ฤทธิ์ ๑๐ อย่าง

คำว่า อิทธิ ในบท อิทธิวิธอภิญญา นั้นแปลว่า ความสำเร็จ ท่านอรรถกถาจารย์ได้แสดงจำแนกความสำเร็จนี้ออกเป็น ๑๐ อย่าง คือ

      ๑. อธิฏฐานาอิทธิ ฤทธิ์ที่เกิดจากการตั้งใจ

      ๒. วิกุพพนาอิทธิ ฤทธิ์แปลงกายให้เป็นไปอย่างอื่น ดังเช่น พระโมคคัลลานะแปลงเป็นพระยานาค เป็นต้น

      ๓. มโนมยาอิทธิ ฤทธิ์ที่เกิดจากฌานสมาธิ ดังเช่น พระจูฬบัณถก

      ๔. ญาณวิปผาราอิทธิ ฤทธิ์ที่เกิดขึ้นทำการคุ้มครองให้พันจากอันตรายเนื่องด้วยอำนาจแห่งอรหัตตมรรคที่จักเกิดขึ้น ดังเช่น พระพากุลเถระ และ พระสังกิจจเถระ เป็นต้น

      ๕. สมาธิวิปผาราอิทธิ ฤทธิ์เกิดขึ้นป้องกันอันตราย เนื่องด้วยอำนาจสมาธิดังเช่น พระสารีบุตร นางอุตตรา นางสามาวดี

      ๖. อริยาอิทธิ ฤทธิ์ที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจแห่งการเป็นพระอรหันต์ คือ ไม่รู้สึกเกลียดในสิ่งที่น่าเกลียด ด้วยการแผ่เมตตาและการพิจารณาธาตุทั้ง ๔ และมีการเกลียดต่อสิ่งที่น่ารักน่ายินดี ด้วยอำนาจแห่งการพิจารณาอสุภะและอนิจจะ

      ๗. กัมมวิปากชาอิทธิ ฤทธิ์ที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจแห่งผลของกรรม ดังเช่นนกบินไปได้ เทวดาและพรหมทั้งหลายเหาะได้ หายตัวได้ ตาทิพย์ หูทิพย์ และวินิปาติก เทวดา คือ นางยักขินีที่ชื่อว่า ผุสสะ มิตตะ ธัมมคุตตะ ที่เป็นมารดาของปิยังกะ อุตตระ เหาะได้ หายตัวได้ เหล่านี้เป็นต้น

      ๘. ปุญญวโตอิทธิ ฤทธิ์ที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจของบุญ ดังเช่นพระเจ้าจักรพรรดิ์ทรงเหาะไปในทวีปทั้ง ๔ พร้อมด้วยเสนาข้าราชบริพาร และโชติกเศรษฐีที่มีปราสาทเป็นแก้วมณีผุดขึ้นให้แก่สัตว์ทั้งหลาย เป็นลักษณะ

      ๙. วิชชามยาอิทธิ ฤทธิ์ที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจของวิชาอาคม ที่แสดงไว้ในอาถรรพนเวทปกรณ์ ดังเช่น วิชาธรเหาะได้ แสดงเป็นพลช้าง พลม้า พลเท้า พลรถ ปรากฏในท้องอากาศให้คนทั้งหลายเห็นได้

      ๑๐. ตัตถตัตถสัมมาปโยคปัจจยาอิทธิ ฤทธิ์ที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจแห่งความพยายามค้นคว้าศึกษาพิสูจน์อย่างรอบคอบถี่ถ้วนโดยถูกต้อง ในด้านวัตถุสิ่งของนั้นๆและการงานต่างๆ ตลอดจนถึงการปริยัติและปฏิบัติ ดังเช่นการประหาณนิวรณ์ด้วยปฐมฌานเป็นต้น การประหาณกิเลสด้วยมรรค์ทั้ง ๔ ความรู้แตกฉานในพระไตรปีฎกและอรรถกถา วิชาโหราศาสตร์ ดาราศาสตร์ แพทยศาสตร์ เกษตรศาสตร์ อักษศาสตร์ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ยุทธศาสตร์ เหล่านี้เป็นต้น


จบสมถกรรมฐานทีปนี

วันที่ ๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๔

--------------------

[full-post]

ปริจเฉทที่๙,สมถกรรมฐาน,อภิธัมมัตถสังคหะ,ฤทธิ์

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.