อธิบายการอุปการะระหว่างปัจจัยและปัจจยุปบัน ตามนัยแห่งปฏิจจสมุปบาทโดยพิสดาร

๑. อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา สมฺภวนฺติ

      สังขารทั้ง ๓ ย่อมปรากฏเกิดขึ้น เพราะอาศัยอวิชชาเป็นเหตุ

      คำว่า อวิชฺชา เมื่อตัดบทแล้วได้ ๒ บท คือ อ + วิชฺชา

      อ แปลว่า ไม่ หรือ ตรงกันข้าม

      วิชฺชา แปลว่า รู้ หรือ ปัญญา

      เมื่อรวมกันเข้าแล้ว แปลว่า ไม่รู้ หรือ ธรรมชาติที่เป็นไปตรงกันข้ามกับปัญญา ได้แก่ โมหเจตสิก ดังแสดงวจนัตถะว่า

      "จตฺสจฺจธมฺมํ วิทติ ปากฏํ กโรตีติ = วิชฺชา"

      ธรรมชาติใดเป็นผู้รู้แจ้งอริยสัจ ๔ และเป็นผู้ทำให้อริยสัจ ๔ ปรากฎขึ้น ฉะนั้น ธรรมชาติชื่อว่า วิชชา ได้แก่ปัญญาเจตสิก

      "วิชฺชา ปฏิปกฺขาติ = อวิชฺชา"

      ธรรมชาติที่เป็นไปตรงกันข้ามกับปัญญา ฉะนั้น ธรรมชาตินั้นชื่อว่า อวิชชา

      หรือ "อวินฺทิยํ วินฺทตีติ = อวิชฺชา"

      ธรรมชาติที่ย่อมได้ซึ่งทุจริตธรรมที่ไม่ควรได้ ฉะนั้นธรรมชาตินั้นชื่อว่า อวิชชา

      หรือ "วินฺทิยํ น วินฺทตีติ = อวิชฺชา"

      ธรรมชาติที่ย่อมไม่ให้ได้ซึ่งสุจริตธรรมที่ควรได้ ฉะนั้น ธรรมชาตินั้นชื่อว่า อวิชชา

      หรือ "อวิชฺชมาเน ชวาเปตีติ = อวิชฺชา"

      ธรรมชาติที่เป็นผู้รู้ผิดในบัญญัติธรรม มีชาย หญิง เป็นต้น ที่ไม่มีปรากฎโดยสภาวะ ฉะนั้น ธรรมชาตินั้นชื่อว่า อวิชชา

      หรือ "วิชฺชมาเน น ชวาเปตีติ = อวิชฺชา"

      ธรรมชาติที่เป็นผู้ไม่ให้รู้ในปรมัตถธรรม มีขันธ์เป็นต้น ที่มีปรากฎโดยสภาวะ ฉะนั้น ธรรมชาตินั้นชื่อว่า อวิชชา

      หรือ "วิทิตพฺพํ อวิทิตํ กโรตีติ = อวิชฺชา"

      ธรรมชาติที่ไม่ให้รู้ซึ่งธรรมที่ควรรู้มีอริยสัจ ๔ เป็นต้น ฉะนั้น ธรรมชาตินั้นชื่อว่า อวิชชา, อวิชชาทั้งหมดนี้ได้แก่ โมหเจตสิก

      สรุปความว่า การไม่รู้ตามความเป็นจริงที่ควรรู้ รู้แต่สิ่งที่ไม่เป็นไปตามความเป็นจริงที่ไม่ควรรู้ นี้แหละชื่อว่า อวิชชา


การไม่รู้ตามความเป็นจริงของอวิชชานี้มีอยู่ ๘ ประการ คือ

      ๑. ทุกฺเข อญาณํ ไม่รู้ในทุกข์

      ๒. ทุกฺขสมุทเย อญาณํ ไม่รู้เหตุที่ทำให้เกิดทุกข์

      ๓. ทุกฺขนิโรเธ อญาณํ ไม่รู้ธรรมอันเป็นที่ดับแห่งทุกข์

      ๔. ทุกฺขนิโรธคามินีปฏิปทาย อญาณํ ไม่รู้หนทางที่ให้เข้าถึงความดับทุกข์

      ๕. ปุพฺพนฺเต อญาณํ ความไม่รู้ในขันธ์ อายตนะ ธาตุ ที่เป็นอดีต

      ๖. อปรนฺเต อญาณํ ความไม่รู้ในขันธ์ อายตนะ ธาตุ ที่เป็นอนาคต

      ๗. ปุพฺพนฺตาปรนฺเต อญาณํ ความไม่รู้ในขันธ์ อายตนะ ธาตุ ที่เป็นอดีตและอนาคต

      ๘. อิทปฺปจฺจยตาปฏิจฺจสมุปฺปนฺเนสุ ธมฺเมสุ อญาณํ ความไม่รู้ในรูป นามที่เกิดขึ้น โดยอาศัยมีเหตุให้เกิดตามในปฏิจจสมุปบาท


      ๑. ความไม่รู้ในทุกข์ (ทุกเข อญาณํ) คือ

         ตามธรรมดาสัตว์ทั้งหลายที่เกิดอยู่ในโลกนี้ ไม่ว่าใครจะต้องได้ประสบกับความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความโศกเศร้าเสียใจ ความร่ำไห้รำพันความพลัดพรากจากสิ่งที่รัก ความได้ประสบกับสิ่งที่ไม่รัก ความไม่สำเร็จตามความประสงค์ ความคับแค้นใจ เหล่านี้ ซึ่งล้วนแต่เป็นความทุกข์ทั้งสิ้น ยากที่ผู้ใดจะหลีกเลี่ยงให้พ้นได้ ต้องได้รับกันมากน้อยตามสมควรแก่ฐานะของตนแต่ในบรรดาทุกข์ต่างๆ เหล่านี้ การเกิดและการตายทั้ง ๒ นี้ เป็นทุกข์ที่แน่นอนไม่มีการยกเว้นให้แก่ใคร จะเกิดเป็นคนชั้นสูง ชั้นต่ำ หรือจะเกิดเป็นเทวดาพรหมก็ตาม ต้องได้ประสบด้วยกันทั้งสิ้น สำหรับความแก่ ความเจ็บ ความเศร้าโศกเสียใจ ความร่ำไห้รำพัน ความพลัดพรากจากสิ่งที่รัก ความได้ประสบกับสิ่งที่ไม่รัก ความไม่สำเร็จตามความประสงค์ ความกับแค้นใจเหล่านี้ เป็นทุกข์ที่เกิดขึ้นกับบุคคลไม่ทั่วไป เช่น ในพวกเทวดาทั้งหลาย (ยกเว้นจาตุมหาราชิกาเทวดาชั้นต่ำ) ความแก่ ความเจ็บ ทั้ง ๒ นี้ไม่ปรากฎ แต่ทุกข์อื่นๆ ก็ย่อมได้รับกันตามมากตามน้อยเช่นเดียวกัน สำหรับพวกพรหม แม้จะพ้นจากทุกข์อื่นๆก็จริง แต่ทุกข์ที่สำคัญ คือ การเกิด การตาย ก็ยังหนีไม่พ้นทุกข์ต่างๆ ดังกล่าวมานี้ แม้สัตว์ทั้งหลาย เคยได้รับมาแล้วในอดีตก็ตามกำลังได้รับอยู่ในปัจจุบันก็ตาม และจะได้รับต่อไปในอนาคตก็ตาม แต่สัตว์ทั้งหลายนั้นก็ไม่รู้สึกตัวไม่มีความสะดุ้งกลัวต่อความทุกข์เหล่านี้ มัวหลงเพลิดเพลินอยู่ในโลกียอารมณ์ทั้ง ๖ กล่าวคือ หลงอยู่ใน ลูก หลาน สามี ภรรยาพ่อ แม่ ญาติพี่น้องบ้าง หลงอยู่ใน ลาภ ยศ ที่อยู่ เครื่องอุปโภคบริโภคต่างๆ บ้างเหมือนเช่น เป็ด ไก่ ที่เจ้าของเอามาขังไว้ในเล้า  เพื่อนำเอาไปฆ่า เป็ด ไก่เหล่านั้นหาได้รู้ตัวไม่ว่าตนจะต้องถูกฆ่า ในขณะที่ถูกขังอยู่นั้นยังคึกคะนอง ตีกัน จิกกันแย่งอาหารกันอยู่ได้ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะหลงไม่รู้ในทุกข์นั้นเอง ข้อนี้ฉันใดสัตว์ทั้งหลายที่มัวหลงเพลิดเพลินอยู่ใน โลกียอารมณ์ต่างๆ ดังกล่าวแล้ว ก็เพราะความไม่รู้ในทุกข์ต่างๆ เหล่านี้ ว่าเป็นทุกข์ ฉันนั้น

      แม้ว่าในสมัยนี้ วิทยาศาสตร์กำลังเจริญก้าวหน้าไปเพียงใดก็ตาม แต่วิธีที่จะไม่ให้เกิด แก่ เจ็บ ตาย นั้น วิทยาศาสตร์ก็ไม่สามารถกระทำให้สำเร็จได้และไม่มีหวังที่จะทำได้เลย วิธีที่จะทำให้พ้นจากการ เกิด แก่ เจ็บ ตาย นี้ มีอยู่แต่ในพระพุทธศาสนาเท่านั้น ฉะนั้น ผู้มีปัญญาทั้งหลายจึงพยายามหาทางปฏิบัติเพื่อจะให้พ้นจากทุกข์เหล่านั้น สมดังคาถาที่แสดงว่า

            ปตฺเถนฺติ มุจฺจิตุํ สนฺตา    สํสารา ภยเภรวา

            ทุชฺชนา โมทมานาว       วฏฺฏนฺติ ภวสาคเร ฯ

      สัปบุรุษผู้เห็นโทษในร่างกายแล้ว ไม่มีความยึดมั่น และมีปัญญา

      มองเห็นกาลภายหน้าเหล่านี้ มีความสะดุ้งกลัว และปรารถนาเพื่อจะพ้นจาก

      การเวียนว่ายตายเกิดอยู่ใน ๓๑ ภูมิ ไม่มีที่สิ้นสุด มีการเกิด แก่ เจ็บ ตาย

      อันเป็นภัยที่น่ากลัว

      ส่วนอสัปบุรุษผู้ไม่นึกไม่เห็นในการเกิด แก่ เจ็บ ตาย มีความหลงยึดมั่นอยู่ในกามคุณอารมณ์เหล่านี้ มีความเพลิดเพลินไปด้วยอารมณ์ต่างๆ มีรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส นึกคิด อยู่ในภพต่างๆ ที่เปรียบเหมือนท้องมหาสมุทร ย่อมเวียนว่ายตายเกิดอยู่ใน ๓๑ ภูมิ ย้ายจากภูมินี้ไปภูมินั้น เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ 

      คำอธิบายดังกล่าวมานี้ เป็นการอธิบายในความไม่รู้ในทุกข์


      ๒. ไม่รู้เหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ (ทุกฺขสมุทเย อญาณํ) คือ

         ความทุกข์ต่างๆ มีการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ความไม่สบายใจ เป็นต้นเหล่านี้ เมื่อสาวเข้าไปหาตัวต้นเหตุที่ให้เกิดทุกข์เหล่านี้แล้ว ก็จะทราบได้ว่า โลภะ คือความอยากได้ ความยินดี พอใจ ติดใจ นั้นเองเป็นตัวต้นเหตุ เพราะธรรมดาคนทั้งหลายใน โลกนี้ที่ต้องขวนขวายพยายามทำกิจการต่างๆ ทั้งฝ่ายดีฝ่ายไม่ดีนั้น ก็เพื่อแสวงหาให้ได้มาซึ่งอารมณ์ที่น่ายินดีน่าปรารถนาต่างๆ ด้วยกันทั้งสิ้น แม้จะเหนื่อยกายเหนื่อยใจสักเพียงใดก็ตาม ก็ไม่ย่อท้อถอยหลัง มุ่งหวังแต่จะให้สำเร็จในกิจที่ตนกระทำนั้นแล้วก็จะได้สิ่งที่ตนปรารถนามา สมดังงความประสงค์ แต่คนทั้งหลายก็หารู้ตัวไม่ว่าตนได้ตกอยู่ภายใต้อำนาจของโลภะที่เป็นผู้จัดแจงให้ตนต้องเหนื่อยยาก ลำบากกาย ลำบากใจ ด้วยอำนาจแห่งรูปตัณหา คือความยินดีพอใจในรูปบ้าง สัททตัณหา คือความยินดีพอใจในเสียงบ้าง คันธตัณหา คือความยินดีพอใจในกลิ่นบ้าง รสตัณหา คือความยินดีพอใจในรสบ้าง โผฏฐัพพตัณหา คือความยินดีพอใจในการสัมผัสบ้าง ธัมมตัณหา คือความยินดีพอใจในการนึกคิดบ้าง

      โลภะ คือความปรารถนา ความยินดี พอใจในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสเป็นต้น ที่ตนคิดว่าจะนำความสุขมาให้เหล่านี้และเป็นเหตุ การขวนขวายพยายามเพื่อจะให้ได้มาซึ่งสิ่งเหล่านี้ ด้วยกายบ้าง วาจาบ้าง เป็นผล และในขณะที่ขวนขวายพยายามอยู่นั้น ย่อมได้รับความเหนื่อยยาก ลำบากกาย ลำบากใจล้วนแต่เป็นความทุกข์ ซึ่งเป็นผลที่ได้รับมาจากการขวนขวายพยายามเป็นเหตุอีกทีหนึ่ง และถ้าการขวนขวายนั้นเป็นไปพอประมาณ ความทุกข์ต่างๆ ที่ได้รับนั้นก็เป็นไปพอประมาณ ถ้ามีการขวนขวายพยายามมากขึ้นเท่าไร การได้รับความทุกข์ก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น

      อนึ่ง ถ้าการขวนขวายพยายามนั้นเป็นไปในทางที่ดี เช่น พยายามทำกุศลต่างๆ มี ทาน ศีล ภาวนา เพื่อปรารถนาความสุขให้ยิ่งๆ ขึ้นไปทั้งในภพนี้และภพหน้า การทำกุศลที่มีความปรารถนาเช่นนี้ ก็นับว่าทำไปด้วยอำนาจโลภะและเป็นเหตุให้ได้รับความทุกข์เกิดขึ้น คือความเหนื่อยกายเหนื่อยใจ ในขณะที่กำลังกระทำ และเมื่อตายจากภพนี้ไปแล้วก็ต้องได้รับความทุกข์ในภพหน้าต่อไปอีกคือ การเกิด แก่ เจ็บ ตายนั้นเอง แต่ผู้ที่ได้รับความทุกข์นี้ย่อมมีความอดทน ได้โดยเห็นว่าเป็นของธรรมดา แต่รู้ไม่ถึงว่า การเกิด แก่ เจ็บ ตาย ทุกข์กายทุกข์ใจ เป็นต้น ที่ตนกำลังได้รับอยู่ และที่จะได้รับต่อไปอีกในเวลาข้างหน้านั้นเป็นผลที่เกิดมาจากโลภะเป็นเหตุ

      ถ้าการขวนขวายพยายามนั้น เป็นไปในทางที่ ไม่ดี เช่น ฆ่าสัตว์ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดปด พูดส่อเสียด พูดเพ้อเจ้อ เสพสุรา เป็นต้นเหล่านี้ เพื่อให้ได้ทรัพย์สินเงินทองมาใช้บำรุงความสุขสำราญแก่ตน การกระทำทุจริตต่างๆ ดังกล่าวนี้ ก็นับว่าทำไปด้วยอำนาจของโลภะ และเป็นเหตุให้ได้รับความทุกข์เกิดขึ้นทั้งในชาตินี้และชาติหน้า กล่าวคือ ในชาตินี้ย่อมได้รับความทุกข์กาย ทุกข์ใจอย่างหนัก ได้แก่ ถูกติเตียนดูหมิ่นจากสัปบุรุษทั้งหลายบ้างถูกเขาจับได้ก็ต้องได้รับโทษตามกฏหมายบ้านเมือง อาจจะได้รับโทษถึงถูกประหารชีวิตก็ได้ เหล่านี้ล้วนแต่เป็นทุกข์ที่ได้รับโดยประจักษ์สิทธิ ถ้าผู้นั้นตายลงก็จะต้องไปรับทุกข์หนักในภพหน้าต่อไปอีก คือไปเกิดเป็นสัตว์นรถบ้าง เป็นดิรัจฉานบ้าง เป็นเปรตบ้าง และถ้าได้ไปเกิดเป็นพวกอบายสัตว์อย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว ย่อมมีหวังน้อยที่สุดที่จะได้ไปเกิดเป็นมนุษย์หรือเทวดาได้อีกซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากลัวมาก แต่ถึงกระนั้นสัตว์ทั้งหลายก็ยังพากันหลงงมงายอยู่ภายให้อำนาจของโลภะ ไม่รู้สึกตัวว่าโลภะนี้เป็นตัวต้นเหตุที่ทำให้ได้รับความทุกข์ต่างๆอุปมาเหมือนหนึ่งปลาได้เห็นเหยื่อที่เกี่ยวอยู่ที่ปลายเบ็ด มีความรู้แต่เพียงว่าจะต้องการกินเหยื่อเท่านั้น หารู้ไม่ว่าตนจะได้รับภัยอันตรายอย่างใดไม่เมื่อฮุบเหยื่อเข้าไปแล้ว ก็ถูกเบ็ดเกี่ยวปากได้รับความทุกข์ทรมานแสนสาหัสและยิ่งกว่านั้นก็ยังถูกคนที่ตกเบ็ดนั้น นำเอาไปฆ่ากินเป็นอาหารอีกด้วย ข้อนี้ฉันใดสัตว์ทั้งหลายที่ได้รับความลำบากกาย ลำบากใจด้วยประการต่างๆ มากบ้างน้อยบ้าง ที่เนื่องมาจากการขวนขวายแสวงหาความสุขให้แก่ตนด้วยอำนาจของโลภะนั้นก็เช่นเดียวกัน

      อนึ่งสัตว์ทั้งหลายแม้จะเวียนตายเวียนเกิดอยู่นับภพนับชาติไม่ถ้วนก็ตาม แต่สัตว์เหล่านั้นก็หาได้มีความเบื่อหน่ายแม้แต่น้อย ยังยินดีพอใจในภพในชาติของตนอยู่ด้วยกันทั้งสิ้น อย่าว่าแต่จะได้เกิดเป็นมนุษย์ เทวดา พรหมเลย แม้จะได้เกิดเป็นพวกสัตว์ดิรัจฉานจนกระทั่งหนอนที่อยู่ในอุจจาระก็ตาม ก็ยังยินดีในสภาพความเป็นอยู่ของตนเช่นเดียวกัน ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะสัตว์ทั้งหลายที่อยู่ในโลกนี้มีตัณหาเป็นเพื่อนสนิทคอยบำรุงบำเรออยู่นั้นเอง จึงทำให้สัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นไม่เบื่อหน่ายต่อการเกิดอยู่ในภพต่างๆ ซึ่งเป็นมูลรากแห่งกองทุกข์ทั้งปวงซ้ำมองไม่เห็นว่ากองทุกข์ต่างๆ ที่ตนได้ประสบอยู่นี้ ก็เนื่องมาจากตัณหานั้นแหละเป็นตัวต้นเหตุ เหมือนหนึ่งสุนัขที่เพลิดเพลินอยู่กับกระดูกวัวที่ไม่มีเนื้อโดยอาศัยน้ำลายของตนเองฉันใด สัตว์ทั้งหลายที่กำลังเสวยกามคุณอารมณ์ และอดทนต่อทุกข์ต่างๆ ที่ตนประสบอยู่ได้โดยไม่มีความเบื่อหน่ายนั้น ก็เพราะอำนาจแห่งตัณหาที่มีอยู่ในขันธสันคานของตนนั้นเอง ส่วนสิ่งต่างๆ ที่เป็นเครื่องก่อให้เกิดความยินดีติดใจนั้น เป็นเพียงอารมณ์ที่เป็นส่วนประกอบให้ตัณหาเกิดขึ้นและเจริญงอกงามขึ้นเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ สมเด็จพระพุทธองค์จึงทรงกล่าวว่าตัณหานี้แหละเป็นผู้ฉุดชักสัตว์ทั้งหลายไว้ ไม่ให้ออกไปพ้นสังสารวัฏได้ ดังที่พระองค์ทรงแสดงว่า

            ตณฺหาทุติโย ปุริโส        ทีฆมทฺธาน สํสรํ

            อิตฺถภาวญฺญถาภาวํ      สํสารํ นาติวตฺตติ ฯ

      ผู้มีตัณหาเป็นเพื่อน ย่อมท่องเที่ยวไปสู่ภพอื่นๆ จากความเป็นอยู่ในภพนั้นๆ

      ไปยังภพนั้นๆ แล้วไม่สามารถก้าวพ้นไปจากสังสารวัฏอันยืนยาวนาน เพราะความ

      เป็นผู้มีตัณหาเป็นเพื่อน

      สำหรับผู้ที่พ้นจากโลภะได้แล้วก็ดี หรือผู้ที่กระทำการงานต่างๆ ที่ไม่ได้เป็นไปด้วยอำนาจของโลภะก็ดี ย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวง หรือถ้ายังไม่พ้น ก็เพียงแต่ได้ประสบกับความทุกข์ที่เป็นไปโดยธรรมดา คือ เกิด แก่ เจ็บ ตาย เท่านั้นและในไม่ช้าก็สามารถที่จะพ้นจากทุกข์เหล่านี้ไปได้ ด้วยเหตุนี้สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ทรงเทศนาไว้ว่า

            ตณฺหาย ชายเต โสโก       ตณฺหาย ชายเต ภยํ

            ตณฺหาย วิปฺปมุตฺตสฺส        นตฺถิ โสโก กุโต ภยํ ฯ

      ความเศร้าโศกย่อมเกิดขึ้น เพราะตัณหาเป็นเหตุ ภัยต่างๆ ก็ย่อมเกิดขึ้น

      เพราะตัณหาเป็นเหตุ ความเศร้าโศกย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้พ้นแล้วจากตัณหา

      เมื่อความโศกไม่มีแล้วภัยต่างๆ จักมีมาแต่ไหน ย่อมไม่มีแน่นอน

      ดำอธิบายดังกล่าวมานี้ เป็นการอธิบายในความไม่รู้เหตุที่ทำให้เกิดทุกข์


      ๓. ไม่รู้ธรรมอันเป็นที่ดับแห่งทุกข์ (ทุกฺขนิโรเธ อญาณํ) คือ 

         ความเป็นอยู่ของสัตว์ทั้งหลายที่เวียนว่ายตายเกิดอยู่ใน ๓๑ ภูมิเหล่านี้ล้วนแต่ตกอยู่ในกองทุกข์ ไม่ว่าผู้นั้นจะได้เกิดเป็นคนชั้นต่ำ ชั้นสูง หรือเกิดในทุคติภูมิสุคติภูมิก็ตาม ก็ต้องได้ประสบกับทุกข์ต่างๆ มีเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นต้นด้วยเหตุนี้สมเด็จพระพุทธองค์ จึงไม่ทรงชมเชยสนับสนุนในการที่เวไนยสัตว์ทั้งหลาย เกิด แก่ เจ็บ ตาย อยู่ในภูมิต่างๆ จะเป็นภูมิต่ำ ภูมิสูง หรือบุคคลชั้นต่ำ ชั้นสูงก็ตาม มีแต่ทรงชี้แนะแนวทางให้สัตว์ทั้งหลายได้พ้นไปจากภูมิต่างๆ ด้วยกันทั้งสิ้น

      อุจจาระเป็นสิ่งที่น่าเกลียดแก่คนทั้งหลายทั่วไป ไม่ว่าอุจจาระนั้นจะเกิดจากอาหารที่ดีมีราคา เช่น นม เนย หมู เป็ด ไก่ เป็นต้น หรือจะเกิดจากอาหารที่เลวราคาต่ำ เช่น ปูเค็ม ปลาเค็ม เป็นต้นก็ตาม ก็เป็นสิ่งที่น่าเกลียดทั้งนั้นไม่มีใครยกช่องชมเชยว่าดีเลย สัตว์ทั้งหลายที่เกิดอยู่ในภูมิต่างๆ ก็เช่นเดียวกันบัณฑิตทั้งหลายมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นต้น ไม่ได้ยกย่องสนับสนุนว่าดีเพราะต้องตกอยู่ในกองทุกข์ต่างๆ ดังกล่าวแล้วนั้นเอง

      สิ่งที่บัณฑิตทั้งหลายมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นต้น ยกย่องว่าเป็นของประเสริฐก็มีแต่พระนิพพานอย่างเดียวเท่านั้น เพราะพระนิพพานนี้มีสภาพเป็นสันติสุข คือความสุขที่สงบจากรูปนามขันธ์ ๕ ไม่เกี่ยวกับการเห็น การได้ยินการได้กลิ่น การรู้รส การถูกต้อง การคิดนึก ทั้งปวง คำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เป็นปีฏกทั้ง ๓ ซึ่งมีพระธรรมขันธ์แปดหมื่นสี่พัน นั้น จุดหมายปลายทางที่พระองค์ต้องประสงค์ก็คือ วิมุตติรส อันได้แก่พระนิพพานอย่างเดียวด้วยเหตุนี้พระองค์จึงทรงพรรณนาสรรเสริญพระนิพพานไว้มากมาย อังปรากฎมีอยู่ว่า

      "นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ"

      พระนิพพานมีความสุขอย่างยอดยิ่ง

      "นตฺถิ สนฺติ ปรํ สุขํ"

      ความสุขที่ประเสริฐยิ่งกว่าพระนิพพานย่อมไม่มี

      "นิพฺพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทฺธา"

      พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ทรงกล่าวว่า"พระนิพพานเป็นธรรมอันประเสริฐ"

      แม้ว่าพระองค์จะได้ทรงประกาศคุณงามความดีของพระนิพพานอยู่เสมอ ไม่ว่าจะทรงแสดงธรรมเทศนาเรื่องใด และในสถานที่ใด พระองค์ทรงยกพระนิพพานขึ้นแสดงในตอนท้ายทุกๆ ครั้งไปก็ตาม แต่ชนทั้งหลายที่พยายามปฏิบัติตามความประสงค์ของพระองค์นั้น หาได้ยากมาก ส่วนบุคคลที่มีการประพฤติปฏิบัติที่ทำให้ตนวนเวียนอยู่ในภพในชาติ พร้อมทั้งตนเองก็ยินดีด้วยมากมีเป็นจำนวนมากเหมือนหนึ่งทรายที่อยู่ในทะเล เมื่อเอามือตักทรายนั้นขึ้นมากำมือหนึ่ง จำนวนทรายที่อยู่ในกำมือนั้น เปรียบเหมือนผู้ที่ปฏิบัติตนเพื่อให้เข้าถึงพระนิพพาน จำนวนทรายที่ในทะเลนั้นเปรียบเหมือนผู้ที่ยังมีความยินดีวนเวียนอยู่ในภพต่างๆ ดังนั้นสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงแสดงว่า

            อปฺปกา เต มนุสฺเสสุ     เย ชนา ปารคามิโน

            อถายํ อิตรา ปชา        ตีรเมวานุธาวติ ฯ

      บรรดาชนทั้งหลาย ชนใดที่เป็นผู้ถึงฝั่ง คือพระนิพพานนั้นมีจำนวนน้อย

      ส่วนหมู่ชนที่นอกจากนั้น ย่อมลัดเลาะอยู่แต่ฝั่งข้างนี้ คือวนเวียนอยู่ในสังสารวัฏ

      อันเกี่ยวเนื่องกับสักกายทิฏฐิ

      อีกประการหนึ่ง เปรียบเหมือนนกแร้ง ตามธรรมคานกแร้งนั้น ถ้าจะมีคนไปป่าวร้องว่า ที่ฝั่งข้างโน้นมีอาหารที่ โอชารส มีกลิ่นหอมต่างๆ ขอให้พวกท่านทั้งหลายจงพากันไปกินให้เป็นที่สำราญเถิด พวกนกแร้งได้ฟังข่าวชนิดนี้แล้ว จะไม่มีนกแร้งตัวหนึ่งตัวใดมีความยินดีเลย แต่ถ้ามีคนไปบอกว่าที่โน่นมีสุนัขตาย หรือวัวควายตายส่งกลิ่นเหม็นเน่าอยู่หลายตัว ขอให้พากันไปกินให้อิ่มเถิด ข่าวเช่นนี้พวกนกแร้งจะมีความดีใจ รีบพากันไป ณ ที่นั้นทันที ข้อนี้เปรียบเหมือนบัณฑิตทั้งหลาย มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นต้น ได้พยายามพร่ำชี้แจงสั่งสอนแก่ชนทั้งหลายให้แลเห็นโทษของการเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏอันล้วนแต่ตกอยู่ในกองทุกข์ทั้งสิ้น และได้แนะแนวทางที่จะให้พ้นจากกองทุกข์เหล่านี้ ให้ชนทั้งหลายได้ประพฤติปฏิบัติตาม แต่ชนทั้งหลายที่มีความเลื่อมใสสนใจต่อคำแนะนำสั่งสอนที่เป็นสาระนี้ได้ยาก แต่ถ้ามีผู้ไปพรรณนาสรรเสริญถึงความสุขต่างๆ ที่เป็นไปอยู่ในโลกแล้ว ชนพวกนั้นก็จะเกิดความรู้สึกยินดีตื่นเต้นมาก จะแนะนำให้ทำอย่างใดก็พากันทำตามทั้งสิ้น เพื่อมุ่งหวังความสุขที่เป็นอยู่ทั่วๆ ไปในโลก ซึ่งเป็นของที่หาได้ไม่ยาก และหาสาระมิได้ด้วยเหตุนี้แหละ ผู้นั้นย่อมไม่ได้รับความสุขที่ประเสริฐคือพระนิพพาน หมายความว่าผู้นั้นไม่มีวันที่จะพ้นไปจาก เกิด แก่ เจ็บ ตาย จะต้องวนเวียนอยู่ในสังสารวัฏเรื่อยไป สมดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงไว้ว่า

            อสาเร สารมติโน        สาเร จาสารทสฺสิโน

            เต สารํ นาธิคจฺฉนฺติ     มิจฺฉาสงฺกปฺปโคจรา ฯ

      ชนเหล่าใด มีความเห็นยึดมั่นในสิ่งที่ไม่เป็นสาระว่าเป็นสาระ และใน

      สิ่งที่เป็นสาระว่าไม่เป็นสาระ ชนเหล่านั้นเป็นผู้มีควาดำริผิด สนใจในอารมณ์ที่

      ผิดย่อมเป็นผู้ไม่ได้ ศีลคุณ สมาธิคุณ ปัญญาคุณ อันเป็นสาระที่สามารถนำให้

      เข้าสู่พระนิพพาน

      ความสุขในพระนิพพาน ที่เรียกว่า สันติสุข กับความสุขในโลกที่เรียกว่า เวทยิตสุข นั้น มีสภาพตรงกันข้าม กล่าวคือ ความสงบจาก รูป นามขันธ์ ๕ นั้นเอง ชื่อว่า สันติสุข ส่วนเวทยิตสุขนั้นเป็นความสุขที่เกี่ยวกับการเสวยอารมณ์ มีรูป เสียง กลิ่น รส เป็นต้น ซึ่งความสุขประเภทนี้ มนุษย์ทั้งหลายที่ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่และเทวดา พรหม ตลอดจนอบายสัตว์ย่อมพึงพอใจเห็นประโยชน์และมีความปรารถนาด้วยกันทั้งสิ้น สำหรับสันติสุขนั้น สัตว์ทั้งหลายมองไม่เห็นประโยชน์ ไม่มีความสนใจ แม้พุทธมามกชนบางพวกที่ปรารถนาพระนิพพาน ก็มักจะเป็นไปเพียงแต่วาจา ส่วนจิตใจไม่ได้น้อมเข้าถึงพระนิพพานอย่างแท้จริง โดยมากเข้าใจกันว่า พระนิพพานนั้นเป็นสถานที่แห่งหนึ่งที่นอกไปจากโลกเรานี้ ในสถานที่นั้นบริบูรณ์ด้วยความสุขนานาประการหาความทุกข์มิได้ ผู้ที่ได้ไปสู่พระนิพพานนี้ก็หมายถึงว่า เมื่อตายไปจากโลกนี้แล้วก็ไปเกิดอยู่ ณ ที่นั้น และไม่มีการแก่ เจ็บ ตาย ไม่มีความเศร้าโศกต่าง ๆ ล้วนแล้วไปด้วยความสุข หรือบางพวกก็เข้าใจว่า ผู้ที่ไปเกิดในพระนิพพานนั้นไม่มีร่างกายตัวตน มีแต่ความรู้สึกอย่างเดียวเท่านั้น และความรู้สึกที่มีอยู่นี้ก็อิ่มเอิบไปด้วยความสุข ไม่มีความทุกข์เข้าเจือปน

      แต่ถ้าผู้ที่ปรารถนาพระนิพพาน โดยอาศัยความเข้าใจในพระนิพพาน ดังกล่าวมาแล้วนี้เป็นเหตุนั้น ได้มีการศึกษาอย่างถูกต้องและเกิดความเข้าใจอย่างถูกต้องขึ้นแล้วว่า ผู้ที่ได้เข้าถึงพระนิพพานอันได้แก่ พระอรหันต์ทั้งหลาย เมื่อเวลาที่ละจากโลกนี้ไปแล้ว รูปนาม ขันธ์ ๕ ของพระอรหันต์เหล่านั้น ย่อมดับสูญสิ้นไม่มีเหลือ ความรู้สึกต่างๆ ก็ไม่มีเช่นนี้แล้ว ผู้นั้นอาจเกิดความลังเลใจได้ว่า การเข้าถึงพระนิพพานนั้นจะมีความสุขอย่างยอดยิ่งได้อย่างไร ในเมื่อไม่มีอะไรเหลืออยู่เลย ด้วยเหตุนี้ บัณฑิตทั้งหลายผู้เห็นภัยทั้ง ๔ ที่มีอยู่ในสังสารวัฏโดยอาศัยการเกิด การตายเท่านั้น ที่จะสมัครใจเข้าสู่พระนิพพานอย่างแท้จริงบุคคลนอกจากนั้นแล้ว ยังไม่เต็มใจที่จะไปสู่พระนิพพาน ด้วยเห็นว่าไม่มีความสุข ดังนั้น พระพุทธองค์จึงได้ทรงเทศนาไว้ว่า

            สเทวกสฺส โลกสฺส       เอเต โว สุขสมฺมตา

            ยตฺถ เจเต นิรุชฺฌนฺติ    ตํ เตสํ ทุกฺขสมฺมติ ฯ

      สัตว์ทั่วโลกทั้งหลายพร้อมด้วยเทวดา สมมติกันว่า โลกียอารมณ์ต่างๆ มีรูป เสียง กลิ่น รส เป็นต้นเหล่านี้ดี และมีความสุข ธรรมอันใดคือ พระนิพพานที่โลกียอารมณ์ต่างๆ มีรูป เสียง กลิ่น รส เป็นต้นเหล่านั้น ดับสูญสิ้นหมดแล้ว สัตว์ทั่วโลกทั้งหลายพร้อมด้วยเทวดานั้น สมมติกันว่า ธรรมอันนั้น คือพระนิพพานเป็นธรรมที่ไม่ดี เป็นทุกข์


ภัยทั้ง ๔ นั้นคือ

      ๑) นานาสัตถอุลโลกนภัย คือ ยังไม่พ้นจากการเคารพนับถือศาสดาต่างๆ หมายความว่า ในภพนี้ เคารพนับถือพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็จริง แต่ในภพต่อๆ ไปไม่นับถือศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เปลี่ยนไปนับถือศาสนาอื่นๆ ตลอดจนนับถือ เทวดา พรหม ผี เหล่านี้ เป็นต้น นี้ก็เป็นสิ่งที่น่ากลัวอย่างหนึ่ง

      ๒) วินิปาตภัย คือ การไปเกิดในที่ๆ ไม่แน่นอน หมายความว่า เมื่อตายไปจากโลกนี้ไปแล้ว จะไปเกิดที่ไหนก็รู้ไม่ได้ จะไปเกิดเป็นมนุษย์ เทวดา พรหม หรือจะไปเกิดเป็นพวกสัตว์นรก สัตว์ดิรัจฉาน เปรต ผี ก็รู้ไม่ได้ทั้งสิ้นต้องแล้วแต่กรรมของตนที่ทำไว้ หรือในชาตินี้เกิดเป็นคนรวย สวย ฉลาด ตระกูลสูง มีสติสัมปชัญญะดี มีอวัยวะครบถ้วน มีสุขภาพดี ต่อไปชาติหน้า อาจจะไปเกิดเป็นคนยากจน ไม่สวย โง่ ตระกูลต่ำ มีสติฟั่นเฟือน มีอวัยวะขาคตกบกพร่องเป็นคนอ่อนแอ ขี้โรค เหล่านี้เป็นต้นก็ได้ นี้ก็เป็นสิ่งที่น่ากลัวอย่างหนึ่ง

      ๓) อปายภัย คือ ยังไม่พ้นจากการไปเกิดในอบายภูมิ หมายความว่าในชาตินี้ได้ไปเกิดเป็นมนุษข์หรือเทวดา ชาติหน้าอาจไปเกิดในอบายภูมิ เป็นพวกสัตว์นรก สัตว์คิรัจฉาน ผี เปรต อสุรกาย ก็ได้ พวกที่ไปเกิดเป็นพรหมอยู่แล้วนั้น ก็ไม่แน่นอนว่าจะไม่ไปเกิดในอบาย เพราะยังเป็นปุถุชนอยู่ แม้ว่าในชาติที่จะไม่ไปเกิดในอุบาย แต่ชาติที่ ๒ เป็นต้น ก็อาจไปเกิดได้ นี้ก็เป็นสิ่งที่น่ากลัวอย่างหนึ่ง

      ๔) ทุจริตภัย คือ ยังไม่พ้นจากการกระทำอันเป็นทุจริตต่างๆ หมายความว่า ในชาตินี้ไม่ได้ทำทุจริต คือไม่ชอบฆ่าสัตว์ เบียดเบียนสัตว์ ไม่เป็นโจรผู้ร้ายไม่เป็นคนพูดจาเหลวไหล ไม่เป็นคนเสพสุรายาเมา ไม่เป็นคนมีความเห็นผิดแต่ชาติหน้าต่อๆ  ไป อาจเกิดเป็นคนที่มีความยินดีพอใจในการกระทำทุจริต คือชอบฆ่าสัตว์ เป็นโจรผู้ร้าย เป็นคนพูดจาเหลวไหล ชอบเสพสุรา มีความเห็นผิดเหล่านี้ก็ได้ นี้ก็เป็นสิ่งที่น่ากลัวอย่างหนึ่ง

      คำอธิบายดังกล่าวมานี้ เป็นการอธิบายในความรู้ในธรรมอันเป็นที่ดับแห่งทุกข์


      ๔. ไม่รู้ทางที่ให้เข้าถึงความดับทุกข์ (ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาย อญาณ) คือ

         ตามธรรมดาคนทั้งหลายในโลกนี้ไม่มีผู้ใดเลยที่อยากประสบความทุกข์และผู้ที่ได้ประสบกับความทุกข์เข้าแล้ว ก็พยายามดิ้นรนหาทางที่จะให้พ้นความทุกข์นั้นๆ ด้วยอาศัยเหตุนี้แหละ ต่างคนก็พยายามประพฤติปฏิบัติกันโดยประการต่างๆ ทั้งในโลกและทางธรรม เพื่อมุ่งหวังความสุข และให้พ้นจากความทุกข์นั้นเอง


ความทุกข์นี้จัดออกเป็น ๒ อย่างคือ

      ๑. ทุกข์สามัญ ได้แก่ การเกิด แก่ เจ็บ ตาย ของสัตว์ทั้งหลายทั่วโลกที่เป็นไปตามธรรมดา ไม่มีผู้ใดหลีกเลี่ยงได้

      ๒. ทุกข์พิเศษ ได้แก่ ความทุกข์ที่เกิดขึ้นโดยอาศัยพยสนะ ๕ อย่างคือ

            - ญาติพยสนะ การสูญเสียญาติมิตร

            - โภคพยสนะ การสูญเสียทรัพย์สินเงินทอง ยศ บริวาร

            - โรคพยสนะ มีโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน

            - สีลพยสนะ ความวิบัติแห่งศีล

            - ทิฏฐิพยสนะ มีความเห็นผิดจากความเป็นจริง

      และความทุกข์ที่เกิดขึ้นโดยประสบกับอัคคีภัยบ้าง โจรภัยบ้าง ราชภัยบ้าง อสัปปุริสภัยบ้าง ความอดอยากขาดแคลนในเรื่องอาหาร ที่อาศัยบ้าง เหล่านี้เป็นต้นการปฏิบัติที่คนทั้งหลายกระทำเพื่อหวังจะให้พ้นจากทุกข์เหล่านี้ ก็มีอยู่ ๒ อย่างคือ

      ๑. การปฏิบัติในทางโลก ได้แก่ การพยายามประกอบอาชีพต่างๆ เช่นทำนา ทำสวน ค้าขาย รับจ้าง ทำราชการ และบางคนก็ประกอบอาชีพที่เป็นไปในทางทุจริต เช่น ลักทรัพย์ ทำการประมง ล่อลวงเป็นต้น และบางพวกเมื่อได้ประสบกับความทุกข์กายทุกข์ใจแล้ว ก็ไปหาหมอยา หมอดู เพื่อปัดเป่าให้พ้นทุกข์เหล่านี้ไปบ้าง ดังนี้เป็นต้น

      ๒. การปฏิบัติในทางธรรม ได้แก่ การบำเพ็ญทานบ้าง รักษาศีลบ้างทำสมถะบ้าง ปฏิบัติโดยอัตตกิลมถานุโยค คือ ทรมานร่างกายด้วยประการต่างๆปฏิบัติเหมือนโค เหมือนสุนัขบ้าง ปฏิบัติโดยกามสุขัลลิกานฺโยด คือ บำรุงบำเรอตนให้ได้รับความสุขต่างๆ ตามความพอใจของตน ไม่ให้มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดมาขัดขวางได้บ้าง

      การปฏิบัติดังกล่าวมานี้ การปฏิบัติในทางโลกที่ไม่เกี่ยวกับทุจริตเหล่านั้นย่อมทำให้พ้นจากความทุกข์ไปได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น การปฏิบัติที่เกี่ยวกับทุจริตนั้นในระหว่างที่การกระทำนั้นยังไม่ส่งผล ก็รู้สึกคล้ายกับว่ามีความสุข แต่เมื่อการกระทำนั้นส่งผลแล้ว ผู้นั้นย่อมได้รับความทุกข์เพิ่มขึ้นอีกมากมาย สมดังที่พระบรมศาสดาทรงแสดงไว้ว่า

            มธูว มญฺญตี พาโล      ยาว ปาปํ น ปจฺจติ

            ยทา จ ปจฺจตี ปาปํ      อถ ทุกฺขํ นิคจฺฉติ (อถ พาโล ทุกฺขํ นิคจฺฉติ) (ขุ. ๒๕/ข้อ ๑๕)

      ตลอดเวลาใดที่การกระทำบาปนั้นยังไม่ส่งผล ในระหว่างนั้นคนพาลย่อมเข้าใจในการทำบาปของตนนั้นเหมือนน้ำผึ้ง คือความชอบใจ ยินดีในการกระทำนั้น แต่เมื่อเวลาใดที่การกระทำบาปของตนนั้นส่งผลแล้ว ในเวลานั้นคนพาลเหล่านั้นย่อมได้ประสบความลำบากอย่างใหญ่หลวง

      ส่วนการปฏิบัติในทางธรรม ที่เกี่ยวกับ ทาน ศีล สมถภาวนา ย่อมพ้นจากความทุกข์ได้ในชั่วขณะบ้าง หรือพ้นไปได้ตลอดวัน เดือน ปี บ้าง หรือพ้นไปได้ ๑ ภพ ๒ ภพ ๓ ภพ บ้าง หาใช่พ้นไปโดยเด็ดขาดไม่ และทุกข์ที่พ้นไปได้ชั่วคราวนี้ก็พ้นได้เฉพาะแต่ทุกข์พิเศษ กับทุกข์ที่เกี่ยวกับ แก่ และ เจ็บเท่านั้น สำหรับทุกข์ที่เกี่ยวกับ เกิด ตาย นั้นย่อมพ้นไปไม่ได้ผู้ที่ปฏิบัติอัตตกิลมถานุโยค โดยหวังว่า เมื่อชำระกิเลสให้หมดสิ้นไปแล้วในชาติหน้าจะต้องได้รับความสุขเสวยทิพยสมบัติในเทวโลก พ้นจากความทุกข์ต่างๆ ที่คนทั้งหลายได้ประสบอยู่ ความหวังของบุคคลพวกนี้ต้องผิดหวัง เพราะไม่แต่จะได้รับความทุกข์ที่เกิดจากการทรมานร่างกายในภพนี้เท่านั้น เมื่อตายจากภพนี้ไปแล้วย่อมจะต้องได้รับความทุกข์หนักยิ่งขึ้นไปอีกในนิรยภูมิอย่างแน่นอนเพราะอาศัยความเห็นผิดของตนนั้นเอง

      ผู้ที่ปฏิบัติกามสุขัลลิกานุโยค โดยเข้าใจว่า ชีวิตความเป็นไปของคนเรานี้ถ้ามีสิ่งหนึ่งสิ่งใดมาเป็นอุปสรรคขัดขวางต่อการแสวงหาความสุขความเพลิดเพลินต่างๆ ตามที่ตนพอใจแล้ว ย่อมจะทำให้เกิดความเศร้าหมองในจิตใจไม่พ้นจากความทุกข์ไปได้ ฉะนั้น จึงต้องพยายามหาวิธีต่างๆ ที่จะนำความสนุกสนานเพลิดเพลินมาให้แก่ตน เพื่อมิให้เกิดความโทมนัสเศร้าหมองเมื่อจิตใจสบายแล้วในชาตินี้กี่พ้นจากความทุกข์กายทุกข์ใจ ชาติหน้าก็จะได้ไปรับความสุขในมนุษยโลกหรือเทวโลกต่อไปอีก เมื่อมีความเข้าใจเช่นนี้ก็พยายามแสวงหาวัตถุกามต่างๆ มาบำเรอแก่ตนตามความพอใจ การปฏิบัติเช่นนี้ บางคนก็ได้รับความสำเร็จ คือ มีความเพลิคเพลินใจอยู่ในกามคุณอารมณ์ต่างๆ ตลอดชาตินี้ ไม่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดมาเป็นอุปสรรถขัดขวางได้ แต่บางคนก็ทำไปไม่ได้ตลอด โดยมีผู้อื่นมาขัดขวางบ้าง เกี่ยวกับทรัพย์สินเงินทองบ้าง เกี่ยวกับโรคภัยมาเบียดเบียนบ้าง เหล่านี้ ทำให้จิตใจของผู้นั้นกลับมีความเดือดร้อนขึ้นอีกผลสุดท้ายเมื่อหาหนทางแก้ไขไม่ได้ ก็อาจถึงทำลายชีวิตของตนหรือผู้ที่มาขัดขวางนั้นเสียก็ได้ แต่อย่างไรก็ดี การปฏิบัติตนชนิดกามสุขัลลิกานฺโยคนี้จะกระทำสำเร็จไปได้ตลอดหรือไม่ตลอดก็ตาม ผลสุดท้ายเมื่อตายจากภพนี้ไปแล้วก็ต้องไปได้รับความทุกข์ในอบายภูมิ โดยอาศัยความโลภ ความหลง ความเห็นผิดนั้นเอง

      สรุปความว่า การปฏิบัติเพื่อมุ่งหวังจะให้พ้นทุกข์ที่เป็นไปในทางโลกและการปฏิบัติชนิดอัตตกิลมถานุโยค กามสุขัลลิกานุโยค เหล่านี้เป็นการปฏิบัติของพวกอันธปุถุชนเป็นส่วนมาก ส่วนการปฏิบัติชนิดบำเพ็ญ ทาน ศีล สมถภาวนาเหล่านี้เป็นการปฏิบัติของพวกกัลยาณปุถุชนเป็นส่วนมาก แต่การปฏิบัติเหล่านี้ก็ยังไม่ใช่เป็นหนทางที่จะชำระกิเลสให้หมดสิ้น แล้วให้เข้าถึงความดับทุกข์โดยแท้จริงได้ และที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า บุคคลเหล่านี้ไม่เข้าใจในการปฏิบัติที่เป็นหนทางให้เข้าถึงความดับทุกข์โดยเด็ดขาดนั้นเอง

      ข้อปฏิบัติที่เป็นหนทางให้เข้าถึงความดับทุกข์ได้นั้น ก็คือการเจริญองค์มรรค ๘ ที่เกี่ยวกับสติปัฏฐานทั้ง ๔ เท่านั้น การปฏิบัติที่นอกจากนี้แล้ว ไม่ว่าการปฏิบัตินั้นจะกระทำไปอย่างพิสดารลำบากยากเข็ญ หรือละเอียดประณีต อย่างไรก็ตาม หรือจะใช้เวลาปฏิบัตินานเพียงไรก็ตาม ก็ไม่ใช่เป็นหนทางที่จะชำระกิเลสให้หมดสิ้นไป แล้วเข้าถึงความดับทุกข์ทั้งปวงได้ หมายความว่า ขึ้นชื่อว่ามีการปฏิบัติและมีความพากเพียรต่อการปฏิบัตินั้นแล้ว ก็อย่าพึงเชื่อว่าการปฏิบัติของตนนั้นจะเป็นหนทางที่ ถูกต้องเสมอไป ด้วยเหตุนี้ ท่านพระมหาพุทธโฆษาจารย์ จึงแสดงไว้ในวิสุทธิมรรคอรรถกถาว่า

            ยถาภูตํ อชานนฺตา      สุทฺธิกามาปี เย อิธ

            วิสุทฺธึ นาธิคจฺฉนฺติ      วายมนฺตาปิ โยคิโน ฯ

      พระโยคี คือ ผู้ประกอบด้วยความพยายามในการเจริญภาวนาทั้งหลายเหล่าใด แม้มีความประสงค์ความบริสุทธิ์ในศาสนาแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและมีความพยายามปฏิบัติ แต่ไม่เข้าใจในแนวทางที่ถูกต้องตามความเป็นจริง พระโยคีเหล่านั้น ย่อมไม่อาจสำเร็จเข้าถึงความบริสุทธิ์ได้

      แต่อย่างไรก็ตาม บุคคลทั้งหลายที่พากันปฏิบัติตามลัทธิของตนๆ ต่างก็มีจุดประสงค์ที่จะให้เข้าถึงความดับทุกข์ด้วยกันทั้งสิ้น แต่ความทุกข์ต่างๆ นั้นก็หาได้หมดสิ้นลงไปตามความประสงค์ไม่ กลับยิ่งหนักขึ้น หรือมิฉะนั้นก็มีการเกิด แก่ เจ็บ ตาย อยู่ในสังสารวัฏ ยืดยาวโดยไม่มีที่สิ้นสุด ทั้งนี้ก็เพราะว่าบุคคลบางพวกในลัทธิพุทธศาสนา ที่ไม่ได้มีความปรารถนาสัมมาสัมโพธิญาณ ปัจเจกโพธิญาณ อัครสาวกโพธิญาณ มหาสาวกโพธิญาณแต่อย่างใด ปรารถนาให้พ้นทุกข์เข้าถึงพระนิพพานโดยตรงรวดเดียว ดังกล่าวคำปรารถนาว่า "อิทํ เม ปุญณํ อาสวกฺขยวหํ โหตุ" แต่ผู้นั้นก็ยังมีความพอใจปฏิบัติเพียงแค่ ทาน ศีล สมถภาวนา ไม่ได้ปฏิบัติให้เข้าถึงองค์มรรคในแนวทางสติปัฏฐานทั้ง ๔ ฉะนั้น การปฏิบัติเช่นนี้ก็ยังนับว่ายังเป็นไปด้วยอำนาจโลภะอยู่ ด้วยเหตุนี้ผู้ปฏิบัติเหล่านี้จึงยังต้อง เกิด แก่ เจ็บ ตาย อยู่ในวัฏฏสงสารอีกยาวนาน ตรงกันข้ามกับความประสงค์ของตนผู้ที่ปฏิบัติอัตตกิลมถานุโยคนั้น ทำการปฏิบัติที่เป็นไปด้วยอำนาจทิฏฐิและโมหะ ฉะนั้น จึงส่งผลให้ไปเกิดในนิรยภูมิ แต่ผู้ที่ปฏิบัตินั้นก็ยังหารู้สึกตัวไม่ว่า การปฏิบัติเช่นนี้ไม่ใช่เป็นหนทางที่จะชำระกิเลสเข้าถึงความดับทุกข์ส่วนผู้ที่ปฏิบัติชนิดกามสุขัลลิกานฺโยคนั้น ไม่ใช่แต่ผู้ที่ถือลัทธิอื่นๆจะปฏิบัติเช่นนี้ แม้ที่ถือลัทธิพุทธก็มีปฏิบัติกัน เช่นผู้ที่ไม่เห็นประโยชน์ในการบำเพ็ญทาน ศีล ภาวนา มีความเห็นว่า ความสุขที่เกี่ยวกับพระนิพพานนั้นไม่มีโดยเฉพาะ ที่แท้ก็คือในระหว่างที่ขังมีชีวิตอยู่นี้ เรามีความประสงค์อย่างไรพอใจอย่างไร ก็ปฏิบัติไปตามความพอใจของตน อย่างเช่น อยากจะดูอะไรก็ดูอยากจะฟังอะไรก็ฟัง อยากจะกินอะไรก็กิน อยากจะนอนก็นอน อยากจะไปไหนก็ไป อยากจะทำอะไรก็ทำ อยากจะพูดอะไรก็พูดเป็นต้น ใครจะว่าอย่างไรก็ช่าง การปฏิบัติตนอย่างนี้แหละ เรียกว่า ปฏิบัติให้พ้นจากทุกข์ ได้รับความสุขฉะนั้น การปฏิบัติเช่นนี้จึงเป็นไปด้วยอำนาจ โลภะ ทิฏฐิ โมหะ ย่อมส่งผลให้ผู้นั้นไปบังเกิดในอบายภูมิใดภูมิหนึ่ง และผู้นั้นก็ไม่มีความรู้สึกตัวว่าการปฏิบัติเช่นนี้ไม่ใช่เป็นหนทางที่จะชำระกิเลสให้เข้าถึงความดับทุกข์

      คำอธิบายดังกล่าวมานี้ เป็นการอธิบายในความไม่รู้หนทางที่ให้เข้าถึงความดับทุกข์


      ๕. ความไม่รู้ในขันธ์ อายตนะ ธาตุ ที่เป็นอดีต (ปุพุพนฺเต อญาณํ) คือ

         คำว่า ขันธ์ อายตนะ ธาตุ ที่เป็นอดีตนั้น กล่าวโดยธรรมาธิฏฐานเมื่อว่าโดยปุคคลาธิฏฐานแล้ว ก็ได้แก่สัตว์ทั้งหลายที่เคยเกิด และตายไปแล้วนั้นเอง ฉะนั้น ในข้อที่ว่า "ปพฺพนฺเต อญาณํ" นี้ ก็หมายถึงไม่รู้ว่า ตัวเองก็ดี หรือคนอื่นก็ดี เคยเกิดเป็นมนุษย์บ้าง เทวดาบ้าง พรหมบ้าง อบายสัตว์บ้างนั้นเอง แต่สำหรับในชาติต่อไปนั้น รู้ว่าจะต้องเกิดอีก ดังเช่นผู้ที่มีความเห็นว่าสัตว์ทั้งหลายมีพระเจ้าเป็นผู้สร้าง ฉะนั้น เมื่อสัตว์เหล่านี้ตายลงแล้ว ก็ได้ไปเกิตามคำสั่งของพระเจ้าอีก


      ๖. ความไม่รู้ในขันธ์ อายตนะ ธาตุ ที่เป็นอนาคต (อปรนฺเต อญาณํ) คือ

         ขันธ์ อายตนะ ธาตุ ที่เป็นอนาคตนั้น ได้แก่ ความเป็นมนุษย์ เทวดาพรหม และ อบายสัตว์ ที่ต่อจากภพนี้ ฉะนั้น ในข้อที่ว่า "อปรนฺเต อญาณํ" นี้ก็หมายถึง ผู้ที่มีความเห็นว่า ตัวเองก็ดี คนอื่นก็ดี เมื่อตายจากชาตินี้แล้วก็ไม่มีการเกิดต่อไปอีก แต่มีความเชื่อว่าสัตว์ทั้งหลายย่อมเคยเกิดมาแล้วในชาติก่อนบุคคลจำพวกที่มีความเห็นเช่นนี้ มีหลายลัทธิด้วยกัน แม้คนที่ถือลัทธิพุทธที่มีความเห็นเช่นนี้ก็ยังมี บุคคลเหล่านี้ไม่เชื่อว่าเมื่อตายแล้วจะเกิดอีกต่อไปแต่เชื่อว่าเคยเกิดมาแล้วในชาติก่อน เพราะอาศัยที่เคยได้พบเห็นผู้ที่ระลึกชาติได้นั้นเอง


      ๗. ความไม่รู้ใน ขันธ์ อายตนะ ธาตุ ที่เป็นอดีตและอนาคต (ปุพฺพนฺตาปรนฺเต อญาณํ) คือ 

         ความเป็นมนุษย์ เทวดา พรหม และอบายสัตว์ที่เคยเกิดมาแล้วในอดีต และที่จะเกิดต่อไปข้างหน้านั้นเอง ฉะนั้น ในข้อที่ว่า "ปุพฺพนฺตาปรนฺเต อญาณํ" นี้ก็หมายถึงผู้ที่ไม่รู้ว่า ตัวเราก็ดี คนอื่นก็ดี เคยเกิดมาแล้วและจะเกิดต่อไปข้างหน้าบุคคลจำพวกที่มีความเห็นเช่นนี้ ก็มีหลายลัทธิเช่นเดียวกัน เป็นเพราะว่าพวกนี้ไม่เคยได้รับการศึกษาใน พระสูตร พระอภิธรรม และไม่เคยปฏิบัติวิปัสสนาทั้งยังไม่เคยได้พบเห็นผู้ที่ระลึกชาติได้


      ๘. ความไม่รู้ในรูปนาม ที่เกิดขึ้นโดยอาศัยมีเหตุให้เกิดตามนัย ปฏิจจสมุปบาท (อิทปฺปจุจยตา ปฏิจฺจสมุปฺปนฺเนสุ ธมฺเมสุ อญาณํ) คือ

         ร่างกายของสัตว์ทั้งหลายมี ตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็นต้น และการเห็นการได้ยิน ได้กลิ่น รู้รส ถูกต้อง เหล่านี้ล้วนแต่เป็นผลที่เกิดจากเหตุ คือการกระทำด้วยกาย วาจา ใจ ทั้งดีและไม่ดี ซึ่งเป็นเหตุเก่า มีอวิชชา ตัณหาเป็นมูลและโดยอาศัยที่มีตา หู จมูก ลิ้น กาย การเห็น การได้ยิน เป็นต้น แล้วก็มีการกระทำด้วยกาย วาจา ใจ ทั้งดีและไม่ดีขึ้นอีก ซึ่งเป็นเหตุใหม่ มีตัณหา อวิชชาเป็นมูล ทำให้ร่างกายและการเห็น การได้ยินเป็นต้นที่เรียกกันว่า คนนั้นคนนี้ ซึ่งเป็นผลเกิดต่อไปอีก เหตุและผลดังกล่าวมานี้ เมื่อแสดงตามนัยแห่งปฏิจจสมุปบาทแล้ว คือการกระทำต่างๆ ที่เป็นเหตุเก่านั้นได้แก่ "อวิชชา สังขาร ตัณหา อุปาทาน กัมมภวะ" สัตว์ทั้งหลายและการเห็น การได้ยิน เป็นต้น ที่เป็นผลเกิดขึ้นนั้น ได้แก่ "วิญญาณ นามรูป สพายตนะ ผัสสะ เวทนา" การกระทำด้วยกาย วาจา ใจ ของสัตว์ทั้งหลายที่เป็นเหตุใหม่นั้น ได้แก่ "ตัณหา อุปาทาน กัมมภวะ อวิชชา สังขาร" สัตว์ทั้งหลายและการเห็น การได้ยิน เป็นต้น ที่จะเป็นผลเกิดต่อไปนั้น ได้แก่ "วิญญาณ นามรูป สพายตนะ ผัสสะ เวทนา" ความเป็นไปของสัตว์ทั้งหลายคังที่ได้กล่าวมานี้ เมื่อพิจารณาแล้วก็แสดงให้เห็นได้ว่า ไม่มีอะไรอื่นนอกจากธรรมที่เป็นเหตุเป็นผล อาศัยซึ่งกันและกันเกิดขึ้นเท่านั้น แต่อันธปุถุชน คือผู้ที่ไม่มีปัญญามองเห็นนั้น ย่อมไม่รู้ถึงความเป็นไปของสัตว์ทั้งหลาย ตามปฏิจจสมุปบาทดังกล่าวมานี้ เข้าใจกันว่าสัตว์ทั้งหลายที่ปรากฎอยู่ในโลกทุกวันนี้ เกิดขึ้นเพราะมีพระเจ้าเป็นผู้สร้างบางพวกก็เข้าใจว่าไม่มีเหตุผลอย่างใด สัตว์ทั้งหลายที่เกิดมาได้ก็เพราะมีบิดามารดานั้นเอง

      ความไม่รู้ในเหตุผลแห่งความเป็นไปของสัตว์ทั้งหลายตามปฏิจจสมุปบาทนี้แหละชื่อว่า "อิทปฺปจฺจยตา ปฏิจฺจสมุปฺปนฺเนสุ ธมฺเมสุ อญาณํ" 


      อนึ่ง อวิชชาที่มีสภาพปกปีดความจริงไม่ให้เกิดความรู้นั้น แบ่งออกเป็นหลายประเภทด้วยกันคือ

      ๑. บุคคลบางพวก ไม่รู้ว่าการกระทำอย่างนี้ดีเป็นกุศล การกระทำอย่างนี้ไม่ดีเป็นอกุศล ด้วยอำนาจแห่งอวิชชาที่ปกปิดไว้ไม่ให้รู้ ฉะนั้น บุคคลพวกนี้จึงกล้าทำในทุจริตต่างๆ อย่างไม่รู้สึกเกรงกลัวและละอายใจ อวิชชาชนิดนี้ เป็น "อวิชชาที่หนามาก"

      ๒. บุคคลบางพวก รู้ว่าการกระทำอย่างนี้ดีเป็นกุศล อย่างนี้ไม่ดีเป็นอกุศล ฉะนั้น บุคคลจำพวกนี้เมื่อขณะที่มีอกุศลเกิดขึ้น ก็สามารถระงับได้ไม่ปล่อยให้ล่วงถึงกาย วาจา แล้วเปลี่ยนจิตใจและการกระทำนั้นให้เป็นกุศลเกิดขึ้น อวิชชาของบุคคลจำพวกนี้จัดว่าเป็น "อวิชชาที่บางมากแล้ว"

      ๓. บุคคลที่สำเร็จเป็น โสดาบัน สกทาคามี อนาคามี นั้น ได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่เห็นแจ้งในอริยสัจ ๔ แล้ว แต่ก็ยังไม่ได้ทำลายอวิชชาให้หมดสิ้นไป อวิชชา ของพระอริขบุคคลเหล่านี้เป็น "อวิชชาที่บางที่สุด"

      บุคคลที่หมดสิ้นจากอวิชชาได้นั้น มีแต่พระอรหันต์พวกเดียว ฉะนั้นการปกปิดไม่ให้รู้ตามความเป็นจริงของอวิชชา จึงไม่มีแก่พระอรหันต์ทั้งหลายแต่ถ้าจะถามว่าพระอรหันต์เมื่อไม่มีอวิชชาแล้ว ก็สามารถรู้อะไรๆ ได้ทั่วไปทั้งหมดหรือ ? แก้ว่า ไม่ได้เป็นเช่นนั้น การรู้ของพระอรหันต์ก็ต้องแล้วแต่กำลังของปัญญา ถ้าเป็นปัญญาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ก็รู้ได้ทั่วไปทั้งหมดไม่มีเหลือ ถ้าเป็นปัญญาของพระปัจเจกพุทธเจ้า ก็รู้แต่สภาพความเป็นไปของรูปนามอันเป็นอรรถรส สำหรับความรู้ในสภาพความเป็นไปของรูปนามตามปริยัติอันเป็นธรรมรสนั้น ก็รู้ไม่ได้ ถ้าเป็นปัญญาของพระอัครสาวก มหาสาวกก็ย่อมรู้ในอรรถรส ธรรมรสได้ทั้งสอง แต่ก็ยังไม่รู้เท่าถึงปัญญาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

      สรุปความว่า แม้ว่าผู้ที่ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ปราศจากอวิชชาแล้วก็ตาม ถ้าไม่ใช่เป็นปฏิสัมภิทาปัตตะ และไม่ได้ศึกษาในพระไตรปีฎกอรรถกถาแล้วก็ไม่สามารถเข้าใจในพระปริยัติธรรมได้ และแม้ว่าจะได้ศึกษาเข้าใจพระปริยัติธรรมเป็นอย่างดีแล้วก็ตาม ก็ยังไม่สามารถที่จะรู้ไปถึงอัธยาศัยของเวไนยสัตว์ทั้งหมดโดยถี่ถ้วนแน่นอนได้ เพราะการรู้เช่นนี้ไม่ใช่เป็นวิสัยของพระสาวกทั้งหลาย เป็นวิสัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์เดียวเท่านั้นและในการที่พระอรหันต์ทั้งหลายรู้ทั่วไปไม่ได้นั้น ก็ไม่ใช่เป็นเพราะอวิชชาปิดบังไม่ให้รู้ หากเป็นเพราะกำลังของปัญญาไม่เพียงพอเท่านั้น อุปมาเสมือนหนึ่งผู้ที่มองไม่เห็นวัตถุสิ่งของที่อยู่ไกลในเวลากลางวัน การมองไม่เห็นนี้ไม่ใช่เป็นเพราะความมืดปิดบังไว้ เป็นเพราะกำลังของสายตาไม่พอต่างหาก ข้อนี้ฉันใดพระอรหันต์ที่ไม่สามารถรู้ทั่วไปได้ ก็เป็นเพราะกำลังแห่งปัญญาไม่พอดังที่กล่าวมาแล้วฉันนั้น

      การปกปิดของอวิชชาที่ไม่ให้รู้ตามความเป็นจริงได้นั้น ก็มีอยู่เพียง ๘ อย่าง คือ สัจจะทั้ง ๔ และปุพพันตะ อปรันตะ ปุพพันตาปรันตะ ปฏิจจสมุปบาท เท่านั้น ส่วนการไม่เข้าใจในเรื่องอื่นๆ นั้นไม่เกี่ยวกับอวิชชา ดังมีตัวอย่างที่จะยกมาแสดงให้เห็นได้ คือ พระสารีบุตรเป็นผู้ที่มีปัญญาเลิศกว่าสาวกทั้งหลาย ซึ่งยกเว้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสียแล้ว ก็ไม่มีใครที่จะมีปัญญาเท่าเทียมได้ ก็ยังเคยผิดพลาดในเรื่องให้กรรมฐานแก่ภิกษุหนุ่มที่เป็นศิษย์ของท่านกล่าวคือ ท่านเข้าใจว่าภิกษุหนุ่มรูปนี้อายุยังน้อยอยู่ ฉะนั้น จิตใจจะต้องน้อมอยู่ในกามคุณอารมณ์ เมื่อเป็นเช่นนี้ ท่านก็ให้พิจารณาอสุภกรรมฐาน ภิกษุหนุ่มพยายามพิจารณาอสุภกรรมฐานนี้อยู่ตลอด ๔ เดือน ก็ไม่ได้ผลแต่อย่างใด แม้แต่นิมิตก็ไม่ปรากฏ เพราะกรรมฐานนี้ไม่ตรงกับจริตของตน พระสารีบุตรจึงได้นำความไปทูลถวายพระผู้มีพระภาคเจ้าให้ทรงทราบ สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงเนรมิตดอกบัวทองให้ภิกษุหนุ่มนั้นเพ่ง เพราะทรงทราบในอัธยาศัยของภิกษุหนุ่มนั้นว่า เคยเกิดเป็นช่างทองติดต่อกันมาถึงห้าร้อยชาติ ฉะนั้นดอกบัวแดงนี้จึงเป็นกรรมฐานที่เหมาะสมแก่อัธยาศัย เมื่อภิกษุหนุ่มกำลังเพ่งดอกบัวทองอยู่นั้น พระองค์ก็ทรงเนรมิตให้กลีบดอกบัวค่อยๆ เหี่ยวลงๆ ทีละน้อยเพื่อให้สภาวะที่เป็นอนิจจะปรากฏ ในวันเดียวนั้นเองภิกษุหนุ่มนั้นก็สำเร็จเป็นพระอรหันต์ขีณาสพ เรื่องที่ยกมานี้เป็นข้อแสดงให้เห็นว่า ผู้ที่หมดจดจากอวิชชาแล้ว แต่ที่ยังไม่รู้ไม่เข้าใจในบางสิ่งบางอย่างนั้น ไม่ใช่เป็นเพราะอวิชชาปกปิดไว้เป็นเพราะกำลังปัญญาไม่เพียงพอ ดังที่กล่าวมาแล้วนั้นเอง


แสดง ลักษณะ รส ปัจจุปัฏฐาน ปทัฏฐาน ของอวิชชา

      ๑. อญาณลกฺขณา มีความไม่รู้เป็นลักษณะ หรือเป็นปฏิปักษ์ต่อปัญญาเป็นลักษณะ

      ๒. สมฺโมหนรสา ทำให้ธรรมที่ประกอบกับตน และผู้ที่โมหะกำลังเกิดอยู่นั้น มีความหลงหรือมืดมนเป็นกิจ

      ๓. ฉาทนปจฺจุปฏฺฐานา เป็นธรรมชาติที่ปกปิคสภาวะที่มีอยู่ในอารมณ์นั้นๆ เป็นอาการปรากฏในปัญญาของบัณฑิตทั้งหลาย

      ๔. อาสวปทฏฺฐานา มีอาสวะ ๓ เป็นเหตุใกล้ (เว้นตัวเอง)


สังขาร

      คำว่า สังขาร นี้ หมายความว่า ธรรมที่ปรุงแต่งให้ผลธรรมเกิดขึ้น ดังแสดงวจนัตถะ ว่า

      "สงฺขตํ สงฺขโรติ อภิสงฺขโรนฺตีติ = สงฺขารา"

      ธรรมเหล่าใดย่อมปรุงแต่งสังขตธรรมที่เป็นผลโดยตรง ฉะนั้น ธรรมเหล่านั้น ชื่อว่า สังขาร ได้แก่เจตนาที่ในอกุศล และโลกียกุศล หรืออีก

นัยหนึ่ง

      "สงฺขตํ กายวจีมโนกมมํ อภิสงุขโรนฺติ เอเตหีติ = สงฺขารา"

      สัตว์ทั้งหลายย่อมปรุงแต่ง กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ที่เป็นสังขตธรรม โดยเจตนาเหล่านั้น ฉะนั้น เจตนาที่เป็นเหตุแห่งการปรุงแต่งเหล่านั้น ชื่อว่าสังขาร ได้แก่ เจตนาที่ในอกุศล และโลกียกุศล


สังขารที่เป็นผลของอวิชชา มี ๖ อย่าง คือ

      ๑. ปุญญาภิสังขาร กุศลเจตนาเป็นผู้ปรุงแต่งโลกียกุศลวิบากและกุศลกัมมชรูปโดยตรง ได้แก่ มหากุศลเจตนา ๘ รูปาวจรกุศลเจตนา ๕

      ๒. อปุญญาภิสังขาร อกุศลเจตนา เป็นผู้ปรุงแต่งอกุศลวิบาก และอกุศลกัมมชรูปโดยตรง ได้แก่ อกุศลเจตนา ๑๒

      ๓. อาเนญชาภิสังขาร กุศลเจตนา ที่ตั้งมั่นไม่หวั่นไหวเป็นผู้ปรุงแต่งอรูปวิบากโดยตรง ได้แก่ อรูปาวจรกุศลเจตนา ๔

      ๔. กายสังขาร เจตนาที่เป็นผู้ปรุงแต่ง กายทุจริต และกายสุจริตให้สำเร็จลง ได้แก่ อกุศลเจตนา ๑๒ มหากุศลเจตนา ๘ที่เกี่ยวกับทางกาย

      ๕. วจีสังขาร เจตนาที่เป็นผู้ปรุงแต่ง วจีทุจริต และวจีสุจริตให้สำเร็จลงได้แก่ อกุศลเจตนา ๑๒ มหากุศลเจตนา ๘ ที่เกี่ยวกับทางวาจา

      ๖. จิตตสังขาร เจตนาที่เป็นผู้ปรุงแต่ง มโนทุจริต และมโนสุจริตให้สำเร็จลง ได้แก่ อกุศลเจตนา ๑๒ โลกียกุศลเจตนา ๑๗ ที่เกี่ยวกับทางใจ


      สำหรับโลกุตตรกุศลเจตนานั้น ได้ชื่อว่าเป็น บุญ ก็จริง แต่ไม่ชื่อว่า "ปุญญาภิสังขาร" เพราะไม่มีหน้าที่ทำให้เกิด ภพ ชาติ ที่เป็นวัฏฏสงสาร มีหน้าที่ทำลาย ภพ ชาติ เท่านั้น ฉะนั้น จึงไม่นำมาแสดงในที่นี้


แสดงวจนัตถะของคำว่า ปุญญาภิสังขาร เป็นต้น

      อตฺตโน สนฺตานํ ปุนาติ โสเธตีติ = ปุญฺญํ

      คุณชาตใดย่อมชำระขันธสันดานของตนให้สะอาด ฉะนั้น ธรรมชาตินั้นชื่อว่า บุญ

      น ปุญฺญํ - อปุญฺญํ

      ธรรมชาตใดเป็นปฏิปักษ์ต่อบุญ ฉะนั้น ธรรมชาตินั้นชื่อว่า บาป (อปุญญะ)

      น อิญฺชตีติ = อนิญฺชํ, อนิญฺชํเยว - อาเนญฺชํ

      คุณชาตใดเป็นผู้ตั้งมั่นไม่หวั่นไหว ฉะนั้น ธรรมชาตินั้นชื่อว่าอนิญชะ ธรรมชาติที่ไม่หวั่นไหวนั้นแหละชื่อว่า อาเนญชะ

      ปุญฺญญฺจ ตํ อภิสงฺขาโร จาติ = ปุญฺญาภิสงฺขาโร

      ธรรมใดเป็นบุญด้วย เป็นผู้ปรุงแต่งโดยตรงด้วย ฉะนั้น ธรรมชาตินั้นชื่อว่า ปุญญาภิสังขาร

      อปุญฺญญฺจ ตํ อภิสงฺขาโร จาติ - อปุญฺญาภิสงฺขาโร

      ธรรมใดเป็นบาปด้วย เป็นผู้ปรุงแต่งโดยตรงด้วย ฉะนั้น ธรรมชาตินั้น ชื่อว่า อปุญญาภิสังขาร

      อาเนญฺชญฺจ ตํ อภิสงฺขาโร จาติ = อาเนญฺชาภิสงฺขาโร

      ธรรมใดตั้งมั่นไม่หวั่นไหวด้วย เป็นผู้ปรุงแต่งโดยตรงด้วย ฉะนั้น ธรรมชาตินั้น ชื่อว่า อาเนญชาภิสังขาร

      กายํ สงฺขโรตีติ = กายสงฺขาโร

      ธรรมใดเป็นผู้ปรุงแต่งกาย ฉะนั้น ธรรมชาตินั้นชื่อว่า กายสังขาร

      วาจํ สงฺขโรตีติ = วจีสงฺขาโร

      ธรรมใดเป็นผู้ปรุงแต่งวาจา ฉะนั้น ธรรมชาตินั้นชื่อว่า วจีสังขาร

      จิตตํ สงฺขโรตีติ = จิตฺตสงฺขาโร

      ธรรมใดเป็นผู้ปรุงแต่งใจ ฉะนั้น ธรรมชาตินั้นชื่อว่า จิตตสังขาร 


      ในสังขารที่เป็นผลของอวิชชาเหล่านั้น 

     - ปุญญาภิสังขารที่เกี่ยวกับมหากุศลและอปุญญาภิสังขาร เหล่านี้สำเร็จได้ด้วย กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม 

     - ปุญญาภิสังขารที่เกี่ยวกับรูปาวจรกุศล และอาเนญชาภิสังขารเหล่านี้สำเร็จได้ด้วยมโนกรรม อย่างเดียว

      - ปุญญาภิสังขาร สำเร็จได้ด้วยอำนาจ ทาน ศีล ภาวนา

      - อปุญญาภิสังขาร สำเร็จได้ด้วยอำนาจ ทุจริต ๑๐

      - อาเนญชาภิสังขาร สำเร็จได้ด้วยอำนาจแห่งภาวนา


ธรรมที่ชื่อว่าสังขาร ที่ไม่ใช่เป็นผลของอวิชชา มี ๗ อย่าง คือ

      ๑. สังขตสังขาร ธรรมที่ถูกปัจจัย ๔ ปรุงแต่ง ได้แก่ จิต เจตสิก รูป ทั้งหมดเช่น "อนิจฺจา วต สงขารา"

      ๒. อภิสังขตสังขาร รูปนามที่ถูกกรรมเป็นผู้ปรุงแต่งโดยตรง ได้แก่ โลกียวิบากและกัมมชรูป และอภิสังขตสังขารนี้ก็สงเคราะห์เข้าในสังขตสังขารด้วยเหมือนกัน

      ๓. อภิสังขรณกสังขาร ธรรมเป็นผู้ปรุงแต่งโลกียวิบากและกัมมชรูปโดยตรงได้แก่ อกุศลเจตนา ๑๒ โลกียกุศลเจตนา ๑๗ (เจตนากรรม ๒๙)

      ๔. ปโยคาภิสังขาร ความพยายามปรุงแต่งทางกายและทางใจ ได้แก่วิริยเจตสิกที่เกี่ยวกับกายกรรม และมโนกรรม

      ๕. กายสังขาร ธรรมชาติที่ปรุงแต่งร่างกาย ได้แก่ ลมหายใจเข้าออก

      ๖. วจีสังขาร ธรรมชาติที่ปรุงแต่งวาจา ได้แก่ วิตก วิจาร

      ๗. จิตตสังขาร ธรรมชาติที่ปรุงแต่งจิต ได้แก่ สัญญา เวทนา หรือเจตสิก ๕๐ (เว้น วิตก วิจาร)

      หมายเหตุ ในข้อ ๔ คือปโยคาภิสังขารนั้น ไม่เอาวิริยเจตสิกที่เกี่ยวกับวจีกรรม เพราะทางวาจานั้น วิริยเจตสิกไม่ได้เป็นประธาน เกี่ยวกับวิตกวิจารเท่านั้น


"ปุญญาภิสังขาร" ปรากฏขึ้น เพราะอาศัยอวิชชาเป็นเหตุนั้น คือ

      ผู้ที่มีความเลื่อมใสพอใจในการทำบุญต่างๆ มีการบำเพ็ญทาน รักษาศีลเจริญภาวนานั้น โดยมากก็ปรารถนาอยากจะได้ความสุขสบายต่อไปในชาติหน้าให้มากยิ่งขึ้นกว่าที่ตนได้รับอยู่ในปัจจุบันนี้ จะเห็นได้ว่าเมื่อได้ฟังได้อ่านเรื่องราวที่กล่าวถึงผู้ที่ได้เกิดเป็นเศรษฐี คหบดี ราชา ราชินี เป็นคนสวย มีอำนาจ มีความเฉลียวฉลาด หรือได้เกิดเป็นเทพบุตร เทพธิดา มีทิพยสมบัติมากมายมีอายุยืน ไม่มีความลำบากแต่ประการใดเหล่านี้ ล้วนแต่เป็นผลที่ได้มาจากการให้ทาน. รักษาศีล เจริญภาวนาทั้งสิ้น เช่นนี้แล้วผู้นั้นก็เกิดมีความชื่นชมยินดีอยากจะได้ความสุขเหล่านี้บ้าง แล้วก็พยายามบำเพ็ญกุศล มีการให้ทานบ้างรักษาศีลบ้าง ฟังเทศน์บ้าง สวดมนต์บ้าง ทำสมถะบ้าง วิปัสสนาบ้าง แล้วก็ตั้งปรารถนากันว่า "อิทํ เม ปุญฺญํ นิพฺพานสฺส ปจฺจโย โหตุ" ซึ่งคำปรารถนานี้เป็นการปรารถนาด้วยวาจาเท่านั้น ส่วนจิตใจนั้นย่อมน้อมเข้าสู่ความสุขต่างๆ ดังกล่าวแล้ว ที่เป็นดังนี้ก็เพราะว่าผู้นั้นมองไม่เห็นโทษทุกข์ สมุทัย และมองไม่เห็นคุณของนิโรธ มรรค การมองไม่เห็นคุณและโทษนี้ ก็เป็นเพราะโมหะนั้นเอง

      บางคนเห็นว่า การได้เกิดเป็นมนุษย์หรือเทวดานั้น แม้ว่าจะมีความสุขก็จริง แต่ความสุขนั้นก็ยังไม่ประณีตเท่ากับความสุขของพวกรูปพรหม เพราะพวกรูปพรหมนั้นอายุยืนกว่า อำนาจก็มากกว่า ความสวยงามของร่างกายและวิมานก็ประณีตกว่า ความทุกข์กาย ทุกข์ใจก็ไม่มีเลยแม้แต่น้อย ฉะนั้น จึงพยายามทำสมถกรรมฐานจนกระทั่งได้รูปฌาน ผู้ที่มีความเข้าใจเช่นนี้ ก็เพราะมองไม่เห็นโทษและคุณของอริยสัจ ๔ โดยอำนาจแห่งโมหะนั้นเอง ฉะนั้น จึงกล่าวได้ว่า "อวิชชาเป็นเหตุ ปุญญาภิสังขารเป็นผล"


อปุญญาภิสังขารปรากฎขึ้น เพราะอาศัยอวิชชาเป็นเหตุนั้น คือ

      บางคนไม่เชื่อว่าการกระทำดีนั้นเป็นบุญ การกระทำชั่วเป็นบาป ฉะนั้นคนจำพวกนี้จึงมีความพอใจในการกระทำทุจริตต่างๆ มีการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ล่อลวง เสพสุราเป็นต้น หรือบางคนก็รู้ว่าการกระทำชั่วต่างๆ นั้น ไม่ดีเป็นบาปแต่ตนก็หาได้ละเว้นไม่ ฉะนั้น คนจำพวกนี้ก็พอใจในการทำทุจริดต่างๆ เช่นเดียวกันหรือบางพวกที่นับถือลัทธิผี เจ้าต่างๆ เหล่านี้ เข้าใจว่าถ้าฆ่าสัตว์แล้วนำเอาไปบูชาเจ้า หรือผีเช่นนี้แล้ว เจ้าหรือผีนั้นจะบันดาลให้สำเร็จตามความประสงค์ของตนและจะคุ้มครองให้อยู่เย็นเป็นสุขไค้ตลอดชีวิต และเมื่อตายจากโลกนี้ไปแล้วเจ้าหรือผีนั้นก็จะจัดส่งให้วิญญาณของตนขึ้นไปสู่สวรรค์ ฉะนั้น คนจำพวกนี้จึงฆ่าสัตว์ต่างๆ เพื่อเอาไปบูชาสิ่งที่ตนนับถือนั้น

      การกระทำทุจริตต่างๆ ของบุคคลดังกล่าวมาแล้ว ก็เพราะมองไม่เห็นโทษของทุกข์ สมุทัย และนึกไปไม่ถึงคุณของ นิโรธ และมรรค ด้วยอำนาจแห่งโมหะปกปีดไว้นั้นเอง ฉะนั้น จึงกล่าวได้ว่า "อวิชชาเป็นเหตุ อปุญญาภิ.สังขารเป็นผล"


อาเนญชาภิสังขารปรากฏขึ้น เพราะอาศัยอวิชชาเป็นเหตุนั้น คือ

      บุคคลบางพวกก็มีความเห็นว่า ความทุกข์ ความเดือดร้อนต่างๆ ที่สัตว์ทั้งหลายกำลังได้รับอยู่นั้น ย่อมเนื่องมาจากรูปธรรมนั้นเองเป็นเหตุ เพราะเมื่อมีตา หู จมูก ลิ้น กาย แล้วก็จะต้องมีการอยากเห็น อยากได้ยิน อยากได้กลิ่นอยากรู้รส อยากถูกต้อง เหล่านี้ ซึ่งถ้าไม่เป็นไปตามความประสงค์แล้ว ก็ย่อมเกิดความเดือดร้อนขึ้น หรือความเจ็บไข้ไม่สบายต่างๆ ก็เพราะอาศัยมีร่างกายนั้นเอง ถ้าไม่มีร่างกายเสียแล้ว ความทุกข์ต่างๆ ก็ไม่มี มีแต่ความสุขอย่างเดียว

      ฉะนั้น บุคคลจำพวกนี้จึงพยายามหาหนทางที่จะไม่ให้มีรูปเกิดขึ้น โดยพยายามทำสมถกรรมฐานจนได้ฌานไปตามลำดับ จนถึงอรูปฌาน หรือผู้ที่ได้รูปฌานแล้ว และพวกรูปพรหมทั้งหลายมีความเห็นว่ารูปฌานที่ตนได้อยู่นี้ เมื่อเปรียบเทียบกับอรูปฌานแล้ว ยังไม่มีความประณีตพอเพราะยังหวั่นไหวอยู่ด้วยอำนาจแห่งองค์ฌานและอารมณ์ สำหรับอรูปฌานนั้นว่าโดยองค์ฌานก็มีแต่อุเบกขา กับ เอกัคคตา ซึ่งเป็นสภาพที่ตั้งมั่นไม่หวั่นไหว ว่าโดยอารมณ์ก็มีความละเอียดประณีตมากกว่าอารมณ์ของรูปฌาน ฉะนั้นผู้ที่ได้อรูปมานจึงมีความสุขมาก และเมื่อตายจากโลกนี้แล้ว ก็ได้ไปเกิดเป็นอรูปพรหม มีแต่นามธรรมพ้นจากทุกข์ทั้งปวง ดังนั้นท่านเหล่านั้นจึงพยายามทำฌานต่อไปจนได้อรูปฌาน

      บุคคลที่มีความเห็นดังกล่าวมานี้ ก็เพราะว่ายังมีความหลงปีดบังไม่เห็นในอริยสัจ ๔ คือ แม้พวกอรูปพรหมทั้งหลายจะไม่มีทุกข์กายทุกข์ใจ พราะไม่มีสิ่งแวดล้อมที่จะให้เกิดความเดือดร้อนต่างๆ ได้ก็ตาม แต่ก็ยังหนีไม่พ้นจากความตายอันเป็นมรณทุกข์อย่างหนึ่ง อีกประการหนึ่ง เมื่ออำนาจแห่งอรูปมานสิ้นสุดลงแล้ว ก็ต้องลงมาเกิดเป็นมนุษย์หรือเทวดา ได้ประสบกับความทุกข์ความลำบากต่างๆ ที่มีอยู่ในมนุษยโลก และเทวโลกนั้น และเมื่อตายจากมนุษย์และเทวดาแล้ว ก็อาจจะไปเกิดในอบายภูมิ ประสบกับมหาทุกข์ได้ การที่ไม่เห็นโทษของอรูปฌาน และการเป็นอรูปพรหมนี้แหละ จึงได้ชื่อว่า "ทุกเข อญาณํ" ในการที่มีความยินดีพอใจอยากได้อรูปฌาน อยากเป็นอรูปพรหมนั้นก็ด้วยอำนาจแห่งตัณหาที่เป็นตัวต้นเหตุให้เกิดความทุกข์ แต่ผู้นั้นก็ไม่เห็นโทษของการยินดีพอใจในอรูปมาน อรูปภพ เช่นนี้แหละจึงได้ชื่อว่า "ทุกุขสมุทเย อญาณํ"

      ผู้ที่เกิดเป็นอรูปพรหมนั้น ตัดความทุกข์ได้โดยวิกขัมภนะเท่านั้น หาได้ตัดโดยสมุจเฉทไม่ ฉะนั้น ความสุขที่พวกอรูปพรหมได้รับอยู่นั้นจึงไม่ใช่เป็นความสุขอย่างแท้จริง เป็นความสุขที่เกี่ยวด้วยสังขารทุกข์และวิปริณามทุกข์การตัดทุกข์ได้โดยสมุจเฉท และมีความสุขอย่างแท้จริง ก็มีแต่พระนิพพานอย่างเดียวเท่านั้น แต่ผู้นั้นก็หารู้ถึงไม่ คิดว่าความสุขในอรูปมาน และอรูปพรหมนั้นเป็นความสุขอย่างเลิศแล้ว เช่นนี้แหละจึงได้ชื่อว่า "ทุกขนิโรเธ อญาณํ" แท้ที่จริงข้อปฏิบัติอันเป็นหนทางที่ สามารถตัดกิเลสเป็นสมุจเฉทและนำให้เข้าถึงความดับทุกข์ได้นั้นก็มีอยู่ คือองค์มรรค ๘ ที่เกี่ยวกับการเจริญวิปัสสนา แต่ผู้นั้นรู้ไม่ถึง เข้าใจว่าการเจริญสมถกรรมฐานนี้แหละ สามารถนำให้เข้าถึงความสุขพ้นจากทุกข์ได้ เช่นนี้แหละจึงได้ชื่อว่า "ทุกฺขนิโรธคามินีปฏิปทาย อญาณํ"

      คำอธิบายดังกล่าวนี้ เป็นการกล่าวถึงอวิชชาเป็นเหตุ อาเนญชาภิสังขารเป็นผล


      อนึ่ง ผู้ที่เห็นโทษแต่รูป ไม่เห็นโทษของนาม แล้วก็ปฏิบัติอรูปฌานนั้นเป็นไปส่วนมากในเวลาที่ว่างจากพุทธศาสนา สำหรับภายในพุทธศาสนานั้นมีเป็นส่วนน้อย ส่วนผู้ที่ได้ฌาน แล้วปฏิบัติต่อไปจนได้อรูปฌานภายในพุทธศาสนานั้นไม่ได้ปฏิบัติให้เป็นไปเพราะเห็นโทษของรูป ปฏิบัติเพื่อต้องการทำอภิญญา และถ้าเป็นพระอนาคามีหรือพระอรหันต์ ก็เพื่อจะได้เข้านิโรธสมาบัติได้เท่านั้น แต่อย่างไรก็ดี นอกจากผู้ที่ปรารถนาสัมมาสัมโพธิญาณปัจเจกโพธิญาณ อัครสาวกโพธิญาณมหาสาวกโพธิญาณแล้ว นอกนั้นควรปฏิบัติวิปัสสนาเพื่อกระทำให้มรรคเจริญขึ้น แล้วสามารถทำลายโมหะได้ และเมื่อทำลายโมหะได้แล้ว ก็เป็นอันว่าสังขารทั้ง ๓ ที่เป็นผลของวิชชาก็ได้ถูกทำลายไปด้วยเพราะการงานที่ทำลายบุญเสียได้นั้น เป็นการงานที่ทำได้ยาก มีได้เฉพาะในเวลาที่พุทธศาสนายังปรากฏอยู่เท่านั้น ส่วนการงานที่สร้างบุญให้เกิดนั้นทำ ได้ไม่ยากและทำได้ ไม่ว่าเวลาไหน ผู้ที่ยังไม่ได้ทำลายอวิชชาให้หมดสิ้นไป แต่การกระทำของผู้นั้นไม่เป็นบุญเป็นบาปพ้นจากสังขารได้นั้นย่อมไม่มีเลย จะกล่าวได้ไหมว่าผู้ที่ปราศจากอวิชชาแล้วไม่บำเพ็ญทาน ศีล ภาวนาบางท่านอาจเข้าใจผิดไปว่า ผู้ที่สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วนั้น บุญก็ไม่เกิดบาปก็ไม่เกิด เนื่องจากคำที่กล่าวว่า ผู้ที่ทำลายโมหะได้แล้ว เป็นอันว่าสังขารทั้ง ๓ ที่เป็นบาปเป็นบุญเหล่านั้น ย่อมถูกทำลายไปด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้ก็หมายถึงว่าพระอรหันต์นั้นไม่ใช่แต่ไม่กระทำบาปมีฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์เป็นต้นเท่านั้น แม้แต่บุญต่างๆ มี ทาน ศีล ภาวนา เป็นต้นนั้น ก็ไม่กระทำด้วย ข้อนี้อธิบายว่า หาได้เป็นเช่นนั้นไม่ เพราะความจริงนั้น พระอรหันต์ทั้งหลายก็ยังบำเพ็ญทาน ศีลภาวนา อยู่แต่ว่า ทาน ศีล ภาวนาที่พระอรหันต์กระทำไปนั้น ไม่จัดว่าเป็นปุญญาภิสังขาร หรืออาเนญชาภิสังขาร ที่เป็นผลของอวิชชา การกระทำนั้นจัดเป็นกิริยาอันเป็นสังขารสามัญ และไม่มีการให้ผลในปฏิสนธิกาลต่อไปการกระทำด้วยกาย วาจา ใจ ของพระอรหันต์ที่เรียกว่าเป็นสังขารสามัญนั้นก็หมายถึงการปรุงแต่งให้การงานที่เกี่ยวกับ กาย วาจา ใจ สำเร็จลงเท่านั้นตรงกับที่กล่าวว่า "น หิ โกจิ ปฏิจฺจสมุปฺปาทรหิโต สงฺขตธมฺโม นาม อตฺถิ" ธรรมใดธรรมหนึ่งที่ชื่อว่า สังขตะ แต่พ้นไปจากปฏิจจสมุปบาทนั้น ย่อมไม่มีเลยหมายความว่า กริยาจิตของพระอรหันต์ก็ยังได้ชื่อว่าสังขาร ซึ่งสงเคราะห์เข้าเป็นองค์ของปฏิจจสมุปบาทด้วย


แสดง ลักษณะ รส ปัจจุปัฏฐาน ปทัฏฐาน ของสังขาร

      ๑. อภิสงฺขรณลกฺขณา มีการปรุงแต่งเป็นลักษณะ

      ๒. อายุหนรสา มีการพยายามให้ปฏิสนธิวิญญาณเกิด หรือพยายามให้ธรรมที่เป็นผลซึ่งได้แก่ รูป นาม ที่เป็นหมวดเป็นกองเกิดขึ้นเป็นกิจ

      ๓. เจตนาปจฺจุปฏฺฐานา เป็นธรรมชาติที่ชักนำกระตุ้น เป็นอาการปรากฏในปัญญาของบัณฑิตทั้งหลาย

      ๔. อวิชฺชาปทฏฺฐานา มีอวิชชา เป็นเหตุใกล้


      สรุปความว่า การกระทำต่างๆ ด้วย กาย วาจา ใจ ของสัตว์ทั้งหลายนั้น ย่อมหนีไม่พ้นไปจากสังขารทั้ง ๓ คือ ปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร อาเนญชาภิสังขาร พร้อมทั้งมีความยินดีในสังขารทั้ง ๓ นี้ด้วย ทั้งนี้ก็เนื่องจากอวิชชา คือ ความไม่รู้จักโทษของทุกข์และสมุทัย และไม่รู้จักคุณของนิโรธและมรรคนั้นเอง ฉะนั้น ท่านอรรถกถาจารย์จึงแสดงไว้ในสัมโมหวิโนทนีอรรถกถาว่า

            มรุปปาตํ ทีปจฺจึ        มธุลิตฺตสฺส เลหนํ

            คูถกีฬํ วิสํ ขาทํ       ปิสาจนครํ ยถา ฯ

            พาโล กโรติ สงฺขาเร    ติวิเธ ทุกฺขเหตโว

            ตสฺมา สติ อวิชฺชาย     ภาวโต โหติ ปจฺจโย ฯ

      ผู้ที่ถูกคลุมด้วยอวิชชา ย่อมพยายามสร้างสังขารทั้ง ๓ มีปุญญาภิสังขารเป็นต้น อันเป็นเหตุทุกข์ทั้งปวง เหมือนผู้ที่กระโดดลงในเหวโดยอาศัยความอยากได้นางเทพธิดา หรือเหมือนแมลงเม่าที่บินเข้าสู่กอง ไฟโดยมีความยินดีในแสงไฟนั้น หรือเหมือนผู้ที่เลียคมมีดที่เขาทาน้ำผึ้งไว้โดยอาศัยความยินดีในรส หรือเหมือนทารกที่หลงใหลเล่นอุจจาระของตนเองอยู่ หรือเหมือนผู้ที่ดื่มยาพิษโดยอาศัยความเสียใจอยากตาย หรือเหมือนผู้ที่หลงทางเข้าไปในนครปีศาจฉะนั้น สาธุชนทั้งหลายพึงทราบว่า อวิชชาเป็นปัจจัยของสังขาร เพราะเมื่อมีอวิชชา สังขารทั้ง ๆ ก็ย่อมเกิดขึ้นแน่นอน

      อนึ่ง ผู้ที่เดินทางไปในท่ามกลางแห่งความมืค ย่อมมองไม่เห็นทางฉะนั้น ผู้นั้นต้องเดินเดาสุ่มไปตามบุญตามกรรม ถูกบ้าง ไม่ถูกบ้าง เมื่อขณะที่เดินไม่ถูกทางนั้น แม้จะกล่าวได้ว่า เพราะมืดจึงเดินไม่ถูกทางก็จริง แต่ขณะที่เดินถูกทางนั้น ก็จะกล่าวไม่ได้ว่า เพราะสว่างจึงเดินถูกทาง ข้อนี้ควรพิจารณาให้รู้ไว้ ดังนั้นปุถุชนทั้งหลายที่กำลังเดินทางวนเวียนอยู่ในวัฏฏสงสาร จึงกล่าวได้ว่าเป็นผู้เดินทางไปในความมืดด้วยกันทั้งสิ้น และขาดคนจูง คือ สัจจปฏิเวธญาณ ด้วยเหตุนี้แหละการกระทำของบุคคลเหล่านี้ บางทีก็เป็นบุญเรียกว่า ปุญญาภิสังขารและอาเนญชาภิสังขาร บางทีก็เป็นบาปเรียกว่า อปุญญาภิสังขาร ดังนั้นท่านอรรถกถาจารย์จึงแสดงต่อไปว่า

            ยถาปี นาม ชจฺจนฺโธ     นโร อปริณายโก

            เอกทา ยาติ มคฺเคน     กุมฺมคฺเคนาปี เอกทา ฯ

            สํสาเร สํสรํ พาโล       ตถา อปริณายโก

            กโรติ เอกทา ปุญฺญํ     อปุญฺญมฺปี เอกทา ฯ

      อันธปุถุชนซึ่งกำลังเดินทางอยู่ในวัฏฏสงสาร และขาดผู้จูง คือ

      สัจจปฏิเวธญาณ บางครั้งก็ย่อมกระทำบุญ บางครั้งก็ย่อมกระทำบาป

      เหมือนหนึ่งว่าคนตาบอดแต่กำเนิดที่ขาดผู้จูง บางครั้งก็เดินถูกทาง บางครั้งก็เดินผิดทาง


แสดงการสงเคราะห์ปัจจัย ๒๔ เข้าในบท อวิชชาปจุจยา สงขารา


- อวิชชาเป็นปัจจัยช่วยอุปการะแก่ปุญญาภิสังขารนั้นได้อำนาจปัจจัย ๒ คือ

      ๑) อารัมมณปัจจัย ๒) ปกตูนิสสยปัจจัย


- อวิชชาเป็นปัจจัยช่วยอุปการะแก่อปุญญาภิสังขารนั้นได้อำนาจปัจจัย ๑๕ คือ

      ๑) เหตุปัจจัย ๒) อารัมมณปัจจัย ๓) อธิปติปัจจัย ๔) อนันตรปัจจัย ๕) สมนันตรปัจจัย ๖) สหชาตปัจจัย ๗) อัญญมัญญปัจจัย ๘) นิสสยปัจจัย ๙) อุปนิสสยปัจจัย ๑๐) อาเสวนปัจจัย ๑๑) สัมปยุตตปัจจัย ๑๒) อัตถิปัจจัย ๑๓) นัตดิปัจจัย ๑๔) วิคตปัจจัย ๑๕) อวิคตปัจจัย


- อวิชชาเป็นปัจจัยช่วยอุปการะแก่อาเนญชาภิสังขารนั้นได้อำนาจปัจจัย ๑ คือ ปกตูปนิสสยปัจจัย


จบ อวิชชาปจุจยา สงขารา

---------///---------


[full-post]

ปริจเฉทที่๘,ปฏิจจสมุปบาท,ปัจจยสังคหะ,อภิธัมมัตถสังคหะ,

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.