๓. อนัตตานุปัสสนา

      ปัญญาที่พิจารณาเห็นโดยความเป็นอนัตตา ไม่มีแก่นสารปราศจากการบังคับบัญชาของรูปนาม ที่เนื่องมาจากการพบเห็นเป็นประจักษ์แห่งความไม่ใช่ตน เรา เขาโดยอาการเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปติดต่อกันอยู่อย่างไม่ขาดสาย ในขณะที่กำหนครู้รูปนาม ตามสภาวะอยู่ ปัญญานี้ชื่อว่า อนัตตานุปัสสนา 

      อนตฺตา เมื่อแยกบทแล้วได้ ๒ บท คือ น + อตฺตา น แปลว่าไม่ใช่, อตฺตา แปลแยกออกได้เป็น ๔ อย่าง  คือ จิต , กาย ๑ สภาวะ ๑ ปรมอัตตะ หรือวิญญาณพิเศษ ๑ รวมเป็น ๔ อย่าง

      ข้อที่ ๑ อตฺตา ในพระบาลีว่า "อตฺตานํ ทมยนฺติ ปณฺฑิตา" แปลว่า บัณฑิต ทั้งหลายย่อมฝึกฝนตน คำว่า "ตน" ในพระบาลีนี้ได้แก่ "จิต"

      ข้อที่ ๒ อตฺตา ในพระบาลีว่า "นตฺถิ อตฺตสมํ เปมํ" แปลว่า ความรักเสมอด้วยตนไม่มี คำว่า "ตน" ในพระบาลีนี้ ได้แก่ "กาย"

      ข้อที่ ๓ อตฺตา ในพระบาลีว่า "อตฺตทีปา ภิกฺขเว วิหรถ" แปลว่า ภิกษุทั้งหลายจงเป็นผู้มีตนเป็นที่พึ่งอยู่ คำว่า "ตน" ในพระบาลีนี้ได้แก่ "กุศลธรรม" คือสภาวะ

      ข้อที่ ๔ อตฺตา ในพระบาลีว่า "อยํ อตฺตา นิจฺโจ ธุโว สสฺสโต อวิปริณามธมฺโม" แปลว่า ตนนี้เป็นของเที่ยงแข็งแรง ตั้งอยู่มั่นคง ไม่มีการแตกดับ คำว่า "ตน" ในพระบาลีข้อที่ ๔ นี้ได้แก่ ปรมอัตตะ หรือปรมวิญญาณที่ชาวอินเดียถือกันตลอดมาจนถึงปัจจุบันนี้

      ในคำแปล "อัตตา" ทั้ง ๔ อย่างนี้ ข้อสำคัญคือ ข้อที่แปลว่าเป็นของเที่ยงของชาวอินเดียนั่นเอง ส่วนอัตตาอีก ๓ คือ จิต, กาย, สภาวะ นั้นก็ถูกต้องตามหลักฐานของตนๆ เพราะฉะนั้น อัตตาที่เป็นของเที่ยงนั้นเป็นข้อธรรมสำคัญที่ตรงกันข้ามกับอนัตธรรม อนัตตา ที่แปลว่าไม่ใช่อัตตานั้น มุ่งหมายถึงไม่ใช่อัตตาข้อที่ ๔ นี้นั่นเอง ชาวอินเดียส่วนมากยึดถือว่าอัตตาไม่ตาย ไม่มีการแตกดับเป็นของเที่ยงเสมอ บุคคลทุกๆ คนต้องมีอัตตา คนและสัตว์ตาย แต่อัตตาไม่ตาย อัตตาจะทำอะไรก็ทำได้ คุณอำนาจความสามารถของอัตตานี้มีมากมายหลายอย่าง คือคำว่าอัตตานี้เป็นชื่อของ "ชีวะ" ในที่นี้ชาวอินเดียมุ่งหมายถึงวิญญาณพิเศษอย่างหนึ่งเมื่อ คนตายไปแล้ว ชีวะหรืออัตตาไม่ตาย ต้องหาที่อยู่ใหม่อีก

      อัตตา เป็น "เวทกะ" คือผู้เสวยความสุขและความทุกข์ การกระทำดีหรือร้าย อัตตาจะต้องเป็นผู้เสวยผลในชาติใหม่ในอนาคต อัตตา เป็น นิวาสี  คือผู้เที่ยงไม่ตาย เมื่อบ้านเก่าแตกดับก็ย้ายไปอยู่ที่ใหม่ต่อไป

      อัตตา เป็น "สยํวสี" คือการกระทำอะไรๆ ก็ดีเป็นไปตามใจของอัตตา คือตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกดมกลิ่น ลิ้นลิ้มรส เป็นต้นนั้น แล้วแต่อัตตา ตามใจอัตตาทุกสิ่งทุกอย่าง เพราะฉะนั้น อัตตาจึงเป็นเจ้าของโลก เป็นผู้สร้างโลกผู้ถือมั่นในคุณของอัตตาหรือนามของอัตตา ที่กล่าวมาแล้วนี้ในพระบวรพุทธศาสนาเรียกว่า ผู้มีอัตตวาทุปาทาน คือผู้ยึดถืออัตตวาทะ อัตตวาทะนี้ในพระพุทธศาสนาอธิบายว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิคือ เป็นความเห็นผิด เป็นความเห็นที่ไม่ถูกต้อง เป็นความเห็นที่หลงทาง


อนัตตา แสดงวจนัตถะว่า น + อตฺตา = อนตฺตา แปลความว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เหล่านี้ไม่ใช่อัตตา ฉะนั้นจึงชื่อว่า "อนัตตา"

      อีกนัยหนึ่ง "นตฺถิ อตฺตา เอตสฺส ขนฺธปญฺจกสฺสาติ วา อนตฺตา" แปลความว่า อัตตา ไม่มีแก่รูปนามขันธ์ ๕ นั้น ฉะนั้นรูปนามขันธ์ ๕ นั้น จึงเรียกว่า อนัตตา หมายความว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แห่งรูปนามขันธ์ ๕ นั้น ไม่มีอัตตา ฉะนั้น รูปนามขันธ์ ๕ ทั้งหมดเป็น "อนัตตา"

      นอกจากรูปขันธ์ ๕ แล้ว นิพพาน บัญญัติ ก็ไม่มีอัตตาเหมือนกัน ดังนั้นสังขตธรรมและอสังขตธรรมทั้งปวงจึงเป็น อนัตตา

      สำหรับ อนิจจา ทุกขานั้น ได้แก่สังขาร (สังขตธรรม) อย่างเดียว อนัตตานั้นได้แก่สังขาร (สังขตะ) และอสังขตะ คือนิพพานและบัญญัติทั้งปวง ดังนั้นพระพุทธองค์จึงทรงเทศนาว่า "สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจา, สพฺเพ สงขารา ทุกฺขา, สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา" ดังนี้ อีกนัยหนึ่งพระศาสดาทรงเทศนาไว้ในวินัยปีฎกปริวารบาลีว่า :

      อนิจฺจา สพฺพสงฺขารา        ทุกฺขานตฺตา จ สงฺขตา

      นิพฺพานญฺเจว ปญฺญตฺติ     อนตฺตา อิติ นิจฺฉิตา ฯ

      สังขารธรรมทั้งปวง หมายจำว่า เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ 

      ไม่ใช่อัตตา นิพพานก็ดี บัญญัติก็ดี ตัดสินว่าเป็น อนัตตา ฯ

      อีกนัยหนึ่งคำว่า "อนตฺตา" มีอรรคถว่า "อสารกฏฺเฐน" แปลว่าเป็นอนัตตา เพราะอรรถว่าไม่มีแก่นสาร หรือไม่อยู่ใต้อำนาจของใคร ฉะนั้นจึงเรียกว่า "อนัตตา" หมายความว่า ธรรมดารูปธรรมย่อมไม่เป็นสาระ ทุกๆ ขณะย่อมไปสู่ความดับ เมื่อปราศจากชีวิต, อุสมาเตโชและวิญญาณทั้ง ๓ นี้ แล้วจะหารูปที่ใช้การสักอันหนึ่งก็ไม่ได้ เมื่อจวนจะตายก็ดี จะเอารูปที่เป็นสาระแล้วใช้การสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ไม่ได้ ว่าโดยอาการก็มีอาการเกิดดับเสมอ ฉะนั้น พระบรมศาสดาจึงทรงเปรียบเทียบอุปมาไว้ว่า "เผณปีณฺทูปมํ รูปํ" แปลว่า รูปเหมือนต่อมน้ำ ส่วนนามก็เหมือนกัน จะกระทบหรือจับไม่ได้เอาเวทนาสัญญาเหล่านี้ ไปใช้การสิ่งใดไม่ได้ เกิดแล้วดับสูญไปห้ามไม่ให้เกิดหรือดับก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นโดยสภาวะจึงเรียกว่า "อนัตตา"


ความต่างกันระหว่างอนัตตา, อนัตตลักขณะ, อนัตตานุปัสสนา

      ๑. "อนัตตา" รูปนามขันธ์ ๕ ที่เป็นอนัตตาไม่ใช่ตัวตนในวิสุทธิมรรคแสดงว่า  "ทุกขํ ตทนตฺตาติ ปน วจนโต ตเทว ขนฺธปญฺจกํ อนตฺตา กสฺมา ? อวสวตฺตนโต

      รูปนามขันธ์ ๕ ชื่อว่า "เป็นอนัตตา" สมดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงไว้ว่า "สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา" เพราะรูปนามขันธ์ ๕ ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของผู้ใดทั้งสิ้น

      ๒. "อนัตตลักขณะ" ในเครื่องหมายที่กำหนดรู้ว่าไม่ใช่ตัวตนของรูปนาม ในวิสุทธิมรรคแสดงว่า "อวสวตฺตนากาโร อนตฺตลกฺขณํ" อาการที่ไม่เป็นไปในอำนาจบังคับบัญชาของผู้ใดชื่อว่า "อนัตตลักขณะ"

      อีกนัยหนึ่ง อนัตตลักขณะ แสดงวจนัตถะ ว่า "อนตฺตสฺส ลกฺขณํ อนตฺตลกฺขณํ"

      เครื่องหมายของธรรมทั้งปวงที่ไม่ใช่อัตตาชื่อว่า "อนัตตลักขณะ" ได้แก่ความไม่มีแก่นสาร ปราศจากเราเขาที่จะบังคับบัญชาให้เป็นไปตามความต้องการ

      ๓. "อนัตตานุปัสสนา" ปัญญาที่พิจารณาเห็นโดยความไม่เป็นไปในอำนาจบังคับบัญชาของรูปนาม แสดงวจนัตถะว่า "อนตฺตสฺส อนุปสฺสนา อนตฺตานุปสฺสนา" การกำหนดรู้เห็นรูปนามที่เป็นอนัตตาอยู่เนืองๆ จนอนัตตลักขณะปรากฎชื่อว่า "อนัตตานุปัสสนา"

      หรืออีกนัยหนึ่ง "อนตฺตตาย อนุปสฺสนา อนตฺตานุปสฺสนา" การกำหนดรู้เห็นความไม่มีแก่นสารปราศจากเราเขาที่จะบังคับบัญชาให้เป็นไปตามความต้องการของผู้ใดอยู่เนืองๆ ชื่อว่า "อนัตตานุปัสสนา"


การพิจารณาอัตตาและอนัตตา

      เกสา เส้นผม, โลมา ขน, นขา เล็บ, ทนฺตา ฟัน, ตโจ หนัง, มํสํ เนื้อ, นหารู เอ็น, อฏฺฐิ กระดูก, อฏฺฐิมิญฺชํ เยื่อในกระดูก, วกฺกํ ม้าม, หทยํ หัวใจ, ยกนํ ตับ, กิโลมกํ พังผืด, ปีหกํ ไต, ปปฺผาสํ ปอด, อนฺตํ ไส้ใหญ่, อนฺตคุณํ ไส้เล็ก, อุทริยํ อาหารใหม่, กรีสํ อาหารเก่า, มตฺถลุงฺคํ มันสมอง, ธาตุทั้ง ๒๐ นี้ พระศาสดาตรัสไว้ในสุตตันตปิฎกและอภิธรรมปีฎกว่าเป็น "ปถวีธาตุ"

      "อนัตตลักขณะ" ไม่ปรากฏก็เพราะฆนะได้กำบังปกปิดไว้ ฉะนั้นอนัตตลักขณะจึงไม่เห็นชัด ถ้าฆนะแตกแล้ว อนัตตลักขณะก็เห็นชัดแจ้ง ดังที่พระมหาพุทธโฆษาจารย์ แสดงไว้ในวิสุทธิมรรคว่า :-

      "อนตฺตลกฺขณํ นานาธาตุวินิพฺโภคสฺส อมนสิการา ฆเนน ปฏิจฺฉนฺนตฺตา น อุปฏฺฐาติ นานาธาตุโย วินิพฺภุชฺชิตฺวา ฆนวินิพฺโภเค กเต อนตฺตลกฺขณํ ยาถาวรสรสโต อุปฏฺฐาติ ฯ"

      อนัตตลักขณะไม่ปรากฏก็เพราะ ไม่มีการกำหนดพิจารณาในธาตุต่างๆ คือรูปธาตุ นามธาตุ ซึ่งธาตุเหล่านั้นแสดงอาการคล้ายๆ กับเป็นกลุ่มเป็นกองเพราะฆนบัญญัติได้กำบังปกปิดไว้ แต่เมื่อได้ทำการกำหนดพิจารณาจนเกิดความรู้ความเห็นว่า รูปธาตุ นามธาตุแยกกันได้เช่นนี้แล้วฆนะก็แตก อนัตตลักขณะก็ย่อมปรากฎโดยสภาวะของตนอย่างแท้จริง ดังนี้

      คำว่า "ฆนะ" หมายความว่า เกิดขึ้นเป็นกลุ่มก้อนอารมณ์ภายในภายนอกและอารัมมณิกวิถีจิตภายในนั้นคล้ายๆ กับเป็นกลุ่มเป็นกอง ฆนะเป็นเหตุให้บุคคลทั้งหลายเข้าใจผิดยึดถือว่าบุคคล สัตว์ เรา เขา เรียกกันว่าเป็นอัตตา พอฆนะแตกแล้วอัตตาก็หายไป อนัตตาก็ปรากฎชัดเจนแทนที่


บัญญัติปรากฏ ปรมัตถ์หาย ปรมัตถ์ปรากฏ บัญญัติหาย

      คำว่า "บัญญัติปรากฏ ปรมัตถ์หาย" หมายความว่า เกสา โลมา เป็นต้น

      ในอาการ ๓๒ นั้น เกสา แปลว่าเส้นผม เส้นผมเป็นปถวีธาตุ มีสัณฐานบัญญัติได้กำบังปกปิดไว้ทำให้มองเห็นเป็นสิ่งกลมๆ ยาวๆ ฉะนั้น คนทั้งหลายเรียกกันว่า เส้นผม ส่วนปถวีธาตุที่มีสภาพสุขุมละเอียด ไม่สามารถรู้ได้เลยตามที่กล่าวมานี้ จะเห็นว่าปถวีธาตุเส้นผม ถ้าขณะใดบัญญัติปรากฎอยู่ ปรมัตถ์ก็หายไป

      ส่วนคำว่า "ปรมัตถ์ปรากฏ บัญญัติหาย" หมายความว่าเส้นผมเมื่อฆนะแตกเป็นปถวีธาตุ, เป็นปรมัตถ์ สภาวะนั้นจะปรากฎชัดเจนทันที เมื่อปถวีธาตุเป็นปรมัตถ์ตามสภาวะปรากฏขึ้นแล้ว เส้นผมซึ่งเดิม ฆนบัญญัติกำบังปกปิดไว้ ในขณะนั้นเองสัณฐานบัญญัติคือ กลมๆ ยาวๆ ก็หายไป และนามบัญญัติว่าเส้นผมก็หายไปด้วยกัน ปถวีธาตุก็รู้ได้ชัดไม่ใช่เป็นเส้นผม ไม่เรียกว่าเส้นผมแล้ว เรียกได้แต่สภาวะแห่งปถวีเท่านั้น เมื่อฆนะแตกสัณฐานบัญญัติขาด อนัตตาก็ปรากฏและบัญญัติก็หายไป

      ท่านผู้มีปัญญาทั้งหลายพึงสมมุติว่าเส้นผมนี้ใช้โม่ศิลาบดอยู่ในใจ สัณฐานบัญญัติ คือกลมๆ ยาวๆ ก็หายไป ฆนบัญญัติ คือ เป็นกลุ่มเป็นก้อนก็แตก ในขณะนั้นนามบัญญัติว่าเส้นผมก็หายไปเปลี่ยนชื่อเป็นปถวีธาตุ ตามที่กล่าวมานี้แสดงว่า เมื่อปรมัตย์ปรากฏบัญญัติก็หายไป ในเมื่อปรมัตถ์ปรากฏบัญญัติหายไปนี้เองเรียกว่าอนัตตาปรากฏ อัตตาหายไป ในทำนองเดียวกัน ขนก็ดี เล็บมือเล็บเท้าก็ดี ฟันก็ดีหนังก็ดี ก็มีการพิจารณาอัตตาและอนัตตาเช่นเดียวกับเส้นผม

      สำหรับมังสะคือ เนื้อ มีการพิจารณาอัตตาและอนัตตาดังต่อไปนี้ ก็คือก้อนเนื้อนั้นมีฆนบัญญัติกำบังปกปิดไว้ฉะนั้น สัณฐานบัญญัติปรากฎชัดเจนอยู่ บุคคลทั้งหลายจึงมีความเห็นความเข้าใจว่าเนื้อเป็นก้อนกลมๆ หรือสี่เหลี่ยมจึงเรียกว่า ก้อนเนื้อปรมัตถสภาวะของปถวีธาตุนั้นไม่สามารถรู้เห็นได้ ฉะนั้น ก้อนเนื้อเมื่อบัญญัติปรากฏอยู่ ปรมัตถ์ก็หายไป

      คำว่า ปรมัตถ์ปรากฏ,  บัญญัติหาย, ฆนะแตก หมายความว่าก้อนเนื้อเมื่อฆนะแตกแล้ว ปถวีธาตุที่มีปรมัตถสภาวะสุขุมละเอียดก็ปรากฎขึ้น สัญฐานบัญญัติที่มีอาการกลมๆ หรือสี่เหลี่ยมก็หายไป นามบัญญัติของก้อนเนื้อก็หายไปพร้อมกัน ในขณะนั้นเกิดความรู้ความเห็นอยู่แต่ปถวีธาตุอันเป็นปรมัตถสภาวะล้วนๆ สภาวะแห่งปถวีธาตุก็ไม่เรียกว่าก้อนเนื้ออีกต่อไป

      การทำลายฆนะให้แตกก็คือสมมติว่าก้อนเนื้อนั้นยังสดๆ ก็ตาม หรือตากแห้งแล้วก็ตามใช้โม่บดหรือใช้ครกตำอยู่ในใจบ่อยๆ จนละเอียดดีแล้วก็เหลือแต่สภาวปถวีธาตุนั่นเอง ในขณะนั้นนามบัญญัติของก้อนเนื้อก็หายไปด้วย เรียกกันว่าเป็นปถวีธาตุ ตามที่กล่าวมาแล้วนี้ก้อนเนื้อเมื่อเปลี่ยนสภาพเป็นสภาวปถวี ปรมัตถ์ก็ปรากฏบัญญัติหายไปและอนัตตาปรากฏ อัตตาก็หายไป

      ในทำนองเดียวกันการพิจารณาอัตตา อนัตตาของปถวีธาตุอื่นๆ ที่เหลือเช่นกระดูกเป็นต้น ก็เช่นเดียวกันกับการพิจารณาเส้นผม


เรื่องพิเศษแห่งบัญญัติและปรมัตถ์

      พระมหาธัมมปาลเถระอาจารย์ชาวลังกา กล่าวไว้ในวิสุทธิมรรคมหาฎีกาว่า

      "นนุ จ ตชฺชา ปญฺญตฺติวเสน สภาวธมฺโม คณฺหายตีติ สจฺจํ คณฺหายตีติ ปุพฺพภาเค ภาวนาย ปน วตฺตมานาย ปญฺญตฺตึ สมติกฺกมิตฺวา สภาเวเยว จิตฺตํ ติฏฺฐตีติ"

      ถามว่า ท่านถือเอาสภาวธรรมโดยอำนาจบัญญัติที่เกิดขึ้นจากการกระทำนั้นๆ มิใช่หรือ ?

      ตอบว่า ใช่ ถือเอาแต่ตอนต้นฯ เท่านั้น แต่เมื่อเจริญวิปัสสนาภาวนานานเข้าๆ จิตจะก้าวล่วงบัญญัติเสียและตั้งอยู่ในสภาวธรรมล้วนๆ

      ในการเจริญวิปัสสนานั้น ขั้นต้นๆ เมื่อตั้งสติกำหนครูปนาม เดินจงกรมเป็นต้น คนทั้งหลายก็อาจสงสัยในวิธีการว่า การกำหนดอย่างนี้เป็นการกำหนดบัญญัติ เมื่อกำหนดบัญญัติอยู่จะจัดเป็นการเจริญวิปัสสนาได้อย่างไร

      ความจริงความสงสัยอันนี้ก็ถูกต้องอยู่ แต่ว่าถูกไม่หมดทีเดียว คือว่าในชั้นแรกนั้นจะต้องให้โยดีผู้ปฏิบัติทำการกำหนดอารมณ์บัญญัติไปก่อน มิฉะนั้นจิตจะไม่มีที่กำหนดเพราะปรมัตถสภาวะเป็นสิ่งที่เห็นได้ยาก ต่อเมื่อปัญญาภาวนาแก่กล้าขึ้น อารมณ์บัญญัติเหล่านี้จะหายไป เหลือแต่ปรมัตถสภาวะล้วนๆ

      ในเรื่องนี้เปรียบเหมือนกับบุคคลที่กำลังต้องการข้าวสารบริสุทธิ์เพื่อเอามาหุงต้ม เมื่อตักข้าวสารสกปรกออกมาจากที่เก็บก็จะต้องเอามาใส่กระด้ง, ตะแกรงค่อยๆ ร่อน ค่อยๆ ฝัดอยู่หลายๆ ครั้ง เพื่อเลือกเก็บเอาสิ่งสกปรกที่ปะปนอยู่ในข้าวสารเช่นขี้หนู หรือหยากเยื่อออกให้หมด แล้วจึงจะได้ข้าวสารบริสุทธิ์ที่ตนต้องการ โยคผู้ปฏิบัติก็เหมือนกันในครั้งแรกๆ ก็ต้องอาศัยอารมณ์บัญญัติไปก่อน เมื่อค่อยร่อนค่อยฝัดโดย การพยายามปฏิบัติไปเรื่อยๆ ปัญญาภาวนาแก่กล้าเข้าก็จะได้ปรมัตถสภาวะล้วนๆ สรุปความว่า ในชั้นต้นๆ การกำหนดอารมณ์ยังเป็นบัญญัติอยู่ อัตตายังปรากฏ อนัตตาก็หายไป ต่อมาปัญญาภาวนาแก่กล้าเข้า อารมณ์บัญญัติก็หายไปอารมณ์ปรมัตก็เกิดขึ้นแทน ระยะอารมณ์ปรมัตถ์เกิดขึ้นนี้แหละ "อนัตตาปรากฏอัตตาก็หายไป" ฉะนี้

      เมื่อโยคีบุคคลได้กำหนดพิจารณาในสังขารธรรม รูปนาม ที่เกิดอยู่เฉพาะหน้าตามสภาวะที่เกิดจากเหตุปัจจัยอยู่ สันตติบัญญัติและมนบัญญัติที่ปกปิดการเกิดดับของสังขตธรรมรูปนามก็ขาดแตกไปเป็นความเห็นที่บริสุทธิ์เกิดขึ้นในเวลาใด เวลานั้นวิปีสสนาญาณของโยคีบุคคลก็เข้าถึงความเป็นอนัตตานุปัสสนาเป็นต้นได้ ผู้ที่ไม่มีการกำหนดในสังขตธรรมรูปนามที่เกิดอยู่เฉพาะหน้าทุกๆ ระยะของจิตและรูปนั้น อย่าว่าแต่ความเกิดดับของสังขตธรรมรูปนามเลย แม้แต่รูปนามที่เกิดอยู่เฉพาะหน้าก็ไม่รู้ไม่เห็นเสียแล้ว คงรู้เห็นแต่บัญญัติ เช่น เมื่อได้เห็นสี ก็คงรู้คงเข้าใจไปแต่ในเรื่องต่างๆ ว่านี้เป็นชาย หญิง เด็ก ผู้ใหญ่ สัตว์ ต้นไม้ บ้านเรือน เมื่อได้ยินเสียง ก็คงรู้คงเข้าใจไปในเรื่องต่างๆ ว่านี้เป็นเสียงชาย หญิง สัตว์ ดนตรี หัวเราะร้องไห้ เมื่อได้กลิ่น ก็คงรู้คงเข้าใจไปแต่ในเรื่องต่างๆ ว่านี้เป็นกลิ่นดอกไม้ กลิ่นของหอม กลิ่นอาหาร กลิ่นอุจจาระปัสสาวะ เมื่อได้รสก็คงรู้คงเข้าใจไปแต่ในเรื่องต่างๆ ว่านี้เป็นรสมะขาม มะนาว ส้ม ผลไม้ พริก เกลือ น้ำตาล เมื่อได้สัมผัสกับความเย็นความร้อน อ่อน แข็ง หย่อน ตึง ก็คงรู้คงเข้าใจไปแต่เรื่องต่างๆ ว่านี้เป็นน้ำแข็งน้ำร้อน ไฟ สำลี นุ่น ไม้ มืด อิฐ หิน ร่างกายหย่อน เบา แข็ง ตึง หนัก ยกมือ ยกขาเหยียดมือ เหยียดขา ดังนี้เป็นต้น นี้ก็เป็นโดยสันตติบัญญัติและฆนบัญญัติได้ปกปิดอารมณ์ภายนอกและภายในต่างๆ และอารัมมณิกวิถีจิตภายในไว้นั่นเอง จึงมีความรู้ความเข้าใจผิดไป ดังนั้น เรียกว่า สันตติบัญญัติไม่ขาด ฆนบัญญัติไม่แตก แต่ตามความเป็นจริงนั้น ขณะที่เห็นสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่ รูปารมณ์เก่าย่อมดับไป รูปารมณ์ใหม่เกิดขึ้นติดต่อกันไม่ขาดสาย ผู้เห็นคงเห็นแต่รูปารมณ์ที่เกิดใหม่ตลอดระยะเวลาที่ดูอยู่วิถีจิตที่เกิดขึ้นรับรูปารมณ์ คือการเห็นนั้นก็มีการเห็นเก่าดับไป การเห็นใหม่เกิดขึ้นแทนติดต่อกันโดยไม่ขาดสายเช่นกัน แต่แล้วผู้ดูผู้เห็นก็เข้าใจผิดไปในรูปารมณ์และการดูของตน ว่ารูปารมณ์ที่ตนดูอยู่ก็ดี การเห็นของตนที่กำลังเห็นอยู่ก็ดีในขณะแรกเเละขณะหลังคงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันตลอดไปเรียกว่า "สันตติบัญญัติ" การเกิดขึ้นติดต่อกันแห่งอารมณ์ภายนอกภายใน และอารัมมณิกวิถีจิตภายในนั้นคล้ายๆ กับเป็นกลุ่มเป็นก้อนเรียกว่า "ฆนบัญญัติ" ในบัญญัติ ๓ ประการนี้ เมื่อสันตติบัญญัติปรากฎในใจ ฆนบัญญัติก็ปรากฏพร้อมๆ กัน ดังนั้นจึงเรียกรวมกันทั้ง ๒ อย่างว่า "สันตติฆนบัญญัติ"

      สันตติบัญญัติได้ปกปิดไว้จึงทำให้ผู้ที่ไม่มีสติกำหนดรูปนาม ที่เกิดอยู่เฉพาะหน้า ไม่มีการได้รู้เห็นการเกิดดับและความปราศจากเราเขา ที่จะบังคับบัญชาให้เป็นไปตามสภาวะที่เป็นอนัตตลักขณะได้

      ฝ่ายผู้ที่ทำการกำหนดสังขตธรรมรูปนามที่เกิดอยู่เฉพาะหน้า โดยมีสติรู้อยู่ติดต่อกันไม่ขาดสายนั้น ก็ย่อมรู้แทงทะลุปรุโปร่งสันตติบัญญัติ, ฆนบัญญัติที่ปกปิดการเกิดดับของสังขตรรรมรูปนามเสียได้ โดยการกำหนดรู้เห็นวิถีจิตที่เกิดก่อนและวิถีจิตที่เกิดทีหลัง ในระยะเวลาที่ได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้รส ได้สัมผัสกับความเย็น ร้อนอ่อน แข็ง หย่อน ตึง เมื่อย เจ็บ ปวด ดีใจ เสียใจ คิดนึกต่างๆ เหล่านี้ขาดลงเป็นตอนๆไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและไม่มีแก่นสาร ปราศจากเราเขาที่จะบังคับบัญชาให้เป็นไปตามความต้องการ ในด้านรูปก็คงกำหนดรู้เห็นรูปที่เกิดก่อนและรูปที่เกิดทีหลัง ในระยะเวลากำหนดรูปนาม อิริยาบถน้อยใหญ่เป็นต้นเหล่านี้ก็ขาดเป็นท่อนๆ ไม่ใช่อันหนึ่งอันเดียวกัน การรู้เห็นในวิถีจิตและอารมณ์ขาดเป็นตอนๆ นี้เรียกว่า "สันตติบัญญัติขาด" , "ฆนบัญญัติแตก" "อนัตตลักษณะ" คือความไม่มีแก่นสารปราศจากเราเขาที่จะบังคับบัญชาให้เป็นไปตามความต้องการของธรรมทั้งปวงก็ปรากฎขึ้น เป็นอันว่าวิปัสสนาญาณของผู้นั้นได้เข้าถึงความเป็นอนัตตานุปัสสนาที่แท้จริง


---จบ อนัตตานุปัสสนา---


      อนึ่ง ในมหาวิปัสสนา ๑๘ นั้น เมื่อผู้ปฏิบัติได้เห็นพระไตรลักษณ์ในสังขารทั้งหลาย ก็ถือว่าแทงตลอด "อนิจจานุปัสสนา ทุกขานุปัสสนา และอนัตตานุปัสสนา" และก็ถือว่าแทงตลอด "อนิมิตตานุปัสสนา อัปปณิหิตานุปัสสนา และสุญญตานุปัสสนา" ด้วย เพราะเหมือนกันกับอนุปัสสนา ๓ ข้างต้น ต่างกันเพียงพยัญชนะเท่านั้น ส่วนอธิปัญญาธัมมวิปัสสนา ก็คือวิปัสสนาทั้งปวง ยถาภูตญาณทัสสนะ ก็สงเคราะห์เข้ากับกังขาวิตรณวิสุทธินั่นเอง

----------///--------


[full-post]

ปริจเฉทที่๙,อภิธัมมัตถสังคหะ,วิปัสสนากรรมฐาน,อนัตตานุปัสสนา

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.