อธิบายในคาถาบาสีข้อ ๑๐ ที่แสดงถึงการขาดลงแห่งวัฏฏะทั้ง ๓ และสมุฏฐานของอวิชชา


เหตุที่ทำให้วัฏฏะทั้ง ๓ ขาดลง

      ตามธรรมดาต้นไม้ย่อมงอกงามเจริญได้ โดยอาศัยรากแก้ว ถ้ารากแก้ว ถูกทำลายเสียแล้ว ต้นไม้นั้นก็จะเกิดอาการอับเฉาลงทันที และผลสุดท้ายก็ตาย ข้อนี้ฉันใด รูปนาม คือสัตว์ทั้งหลายที่เจริญอยู่ในสังสารวัฏโดยไม่มีที่สิ้นสุดนั้นก็เพราะอำนาจแห่งอวิชชาและตัณหา เมื่อใดอวิชชาและตัณหาทั้ง ๒ นี้ถูกทำลายลงด้วยอำนาจแห่งอรหัตตมรรคแล้ว ความเจริญของรูปนาม อันได้แก่ การเวียนว่ายของสัตว์ทั้งหลายนั้น ก็เป็นอันสิ้นสุดลง ดังนั้น พระอนุรุทธาจารย์จึงแสดงว่า "เตสเมว จ มูลานํ นิโรเธน นิรุชฺฌติ" ซึ่งแเปลว่า เมื่อวัฏฏมูลทั้ง ๒ นั้นดับสิ้นลงไม่มีเหลือด้วยอำนาจแห่งอรหัตตมรรคแล้ว การหมุนเวียนแห่งปฏิจสมุปบาท คือวัฏฏะทั้ง ๓ ก็ย่อมดับลงทันที ซึ่งตรงกับที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงแสดงไว้ในปฏิจจสมุปบาทปฏิโลมเทศนา ดังที่แสดงไว้ในตอนต้นว่า "อวิชฺชาย เตฺวว อเสสวิราคนิโรธา สงฺขารนิโรโธ" เป็นต้น และแสดงไว้ในสังยุตตพระบาลีว่า

      "ยถาปิ มูเล อนุปทุทเว ทฬฺเห 

      ฉินฺโนปิ รุกฺโข ปุนเทว รูหติ 

      เอวํปิ ตณฺหานุสเย อนูหเต 

      นิพฺพตฺตตี ทุกฺขมิทํ ปุนปฺปุนํ ฯ

     แปลความว่า รากแก้วคือตัณหานุสัย ถ้ายังไม่ได้ทำลายให้สิ้นสุดลง

    วัฏฏทุกข์ คือชาติ ชรา พยาธิ มรณะ เป็นต้น ก็ย่อมเกิดขึ้นอยู่บ่อยๆ 

      (ถ้าได้ประหาณตัณหานุสัยให้หมดสิ้นแล้ว วัฎฎทุกข์ทั้งปวงก็ย่อมดับลง) 

     เหมือนรากแก้วที่มีรากฝอยเป็นบริวาร ถ้ายังตั้งมั่นอยู่ไม่ได้ถูกทำลายแล้ว 

     แม้จะตัดลำต้นออกก็ตาม ต้นไม้นั้นย่อมเจริญงอกงามขึ้นได้อีก 

     (เมื่อได้ถอนรากแก้วออกโดยสิ้นเชิงแล้ว ต้นไม้นั้นก็เจริญต่อไปไม่ได้) ฉันนั้น


สมุฏฐานของอวิชชา

      ถ้ามีคำถามๆ ขึ้นว่า เมื่อสังขารทั้ง ๓ ที่เป็นบุญเป็นบาปเกิดขึ้น โดยอาศัยอวิชชาเป็นเหตุ จนกระทั่งถึงชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัสสะ อุปายาสะ เกิดขึ้นโดยอาศัยชาติเป็นเหตุแล้ว ก็อะไรเล่าเป็นเหตุให้อวิชชาเกิด? ดังนี้ เพื่อจะกล่าวถึงสมุฏฐานของอวิชชา พระอนุรุทธาจารย์จึงแสดงต่อไปว่า 

      "ชรามรณมุจฺฉาย         ปีฬิตานมภิณฺหโส 

      อาสวานํ สมุปฺปาทา      อวิชฺชา จ ปวตฺตติ" ฯ

      ซึ่งแปลว่า อวิชชาเกิดขึ้นได้ก็เพราะอาศัยการเกิดขึ้นแห่งอาสวะธรรมที่ในสันดานของสัตว์ทั้งหลาย ผู้ถูกเบียดเบียนด้วยความแก่ ความตาย และธรรมที่เป็นเหตุแห่งความหลง คือโสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัสสะ อุปายาสะ อยู่เนืองๆ นั้นเอง

      คำว่า "มุจฺฉา" แปลว่า หลง แต่ในที่นี้มุ่งหมายเอาธรรมที่เป็นเหตุให้หลง ได้แก่ โสกะ ปริเทวะ เป็นต้น

      อธิบายว่า สมุฏฐานของอวิชชาก็ได้แก่อาสวะ ทั้ง ๔ มีกามาสวะ เป็นต้น

      หมายความว่า ในปฎิจสมุปบาทพระบาลีนี้ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัสสะ อุปายาสะ ทั้ง ๕ นี้ ทรงแสดงไว้สุดท้าย เมื่อว่าโดยองค์ธรรมแล้ว โสกะ โทมนัสสะอุปายาสะ ทั้ง ๓ นี้ เป็นโทมนัสสะ และโทสเจตสิก ดังนั้น เมื่อผู้ใดมีความเศร้าโศก เสียใจ คับแค้นใจเกิดขึ้นแล้ว โมหะก็ย่อมเกิดร่วมอยู่ด้วย และปริเทวะการร้องไห้รำพันนี้ ก็เกิดเนื่องมาจากโทสจิตตุปบาท ฉะนั้น เมื่อขณะร้องไห้รำพันโมหะก็เกิดร่วมอยู่ด้วยแล้ว ส่วนทุกข์กายก็เป็นเหตุให้ความเสียใจไม่พอใจเกิดขึ้น ได้และขณะที่ความเสียใจไม่พอใจเกิดขึ้น โมหะก็เกิดขึ้นพร้อมกันในขณะนั้นเอง ดังนั้นโมหะที่เกิดพร้อมกับโสกะ ปริเทวะ โทมนัสสะ อุปายาสะ และที่เกิดภายหลังจากทุกข์กายนั้นเอง เรียกว่า อวิชชา สมดังที่ท่านพระมหาพุทธโฆษาจารย์แสดงไว้ในปฏิจจสมุปบาทวิภังคอรรถกถาว่า "เอตฺถ หิ โสกทุกฺขโทมนสฺสุปายาสาอวิชฺชาย อวิโยคิโน ปริเทโว จ นามมูฬนสฺสาติ เตสํ ตาว สิทฺเธสุ โหติ อวิชฺชา"

      แเปลว่า ในความเป็น ไปของภวจักร โสกะ ทุกขะ โทมนัสสะ อุปายาสะเหล่านี้ ย่อมประกอบกับอวิชชาอยู่เสมอ แยกจากกันไม่ได้ และปริเทวะก็ย่อมเกิดขึ้นแก่ผู้ที่มีความหลง ฉะนั้น เมื่อโสกะเป็นต้นเกิดขึ้นสำเร็จแล้ว อวิชชาก็ย่อมเกิดสำเร็จไปด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้สมุฏฐานของโสกะเป็นต้นนั้นแหละ เป็นสมุฏฐานของอวิชชา

      แม้ในปฏิจจสมุปบาทแสดงไว้แล้วว่า "ชาติปจฺจยา โสกปริเทวทุกฺขโทมนสฺสุปายาสา สมฺภวนฺติ" โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัสสะ อุปายาสะเหล่านี้เกิดขึ้นได้เพราะชาติเป็นเหตุก็จริง แต่ชาตินี้ไม่ใช่เป็นเหตุใกล้ของโสกะปริเทวะ เป็นต้น เป็นแต่เหตุไกลและเป็นมูลเหตุ คือความเศร้าโศก เป็นต้นที่เกิดขึ้นนั้นจะเว้นเสียจากชาติไม่ได้ ส่วนธรรมที่เป็นเหตุใกล้นั้นก็คืออาสวะทั้ง ๔ นั้นเอง เหมือนเช่นสัตว์ทั้งหลายที่เกิดมานี้ ก็ต้องอาศัยเหตุ ๒ ประการคือเหตุไกลและเหตุใกล้ เรียกว่ามูลเหตุและมูลีเหตุก็ได้ เหตุไกลนั้นได้แก่อกุศลกรรม และโลยกุศลกรรม ที่ได้ทำมาในภพก่อน เหตุใกล้นั้นได้แก่บิดา มารดา ฉะนั้นที่ว่าชาติเป็นเหตุไกล อาสวะเป็นเหตุใกล้ของโสกะ ปริเทวะเป็นต้น ก็เป็นไปโดยนัยเดียวกันนี้ ดังที่ท่านพระอรรถกถาจารย์แสดงไว้ในปฏิจจสมุปบาทวิภังค์ว่า "อาสวสมุทยา เจเต โสกาทโย โหนฺติ" โสกะเป็นต้นเหล่านี้เกิดขึ้น เพราะการเกิดขึ้นของอาสวะ ด้วยเหตุนี้จึงตัดสินใจได้ว่า อาสวะทั้ง ๔ เหล่านี้ ก็สำเร็จเป็นสมุฏฐานของอวิชชาไปด้วย ดังที่สมเด็จพระผู้มีพระภาดเจ้าทรงแสดงไว้ ว่า "อาสวสมุทยา อวิชชาสมุทโย" การเกิดขึ้นแห่งอวิชชานั้นเพราะอาศัยการเกิดขึ้นแห่งอาสวะเป็นเหตุ ฉะนั้น ตามที่พระอนุรุทธาจารย์กล่าวว่า "อาสวานํ สมุปฺปาทา อวิชชา จ ปวตฺตติ" นั้นก็เป็นการถูกต้องและพระมหาพุทธโฆษาจารย์ก็ได้แสดงไว้ชัดเจนในวิสุทธิมรรคอรรถกถาว่า "อิติ ยสฺมา อาสวสมุทยา เอเต ธมฺมา โหนฺติ ตสฺมา เอเต สิชฺฌมานา อวิชชาย เหตุภูเต อาสเว สาเธนฺติ อาสเวสุ จ สทฺเธสุ ปจฺจยภาเว ภาวโต สิทฺธา โหติ"

      แปลความว่า โสกะเป็นต้น เหล่านี้ย่อมเกิดขึ้น เพราะการเกิดขึ้นของอาสวะ โดยนัยดังที่กล่าวมาแล้ว ฉะนั้น เมื่อ โสกะเป็นต้นเหล่านี้เกิดขึ้นแล้ว ก็ย่อมทำให้รู้ถึงอาสวะที่เป็นเหตุแห่งอวิชชาสำเร็จไปด้วย และเมื่ออาสวะทั้งหลายเกิดขึ้นสำเร็จแล้ว อวิชชาก็ย่อมเกิดสำเร็จไปด้วย เพราะเมื่อมีเหตุคืออาสวะเกิดขึ้นแล้วผลคืออวิชชาก็ต้องเกิดด้วย


แสดงการเกิดขึ้นของ โสกะ ปริเทวะ เป็นต้น โดยอาศัยอาสวะทั้ง ๔

      ๑. โสกะ ปริเทวะ เป็นต้น เกิดขึ้นเพราะอาศัยกามาสวะเป็นเหตุ คือเมื่อคนที่เรารักใคร่มี บิดา มารดา สามี ภรรยา ลูก หลาน ตายจากไปเราย่อมเกิดความเศร้าโศก เสียใจ ร้องไห้ รำพัน มีความเสียดายอาลัยต่อคนเหล่านั้น บางทีถึงกับไม่เป็นอันกินอันนอน สมดังกับที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงว่า "กามโต ชายเต โสโก" เป็นต้น หมายความว่า ความเศร้าโศกเกิดขึ้นเพราะความรักนี้แหละ โสกะ ปริเทวะ เป็นต้น เกิดขึ้นเพราะอาศัยกามาสวะเป็นต้นเหตุ

      ๒. โสกะ ปริเทวะ เป็นต้น เกิดขึ้นเพราะอาศัยภวาสวะเป็นเหตุ คือพวกเทวดาทั้งหลายที่มีความยินดีในความเป็นอยู่ของตน คือเป็นผู้มีอายุยืนมีความสวยงาม มีความสุขสบายในวิมานของตนตลอดกาลนาน ด้วยอำนาจภวาสวะเมื่อได้มีโอกาสฟังพระธรรมเทศนาเกี่ยวข้องด้วยเรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ว่า บรรดาสิ่งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิตทั้งหลายในโลกนี้ ล้วนแต่เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ไม่ได้อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของผู้ใด ฉะนั้น ความสวยงามก็ดี ความสุขความสบายต่างๆ ก็ดี อายุก็ดี เหล่านี้ก็ไม่คงที่อยู่ได้ ย่อมมีความเปลี่ยนแปลงไปเป็นธรรมดา เมื่อพวกเทวดาได้ฟังดังนี้แล้ว ก็มีความสะดุ้งหวาดกลัว เกิดความเศร้าโศกขึ้น เนื่องจากนึกถึงสมบัติ ความสุข ความมีอำนาจ ความมีอายุยืนนานของตนที่กำลังได้รับอยู่นั้น จะไม่ยั่งยืนถาวรต่อไปได้ ฉะนั้น สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงแสดงว่า "เยปิ เต เทวา ทีฆายุกา วณฺณวนฺโต สุขพหุลา อุจฺเจสุ วิมาเนสุ จิรํ ทีฆมทฺธานํ ติฏฺฐนฺติ เตปิ ตถาคตสฺส ธมฺมเทสนํ สุตฺวา ภสนฺตาสํ สํเวคมาปชฺชนฺติ" แปลใจความว่า เทวดาทั้งหลายแม้มีอายุยืนมีผิวพรรณผุดผ่อง มีความสุขมากมายอยู่ตลอดกาลนานในวิมานอันสูงสุดประณีต เทวดาเหล่านั้นเมื่อได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระตถาคตเจ้าแล้ว ย่อมถึงความหวาดเสียว สะดุ้ง มีความไม่สบายใจ กลัวภัย นี้แหละ โสกะ ปริเทวะ เป็นต้นเกิดขึ้นเพราะอาศัยภวาสวะเป็นเหตุ

      ๓. โสกะ ปริเทวะ เป็นต้น เกิดขึ้นเพราะอาศัยทิฏฐาสวะเป็นเหตุ คือผู้มีความยึดถือว่า ตัวนี้เป็นเรา ตัวนี้เป็นของเรา แล้วก็เฝ้าทะนุถนอมตัวอยู่เสมอ ในกาลต่อมาตัวนั้นแหละ เกิดอาการเปลี่ยนแปลงไปตามธรรมชาติหรือเกิดเปลี่ยนแปลงไปโดยโรคภัย มีผมหงอก ฟันหัก เนื้อหนังเหี่ยวเป็นบาดแผลเกิดขึ้น เป็นต้น ผู้นั้นย่อมเกิดความไม่สบายใจ เสียใจ ร้องไห้ ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงว่า "อหํ รูปํ มม รูปนฺติ ปริยุฏฺฐฏฺฐายิโน รูปวิปริณามญฺญถาภาวา อุปฺปชฺชนฺติ โสกปริเทวทุกฺขโทมนสฺสุปายาสา" สัตว์ทั้งหลายที่มีความเห็นผิดเป็นปกติว่า ร่างกายเป็นเราหรือเราก็คือร่างกาย ร่างกายเป็นของเราดังนี้แล้ว เมื่อร่างกายนั้นวิปริตแปรปรวนเป็นอย่างอื่นไปตามสภาวะ ความเศร้าโศกเสียใจ เป็นต้น ย่อมเกิดขึ้นแก่ผู้นั้น นี้แหละ โสกะ ปริเทวะ เป็นต้น เกิดขึ้นเพราะอาศัยทิฏฐาสวะ เป็นเหตุ

      ๔. โสกะ ปริเทวะ เป็นต้น เกิดขึ้นเพราะอาศัยอวิชชาเป็นเหตุ คือผู้ที่ขาดปัญญา มีความรู้น้อย คนโง่ คนอันธพาล ผู้ที่ยังเยาว์วัย หรือผู้ที่ได้รับการศึกษามาก แต่ขาคปัญญา บุคคลเหล่านี้ย่อมกระทำในสิ่งที่ไม่ควรทำและไม่กระทำในสิ่งที่ควรทำ ด้วยอำนาจอวิชชาสวะ คือโมหะเป็นผู้ปิดบังไม่ให้เห็นโทษและประโยชน์ ฉะนั้น จึงชอบทำในสิ่งที่ไม่ควรทำ เพราะไม่เห็นโทษและไม่ชอบทำในสิ่งที่ควรทำ เพราะไม่เห็นประโยชน์ บุคคลจำพวกนี้ย่อมได้ประสบกับความทุกข์กายทุกข์ใจ เป็นเหตุให้ความเศร้าโศกเสียใจเกิดขึ้น ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเทศนาว่า "สโข โส ภิกฺขเว พาโล ทิฏฺเฐว ธมฺเม ติวิธํ ทุกฺขํ โทมนสฺสํ ปฏิสํเวเทติ" ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้ที่ไม่มีปัญญาต้องได้ประสบกับความลำบาก ๓ อย่าง คือโสกะ ปริเทวะ ทุกข์กายและทุกข์ใจในภพนี้นั้นเอง นี้แหละ โสกะ ปริเทวะ เป็นต้น เกิดขึ้นเพราะอาศัยอวิชชาสวะเป็นเหตุ 


สมุฏฐานของอาสวะ

      ถ้ามีคำถามๆ ต่อไปอีกว่า เมื่ออาสวะเหล่านี้เป็นเหตุของอวิชชาแล้วอะไรเล่าเป็นเหตุของอาสวะ?

      แก้ว่า อาสวะเหล่านี้สงเคราะห์เข้าอยู่ในตัณหา อุปาทาน กัมมภวะ ตามสมควร ฉะนั้น ธรรมที่เป็นเหตุให้ ตัณหา อุปาทาน กุศลอกุศลกัมมภวะเกิดขึ้นนั้นแหละ ย่อมกล่าวได้ว่าเป็นเหตุของอาสวะ


แสดงเหตุที่ยกเอาอวิชชาขึ้นตั้งไว้เป็นเหตุอันดับแรก 

ในปฏิจจสมุปบาทเมื่ออวิชชาเกิดขึ้น เพราะอาศัยการเกิดขึ้นแห่งอาสวะแล้ว ทำไมจึงยกเอาอวิชชาขึ้นตั้งไว้เป็นเหตุแรก?

      ในความเป็นไปของรูปนาม ที่หมุนเวียนอยู่ในสังสารวัฏ อวิชชานี้เป็นตัวสำคัญชื่อว่า วัฎฎศีรษะ ซึ่งเหมือนกับศีรษะของคนทั้งหลาย ฉะนั้นพระพุทธองค์จึงทรงยกอวิชชาขึ้นแสดงเป็นเหตุอันแรก

      อธิบายว่า ในปฏิจจสมุปบาทธรรม อวิชชาและตัณหาทั้ง ๒ นี้ เป็นตัวสำคัญยิ่ง ซึ่งเหมือนศีรษะของคนทั้งหลาย และในการสร้างสังขารต่างๆ มีปุญญาภิสังขารเป็นต้น สำเร็จลงได้นั้น ก็เพราะอาศัยความยินดีพอใจในอารมณ์คือตัณหาเป็นเหตุ ตัณหาคือความยินดีพอใจในอารมณ์ จะเกิดขึ้นได้ก็ต้องอาศัยอวิชชาเป็นผู้ปกปีด ไม่ให้เห็นสภาพตามความเป็นจริง ถ้าไม่มีอวิชชาเป็นผู้ปกปิดความจริงแล้ว ตัณหาก็ย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ เมื่อตัณหาไม่เกิดแล้ว การกระทำต่างๆ ของคนทั้งหลายก็ไม่สำเร็จเป็นสังขาร ฉะนั้น อวิชชาและตัณหาธรรม ๒ อย่างนี้ อวิชชาเป็นตัวสำกัญมากกว่าตัณหา ด้วยเหตุนี้แหละพระพุทธองค์จึง ได้ทรงยกเอาอวิชชาขึ้นตั้งไว้ เป็นเหตุอันดับแรก ไม่ใช่หมายเอาว่า อวิชชาเกิดก่อนธรรมอื่นๆ ในการหมุนเวียนแห่งปฏิจจสมุปบาท

      ในการแสดงคาถาบทสุดท้ายที่ว่า "วฏฺฏมาพนฺธมิจฺเจวํ" เป็นต้น จนถึง "ปฏฺฐเปสิ มหามุนิ" นั้น คาถาบทนี้มีความหมายว่า ความเป็นอยู่ของสัตว์ทั้งหลายที่หมุนเวียนติดต่อกัน คือเกิดขึ้น เป็นอยู่ ตาย เมื่อตายแล้วก็เกิดขึ้นเป็นอยู่ ตาย อีกดังนี้เรื่อยไปไม่ขาคสาย เหล่านี้ เมื่อว่าโดยธรรมาธิฎฐาน ก็ล้วนแล้วแต่เป็นการเกิดขึ้นของปฏิจจสมุปบาทธรรมทั้งสิ้น กล่าวคือเมื่อมีอวิชชาแล้วก็เป็นเหตุให้สังขารเกิดขึ้นโดยเฉพาะเท่านั้น หาใช่ตัวตน เรา เขา ชาย หญิง มนุษย์ เทวดา เกิดขึ้นไม่ เป็นต้น และเมื่อมีชาติเล้วก็เป็นเหตุให้ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัสสะ อุปายาสะ เกิดขึ้น หาใช่ตัวตน เรา เขา ชาย หญิง มนุษย์ เทวดา เกิดขึ้นไม่ และเมื่อมีโสกะ ปริเทวะ เป็นต้นแล้ว ก็เป็นเหตุให้อวิชชาเกิดขึ้น หาใช่ตัวตน เรา เขา ชาย หญิง มนุษย์ เทวคา เกิดขึ้นไม่ ความเป็นไปได้ดังนี้ ย่อมได้ชื่อว่า วัฏฎสงสาร เพราะมีความผูกพันกันอยู่ไม่ขาคสาย อย่างหนึ่ง ย่อมเป็นไปอยู่ใบภูมิทั้ง ๓ อย่างหนึ่ง และหาเบื้องต้นมิได้อย่างหนึ่งด้วยเหตุนี้แหละ สมเด็จพระจอมมุนีจึงตรัสว่า เป็นปฏิจจสมุปบาท

      อนึ่ง ที่กล่าวว่าหาเบื้องต้นไม่ได้นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงกล่าวในท่ามกลางภิกษุทั้งหลายว่า "อนมตคฺโคยํ ภิกฺขเว สํสาโร ปุพฺพโกฏิ น ปญฺญายติ อวิชฺชานีวรณานํ สตฺตานํ ตณฺหาสัโยชนานํ สนฺธาวตํ สํสารตํ"  (สํ. นิ. ๑๖/ข้อ ๔๒๒)

      แปลความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สังสารวัฎนี้ ย่อมรู้เบื้องต้นไม่ได้ เบื้องปลายนั้นย่อมไม่ปรากฏ สัตว์ทั้งหลายที่มีอวิชชานิวรณ์และตัญหาสังโยชน์เหล่านี้ จึงได้วนเวียนอยู่ในสังสาระ


จำแนกองค์ปฏิจจสมุปบาทโดยสัจจะ ตามอภิธรรมภาชนียนัย

อวิชชา สังขาร                                               จัดเป็น สมุทยสัจจะ

วิญญาณ นามรูป สพายตนะ ผัสสะ เวทนา จัดเป็น ทุกขสัจจะ

ตัณหา อุปาทาน กัมมภวะ                             จัดเป็น สมุทยสัจจะ

อุปปัตติภวะ ชาติ ชรามรณะ                        จัดเป็น ทุกขสัจจะ


แสดงการเปรียบเทียบองค์ปฏิจสมุปบาทตามนัยสัมโมหวิโนทนีอรรถกถา

อวิชชา               เปรียบเหมือน      คนตาบอด

สังขาร               เปรียบเหมือน      คนตาบอด เดินสะดุด

วิญญาณ             เปรียบเหมือน      คนตาบอด หกล้ม

นามรูป               เปรียบเหมือน      คนตาบอด เกิดบาดแผลขึ้นเพราะหกล้ม

สฬายตนะ            เปรียบเหมือน      แผลที่พุขึ้นใหม่ติดต่อกับแผลเก่า

ผัสสะ                เปรียบเหมือน      แผลเก่ากับแผลใหม่ถูกกระทบกับสิ่งหนึ่งสิ่งใด

เวทนา               เปรียบเหมือน      คนตาบอดนั้นรู้สึกเจ็บปวคแผลที่ถูกกระทบกระทั่ง

ตัณหา               เปรียบเหมือน      คนตาบอดมีความต้องการยามารักษาบาคแผลนั้น

อุปาทาน             เปรียบเหมือน      คนตาบอดไปเอายาที่ไม่ถูกกับแผลมา

ภวะ                 เปรียบเหมือน      คนตาบอดเอายานั้นมาทาที่แผล

ชาติ                 เปรียบเหมือน      แผลที่ลุกลามมากขึ้นเพราะไม่ถูกกับยา

ชรามรณะ            เปรียบเหมือน      แผลที่แตกเลอะเทอะ


----------///----------


[full-post]

ปริจเฉทที่๘,ปฏิจจสมุปบาท,ปัจจยสังคหะ,อภิธัมมัตถสังคหะ,

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.