๒. สงฺขารปจฺจยา วิญญาณํ สมฺภวติ
โลกียวิปากวิญญาณ ๓๒ ย่อมปรากฎเกิดขึ้น เพราะอาศัยสังขาร ๓
สังขารมีอยู่ ๒ อย่างคือ
- สังขารที่เป็นผลของอวิชชาอย่างหนึ่ง และ
- สังขารที่เป็นเหตุให้เกิดวิญญาณอย่างหนึ่ง
สำหรับสังขารที่เป็นผลของอวิชชานั้น ย่อมได้ทั้งหมดไม่เว้นอย่างหนึ่งอย่างใด ส่วนสังขารที่เป็นเหตุให้เกิดวิญญาณนั้น ยกเว้นเจตนาที่อยู่ในอุทธัจจสัมปยุตตจิต. ในขณะที่อกุศลปฏิสนธิวิญญาณเกิดขึ้นโดยอาศัยอปุญญาภิสังขารเป็นเหตุ เพราะอุทธัจจเจตนานี้ไม่มีกำลังพอที่จะส่งผลในปฏิสนธิกาลให้เกิดเป็นพวกอบายสัตว์ได้ แต่ในปวัตติกาลนั้นสามารถส่งผลให้เกิดเป็นอกุศลวิบากได้ ฉะนั้น ในคำว่า "สงขารปจฺจยา วิญฺญาณํ" นั้น ระหว่างอปุญญาภิสังขารเป็นเหตุ ปฏิสนธิวิญญาณเป็นผล จึงเว้นอุทธัจจเจตนาเสีย คงได้อกุศลเจตนา ๑๑ แต่ระหว่างอปุญญาภิสังขารเป็นเหตุปวัตติวิญญาณเป็นผลนั้น ได้อกุศลเจตนา ๑๒ ทั้งหมด
ส่วนในปุญญาภิสังขารนั้น เว้นเจตนาที่ในกุศลอภิญญาเสียโดยแน่นอนเพราะอภิญญากุศลเจตนานี้ ไม่มีหน้าที่ส่งผล คือ วิปากวิญญาณ ทั้งในปฏิสนธิกาลและปวัตติกาลแต่อย่างใด อภิญญาต่างๆ มีอิทธิวิธอภิญญาเป็นต้นที่เกิดขึ้นก็เป็นผลมาจากกุศลอภิญญา ที่เป็นผลเกิดขึ้นโดยปัจจุบัน เป็นประจักษ์สิทธินั้นเอง แต่แม้ว่าจะเว้นเจตนาที่ในกุศลอภิญญาก็ตาม จำนวนเจตนาที่เป็นปุญญาภิสังขารก็คงได้ ๑๓ ตามเคิม เพราะรูปาวจรกุศลปัญจมฌานที่ไม่เกี่ยวกับอภิญญาก็มีอยู่
สำหรับอาเนญชาภิสังขารนั้น คงได้เจตนาทั้งหมดไม่มีเว้น ฉะนั้น เมื่อสรุปจำนวนสังขารที่เป็นเหตุให้เกิดวิญญาณแล้ว คงได้ดังนี้
- ปุญญาภิสังขาร ๑๓ (เว้นเจตนาที่ในกุศลอภิญญา)
- อปุญญาภิสังขาร ๑๒ (เว้นอุทธัจจเจตนาที่ให้ผลในปฏิสนธิกาล)
- อาเนญชาภิสังขาร ๔
รวมเป็นเจตนา ๒๕
อนึ่ง อกุศลเจตนาที่ถูกประหาณโดยมรรคทั้ง ๔ และกุศลอกุศลเจตนาที่เป็นอโหสิกรรม แม้ว่าจะเป็นสังขารที่เกิดมาจากอวิชชาเป็นเหตุก็จริง แต่ไม่จัดเข้าในสังขารที่เป็นเหตุของวิญญาณเช่นเดียวกัน
แสดงวจนัตถะของคำว่า "วิญญาณ"
วิชานาตีติ = วิญญาณํ
ธรรมชาติใดรู้อารมณ์เป็นพิเศษ ฉะนั้น ธรรมชาตินั้นชื่อว่า วิญญาณ (หมายเอาโลกียวิปากจิต ๓๒)
อีกนัยหนึ่ง
วิชานนฺติ เอเตนาติ - วิญฺญาณํ
บุคคลทั้งหลายย่อมรู้อารมณ์เป็นพิเศษโดยธรรมชาตินั้น ฉะนั้น ธรรมชาติที่เป็นเหตุให้บุคคลทั้งหลายได้รู้อารมณ์เป็นพิเศษนั้นจึงชื่อว่า วิญญาณ (หมายเอาโลกียวิปากจิต ๓๒ พร้อมด้วยเจตสิกที่ประกอบ)
องค์ธรรมของวิญญาณนี้ แสดงเป็น ๒ นัย คือ โดยอภิธรรมภาชนียนัยและโดยสุตตันตภาชนียนัย
ว่าโดยอภิธรรมภาชนียนัย ได้แก่จิต ๘๙ เพราะคำว่าวิญญาณนั้น มีการรู้อารมณ์เป็นพิเศษไปจากการรู้ของสัญญาและปัญญา ฉะนั้น จึงนับเอาจิตทั้งหมดได้ และอีกประการหนึ่ง จิตทั้งหมดที่เกิดขึ้นได้ก็ต้องอาศัยสังขาร คือการปรุงแต่งฉะนั้น จึงนับเอาจิตทั้งหมดได้
ว่าโดยสุตตันตภาชนียนัย ได้แก่โลกียวิปากจิต ๓๒ เพราะการแสดงปฏิจสมุปบาท โดยสุตตันตภาชนียนัยนี้ มีการจำแนกโดยกาล คือ ภพที่เป็นอดีตเป็นเหตุ ปัจจุบัน อนาคต จำแนกโดย เหตุ ผล วัฎฏะทั้ง ๓ เป็นต้น ฉะนั้น วิญญาณเมื่อว่าโดยกาลแล้ว ก็จัดเข้าในปัจจุบันภพ ดังที่แสดงว่า "มชฺเฌ อฏฺฐ ปจฺจุปฺปนฺโน อทฺธา" เมื่อว่าโดยเหตุผลก็จัดเข้าในผล ดังที่ได้แสดงว่า "อิทานิ ผลปญฺจกํ" เมื่อว่าวัฏฏะ ก็จัดเข้าในวิปากวัฏ ดังที่ได้แสดงว่า "อวเสลา จ วิปากวฏฺฏํ"
ฉะนั้น คำว่า วิญญาณ ที่เป็นผลของสังขารนี้จึงได้แก่โลกียวิปากจิต ๓๒ นั้นเอง
ส่วนการแสดงโดยอภิธรรมภาชนียนัยนั้น องค์ธรรมไม่จำกัด คือ คำว่า วิญญาณ ก็ได้แก่จิตทั้งหมด คำว่า นาม ก็ได้แก่เจตสิกทั้งหมด คำว่า รูป ก็ได้แก่รูปทั้งหมด คำว่า ผัสสะ ก็ได้แก่ผัสสะทั้งหมด ดังนี้เป็นต้น เพราะไม่มีการจำแนกโดย กาล เหตุ ผล เป็นต้น
การแสดงปฏิจจสมุปบาทโดยนัยทั้ง ๒ ดังกล่าวมานี้ สมเด็จพระพุทธองค์ได้ทรงแสดงไว้ในวิภังคปกรณ์ในอภิธรรมปีฎก
อธิบายในวจนัตถะข้อที่ ๑ คือ วิชานาตีติ - วิญฺญาณํ
ธรรมชาติของจิตนั้นย่อมมีการได้รับอารมณ์อยู่เสมอไม่ว่าเวลาใด การได้รับอารมณ์อยู่เสมอไม่ว่าเวลาใดนี้แหละ ชื่อว่าย่อมรู้อารมณ์เป็นพิเศษ
อีกประการหนึ่ง ในจำนวนโลกียวิปากจิตเหล่านั้น มีการรู้อารมณ์จำกัดโดยเฉพาะๆ เป็นส่วนมาก ต่างกับการรู้อารมณ์ของกุศล กริยา ที่มีการรู้อารมณ์โดยไม่จำกัดเป็นส่วนมากดังเช่น จักขุวิญญาณจิต ก็มีการรู้แต่เฉพาะรูปารมณ์ ฯลฯ กายวิญญาณจิต ก็มีการรู้แต่เฉพาะ โผฎฐัพพารมณ์, สัมปฏิจฉนจิต ก็มีการรู้แต่เฉพาะปัญจารมณ์, อุเบกขาสันตีรณจิต, มหาวิปากจิต, และมหัคคตวิปากจิตเมื่อขณะที่ทำหน้าที่ปฏิสนธิ ภวังค์ จุติ ก็มีการรู้เฉพาะอารมณ์ที่เกี่ยวกับอคีตภพ เช่นนี้แหละจึงได้ชื่อว่ารู้อารมณ์เป็นพิเศษ คือรู้ไม่ทั่วไป
อธิบายในวจนัตถะข้อที่ ๒ คือ วิชานนฺติ เอเตนาติ = วิญฺญาณํ
สัตว์ทั้งหลายก็ดี เจตสิกก็ดี ที่มีการรู้อารมณ์ได้ต่างๆ ทั้งปรมัตถ์และบัญญัตินั้นก็โดยอาศัยวิปากวิญญาณเป็นเหตุ กล่าวคือ ถ้าจักขุวิญญาณจิตไม่เกิด ก็เป็นอันว่าผู้นั้นไม่มีการเห็น ฯลฯ ถ้ากายวิญญาณจิตไม่เกิด ก็เป็นอันว่าผู้นั้นไม่มีความรู้สึกทางกาย ถ้าขาดภวังคจิตเสีย ผู้นั้นก็ไม่มีความรู้อารมณ์ใดๆ เลยด้วยเหตุนี้แหละ วิปากวิญญาณเหล่านี้จึงเป็นธรรมที่เป็นเหตุให้สัตว์ทั้งหลายรู้อารมณ์เป็นพิเศษ
วิญญาณที่เป็นผลของสังขารทั้งหลายนี้ แบ่งออกเป็น ๒ พวก คือ
- วิญญาณที่เกิดในปฏิสนธิกาล ชื่อว่า ปฏิสนธิวิญญาณ ได้แก่ ปฏิสนธิจิต ๑๙ พวกหนึ่ง และ
- วิญญาณที่เกิดในปวัตติกาล ชื่อว่า ปวัตติวิญญาณ ได้แก่ โลกียวิปากจิต ๓๒ พวกหนึ่ง
การจำแนกปฏิสนธิวิญญาณ ๑๙ โดยสังขาร ๓
๑. อปุญญาภิสังขาร ๑๑ (เว้นอุทธัจจเจตนา) เป็นเหตุ
อุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบาก , เป็นผล ให้ปฏิสนธิในอบายภูมิทั้ง ๔ เป็นพวกทุคติอเหตุกบุคคล คือพวกอบายสัตว์
๒. ปุญญาภิสังขาร อันได้แก่ มหากุศลทวิเหตุกโอมกะเจตนา ๔ เป็นเหตุ
อุเบกขาสันตีรณกุศลวิบาก ๑ เป็นผล ให้ปฏิสนธิในมนุษยภูมิ ๑ จาตุมหาราชิกาภูมิ ๑ เป็นพวกสุคติอเหตุกบุคคล คือ มนุษย์และเทวดาชั้นต่ำที่พิกลพิการใบ้ บ้า บอด หนวก เป็นต้น
๓. ปุญญาภิสังขาร อันได้แก่ มหากุศลทวิเหตุกอุกกัฏฐะเจตนา ๔ และติเหตุกโอมกะเจตนา ๔ เป็นเหตุ
มหาวิบากญาณวิปปยุต ๔ เป็นผล ให้ปฏิสนธิในมนุษยภูมิ ๑ เทวภูมิ ๖ เป็นพวกทวิเหตุกบุคคล คือ มนุษข์และเทวดาชั้นกลาง
๔. ปุญญาภิสังขาร อันได้แก่ มหากุศลติเหตุกอุกกัฏฐะเจตนา ๔ โดยวัฏฏะทั้ง ๓ เป็นเหตุ
มหาวิบากญาณสัมปยุต ๔ เป็นผล ให้ปฏิสนธิในมนุษยภูมิ ๑ เทวภูมิ ๖ เป็นพวกติเหตุกบุคคล คือมนุษย์และเทวดาชั้นสูง
๕. ปุญญาภิสังขาร อันได้แก่ รูปาวจรกุศลเจตนา ๕ เป็นเหตุ
รูปาวจรวิบาก ๕ เป็นผล ให้ปฏิสนธิในรูปภูมิ ๑๕ (เว้นอสัญญสัตตภูมิ) เป็นพวกรูปพรหม
๖. อาเนญชาภิสังขาร อันได้แก่ อรูปาวจรกุศลเจตนา ๔ เป็นเหตุ
อรูปาวจรวิบาก ๔ เป็นผล ให้ปฏิสนธิในอรูปภูมิ ๔ เป็นพวกอรูปพรหม
การจำแนกปวัตติวิญญาณ ๓๒ โดยสังขาร ๓
๑. อปุญญาภิสังขาร ๑๒ เป็นเหตุ
อกุศลวิบาก ๗ ได้แก่ การเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การรู้รส การถูกต้อง การรับอารมณ์ การไต่สวนอารมณ์ และการรับอารมณ์ต่อจากชวนะที่ไม่ดีเป็นผล ในกามภูมิ ๑๑
๒. อปุญญาภิสังขาร ๑๒ เป็นเหตุ
อกุศลวิบาก ๔ ได้แก่ การเห็น การได้ยิน การรับอารมณ์ การไต่สวนอารมณ์ที่ไม่ดี เป็นผล ในรูปภูมิ ๑๕
๓. ปุญญาภิสังขาร อันได้แก่ มหากุศลเจตนา ๘ เป็นเหตุ
อเหตุกกุศลวิบาก ๘ ได้แก่ การเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การรู้รส การถูกต้อง การรับอารมณ์ การไต่สวนอารมณ์ และการรับอารมณ์ต่อจากชวนะที่ดีเป็นผล ในกามภูมิ ๑๑
๔. ปุญญาภิสังขาร อันได้แก่ มหากุศลเจตนา ๘ เป็นเหตุ
มหาวิบาก ๘ ได้แก่ การรับอารมณ์ต่อจากชวนะที่ดีเป็นผล ในกามสุดติภูมิ ๗
๕. ปุญญาภิสังขาร อันได้แก่ มหากุศลเจตนา ๘ เป็นเหตุ
อเหตุกกุศลวิบาก ๔ ได้แก่ การเห็น การได้ยิน การรับอารมณ์ การไต่สวนอารมณ์ที่ดีเป็นผล ในรูปภูมิ ๑๕
๖. ปุญญาภิสังขาร อันได้แก่ รูปาวจรกุศลเจตนา ๕ เป็นเหตุ
รูปาวจรวิบาก ๕ ได้แก่ การรักษาภพเป็นผล ในรูปภูมิ ๑๕
๗. อาเนญชาภิสังขาร อันได้แก่ อรูปาวจรกุศลเจตนา ๔ เป็นเหตุ
อรูปาวจรวิบาก ๔ ได้แก่ การรักษาภพเป็นผล ในอรูปภูมิ ๔
การจำแนกปฏิสนธิวิญญาณ ๑๙ โดยนัยต่างๆ
ปฏิสนธิวิญญาณ ๑๙ เหล่านี้ เมื่อจำแนกโดยมิสสกะและสุทธะแล้ว แบ่งออกเป็น ๒ คือ
๑. รูปมิสสกวิญญาณ วิญญาณที่ปนด้วยรูป มี ๑๕
๒. รูปอมิสสกวิญญาณ วิญญาณที่ไม่ปนด้วยรูป มี ๔
เมื่อจำแนกโดยภูมิแล้ว แบ่งออกเป็น ๓ คือ
๑. กามวิญญาณ มี ๑๐
๒. รูปวิญญาณ มี ๕
๓. อรูปวิญญาณ มี ๔
เมื่อจำแนกโดยกำเนิดแล้ว แบ่งออกเป็น ๔ คือ
๑. อัณฑชวิญญาณ มี ๑๐
๒. ชลาพุชวิญญาณ มี ๑๐
๓. สังเสทชวิญญาณ มี ๑๐
๔. โอปปาติกวิญญาณ มี ๑๙
เมื่อจำแนกโดยคติแล้ว แบ่งออกเป็น ๕ คือ
๑. เทวคติวิญญาณ มี ๑๘
๒. มนุสสคติวิญญาณ มี ๙
๓. นิรยคติวิญญาณ มี ๑
๔. ติรัจฉานคติวิญญาณ มี ๑
๕. เปตติคติวิญญาณ มี ๑
เมื่อจำแนกโดยวิญญาณฐิติ (ภูมิอันเป็นที่ตั้งแห่งวิญญาณ) แล้วมี ๗ คือ
๑. นานัตตกายนานัตตสัญญีวิญญาณ มี ๙
๒. นานั่ตตกายเอกัตตสัญญีวิญญาณ มี ๒
๓. เอกัตตกายนานัตตสัญญีวิญญาณ มี ๒
๔. เอกัตตกายเอกัตตสัญญีวิญญาณ มี ๒
๕. อากาสานัญจายตนวิญญาณ มี ๑
๖. วิญญาณัญจายตนวิญญาณ มี ๑
๗. อากิญจัญญายตนวิญญาณ มี ๑
เมื่อจำแนกโดยสัตตาวาส (ภูมิอันเป็นที่อาศัยของสัตว์) แล้วมี ๘ (เว้นสัตตาวาส ๑ คืออสัญญสัตตา เพราะไม่มีวิญญาณ) คือ ข้อ ๑ ถึง ๗ เหมือนวิญญาณฐิติ ๗
๘. เนวสัญญานาสัญญายตนวิญญาณ มี ๑
หมายเหตุ การที่จำแนกปฏิสนธิวิญญาณโดยวิญญาณฐิติและสัตตาวาส ในที่นี้แสดงไว้แต่จำนวนเท่านั้น ส่วนชื่อของวิญญาณนั้นปรากฏอยู่แล้วในปรมัตถโชติกะปริกเฉทที่ ๕ ตอน ๒
แสดง ลักษณะ รส ปัจจุปัฏฐาน ปทัฏฐาน ของวิญญาณ
๑. วิชานนลกฺขณํ มีการรู้อารมณ์เป็นพิเศษจากสัญญาและปัญญา เป็นลักษณะ
๒. ปุพฺพงฺคมรสํ เป็นประธานแก่เจตสิกและกัมมชรูป เป็นกิจ
๓. ปฏิสนฺธิปจฺจุปฏฺฐานํ มีการติดต่อระหว่างภพเก่าและภพใหม่ เป็นอาการปรากฎ
๔. สงฺขารปทฏฺฐานํ (วา) มีสังขาร ๓ เป็นเหตุใกล้ หรือมีวัตถุ ๖ กับอารมณ์ ๖ วตฺถารมฺมณปทฏฺฐานํ เป็นเหตุใกล้
แสดงการสงเคราะห์ปัจจัย ๒๔ เข้าในบท สงฺขารปจฺจยา วิญฺญาณํ
สังขารทั้ง ๓ เป็นปัจจัยช่วยอุปการะแก่วิปากวิญญาณนี้ได้อำนาจปัจจัย ๒ คือ
๑. ปกตูปนิสสยปัจจัย ๒. นานักขณิกกัมมปัจจัย
จบ สงฺขารปจฺจยา วิญฺญาณํ
----------///----------
แสดงความคิดเห็น
ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ