๕. สฬายตนปจฺจยา ผสฺโส สมฺภวติ
ผัสสะ ๖ ย่อมปรากฏเกิดขึ้น เพราะอาศัยอัชมัตติกายตนะ ๖ เป็นเหตุ
สฬายตนะ ที่เป็นเหตุให้เกิดผัสสะนี้ก็ได้แก่อัชมัตติกายตนะ ๖ ที่เป็นผลของนามรูปนั้นเอง
ผัสสะ ๖ คือ
๑. จักขุสัมผัสสะ ๒. โสตสัมผัสสะ ๓. ฆานสัมผัสสะ ๔. ชิวหาสัมผัสสะ ๕. กายสัมผัสสะ ๖. มโนสัมผัสสะ
ผัสสะทั้ง ๖ นี้ ได้แก่ ผัสสเจตสิกที่ประกอบกับโลกียวิปากจิต ๓๒
แสดงวจนัตถะของ ผัสสะ
"อารมฺมณํ ผุสตีติ = ผสฺโส"
ธรรมชาติที่กระทบซึ่งอารมณ์ ฉะนั้นธรรมชาตินั้นชื่อว่า ผัสสะ
อีกนัยหนึ่ง
"ผุสนฺติ สมฺปยุตฺตธมฺมา เอเตนาติ = ผสฺโส"
สัมปยุตตธรรม คือ จิต และเจตสิกทั้งหลาย ย่อมกระทบซึ่งอารมณ์โดยธรรมชาตินั้น ฉะนั้น ธรรมชาติที่เป็นเหตุให้สัมปยุตตธรรมกระทบซึ่งอารมณ์นั้นชื่อว่า ผัสสะ
อีกนัยหนึ่ง
"ผุสนํ = ผสฺโส" (วา) "สํผุสเต = สมฺผสฺโส"
การกระทบอารมณ์ ชื่อว่า ผัสสะ หรือชื่อว่า สัมผัสสะ
วจนัตถะ ของ จักขุสัมผัสสะเป็นต้น
"จกฺขุวิญฺณาเณน สมฺปยุตฺโต สมฺผสฺโสติ = จกฺขุสมฺผสฺโส"
ผัสสะ คือการกระทบที่ประกอบกับจักขุวิญญาณ ฉะนั้น จึงชื่อว่าจักขุสัมผัสสะ ได้แก่ ผัสสะเจตสิก ที่ประกอบกับจักขุวิญญาณ (โสตสัมผัสสะ ฯลฯ กายสัมผัสสะ ก็แสดงในทำนองเดียวกัน)
"มโนวิญญาเณน สมฺปยุตฺโต สมฺผสฺโสติ = มโนสมฺผสฺโส"
ผัสสะ คือการกระทบที่ประกอบกับมโนวิญญาณ ฉะนั้น จึงชื่อว่ามโนสัมผัสสะ ได้แก่ ผัสสเจตสิก ที่ประกอบกับโลกียวิปากจิต ๒๒ (เว้นทวิปัญจวิญญาณ)
อธิบายว่า คนที่ตายแล้ว แม้ว่าจะมี ตา หู จมูก ลิ้น กาย อยู่ก็ตามแต่ผัสสะต่างๆ มีจักขุสัมผัสสะเป็นต้น ย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ หมายความว่า การเห็นการได้ยิน การได้กลิ่น การรู้รส การถูกต้อง การนึกคิดต่างๆ ไม่มี ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะขาดปสาทรูปทั้ง ๕ และภวังคจิต ที่เรียกว่า สฬายตนะนั้นเอง และในผู้ที่มีชีวิตอยู่นั้น ถ้าตาบอดเสียแล้ว จักขุสัมผัสสะก็เกิดไม่ได้ หรือถ้าหูหนวกเสียแล้ว โสตสัมผัสสะก็เกิดไม่ได้เป็นต้นเช่นเดียวกัน
อนึ่ง ผัสสะที่เป็นผลของสพายตนะนี้ ได้แก่ การประชุมพร้อมกันระหว่างปสาทรูปทั้ง ๕ กับปัญจารมณ์และปัญจวิญญาณ ชื่อว่า จักขุสัมผัสสะโสตสัมผัสสะ ฆานสัมผัสสะ ชิวหาสัมผัสสะ กายสัมผัสสะ เพราะการที่จักขุวิญญาณเป็นต้น เกิดขึ้นได้นั้น ก็อาศัยการกระทบกันระหว่างจักขุปสาท กับรูปารมณ์ โสตปสาท กับ สัททารมณ์ ฆานปสาท กับ คันธารมณ์ ชิวหาปสาท กับรสารมณ์ กายปสาท กับ โผฎฐัพพารมณ์ แล้วจึงทำให้จักขุวิญญาณเป็นต้นเกิดขึ้นเมื่อจักขวิญญาณเป็นต้นเกิดขึ้นแล้ว จักขุสัมผัสสะเป็นต้น ก็ปรากฎ ส่วนมโนสัมผัสสะนั้น ได้แก่การกระทบกันระหว่างภวังคจิตกับสภาพธรรมต่างๆ ทั้งปรมัตถ์และบัญญัติ ซึ่งได้แก่ธรรมารมณ์หรืออารมณ์ ๖ หมายเอาในระหว่างที่วิถีจิตยังไม่เกิด เพราะภวังคจิตที่เกิดขึ้นนั้น ก็ได้กระทบกับอารมณ์ที่เป็น กรรมกรรมนิมิต คตินิมิต อย่างใดอย่างหนึ่งอยู่เสมอ การกระทบนี้แหละ ชื่อว่ามโนสัมผัสสะ ได้แก่ผัสสะที่ประกอบกับภวังคจิตนั้นเอง
อีกนัยหนึ่ง มโนสัมผัสสะ ได้แก่การประชุมพร้อมกันระหว่างภวังคจิตกับสภาพธรรมต่างๆ ทั้งปรมัตถ์ บัญญัติ และมโนวิญญาณ นี้มุ่งหมายเอาในระหว่างที่วิถีจิตเกิดแล้ว เพราะวิถีจิตที่เกิดขึ้นได้นั้นก็ต้องอาศัยการกระทบกันระหว่างภวังคจิตกับสภาพธรรมต่างๆ เป็นเหตุ เมื่อวิถีจิตเกิดขึ้นแล้วมโนสัมผัสสะก็ปรากฎขึ้น แต่ผัสสะที่ประกอบอยู่ในกุศล อกุศล กิริยา นั้นไม่เอา มุ่งหมายเอาแต่เฉพาะผัสสะที่ประกอบอยู่ในวิบากมโนวิญญาณมี สัมปฏิจฉนะ สันตีรณะ ตทารัมมณะ เท่านั้น สมดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงไว้ในนิทานวรรคสังยุตตพระบาลีว่า
"จกฺขุญฺจ ปฏิจฺจ รูเป จ อุปฺปชฺชติ จกฺขุวิญฺญาณํ ติณฺณํ สงฺคติ ผสฺโส"
"โสตญฺจ ปฏิจฺจ สทฺเท จ อุปฺปชฺชติ โสตวิญฺญาณํ ติณฺณํ สงฺคติ ผสฺโส"
"ฆานญฺจ ปฏิจฺจ คนฺเธ จ อุปฺปชฺชติ ฆานวิญฺญาณํ ติณฺณํ สงฺคติ ผสฺโส"
"ชิวฺหญฺจ ปฏิจฺก รเส จ อุปฺปชฺชติ ชิวฺหาวิญฺญาณํ ติณฺณํ สงฺคติ ผสฺโส"
"กายญฺจ ปฏิจฺจ โผฏฺฐพฺเพ จ อุปฺปชฺชติ กายวิญฺญาณํ ติณฺณํ สงฺคติ ผสฺโส"
"มนญฺจ ปฏิจฺจ ธมฺเม จ อุปฺปชฺชติ มโนวิญฺญาณํ ติณฺณํ สงฺคติ ผสฺโส"
ซึ่งแปลว่า
จักขุวิญญาณ ย่อมปรากฏขึ้นได้ เพราะอาศัยจักขุปสาท กับ รูปารมณ์การประชุมร่วมกันระหว่างจักขุปสาท รูปารมณ์ จักขุวิญญาณ ทั้ง ๓ นี้แหละชื่อว่า ผัสสะ
โสตวิญญาณ ย่อมปรากฏขึ้นได้ เพราะอาศัยโสตปสาท กับ สัททารมณ์การประชุมร่วมกันระหว่างโสตปสาท สัททารมณ์ โสตวิญญาณ ทั้ง ๓ นี้แหละชื่อว่า ผัสสะ
ฆานวิญญาณ ย่อมปรากฏขึ้นได้ เพราะอาศัยมานปสาท กับ คันธารมณ์การประชุมร่วมกันระหว่างมานปสาท คันธารมณ์ ฆานวิญญาณ ทั้ง ๓ นี้แหละชื่อว่า ผัสสะ
ชิวหาวิญญาณ ย่อมปรากฏขึ้นได้ เพราะอาศัยชิวหาปสาท กับ รสารมณ์การประชุมร่วมกันระหว่างชิวหาปสาท รสารมณ์ ชิวหาวิญญาณ ทั้ง ๓ นี้แหละชื่อว่า ผัสสะ
กายวิญญาณ ย่อมปรากฏขึ้นได้ เพราะอาศัยกายปสาท กับ โผฏฐัพพารมณ์การประชุมกันระหว่างกายปสาท โผฏฐัพพารมณ์ กายวิญญาณ ทั้ง ๓ นี้แหละชื่อว่า ผัสสะ
มโนวิญญาณ ย่อมปรากฏขึ้นได้ เพราะอาศัยภวังคจิต กับ สภาพธรรมต่างๆ ทั้งปรมัตถ์และบัญญัติ การประชุมร่วมกันระหว่างภวังคจิต สภาพธรรมต่างๆมโนวิญญาณทั้ง ๓ นี้แหละ ชื่อว่า ผัสสะ
อนึ่งการกระทบอารมณ์ของผัสสะนี้ ไม่เหมือนกับการกระทบกันระหว่างรูปต่อรูป เช่น มือ ๒ ข้างกระทบกัน หรือวัตถุ ๒ สิ่งกระทบกัน เป็นการกระทบในอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดตามสภาวะ แต่บางคราวการกระทบอารมณ์ตามสภาวะ ที่ชื่อว่าผัสสะนี้ ก็ปรากฏชัดเจนคล้ายกับมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดมากระทบกับกายเช่น ขณะที่แลเห็นคนอื่นกำลังกินของเปรี้ยวๆ อยู่ ผู้เห็นก็รู้สึกน้ำลายไหล หรือคนใดคนหนึ่งกำลังลับมีดอยู่บนหินที่มีทราย คนที่ได้ยินเสียงนั้นแล้วจะรู้สึกเสียวฟัน หรือบางคนที่ใจอ่อน แลเห็นคนขึ้นไปบนที่สูงมากๆ ก็รู้สึกเสียวไส้กลัวแทน มีอาการขาสั่นใจหวิว หรือคนขลาดได้แลเห็นเขากำลัง ตี ฟันกันมีโลหิตออก ก็รู้สึกกลัวใจสั่นเป็นลม หรือเนื้อเมื่อขณะเห็นเสือ จะก้าวขาไม่ออกยืนตัวเเข็งอยู่กับที่ หรือผู้ที่ได้ข้าไปในสถานที่สงบเงียบ มีสัปบุรุษทั้งหลายกำลังบำเพ็ญกรรมฐานอยู่ เมื่อได้แลเห็นบุคคลและสถานที่เช่นนี้แล้ว ก็มีความรู้สึกว่าจิตใจสบายชุ่มชื่นผ่องใสขึ้นทันที ความเป็นไปดังกล่าวมานี้ ก็คือการกระทบกันระหว่างจิตกับอารมณ์ที่เรียกว่า ผัสสะนั้นเอง และผัสสะทั้ง ๖ เกิดขึ้นได้ก็เพราะมีอัชฌัตติกายตนะ ๖ ที่เกิดจากอดีตกรรมเป็นเหตุ ฉะนั้น พระผู้มีพระภากเจ้าทรงแสดงว่า "สฬายตนปจฺจยา ผสฺโส"
เมื่อจำแนกผัสสะ ๖ โดยภูมิแล้ว ได้ดังนี้ คือ
ในกามภูมิ ๑๑ ผัสสะ ๖ ย่อมเกิดขึ้นได้
ในรูปภูมิ ๑๕ (เว้นอสัญญสัตตภูมิ) ผัสสะย่อมเกิดได้ ๓ คือ จักขุสัมผัสสะ โสตสัมผัสสะ มโนสัมผัสสะ
ในอรูปภูมิ ๔ ผัสสะย่อมเกิดได้ , คือ มโนสัมผัสสะ
ส่วนในอสัญญสัตตภูมินั้น ผัสสะทั้งหมดย่อมเกิดไม่ได้ เพราะไม่มีอัชฌัตติกายตนะ ๖ เกิดในภูมินี้
แสดง ลักษณะ รส ปัจจุปัฏฐาน ของผัสสะ
๑. ผุสนลกฺขโณ มีการกระทบอารมณ์เป็นลักษณะ
๒. สํฆฏฏนรโส มีการทำให้จิตกับอารมณ์ติดต่อกันเป็นกิจ
๓. สงฺคติปจฺจุปฏฺฐาโน มีการประชุมร่วมกันระหว่างวัตถุ อารมณ์และวิญญาณเป็นอาการปรากฎในปัญญาของบัณฑิตทั้งหลาย
๔. สฬายตนปทฏฺฐาโน มีอัชฌัตติกายตนะ เป็นเหตุใกล้
แสดงการสงเคราะห์ปัจจัย ๒๔ เข้าในบท สฬายตนปจฺจยา ผสฺโส
๑. จักขายตนะ เป็นปัจจัยช่วยอุปการะแก่จักขุสัมผัสสะนั้น ได้อำนาจปัจจัย ๖ คือ
๑) วัตถุปุเรชาตนิสสยปัจจัย ๒) วัตถุปุเรชาตปัจจัย ๓) ปุเรชาตินทริยปัจจัย ๔) วัตถุปุเรชาตวิปปยุตตปัจจัย ๕) วัตถุปุเรชาตัตถิปัจจัย ๖) วัตถุปุเรชาตอวิคตปัจจัย
๒. โสตายตนะ ฆานายตนะ ชิวหายตนะ กายายตนะ เป็นปัจจัยช่วยอุปการะแก่โสตสัมผัสสะ ฆานสัมผัสสะ ชิวหาสมผัสสะ กายสัมผัสสะ นั้น ได้อำนาจปัจจัย ๖ ปัจจัย เช่นเดียวกับจักขายตนะเป็นปัจจัย จักขุสัมผัสสะเป็นปัจจยุปบัน
๓. มนายตนะ คือ โลกียวิปากจิต ๒๒ (ทวิปัญจวิญญาณ) เป็นปัจจัยช่วยอุปการะแก่มโนสัมผัสสะ ที่ประกอบกันตนนั้น ได้อำนาจปัจจัย ๘ คือ
๑) สหชาตปัจจัย ๒) อัญญมัญญปัจจัย ๓) สหชาตนิสสยปัจจัย ๔) วิปากปัจจัย ๕) นามอาหารปัจจัย ๖) สหชาตินทริยปัจจัย ๗) สัมปยุตตปัจจัย ๘) สหชาตัตถิปัจจัย ๙) สหชาตอวิคตปัจจัย
จบ สฬายตนปจฺจยา ผสฺโส
---------///----------
แสดงความคิดเห็น
ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ