ทองย้อย แสงสินชัย
#บาลีวันละคำ (3,823)
ทาลิททิยะ
บทกรวดน้ำของพระอนุรุทธเถระ
อ่านว่า ทา-ลิด-ทิ-ยะ
“ทาลิททิยะ” เขียนแบบบาลีเป็น “ทาลิทฺทิย” อ่านว่า ทา-ลิด-ทิ-ยะ รากศัพท์มาจาก ทลิทฺท + ณฺย ปัจจัย
(๑) “ทลิทฺท”
อ่านว่า ทะ-ลิด-ทะ รากศัพท์มาจาก -
(1) ทลิทฺทฺ (ธาตุ = ลำบาก) + อ (อะ) ปัจจัย
: ทลิทฺทฺ + อ = ทลิทฺท แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ลำบาก”
(2) ทลฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + อิทฺท ปัจจัย
: ทลฺ + อิทฺท = ทลิทฺท แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ถึงความตกยาก”
“ทลิทฺท” ในบาลี:
1 ใช้เป็นคำนาม (ปุงลิงค์) หมายถึง คนจรจัด, คนตกยาก, คนขอทาน (a vagabond, beggar)
2 ใช้เป็นคุณศัพท์ หมายถึง จรจัด, เดินเล่น, จน, ขัดสน, สมเพช (vagrant, strolling, poor, needy, wretched)
บาลี “ทลิทฺท” สันสกฤตเป็น “ทริทฺร”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ -
“ทริทฺร : (คำวิเศษณ์) อนาถา, ยากจน, เข็ญใจ, ตกทุกข์; poor, indigent, needy, distressed.”
บาลี “ทลิทฺท” ใช้ในภาษาไทยเป็น “ทลิท” (ทะ-ลิด) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า -
“ทลิท : (คำแบบ) (คำวิเศษณ์) ยากจน, เข็ญใจ, เช่น พราหมณพฤฒาเฒ่าทลิทยากยิ่งยาจก (ม. ร่ายยาว ชูชก). (ป. ทลิทฺท; ส. ทริทฺร).”
พจนานุกรมฯ เก็บคำว่า “ทลิททก” (ทะ-ลิด-ทก) ไว้อีกคำหนึ่ง บอกไว้ว่า -
“ทลิททก : (คำแบบ) (คำนาม) คนยากจน, คนเข็ญใจ, เช่น ส่วนออเฒ่าพฤฒาทลิททก (ม. ร่ายยาว ชูชก). (ป. ทลิทฺทก).”
(๒) ทลิทฺท + ณฺย ปัจจัย, ลบ ณฺ (ณฺย > ย), ลง อิ อาคมหน้าปัจจัย (ลง อิ อาคมระหว่างศัพท์กับปัจจัย) (ทลิทฺท + อิ + ณฺย), ทีฆะต้นศัพท์ คือ อะ ที่ ท-(ลิทฺท) เป็น อา “ด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ณ” (ทลิทฺท > ทาลิทฺท)
: ทลิทฺท + อิ + ณฺย = ทลิทฺทิณฺย > ทลิทฺทิย > ทาลิทฺทิย (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะแห่งคนตกยาก” หมายถึง ความยากจน (poverty)
“ทาลิทฺทิย” ในบาลีใช้เป็น “ทาฬิทฺทิย” (-ฬิ- ฬ จุฬา) ก็มี ใช้ในภาษาไทยเป็น “ทาลิททิยะ” อ่านว่า ทา-ลิด-ทิ-ยะ
“ทาลิททิยะ” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 และยังไม่เคยเห็นใครใช้ในภาษาไทย
ขยายความ :
คำว่า “ทาลิทฺทิย” ในคัมภีร์ที่น่าจดจำไปใช้ ผู้เขียนบาลีวันละขอเรียกว่า “บทกรวดน้ำของพระอนุรุทธ”
เรื่องย่อมีว่า พระอนุรุทธเถระเคยทำบุญทานมัยครั้งสำคัญกับพระปัจเจกพุทธเจ้าไว้ในอดีตชาติ โดยตั้งความปรารถนาว่า -
..............
อิมินา ปะนะ ทาเนนะ มา เม ทาลิททิยัง อะหุ
นัตถีติ วะจะนัง นามะ มา อะโหสิ ภะวาภะเว.
แปลว่า
ด้วยอำนาจแห่งทานนี้
ขอความยากจนเข็ญใจจงอย่าได้มีแก่ข้าพเจ้า
ขอให้ข้าพเจ้าอย่าได้ยินได้ฟังคำว่า “ไม่มี” ทุกภพทุกชาติเทอญ.
ที่มา: ธัมมปทัฏฐกถา ภาค ๘ สุมนสามเณรวัตถุ (๒๖๓)
..............
ตั้งแต่บัดนั้นมา เกิดมาทุกภพทุกชาติท่านไม่เคยได้ยินคำว่า “นตฺถิ” = ไม่มี คือต้องการอะไร มีได้ทุกอย่างไป
..............
https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=35&p=12
..............
ดูก่อนภราดา!
: ไม่จน
: ดีกว่าไม่รวย
[right-side]
แสดงความคิดเห็น
ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ