พรรณนาเนื้อความในสมถกรรมฐาน ตามอภิธัมมัตถสังคหะบาลี

อธิบายในบาลีข้อที่ ๑ ขยายความคำปฏิญญาของพระอนุรุทธาจารย์


      อนุสนธิ พระอนุรุทธาจารย์ ได้แสดงความเป็นไปของ รูป นาม โดยความ เป็นอนัตตะ ให้กุลบุตรทั้งหลายได้ทราบ โดยนัยทั้งสอง คือ ปฏิจจสมุปปาทนัย และปัฏฐานนัย จบลงแล้ว ต่อจากนั้นก็ได้ชี้ถึงแนวทางการปฏิบัติ สมถภาวนา และวิปัสสนาภาวนา ให้กุลบุตรทั้งหลายได้ทราบ เพื่อเป็นเครื่องดำเนินงานในการปฏิบัติต่อไป

            สมถวิปสฺสนานํ         ภาวนานมิโต ปรํ

            กมฺมฏฺฐานํ ปวกฺขามิ    ทุวิธมฺปิ ยถากฺกมํ ฯ

      คาถาปฏิญญานี้แปลความว่า พระอนุรุทธาจารย์ ได้ให้คำปฏิญญาว่า จะแสดง

      กรรมฐาน ๒ ประเภท คือ สมถกรรมฐาน และ วิปัสสนากรรมฐาน ตามลำดับ 

      ในลำดับแห่งการแสดงปัจจยสังคหะวิภาคจบลงแล้ว


      ปริจเฉทที่ชื่อว่า กรรมฐานสังคหะ หมายความว่า เป็นปริจเฉทที่แสดงการรวบรวมกรรมฐานต่างๆ ดังมีวจนัตถะแสดงว่า

      "กมฺมฏฺฐานานํ สงฺคโห = กมฺมฏฺฐานสงฺคโห"

      ปริจเฉทที่แสดงการรวบรวมกรรมฐานทั้งหมดชื่อว่า "กรรมฐานสังคหะ"


อธิบายบทโดยเฉพาะ ๆ ในคาถานี้

      ภาวนา แปลว่า ธรรมที่ควรเจริญ คือ ให้เกิดขึ้นบ่อย ๆ ในสันดานของตน ชื่อว่า ภาวนา ดังมีวจนัตถะแสดงว่า

      "ภาเวตพฺพาติ = ภาวนา"

      ธรรมที่บัณฑิตทั้งหลาย พึงทำให้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกและครั้งหลังๆ ให้ติดต่อ กันเป็นนิจ จนถึงเจริญขึ้น จะนั้น จึงชื่อว่า ภาวนา

      การที่แสดงวจนัตถะ คือ เนื้อความของภาวนาดังนี้นั้น เพราะเป็นธรรมที่อำนวยประโยชน์ให้แก่ผู้กระทำให้ได้รับความสุขกาย สุขใจ ทั้งในภพนี้และภพหน้าตลอดจนกระทั่งพ้นจากวัฏฏสงสาร


ธรรมที่ชื่อว่า ภาวนา นี้มีอยู่ ๒ อย่าง คือ

      ๑. สมถภาวนา  ๒ วิปัสสนาภาวนา

      ๑. สมถภาวนา "กิเลเส สเมตีติ = สมโถ" ธรรมใดทำให้กิเลสมีกามฉันทนิวรณ์ เป็นต้น สงบลง ฉะนั้น ธรรมนั้นชื่อว่า สมถะ ได้แก่สมาธิ คือ เอกัคคตาที่ในมหากุศลจิต ๘ และ รูปาวจรปฐมฌานกุศลจิต ๑

      หรืออีกนัยหนึ่ง "จิตฺตํ สเมตีติ = สมโถ" ธรรมใดทำให้จิตที่ไม่สงบเนื่องมาจากการได้รับอารมณ์หลาย ๆ อย่าง สงบลงมาตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์อันเดียว ฉะนั้นธรรมนั้น ชื่อว่า สมถะ ได้แก่ สมาธิ คือ เอกัคคตาที่ใน มหากริยาจิต ๘ และรูปาวจรปฐมณานกริยาจิต ๑

      หรืออีกนัยหนึ่ง "วิตกฺกาทิ โอฬาริกธมฺเม สเมตีติ = สมโถ" ธรรมใดทำให้องค์ฌานชนิดหยาบมีวิตก เป็นต้น สงบลง คือ ไม่ให้เกิด ฉะนั้น ธรรมนั้น ชื่อว่า สมถะ ได้แก่สมาธิ คือ เอกัคคตาที่ใน ติยฌานกุศล กริยา เป็นต้น จนถึงปัญจมฌานกุศล กริยา


อธิบายในวจนัตถะทั้ง ๓ ข้อของสมถะตามลำดับ

      ๑.) ปุถุชนทั้งหลาย ที่กำลังเจริญสมถกรรมฐานอยู่นั้น ในเวลานั้นมหากุศลจิตตุปบาทย่อมเกิดขึ้นเรื่อยๆ ถ้าผู้นั้นเป็นติเหตุกปุถุชน และมีความพยายามอย่างเพียงพอแล้วก็จะสามารถสำเร็จเป็นฌานลาภีบุคคล คือ รูปาวจรปฐมฌานกุศลย่อมเกิดขึ้น มหากุศลจิตตุปบาทและปฐมฌานกุศลจิตตุปบาท เหล่านี้ มีเอกัคคตาเจตสิกเป็นประธาน ท่านมุ่งหมายเอาเฉพาะเอกัคตาเจตสิกดวงนี้แหละ จึงแสดงวจนัตถะว่า "กิเลเส สเมตีติ = สมโถ"

      ๒.) ผู้ที่สำเร็จเป็นพระรหันต์แล้วแต่กลับมาเจริญสมถกรรมฐาน เพื่อที่จะให้ได้โลกียฌานนั้น ในเวลานั้น มหากริยาจิตตุปบาทย่อมเกิดขึ้นเรื่อยๆ จนสำเร็จเป็นฌานลาภีบุคคล คือ รูปาวจรปฐมฌานกริยาจิตุปบาท ย่อมเกิดขึ้น มหากริยาจิตตุปบาทและ ปฐมฌาน กริยาจิตตุปบาทเหล่านี้ ไม่ได้ทำการประหาณกิเลสนิวรณ์แต่ประการใดหากแต่เกิดขึ้นทำให้จิตที่ไม่สงบ เนื่องมาจากการได้รับอารมณ์มากมายหลายประการนั้นสงบลงมาตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์อันเดียว มหากริยาจิตตุปบาทและปฐมณานกริยาจิตตุปบาทเหล่านี้ มีเอกัคคตาเจตสิกเป็นประธาน ท่านมุ่งหมายเอาเฉพาะเอกัคคตาเจตสิกดวงนี้แหละ จึงแสดง วจนัตถะว่า "จิตฺตํ สเมตีติ = สมโถ"

      ๓.) ปฐมฌานลากีบุคคลที่เป็นปุถุชนและพระเสกขะ อเสกขบุคคล เหล่านี้เมื่อเจริญสมถกรรมฐานต่อไป ฌานเบื้องบนมีทุติยฌานกุศล - กริยา เป็นต้น ย่อมเกิดขึ้นตามลำดับ ทุติยฌานจิตตุปบาทที่เป็นกุศล กริยา เป็นต้นนี้ ไม่ต้องทำการประหาณกิเลสนิวรณ์ให้สงบลงอีกแต่ประการใด หากแต่เกิดขึ้น ทำให้จิตใจมีสมาธิแก่กล้ายิ่งๆ ขึ้นไปตามลำดับ พร้อมกับทำการละองค์มานอย่างหยาบมีวิตก เป็นต้น ให้สงบลง กล่าวคือ ทุติยฌานสมาธิก็ละวิตกองค์ฌาน ตติยฌานสมาธิก็ละวิจารองค์ฌาน จตุตถฌานสมาธิก็ละปีติองค์ฌาน ปัญจมฌานสมาธิก็ละสุของค์ฌานให้สงบลงไปเป็นชั้นๆ ในทุติยฌานกุศล - กริยาจิตตุปบาทเหล่านี้มีเอกัคคตาเจตสิกเป็นประธาน ท่านมุ่งหมายเอาเฉพาะเอกัคคตาเจตสิกดวงนี้แหละจึงแสดงวจนัตะว่า "วิตกฺกาทิ โอฬาริกธมฺเม สเมตีติ = สมโถ"


สมถะมี ๒ ประการ

      ๑.) ปริตตสมถะ การเจริญสมถกรรมฐานของบุคคลที่ยังไม่เข้าถึงอัปปนาภาวนานั้น ชื่อว่า ปริตตสมถะ เพราะในขณะนั้นมีแต่มหากุศล หรือ มหากริยาชวนะเท่านั้นที่เกิดขึ้น องค์ฌานที่ประกอบอยู่นั้นก็ยังมีกำลังอ่อนอยู่

      ๒.) มหัคคตสมถะ  การเจริญสมถกรรมฐานของบุคคลที่เข้าถึง อัปปนาภาวนา คือ มหัคคตฌาน ชื่อว่า มหัคคตสมถะ เพราะในขณะนั้นมหัคคตกุศล หรือกริยาชวนะเท่านั้นที่เกิดขึ้น และองค์ฌานที่ประกอบอยู่นั้นก็มีกำลังมาก สามารถเข้าไปเพ่งในสมถอารมณ์อย่างแน่วแน่  ส่วนองค์ฌานที่ประกอบกับมหัคคตกุศลนั้นเล่า ก็มีกำลังมาก สามารถประหาณนิวรณ์ธรรม โดยวิกขัมภนะอีกด้วย


๒. วิปัสสนาภาวนา

      "รูปาทิอารมฺมเณสุ ปญฺญตฺติยา จ นิจฺจ สุข อตฺต สุภ สญฺญาย จ วิเสเสน นามรูปภาเวน วา อนิจฺจาทิอากาเรน วา ปสฺสตีติ - วิปสฺสนา" ธรรมชาติใดย่อมเห็นแจ้งในอารมณ์ต่างๆ มีรูปารมณ์ เป็นต้น โดยความเป็นนาม รูป ที่พิเศษนอกออกไปจากบัญญัติ โดยการละทิ้งสัททบัญญัติ อัตถบัญญัติเสียสิ้นและย่อมเห็นแจ้งในอารมณ์ต่างๆ มีรูปารมณ์ เป็นต้น โดยอาการเป็น อนิจจะ ทุกขะ อนัตตะ อสุภะ  ที่พิเศษนอกออกไปจากนิจจสัญญาวิปัลลาส สุขสัญญาวิปัลลาส อัตตสัญญาวิปัลลาส สุภสัญญาวิปัลลาสเสีย ฉะนั้น ธรรมชาตินั้น ชื่อว่า วิปัสสนาได้แก่ ปัญญาเจตสิก ที่ใน มหากุศล มหากริยา

      หรืออีกนัยหนึ่ง "ปญฺจกฺขนฺเธสุ วิวิเธน อนิจฺจาทิอากาเรน ปสฺสตีติ = วิปสฺสนา"

      ธรรมชาติใดย่อมเห็นแจ้งในขันธ์ ๕ โดยประการต่างๆ มี อนิจจะ ทุกขะ อนัตตะ อสุภะ ฉะนั้น ธรรมชาตินั้นชื่อว่า วิปัสสนา ได้แก่ ปัญญาเจตสิกที่ในมหากุศล มหากริยา


อธิบายในวจนัตถะข้อที่ ๑


ในวจนัตถะข้อที่ ๑ นี้ ได้แบ่งออกเป็น ๒ ตอน คือ "รูปาทิอารมฺมเณส ปญฺญตฺติยา วิเสเสน นามรูปภาเวน ปสฺสตีติ = วิปสฺสนา" ตอนหนึ่ง

      "รูปาทิอารมฺมเณสุ นิจฺจ สุข อตฺต สุภ สญฺญาย วิเสเสน อนิจฺจาทิอากาเรน ปสฺสตีติ = วิปสฺสนา" ตอนหนึ่ง

      ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะเนื่องมาจากคำว่า "วิปัสสนา" นั้นเอง กล่าวคือ วิปัสสนา นี้มีบทอยู่ ๒ บท เป็น "วิ" บทหนึ่ง "ปสสนา" บทหนึ่ง "วิ" แปลว่า พิเศษ "ปสสนา" แปลว่า ความเห็นแจ้ง เมื่อรวมเข้าทั้งสองบทแล้ว ก็คงแปลว่า ความเห็นแจ้งเป็นพิเศษ ดังแสดงวจนัตะว่า "วิเสเสน ปสฺสตีติ = วิปสฺสนา" ธรรมชาติใดย่อมเห็นแจ้งเป็นพิเศษ ฉะนั้น ธรรมชาตินั้นชื่อว่า วิปัสสนา

      การเห็นแจ้งเป็นพิเศษซึ่งเป็นตัววิปัสสนาปัญญานี้มีอยู่ ๒ ประการ คือ 

      - การเห็นแจ้งเป็นพิเศษในอารมณ์ต่างๆ ที่มาปรากฏทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ โดยความเป็นรูป นาม ประการหนึ่ง

      - การเห็นแจ้งเป็นพิเศษในอารมณ์ต่างๆ ที่มาปรากฏทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ โดยความเป็น อนิจจะ ทุกขะ อนัตตะ อสุภะ ประการหนึ่ง

      การเห็นเช่นนี้แหละจึงกล่าวว่ามีการเห็นเป็นพิเศษ เพราะว่า อารมณ์ต่างๆที่มาปรากฏทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี้ ในขณะแรกๆ ล้วนแต่เป็นปรมัตถ์อันได้แก่ รูป นาม ทั้งสิ้น แต่สัตว์ทั้งหลาย ไม่รู้ ไม่เห็น ในความเป็นไปของอารมณ์เหล่านี้ว่า เป็นรูป เป็นนาม คงรู้คงเห็นที่เป็นไปในฝ่ายบัญญัติอย่างเดียว คือ เมื่อได้แลเห็นรูปารมณ์ด้วยตา ก็รู้ว่าตนได้เห็นสิ่งนั้น สิ่งนี้ ซึ่งเป็นบัญญัติ ได้ยินสัททารมณ์ด้วยหู ก็รู้ว่าตนได้ยินเรื่องนั้น เรื่องนี้ ซึ่งเป็นบัญญัติ ได้รับคันธารมณ์ด้วยจมูก ก็รู้ว่าตนได้กถิ่นชนิดนั้น ชนิดนี้ ซึ่งเป็นบัญญัติ ได้รับรสารมณ์ด้วยลิ้น ก็รู้ว่าตนได้ลิ้มสชนิดนั้น ชนิดนี้ ซึ่งเป็นบัญญัติได้รับโผฏฐัพพารมณ์ด้วยกาย ก็รู้ว่าตนได้สัมผัสกับวัตถุชนิดนั้น ชนิดนี้ ซึ่งเป็นบัญญัติได้รับรัมมารมณ์ด้วยใจ ก็รู้ว่าเป็นหญิง เป็นชายเป็นสัตว์ เป็นบุคคล ดี เลว ผิด ถูก ดีใจ เสียใจ โง่ ฉลาด เลื่อมใส สงสาร รักใคร่ซึ่งเป็นบัญญัติ

      ความรู้ ความเห็นเป็นบัญญัติดังกล่าวมาแล้วนี้ย่อมเป็นไปตามธรรมดา ส่วนความรู้ ความเห็นในอารมณ์ต่างๆ โดยความเป็นรูปนามนั้น เป็นความรู้ ความเห็นเป็นพิเศษ นี้เป็นคำอธิบายในวจนัตะตอนที่ ๑ ที่แสดงไว้ว่า "รูปาทิอารมฺมเณสุ ปญฺญตฺติยา วิเสเสน นามรูปภาเวน ปสฺสตีติ = วิปสฺสนา"

      ส่วนการเห็นแจ้งเป็นพิเศษในอารมณ์ต่างๆ ที่มาปรากฏทาง ตา หู จมูก ลิ้นกาย ใจ โดยความเป็น อนิจจะ ทุกขะ อนัดตะ อสุภะ ประการที่ ๒ นั้น คือเมื่ออารมณ์ต่างๆ ที่เป็นภายนอกหรือภายในตนได้มาปรากฏทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วแม้ว่าธรรมชาติของอารมณ์เหล่านี้จะมีสภาพเกิดดับประจำอยู่ก็จริง แต่หาได้รู้เห็นตามความเป็นจริง ตามสภาพของอารมณ์ที่มีการเกิดดับอยู่นั้นไม่ มีแต่ความรู้สึกว่าการเห็นการได้ยิน เป็นต้นนี้ตั้งอยู่เสมอโดยไม่ขาดสาย และอารมณ์ที่มาปรากฎเฉพาะหน้านั้นเล่าก็ตั้งอยู่เสมอ ไม่มีการดับไปและเกิดขึ้นใหม่คิดต่อกันแต่ประการใด ในขณะเดียวกันนั้นเองก็มีความรู้สึกนึกคิดว่า อารมณ์อย่างนี้สวยงาม น่ารัก อย่างนี้ ไม่สวย ไม่งาม ไม่น่ารัก เรื่องนี้ เมื่อจะเปรียบเทียบให้เห็นแล้วเหมือนกันกับความรู้สึกของผู้ที่กำลังดูภาพยนต์อยู่ คือ ในขณะนั้นมีแต่การเห็นภาพต่างๆ ที่สำเร็จเป็นบ้านเมือง ถนน หนทางต้นไม้ ภูเขา ตลอดจนกระทั่งสำเร็จในอิริยาบถใหญ่น้อยของคนหนึ่งๆ โดยครบถ้วนบริบูรณ์แล้ว แต่หาได้เห็นไม่ว่าภาพต่างๆ ก็ดี อิริยาบถใหญ่น้อยของคนหนึ่งๆ ที่กำลังปรากฎเป็นไปอยู่ก็ดี มีการติดต่อกันเป็นระยะ ๆ ไปตามลำดับของฟิล์มมากมายหลายร้อยหลายพันแผ่น หาใช่มีแต่เพียงแผ่นเดียวไม่ ข้อนี้ฉันใดอารมณ์ต่างๆ ที่มาปรากฎเฉพาะหน้าทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็เหมือนกันกับความเป็นไปของภาพยนต์ความรู้สึกต่างๆ ของบุคคล ในขณะที่กำลังได้รับอารมณ์อยู่นั้น เหมือนกับความรู้สึกของผู้ที่กำลังดูภาพยนต์อยู่

      ความรู้สึกในอารมณ์ต่างๆ ที่มาปรากฏทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ โดยความเป็น นิจจะ สุขะ อัตตะ สุภะ ดังกล่าวแล้วนี้ เป็นอกุศลก็มี เป็นกุศลญาณสัมปยุตก็มี ญาณวิปปยุตต์ก็มี แต่กุศลญาณสัมปยุตต์นี้ หาใช่ประกอบกับวิปัสสนาปัญญาแต่ประการใดไม่ คงเป็นเพียงปัญญาสามัญทั่วๆ ไปเท่านั้นสำหรับกุศลญาณสัมปยุตต์ที่ประกอบกับวิปัสสนาปัญญานั้น เมื่อได้รับอารมณ์ต่างๆ แล้วมีความรู้สึกได้ทันทีว่ามีความดับไป และเกิดขึ้นใหม่ติดต่อกันไปอย่างไม่ขาดสายโดยความเป็น อนิจจะ ทุกชะ อนัตตะ อสุภะ ความเห็นเช่นนี้แหละเป็นความเห็นที่พิเศษจาก นิจจะ สุขะ อัตตะ สุภะ ซึ่งมีเป็นประจำตามธรรมดานี้ เป็นคำอธิบายในวจนัตถะตอนที่ ๒ ที่แสดงว่า "รูปาทิอารมฺมเณสุ นิจฺจ สุข อตฺต สุภ สญฺญาย วิเสเสน อนิจฺจาทิอากาเรน ปสฺสตีติ = วิปสฺสนา"


อธิบายในวจนัตฉะข้อที่ ๒

      ในวจนัตถะข้อนี้ คำว่า "วิ" หมายความว่า ประการต่างๆ ประการต่างๆ นั้นได้แก่ อนิจจะ ทุกขะ อนัตตะ อสุภะ "ปสสนา" หมายความว่า การเห็นแจ้งเมื่อรวมคำทั้งสองนี้เข้าด้วยกันแล้ว หมายความว่า การเห็นแจ้งโดยประการต่างๆ มีอนิจจะ เป็นต้น

      เพราะตามธรรมดา สัตว์ทั้งหลายในโลกนี้ มีความเข้าใจในขันธ์ ๕ คือ กาย ใจ การเสวยอารมณ์ การจำอารมณ์ การจัดแจงปรุงแต่งในอารมณ์ การรู้อารมณ์ เหล่านี้ว่า เป็นของเที่ยง เป็นสุข เป็นตัวตน อยู่ภายใต้บังคับบัญชา สวยงาม ล้วนแต่เป็นความเห็น ความเข้าใจ ไปในฝ่ายวิปัลลาส ที่เป็นอกุศลบ้าง กุศลญาณสัมปยุตต์บ้าง ญาณวิปปยุตต์บ้าง กุศลญาณสัมปยุตต์ที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับวิปัลลาสธรรมนี้ " หาใช่ประกอบกับวิปัสสนาปัญญา แต่ประการใดไม่ ส่วนกุศลญาณสัมปยุตต์ที่ประกอบกับวิปัสสนาปัญญานั้น ย่อมเห็นแจ้งในขันธ์ ๕ ว่าเป็นอนิจจะ ทุกขะ อนัตตะ อสุภะ

      ดังนั้นจึงมีวจนัตะแสดงว่า "ปญฺจกฺขนฺเธส วิวิเธน อนิจฺจาทิอากาเรน ปสฺสตีติ = วิปสฺสนา"


วิปัสสนามี ๓ ประการ

      ๑.) สงฺขารปริคฺคณฺหนกวิปสฺสนา คือ วิปัสสนาญาณที่มีการกำหนดรู้ในสังขาร ธรรม รูป นาม

      ๒.) ผลสมาปตฺติวิปสฺสนา คือ วิปัสสนาญาณที่เป็นเหตุให้เข้าผลสมาบัติได้

      ๓.) นิโรธสมาปตฺติวิปสฺสนา คือ วิปัสสนาญาณที่เป็นเหตุให้เข้านิโรธสมาบัติได้

      ในวิปัสสนาภาวนาทั้ง ๓ ประการนี้ 

      - สังขารปริคคัณหนกวิปัสสนา นั้น ไม่ว่าจะเป็น ชนิด มันทะ หรือ ติกชวิปัสสนาก็ตาม เมื่อเข้าถึงความเป็นวุฏฐานคามินีวิปัสสนาแล้ว ก็ย่อมเป็นเหตุใกถัที่จะให้ได้มรรคทั้งนั้น ต่างกันก็เพียงแต่ว่าได้สำเร็จมรรคช้า หรือ เร็ว คือ ถ้าวิปัสสนาเป็นมันทะก็ให้สำเร็จมรรคช้า มรรคนั้นเรียกว่าทันทาภิญญามรรค ถ้าวิปัสสนาเป็นติกขะก็ให้สำเร็จมรรคเร็ว มรรคนั้นเรียกว่าขิปปาฏิญญามรรค

      - ผลสมาปัตติวิปัสสนา นั้น จะต้องเป็นติกขวิปัสสนา จึงจะเข้าถึงผลสมาบัติได้ทั้งนี้ก็เพราะว่า ติกขวิปัสสนานี้เป็นปัจจัยช่วยอุปการะ ให้ผลจิตตุปบาทเกิดขึ้นได้ โดยไม่ต้องอาศัยมรรคจิตตุปบาท เช่นเดียวกันกับ มรรคจิตตุปบาท ในมรรควิถีเป็นปัจจัยช่วยอุปการะให้ผลจิตตุปบาทเกิด ๒-๓ ขณะต่อจากตน ฉันนั้น นี้มุ่งหมายเอาเพราะผู้ที่เริ่มเข้าผลสมาบัติใหม่ ๆ เท่านั้น ถ้าผู้นั้นชำนาญในการเข้าผลสมาบัติแล้ว มันทวิปัสสนาก็ได้เช่นเดียวกัน

      - ส่วน นิโรธสมาปัตติวิปัสสนา นั้นจะต้องเป็นวิปัสสนากลางๆ จะเป็นมันทะหรือ ติกวิปัสสนาอย่างใดอย่างหนึ่งไปไม่ได้ เพราะว่า นิโรธสมาปัตติวิปัสสนา นี้เป็นวิปัสสนา ที่เกิดขึ้นสลับกันไปกับสมถะเรื่อยๆ ฉะนั้น จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "ยุคนันธวิปัสสนา"

      เนื่องด้วยวิปัสสนา มี ๓ ประการดังกล่าวมาแล้วนี้ ท่านอรรถกถาจารย์จึงได้แสดงไว้ในวิสุทธิมรรคอรรถกถา(ฉ. ทุติยภาค หน้า ๓๔๗ - ๓๔๘)  และ ปฏิสัมภิทามรรคอรรถกถา"(ฉ. ปฐมภาค หน้า ๒๘๗) ว่า

      "วิปสฺสนา ปเนสา ติวิธา โหติ สงฺขารปริคฺคณฺหนกวิปสฺสนา, ผลสมาปตฺติวิปสฺสนา, นิโรธสมาปตฺติวิปสฺสนาติ. ตตฺถ สงฺขารปริคฺคณฺหนกวิปสฺสนา มนฺทา วา โหตุ ติกฺขา วา มคฺคสฺส ปทฏฺฐาน โหติเยว. ผลสมาปตฺติวิปสฺสนา ติกฺขาว วฏฺฏติ มคฺคภาวนาสทิสา, นิโรธสมาปตฺติวิปสฺสนา ปน นาติมนฺทนาติติกฺขา วฏฺฏติ. ตสฺมา เอส นาติมนฺทาย นาติติกฺขาย วิปสฺสนาย เต สงฺขาเร วิปสฺสติ." 

      วิปัสสนาญาณนี้ มี ๓ อย่าง คือ สังขารปริคคัณหนกวิปัสสนา วิปัสสนาญาณที่กำหนดรู้สังขารธรรม รูป นาม เพื่อจะได้มรรค, ผลสมาปัตติวิปัสสนา เป็นวิปัสสนาญาณที่พิจารณา รูป นาม เพื่อจะเข้าผลสมาบัติ, นิโรธสมาปัตติวิปัสสนาวิปัสสนาญาณที่มีการพิจารณามหัคคตธรรม เพื่อเข้านิโรธสมาบัติ

      ในวิปัสสนาญาณทั้ง ๓ นั้น สังขารปริคคัณหนกวิปัสลนา วิปัสสนาญาณที่เป็นมันทะ หรือ ติกขะก็ตาม ล้วนแต่เป็นเหตุใกล้ให้ได้มรรถทั้งนั้น ผลสมาปัตติวิปัสสนาต้องเป็นติกขะอย่างเดียว จึงจะสมควร เช่นเดียวกันกับการเจริญขึ้นขององค์มรรคในมรรคจิต (เพราะว่าวิปัสสนาญาณนี้แม้มีสังขารธรรมเป็นอารมณ์ก็ตาม แต่มีความเป็นไปอย่างท้อถอยจากสังขารธรรม ประการหนึ่ง และเป็นปัจจัยช่วยอุปการะแก่ผลจิตตุปบาท ที่มีนิพพานเป็นอารมณ์ เหมือนกันกับมรรคจิตที่เป็นปัจจัยช่วยอุปการะแก่ผลจิตตุปบาทในมรรควิถี ประการหนึ่ง ดังนี้ ส่วน นิโรธสมาปัตติวิปัสสนานั้นจะต้องเป็นวิปัสสนาญาณอย่างกลางที่เป็นนาติมันทะนาติติกขะ (เพราะว่าถ้าวิปัสสนาญาณเป็นชนิดอ่อนแล้วสมาธิก็จะมีกำลังมาก  เมื่อสมาธิมีกำลังมาก จิต เจตสิกก็ไม่ดับ คือเข้านิโรชสมาบัติไม่ได้ เพียงแต่มีจิตใจสงบลง เท่านั้น ถ้าวิปัสสนาเป็นชนิดอย่างแก่กล้าก็มีการเห็นโทษในสังขารธรรมเป็นอย่างมาก ก็จะสำเร็จเป็นผลสมาบัติไป)

      หมายเหตุ ความที่กล่าวไว้ในวงเล็บนี้ คัดมาจากวิสุทธิมรรคมหาฎีกา  


กมฺมฏฐานํ 

คำว่า "กมุมฏฐานํ" แปลว่า เป็นที่ตั้งแห่งการเจริญสมถะ และ วิปัสสนา เมื่อแยกบทออกแล้วก็คงได้ ๒ บท คือ กมฺม + ฐาน

      กมฺม แปลว่า การกระทำ

      ฐาน แปลว่า เป็นที่ตั้ง

      ดังมีวจนัตถะว่า "กิริยา - กมฺมํ" การกระทำชื่อว่า กรรม "ติฏฺฐติ เอตฺถาติ - ฐานํ" การเจริญสมถะวิปัสสนา ย่อมตั้งอยู่ในอารมณ์มีกสิณ เป็นต้น และ รูป นาม ฉะนั้น อารมณ์อันมีกสิณ เป็นต้น และรูป นามจึงชื่อว่า ฐาน

      กรรมฐานมี ๒ อย่าง คือ 

      - อารมณ์กรรมฐาน อย่างหนึ่ง 

      - อารัมมณิกภาวนากรรมฐาน อย่างหนึ่ง 

      ใน ๒ อย่างนี้ 

      - อารมณ์กรรมฐาน ได้แก่อารมณ์ของสมถะ มีปถวีกสิณ เป็นต้น และอารมณ์ของวิปัสสนา มี เตภูมกสังขารธรรม คือ รูป นามที่เกิดอยู่ใน ภูมิทั้ง ๓ ดังมีวจนัตถะแสดงว่า "กมฺมสฺส ฐานํ = กมฺมฏฺฐานํ" อารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งการเจริญสมถะ วิปัสสนา ชื่อว่า "กัมมัฏฐาน"

      - อารัมมณิกภาวนากรรมฐาน ได้แก่การพยายามเจริญสมถะ และวิปัสสนาที่เกิดขึ้นก่อน ๆ ดังมีวจนัตถะแสดงว่า "กมฺมสฺส ฐานํ = กมฺมฏฺฐานํ" ความพยายามที่เกิดขึ้นก่อน ๆ อันเป็นที่ตั้งของความพยายามที่เกิดขึ้นหลังๆ ชื่อว่า "กัมมัฏฐาน" 

      สำหรับวจนัดถะในข้อนี้นั้น หมายความว่า ความพยายามที่เกิดขึ้นในครั้งหลังๆ นี้ มีความพยายามที่เกิดขึ้นแล้วในขณะก่อน ๆ เป็นระยะสืบต่อกันมานั้นเองเป็นที่ตั้ง ฉะนั้นความพยายามที่เกิดขึ้นก่อนๆ นั้น จึงชื่อว่า "อารัมมณิกภาวนากรรมฐาน"

      เมื่อสรุปความแล้ว อารมณ์สมถะและวิปัสสนา มี กสิณ เป็นต้น ก็ชื่อว่า กรรมฐาน ความพยายามที่เกิดขึ้นก่อนๆ ติดต่อกันมาเป็นลำดับก็ชื่อว่า กรรมฐาน ทั้งสองประการนี้ต่างกันก็แต่เพียงอย่างหนึ่งเป็น "อารัมมณธรรม" อุปมาเหมือนตัวละคร ส่วนอีกอย่างหนึ่งเป็น อารัมมณิกธรรม อุปมาเหมือนกับผู้ดูละคร 

      แสดงวจนัตถะของคำว่า "กมฺมฏฺฐานํ" ตามนัยมูลฎีกา

      "กมฺมเมว วิเสสาธิคมสฺส ฐานนฺติ = กมฺมฏฺฐาน" (วา) "กมฺเม ภาวนา อารพฺโพ ฐานนฺติ = กมฺมฎฐานํ" ๒  (ฉ. วิภังค์มูลฎีกา หน้า ๑๕๕) (ฉ. วิภังค์มูลฎีกา หน้า ๑๕๖ แสดงไว้ดังนี้ : - "กมฺเม วา ฐาน ภาวนารมฺโภ กมฺมฏฺฐานํ")

      การเจริญภาวนาทั้งสองนี้แหละ เป็นเหตุแห่งการได้บรรลุฌาน มรรค ผล นิพพาน ที่เป็นธรรมพิเศษ ฉะนั้น จึงชื่อว่า กรรมฐาน

      หรืออีกนัยหนึ่ง ความพยายามเจริญในการกระทำทั้งสองอย่างนี้เป็นเหตุแห่งการได้บรรลุ ฌาน มรรค ผล นิพพาน ฉะนั้น จึงชื่อว่า กรรมฐาน

      ตามวจนัตถะทั้งสองนัยนี้ หมายความว่า การเจริญสมถะและวิปัสสนาทั้งสองอย่างนี้ชื่อว่า กรรมฐาน เพราะเป็นเหตุให้ผู้เจริญได้บรรลุ ฌาน มรรค ผล นิพพาน 


      ยถากฺกมํ คำว่า "ยถากฺกมํ" แปลว่า ตามลำดับ ดังมีวจนัตถะแสดงว่า

      "ยํยํ กโม = ยถากฺกโม" ลำดับใดๆ ชื่อว่า ยถากกมะ

      ในคาถาของพระอนุรุทธาจารย์ได้ใช้คำว่า "ยถากฺกมํ" ซึ่งเป็นคำพิเศษไว้ในลำดับสุดท้ายนั้น ก็เพื่อจะให้รู้ในคำปฏิญญาของท่น ว่าท่านจะแสดงสมถกรรมฐานก่อน แล้วจึงจะแสดงวิปัสสนากรรมฐานต่อไปตามลำดับ


จบอธิบายบทโดยเฉพาะๆ ในคาถาปฏิญญา

--------------


อธิบายในบาลีข้อที่ ๒ ที่แสดงสมถกรรมฐาน ๗ หมวด มี "ตตฺถ สมถสงฺคเห" เป็นต้น จนถึง "สตฺตวิเธน สมถกมฺมฏฺฐานสงฺคโห"

      ตอนใดเป็นที่แสดงการรวบรวมสมถกรรมฐาน ตอนนั้นชื่อว่า สมถสังคหะ

      หรือ สมถกรรมฐานสังคหะก็ได้ ดังแสดงวจนัตถะว่า 

      "สมถกมฺมฏฺฐานํ สงฺคโห กณฺโฑติ = สมถกมฺมฏฺฐานสงฺคโห"

      ตอนใด เป็นตอนที่แสดงการรวบรวมสมถกรรมฐาน ฉะนั้น ตอนนั้นชื่อว่า สมถกรรมฐานสังคหะ


การแสดงรวบรวมสมถกรรมฐานนี้ เมื่อว่าโดยหมวดๆ แล้ว มีอยู่ ๗ หมวด

      คือ ๑. กสิณ ๒. อสุภ ๓. นุสสติ ๔. อัปปมัญญา ๕. อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๖. จตุธาตุววัตถาน ๗. อารุปป


--------------///--------------- 

[full-post]

ปริจเฉทที่๙,สมถกรรมฐาน,อภิธัมมัตถสังคหะ,กรรมฐาน

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.