๓. วิญญาณปจฺจยา นามรูปํ สมฺภวติ

      เจตสิกที่ประกอบกับโลกียวิปากจิต และกัมมชรูป ย่อมปรากฎเกิดขึ้นเพราะอาศัยกัมมวิญญาณและวิปากวิญญาณ เป็นเหตุ

      วิญญาณที่เป็นเหตุให้เกิดนามรูปนี้ มีอยู่ ๒ อย่าง คือ วิปากวิญญาณ และ กัมมวิญญาณ

      - วิปากวิญญาณ ได้แก่ โลกียวิปากจิต ๓๒

      - กัมมวิญญาณ ได้แก่ อกุศลจิต มหากุศลจิต รูปาวจรกุศลจิต ที่ประกอบกับกุศลอกุศลเจตนาที่ในอดีตภพ

      - นาม ได้แก่ เจตสิก ๓๕ ที่ประกอบกับโลกียวิปากจิต ๓๒ 

      - รูป ได้แก่ ปฏิสนธิกัมมชรูป ปวัตติกัมมชรูป จิตตชรูป (สำหรับปวัตติกัมมชรูป และจิตตชรูปที่เข้าในบทว่า รูปํ ได้นั้น ก็โดยอาศัยกัมมวิญญาณ และปวัตติวิปากวิญญาณนั้นเอง นับเข้าโดยอนุโลม)


เมื่อจำแนกวิปากวิญญาณ และนามรูปเหล่านี้ โดยปฏิสนธิกาลและปวัตติกาลแล้ว ย่อมเป็นไปได้ดังนี้คือ

      - ปฏิสนธิวิปากวิญญาณ ได้แก่ ปฏิสนธิจิต ๑๙

      - ปวัตติวิปากวิญญาณ ได้แก่ โลกียวิปากจิต ๓๒

      - ปฏิสนธินาม ได้แก่ เจตสิก ๓๕ ที่ประกอบกับปฏิสนธิวิญญาณ ๑๙

      - ปวัตตินาม ได้แก่ เจตสิก ๓๕ ที่ประกอบกับปวัตติวิปากวิญญาณ ๓๒

      - ปฏิสนธิรูป ได้แก่ กัมมชรูปที่เกิดพร้อมกับปฏิสนธิวิญญาณ

      - ปวัตติรูป ได้แก่ จิตตชรูปที่เกิดจากปวัตติวิปากวิญญาณ ๑๘ (เว้นทวิปัญจวิญญาณจิต ๑๐ อรูปวิปาก ๔) และปวัตติกัมมชรูปที่เกิดจากกัมมวิญญาณ ๒๕


แสดงวฉนัตถะของคำว่า นาม

      อารมฺมเณ นมตีติ = นามํ

      ธรรมชาติใดน้อมไปในอารมณ์ ฉะนั้น ธรรมชาตินั้นชื่อว่า นาม ได้แก่เจตสิกที่ประกอบกับโลกียวิปากจิต ๓๒


วจนัตถะของคำว่า รูป

      สีตุณฺหาทิวิโรธิปจฺจเยหิ รุปฺปตีติ = รูปํ

      ธรรมชาติใดย่อมสลายไป เพราะปัจจัยที่เป็นปฏิปักษ์ มีความเย็น ความร้อนเป็นต้น ฉะนั้น ธรรมชาตินั้นชื่อว่า รูป ได้แก่ กัมมชรูป และจิตตชรูป


วจนัตถะของคำว่า นามรูป

      นามญฺจ รูปญฺจ นามรูปญฺจ = นามรูปํ

      นามด้วย รูปด้วย นามรูปด้วย ชื่อว่า นามรูป


อธิบายในวจนัตถะของนามรูป

      คำว่า นามรูปํ นี้ ถ้าแสดงตามความเป็นไปของนามและรูปที่เกิดจากวิญญาณแล้ว จะต้องแสคงว่า "วิญฺญาณปจฺจยา นามรูปนามรูปํ" แต่ในที่นี้ตัดเอานามรูปออกเสียบทหนึ่ง คงเหลือแต่ นามรูปํ บทเดียว การแสดงเช่นนี้เรียกว่า "เอกเสสนัย"

      อธิบายว่า วิญญาณเป็นปัจจัยช่วยอุปการะแก่นามรูปนี้ มี ๓ อย่าง คือ

      ๑. วิญญาณเป็นปัจจัยช่วยอุปการะแก่นามในอรูปภูมิ และปัญจโวการภูมิ อย่างหนึ่ง 

          ในที่นี้คำว่า วิญญาณ ได้แก่ อรูปวิปากจิต ๔ เป็นปัจจัยช่วยอุปการะแก่เจตสิก ๓๐ ทั้งในปฏิสนธิกาล และปวัตติกาล ในอรูปภูมิ ๔

          และทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ เป็นปัจจัยช่วยอุปการะแก่สัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๗ ในปวัตติกาล ในปัญจโวการภูมิ ๒๖ ตามสมควร

      ๒. วิญญาณเป็นปัจจัยช่วยอุปการะแก่รูปในอสัญญสัตตภูมิ และในปัญจโวการภูมิอย่างหนึ่ง ในที่นี้คำว่า "วิญฺญาณ" หมายเอากัมมวิญญาณ ซึ่งได้แก่รูปาวจรปัญจมฌานกุศลจิต ที่ประกอบกับสัญญาวิราคภาวนาเจตนาในอดีตภพเป็นปัจจัยช่วยอุปการะแก่กัมมชรูป ทั้งในปฏิสนธิกาล และปวัตติกาลของพวกอสัญญสัตตพรหม

      และอกุศลจิต ๑๒ มหากุศลจิต ๘ ที่ประกอบกับกุศล อกุศลเจตนาในอดีตภพเป็นปัจจัยช่วยอุปการะแก่ปวัตติกัมมชรูปในกามภูมิ ๑๑ และมหากุศลจิต ๘ รูปาวจรกุศลจิต ๕ ที่ประกอบกับกุศลเจตนาในอดีตภพเป็นปัจจัยช่วยอุปการะแก่ปวัตติกัมมชรูปในรูปภูมิ ๑๕ (เว้นอสัญญสัตตภูมิ)

      ๓. วิญญาณเป็นปัจจัยช่วยอุปการะแก่นามรูป ในปัญจโวการภูมิอย่างหนึ่ง ในที่นี้ คำว่า "วิญญาณ" ได้แก่ ปัญจโวการปฏิสนธิวิญญาณ ๑๕ เป็นปัจจัยช่วยอุปการะแก่เจตสิก ๓๕ และปฏิสนธิกัมมชรูปในปัญจโวการภูมิ ๒๖ และปัญจโวการปวัตติวิปากวิญญาณ ๑๘ (เว้นทวิปัญจวิญญาณ ๑๐) เป็นปัจจัยช่วยอุปการะแก่เจตสิก ๓๕ และจิตตชรูป ในปัญจโวการภูมิ ๒๖


แสดง ลักษณะ รส ปัจจุปัฏฐาน ปทัฏฐาน ของนาม

      ๑. นมนลกฺขณํ มีการน้อมไปสู่อารมณ์เป็นลักษณะ

      ๒. สมฺปโยครสํ มีการประกอบกับวิญญาณ และประกอบกันเองโดยอาการที่เป็นเอกุปปาทตาเป็นต้น เป็นกิจ

      ๓. อวินิพฺโภคปจฺจุปฏฺฐานํ มีการไม่แยกกันกับจิตเป็นอาการปรากฏในปัญญาของบัญฑิตทั้งหลาย

      ๔. วิญฺญาณปทฏฺฐานํ มีวิญญาณเป็นเหตุใกล้


แสดง ลักษณะ รส ปัจจุปัฏฐาน ปทัฏฐาน ของรูป

      ๑. รุปฺปนลกฺขณํ มีการสลายแปรปรวนเป็นลักษณะ

      ๒. วิกิรณรสํ มีการแยกออกจากกันได้เป็นกิจ

      ๓. อพฺยากตปจฺจุปฏฺฐานํ มีความเป็นอัพยากตธรรมหรือมีความไม่รู้อารมณ์เป็นอาการปรากฎในปัญญาของบัณฑิตทั้งหลาย 

          (อเจตนา อพยากตาติ เอตฺถ วิย อนารมฺมณาตา วา อพฺยากตตา ทฏฺฐพฺพา) (มาในมหาฎีกา)

      ๔. วิญฺญาณปทฺฐานํ มีวิญญาณเป็นเหตุใกล้


แสดงการสงเคราะห์ปัจจัย ๒๔ เข้าในบท วิญญาณปจฺจยา นามรูปํ

- วิปากวิญญาณ เป็นปัจจัยช่วยอุปการะแก่นาม คือเจตสิกที่ประกอบนั้น ได้อำนาจปัจจัย ๙ คือ

      ๑) สหชาตปัจจัย ๒) อัญญมัญญปัจจัย ๓) นิสสยปัจจัย ๔) วิปากปัจจัย ๕) อาหารปัจจัย ๖) อินทริยปัจจัย ๗) สัมปยุตตปัจจัย ๘) อัตถิปัจจัย ๙) อวิคตปัจจัย

- ปฏิสนธิวิญญาณ เป็นปัจจัยช่วยอุปการะแก่หทัยวัตถุรูปนั้น ได้อำนาจปัจจัย ๙ คือ

      ๑) สหชาตปัจจัย ๒) อัญญมัญญปัจจัย ๓) นิสสยปัจจัย ๔) วิปากปัจจัย ๕) อาหารปัจจัย ๖) อินทริยปัจจัย ๗) วิปปยุตตปัจจัย ๘) อัตถิปัจจัย ๙) อวิคตปัจจัย

- ปฏิสนธิวิญญาณ เป็นปัจจัยช่วยอุปการะแก่ปฏิสนธิกัมมชรูป (เว้นหทัยวัตถุ) นั้น ได้อำนาจปัจจัย ๘ คือ

      ๑) สหชาตปัจจัย ๒) นิสสยปัจจัย ๓) วิปากปัจจัย ๔) อาหารปัจจัย ๕) อินทริยปัจจัย ๖) วิปปยุตตปัจจัย ๗) อัตถิปัจจัย ๘) อวิคตปัจจัย

- กัมมวิญญาณ เป็นปัจจัยช่วยอุปการะแก่ปฏิสนธิกัมมชรูปในอสัญญสัตตภูมิ และปวัตติกัมมชรูปในปัญจโวการภูมิ และเอกโวการภูมินั้น ได้อำนาจปัจจัย ๑ คือ ปกตูนิสสยปัจจัย


จบ วิญฺญาณปจฺจยา นามรูปํ

-------///------

[full-post]

ปริจเฉทที่๘,ปฏิจจสมุปบาท,ปัจจยสังคหะ,อภิธัมมัตถสังคหะ,

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.