การเจริญมรณานุสสติ


      มรณานุสสติ หมายความว่า การระลึกถึงความตายที่ตนจะต้องได้ประสบแล้วเกิดความสังเวชสลดใจอยู่เนืองๆ ชื่อว่า มรณานุสสติ องค์ธรรมได้แก่ สติเจตสิกที่ในมหากุศลจิต ที่มีชีวิตินทริยุปัจเฉทมรณะเป็นอารมณ์ 


มรณะมี ๔ ประการ คือ

      ๑. สมุจเฉทมรณะ ได้แก่ การเข้าปรินิพพานของพระอรหันต์ทั้งหลายที่ตัดเสียซึ่งวัฏฏทุกข์ทั้งปวงได้โดยสิ้นเชิง

      ๒. ขณิกมรณะ ได้แก่ ความดับของสังขารธรรม รูป นาม ที่เป็นอยู่ทุก ๆ ภังคักขณะ

      ๓. สมมุติมรณะ ได้แก่ ความตายที่โลกสมมุติเรียกกันว่า ต้นไม้ตาย ทองแดงตาย ปรอทตาย เหล็กตาย

      ๔. ชีวิตินทริยุปัจเฉทมรณะ ได้แก่ รูปชีวิต นามชีวิต ของสัตว์ทั้งหลายดับสิ้นลงในภพหนึ่งๆ


      ในจำนวนมรณะ ๔ ประการนี้ มรณะที่จะใช้เป็นมรณานุสสติได้นั้น ได้แก่ชีวิตินทริยุปัจเฉทมรณะอย่างเดียว สำหรับสมุจเฉทมรณะนั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับบุคคลทั่วไป คงมีแต่เฉพาะพระรหันต์เท่านั้น ขณิกมรณะก็เป็นมรณะชนิดละเอียดมากบุคคลธรรมดาไม่สามารถพิจารณาเห็นได้ สมมุติมรณะก็ไม่ได้ทำให้ความสังเวชเกิดขึ้นอย่างใดเลย ฉะนั้น มรณะทั้ง ๓ เหล่านี้ จึงไม่ใช้ในการเจริญมรณานุสสติ ส่วนชีวิตินทริยุปัจเฉทมรณะนั้น เป็นมรณะที่เกี่ยวข้องกับบุคคลทั่วไป และมีอยู่ ๒ ประการคือ กาลมรณะ กับ อกาลมรณะ กาลมรณะ ได้แก่ การตายด้วยสิ้นบุญ หรือสิ้นอายุ หรือ สิ้นทั้งบุญสิ้นทั้งอายุทั้ง ๒, อกาลมรณะ ได้แก่ การตายด้วยอุปัจเฉทกกรรม คือ อุปัทวเหตุต่างๆ นั้นเอง ซึ่งผู้เจริญใช้ระลึกได้ทั้ง ๒ ประการ


วิธีเจริญมรณานุสสติ

      การเจริญมรณานุสสดินี้ ผู้เจริญต้องพิจารณาศพที่อยู่เฉพาะหน้า หรือ ระลึก ถึงคนที่ตายไปแล้ว ที่มียศ มีอำนาจ มีทรัพย์สมบัติ แล้วก็นึกบริกรรมอยู่ในใจว่า "มรณํ เม ภวิสฺสติ, ชีวิตินฺทฺริยํ อุปจฺฉิชฺชิสฺสติ" เราจะต้องตาย รูปชีวิต นามชีวิตจะต้องขาดจากกัน อยู่อย่างนี้เรื่อยๆ ไป หรือ จะบริกรรมว่า "มรณํ เม ธุวํ ชีวิตํ เม อธุวํ" ความตายเป็นของแน่ ความมีชีวิตอยู่เป็นของไม่แน่ ดังนี้ก็ได้

      การเจริญนี้ ผู้เจริญจะระลึกนึกบริภรรมไปเฉยๆ นั้นไม่ได้ จะต้องมีโยนิโสมนสิการประกอบไปด้วย ถ้าระลึกนึกอยู่โดยไม่มีโยนิโสมนสิการแล้ว ปัญญาที่เกี่ยวด้วยความสังเวชสลดใจย่อมไม่เกิด และจะกลับเป็นโทษเกิดขึ้น กล่าวคือ เมื่อนึกถึงความตายของคนที่ตนรักใคร่ชอบพอแล้ว ความเศร้าโศกเสียใจก็จักเกิดขึ้น เมื่อนึกถึงความตายของผู้ที่เป็นศัตรูกับตน ความดีใจก็จักเกิดขึ้น เมื่อนึกถึงความตายของบุคคลที่ตนไม่รักไม่เป็นศัตรูก็จะรู้สึกเฉย ๆ เมื่อนึกถึงความตายของตนเอง ก็จะเกิดความกลัวนี้แหละ เป็นโทษที่เกิดจากการไม่มีโยนิโสมนสิการ ส่วนการเจริญที่ประกอบด้วโยนิสมนสิการนั้น ผู้เจริญ มีการระลึกนึกถึงแต่ความตายอย่างเดียวเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นความตายของบุคคลจำพวกใด เมื่อระลึกนึกอยู่แต่ในความตายอย่างเดียว ไม่เกี่ยวด้วยความรัก ความชัง หรือ เป็นศัตรูแล้ว ความสังเวชสลดใจก็จะบังเกิดขึ้น นี้แหละเป็นการระลึกที่ประกอบด้วยโยนิโสมนสิการ เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้เจริญจะต้องทำการเจริญให้ถูกตรงตามแนวทางที่พระพุทธองค์ทรงเทศนา และ พระมหาพุทธโฆสาจารย์แสดงไว้ ดังต่อไปนี้

      ๑. น โข อหญฺเญเวโก มรณธมฺโม มรณํ อนตีโต, อถ โข ยาวตา สตฺตานํ อาคติ คติ จุติ อุปปตฺติ, สพฺเพ สตฺตา มรณธมฺมา มรณํ อนตีตา ฯ

         (มาใน อภิณหสูตร แห่งปัญจังอุตตรพระบาลี)*(อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิปาต ทุติยปัญณาสก์ นีวรณวัคค อภิณหปัจจเวกขิตัพพฐานสูตร หน้า ๖๕)

      ความตายและหนีไปพ้นจากความตายนั้น หาใช่มีแต่เราผู้เดียวไม่ แท้ที่จริง

      สัตว์ทั้งหลายที่มีสภาพเนื่องมาจากภพก่อนและเกิดขึ้นในภพนี้ แล้วย้ายจากภพนี้เกิด

      ต่อไปในภพใหม่ สัตว์ทั้งหลายเหล่านั้น ย่อมมีความตายและหนีไม่พ้นจากความตาย

      ด้วยกันสิ้น


            ๒. ยเมกรตฺตึ ปฐมํ         คพฺเภ วสติ มาณโว

               อพฺภุฏฺฐิโตว โส ยาติ    ส คจฺฉํ น นิวตฺตติ ฯ

               (มาใน อโยฆรชาดก พระบาลี)"(ฉ. ขุททกนิกาย ชาดกพระบาลี วีสตินิปาต อโยฆรชาดก หน้า ๓๕๓)

       ผู้ใดเกิดขึ้นในครรภ์มารดาครั้งแรกในคืนใดคืนหนึ่งนั้น ผู้นั้นย่อมบ่ายหน้าไป

       หาแต่ความตาย ผู้ที่บ่ายหน้าไปหาความตายนี้ไม่มีการกลับหลัง


            ๓. ทหราปิ จ เย วุทฺธา         เย พาลา เย จ ปณฺฑิตา

               อฑฺฒา เจว ทลิทฺทา จ      สพฺเพ มจฺจุปรายณา ฯ

                                         (มาใน มหาทสรถษาดก พระบาลี)"(ฉ. ขุททกนิกาย ชาดก เอกาทสกนิปาต ทสรถชาดก หน้า ๒๓๗)

      ผู้ที่ยังอยู่ในวัยหนุ่ม วัยสาวก็ดี วัยแก่ก็ดี ผู้ที่ไม่มีปัญญาความรู้สึกก็ดี

      ที่มีปัญญา ความรู้ก็ดี ผู้ที่ร่ำรวยก็ดี ยากจนก็ดี ทั้งหมดนี้ย่อมมีความตายเป็นที่สุด


            ๔. ผลานมิว ปกฺกานํ      นิจฺจํ* ปตนโต ภยํ   

               เอวํ ชาตานมจฺจานํ     นิจฺจํ มรณโต ภยํ ฯ

                                    (มาใน สุตตนิปาต)  (*สยา. ขุททกนิกาย สุตนิปาต สัลลสูตร เล่ม ๒๕ หน้า ๔๔๘ - ปาโต)            

      สัตว์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมประสบภัย คือ ความตายอย่างแน่นอน 

      เสมือนหนึ่งผลไม้ที่สุกงอม ต้องหล่นลงอย่างแน่แท้


            ๕. สายเมเก น ทิสฺสนฺติ        ปาโต ทิฏฺฐา พหู ชนา

               ปาโต เอเก น ทิสฺสนฺติ      สายํ ทิฏฺฐา พหู ชนา ฯ

              (มาใน เตมิยชาดก)"(ฉ. ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๒ หน้า ๑๕๙ มหานิปาต มูคปักขชาดก)

      ชนทั้งหลายในยามเช้ายังเห็นกันอยู่ พอตกเวลาเย็นบางคนก็ไม่เห็นกัน ตาย

      เสียแล้ว ชนทั้งหลายเมื่อตอนเย็นยังเห็นกันอยู่ พอถึงตอนเช้าบางคนก็ไม่เห็นกัน 

      ตายเสียแล้ว


            ๖. อุสฺสาโวว ติณคฺคมฺหิ     สูริยุคฺคมนํ ปติ

               เอวมายุ มนุสฺสานํ       มา มิ อมฺม นิวารย ฯ

              (มาใน ยุธัญจยชาดก)"(ฉ.ขุทฺทกนิกาย ชาดก เล่ม ๑ หน้า ๒๓๖ เอกาทสกนิปาต ยุธัญจยชาดก)

      แม่จ๋า อายุของคนเรานี้น้อยเหลือเกิน เสมือนหนึ่งหยาดน้ำค้างที่ติดอยู่บนใบหญ้า 

      เมื่อถูกแสงอาทิตย์เข้าก็จะเหือดแห้งหายไปพลัน ดังนั้น แม่อย่าได้ขัดขวางการ

      บวชของลูกเลย


            สพฺเพ สตฺตา มรณา ธุวํ,      สพฺเพ สตตา มรณา นิจฺจํ, 

            สพเพ สตฺตา มริสฺสนฺติ        มรนฺติ จ มรึสุ จ, 

            ตเถวาหํ มริสฺสามิ            เอตฺถ เม นตฺถิ สํสโย ฯ

      สัตว์ทั้งหลายทั้งสิ้น มีความตายอย่างแน่นอน เป็นของเที่ยง สัตว์ทั้งหลาย

      ทั้งสิ้นจักตาย กำลังตาย และเคยตายมาแล้ว เราก็จักตายเช่นกัน อย่าได้สงสัยใน

      ความตายนี้เลย


การพิจารณาความตายที่ไม่มีนิมิตเครื่องหมาย

            ชีวิตํ พฺยาธิ กาโล จ      เทหนิกฺเขปนํ คติ

            ปญฺเจเต ชีวโลกสฺมึ       อนิมิตฺตา น นายเร ฯ *(วิสุทธิมรรค ปฐมภาค หน้า ๒๒๘)

      ไม่มีนิมิตเครื่องหมายซึ่งใครๆ ก็รู้ไม่ได้ ในสัตว์โลกมีอยู่ ๕ อย่าง คือ 

      ๑. อายุ ๒. โรค ๓. เวลา ๔. สถานที่ ๕. ที่เกิด 


อธิบายว่า

      ชีวิต หมายความว่า จะตายในอายุเท่าใดก็ไม่รู้

      พฺยาธิ หมายความว่า จะตายด้วยโรคอย่างไหนก็ไม่รู้

      กาโล หมายความว่า จะตายในเวลากลางวัน หรือ กลางคืนก็ไม่รู้

      เทหนิกเขปน หมายความว่า จะตายในบ้าน หรือ นอกบ้านก็ไม่รู้

      คติ หมายความว่า เมื่อตายแล้วจะไปเกิดที่ไหนก็ไม่รู้


การพิจารณาความตายโดยความเจริญและความเสื่อมสิ้นไป

            ยถา อาโรคฺยํ โยพฺพนํ     พฺยาธิชราปโรสิตํ

            ตเถว ชีวิตํ สพฺพํ          มรณปฺปริโยสิตํ ฯ

                                       (ฉ. วิสุทธิมัคค ปฐมภาก หน้า ๒๒๘)

      ชีวิตนี้มีความตายเป็นที่สุด เหมือนกับความไม่มีโรค และความเป็นหนุ่มสาว

      ทั้งสองนี้ มีความเป็นโรค และ มีความชราเป็นที่สุด


      การพิจารณาความตายโดยยกเอาความตายของบุคคลที่เลิศมาเปรียบ เทียบกับความตายของตน

            สุร - สณฺฐาน - ปุญฺญิทฺธิ -    พุทฺธิวุทฺเธ ชินทฺวเย

            ฆาเตติ มรณํ ขิปฺปํ             กาตุมาทิสเก กถา ฯ

      สภาพความตายย่อมทำลาย ผู้กล้าหาญอย่างเยี่ยม มีพระเจ้าวสุเทวะ 

      พลเทวะเป็นต้น ได้อย่างรวดเร็ว สำหรับคนเช่นเรานี้ ไม่มีปัญหาที่จะต้องนำมากล่าว

      สภาพความตายย่อมทำลาย ผู้มีทรัพย์มหาศาล มีพระเจ้ามหาสัมมตะเป็นต้นได้อย่างรวดเร็ว สำหรับคนเช่นเรานี้ ไม่มีปัญหาที่จะต้องนำมากล่าวสภาพความตายย่อมทำลาย ผู้มีบุญมาก มีโชติกะ ชฎิลเศรษฐี เป็นต้นได้อย่างรวดเร็ว สำหรับคนเช่นเรานี้ ไม่มีปัญหาที่จะต้องนำมากล่าวสภาพความตายย่อมทำลาย ผู้มีฤทธิ์มาก มีพระโมคคัลลานเถระ เป็นต้นได้อย่างรวดเร็ว สำหรับคนเช่นเรานี้ ไม่มีปัญหาที่จะต้องนำมากล่าวสภาพความตายย่อมทำลาย ผู้มีปัญญามาก มีพระสารีบุตรเถระ เป็นต้นได้อย่างรวดเร็ว สำหรับคนเช่นเรานี้ ไม่มีปัญหาที่จะต้องนำมากล่าวสภาพความตายย่อมทำลาย พระปัจเจกพุทธเจ้า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้อย่างรวดเร็วสำหรับคนเช่นเรานี้ ไม่มีปัญหาที่จะต้องนำมากล่าว


การพิจารณาความตายโดยกำหนดเวลาเล็กน้อย

            อโหวตาหํ ชีเวยฺยํ         เอกาโลปสฺส โภชนํ  

            อสฺสาสนญฺจ ปสฺสานํ      กเรยฺยํ สตฺถุสาสนํ ฯ      

      เรามีชีวิตอยู่ชั่วเคี้ยวข้าวคำหนึ่ง ดีจริงหนอ โดยที่เราจะได้ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธศาสนา 

      เรามีชีวิตอยู่ชั่วเวลาหายใจเข้าออกดีจริงหนอ โดยที่เราจะได้ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธศาสนา


มรณสัญญาที่ต้องประสงค์ในการเจริญมรณานุสสติ

      การเจริญมรณานุสสตินี้ แม้ว่าจะไม่ได้ถึงขั้นอัปปนาก็จริง แต่ก็มีขั้นแห่งการสำเร็จในการเจริญนี้ได้ ขั้นแห่งการสำเร็จนั้นก็ได้แก่ ความรู้สึกที่เกี่ยวกับความตาย ที่เรียกว่า มรถสัญญา ๘ ประการนั้นเอง คือ

      ๑. ความรู้สึกที่เกี่ยวกับความตายได้เกิดขึ้นว่า ชีวิตของเรานี้จะมีอยู่ต่อไปได้อีกประมาณแค่วันหนึ่ง กับคืนหนึ่ง คือ ๒๔ ชั่วโมงเท่านั้นเอง

      ๒. ความรู้สึกที่เกี่ยวกับความตายได้เกิดขึ้นว่า ชีวิตของเรานี้จะมีอยู่ต่อไปได้อีกประมาณแค่วันหนึ่ง คือ ๑๒ ชั่วโมงเท่านั้น

      ๓. ความรู้สึกที่เกี่ยวกับความตายได้เกิดขึ้นว่า ชีวิตของเรานี้จะมีอยู่ต่อไปได้อีกประมาณเพียงครึ่งวัน คือ ๖ ชั่วโมงเท่านั้น

      ๔. ความรู้สึกที่เกี่ยวกับความตายได้เกิดขึ้นว่า ชีวิตของเรานี้จะมีอยู่ต่อไปได้อีกชั่วเวลาเพียงกินข้าวอิ่มหนึ่งเท่านั้น

      ๕. ความรู้สึกที่เกี่ยวกับความตายได้เกิดขึ้นว่า ชีวิตของเรานี้จะมีอยู่ต่อไปได้อีกชั่วครึ่งเวลากินข้าวอิ่มหนึ่งเท่านั้น

      ๖. ความรู้สึกที่เกี่ยวกับความตายได้เกิดขึ้นว่า ชีวิตของเรานี้จะมีอยู่ต่อไปได้อีกชั่วเวลากินข้าวได้เพียง ๔ หรือ ๕ คำเท่านั้น

      ๗. ความรู้สึกที่เกี่ยวกับความตายได้เกิดขึ้นว่า ชีวิตของเรานี้จะมีอยู่ต่อไปได้อีกชั่วเวลาเคี้ยวข้าวคำหนึ่งเท่านั้น

      ๘. ความรู้สึกที่เกี่ยวกับความตายได้เกิดขึ้นว่า ชีวิตของเรานี้จะมีอยู่ต่อไปได้อีกชั่วระยะเวลาหายใจเข้าออกเท่านั้น

      นี้แหละเป็นการชี้ให้เห็นว่า การเจริญนั้นได้ถึงขั้นแห่งการสำเร็จแล้ว ในบรรดามรณสัญญาทั้งหมดนี้ มรณสัญญาข้อ ๗ และข้อ ๘ แสดงให้เห็นว่า สติของผู้เจริญถึงซึ่งความดีเป็นเยี่ยม ถูกต้องตามพุทธประสงค์ ทรงชมเชยมาก ส่วนข้อ ๑ ถึงข้อ ๖ นั้นสติของผู้เจริญยังไม่ถึงชั้นเยี่ยม แต่อย่างไรก็ตาม สำหรับในสมัยนี้ถ้าสติของผู้เจริญเข้าถึงขั้นข้อ ๑ ถึงข้อ ๖ ได้ก็จัดว่าดีมากแล้ว เพราะเหตุว่าเป็นบั้นปลายของพระพุทธศาสนา


จบมรณานุสสติ

------------///--------------

[full-post]

ปริจเฉทที่๙,สมถกรรมฐาน,อภิธัมมัตถสังคหะ,มรณานุสสสติ

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.