อธิบายบาลีข้อที่ ๒ แสดงถึงลักษณะ ๓
"ลักษณะ" หมายความว่า เป็นเครื่องหมายของสังขารธรรม ดังนั้นสิ่งทั้งหลายที่ปรากฎในโลกนี้ ไม่ว่าจะเป็นรูปหรือนาม สิ่งที่มีชีวิตหรือไม่มีชีวิต ทั้งภายในภายนอกนั้น ถ้าได้พิจารณาเห็นสิ่งเหล่านี้ ก็จะทราบเครื่องหมายทั้ง ๓ อย่าง คือ อนิจจตา ทุกขตา อนัตตตา ครบถ้วนบริบูรณ์ แล้วจะตัดสินได้ว่าสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสังขารธรรมทั้งสิ้น คือ ธรรมที่เกิดขึ้นโดยมีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง ดังมีวจนัตถะว่า "ลกฺขียติ ลกฺขิตพฺพํ อเนนาติ ลกฺขณํ" บัณฑิตทั้งหลายได้รู้จำธรรมที่ควรรู้ (ว่าเป็นสังขตะ) โดยเครื่องหมายนั้น ฉะนั้น เครื่องหมายอันเป็นเหตุแห่งการรู้จำธรรมที่ควรรู้ว่าเป็นสังขตะนั่น จึงชื่อว่า "ลักขณะ"
"อนิจฺจสฺส ลกฺขณํ อนิจฺจลกฺขณํ" เครื่องหมายของสังขตธรรมที่ไม่เที่ยงชื่อว่า "อนิจจลักขณะ" ได้แก่ ความสิ้นไป คับไป ดังที่แสดงว่า "อนิจฺจํ ขยฏฺเฐน" เป็นอนิจจะ ด้วยอรรถว่า ความสิ้นไป ความดับไปนั้นเอง
อีกนัยหนึ่ง "อนิจฺจสฺส ภาโว อนิจฺจตา" ความเป็นอยู่ คือสิ้นไป ดับไปอยู่เรื่อยๆติดต่อกันของสังขตธรรม ที่ไม่เที่ยง ชื่อว่า "อนิจจตา" "อนิจจตาเยว ลกฺขณํ อนิจฺจลกฺขณํ" ความเป็นอยู่ คือสิ้นไป ดับไป อยู่เรื่อยๆ ติดต่อกันของสังขตธรรมที่ไม่เที่ยงนั้นแหละ เป็นเครื่องหมายให้รู้ได้ ได้ชื่อว่า "อนิจจลักขณะ" "ทุกขสฺส ลกฺขณิ ทุกฺขลกฺขณํ" เครื่องหมายของสังขตธรรมที่เป็นทุกข์ ชื่อว่า "ทุกขลักขณะ" ได้แก่ ความทนอยู่ไม่ได้ต้องดับไป ดังที่แสดงว่า "ทุกฺขํ ภยฏฺเฐน" เป็นทุกข์ ด้วยอรรถว่า เป็นภัยที่น่ากลัวนั่นเอง
อีกนัยหนึ่ง "ทุกฺขสฺส ภาโว ทุกฺขตา" ความทนอยู่ไม่ได้ต้องดับไปอยู่เรื่อยๆ ติดต่อกันของสังขตธรรมที่เป็นทุกข์ ชื่อว่า "ทุกขตา" "ทุกฺขตาเยว ลกฺขณํ ทุกฺขลกฺขณํ" ความทนอยู่ไม่ได้ต้องดับไปอยู่เรื่อยๆ ติดต่อกันของสังขตธรรมที่เป็นทุกข์นั้นแหละ เป็นเครื่องหมายให้รู้ได้ จำได้ ชื่อว่า "ทุกขลักขณะ" "อนตฺตสฺส ลกฺขณํ อนตฺตลกฺขณํ" เครื่องหมายของธรรมทั้งปวงที่ไม่ใช่อัตตะชื่อว่า "อนัตตลักขณะ" ได้แก่ ความไม่มีแก่นสาร ปราศจาก เรา เขา ที่จะบังคับบัญชาให้เป็นไปตามความต้องการ ดังที่แสดงว่า "อนตฺตา อสารกฏฺเฐน" เป็นอนัตตาเพราะอรรถว่าไม่มีแก่นสาร ปราศจาก เรา เขา ที่จะบังคับบัญชาให้เป็นไปตามความต้องการนั้นเอง
อีกนัยหนึ่ง "อนตฺตสฺส ภาโว อนตฺตตา" ความไม่มีแก่นสาร ปราศจาก เรา เขาที่จะบังคับบัญชาให้เป็นไปตามความต้องการของธรรมทั้งปวง ชื่อว่า "อนัตตตา" "อนตฺตตาเยว ลกฺขณํ อนตฺตลกฺขณํ" ความไม่มีแก่นสาร ปราศจาก เรา เขา ที่จะบังคับบัญชาให้เป็นไปตามความต้องการของธรรมทั้งปวงนั้นแหละ เป็นเครื่องหมายให้รู้ได้จำได้ ชื่อว่า "อนัตตลักขณะ"
ความต่างกันระหว่าง อนิจจัง, ทุกขัง, อนัตตา กับ อนิจจลักขณะ, ทุกขลักขณะ, อนัตตลักขณะ
อนิจจัง และ ทุกขัง ทั้ง ๒ นี้ ได้แก่ สังขตธรรม คือรูปนาม ขันธ์ ๕ ที่เป็นปรมัตถ์อย่างเดียว คำว่า "อนัตตา" นั้นได้แก่ สังขตธรรม และอสังขตธรรม คือรูปนาม ขันธ์ ๕ นิพพาน และบัญญัติ ซึ่งเป็นไปในธรรมทั้งหมด ดังนั้น สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสเทศนาว่า "สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจา, สพุเพ สงฺขารา ทุกฺขา, สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา"
ส่วนคำว่า "อนิจจลักขณะ, ทุกขลักขณะ, อนัตตลักขณะ" นั้น ได้แก่อาการบัญญัติ คือความเป็นไปแห่งรูปนาม ขันธ์ ๕ นิพพาน และบัญญัติ หาใช่เป็นตัวสภาวปรมัตถ์ และสัททบัญญัติ, อัตถบัญญัติ แต่ประการใดไม่ ฉะนั้น อาการบัญญัติของรูป นาม ขันธ์ ๕ ก็ได้แก่ อาการที่ดับไป สิ้นไป นั้นเอง อาการบัญญัติของนิพพานก็ได้แก่ อาการที่ไม่มีความเกิด ดับ มีความสงบจากกิเลสขันธ์ ๕ ทั้งปวง อาการบัญญัติของสัททบัญญัติและอัตถบัญญัติ ก็ได้แก่อาการที่ไม่มีความเกิดดับ แต่สัททบัญญัติ ชนิดวิชชมานบัญญัติ มีสภาวองค์ธรรมรับรอง เช่นคำว่า รูป เวทนา สัญญาสังขาร วิญญาณ นิพพาน เป็นต้น ส่วนอัตถบัญญัตินั้นไม่มีสภาวองค์ธรรมรับรอง เพียงแต่เป็นไปตามคำที่สมมติกันขึ้น และเป็นไปตามรูปร่างสัณฐาน ส่วนสัดของมหาภูตรูปนั้นๆ ดังนั้น เมื่อสรุปลงแล้วก็คงได้ความว่า คำว่า "อนิจจัง" และ "อนิจจลักขณะ" นั้นเป็นคนละอย่าง คือ อนิจจัง ไม่ใช่เป็นอนิจจลักขณะๆ ก็มิใช่เป็นอนิจจังทุกขัง และ ทุกขลักขณะ อนัตตา และ อนัตตลักขณะ ก็คงเป็นไปในทำนองเดียวกันนี้อุปมาเสมือนกับคำที่กล่าวว่า "บุรุษไป" (ปริโส คจุฉติ) ในที่นี้คำว่า "บุรุษ" ได้แก่ร่างกาย คำว่า "ไป" ได้แก่กิริยาอาการของบุรุษที่กำลังยกเท้าก้าว ดังนั้น "บุรุษ"จึงมิใช่เป็นอาการไป, อาการไปก็มิใช่เป็นบุรุษ เพียงแต่อาศัยอยู่ในตัวบุรุษ, บุรุษนั่ง,บุรุษนอน, บุรุษยืน ก็เช่นเดียวกัน
เหตุที่คำว่า "อนิจจัง กับ อนิจจลักขณะ" เป็นต้น มีความต่างกัน ดังที่กล่าวแล้ว เพราะฉะนั้น พระมหาพุทธ โฆษาจารย์จึงได้แสดงไว้ในวิสุทธิมรรคว่า :
(อนิจจัง) "อนิจฺจนฺติ ขนฺธปญฺจกํ, กสฺมา อุปฺปาทวยญฺญถตฺตภาวา หุตฺวา อภาวโต วา" รูปนาม ขันธ์ ๕ ชื่อว่า อนิจจัง เพราะว่า มีการวิปริตผิดแปลกเปลี่ยนไปด้วยความเกิดดับ และเป็นอย่างอื่น (ชรา) อีกนัยหนึ่ง เพราะเกิดขึ้นแล้วก็เสื่อมสิ้นดับไปไม่มีเหลือ
(อนิจจลักขณะ) "อุปฺปาทวยญฺญถตฺตํ อนิจฺจลกฺขณํ, หุตฺวา อภาวสงฺขาโต วา อาการวิกาโร" ความเป็นไปที่มีอาการผิดแปลกเปลี่ยนไป โดยความเกิดดับ และเป็นอย่างอื่น (ชรา) ชื่อว่า อนิจจลักขณะ อีกนัยหนึ่ง อาการเป็นไปที่เกิดขึ้นแล้วก็เสื่อมสิ้นดับไป ไม่มีเหลือ ชื่อว่า "อนิจจลักขณะ"
(ทุกขัง) ยทนิจฺจํ ทุกฺขนฺติ วจนโต ปน ตเทว ขนฺธปญฺจกํ, ทุกขํ กสฺมา อภิณฺหปฏิปีฬนา" รูปนามขันธ์ ๕ นี้แหละเป็นทุกข์ สมดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงไว้ว่า สิ่งใดไม่เที่ยงสิ่งนั้นเป็นทุกข์ เพราะรูปนามขันธ์ ๕ ถูกเบียดเบียนบีบคั้นอยู่เนืองๆ โดยความเกิดดับ
(ทุกขลักขณะ) "อภินฺหปฏิปีฬนากาโร ทุกฺขลกฺขณํ" อาการเบียดเบียนบีบคั้นอยู่เนืองๆ ชื่อว่า "ทุกขลักขณะ"
(อนัตตา) "ยํ ทุกฺขํ ตทนตฺตาติ ปน วจนโต ตเทว ขนฺธปญฺจกํ อนตฺตา, กสฺมา อวสวตฺตนโต" รูปนามขันธ์ ๕ นั่นแหละ ชื่อว่า เป็นอนัตตา สมดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงไว้ว่า สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา เพราะรูปนามขันธ์ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของผู้ใดทั้งสิ้น
(อนัตตลักขณะ) "อวสวตฺตนากาโร อนตฺตลกฺขณํ" อาการที่ไม่เป็นไปในอำนาจบังคับบัญชาของผู้ใด ชื่อว่า อนัตตลักขณะ เหตุผล ในคำว่า อนัตตา มีองค์ธรรมไม่เท่ากัน คือ "สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา" ได้แก่ รูปนามขันธ์ ๕ นิพพาน บัญญัติกับ "ตเทว ขนฺธปญฺจกํ อนตฺตา" ได้แก่ รูปนามขันธ์ ๕ ทั้ง ๒ บทนี้ ล้วนแต่เป็นพุทธภาษิต ด้วยกัน แต่องค์ธรรมไม่เหมือนกัน ที่เป็นดังนี้ก็เพราะเนื่องมาจากการแสดงธรรมเทศนาของพระพุทธองค์ คือ "สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา" ทรงแสดงให้พุทธบริษัททั้งหลายได้ทราบถึงสิ่งทั้งปวงที่มีอยู่ในโลก ไม่ว่าจะเป็นปรมัตถ์ หรือบัญญัติล้วนแต่เป็นอนัตตาด้วยกันทั้งสิ้น ส่วน "ตเทว ขนฺธปญฺจกํ อนตฺตา" นั้น ทรงแสดงรูปนามขันธ์ ๕ ที่เป็นอารมณ์ของวิปัสสนาญาณ ประการเดียว เหตุนั้น คำว่า "อนตฺตา" ที่อยู่ในบททั้ ทั้งสองจึงได้องค์ธรรมไม่เท่ากัน
จบ อธิบายลักษณะ ๓ เพียงเท่านี้
--------------
แสดงความคิดเห็น
ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ