อธิบายบาลีข้อที่ ๓ แสดงอนุปัสสนา ๓
"อนุปัสสนา" หมายความว่า การรู้เห็นเนืองๆ ชื่อว่า "อนุปัสสนา" เมื่อแยกบทแล้วได้ ๒ บท คือ อนุ + ปัสสนา อนุ แปลว่า เนื่องๆ ปัสสนา แปลว่า การรู้เห็น เมื่อรวมแล้วเป็นอนุปัสสนา แปลว่า การรู้เห็นเนืองๆ ดังนั้น คำว่า "อนุปัสสนา" ก็ได้แก่ปัญญาเจตสิก คือวิปัสสนาญาณที่มีการพิจารณารู้เห็นในเตภูมิกสังขารธรรม โดยความเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เหตุนี้แหละ อนุปัสสนา จึงมี ๓ อนุปัสสนา ๓ เมื่อแสดงวจนัตถะ ความหมายของศัพท์แล้วก็จะได้ดังนี้ :
"อนิจฺจสฺส อนุปสฺสนา อนิจฺจานุปสฺสนา" การพิจารณารู้เห็นรูปนาม ที่เป็นอนิจจังอยู่เนืองๆ จนอนิจจลักขณะปรากฏ ชื่อว่า อนิจจานุปัสสนา หรืออีกนัยหนึ่ง "อนิจฺจตาย อนุปสฺสนา อนิจฺจานุปสฺสนา" การพิจารณารู้เห็นความไม่เที่ยงอยู่เนืองๆ ชื่อว่า "อนิจจานุปัสสนา" องค์ธรรมได้แก่ "ปัญญาเจตสิก"
"อนิจจานุปัสสนา" ในวจนัตถะ ข้อที่ ๒ นี้ ถ้าว่าตามวจนัตถะแล้ว ก็จะต้องสำเร็จรูปเป็น อนิจจตานุปัสสนา แต่ในที่นี้ลบ ตา ปัจจัย เสีย จึงสำเร็จรูปเป็นอนิจจานุปัสสนา
มหาวิปัสสนา ๑๘
ปัญญาที่ได้ชื่อว่า อนุปัสสนา นี้ เมื่อแสดงตามไตรลักษณ์แล้วมี ๓ ดังที่ได้กล่าวมา แต่เมื่อแสดงโดยพิสดารแล้ว ได้ชื่อว่า มหาวิปัสสนา มี ๑๘ ดังต่อไปนี้ :
อฏฺฐารส มหาวิปสฺสนา นาม อนิจฺจานุปสฺสนาทิกา ปญฺญา
๑. ยาสุ อนิจฺจานุปสฺสนํ ภาเวนฺโต นิจฺจสญฺญํ ปชหติ,
๒. ทุกฺขานุปสฺสนํ ภาเวนฺโต สุขสญฺญํ ปชหติ,
๓. อนตฺตานุปสฺสนํ ภาเวนฺโต อตฺตสญฺญํ ปชหติ,
๔. นิพฺพิทานุปสฺสนํ ภาเวนฺโต นนฺทึ ปชหติ,
๕. วิราคานุปสฺสนํ ภาเวนฺโต ราคํ ปชหติ,
๖. นิโรธานุปสฺสนํ ภาเวนฺโต สมุทยํ ปชหติ,
๗. ปฏินิสฺสคฺคานุปสฺสนํ ภาเวนฺโต อาทานํ ปชหติ,
๘. ขยานุปสฺสนํ ภาเวนฺโต ฆนสญฺญํ ปชหติ,
๙. วยานุปสฺสนํ ภาเวนฺโต อายูหนํ ปชหติ,
๑๐. วิปริณามานุปสฺสนํ ภาเวนฺโต ธุวสญฺญํ ปชหติ,
๑๑. อนิมิตฺตานุปสฺสนํ ภาเวนฺโต นิมิตฺตํ ปชหติ,
๑๒. อปฺปณิหิตานุปสฺสนํ ภาเวนฺโต ปณิธึ ปชหติ,
๑๓. สุญญตานุปสฺสนํ ภาเวนฺโต อภินิเวสํ ปชหติ,
๑๔. อธิปฺปญฺญาธมฺมวิปสฺสนํ ภาเวนฺโต สาราทานาภินิเวสํ ปชหติ,
๑๕. ยถาภูตณาณทสฺสนํ ภาเวนฺโต สมฺโมหาภินิเวสํ ปชหติ,
๑๖. อาทีนวานุปสฺสนํ ภาเวนฺโต อาลยาภินิเวสํ ปชหติ,
๑๓. ปฏิสงฺขานุปสฺสนํ ภาเวนฺโต อปฺปฎิสงฺขํ ปชหติ,
๑๘. วิวฏฺฏานุปสฺสนํ ภาเวนฺโต สํโยคาภินิเวสํ ปชหติ ฯ
(มาในวิสุทธิมรรค)
แเปลความว่า ปัญญามีการพิจารณาเห็นเตภูมิกสังขารธรรม โดยความเป็นอนิจจังอยู่เนืองๆ เป็นต้น ชื่อว่า มหาวิปัสสนา ๑๘ อย่าง
๑. ในมหาวิปัสสนา ๑๘ อย่าง เมื่อพระโยคีบุคคลทำให้อนิจจานุปัสสนาคือปัญญาที่เห็นว่าไม่เที่ยงเจริญขึ้น ย่อมละนิจสัญญา ความสำคัญว่าเที่ยงให้หมดไปได้
๒. เมื่อทำให้ทุกขานุปัสสนา คือ ปัญญาที่เห็นว่าทุกข์เจริญขึ้น ย่อมละสุขสัญญา ความสำคัญว่าสุข ให้หมดไปได้
๓. เมื่อทำให้อนัตตานุปัสสนา คือ ปัญญาที่เห็นว่ามิใช่ตนเจริญขึ้นย่อมละอัตตสัญญา ความสำคัญว่าเป็นตน ให้หมดไปได้
๔. เมื่อทำให้นิพพิทานุปัสสนา คือ ปัญญาที่เห็นเป็นสิ่งที่น่าเบื่อหน่ายเจริญขึ้น ย่อมละนันทิ ความเพลิดเพลิน ให้หมดไปได้
๕. เมื่อทำให้วิราคานุปัสสนา คือ ปัญญาที่เห็นเป็นสิ่งที่น่าคลายความกำหนัดเจริญขึ้น ย่อมละราคะ ความกำหนัด ให้หมดไปได้
๖. เมื่อทำให้นิโรธานุปัสสนา คือ ปัญญาที่เห็นความดับไปเจริญขึ้นย่อมละสมุทัย ความเกิด ให้หมดไปได้
๗. เมื่อทำให้ปฏินิสสัคคานุปัสสนา คือ ปัญญาที่เห็นความสละคืนจากการถือว่า เป็นนิจจ สุข อัตต สุภสัญญา แล้ว น้อมนึกในพระนิพพานเจริญขึ้น ย่อมละอาทานะ การรับกิเลส กล่าวคือการให้กิเลสเกิดโดยที่มิได้เห็นโทษของสังขตธรรมให้หมดไปได้
๘. เมื่อทำให้ขยานุปัสนา คือ ปัญญาที่เห็นความสิ้นไปแห่งรูปนามเจริญขึ้น ย่อมละฆนสัญญา ความสำคัญว่าเป็นกลุ่ม เป็นกอง เป็นแท่ง ให้หมดไปได้
๙. เมื่อทำให้วยานุปัสสนา คือ ปัญญาที่เห็นความเสื่อมไปของสังขารธรรมที่ดับไปแล้ว และจักมีขึ้นในข้างหน้า โดยเปรียบเทียบกับความเสื่อมไปของสังขารธรรมที่กำลังมีอยู่เฉพาะหน้าเจริญขึ้น ย่อมละอายูหนะ ความดิ้นรนเพื่อความสุขความก้าวหน้า ให้หมดไปได้
๑๐. เมื่อทำให้วิปริณามานุปัสสนา คือ ปัญญาที่เห็นความแปรไปไม่คงที่เจริญขึ้น ย่อมละธุวสัญญา ความสำคัญว่าเที่ยง คงที่ ให้หมดไปได้
๑๑ เมื่อทำให้อนิมิตตานุปัสสนา คือ ปัญญาที่เห็นว่าไม่มีนิมิต รูปร่างสัณฐาน ซึ่งเป็นที่ตั้งอยู่เจริญขึ้น ย่อมละนิมิตทั้งสองมีฆนนิมิต และนิจจนิมิต ความมีรูปร่างสัญฐานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ตั้งมั่น คงที่อยู่ ให้หมดไปได้
๑๒. เมื่อทำให้อัปปณิหิตานุปัสสนา คือ ปัญญาที่เห็นว่าไม่มีสิ่งที่น่ายินดีน่าปรารถนา เจริญขึ้น ย่อมละปณิธิ ความยินดีปรารถนาในเวทยิตสุข ให้หมดไปได้
๑๓. เมื่อทำให้สุญญตานุปัสสนา คือ ปัญญาที่เห็นว่ามีแต่ความว่างเปล่าจากเรา เขาไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครๆ ทั้งสิ้นเจริญขึ้น ย่อมละอภินิเวสะความถือมั่นว่าเป็นเราเป็นเขา อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา ให้หมดไปได้
๑๔. เมื่อทำให้อธิปัญญาธัมมวิปัสสนา คือ ปัญญาที่เห็นชัดแจ้งอย่างยิ่งในอารมณ์และอารัมมณิกะ ว่าเป็นแต่รูปกับนาม ซึ่งเป็นสังขตธรรมเท่านั้นที่หมดไปสิ้นไป หาใช่มีเรา เขา หมดไปสิ้นไปแต่ประการใดไม่ อาศัยการเห็นอย่างประจักษ์ชัดของการคับไปแห่งรูปนาม ที่เป็นฝ่ายอารมณ์และอารัมมณิกะเจริญขึ้น ย่อมละสาราทานาภินิเวสะ ความงมงาย ถือมั่นว่าเป็นแก่นสารคงทนยืนอยู่ ให้หมดไปได้
๑๕. เมื่อทำให้ยถาภูตญาณทัสสนะ คือ ปัญญาที่เห็นรูปนามและธรรมที่เป็นปัจจัยของรูปนามตามความเป็นจริงเจริญขึ้น ย่อมละสัมโมหาภินิเวสะ การถือมั่นด้วยความหลงอยู่ในเรื่องวิจิกิจฉาว่า เป็นเราหรือไม่หนอ เป็นต้น และละทิฏฐิว่าพระเจ้าเป็นผู้สร้างโลกเป็นต้น ให้หมดไปได้
๑๖. เมื่อทำให้อาทีนวานุปัสสนา คือ ปัญญาที่เห็นโทษในรูปนาม โดย อาศัยความดับไปสิ้นไปอย่างน่ากลัวเจริญขึ้น ย่อมละอาลยาภินิเวสะ ความยึดมั่นจดจ่อในรูป นาม ว่าเป็นที่พึ่งที่อาศัย ให้หมดไปได้
๑๗. เมื่อทำให้ปฏิสังขานุปัสสนา คือ ปัญญาที่เห็นรูปนาม มีสภาพเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เกิดขึ้น เพื่อจะสลัดเลิกละจากอารมณ์ที่เป็นรูปและนามเจริญขึ้นย่อมละอัปปฏิสังขา ความไม่พิจารณาให้แจ้งประจักษ์ในรูปนาม ที่มีสภาพเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อันเป็นตัวโมหะ ให้หมดไปได้
๑๘. เมื่อทำให้วิวัฏฏานุปัสสนา คือ ปัญญาที่เห็นรูปนาม มีสภาพเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เกิดการท้อแท้ใคร่ที่จะปล่อยปละละทิ้ง อันเป็นตัวสังขารุเปกขาญาณ อนุโลมญาณเจริญขึ้น ย่อมละสังโยคาภินิเวสะ ความยึดมั่นประกอบติดอยู่ในรูป นาม อันเป็นตัว ตัณหา มานะ ทิฏฐิ ให้หมดไปได้
---------///---------
แสดงความคิดเห็น
ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ