๑๐. ภวปจฺจยา ชาติ สมฺภวติ (ชาติ มีขึ้นเพราะภวเป็นปัจจัย)


       ความเกิดขึ้นแห่งโลกียวิปากจิต เจตสิก และกัมมชรูป ปรากฎเกิดขึ้น เพราะอาศัยกัมมภวะเป็นเหตุ

       ภวะที่เป็นปัจจัยของชาติที่เอาแต่กัมมภวะ ก็เพราะการเกิดขึ้นแห่งวิบากและกัมมชรูปอันเป็นตัวชาตินั้น จะเกิดขึ้นได้ก็โดยอาศัยอกุศลกรรมและโลกียกุศลกรรมเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ ภวะในบท "ภวปจฺจยา ชาติ" จึงได้แก่กัมมภวะอย่างเดียว

คำว่า "ชาติ" ในบท "ภวปจฺจยา ชาติ" นี้ มุ่งหมายเอาปฏิสนธิชาติเท่านั้น


       ปฏิสนธิชาติ นี้ เมื่อว่าโดยกำเนิดมี ๔ คือ

              ๑. ชลาพุชชาติ การเกิดขึ้นในมดลูก

              ๒. อัณฑชชาติ การเกิดขึ้นในฟอง

              ๓. สังเสทชชาติ การเกิดขึ้นในที่ที่มียาง

              ๔. โอปปาติกชาติ การเกิดผุดโตขึ้นทันที

       ว่าโดยขันธ์ มี ๓ คือ

              ๑. ปัญจโวการชาติ การเกิดขึ้นของขันธ์ ๕

              ๒. จตุโวการชาติ การเกิดขึ้นของนามขันธ์ ๔

              ๓. เอกโวการชาติ การเกิดขึ้นของรูปขันธ์อย่างเดียว 


       ชาติ คือการเกิดขึ้นของสัตว์ทั้งหลายใน ๓๑ ภูมิ โดยประการต่างๆ มีพวกอบายสัตว์ มนุษย์ เทวดา พรหม เหล่านี้ ก็โดยเนื่องมาจากกัมมภวะ คือการกระทำด้วยกาย วาจา ใจ ที่เป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง นั้นเอง ฉะนั้น จึงเห็นได้ว่าสัตว์ทั้งหลายในโลกนี้ ไม่มีใครเป็นผู้สร้าง นอกจากกุศลกรรม อกุศลกรรมเท่านั้น สมดังที่พระพุทธองค์ทรงกล่าวว่า

       "กมฺมํ สตฺเต วิภชติ ยทิทํ หีนปฺปณีตตาย"

       กรรมย่อมจำแนกสัตว์ทั้งหลายให้มีสภาพเลวและประณีต และพระมหาพุทธโฆษาจารย์ ก็ได้แสดงไว้ว่า

              ตุลฺโยปิ พหิ เหตุมฺหิ          ยมกานํ ปยตุลฺยตา

              น จาญฺโญ กมฺมโต ตสฺมา    เญยฺโย โส ชาติปจฺจโย ฯ

       แปลเป็นใจความว่า แม้จะมีสายโลหิตและอาหาร ซึ่งเป็นเหตุภายนอก อันเดียวกัน แต่ทารกฝาแฝดนั้นก็ยังมีสิ่งต่างกันให้เห็นได้ กล่าวคือคนหนึ่งเป็นชายคนหนึ่งเป็นหญิงก็มี รูปร่างสัณฐานผิดเพี้ยนกันก็มี ปัญญาต่างกันก็มี ข้อนี้แสดงให้เห็นว่า นอกจากกุศลอกุศลกัมมภวะแล้ว ก็ไม่มีเหตุอื่นใดอีกที่จัดแจงในการเกิดของสัตว์ทั้งหลาย ฉะนั้น บัณฑิตทั้งหลาย พึงทราบกัมมภวะนี้เป็นปัจจัยของชาติ


แสดง ลักษณะ รส ปัจจุปัฏฐาน ปทัฏฐาน ของชาติ

       ๑. ตตฺถ ตตฺถ ภเว ปรมาภินิพฺพตฺติลกฺขณา มีการเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในภพนั้นๆ เป็นลักษณะ

       ๒. นิยฺยาตนรสา มีการเป็นไปคล้ายกับว่า มอบขันธ์ ๕ ที่มีขอบเขตในภพหนึ่งๆให้แก่สัตว์ทั้งหลายเป็นกิจ (สัมปัตติรส)

       ๓. อตีตภวโต อิธ อุมฺมุชฺชนปจฺจุปฏฺฐานา (วา) ทุกฺขวิจิตฺตตฺตาปจฺจุปฏฺฐานา มีการผุดขึ้นในภพนี้จากภพก่อน เป็นอาการปรากฎแก่ปัญญาของบัณฑิตทั้งหลาย (หรือ) มีสภาพที่เต็มไปด้วยทุกข์เป็นผลปรากฏ

       ๔. อุปจิตนามรูปปทฏฺฐานา มีนามรูปที่เกิดขึ้นครั้งแรกเป็นเหตุใกล้


แสดงการสงเคราะห์ปัจจัย ๒๔ เข้าในบท ภวปจฺจยา ชาติ

       กัมมภวะเป็นปัจจัยช่วยอุปการะแก่ชาตินั้น ได้อำนาจปัจจัย ๒ คือ

              ๑. ปกตูปนิสสยปัจจัย ๒. นานักขณิกกัมมปัจจัย

       หมายเหตุ ในบท ภวปจฺจยา ชาติ นี้ ท่านมูลฎีกาเอากัมมภวะ และอุปปัตติภวะทั้ง ๒ โดยยกเหตุผลว่า ชาตินั้นก็คือ การเกิดขึ้นของโลกียวิบากและกัมมชรูปอันเป็นอุปปัตติภวะจะมีได้ก็ต้องอาศัยกัมมภวะ ถ้าขาดกัมมภวะแล้วอุปปัตติภวะก็มีไม่ได้ และถ้าอุปปัตติภวะไม่มี ชาติก็มีไม่ได้เช่นกัน ฉะนั้น ภวะที่เป็นปัจจัยของชาติจึงเอาทั้งกัมมภวะ และอุปปัตติภวะแต่สำหรับท่านพระอรรถกถาจารย์นั้น ไม่เอาอุปปัตติภวะ


จบ ภวปจฺจยา ชาติ

---------///--------


[full-post]

ปริจเฉทที่๘,ปฏิจจสมุปบาท,ปัจจยสังคหะ,อภิธัมมัตถสังคหะ,

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.