ต่อไปนี้จะพรรณนาเนื้อความในวิปัสสนากรรมฐาน

(ตามอภิธัมมัตถสังคหบาลี)


อธิบายบาลีข้อที่ ๑ แสดงถึงวิสุทธิ ๗

      พระอนุรุทธาจารย์ได้แสดงสมถกรรมฐานจบลงแล้ว เมื่อประสงค์จะแสดงวิปัสสนากรรมฐาน ตามที่ได้ปฏิญญาไว้แล้วในตอนต้น จึงได้กล่าวว่า "วิปสสนากมฺมฏฺฐาเน ปน เป็นต้นต่อไป :-

      คำว่า "วิสุทธิ" ในวิปัสสนากรรมฐานนี้ หมายความว่า ความบริสุทธิ์จากกิเลสเป็นพิเศษ ชื่อว่า วิสุทธิ เมื่อแยกบทแล้วได้ ๒ บท คือ วิ + สุทธิ วิ = วิเศษ สุทธิ = บริสุทธิ์ 

      ดังแสดงวจนัตถะว่า "วิเสเสน สุชฺฌนํ วิสุทฺธิ" (วิ-ปุพพ สุทฺธ - ธาตุ) ความบริสุทธิ์จากกิเลสเป็นพิเศษ ชื่อว่า วิสุทธิ ได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา คือวิสุทธิทั้ง ๓

      จริงอยู่ ความบริสุทธิ์ต่างๆ ที่เป็นไปในทางโลกที่มีอยู่ เช่น น้ำบริสุทธิ์ หญิงสาวบริสุทธิ์ ผู้บริสุทธิ์ สถานที่บริสุทธิ์ เหล่านี้ เป็นต้น หาได้เรียกว่า วิสุทธิไม่ เพียงเเต่เรียกว่า สุทธิ หรือบริสุทธิ์เท่านั้น ที่เป็นดังนี้ก็เพราะว่า ความบริสุทธิ์เหล่านี้เป็นความบริสุทธิ์ธรรมดา หาใช่บริสุทธิ์เป็นพิเศษแต่อย่างใดไม่ ส่วนความบริสุทธิ์ของศีล สมาธิ ปัญญา นั้น สามารถทำบุคคลให้เป็นฌานลาภี และพระอริยะ เหตุนี้แหละจึงเรียกว่า "วิสุทธิ" แสดงวจนัตถะอีกนัยหนึ่งว่า 

      ๑. "วิสุชฺฌนฺตีติ วิสุทฺธิ" (กัตตุสาธนะ) ธรรมอันใดย่อมบริสุทธิ์ เป็นพิเศษฉะนั้น ธรรมนั้นชื่อว่า วิสุทธิ

      ๒. "วิโสเธตีติ วิสุทฺธิ" (กัตตุสาธนะ) ธรรมอันใดย่อมชำระกาย วาจา ใจให้บริสุทธิ์เป็นพิเศษ ฉะนั้น ธรรมนั้นชื่อว่า วิสุทธิ

      ๓. "วิสุชฺฌติ เอตายาติ วิสุทธิ" (กรณสาธนะ) กาย วาจา ใจ ย่อมบริสุทธิ์เป็นพิเศษด้วยธรรมชาตินั้น ฉะนั้น ธรรมชาตินั้นชื่อว่า วิสุทธิ

      ๔. "วิสุชฺฌนํ วิสุทฺธิ" (ภาวสาธนะ) ความบริสุทธิ์เป็นพิเศษ ชื่อว่า วิสุทธิทั้ง ๔ ข้อนี้ ได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา คือวิสุทธิทั้ง ๓ นั้นเอง

-----------------------

๑. อธิบายสีลวิสุทธิ

   ความบริสุทธิ์แห่งศีล


คำว่า ศีล ในศีลวิสุทธินี้ หมายเอาความบริสุทธิ์ของศีล ๔ อย่าง คือ

      ๑. ปาฏิโมกขสํวรสีลํ ศีลที่สำรวมในพระปาติโมกข์

      ๒. อินฺทฺริยสำวรสีลํ ศีลที่สำรวมในอินทรีย์ ๖

      ๓. อาชีวปาริสุทฺธิสีลํ ศีลที่มีอาชีพบริสุทธิ์

      ๔. ปจฺจยสนฺนิสฺสิตสีลํ ศีลที่อาศัยปัจจัย ๔


      ๑. ปาฏิโมกฺขสํรสีลํ เมื่อแยกบทแล้วมี ๓ บท คือ ปาฏิโมกข + สังวร + สีล รวมแล้วเป็น ปาฏิโมกขสังวรสีล ดังมีวจนัตถะว่า "ปาฏิโมกฺขสํวโร โส สีลํ จาติ ปาฏิโมกฺขสํวรสีลํ" แปลว่า ศีลที่ช่วยให้ผู้รักษาพ้นจากอบายภูมิทั้ง ๔ องค์ธรรมได้แก่ วิรตีเจตสิก ที่นับว่าเป็น ศีล ๕, ศีล ๘, ศีล ๑๐, ศีล ๒๒๗ ศีล ๓๑๑

      ๒. อินฺทฺริยสํวรสีลํ  คำว่า "อินทริยสังวรสีล" เมื่อแยกบทแล้วมี ๓ บท คือ อินทริย + สังวร + สีล เมื่อรวมแล้วเป็น อินทริยสังวรสีล ดังมีวจนัตถะแสดงว่า "อินฺทฺริยสํวโร จ โส สีลํ จาติ อินฺทฺริยสํวรสีลํ" แปลว่า อินทรีย์ทั้ง ๖ อย่าง ย่อมสังวรรักษาได้ ฉะนั้น เรียกว่าอินทรียสังวรศีล องค์ธรรมได้แก่ สติเจตสิกที่ประกอบกับมหากุศลจิต

      ๓. อาชีวปาริสุทธิสีลํ คำว่า อาชีวปาริสุทธิสีล เมื่อแยกบทแล้วมี ๓ บท คือ อาชีว + ปาริสุทธิ + สีล เมื่อรวมแล้วเป็น อาชีวปาริสุทธิสีล ดังมีวจนัตถะแสดงว่า "อาชีวปาริสุทฺธิ จ โส สีลํ จาติ อาชีวปาริสุทฺธิสีลํ" แปลว่า ย่อมหาเลี้ยงชีพโดยสัมมาอาชีวะ คือ สำหรับฆราวาส เว้นมิจฉาชีวะต่างๆ ในสัมมาอาชีววิรตีสำหรับพระภิกษุ สามเณร เว้นกุลทูสกะ อเนสนาต่างๆ ตามพระปาติโมกข์ ฉะนั้นเรียกว่า อาชีวปาริสุทธิสีล องค์ธรรมได้แก่ สัมมาอาชีวเจตสิกที่ประกอบกับมหากุศลจิต

      ๔. ปจฺจยสนฺนิสสิตสีลํ คำว่า ปัจจยสันนิสสิตสีล เมื่อแยกบทแล้ว มี ๓ บท คือ ปัจจย + สันนิสสิต + สีล เมื่อรวมแล้วเป็น ปัจจยสันนิสสิตสีล ดังมีวจนัตถะแสดงว่า "ปจฺจยสนฺนิสฺสิตํ จ สีสํ จาติ ปจฺจยสนฺนิสฺสิตสีลํ" แปลว่า ศีลนั้นด้วย อาศัยปัจจัยนั้นด้วย ฉะนั้นชื่อว่า ปัจจยสันนิสสิตศีล องค์ธรรมได้แก่ ปัญญาเจตสิกที่ประกอบกับมหากุศลจิต


ความบริสุทธิ์ของจตุปาริสุทธิศีล ๔ ประการ

      ๑. เทสนาสุทธิ ความบริสุทธิ์ด้วยการ ไม่ต้อง คือไม่ละเมิดสิกขาบทนั้น ๆ, เมื่อต้องแล้วต้องแสดง หรือออกด้วยวิธีทางพระวินัย มีอัพภาณเป็นต้น

      ๒. สังวรสุทธิ ความบริสุทธิ์ด้วยการสำรวม

      ๓. เอฏฐิสุทธิ ความบริสุทธิ์ด้วยอาชีพที่แสวงหา

      ๔. ปัจจเวกขณสุทธิ ความบริสุทธิ์ด้วยการพิจารณา

      ว่าโดยสามัญ นิจศีล ชื่อว่า สีลวิสุทธิ ดังนั้น สีลวิสุทธิของคฤหัสถ์ได้แก่ศีล ๕ ของอุบาสก อุบาสิกา ได้แก่ ศีล ๘, ของสามเณร ได้แก่ ศีล ๑๐, ของพระภิกษุได้แก่ ศีล ๒๒๗, ที่กล่าวว่า สีลวิสุทธิ ได้แก่ นิจศีล นั้น ก็เพราะว่าธรรมดานิจศีลนี้ ย่อมชำระ กาย วาจา ให้สะอาดหมดจดจากความทุศีล และให้สำเร็จกิจเป็นที่ตั้งแห่งธรรมชั้นสูง มี ฌาน มรรค ผล เกิดขึ้น ดังนั้น เมื่อว่าโดยสามัญแล้ว นิจศีล ชื่อว่าสีลวิสุทธิ

-------------


๒. อธิบายจิตตวิสุทธิ

    ความบริสุทธิ์แห่งจิต

      จิตฺตวิสุทฺธิ เมื่อแยกบทแล้วมี - บท คือ จิตต + วิสุทธิ เมื่อรวมกันแล้วเป็น จิตตวิสุทธิ แปลว่า ความบริสุทธิ์แห่งจิต ดังมีวจนัตถะว่า "จิตฺตสฺส วิสุทฺธิ จิตฺตวิสุทฺธิ" แปลว่า การชำระจิตใจของพระโยคาวจรให้ปราศจากมลทินเครื่องเศร้าหมองคือนิวรณ์ ฉะนั้น จึงเรียกว่า "จิตตวิสุทธิ" องค์ธรรมได้แก่ เอกัคคตาเจตสิก ที่ในมหากุศล มหากิริยา มหัคคตกุศล มหัดคตกิริยา "จิตตวิสุทธิ" ได้แก่ สมาธิ ๒ อย่าง คือ "อุปจารสมาธิ และอัปปนาสมาธิ" ดังที่กล่าวมาแล้ว


อีกนัยหนึ่ง

จิตตวิสุทธิมี ๒ อย่าง คือ

      ๑. สมถสมาธิ ได้แก่ สมาธิ ๒ อย่าง คือ อุปจารสมาธิ และอัปปนาสมาธิ

      ๒. วิปัสสนาชณิกสมาธิ ได้แก่ ขณิกสมาธิ

      สมาธิโดยประเภทมี ๓ อย่าง คือ "ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ" "อุปจารสมาธิ" และ "อัปปนาสมาธิ" ชื่อว่า "จิตตวิสุทธิ" ก็เพราะมีความบริสุทธิ์เป็นพิเศษ ปราศจากมลทิน คือนิวรณ์ และชำระจิตใจของพระโยดีให้ปราศจากมลทินคือนิวรณ์ แต่ท่านได้ยกจิตที่เกิดพร้อมกับสมาธิทั้งสองนี้ขึ้นเป็นประธาน แล้วเรียกว่า "จิตตวิสุทธิ" ส่วน "ขณิกสมาธิ" สมาธิชั่วขณะเป็นสมาธิที่อยู่ในมหากุศล หรือมหากิริยา ที่เกิดขึ้นแก่สุทธวิปัสสนายานิกโยคี ที่กำหนครู้รูปนามนั้น เรียกว่า "จิตตวิสุทธิ" ได้เหมือนกัน แต่จัดเข้าโดยอนุโลม สมาธิทั้งที่ได้ชื่อว่า "จิตตวิสุทธิ" นั้น อยู่ภายในขอบเขต และมีอารมณ์ดังนี้ คือ อุปจารสมาธิ เป็นสมาธิที่อยู่ในมหากุศล มหากิริยา มีสมถกรรมฐานเป็นอารมณ์ "อัปปนาสมาธิ" เป็นสมาธิที่อยู่ในมหัคคตฌาน ๘ หรือ ๙ มีบัญญัติ ปรมัตถ์ ที่เนื่องมาจากสมถกรรมฐาน ๓๐ เป็นอารมณ์, สมาธิ คือเอกัคคตาที่ในมรรคจิต ๒๐, ผลจิต ๒๐ ก็นับว่าเป็นอัปปนาสมาธิ เช่นเดียวกัน ฯ 

---------------

๓. อธิบายทิฏฐิวิสุทธิ

   ความบริสุทธิ์แห่งความเห็น

      ทิฏฐิวิสุทฺธิ เมื่อแยกบทแล้วมี ๒ บท คือ "ทิฏฐิ" บทหนึ่งแปลว่าความเห็น "วิสุทธิ" บทหนึ่ง แปลว่า ความบริสุทธิ์ เมื่อรวมกันแล้วเป็น ทิฏฐิวิสุทธิ ดังมีวจนัตถะแสดงว่า :-

      "ทิฏฺฐิเยว วิสุทฺธิ ทิฏฺฐิวิสุทฺธิ" แปลว่า ญาณที่สามารถรู้รูปนามโดย

          ๑. ลักขณะ คือ รู้ลักษณะเฉพาะตน (ปัจจัตตลักษณะ) ของรูปนาม

          ๒. รส คือ รู้หน้าที่หรือกิจของรูปนาม

          ๓. ปัจจุปัฏฐาน คือ รู้ผลหรืออาการปรากฏของรูปนาม

          ๔. ปทัฏฐาน คือ รู้เหตุที่ใกล้ชิดของรูปนาม ฉะนั้น จึงเรียกว่า ทิฏฐิวิสุทธิ องค์ธรรมได้แก่ ปัญญาเจตสิก ที่ในมหากุศลญาณสัมปยุตตจิต ๔ ที่มีรูปนามเป็นอารมณ์ 

              (การแสดงลักษณะ รส ปัจจุปัฏฐาน ปทัฏฐานของ จิต เจตสิก รูป ได้แสดงไว้แล้วในปฏิจจสมุปบาท)

      อธิบาย การรู้รูปนามด้วยสามารถแห่ง ลักษณะ รส ปัจจุปัฏฐาน ปทัฏฐานดังที่กล่าวมานี้ แม้จะไม่ครบทั้ง ๔ ก็ตาม เพียงแต่รู้อย่างใดอย่างหนึ่งใน ๔ อย่างก็ได้ชื่อว่า ทิฏฐิวิสุทธิๆ นี้ ว่าโดยญาณ ๑๖ แล้วจัดเป็นนามรูปปริจเฉทญาณ

       นามรูปปริจเฉทญาณ ปัญญาที่กำหนดรู้เห็นรูปนามตามสภาวะที่เป็นจริง ชื่อว่า "ทิฏฐิวิสุทธิ" เพราะชำระจิตใจของพระโยคาวจรให้ปราศจากสักกายทิฏฐิลงได้

----------------


๔. อธิบายกังขาวิตรณวิสุทธิ


      ความบริสุทธิ์ คือญาณที่ข้ามพ้นจากความสงสัย ชื่อว่า "กงขาวิตรณวิสุทฺธิ" กังขาวิตรณวิสุทธินี้ เมื่อแยกบทแล้วมี ๓ บท คือ กังขา + วิตรณ +วิสุทธิ เมื่อรวมแล้วเป็น กังขาวิตรณวิสุทธิ ดังมีวจนัตถะแสดงว่า "กงฺขาวิตรณา เอว วิสุทฺธิ กงฺขาวิตรณวิสุทฺธิ" แปลว่า ปัญญาที่สามารถรู้เหตุแห่งรูปนามทั้ง ๒ คือ รู้รูปสมุทัย เหตุของรูป นามสมุทัย เหตุของนาม เมื่อรู้เหตุของรูปนามทั้ง ๒ อย่างนั้น ก็ก้าวล่วงความสงสัยเสียได้ ฉะนั้น ญาณนั้นจึงชื่อว่ากังขาวิตรณวิสุทธิ องค์ธรรมได้แก่ ปัญญาเจตสิก ที่ในมหากุสลญาณสัมปยุตตจิต ที่มีปัจจัยของรูปนามเป็นอารมณ์


ปัจจัยของรูปนามคือ

      ๑. ปัจจัยให้เกิดรูปนาม (จิต เจตสิก และกัมมชรูป) ในปฏิสนธิกาล ได้แก่อวิชชา ตัณหา อุปทาน กรรม

      ๒. ปัจจัยให้เกิดนาม (จิต เจตสิก) ในปวัตติกาล ได้แก่ วัตถุรูป ๖ มีจักขุวัตถุเป็นต้น อันเป็นวัตถุปเรชาตนิสสยปัจจัยและอารมณ์ ๑ มีรูปารมณ์เป็นต้นอันเป็นอารัมมณปัจจัย

      ๓. ปัจจัยให้เกิดรูป (จตุสมุฏฐานิกรูป ในปวัตติกาล ได้แก่ กรรม จิต อุตุและอาหาร (กพฬิการาหาร)

      ๔. ปัจจัยให้เกิดนาม (วิปากจิต เจตสิก) ได้แก่ กุศล อกุศล

      ๕. ปัจจัยให้เกิดนาม (อาวัชชนจิต เจตสิก) ได้แก่ ภวังคุปัจเฉทะ ที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจอนันตรปัจจัย เป็นต้น

      ปัจจยปริคคหญาณ ปัญญาที่กำหนดรู้เห็น เหตุ ปัจจัยของรูปนามที่เกิดภายในตน ชื่อว่า "กังขาวิตรณวิสุทธิ" เพราะก้าวล่วงความสงสัย ๘ อย่าง ที่มาในพระอภิธรรม และความสงสัย ๑๖ อย่าง ที่เกี่ยวกับกาล ๓ ซึ่งมาในพระสูตรเสียได้


ความสงสัย ๘ อย่างที่มาในพระอภิธรรม คือ

      ๑. พุทฺเธ กงฺขติ สงสัยในพระพุทธเจ้า คือคุณทั้ง ๙ มี อรหํ เป็นต้นว่าจะเป็นจริง ดังที่กล่าวนั้นหรือไม่

      ๒. ธมฺเม กงฺขติ สงสัยในพระธรรม คือคุณทั้ง ๖ มี สุวากฺขาโต เป็นต้นว่าเป็นความจริง ดังที่กล่าวนั้นหรือไม่

      ๓. สงฺเฆ กงฺขติ สงสัยในพระสงฆ์ คือคุณทั้ง ๘ มี สุปฏิปนฺโน เป็นต้นว่าจะเป็นจริง ตามนั้นได้หรือไม่

      ๔. สิกฺขาย กงฺขติ สงสัยในสิกขาบท คือข้อปฏิบัติที่เกี่ยวกับ ศีล, สมาธิ.ปัญญา ว่าข้อปฏิบัติต่างๆ ที่พระโคตมพุทธะวางไว้นั้นจะผิดถูกประการใด และจะได้รับประโยชน์จริง ตามนั้นหรือไม่

      ๕. ปุพฺพนุเต กงฺขติ สงสัยในขันธ์ ๕ ที่เป็นอดีต คือที่กล่าวว่าสัตว์ทั้งหลายได้เคยเกิดมาแล้วแต่ในอดีตนั้น จริงหรือไม่

      ๖. อปรนฺเต กงฺขติ สงสัยในขันธ์ 2 ที่เป็นอนาคต คือที่กล่าวว่าสัตว์ทั้งหลายตายแล้วก็จักเกิดต่อไปนั้น จะเป็นจริงหรือไม่

      ๗. ปุพฺพนฺตาปรนฺเต กงฺขติ สงสัยในขันธ์ ๕ ที่เป็นอดีต และอนาคตคือสัตว์ทั้งหลายที่กำลังปรากฎอยู่ในบัดนี้นั้น กล่าวกันว่าได้เคยเกิดมาแล้ว และจักเกิดต่อไปอีกนั้น จะเป็นจริงดังนั้นหรือไม่

      ๘. อิธปฺปจฺจยตา ปฏิจฺจสมุปฺปนฺเนสุ ธมฺเมสุ กงฺขติ สงสัยในปฏิจสมุปปันธรรม มีสังขารเป็นต้น ในปฏิจจสมุปบาทธรรม มีอวิชชาเป็นต้น เป็นปัจจัย คือในเรื่องบุญ - บาป และการสืบต่อแห่งภพใหม่ การเห็น การได้ยินของสัตว์ทั้งหลายเป็นต้น ที่เกี่ยวเนื่องมาจากความหลง และการจัดแจงปรุงแต่ง กาย วาจา ใจ เป็นต้นซึ่งเป็นสาเหตุนั้น จะเป็นจริงหรือไม่


ความสงสัย ๑๖ อย่างที่มาในพระสูตร ได้แก่

สงสัยในขันธ์ ๕ ที่เป็นส่วนอดีต ๕, อนาคต ๕, ปัจจุบัน ๖, 


สงสัยในขันธ์ ๕ ที่เป็นส่วนอดีต ๕ คือ

      ๑. อโหสึ นุ โข อหํ อตีตมทฺธานํ เราเคยเกิดมาแล้วในอดีตกาลจริงหรือหนอ

      ๒. น นุ โข อโหสึ อตีตมทฺธานํ เราไม่เคยเกิดมาแล้วในอดีตกาลจริงหรือหนอ

      ๓. กึ นุ โข อโหสึ อตีตมทฺธานํ ถ้าเคยเกิดๆ เป็นชนชั้นไหนในอดีตกาลหนอ

      ๔. กถํ นุ โข อโหสึ อตีตมทฺธานํ เรามีรูปร่างสัณฐานเป็นอย่างไรในอดีตกาลหนอ

      ๕. กึ หุตฺวา กึ อโหสึ นุ โข อหํ อตีตมทฺธานํ เราเคยเกิดเป็นอะไรมาแล้วและเคยเกิดเป็นอะไรต่ออะไรบ้างหนอ ในอดีตกาล

สงสัยในขันธ์ ๕ ที่เป็นส่วนอนาคต ๕ คือ

      ๑. ภวิสฺสามิ นุ โข อหํ อนาคตมทฺธานํ เราจักเกิดในกาลข้างหน้าหรือหนอ

      ๒. น นุ โข ภวิสฺสามิ อห อนาคตมทฺธานำ เราจักไม่เกิดในกาลข้างหน้าหรือหนอ

      ๓. กึ นุ โข ภวิสฺสามิ อนาคตมทฺธานํ ถ้าจักเกิดๆ เป็นชนชั้นไหนในกาลข้างหน้าหนอ

      ๔. กึ นุ โข ภวิสฺสามิ อนาคตมทฺธานํ เราจักมีรูปร่างสัณฐานเป็นอย่างไรในกาลข้างหน้าหนอ

      ๕. กึ หุตฺวา กึ ภวิสฺสามิ นุ โข อหํ เราจักเกิดเป็นอะไรแล้ว และ อนาคตมทฺธานํ จักเกิดเป็นอะไรต่ออะไรอีก ในกาลข้างหน้าหนอ

สงสัยในขันธ์ ๕ ที่เป็นส่วนปัจจุบัน ๖ คือ

      ๑. อหํ นุ โข อสุมิ เดี๋ยวนี้เป็นเราหรือหนอ

      ๒. โน นุ โข อสฺมิ เดี๋ยวนี้ไม่เป็นเราหรือหนอ

      ๓. กึ นุ โข อสฺมิ เดี๋ยวนี้เราเป็นชาติอะไรหนอ

      ๔. กถํ นุ โข อสฺมิ เดี๋ยวนี้เรามีรูปร่างสัณฐานอย่างไรหนอ

      ๕. อยํ นุ โข สตฺโต กุโต อาคโต สัตว์นี้มาจากไหนหนอ

      ๖. โส กุหึ คามี ภวิสฺสติ สัตว์นั้นจักไปเกิดที่ไหนหนอ

-------------


๕. อธิบายมัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ


      ความบริสุทธิ์คือความรู้ในหนทางที่ถูกและผิด ชื่อว่า มคฺคามคฺคญาณทสสนวิสุทฺธิ, มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธินี้  เมื่อแยกบทแล้วมี ๕ บท คือ มัคค หนทาง + อมัคค ไม่ใช่ทาง + ญาณ ความรู้ + ทัสสน ความเห็น+ วิสุทธิ ความบริสุทธิ์  เมื่อรวมกันแล้ว เป็น "มัคคามรรคญาณทัสสนวิสุทธิ" แปลว่า ความบริสุทธิ์ในความเห็นแจ้งของญาณว่าเป็นมัคคปฏิปทาและมิใช่มัคคปฏิปทา องค์ธรรมได้แก่ "ปัญญาเจตสิก"

      "สัมมสนญาณ" ปัญญาที่ไตร่ตรองในลักษณะทั้ง ๓ ของรูปนาม และอุทยัพพยญาณเบื้องแรก คือปัญญาที่เห็นความเกิดขึ้นและดับไปของรูปนาม แต่ยังอ่อนอยู่ในระหว่างนี้เป็นขอบเขตของมัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ เพราะว่าวิปัสสนาญาณทั้งสองนี้ ชำระใจให้พ้นจากคาหะ (ความยึด) ทั้ง ๓ คือความยึดมั่นด้วย ตัณหา มานะ ทิฏฐิ ในอุปกิเลส ๑๐ อย่าง ซึ่งเป็นหนทางผิดเสียได้ ฉะนั้น เมื่ออุทยัพพยญาณเบื้องแรกของพระโยคีที่เห็นความเกิดดับของรูปนามนั้น เกิดขึ้นติดต่อกันอย่างไม่ขาดสาย เมื่ออุปกิเลส ๑๐ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ปัญญาที่กำหนดวินิจฉัยลักษณะมรรคว่า โอภาสเป็นต้นเหล่านี้ไม่ใช่มรรค เพราะเป็นเหตุเป็นที่ตั้งแห่ง ตัณหา มานะ ทิฏฐิ โคยแท้ แต่วิปัสสนาญาณที่ดำเนินไปตามวิถี ซึ่งพันจากวิปัสสนูปกิเลสมีโอภาสเป็นต้นนั้นเป็นมรรค ชื่อว่า "มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ" เพราะรู้เห็นทางและมิใช่ทาง และเพราะชำระความสำคัญผิดในวิปัสสนูปกิเลส ที่มิใช่ทางว่าเป็นทางให้หมดจด 


วิปัสสนูปกิเลสไม่เกิดแก่บุคคล ๓ จำพวก

      ๑. พระอริยบุคคล ผู้ถึงปฏิเวธแล้ว

      ๒. โยคีผู้ปฏิบัติผิดแนวทางวิปัสสนา

      ๓. โยคีผู้เกียจคร้านทอดทิ้งกรรมฐาน

      ผู้มีความเพียรแก่กล้าเท่านั้น วิปัสสนูปกิเลสจึงเกิด, วิปัสสนูปกิเลสเกิดตรงตรุณอุทยัพพยญาณ คือ "อุทยัพพยญาณอย่างอ่อน" และวิปัสสนาญาณที่สงเคราะห์เข้าในมัคคามรรคญาณทัสสนวิสุทธิ ได้นั้น มี ๒ คือ "สัมมสนญาณ และตรุณอุทยัพพยญาณ" คือ "อุทยัพพยญาณอย่างอ่อน"

--------------


๖. อธิบายปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ


ความบริสุทธิ์คือความรู้ในข้อปฏิบัติที่ถูก

      "ปฏิปทาญาณทสุสนวิสุทฺธิ" เมื่อแยกบทแล้ว มี ๔ บท คือ ปฏิปทา + ญาณ ความรู้ + ทัสสน ความเห็น + วิสุทธิ ความบริสุทธิ์ รวมกันแล้วเป็น "ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ" แปลว่า ความบริสุทธิ์ในการเห็นแจ้งของญาณ อันเป็นเครื่องดำเนินไปสู่มัคคปฏิปทาโดยส่วนเดียว และวิปัสสนาญาณที่สงเคราะห์เข้าในปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิมี ๙ คือ

      ๑. พลวอุทยัพพยญาณ 

      ๒. ภังคญาณ 

      ๓. ภยญาณ 

      ๔. อาทีนวญาณ 

      ๕. นิพพิทาญาณ

      ๖. มุญจิตุกัมยตาญาณ

      ๗. ปฏิสังขาญาณ

      ๘. สังขารุเปกขาญาณ

      ๙. อนุโลมญาณ หรือ สัจจานุโลมิกญาณ


      วิปัสสนาญาณทั้ง ๙ นับตั้งแต่อุทยัพพยญาณเบื้องหลัง ที่ผ่านพ้นจากอุปกิเลส ๑๐ อย่างเป็นต้น จนถึงอนุโลมญาณ ทั้งหมดนี้เรียกว่า "ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ" เพราะว่าวิปัสสนาญาณทั้ง ๙ นี้ ชำระใจให้พ้นจากความจำผิดทั้ง ๓ มี นิจสัญญา สุขสัญญา อัตสัญญาเสียได้


วิสุทธิข้อที่ ๗ ญาณทัสสนวิสุทธิ https://prachaniyom.blogspot.com/2022/12/blog-post_86.html

-------///--------

[full-post]

ปริจเฉทที่๙,อภิธัมมัตถสังคหะ,วิปัสสนากรรมฐาน,วิสุทธิ,

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.