พจนานานุกรมบาลีที่ผมใฝ่ฝัน

----------------------------

..........................................................

ดาวน์โหลด พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ฉบับสมาคมบาลีปกรณ์

http://lirs.ru/.../Pali-English_Dictionary,1921-25,v1.pdf

..........................................................

ดาวน์โหลด พจนานุกรมบาลี-ไทย-อังกฤษ ฉบับภูมิพโลภิกขุ

https://sites.google.com/.../10-dictionary-pali-thai-english

..........................................................

ดาวน์โหลด นามานุกรมบาลี (Dictionary of Palī Proper Names)

เล่ม 1

https://ia800105.us.archive.org/.../Pali%20Proper%20Names...

เล่ม 2

https://ia800106.us.archive.org/.../Pali%20Proper%20Names...

..........................................................

สมัยทำงานอยู่ที่มูลนิธิภูมิพโลภิกขุเพื่อการค้นคว้าและเผยแผ่ทางพระพุทธศาสนา ต้องหยิบจับตำราบาลีหลายเล่มอยู่เป็นประจำ หนึ่งในบรรดาตำราเหล่านั้นก็คือพจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ฉบับของสมาคมบาลีปกรณ์แห่งประเทศอังกฤษ

ที่ใช้คำว่า “แห่งประเทศอังกฤษ” ไม่ได้แปลว่า สมาคมบาลีปกรณ์เป็นสมาคมของรัฐบาลอังกฤษ แต่หมายความเพียงว่า สมาคมแห่งนี้ตั้งอยู่ที่อังกฤษ คนอังกฤษเป็นผู้ก่อตั้ง เป็นสมาคมของเอกชน ไม่ได้เกี่ยวกับรัฐบาลอังกฤษแต่ประการใด

ชื่อสมาคมนี้ภาษาอังกฤษเรียกว่า THE PALI TEXT SOCIETY ในภาษาไทยเรียกกันว่า สมาคมบาลีปกรณ์ (PALI = บาลี TEXT = ปกรณ์) 

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ฉบับของสมาคมบาลีปกรณ์ จึงมีชื่อเต็มๆ ว่า THE PALI TEXT SOCIETY’S PALI-ENGLISH DICTIONARY 

ถ้าบอกชื่อคนแต่งหรือคนที่ค้นคว้าจัดทำด้วย ก็เรียกเต็มที่ว่า THE PALI TEXT SOCIETY’S PALI-ENGLISH DICTIONARY edited by T. W. RHYS DAVIDS 

ในหมู่คนไทยที่ใช้พจนานุกรมฉบับนี้ เรียกกันว่า พจนานุกรมบาลีของ ริส เดวิดส์ ก็เป็นอันรู้กัน

ผมหยิบจับพจนานุกรมเล่มนี้ด้วยความนับถือมาตั้งแต่ปี ๒๕๑๗ นับถือคุณค่าด้วย นับถือคนทำด้วย ตอนนั้นได้แต่ใฝ่ฝันว่า เมื่อไรหนอเราจึงจะมีพจนานุกรมฉบับนี้เป็นของตัวเอง

ที่ได้แต่ใฝ่ฝันก็เพราะดูขนาดรูปเล่ม ดูราคา ดูวิธีที่จะซื้อหาแล้ว คนระดับผมไม่มีโอกาสที่จะทำได้แน่นอน

ผู้บริหารมูลนิธิภูมิพโลภิกขุในสมัยนั้นเคยไปอยู่อังกฤษ จะไปเรียนหรือไปทำอะไร ไม่แน่ใจ แต่เป็นคนที่คุ้นเคยกับเมืองอังกฤษ จึงสามารถติดต่อสั่งซื้อพจนานุกรมฉบับนี้จากอังกฤษได้สบายๆ ซ้ำยังติดต่อสื่อสารมีสัมพันธ์อันดีกับสมาคมบาลีปกรณ์อีกต่างหาก จนสามารถเจรจาขออนุญาตเอาพจนานุกรมบาลี-อังกฤษฉบับนี้มาเป็นต้นฉบับในการทำพจนานุกรมบาลี-ไทย-อังกฤษ ฉบับภูมิพโลภิกขุ ดังที่ปรากฏอยู่ในโลกบาลีเมืองไทยในทุกวันนี้

ช่วงเวลาที่กำลังทำพจนานุกรมบาลี-ไทย-อังกฤษ ฉบับภูมิพโลภิกขุนั่นแหละที่ผมเป็นเจ้าหน้าที่คนหนึ่งของมูลนิธิฯ อยู่ในที่เกิดเหตุ แต่ไม่ได้เข้าไปร่วมก่อเหตุด้วย เพราะความสามารถไม่ถึง ได้แต่เฝ้าดูบรรยากาศในการจัดทำอยู่ข้างสนาม ทำหน้าที่ “เด็กเก็บบอล” เป็นครั้งคราว

เมื่อพจนานุกรมบาลี-ไทย-อังกฤษ ฉบับภูมิพโลภิกขุ สำเร็จออกมาเป็นรูปเล่ม เป็นหนังสือชุดใหญ่มหึมา ๘ เล่มใหญ่ๆ จบชุด ราคาชุดหนึ่งเป็นหมื่น ผมก็ได้แต่กลืนน้ำลาย 

เหมือนเด็กเสิร์ฟในภัตตาคารนั่นแหละครับ มีหน้าที่เสิร์ฟอาหารเลิศรส แต่ไม่มีวาสนาได้ลิ้มรส

เป็นอันว่า ทั้ง THE PALI TEXT SOCIETY’S PALI-ENGLISH DICTIONARY ที่เป็นต้นฉบับจากอังกฤษ ทั้งพจนานุกรมบาลี-ไทย-อังกฤษ ฉบับภูมิพโลภิกขุ ที่ถอดแบบแปลออกมาเป็นไทย ผมมีวาสนาแค่หยิบจับเปิดใช้ในฐานะเป็นเจ้าหน้าที่คนหนึ่งของมูลนิธิฯ เท่านั้น แต่ไม่เคยมีโอกาสมีไว้เป็นเจ้าของ

ว่าถึงกระบวนการจัดทำและทุนรอนที่ต้องใช้ไปในการจัดทำ เราต้องยอมรับว่า การที่พจนานุกรมฉบับที่พูดถึงนี้ต้องจำหน่ายในราคาที่ค่อนข้างสูง-หรือที่จริงก็คือ-สูงจริงๆ-นั้น ย่อมสมเหตุสมผล ไม่มีใครตำหนิหรือบ่นว่าได้เลย 

นึกถึงความอุตสาหะของคนทำ นึกถึงความลำบากยากเข็ญของคนทำ นึกถึงหัวใจคนทำ นึกได้อย่างนี้ คนที่มีกำลังพอที่จะซื้อหาได้ ย่อมเต็มใจจ่ายด้วยกันทั้งนั้น และเมื่อได้หนังสือไปใช้ก็ล้วนแต่ยอมรับว่าคุ้มค่าจริงๆ เกินคุ้มด้วยซ้ำไป

................

พจนานุกรมในฝันอีกเล่มหนึ่งก็คือ Dictionary of Palī Proper Names ของ G.P. MALALASEKERA เป็นพจนานุกรมรวมวิสามานยนาม หรือ “อสาธารณนาม” ที่ปรากฏในคัมภีร์บาลีทั้งหมด พร้อมสรุปเรื่องให้รู้ว่าชื่อนั้นคำนั้นคือใครคืออะไร มีเรื่องอยู่ในคัมภีร์เล่มไหน เป็นผลงานของนักบาลีชาวศรีลังกา-ผู้ซึ่งเรียนบาลีเพื่อเอาความรู้ไปศึกษาค้นคว้าคัมภีร์จริงๆ พจนานุกรมเล่มนี้สมาคมบาลีปกรณ์พิมพ์เป็นเล่มใหญ่ ๒ เล่มชุด

เมื่อปี ๒๕๐๔ คณะสงฆ์ไทยได้จัดทำตำราขึ้นมาชุดหนึ่ง ชื่อ นามานุกรมบาลี-ไทย ใช้ Dictionary of Palī Proper Names เป็นต้นร่าง พิมพ์ออกมาเป็นเล่มเล็กๆ ได้ไม่กี่คำหยุดไป

ผมฝันว่า คณะสงฆ์ไทยในปัจจุบันจะจับงานชิ้นนี้ขึ้นมาทำต่อ ปัจจุบันบุคลากรของคณะสงฆ์ที่เป็นนักวิชาการมีพรั่งพร้อมแล้ว ไม่น่ามีปัญหา ท่านผู้ใดมีบารมี ขอความกรุณากระตุกชายจีวรท่านให้สักนิด ก็จะเป็นมหากุศลอย่างยิ่ง

ผมฝันว่า นักเรียนบาลีในเมืองไทยเมื่อเห็นผลงานแบบนี้จะได้เกิดแรงบันดาลใจ มุ่งเรียนบาลีเพื่อเอาความรู้ไปศึกษาค้นคว้าคัมภีร์กันบ้าง

................

เวลาผ่านไป ไวเหมือนโกหก

จนถึง ณ วันนี้ วันที่กลไกไฮเทคในระบบสื่อสารของมนุษย์ก้าวหน้าไปอย่างเร็วรุด ใครจะเชื่อบ้างว่า ณ วันนี้ ผมสามารถเป็นเจ้าของพจนานุกรมทั้ง ๒ ฉบับที่ใฝ่ฝันมาตลอดชีวิตนั้นได้แล้วอย่างง่ายดาย

ง่ายดาย-เหมือนโกหก

นั่นก็คือ ณ วันนี้ ทั้ง THE PALI TEXT SOCIETY’S PALI-ENGLISH DICTIONARY ที่เป็นต้นฉบับจากอังกฤษ ทั้งพจนานุกรมบาลี-ไทย-อังกฤษ ฉบับภูมิพโลภิกขุ ที่แปลเป็นไทยจากต้นฉบับครบชุดมหึมา ๘ เล่ม มีฉบับที่เป็นไฟล์ PDF เผยแพร่ต่อสาธารณชน สามารถคัดลอก (Download) เก็บไว้อ่านได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ วิธีการคัดลอกก็แสนจะสะดวก ไม่ต้องกรอกรหัส ไม่ต้องลงทะเบียนให้ยุ่งยาก คนแก่เงอะงะเรื่องกลไกไฮเทคอย่างผมพอคลำทางเข้าถึงได้ไม่ยากเย็น

จากหนังสือราคาเป็นหมื่น เอามาวางไว้ให้หยิบเอาไปได้เปล่าๆ เจ้าของหนังสือคิดอย่างไร?

คิดอย่างไร ผมไม่อาจหยั่งน้ำใจท่านได้ ที่ทำได้และทำทุกครั้งที่เปิดอ่านเปิดใช้ก็คือ น้อมคารวะในน้ำใจอันงามของท่าน 

................

เราต้องการให้คนในชาติของเราเป็นคนฉลาด-จะฉลาดในสาขาวิทยาการใดๆ เราก็ต้องการทั้งสิ้น

เด็กฉลาด ชาติเจริญ - เคยมีคำขวัญอย่างนี้

แต่ในกระบวนการที่จะทำให้คนของเราฉลาดนั้น เราตั้งเงื่อนไขไว้ว่า ถ้าคุณอยากฉลาด คุณต้องจ่ายมา

พจนานุกรมบาลี เล่มหนึ่งเป็นพัน ชุดหนึ่งเป็นหมื่น

คุณอยากฉลาดภาษาบาลี คุณต้องจ่ายมา

ตกลงว่า เราต้องการให้คนของเราฉลาด 

หรือว่าเราต้องการกำไรคุ้มทุนกันแน่?

ในบ้านเรา วัดญาณเวศกวันเป็นแห่งหนึ่งที่ผมขอน้อมกราบคารวะ นั่นคือ หนังสือมากมายหลายเล่มอันเป็นงานนิพนธ์ของท่านเจ้าพระคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ป.อ. ปยุตฺโต ท่านทำออกมาเป็น E-book มีไฟล์ PDF ให้ดาวน์โหลดเก็บไว้อ่านได้

โดยเฉพาะเพชรน้ำเอก-หนังสือ พุทธธรรม ท่านทำทั้งไฟล์หนังสือ ทั้งไฟล์เสียงอ่านจบทั้งเล่ม แจกจ่ายและดาวน์โหลดได้โดยเสรี

สนับสนุนให้คนในชาติเป็นคนฉลาดทางธรรมได้ โดยไม่ต้องจ่าย

หลายวัด หลายสำนักก็ทำแบบเดียวกัน มากบ้างน้อยบ้างตามกำลัง-ขอน้อมกราบคารวะ

ณ วันนี้ พจนานุกรมบาลีที่ควรแก่การน้อมคารวะอย่างยิ่งก็คือ พจนานุกรมพระไตรปิฎกบาลีเถรวาท ๒๓ เล่มชุดใหญ่ที่สุดในโลกของท่านศาสตราจารย์ ดร.อุทิส ศิริวรรณ และคณะของท่าน เป็นงานที่ต้องใช้ทุนมหาศาลในการจัดทำ 

ผมได้แต่วาดหวังว่า ถ้าทำเป็นไฟล์ PDF เผยแพร่ให้ดาวน์โหลดได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ก็จะเป็นยอดแห่งมหาธรรมทานบารมี เป็นมหาสถูปธัมมเจดีย์ที่ช่วยให้ชนทุกชั้นสามารถสัมผัสเพื่อความฉลาดในบาลีได้จริง

แต่เมื่อนึกเทียบกับ THE PALI TEXT SOCIETY’S PALI-ENGLISH DICTIONARY จากปีที่เริ่มพิมพ์ออกจำหน่ายถึงปีที่ทำเป็น ไฟล์ PDF เผยแพร่ให้ดาวน์โหลดได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ต้องรอกันเกือบ ๙๐ ปี 

เพราะฉะนั้น ถ้าต้องรออีก ๙๐ ปีจึงจะมีไฟล์ PDF ของพจนานุกรมบาลีชุดมหาสถูปธัมมเจดีย์ของท่านศาสตราจารย์ ดร.อุทิส ศิริวรรณ ออกมาเผยแพร่ให้ดาวน์โหลดได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ก็นับว่าสมเหตุสมผล 

ผู้ขาดกำลังทรัพย์ต้องอดใจรอกันไปก่อนนะครับ - ๙๐ ปี ไม่นานเกินรอ 

................

ก่อนจบ ผมขอฝากข้อคิดส่วนตัว-เรื่องหนังสือ E-book

ผมอ่านหนังสือที่เป็นไฟล์ PDF เทียบกับหนังสือที่เป็นเล่มกระดาษ ถ้าตัดเอาเปลือกนอกคือ “บรรยากาศ” (เช่นกลิ่นกระดาษเป็นต้น) ออกไปก็ไม่มีอะไรแตกต่างในสาระสำคัญ หน้าตาของแต่ละหน้าตั้งแต่ปกหน้าจนถึงปกหลังเหมือนเล่มกระดาษจริง แต่ที่วิเศษกว่าเล่มกระดาษก็คือ ไม่ต้องใช้พื้นที่ในการเก็บรักษา ไม่ต้องหนักแรงในการพกพา ไม่ต้องเมื่อยมือจับถือในเวลาอ่าน 

อย่าง Dictionary of Palī Proper Names ผมมีที่เป็นเล่มกระดาษอยู่ชุดหนึ่ง แต่พอมีฉบับที่เป็นไฟล์ PDF ฉบับเล่มกระดาษก็เก็บเข้าตู้แบบถาวรไปเลย

ผมเชื่อว่าอีกไม่เกิน ๑๐๐ ปี จะไม่มีการผลิตหนังสือที่เป็นเล่มกระดาษอีกต่อไป 

E-book หรือไฟล์ PDF จะเข้ามาแทนที่หนังสือกระดาษ ๑๐๐ %

------------------------

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๑๐ มกราคม ๒๕๖๖

๑๘:๒๕

[full-post]

พจนานุกรม,ศัพท์บาลี

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.