๗. เวทนาปจฺจยา ตณฺหา สมฺภวติ


      ตัณหา ย่อมปรากฏเกิดขึ้น เพราะอาศัยเวทนา ๖ เป็นเหตุ

      วจนัตถะของคำว่า "ตัณหา"

      "วตฺถุกามํ ปริตสฺสสตีติ = ตณฺหา" ธรรมชาติใดย่อมติดใจซึ่งวัตถุกาม จะนั้น ธรรมชาตินั้นชื่อว่า ตัณหา

อีกนัยหนึ่ง

      "วตฺถุกามํ ตสฺสนฺติ ปริตสฺสนฺติ สตฺตา เอตายาติ = ตณฺหา"

      สัตว์ทั้งหลายย่อมยินดีติดใจซึ่งวัตถุกามโดยธรรมชาตินั้น จะนั้นธรรมชาติที่เป็นเหตุให้สัตว์ทั้งหลายยินดีติดใจซึ่งวัตถุกามนั้น ชื่อว่า ตัณหา ได้แก่โลภเจตสิกที่อยู่ในโลภมูลจิต ๘

      อธิบายว่า เมื่อรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และสภาพธรรมต่างๆ มาปรากฏในทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้ว ตัณหาคือความยินดีติดใจในอารมณ์นั้นๆ ก็ย่อมเกิดขึ้นเป็นธรรมดาแก่คนทั่วไป ยกเว้นแต่พระอรหันต์ และถ้าอารมณ์นั้นเกี่ยวกับกามคุณอารมณ์แล้ว ก็ยกเว้นพระอนาคามีด้วย ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะอาศัยมีเวทนา คือ ความรู้สึกในการเห็น การ ได้ยินเป็นต้นนั้นเอง และธรรมดาคนทั้งหลายที่จะเกิดความพอใจติดใจในอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดก็ตามจะต้องเป็นอารมณ์ที่ตนได้เคยประสบมาแล้ว หรือกำลังได้รับอยู่สำหรับอารมณ์ที่ตนยังไม่เคยได้พบนั้น ตัณหาย่อมเกิดได้ยาก เพราะเวทนาคือการเสวยอารมณ์ที่ตนยังไม่เคยพบนั้น ย่อมป็นได้ยาก ตัณหาคือความพอใจติดใจในอารมณ์มีรูปเสียง กลิ่น รส เป็นต้นเหล่านี้ ก็คือความพอใจต่อสุขเวทนาที่ได้รับจากอารมณ์นั้นๆ นั่นเอง เมื่อพอใจต่อสุขเวทนาแล้ว ก็ต้องมีความพอใจในอารมณ์ที่ทำให้สุขเวทนาเกิดด้วยเหมือนกัน และผู้ที่กำลังได้รับความสุขอยู่แล้ว ตัณหานั้นย่อมติดใจในความสุขที่ตนกำลังได้รับอยู่นั้น และบางทีก็มีความปรารถนาให้ได้รับความสุขยิ่งๆ ขึ้นไปอีก ฉะนั้นพระพุทธองค์จึงทรงแสดงว่า "เวทนาปจฺจยา ตณฺหา" คือ สุขเวทนาเป็นเหตุให้เกิดตัณหา

      ผู้ที่กำลังได้รับความทุกข์ความลำบากต่างๆ หรือกำลังไม่สบาย ก็ย่อมคิดถึงความสุขและอารมณ์ที่ทำให้ความสุขเกิด แล้วพยายามขวนขวายหาทางที่จะให้พ้นจากความทุกข์ความลำบากนั้นๆ ด้วยวิธีการต่างๆ คนที่เจ็บไข้ไม่สบายก็พยายามหาหมอซื้อยามารักษาให้หายจากการเจ็บไข้นั้น เมื่อยังไม่พ้นจากความทุกข์เหล่านั้น ก็รำพึงรำพันว่า เมื่อไรหนอตนจึงจะพ้นจากความทุกข์ความลำบากนั้นเสียได้ นี้ก็เป็นเพราะด้วยอำนาจตัณหาที่เกิดเนื่องมาจากทุกขเวทนานั้นเองเป็นเหตุนี้ก็แสดงให้เห็นว่า ทุกขเวทนาก็เป็นเหตุให้เกิดตัณหาได้ผู้ที่กำลังเป็นปกติอยู่ไม่ทุกข์ และไม่มีความสุขที่พิเศษ คือกำลังเสวยความเป็นอุเบกขาอยู่ สภาพของอุเบกขาเวทนานี้เป็นสภาพที่สงบ คล้ายกับสุขเวทนาผู้ที่อยู่ในสภาพเช่นนี้ ย่อมมีความยินดีพอใจต่ออุเบกขาเวทนานี้ แล้วคิดว่าแม้ว่าจะไม่ได้รับความสุขที่พิเศษ ก็ขอให้เป็นดังนี้เรื่อยๆ ไป อย่าให้ความทุกข์เกิดขึ้นเลยนี้ก็เป็นเพราะอำนาจตัณหาที่เกิดเนื่องมาจากอุเบกขาเวทนาเป็นเหตุ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า อุเบกขาเวทนาก็เป็นเหตุให้เกิดตัณหาได้


ตัณหานี้เมื่อจำแนกโดยอารมณ์แล้ว มี ๖ อย่าง คือ

      ๑. รูปตัณหา ความยินดีติดใจในรูปารมณ์ ดังแสดงวจนัตถะว่า "รูเป ตณฺหา = รูปตณฺหา"

      ๒. สัททตัณหา ความยินดีติดใจในสัททารมณ์ ดังแสดงวจนัตถะว่า "สทฺเท ตณฺหา = สทฺทตณฺหา"

      ๓. คันธตัณหา ความยินดีติดใจในคันธารมณ์ ดังแสดงวจนัตถะว่า "คนฺเธ ตณฺหา = คนฺธตณฺหา"

      ๔. รสตัณหา ความยินดีติดใจในรสารมณ์ ดังแสดงวจนัตถะว่า "รเส ตณฺหา = รสตณฺหา"

      ๕. โผฏฐัพพตัณหา ความยินดีติดใจใน โผฏฐัพพารมณ์ ดังแสดงวจนัตถะว่า "โผฏฺฐพฺเพ ตณฺหา - โผฏฺฐพฺพตณฺหา"

      ๖. ธัมมตัณหา ความยินดีติดใจในธรรมารมณ์ คือสภาพธรรมต่างๆ ดังแสดงวจนัตถะว่า "ธมฺเม ตณฺหา = ธมฺมตณฺหา"

      อธิบายว่า เมื่อรูปารมณ์มากระทบกับจักปสาทแล้ว จักขุวิญญาณก็เกิดและในขณะเดียวกันนี้ ผัสสะ เวทนา ก็เกิดขึ้นด้วย เรียกว่า เห็น นี้กล่าวโดยธรรมาธิฏฐาน ถ้ากล่าวโดยปุคคลาธิฏฐานแล้ว ในตอนนี้ยังไม่มีความรู้สึกอย่างใดเกิดขึ้น วิถีจิตต้องถึงชวนะเสียก่อน จึงจะมีความรู้สึกในการเห็นนั้นเพียงเล็กน้อยยังไม่ชัดเจนทีเดียว ต่อเมื่อถึงมโนทวารวิถีเรียบร้อยแล้ว จึงมีความรู้สึกในการเห็นนี้ได้ชัดเจน แต่ตัณหาที่จะเกิดขึ้นได้นั้น ตั้งแต่ขณะที่มีความรู้สึกในการเห็นนี้เล็กน้อย ตัณหาก็เกิดได้ หมายความว่า ตัณหาตั้งต้นเกิดขึ้นในจักขุทวารวิถีนั้นเอง เพราะว่าผู้นั้นยังมีตัณหานุสัยอยู่ ฉะนั้น เวทนาจึงเป็นเหตุให้ตัณหาเกิดขึ้นได้ สำหรับผู้ที่ปราศจากตัณหานุสัย หรือผู้ที่กำลังมีสติกำหนดการเห็นเป็นต้นอยู่ และสติสมาธิของผู้นั้นก็เป็นไปติดต่อกันไม่ขาดระยะแล้ว แม้ว่าจะเกิดความรู้สึกในการเห็นเพียงเล็กน้อย เวทนานี้ก็ไม่สามารถเป็นเหตุให้ตัณหาเกิดได้ ฉะนั้น ในการที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ในนิทานวรรคสังยุตตพระบาลีว่า "จกฺขุญฺจ ปฏิจฺจ รูเป จ อุปฺปชฺชติ จกฺขุวิญฺญาณ ติณฺณํ สงฺคติ ผสฺโส ผสฺสปจฺจยา เวทนา เวทนาปจฺจยา ตณฺหา" นั้น เป็นการแสดงที่มุ่งหมายเอาเฉพาะแต่ธรรมาธิฏฐานเท่านั้น ถ้ามุ่งหมายเอาปุคคลาธิฏฐานแล้ว ก็เป็นไปโดยส่วนมาก ไม่ใช่เป็นได้ทั้งหมด

      ในสัททตัณหา คันธตัณหา รสตัณหา โผฎฐัพพตัณหา ก็เป็นไปเช่นเดียวกันสำหรับ ธัมมตัณหา นั้น หมายความว่า ในขณะนึกถึง โลภะ โทสะโมหะ มานะ ทิฏฐิ เป็นต้น ที่เป็นฝ่ายอกุศล และนึกถึง ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ฌาน อภิญญา เป็นต้น ที่เป็นฝ่ายโลกียกุศลและกริยา หรือนึกถึงการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การรู้รส การถูกต้อง การนอนหลับ ที่เป็นฝ่ายกามวิบาก หรือนึกถึง ปสาทรูป สุขุมรูป และบัญญัติต่างๆ เหล่านี้แล้ว มีความยินดีพอใจเกิดขึ้น เรียกว่า ธัมมตัณหา

      อนึ่ง ในมัชฌิมปัณณาสอรรถกถาแสดงไว้ว่า ความยินดีติดใจในการเจริญสมถะและวิปัสสนาก็เรียกว่า ธัมมตัณหา ได้เหมือนกัน ดังมีสาธกบาลีแสดงไว้ว่า "ธมฺมราเคน ธมฺมนนฺทิยาติ ปททฺวเยหิ สมถวิปีสฺสนาสุ ฉนฺทราโค วุตฺโต" แปลความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงกล่าวถึงความยินดีติดใจในการเจริญสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน โดยบท ๒ บท ว่า ธรรมราคะ ธรรมนันที ซึ่งหมายความว่า ฉันทราคะที่เกิดขึ้นในสมถภาวนา วิปัสสนาภาวนา ชื่อว่า ธัมมตัณหา

      ตัณหาดังกล่าวมาแล้วนี้ เมื่อว่าโดยอาการที่เป็นไปแล้ว มี ๓ คือ 

     ๑. กามตัณหา ได้แก่ความยินดีติดใจในอารมณ์ ๖ ที่เกี่ยวกับกามคุณทั้ง ๕ แต่ไม่ประกอบด้วยสัสสตทิฏฐิและอุจเฉททิฏฐิ ดังมีวจนัตถะว่า

        "กาเมตีติ = กาโม" "กาโม จ โส ตณฺหา จาติ = กามตณฺหา"

        สภาวธรรมใด ย่อมยินดีอยากได้ซึ่งอารมณ์ทั้ง ๖ ฉะนั้น สภาวธรรมนั้นชื่อว่า กาม

        สภาวธรรมใด ย่อมยินดีอยากได้ซึ่งอารมณ์ทั้ง ๖ ด้วย ติดอยู่ในอารมณ์นั้นด้วย ฉะนั้น สภาวธรรมนั้น ชื่อว่า กามตัณหา ได้แก่ โลภเจตสิก

      ๒. ภวตัณหา ได้แก่ตัณหาที่เกิดพร้อมกันกับสัสสตทิฏฐิ โดยอาศัยรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส หมายถึงผู้ที่มีความเห็นว่า รูป เสียง กถิ่น รส สัมผัส ที่ตนกำลังได้รับอยู่นี้ ตั้งอยู่เป็นนิจ ไม่เข้าใจว่ามีการเกิด ดับ ดังมีวจนัตถะว่า

      "ภวตีติ = ภโว" "ภโว จ โส ตณฺหา จาติ = ภวตณฺหา"

      สัสสตทิฏฐิ เห็นว่าสัตว์ทั้งหลายนี้มีตัวมีตนอยู่ และตัวตนนี้ไม่สูญหาย สภาวธรรมใด ย่อมเห็นว่า ตัวตนที่อยู่ในอารมณ์ : นั้น ปรากฎมีอยู่เสมอไม่สูญหาย ฉะนั้น สภาวธรรมนั้น ชื่อว่า ภวะ ได้แก่ สัสสตทิฏฐิ สภาวธรรมใด ย่อมเห็นว่าตัวตนที่อยู่ในอารมณ์ , นั้น ปรากฏมีอยู่เสมอไม่สูญหายด้วย และยินดีติดอยู่ในอารมณ์นั้นด้วย ฉะนั้นสภาวธรรมนั้น ชื่อว่า ภวตัณหา ได้แก่ โลภะที่เกิดพร้อมกันกับสัสสตทิฏฐิ


       อีกนัยหนึ่ง ภวตัณหานี้ เมื่อแสดงตามสุตตันตมหาวรรคอรรถกถาแล้ว มี ๕ อย่างคือ

       ๑. มีความยินดีพอใจใน กามภพ คือ การได้เกิดเป็น มนุษย์และเทวดาอย่างหนึ่ง

       ๒. มีความยินดีพอใจใน รูปภพ คือ การได้เกิดเป็น รูปพรหม อย่างหนึ่ง

       ๓. มีความยินดีพอใจใน อรูปภพ คือ การได้เกิดเป็น อรูปพรหม อย่างหนึ่ง

       ๔. มีความยินดีพอใจใน ฌานสมาบัติ การได้ รูปฌาน อรูปฌาน อย่างหนึ่ง

       ๕. มีความยินดีพอใจใน สัสสตทิฏฐิ เห็นว่าสัตว์ทั้งหลายนี้มีตัวมีตนอยู่ และตัวตนนี้ไม่สูญหาย ถึงจะตายก็ตายแต่ร่างกายเท่านั้นอย่างหนึ่ง หรือตัวตนที่มีอยู่ในร่างกายของมนุษย์ เมื่อมนุษย์ตายแล้ว ตัวตนนั้นก็ไปเกิดเป็นมนุษย์อีก ตัวตนที่อยู่ในร่างกายของสัตว์คิรัจฉานก็เช่นเดียวกัน เมื่อสัตว์นั้นๆ ตายแล้ว ตัวตนก็ไปเกิดเป็นสัตว์นั้นๆ อีก ไม่เปลี่ยนแปลง ดังมีสาธกบาลีแสดงว่า

       "ภเว ตณฺหา = ภวตณฺหา" "ภวปตฺถนาวเสน อุปฺปนฺนสฺส สสฺสตทิฏฺฐิสหคตสฺส รูปารูปภวราคสฺส จ ฌานนิกนฺติยา เจตํ อธิวจนํ"

       ความยินดีพอใจในภพต่างๆ ชื่อว่า ภวตัณหา คำว่า ภวตัณหา นี้ ได้แก่ราคะที่เกิดขึ้นโดยความปรารถณากามภพอย่างหนึ่ง ราคะที่เกิดพร้อมกันกับสัสสตทิฏฐิอย่างหนึ่ง ราคะที่เกิดขึ้นในรูปภพอรูปภพอย่างหนึ่ง ราคะที่เกิดขึ้นในฌานสมาบัติอย่างหนึ่ง

       ๓. วิภวตัณหา ได้แก่ ตัณหาที่เกิดขึ้นพร้อมกันกับอุจเฉททิฏฐิ โคยอาศัยอารมณ์ ๖ หมายถึงผู้ที่มีความเห็นว่า ในอารมณ์ ๖ ซึ่งได้แก่สิ่งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิตทั้งหลายในโลกนี้มีตัวตนอยู่ และตัวตนนี้ไม่สามารถตั้งอยู่ได้ตลอดย่อมสูญหายไปแล้วมีความยินดีติดใจในอารมณ์นั้น หรือมีความเห็นว่า ไม่ว่าใครๆทั้งสิ้น เมื่อตายแล้วก็สูญหายไปไม่เกิดอีก แล้วมีความยินดีติดใจในความเห็นนั้น ผู้ที่มีความเห็นในพระนิพพานว่ามีตัวมีตนแล้วปรารถนาพระนิพพาน ความปรารถนานี้ก็ชื่อว่าวิภวตัณหา ดังมีวจนัตถะว่า

       "น ภวตีติ = วิภโว" "วิภโว จ โส ตณฺหา จาติ - วิภวตณฺหา" (วา) "วิภเว ตณฺหา = วิภวตณฺหา"

       สภาวธรรมใดย่อมเห็นว่าตัวตนที่อยู่ในอารมณ์ ๖ นั้น ไม่สามารถตั้งอยู่ได้ตลอด ย่อมสูญหายไป ฉะนั้น สภาวธรรมนั้นชื่อว่า วิภวะ

       หรือแปลอีกนัยหนึ่ง สภาวธรรมใดมีความเห็นว่า สัตว์ทั้งหลายเมื่อตายแล้วย่อมสูญหายไป ไม่เกิดต่อไปอีก ฉะนั้น สภาวธรรมนั้นชื่อว่า วิภวะ ได้แก่อุจเฉททิฏฐิ

       สภาวธรรมใดย่อมเห็นว่า ตัวตนที่อยู่ในอารมณ์ ๖ นั้น ไม่สามารถตั้งอยู่ได้ตลอด ย่อมสูญหายไปด้วย และยินดีติดอยู่ในอารมณ์นั้นด้วย ฉะนั้น สภาวธรรมนั้นชื่อว่า วิภวตัณหา

       หรือความยินดีพอใจในอุจเฉททิฏฐิ ชื่อว่า วิภวตัณหา ได้แก่ โลภะที่เกิดพร้อมกันกับอุจเฉททิฏฐิ


อีกนัยหนึ่ง ตัณหามี ๑๐๘ คือ

       กามตัณหามี ๓๖ ภวตัณหามี ๓๖ วิภวตัณหามี ๓๖ รวมเป็น ๑๐๘ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ที่มีอย่างละ ๓๖ นั้น ก็เกี่ยวกับอารมณ์เป็นหลัก คืออารมณ์ ๖ ที่กำลังมาปรากฏทางทวารทั้ง ๖ มีทางตาเป็นต้นก็มีอารมณ์ทั้ง ๖ ที่เป็นปัจจุบันเหล่านี้ เป็นเหตุให้กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหาเกิดขึ้นได้ เมื่อเป็นดังนี้ กามตัณหา ภวตัณหา วิภาตัณหา จึงได้มีอย่างละรวมเป็นตัณหาที่เกี่ยวกับปัจจุบันอารมณ์ ๑๘

       อารมณ์ ๖ ที่เคยปรากฏมาแล้วทางทวารทั้ง ๖ ก็มี อารมณ์ทั้ง ๖ ที่เป็น อดีตเหล่านี้ เป็นเหตุให้ตัณหาทั้ง ๓ เกิดขึ้นได้ ฉะนั้น กามตัณหา ภวตัณหาวิภวตัณหา ที่เกิดขึ้นโดยอาศัยอารมณ์ ๖ ที่เป็นอดีต จึงมีอย่างละ ๖ รวมเป็นตัณหาที่เกี่ยวกับอดีตอารมณ์ ๑๘

       อารมณ์ ๖ ที่จะมาปรากฏในทวารทั้ง ๖ ก็มี อารมณ์ทั้ง ๖ ที่เป็นอนาคตเหล่านี้ เป็นเหตุให้ตัณหาทั้ง ๓ เกิดขึ้นได้ ฉะนั้น กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหาที่เกิดขึ้นโดยอาศัยอารมณ์ ๖ ที่เป็นอนาคต จึงมีอย่างละ ๖ รวมเป็นตัณหาที่เกี่ยวกับอนาคตอารมณ์ ๑๘

      เมื่อจำแนกตัณหาทั้ง ๓ โดยอารมณ์และกาลแล้ว

      กามตัณหามี ๑๘ ภวตัณหามี ๑๘ วิภวตัณหามี ๑๘ รวมเป็น ๕๔ อารมณ์ ทั้ง ๖ นี้ ปรากฏภายในตัวเรา ชื่อว่า อัชฌัตตอารมณ์ก็มี ปรากฏภายนอกตัวเรา ซึ่งได้แก่คนอื่น และสิ่งที่ไม่มีชีวิต ชื่อว่า พหิทธอารมณ์ก็มี ฉะนั้น

      กามตัณหา ๑๘ ที่เกิดขึ้นโดยอาศัยอัชฌัตตอารมณ์มี ๑๘

                     ที่เกิดขึ้นโดยอาศัยพหิทธอารมณ์มี ๑๘

                     รวมเป็นกามตัณหา   ๓๖

      ภวตัณหา ๑๘  ที่เกิดขึ้นโดยอาศัยอัชฌัตตอารมณ์มี ๑๘

                     ที่เกิดขึ้นโดยอาศัยพหิทธอารมณ์มี  ๑๘

                     รวมเป็นภวตัณหา  ๓๖ 

      วิภวตัณหา ๑๘ ที่เกิดขึ้นโดยอาศัยอัชฌัตตอารมณ์มี ๑๘

                     ที่เกิดขึ้นโดยอาศัยพหิทธอารมณ์มี ๑๙

                     รวมเป็นวิภวตัณหา  ๓๖

                  - กามตัณหา  ๓๖

                  - ภวตัณหา ๓๖

                  - วิภวตัณหา ๓๖

                 รวมเป็นตัณหา ๑๐๘

      ตัณหา ๖ ตัณหา ๓ ตัณหา ๑๐๘ ดังกล่าวมาแล้วนี้ เกิดขึ้นแก่สัตว์ทั้งหลาย ก็โดยอาศัยเวทนา คือการเสวยอารมณ์ที่เป็นสุข ทุกข์ อุเบกขานั้นเอง ถ้าขาดการเสวยอารมณ์เหล่านี้เสียแล้ว ตัณหาต่างๆ เหล่านี้ก็เกิดไม่ได้ ด้วยเหตุนี้แหละ พระองค์จึงทรงกล่าว "เวทนาปจฺจยา ตณฺหา"

       แสดง ลักษณะ รส ปัจจุปัฏฐาน ปทัฏฐาน ของตัณหา

       ๑. เหตุลกฺขณา มีการเป็นเหตุของทุกข์ทั้งปวง เป็นลักษณะ

       ๒. อภินนฺทนรสา มีความยินดีพอใจในอารมณ์ ภูมิ และ ภพ เป็นกิจ

       ๓. อติตฺตภาวปจฺจุปฏฺฐานา มีความไม่อิ่มในอารมณ์ต่างๆ ของจิต หรือบุคคลเป็นอาการปรากฏในปัญญาของบัณฑิตทั้งหลาย

       ๔. เวทนาปทฏฺฐานา มีเวทนาเป็นเหตุใกล้


แสดงการสงเคราะห์ปัจจัย ๒๔ เข้าในบท เวทนาปจฺจยา ตณฺหา 

      เวทนาเป็นปัจจัยช่วยอุปการะแก่ตัณหานี้ ได้อำนาจปัจจัย ๑ ปัจจัย คือ ปกตูปนิสสยปัจจัย


จบ เวทนาปจฺจยา ตณฺหา

----------------


[full-post]

ปริจเฉทที่๘,ปฏิจจสมุปบาท,ปัจจยสังคหะ,อภิธัมมัตถสังคหะ,

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.