง)

(2) the Order, the priesthood, the clergy, the Buddhist church (คณะสงฆ์, พระ, นักบวช, พุทธจักร)

(3) a larger assemblage, a community (กลุ่มใหญ่, ประชาคม)

“สงฺฆ” ปกติในภาษาไทยใช้ว่า “สงฆ์” ถ้าอยู่หน้าคำสมาสมักใช้เป็น “สังฆ-”

“สงฆ์” ในพระพุทธศาสนามีความหมาย 2 อย่าง คือ -

(1) “สาวกสงฆ์” หมายถึงหมู่สาวกของพระพุทธเจ้า ที่ได้บรรลุธรรมในภูมิอริยบุคคลคือเป็นพระโสดาบันขึ้นไป ดังคำสวดในสังฆคุณที่ว่า สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ 

(2) “ภิกขุสงฆ์” หมายถึงชุมนุมภิกษุหมู่หนึ่งตั้งแต่ 4 รูปขึ้นไป ซึ่งสามารถประกอบสังฆกรรมได้ตามกำหนดทางพระวินัย 

บางทีเรียกอย่างแรกว่า “อริยสงฆ์” อย่างหลังว่า “สมมติสงฆ์”

ในภาษาไทย คำว่า “สงฆ์” อาจหมายถึงภิกษุที่รวมกันเป็นหมู่คณะก็ได้ หมายถึงภิกษุแต่ละรูปก็ได้ 

ในที่นี้ “สงฆ์” หมายถึง “ภิกขุสงฆ์” คือชุมนุมภิกษุหมู่หนึ่งตั้งแต่ 4 รูปขึ้นไป ซึ่งสามารถประกอบสังฆกรรมได้ตามกำหนดทางพระวินัย 

(๒) “คตะ”

เขียนแบบบาลีเป็น “คต” อ่านว่า คะ-ตะ รากศัพท์มาจาก คมฺ (ธาตุ = ไป, ถึง) + ต ปัจจัย, ลบที่ สุดธาตุ (คมฺ > ค)

: คมฺ + ต = คมต > คต แปลตามศัพท์ว่า “ไปแล้ว” “ถึงแล้ว” 

“คต” ในบาลีใช้เป็นกริยา (กิริยากิตก์) และใช้เป็นคุณศัพท์ หมายถึง -

(1) ไปแล้ว, ถึงแล้ว, ตรงไป (gone away, arrived at, directed to)

(2) เกี่ยวข้องกับ, หมายถึง, เกี่ยวเนื่องกับ (connected with, referring to, concerning, relating to)

สงฺฆ + คต = สงฺฆคต (สัง-คะ-คะ-ตะ) แปลว่า “ไปแล้วในสงฆ์” “ถึงแล้วในสงฆ์”

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สงฺฆคต” ว่า gone into the sangha, joining the community (เข้าไปในคณะสงฆ์, เข้าร่วมคณะสงฆ์)

อภิปรายขยายความ :

คำว่า “สงฺฆคต” ใช้เป็นคำขยายคำว่า “ทกฺขิณา” (ทัก-ขิ-นา) หมายถึง ทานที่มีผู้ถวายอุทิศผลถึงผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว รวม 2 คำ เป็น “สงฺฆคตา ทกฺขิณา” แปลว่า “ทักษิณาทานอันถึงแล้วในสงฆ์” หมายถึงทานที่มีผู้ถวายแก่สงฆ์ (ไม่ได้ถวายเป็นส่วนตัวแก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง) ก็คือที่เราเรียกกันติดปากว่า “สังฆทาน” นั่นเอง

“สงฺฆคต” เขียนแบบคำไทยเป็น “สังฆคต” อ่านแบบไทยว่า สัง-คะ-คด ซึ่งเสียงไม่เพราะเลย

ถ้าต้องการให้อ่านว่า สัง-คะ-คะ-ตะ ต้องเขียนเป็น “สังฆคตะ”

เขียนเป็น “สังฆคตะ” อ่านว่า สัง-คะ-คะ-ตะ จะรู้สึกว่าตะกุกตะกัก เพราะมีเสียง คะ-คะ ซ้ำกัน 2 คำ ถ้าเขียนแบบนี้และอ่านแบบนี้นานไป เชื่อได้เลยว่า จะต้องมีคนอ่านเป็น สัง-คะ-ตะ ( -คะ- หายไปพยางค์หนึ่ง) 

จึงขออนุญาต “ฝ่าด่านไวยากรณ์” ใส่การันต์ที่ -ฆ์ ดักคอไว้ก่อน เป็น “สังฆ์คตะ” แบบนี้ -ฆ์ ไม่ต้องออกเสียง จะได้อ่านว่า สัง-คะ-ตะ ถูกต้องตามที่เขียนและตามความคล่องปาก 

ที่ว่า “ฝ่าด่านไวยากรณ์” ก็คือ “สังฆ์คตะ” เป็นคำสมาส ในภาษาไทยไม่อนุญาตให้ใส่การันต์กลางศัพท์ (เทียบคำว่า “มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย” ไม่เขียนเป็น “มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย”) แต่ “สังฆ์คตะ” ถ้าไม่ใส่การันต์ เขียนเป็น “สังฆคตะ” ก็จะต้องอ่านว่า สัง-คะ-คะ-ตะ จึงจะถูกตามหลักการอ่าน ตรงนี้ก็จะไปสร้างปัญหาในอนาคต คือต่อไปจะต้องมีคนอ่านตามสะดวกปากว่า สัง-คะ-ตะ ก็จะกลายเป็นอ่านผิด สร้างความหงุดหงิดให้แก่ผู้รู้ เพราะฉะนั้น ยอมเขียนผิดไปตั้งแต่แรกเพื่อให้อ่านถูกไปตั้งแต่แรกดีกว่า

ที่ว่ามานี้ พูดเหมือนกับคำนี้เป็นที่ยอมรับกันแล้ว แต่ความจริงเป็นคำที่เพิ่งเสนอสู่สายตาสังคม สังคมจะรับหรือไม่รับก็ยังไม่รู้

เวลานี้ เราใช้คำว่า “สังฆทาน” ในความหมายที่ผิดพลาดกันหมด คือหมายถึง “สิ่งของอะไรอย่างหนึ่ง” ทั้งๆ ที่ “สังฆทาน” หมายถึง “ความตั้งใจถวายเป็นของสงฆ์” ไม่ได้มุ่งถึงสิ่งของใดๆ เลย

ผู้เขียนบาลีวันละคำขอเสนอให้ใช้คำว่า “สังฆ์คตะ” แทนคำว่า “สังฆทาน” 

“สังฆทาน” หมายถึง จิตเจตนา เอามาถวายกันไม่ได้

“สังฆ์คตะ” หมายถึง สิ่งของ ถวายได้

“สังฆทาน” = สัง-คะ-ทาน กับ “สังฆ์คตะ” = สัง-คะ-ตะ เสียงเท่ากัน พูดคำไหนก็คล่องปากได้เหมือนกัน

“ถวายสังฆทาน” พูดผิด ถ้าจะใช้คำนี้ต้องพูดว่า “ถวายให้เป็นสังฆทาน” จึงจะถูก แต่ไม่มีใครพูด

“ถวายสังฆ์คตะ” ถูกต้องทั้งอรรถะ ทั้งพยัญชนะ

..............

ดูก่อนภราดา!

: คำบางคำ เขียนผิดเพื่อให้เข้าใจถูก

: ดีกว่าคำที่เขียนถูก แต่คนพากันเข้าใจผิด

[right-side]

ภาษาธรรม,สังฆ์คตะ

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.