สมเกียรติ พลเดชอุดมคุณ
ประโยชน์ในการจัดสูตรเป็นวรรค นอกจากจะได้สาระในแต่ละสูตรแล้ว ยังได้สาระภาพรวม เช่น เคล็ดแห่งความคิดอ่านได้เร็ว ตัวอย่างกลุ่ม สีลสูตร นิสันติสูตร และภัททชิสูตร ซึ่งสาระในแต่ละสูตร มีบอกใน อรรถกถา ฏีกา (บอกเชิงลึก) ส่วนสาระภาพรวม มี บอกในนิสสยะ (บอกเชิงกว้าง) ดังนี้
เคล็ดแห่งความคิดอ่านได้เร็ว
สีลสูตร พระสารีบุตรกล่าวแก่ภิกษุทั้งหลายว่า สำหรับ ภิกษุทุศีล มีศีลวิบัติแล้ว สัมมาสมาธิย่อมขาดที่รองรับ (หตุปนิโส มีอุปนิสัยถูกกำจัด, ไม่มีที่อิงอาศัย) เมื่อสัมมาสมาธิไม่มี ยถาภูตญาณทัสสนะก็ขาดที่รองรับ เมื่อยถาภูตญาณทัสสนะไม่มี นิพพิทาและวิราคะก็ขาดที่รองรับ เมื่อนิพพิทาและวิราคะไม่มี วิมุตติญาณทัสสนะก็ขาดที่รองรับ เปรียบเหมือนต้นไม้ที่กิ่งและใบวิบัติ กะเทาะของต้นไม้นั้นก็ไม่สมบูรณ์ และไม่สมบูรณ์ไปถึง เปลือก กระพี้ แก่น ของต้นไม้นั้น... (กล่าวนัยตรงกันข้ามไว้ด้วย)
นิสันติสูตร พระอานนท์เรียนถามพระสารีบุตรว่า มีวิธีการอย่างไรที่จะคิดอ่านได้เร็ว (ขิปฺปนิสนฺติ) เรียนได้ดี เรียนได้มาก และไม่หลงลืมสิ่งที่เรียนไว้แล้ว? เมื่อพระสารีบุตรกล่าวว่า ท่านเองเป็นพหูสูต น่าจะมีคำตอบที่ดีในเรื่องนี้ พระอานนท์จึงกล่าวว่า การที่จะคิดอ่านได้เร็ว เรียนได้ดี เรียนได้มาก และ ไม่หลงลืมสิ่งที่เรียนไว้แล้ว มีวิธีการคือ
1. ฉลาดในอรรถ (อตฺถกุสโล)
2. ฉลาดในธรรม(ธมฺมกุสโล)
3. ฉลาดในพยัญชนะ (พฺยญฺชนกุสโล ฉลาดในอักขระ)
4. ฉลาดในนิรุตติ (นิรุตฺติกุสโล ฉลาดในภาษา)
5. ฉลาดในเบื้องต้นและเบื้องปลาย (ปุพฺพาปรกุสโล-ฉลาดในการเชื่อมโยงความ)
(อรรถกถากล่าวว่า ฉลาดในอรรถ หมายถึงฉลาดในอรรถกถา, ฉลาดในธรรม หมายถึงฉลาดในบาลี, ฉลาดในเบื้องต้นและเบื้องปลาย หมายถึงฉลาดในเบื้องต้น-เบื้องปลายของ อรรถกถา, บาลี, บท, อักษร และอนุสนธิ, อนุสนธิในที่นี้ได้แก่ ความเชื่อมต่อของธรรม เช่น เมื่อเริ่มต้นจากศีล ผลสุดท้ายจบ ลงที่เตวิชชา๓ เมื่อเริ่มต้นจากวิวาทบาดหมาง คำสอนก็จะจบ ลงด้วยเรื่องสาราณียธรรม เป็นต้น)
ภัททชิสูตร โฆสิตาราม (กรุงโกสัมพี) : พระอานนท์ ถามพระภัททชิว่า ในบรรดาการเห็นทั้งหลาย การเห็นชนิดไหน เป็นยอด? ในบรรดาการได้ยินทั้งหลาย การได้ยินชนิดไหนเป็น ยอด? ในบรรดาสุขทั้งหลาย สุขชนิดไหนเป็นยอด? ในบรรดา สัญญาทั้งหลาย สัญญาชนิดไหนเป็นยอด? ในบรรดาภพทั้งหลาย ภพชนิดไหนเป็นยอด? คำตอบของพระภัททชิชี้ไปที่การเห็นพรหม การได้ยินเสียงของเทพพวกอาภัสสระ ความสุขของพวกเทพสุภกิณหะ ภพของเทพในอากิญจัญญายตนภพ และสัญญาของเทพในเนวสัญญานาสัญญายตนภพ พระอานนท์กล่าวว่า คำพูดเช่นนี้ เหมือนกับที่คนส่วนมากพูดกันอยู่ เมื่อพระภัททชิขอให้เฉลย เรื่องนี้ พระอานนท์จึงให้คำตอบใหม่ว่า เห็นตามเป็นจริงจนสิ้นอาสวะ เป็นยอดของการเห็น ได้ยินตามเป็นจริงจนสิ้นอาสวะ เป็นยอดของการได้ยิน สุขที่เกิดจากความสิ้นอาสวะ เป็นยอดของความสุข สัญญาของผู้สิ้นอาสวะ(มัคคสัญญา) เป็นยอดของสัญญา เป็นอยู่ตามความเป็นจริงของผู้สิ้นอาสวะ เป็นยอดของภพ...ฯ
แสดงความคิดเห็น
ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ