๖. ผสฺสปจฺจยา เวทนา สมฺภวติ

    เวทนา ๖ ย่อมปรากฏเกิดขึ้น เพราะอาศัยผัสสะ ๖ เป็นเหตุ


    เวทนา ๖ ที่เกิดขึ้นโดยอาศัยสัมผัสสะนั้น คือ

       ๑. จักขุสัมผัสสชา เวทนา การเสวยอารมณ์ที่เกิดขึ้นโดยอาศัยการกระทบกันระหว่างจักขุวิญญาณกับรูปารมณ์ ได้แก่เวทนาที่อยู่ในจักขุวิญญาณจิต

       ๒. โสตสัมผัสสชา เวทนา การเสวยอารมณ์ที่เกิดขึ้นโดยอาศัยการกระทบกันระหว่างโสตวิญญาณกับสัททารมณ์ ได้แก่เวทนาที่อยู่ในโสตวิญญาณจิต

       ๓. ฆานสัมผัสสชา เวทนา การเสวยอารมณ์ที่เกิดขึ้นโดยอาศัยการกระทบกันระหว่างฆานวิญญาณกับกันธารมณ์ ได้แก่เวทนาที่อยู่ในมานวิญญาณจิต

       ๔. ชิวหาสัมผัสสชา เวทนา การเสวยอารมณ์ที่เกิดขึ้นโดยอาศัยการกระทบกันระหว่างชิวหาวิญญาณกับรสารมณ์ ได้แก่เวทนาที่อยู่ในชิวหาวิญญาณจิต

       ๕. กายสัมผัสสชา เวทนา การเสวยอารมณ์ที่เกิดขึ้นโดยอาศัยการกระทบกันระหว่างกายวิญญาณกับโผฏฐัพพารมณ์ ได้แก่เวทนาที่อยู่ในกายวิญญาณจิต

       ๖. มโนสัมผัสสชา เวทนา การเสวยอารมณ์ที่เกิดขึ้นโดยอาศัยการกระทบกันระหว่างมโนวิญญาณกับธรรมารมณ์หรืออารมณ์ ๖ ได้แก่เวทนาที่อยู่ในโลกียวิปากจิต ๒๒ (เว้นทวิปัญจวิญญาณจิต)


แสดงวจนัตถะของ เวทนาทั้ง ๖

       "เวทยตีติ = เวทนา"

       ธรรมชาติใดย่อมเสวยอารมณ์ ฉะนั้น ธรรมชาตินั้นชื่อว่า เวทนา

      - จกฺขุสมฺผสฺสโต ชาตา เวทนาติ = จกฺขุสมฺผสฺสชา เวทนา

      - โสตสมฺผสฺสโต ชาตา เวทนาติ - โสตสมฺผสฺสชา เวทนา

      - ฆานสมฺผสฺสโต ชาตา เวทนาติ - มานสมฺผสฺสชา เวทนา

      - ชิวหาสมฺผสฺสโต ชาตา เวทนาติ - ชิวฺหาสมฺผสฺสชา เวทนา

      - กายสมฺผสฺสโต ชาตา เวทนาติ = กายสมฺผสฺสชา เวทนา

      - มโนสมฺผสฺสโต ชาตา เวทนาติ = มโนสมฺผสฺสชา เวทนา

แปลว่า -

      - เวทนาที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยจักขุสัมผัสสะเป็นเหตุ ฉะนั้นจึงชื่อว่า จักขุสัมผัสสชาเวทนา    

      - เวทนาที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยโสตเป็นเหตุ ฉะนั้นจึงชื่อว่า  โสตสัมผัสสชาเวทนา  

      - เวทนาที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยฆานเป็นเหตุ ฉะนั้นจึงชื่อว่า ฆานสัมผัสสชาเวทนา  

      - เวทนาที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยชิวหาเป็นเหตุ ฉะนั้นจึงชื่อว่า ชิวหาสัมผัสสชาเวทนา  

      - เวทนาที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยกายเป็นเหตุ ฉะนั้นจึงชื่อว่า กายสัมผัสสชาเวทนา  

      - เวทนาที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยมโนเป็นเหตุ ฉะนั้นจึงชื่อว่า มโนสัมผัสสชาเวทนา  

      เวทนาทั้ง ๖ เหล่านี้ เมื่อจำแนกโดย สุข ทุกข์ เฉยๆ แล้วได้ดังนี้ถือ ตั้งแต่จักขุสัมผัสสชาเวทนา จนถึงชิวหาสัมผัสสชาเวทนาทั้ง ๔ นี้ เป็นการเสวยอารมณ์ชนิดอุเบกขา

      กายสัมผัสสชาเวทนา เป็นการเสวยอารมณ์ชนิดสุข ๑ ทุกข์ ๑, 

      มโนสัมผัสสชาเวทนา เป็นการเสวยอารมณ์ชนิดสุข ๑ ทุกข์ ๑ อุเบกขา ๑

      เมื่อว่าโดยธรรมชาติที่เป็นไปอยู่ในโลกนี้แล้ว การเสวยอารมณ์มีอยู่ ๓ อย่างคือ

      ๑. ความรู้สึกสบายกายสบายใจ ในเมื่อได้ประสบกับอารมณ์ที่ถูกใจเรียกว่า สุขเวทนาอย่างหนึ่ง

      ๒. ความรู้สึกไม่สบายกายไม่สบายใจ ในเมื่อได้ประสบกับอารมณ์ที่ไม่ถูกใจ เรียกว่า ทุกขเวทนาอย่างหนึ่ง

      ๓. ความรู้สึกเฉยๆ ในเมื่อได้ประสบกับอารมณ์ปานกลาง เรียกว่าอุเบกขาเวทนาอย่างหนึ่ง

      เมื่อว่าโดยปุดคลาธิฏฐานแล้วการเสวยอารมณ์ย่อมมี ๒ คือ สุข ๑ ทุกข์ ๑ 

         - สุข ได้แก่ สุขสหคตกายสัมผัสสชาเวทนา โสมนัสสสหคตมโนสัมผัสสชาเวทนา 

         - อุเบกขาเวทนาที่เกี่ยวกับกุศล กริยา 

         - และกุศลวิบากทุกข์ ได้แก่ ทุกขสหคตกายสัมผัสสชาเวทนา โทมนัสสสหคตมโนสัมผัสสชาเวทนา 

         - อุเบกขาที่เกี่ยวกับอกุศล และกุศลวิบาก

      ความสุขและความทุกข์ดังกล่าวแล้วนี้ จะเกิดขึ้นได้นั้นก็โดยอาศัยผัสสะอันได้แก่ การกระทบกันระหว่างจิตกับอารมณ์นั้นเองเป็นเหตุ ฉะนั้น ความสุขก็ดี ความทุกข์ก็ดีที่มีมากหรือน้อยนั้น ก็ต้องแล้วแต่กำลังของผัสสะ กล่าวคือถ้าการกระทบกันระหว่างจิตกับอารมณ์มีกำลังมาก ความรู้สึกสุข ทุกข์ ก็ปรากฏมาก ถ้าการกระทบกันระหว่างจิตกับอารมณ์มีกำลังน้อย ความรู้สึกสุข ทุกข์ก็ปรากฏน้อย อุปมาเหมือนขณะที่กินอาหาร ฟันมีหน้าที่เคี้ยวอาหาร ลิ้นมีหน้าที่รู้รส ถ้าฟันได้ทำหน้าที่เดียวให้เต็มที่แล้ว ลิ้นก็รู้รสได้อย่างชัดเจน ถ้าฟันไม่ได้ทำหน้าที่เคี้ยวให้เต็มที่แล้ว ลิ้นก็รู้รสน้อย ข้อนี้ฉันใด ผัสสะก็เปรียบเหมือนฟันเวทนาก็เปรียบเหมือนลิ้น อารมณ์เปรียบเหมือนอาหาร การกระทบกันระหว่างจิตกับอารมณ์เปรียบเหมือนการเคี้ยวอาหาร การกระทบที่มีกำลังมากหรือน้อยนั้นเปรียบเหมือนการเคี้ยวได้เต็มที่และไม่เต็มที่นั้นเอง

      การกระทบกันระหว่างจิตกับอารมณ์ที่เรียกว่าผัสสะ ดังกล่าวมานี้จะเห็นได้ในความเป็นไปที่เกิดขึ้นกับคนทั้งหลาย เช่นในขณะที่ดูละครหรือภาพยนตร์ถ้าเห็นไม่ชัดได้ยินไม่ชัด โดยที่อยู่ไกลเกินไปหรือมีแสงสว่างน้อยไป ซึ่งถ้าว่าโดยธรรมาธิฏฐานแล้ว ก็คือผัสสะมีกำลังน้อยนั้นเอง ด้วยเหตุนี้คนที่ดูนั้นจึงพยายามกระเถิบให้เข้าไปใกล้ๆ เพื่อให้เห็นและได้ยินได้ชัดเจน หรือถ้ามีแสงสว่างน้อยไปก็พยายามหาหนทางให้มีแสงสว่างให้มากขึ้น ถ้าเห็นหรือได้ยินชัดเจนดีแล้ว ก็หมายถึงว่าผัสสะนั้นมีกำลังแรงขึ้น เมื่อผัสสะมีกำลังแรงขึ้นแล้วเวทนา คือ การเสวยอารมณ์นั้นก็ปรากฏชัดเจนยิ่งขึ้น คือเห็นชัดเจนขึ้นได้ยินชัดเจนขึ้นนั้นเอง เมื่อมีการเห็นชัดได้ยินชัดแล้ว อิฏฐรสหรืออนิฏฐรสที่มีอยู่ในอารมณ์นั้นๆ ก็ย่อมปรากฎชัด ทั้งนี้ก็เพราะว่า จักขุวิญญาณ คือการเห็นเป็นต้นนั้น มีหน้าที่เพียงแต่กระทำ รูป เสียง กลิ่น รส เป็นต้น ให้เป็นอารมณ์เท่านั้นหาได้กระทำให้อิฏฐรส หรืออนิฏฐรสที่มีอยู่ในอารมณ์นั้นๆ ให้ปรากฎขึ้นได้ไม่ ธรรมที่สามารถกระทำอิฏฐรส หรืออนิฏฐรสให้ปรากฏขึ้นได้นั้น ได้แก่ ผัสสะ 

      ฉะนั้น ในเวลาใดที่ได้รับอารมณ์ที่ดี ก็หมายถึงว่าผัสสะได้กระทำหน้าที่บีบให้อิฏฐรสปรากฏขึ้น และในเวลาใดที่ได้รับอารมณ์ที่ไม่ดี ก็หมายถึงว่าผัสสะได้กระทำหน้าที่บีบให้อนิฏฐรสปรากฎขึ้น เมื่ออิฎฐรสหรืออนิฏฐรสปรากฎขึ้นแล้ว เวทนาก็เข้าไปกระทำหน้าที่เสวยคือรู้สึกสบายหรือไม่สบายในอารมณ์นั้นๆ ด้วยเหตุนี้ ขณะใดที่เวทนากำลังเสวยความสุขในอารมณ์อยู่ เวทนานั้นย่อมแสดงอาการให้ปรากฎขึ้นแก่บุคคลนั้น คือทำให้มีหน้าตาแจ่มใสชื่นบาน ที่ทางโลกสมมุติกันว่าคนนั้น คนนี้กำลังมีความสุข และในขณะใดที่เวทนากำลังเสวยความทุกข์ในอารมณ์อยู่ เวทนานั้นก็ย่อมแสดงอาการให้ปรากฏขึ้นแก่บุคคลนั้นเช่นเดียวกัน คือทำให้มีหน้าตาเศร้าหมอง ที่สมมติกันว่าคนนั้นคนนี้กำลังมีความทุกข์อยู่นั้นเอง


แสดง ลักษณะ รส ปัจจุปัฏฐาน ปทัฏฐาน ของเวทนา

      ๑. อนุภวนลกฺขณา มีการเสวยอารมณ์เป็นลักษณะ

      ๒. วิสยรสสมฺโภครสา มีการเสวยรสของอารมณ์เป็นกิจ

      ๓. สุขทุกฺขปจฺจุปฏฺฐานา มีความสุขและทุกข์ เป็นอาการปรากฏในปัญญาของบัณฑิตทั้งหลาย

      ๔. ผสฺสปทฏฺฐานา มีผัสสะเป็นเหตุใกล้


แสดงการสงเคราะห์ปัจจัย ๒ ๔ เข้าในบท ผสฺสปจฺจยา เวทนา

      ผัสสะทั้ง ๖ เป็นปัจจัยช่วยอุปการะแก่เวทนาทั้ง ๖ นั้น ได้อำนาจปัจจัย ๘ คือ

      ๑. สหชาตปัจจัย ๒. อัญญมัญญปัจจัย ๓. สหชาตนิสสยปัจจัย ๔. วิปากปัจจัย ๕. นามอาหารปัจจัย ๖. สัมปยุตตปัจจัย ๗. สหชาตปัจจัย ๘. สหชาตอวิตปัจจัย


จบ ผสฺสปจฺจยา เวทนา

---------////---------

[full-post]

ปริจเฉทที่๘,ปฏิจจสมุปบาท,ปัจจยสังคหะ,อภิธัมมัตถสังคหะ,

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.