การเจริญอุปสมานุสสติ


      "อุปสมานุสสติ" หมายความว่า การระลึกถึงคุณของพระนิพพานที่มีสภาพสันติสุข สงบจากกิเลส ขันธ์ ๕ อยู่เนืองๆ ชื่อว่า อุปสมานุสสติ องค์ธรรมได้แก่สติเจตสิก ที่ในมหากุศลจิตที่มีคุณของพระนิพพานเป็นอารมณ์


วิธีเจริญอุปสมานุสสติ

      การเจริญอุปสมานุสสตินี้ ผู้เจริญจะต้องมีความรู้ความเข้าใจในคุณศัพท์ที่พรรณนาถึงคุณของพระนิพพานมี ๒๙ ประการให้ดีเสียก่อน จึงจะทำการเจริญอุปสมานุสสตินี้ได้ คุณศัพท์ของพระนิพพานมี ๒๙ ประการนั้น คือ

      ๑. มทนิมฺมทฺทโน"(ฉ. มทนิมฺมทโน) พระนิพพาน เป็นธรรมที่ย่ำยีความมัวเมาต่างๆ

      ๒. ปีปาสวินโย พระนิพพาน เป็นธรรมที่บรรเทาเสียซึ่งความกระหายในกามคุณอารมณ์

      ๓. อาลยสมุคฺฆาโต พระนิพพาน เป็นธรรมที่ถอนเสียซึ่งความอาลัยในกามคุณอารมณ์

      ๔. วฏฺฏูปจฺเฉโท พระนิพพาน เป็นธรรมตัดเสียซึ่งการเวียนไปในวัฏฏะทั้ง ๓ ให้ขาด

      ๕. ตณฺหกฺขโย พระนิพพาน เป็นธรรมที่สิ้นแห่งตัณหา

      ๖. วิราโค พระนิพพาน เป็นธรรมที่ปราศจากราคะ

      ๗. นิโรโธ พระนิพพาน เป็นธรรมที่ดับแห่งตัณหา

      ๘. ธุวํ พระนิพพาน เป็นธรรมที่ตั้งมั่นอยู่เสมอ

      ๙. อชรํ พระนิพพาน เป็นธรรมที่ไม่มีความแก่

      ๑๐. นิปฺปปญฺจํ พระนิพพาน เป็นธรรมที่ปราศจากปปัญจธรรม คือ ตัณหา มานะ ทิฏฐิ ที่ทำให้วัฏฎสงสารกว้างขวาง

      ๑๑. สจฺจํ พระนิพพาน เป็นธรรมที่มีความจริงแน่นอน

      ๑๒. ปารํ พระนิพพาน เป็นธรรมที่ข้ามพ้นจากฝังแห่งวัฏฏทุกข์

      ๑๓. สุทุทฺทสํ พระนิพพานเป็นธรรมที่ผู้มีปัญญาน้อยย่อมเห็นได้ยาก

      ๑๔. สิวํ พระนิพพาน เป็นธรรมที่สบายปราศจากกิเลส

      ๑๕. อมตํ พระนิพพาน เป็นธรรมที่ไม่มีความตาย

      ๑๖. เขมธ พระนิพพาน เป็นธรรมที่ปราศจากภัย

      ๑๗. อพฺภูตํ พระนิพพาน เป็นธรรมที่มหัศจรรย์อย่างยิ่ง

      ๑๘. อณีติกํ พระนิพพาน เป็นธรรมที่ไม่มีภัยอย่างร้ายแรง ที่นำความเสียหายมาสู่

      ๑๙. ตาณํ พระนิพพาน เป็นธรรมที่ช่วยรักษาสัตว์ ไม่ให้ตกอยู่ในวัฏฏสงสาร

      ๒๐. เลณํ พระนิพพาน เป็นธรรมที่หลบภัยต่างๆ

      ๒๑. ทีปํ พระนิพพาน เป็นเกาะที่พ้นจากการท่วมทับของโอฆะทั้ง ๔

      ๒๒. วิสุทฺธิ พระนิพพาน เป็นธรรมที่บริสุทธิ์จากกิเลส

      ๒๓. วรํ พระนิพพาน เป็นธรรมที่สัปปุรุษทั้งหลายพึงปรารถนา

      ๒๔. นิปุณํ พระนิพพาน เป็นธรรมที่สุขุมละเอียด

      ๒๕. อสงขตํ พระนิพพาน เป็นธรรมที่ไม่ถูกปรงแต่งด้วยปัจจัย ๘

      ๒๖. โมกฺโข พระนิพพาน เป็นธรรมที่พ้นจากกิเลส

      ๒๗. เสฏฺโฐ พระนิพพาน เป็นธรรมที่ควรสรรเสริญโดยพิเศษ

      ๒๘. อนุตฺตโร พระนิพพาน เป็นธรรมที่ประเสริฐยิ่งหาที่เปรียบมิได้

      ๒๙. โลกสฺสนฺโต พระนิพพาน เป็นธรรมที่สุดสิ้นแห่งโลกทั้ง ๓

      เมื่อรู้ถึงคุณของพระนิพพานด้วยใจจริงดังนี้แล้ว ก็จงน้อมนึกบริกรรมในใจว่า "ยาวตา ภิกฺขเว ธมฺมา สงฺขาตา วา อสงฺขาตา วา วิราโค เตสํ ธมฺมานํ อคฺคมกฺขายติ, อิทํ มทนิมฺมทฺทโน,*(ฉ. วิสุทธิมัคค ปฐมภาค หน้า ๒๕๔ - มทนิมฺมทโน) ปีปาสวินโย, อาลยสมุคฺฆาโต,วฏฺฏูปจเฉโท ตณฺหกฺขโย, วิราโค, นิโรโธ, นิพฺพานํ ฯ" ดูกรภิกษุทั้งหลายธรรมเหล่าใดที่ถูก ปรุงแต่งและไม่ถูกปรุงแต่งด้วยปัจจัย ๔ ที่ชื่อว่า สังขตะ อสังขตะมีอยู่ ในบรรดาสังขตะ อสังขตะทั้ง ๒ อย่างนี้ ธรรมใดเป็นสภาพที่ย่ำยีความมัวเมาต่างๆ บรรเทาเสียซึ่งความกระหายในกามคุณอารมณ์ ถอนเสียซึ่งความอาลัยในกามคุณอารมณ์ ตัดเสียซึ่งการเวียนไป ในวัภูฎะทั้ง ๓ ให้ขาด ที่สิ้นไปแห่งตัณหา ปราศจากราคะ ที่ดับแห่งตัณหา และพ้นจากตัณหานเป็น เครื่องร้อยรัดนี้แหละ ตถาคตพึงกล่าวว่าเป็นธรรมอันประเสริฐอย่างยอดยิ่ง อยู่ดังนี้เรื่อยๆ ไป ในการระลึกนั้นผู้ปฏิบัติจะใช้ระลึกเป็นภาษามาลีก็ได้ หรือ ภายาไทยตามที่ได้แปลไว้นั้นก็ได้ มิฉะนั้นจะระลึกในคุณทั้งหรือ ๒๙ ประการมี มทนิมฺมทฺทโน เป็นต้น ดังนี้ก็ได้ ความสำคัญยิ่งก็อยู่ที่ผู้ระลึกจะต้องรู้ถึงความหมายของคุณศัพท์นั้นๆ ไปด้วย

      อนึ่งในบรรดาบุคคลทั้งหลายที่เจริญอนุสสติ มีพุทธานุสสดิ เป็นต้นจนถึงอุปสมานุสสติ ให้สมบูรณ์อย่างถี่ถ้วยได้นั้น   คงทำได้แต่พระอริยบุคคลพวกเดียวสำหรับปุถุชนนั้นจะเจริญให้ได้ดีอย่างสมบูรณ์นั้นยังทำไม่ได้ อย่างไรก็ตามถ้าเป็นผู้ที่มีสุตมยปัญญาอันสำเร็จมาจากการศึกษาเล่าเรียนเป็นอย่างดีแล้ว ก็จะสามารถระลึกไปในพระคุณนั้นๆ ได้ด้วยดี จิตใจก็จะบังเกิดความเสื่อมใสในอารมณ์กรรมฐานนี้ใด้เช่นกัน

      ดังนั้น พระมหาพุทธโมสาจารย์จึงกล่าวไว้ ในวิสุทธิมรรคอรรถกถา*(ฉ. วิสุทธิมัคค ปฐมภาค หน้า ๒๘๖) ว่า "ฉอนุสฺสติโย วิย จ อยมฺปี อริยสาวกสฺเสว อิชฺฌติ, (สจฺฉิกริยาภิสมยวเสน นิพฺพานคุณานํ ปากฏภาวโต) เอวํ สนฺเตบี อุปสมครุเกน ปุถุชฺชเนนาปี มนสิกาตพฺพา, สุตวเสนาปี หิ อุปสเม จิตฺตํ ปสีทติ"  แปลความว่า การเจริญอุปสมานุสสติกรรมฐานที่สำเร็จได้อย่างสมบูรณ์ถ้วนนี้ ก็ได้แก่พระอริยบุคคลเท่านั้น (เพราะพระคุณของพระนิพพานย่อมปรากฏแก่พระอริยบุคคล โดยความรู้แจ้งเฉพาะหน้าทะลุปรุโปร่งตลอดไป) ไม่เหมือนกับการเจริญอนุสสติทั้ง ๖ มีพุทธานุสสติเป็นต้นจนถึง เทวตานุสสติ แต่อย่างไรก็ตาม หากปุถุชนที่มีใจหนักแน่นในพระนิพพานพึงระลึกถึงคุณของพระนิพพานโดยประการต่างๆ ได้เช่นกัน ด้วยอำนาจแห่งสุตมยปัญญานั้นแหละ จิตใจจึง บังเกิดความเลื่อมใสในพระนิพพาน

      ในการเจริญอุปสมานุสสตินั้น พระนิพพานเป็นปรมัตถธรรมโดยเฉพาะที่นอกจาก จิต เจตสิก รูป ฉะนั้น จึงไม่เกี่ยวข้องกับสังขตธรรมทั้งปวงที่เป็นรูปและนามเมื่อว่าโดยธรรมที่เป็นภายในและภายนอกแล้ว พระนิพพานเป็นธรรมภายนอกโดยส่วนเดียว ดังที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ในธัมมสังคณีมาติกาว่า พหิทธา ธมฺมา ฉะนั้นพระนิพพาน นี้จึงมิใช่เป็นธรรมที่ตั้งอยู่ภายในร่างกายของสัตว์โดยความเป็นแก่นสาร


อธิบายการที่พระนิพพานได้ชื่อว่า อุปสมะ และ มีสันติสุข

      ในที่นี้ คำว่า "อุปสมะ" แปลว่าสงบ หมายถึงความสงบจากกิเลสและขันธ์ ๕ เหตุนั้น พระนิพพานจึงได้ชื่อว่า อุปสมะ เมื่อกล่าวถึงความสุขแล้ว พระนิพพานมีสันติสุข หมายถึงไม่มีกิเลสและขันธ์ ๕ นั้นเองจึงเป็นสุข อธิบายว่า พระนิพพานนี้ไม่ใช่เป็นธรรมที่เสวย อารมณ์ต่างๆ เหมือนสัตว์ทั้งหลาย และไม่มีอารมณ์ที่จะพึ่งเสวยเหมือนกับรูปารมณ์ สัททารมณ์ เป็นต้น ด้วยเหตุนี้จึงตัดสินใจได้ว่า ในพระนิพพานย่อมไม่มีเวทยิตสุข คือ ความสุข ที่เกี่ยวด้วยการเสวยกามคุณอารมณ์ต่างๆ ที่เป็นไปอยู่ในโลกเลย แต่มีสภาพสงบที่เรียกว่า สันติสุข ซึ่งเป็นความสุขที่ประเสริฐและประณีตกว่าเวทยิตสุข

      ธรรมดาเวทยิตสุข คือ ความสุขที่เกี่ยวด้วยการเสวยกามคุณอารมณ์ต่างๆนั้น เมื่อเสวยไป ๆ แล้ว อารมณ์เหล่านั้นย่อมหมดไปๆ เมื่อเป็นเช่บนี้ผู้เสวยย่อมจะต้องขวนขวายพยายามสร้างหามาเพิ่มเติมอยู่เสมอ เพื่อตนจะได้เสวยต่อๆ ไป ความลำบากต่าง ๆ ที่ต้องได้รับอันเนื่องมาจากการแสวงหาความสุขเหล่านั้นย่อมมีมากมายไม่คุ้มกับความสุขที่จะได้รับ เมื่อลงทุนลงแรงด้วยความลำบาก และความสุขที่ได้มานั้นก็ยังไม่เป็นที่เพียงพอแก่ความต้องการแล้ว สัตว์ทั้งหลายก็จะต้องยิ่งขวนขวายพยายามให้หนักขึ้นอีก จะเป็นไปในทางสุจริตก็ตาม ทุจริตก็ตาม ไม่คำนึงถึง ขอแต่เพียงให้ได้สิ่งที่ตนต้องการมาให้สมประสงค์เท่านั้น เมื่อสัตว์ทั้งหลายประพฤติตนให้เป็นไปตามอำนาจของโลภะที่สนใจ ติดใจต่อเวทยิตสุขต่างๆ อยู่ เมื่อสิ้นชีวิตจากภพนี้ไปแล้ว ก็จะต้องไปเกิดในอบายภูมิ ภูมิใดภูมิหนึ่ง และ จะต้องได้เสวยความทุกข์ยากลำบากอย่างมหันต์ ที่ตนไม่เคยได้รับเลยขณะที่มีชีวิตอยู่ในมนุษยโลกลำบากต่าง ๆ ที่ได้รับอยู่ในอบายภูมินั้น เปรียบเสมือนหนึ่งเป็นการใช้หนี้ให้แก่เวทยิตสุขที่ตนยืมมาใช้พร้อมด้วยดอกเบี้ย เมื่อยังอยู่ในมนุษยโลก ฉะนั้นพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย เมื่อพิจารณารู้ดังนี้แล้ว ก็ควรจะสังเวชสลดใจ เพราะความลำบากต่างๆ ที่ตมได้เคยรับมาแต่ภพก่อน ๆ ก็ดี ที่กำลังได้รับอยู่ก็ดี และที่จะได้รับต่อไปข้างหน้าก็ดี เหล่านี้ล้วนแต่เกิดมาจากเวทยิตสุขเป็นเหตุทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้ บัณฑิตทั้งหลายจึงไม่ยกย่องสรรเสริญเวทยิตสุข

      สำหรับสันติสุขนั้น ไม่เกี่ยวด้วยการเสวยกามคุณอารมณ์ต่างๆ เหมือนกับเวทยิตสุข เป็นสภาพที่สงบจากสังขารธรรม รูป นาม ทั้งปวง สภาพเช่นนี้แหละเป็นความสุขที่มีอยู่ในพระนิพพาน อุปมาเหมือนมหาเศรษฐีผู้บริบูรณ์ด้วยกามคุณอารมณ์ต่างๆ มีรูป เสียง กถิ่น รส สัมผัส อย่างพร้อมมูล วันหนึ่งท่านเศรษฐีกำลังหลับอยู่อย่างเป็นสุข ฝ่ายพวกข้าทาส บริวารทั้งหลายก็จัดแจงเตรียมโภชนาหารพร้อมด้วยเครื่องบำรุงบำเรอความสุขต่าง ๆ ไว้สำหรับท่านเศรษฐี เมื่อเตรียมเสร็จแล้วก็เข้าไปปลุก ท่านเศรษฐีถูกปลุกในเวลาที่กำลัง หลับสนิทอยู่ก็ไม่พอใจ จึงดุพวกคนใช้เหล่านั้นว่า ทำไมจึงมาปลุกเราในเวลาที่กำลังนอนสบายๆ อยู่เช่นนี้ คนใช้ตอบว่าอาหารพร้อมด้วยเครื่องบำเรอความสุขสำราญได้จัดเตรียมพร้อมแล้ว พวกข้าพเจ้า จึงได้มาปลุกท่าน เพื่อให้ท่านได้ตื่นขึ้นมาเสวยสิ่งต่างๆ เหล่านี้ ท่านเศรษฐีไม่ยอมลุก กลับไล่คนใช้ว่าออกไปให้พ้น แล้วก็หลับต่อไป ขณะที่ท่านเศรษฐีนอนอยู่นั้นไม่มีการเสวยอารมณ์อย่างชัดเจนแต่อย่างใด แต่ท่านเศรษฐีก็ยังมีความพอใจในการนอนหลับ ยิ่งกว่าความสุขที่เกี่ยวด้วยการเสวยอารมณ์ต่างๆ และธรรมคาคนในโลกนี้ ย่อมพอใจการนอนหลับได้สนิทว่าสบายมาก นี้แสดงให้เห็นว่า เพียงแต่การนอนหลับที่สงบจากการเสวยกามคุณอารมณ์ชั่วคราวก็ยังรู้สึกว่าเป็นความสุขถึงเพียงนี้ ถ้าเป็นความสุขชนิดที่สงบจากสังขารธรรม รูป นาม ทั้งปวงแล้ว จะมีความสุขประเสริฐเพียงใด ขอให้พุทธศาสนิกชน ทั้งหลายได้โปรดพิจารณาดูเถิด เหตุนี้แหละพระพุทธองค์จึงทรงเทศนาไว้ในเทวทหวัคค์ สฬายตนสังยุตต์ พระบาลี (ฉ. ปฐมรูปารามสูตร หน้า ๓๔๒) ว่า

            ๑. สเทวกสฺส โลกสฺส       เอเตโว สุขสมฺมตา

               ยตฺถ เจเต นิรุชฺฌนฺติ    ตํ เตสํ ทุกฺขสมฺมติ ฯ

            ๒. สุขํ ทิฏฺฐมริเยภิ         สกฺกายสฺส นิโรธนํ

               ปจฺจนีกมิทํ โหติ         สพฺพโลเกน ปสฺสตํ ฯ

แปลความว่า

      ๑. สัตว์โลกทั้งหลายพร้อมด้วยเทวดา สมมุติกันว่าโลกียอารมณ์ต่างๆ มีรูปเสียง กลิ่น รส  เป็นต้นเหล่านั้นดี และมีความสุข ธรรมอันใด คือ พระนิพพานโลกียอารมณ์ต่างๆ มีรูป เสียง กลิ่น รส เป็นต้นเหล่านั้น ดับสูญสิ้นหมดแล้ว สัตว์โลกทั้งหลายพร้อมด้วยเทวดานั้น สมมุติกันว่าธรรมอันนั้น คือ พระนิพพาน เป็นธรรมที่ไม่ดี เป็นทุกข์

      ๒. พระอริยบุคคลทั้งหลาย ได้รู้แจ้งสันติสุข คือ พระนิพพาน ซึ่งเป็นที่ดับแห่ง รูป นาม ขันธ์  ที่ปรากฏมีโดยปรมัตถได้แล้ว พระอริยบุคคลเหล่านั้นได้รู้แจ้งพระนิพพานอันปุถุชนทั้งหลายมิอาจที่จะรู้ถึงได้นี้ จึงมีความเห็นตรงกันข้ามกับสัตว์โลกที่มีโมหะปิดบังและตกอยู่ภายใต้อำนาจของตัณหา เสมือนคนสองคนยืนผินหลังให้แก่กันแล้ววิ่งหนีจากกันไป ฉันนั้น


จบอุปสมานุสสติ

----------////---------

[full-post]

ปริจเฉทที่๙,สมถกรรมฐาน,อภิธัมมัตถสังคหะ,อุปสมานุสสติ

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.