อธิบายในบาลีข้อที่ ๒๑ ที่แสดงการปรากฏของอภิญญา 


      ตามธรรมดาการเกิดขึ้นแห่งรูปปัญจมฌานนั้น จะเกิดในครั้งแรกก็ดี ขณะที่เข้าฌานสมาบัติอยู่ก็ดี ย่อมมีอารมณ์จำกัดแน่นอน คือ บัญญัติธัมมารมณ์ ซึ่งได้แก่กสิณบัญญัติ ๑๐ อัสสาสปัสสาสะ ๑ มัชฌัตตสัตวบัญญัติ ๑ รวม ๑๒ อย่างอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น สำหรับ รูปปัญจมฌานที่เกิดขึ้นโดยความเป็นอกิญญานั้นมิได้จำกัดอารมณ์ คือ รับอารมณ์ ๖ ทั้งปรมัตถ์และบัญญัติได้หมด แล้วแต่การอธิษฐานของอภิญญาลาภีบุคคล เมื่อออกจากปาทกมานแล้ว ดังนั้น พระอนุรุทธาจารย์จึงกล่าวว่า "อภิญญาวเสน ปวตฺตมาน ฯลฯ รูปาทีสุ อารมฺมเณสุ ยถารหมปฺเปติ ฯ 

      "อภิญญา" หมายความว่า ปัญญาที่มีการรู้ในอารมณ์  เป็นพิเศษ เมื่อแยกบทแล้ว ได้ ๒ บท คือ อภิ + ญา ธาตุ อภิ แปลว่า พิเศษ ญา แปลว่ารู้ในอารมณ์ ๖ ดังแสดงวจันถะว่า "วิเสสโต ชานาตีติ = อภิญญา" ปัญญาใดย่อมรู้ในอารมณ์ ๖ เป็นพิเศบ ฉะนั้น ปัญญานั้น ชื่วว่า อภิญญา หมายความว่าปัญญาที่ประกอบในรูปปัญจมฌานที่มีความรู้ความสามารถอย่างน่าอัศจรรย์ เนื่องมาจากสมาธิที่มีกำลังแก่กล้าอย่างเยี่ยมนี้เองเรียกว่า อภิญญา เป็นการเรียกโดยตรง ส่วนรูปปัญจมฌานจิตที่เรียกว่า อภิญญาจิตนั้น ก็เพราะเกิดพร้อมกันกับอภิญญา เป็นการเรียกโดยอ้อม


กรรมฐานที่ให้ได้อภิญญา

      ในบรรดากรรมฐานทั้งหมด การเจริญกสิณ ๑๐ เท่านั้นที่จะให้ได้อภิญญาทั้งนี้เนื่องมาจากเหตุ ๒ ประการ คือ

      ๑. สมาธิในรูปปัญจมฌานที่เกิดจากการเจริญกสิณ ๑ นั้น มีกำลังแรงกล้ายิ่งกว่ากรรมฐานอีก ๑๖ อย่างที่เหลือ

      ๒. ตามธรรมดาผู้ที่จะได้อภิญญานั้นจะต้องได้สมาบัติ ๙ คือ รูปฌาน และอรูปฌาน เว้นแต่ผู้ที่มีบารมีเป็นพิเศษเท่านั้น ฉะนั้น รูปปัญจมฌานลาภีบุคคลก่อนที่จะเจริญอรูปฌาน ต้องทำการเพ่งปฏิภาคนิมิตที่ได้มาจากกสิณ ๙ (เว้นอากาสกสิณ) โดยบริกรรมว่า อากาโสๆ อรูปฌานขั้นที่หนึ่งจึงจะเกิดได้ ถ้าไปเจริญกรรมฐานอื่นๆ แทน อรูปฌานขั้นต้นก็เกิดขึ้นไม่ได้ ด้วยเหตุ ๒ ประการนี้แหละ การเจริญกสิณ ๑๐ เท่านั้น จึงจะให้สำเร็จอภิญญา


ผู้ที่ไม่ได้สมาบัติ ๙ แต่ก็ได้อภิญญาด้วยอำนาจบารมี 

      ผู้ที่ไม่ได้สมาบัติ ๙ แต่ได้อภิญญาด้วยอำนาจบารมีนั้น มีอยู่ด้วยกัน ๒ พวกคือ ปุถุชนฌานลาภี และพระอริยบุคคล 

      ใน ๒ จำพวกนี้ ผู้ที่เคยได้อภิญญาในภพก่อนที่ใกล้กันกับภพนี้ เมื่อมีการเจริญกสิณอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วไม่ต้องได้อรูปฌาน ๔ ได้แต่เพียงรูปฌาน ๕ อภิญญาก็เกิดได้ดังเช่น พระดาบส ๒๔,๐๐๐ รูป ซึ่งเป็นสานุศิษย์ของพระสุรุจิดาบสใหญ่ ที่ได้มาเป็นพระสารีบุตรในศาสนาของพระสมณโคดมนี้เมื่อท่านเหล่านั้นทำการเจริญกสิณจนได้สำเร็จรูปมาน  แล้วอภิญญาก็สำเร็จด้วย ทั้งนี้ก็เพราะท่านเหล่านั้นเคยได้อภิญญาในภพก่อนที่ใกล้กันกับภพนี้นั้นเอง, พระอริยบุคคลบางท่าน เมื่อได้บรรลุมรรคผลแล้ว ปัญญาที่ประกอบกับมรรคจิตนั้นมีอำนาจที่เกี่ยวกับอภิญญาอยู่ด้วย หากแต่ยังมิใช่เป็นตัวอภิญญาเท่านั้น

      เมื่อมีความประสงค์จะทำอภิญญาเวลาใด เวลานั้นรูปปัญจมฌานที่มีตัวอภิญญาก็เกิดขึ้น ความประสงค์ที่อธิษฐานไว้ก็สำเร็จพร้อมไปด้วย อภิญญาชนิดนี้ใด้ชื่อว่า มัคคสิทธิอภิญญา ที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจบารมีที่เคยได้อภิญญามาแต่ภพก่อนใกล้กันกับภพนี้หรือ ด้วยอำนาจที่ได้ปรารถนาไว้ มัคคสิทธิอภิญญามีอยู่ ๒ อย่าง คือ

      ๑. เหฏฐิมมัคคสิทธิอภิญญา อภิญญาที่สำเร็จพร้อมด้วยมรรคเบื้องต่ำ ๓

      ๒. อรหัตตมัคคสิทธิอภิญญา อภิญญาที่สำเร็จพร้อมด้วยอรหัตตมรรค 

         ผู้ที่ได้เหฏฐิมมัคคสิทธิอภิญญานั้น มีตัวอย่าง คือ ภิกษุ ๕๐๐ รูปที่ได้สดับฟังพระธรรมเทศนาเรื่อง กุณาลชาดก ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงจบลง ก็ได้สำเร็จโสดาปัตติมรรคพร้อมด้วยอภิญญา ดังที่มีเรื่องแสดงใน มหาสมัยสูตรอรรถกถา ผู้ที่ได้อรหัตตมัคคสิทธิอภิญญานั้น มีตัวอย่าง คือ พระอานนทเถระ ขณะที่ท่านได้สำเร็จอรหัตตมรรคนั้น อภิญญาก็ทำสำเร็จพร้อมไปด้วย


แนวทางให้ได้อภิญญาสำหรับผู้ที่ได้สมาบัติ ๙ แล้ว

     ผู้ที่ได้สมาบัติ ๙ แล้ว ถ้าประสงค์จะทำอภิญญา ก็ต้องฝึกฝนสมาธิให้ชำนาญในการเพ่งกสิณ ๘ (เว้นอากาสกสิณ อาโลกกสิณ) และการเข้าสมาบัติ ๙ ด้วยวิธีฝึกสมาธิโดยอาการ ๑๔ อย่าง คือ

      ๑. กสิณานุโลมโต การเข้าฌานโดยมีการเพ่งกสิณไปตามลำดับหลายร้อยครั้ง

      ๒. กสิณปฏิโลมโต การเข้าฌานที่มีการเพ่งกสิณ โดยการย้อนกลับหลายร้อยครั้ง

      ๓.กสิณานุโลมปฏิโลมโต การเพ่งกสิณแต่ต้นจนถึงที่สุดไปตามลำดับแล้ว กลับเพ่งจากที่สุดย้อนมาหาต้น ในการเข้าฌานนั้น ๆ หลายร้อยครั้ง

      ๔. ฌานานุโลมโต การเข้าฌานตามลำดับแห่งสมาบัติ ๙ หลายร้อยครั้ง

      ๕. ฌานปฏิโลมโต การเข้าฌานย้อนจากปลายมาหาต้นตามลำดับแห่งสมาบัติ ๙ หลายร้อยครั้ง

      ๖. ฌานานุโลมปฏิโลมโต การเข้าสมาบัติ ๙ ไปตามลำดับ และย้อนกลับหลายร้อยครั้ง

      ๗. ฌานุกกนฺติกโต การเข้าสมาบัติ ๙ โดยมีการข้ามฌานไปตามลำดับแห่ง ฌานหลายร้อยครั้ง

      ๘. กสิณุกฺกนฺติกโต การเข้าสมาบัติโดยมีการเพ่งกสิณ ข้ามไปตามลำดับแห่งกสิณหลายร้อยครั้ง

      ๙. ฌานกสิณุกฺกนฺติกโต การเข้าฌาน การเพ่งกสิณ ที่มีการข้ามไปตามลำดับแห่งฌานและตามลำดับแห่งกสิณหลายร้อยครั้ง

      ๑๐. องฺคสงฺกนฺติโต การเพ่งกสิณอย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วเข้ารูปฌาน ๕โดยการก้าวล่วงองค์ฌานไปตามลำดับหลายร้อยครั้ง

      ๑๑. อารมฺมณสงฺกนฺติโต การเข้าปฐมฌานเป็นต้น ที่มีการเปลี่ยนอารมณ์กรรมฐาน คือ เปลี่ยนย้ายการเพ่งกสิณทั้ง  ไปตามลำดับหลายร้อยครั้ง

      ๑๒. องฺคารมฺมณสงฺกนฺติโต การเข้าฌาน และการเพ่งอารมณ์กรรมฐานไม่ให้ซ้ำกันไปตามลำดับแห่งฌานและลำดับแห่งกสิณหลายร้อยครั้ง

      ๑๓. องฺคววฏฺฐาปนโต การพิจาารณากำหนดรู้องค์ฌานไปตามลำดับแห่งสมาบัติ ๙ หลายร้อยครั้ง

      ๑๔. อารมฺมณววฏฺฐาปนโต การพิจารณากำหนดรู้อารมณ์กรรมฐานแห่งสมาบัติ ๙ หลายร้อยครั้ง


อธิบาย

      ข้อ ๑. หมายความว่า การเพ่งปถวีกสิณแล้วเข้าปฐมฌาน หรือรูปฌานอื่นแล้วออกมาเพ่งอาโปกสิณ แล้วกลับเข้าปฐมฌาน หรือ รูปฌานอื่นอีก ต่อไปออกมาเพ่ง เตโชกสิณ แล้วกลับเข้าปฐมฌาน หรือ รูปฌานอื่นอีก เปลี่ยนการเพ่งเรื่อยไปจนกระทั่งถึงโอทาตกสิณ แต่ฌานที่เข้านั้นคงเป็นอย่างเดิม เรียกว่า การอบรมสมาธิโดยลำดับแห่งการเพ่งกสิณ

      ข้อ ๒. การเพ่งโอทาตกสิณแล้วเข้าปฐมฌาน หรือ รูปฌานอื่นเสร็จแล้วออกมาเพ่งโลหิตกสิณ แล้วเข้าปฐมฌาน หรือ รูปฌานอื่นอีก เสร็จแล้วออกมาเพ่งปีตกสิณแล้วกลับเข้าปฐมฌาน หรือ รูปฌานอื่นอีก เปลี่ยนการเพ่งย้อนกลับเรื่อยไปอย่างนี้จนกระทั่งถึงปถวีกสิณ แต่ฌานที่เข้านั้นคงเป็นอย่างเดิม เรียกว่า การอบรมสมาธิที่มีการเพ่งกสิณโดยการย้อนกลับ

      ข้อ ๓. การเพ่งปถวีกสิณ เป็นต้นไปตามลำดับจนถึง โอทาตกสิณ ตามข้อ ๑ แล้วก็เพ่งโอทาตกสิณ เป็นต้น นั้นย้อนกลับมาตามลำดับจนถึงปถวีกสิณตามข้อ ๒ แต่ฌานที่เข้านั้นต้องเป็นอย่างเดิมทุกๆ ครั้งไป เรียกว่า การอบรมสมาธิด้วยการเพ่งกสิณโดยอนุโลมและปฏิโลมในการเข้าฌานนั้น

      ข้อ ๔. การเข้าฌานตั้งแต่ ปฐมฌาน เรื่อยไปจนถึง เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน เรียกว่า การอบรมสมาธิด้วยการเข้าฌานไปตามลำดับแห่งสมาบัติ

      ข้อ ๕. การเข้าฌานจาก เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน เรื่อยมาตามลำดับจนถึงปฐมฌาน เรียกว่า การอบรมสมาธิด้วยการเข้าย้อนจากปลายมาหาต้นตามลำดับแห่งสมาบัติ ๙

      ข้อ ๖. การเข้าฌานตั้งแต่ ปฐมฌาน เรื่อยไปจนถึง เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน แล้วก็เข้าย้อนกลับมาหาต้นโดยเข้าตั้งแต่ เนวสัญญานาสัญญายตนฌานเรื่อยมาจนถึงปฐมฌาน เรียกว่า การอบรมสมาธิด้วยการเข้าสมาบัติ ๙ ไปตามลำดับและย้อนกลับ

      ข้อ ๗. เพ่งปถวีกสิณแล้วเข้าปฐมฌาน เพ่งปถวีกสิณแล้วเข้าตติยฌานพ่งปถวีกสิณแล้วเข้าปัญจมฌาน เพื่อออกจากปัญจมฌานแล้วก็เพ่งอากาสบัญญัติที่เพิกจากปถวีกสิณเป็นอารมณ์ แล้วเข้าอากาสานัญจายตนฌาน ออกจากอากาสานัญจายตนฌานแล้วก็ทำการพิจารณานัตถิภาวบัญญัติเป็นอารมณ์ แล้วเข้าอากิญจัญญายตนฌาน ส่วนกสิณที่เหลือ ๗ และการเข้าก็คงเป็นไปในทำนองเดียวกันนี้เรียกว่าการอบรมสมาธิโดยการข้ามฌานไปตามลำดับ

      ข้อ ๘. เพ่งปถวีกสิณเข้าปฐมฌาน เพ่งเตโซกสิณเข้าปฐมฌาน เพ่งนีลกสิญเข้าปฐมฌาน เพ่งโลหิตกสินเข้าปฐมฌาน การเข้ารูปฌานที่เหลือ ๔ ก็คงเป็นเช่นเดียวกัน เรียกว่า การอบรมสมาธิด้วยการเพ่งกสิณข้ามไปตามลำดับแห่งกสิณ

      ข้อ ๙. เพ่งปถวีกสิณเข้าปฐมฌาน เพ่งเตโชกสิณเข้าตติยฌาน เพ่งนีลกสิญเข้าปัญจมฌาน เมื่อออกจากปัญจมฌานแล้วก็เพ่งอากาสบัญญัติที่เพิกจากนีลกสิณแล้วเข้าอากาสานัญจายตนฌาน ออกจากอากาสานัญจายตนฌานแล้วก็เพ่งโลหิตกสิณโดยการเพิกปฏิภาคนิมิตออก คงมีแต่อากาสบัญญัติ แต่แล้วก็มิได้สนใจที่จะพิจารณาต่ออากาสบัญญัตินี้ คงกลับไปสนใจในอากาสานัญจายตนฌานที่เกิดในสันดานของตนที่ดับไปนั้นด้วยการพิจารณาว่า นัตถิ กิญจิ ๆ แล้วก็เข้าอากิญจัญญายตนฌานเรียกว่า การอบมสมาธิด้วยการเข้าฌานการเพ่งข้ามไปตามลำดับแห่งฌานและลำดับแห่งกสิณ

      ในข้อ ๙. นี้ ในปรมัตถทีปนีมหาฎีกา ท่านได้แสดงการเพ่งกสิณ และการเข้าฌานข้ามไปตามลำดับนี้  เป็นพิเศษออกไปอีกเล็กน้อย คือ เพ่งปถวีกสิณเข้าปฐมฌานเพ่งเตโชกสิณเข้าตติยฌาน เพ่งนีลกสิณเข้าปัญจมฌาน เมื่อออกจากปัญจมฌานแล้วก็ทำการพิจารณาอากาสานัญจายตนฌาน ที่เคยเกิดในสันดานของตนในภพนี้แล้วเข้าวิญญาณัญจายตนฌาน เสร็จแล้วออกมาพิจารณาอากิญจัญญายตนฌานที่เคยเกิดในสันดานของตนในภพนี้ แล้วเข้า เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน เสร็จแล้วออกมาพิจารณานัตถิภาวบัญญัติเข้าอากิญจัญญายตนฌาน อกมาเพ่งปีตกสิณโดยการเพิกปฏิภาคนิมิตออก คงมีแต่อากาสบัญญัติ แล้วก็เพ่งอากาสบัญญัติเข้าอากาสานัญจายนฌาน ออกมาเพ่งวาโยกสิณเข้าจตุตถฌาน ออกมาเพ่งอาโปกสิณเข้าทุติยฌานการเข้าฌาน การเพ่งกสิณ ด้วยวิธีข้ามทั้งอนุโลมและปฏิโลมตามนัยปรมัตถทีปนีมหาฎีกานี้ ความสำคัญมีอยู่ว่าในระหว่างที่กระทำอยู่อย่างนี้หลายร้อยครั้งนั้นเพื่อที่จะได้มีการเพ่งกสิณให้ครบทั้ง ๙ อย่างนั้นเอง

      ข้อ ๑๐. เพ่งปถวีกสิณแล้วเข้าปฐมฌาน เป็นต้นจนถึง ปัญจมฌาน โดยการก้าวล่วงองค์มานไปตามลำดับ และการเข้ารูปฌานต่อไปที่มีการเพ่งกสิณที่เหลือก็คงเป็นไปในทำนองเดียวกันนี้เรียกว่า การอบรมสมาธิด้วยการเข้ารูปฌาน โดยการก้าวล่วงองค์ฌานไปตามลำดับ

      ข้อ ๑๑. เพ่งปถวีกสิณเข้าปฐมฌาน  เพ่งอาโปกสิณเข้าปฐมฌาน เพ่งเตโชกสิณเข้าปฐมฌาน เพ่งวาโยกสิณเข้าปฐมฌาน เพ่งนีลกสิณเข้าปฐมฌาน เพ่งปีตกสิณเข้าปฐมฌาน เพ่งโลหิตกสิณเข้าปฐมฌาน เพ่งโอทาตกสิณเข้าปฐมฌาน ตั้งแต่ทุติยฌาน เป็นต้น จนถึง ปัญจมฌาน ก็มีการเปลี่ยนเพ่งองค์กสิณดังนี้ทุก ๆ ฌานไปเรียกว่า การอบรมสมาธิโดยการเปลี่ยนเพ่งองค์กสิณทั้ง ๘ ตามลำดับ

      ข้อ ๑๒. เพ่งปถวีกสิณเข้าปฐมฌาน เพ่งอาโปกสิณเข้าทุติยฌาน เพ่งเตโชกสิณเข้าตติยฌาน เพ่งวาโยกสิณเข้าจตุตถฌาน เพ่งนีลกสิณเข้าปัญจมฌาน เพ่งปีตกสินโดยการเพิกปฏิภาคนิมิตออก คงมีแต่อากาสบัญญัติแล้วก็เพ่งอากาสบัญญัตินั้นเข้าอากาสานัญจายตนฌาน เมื่อออกมาก็เพ่งโลหิตกสิณที่มีการเพิกปฏิภาคนิมิตออก คงมีแต่อากาสบัญญัติ แต่แล้วก็มิได้สนใจที่จะพิจารณาในอากาสบัญญัตินี้ คงกลับไปสนใจในอากาสานัญจายตนฌานที่เกิดในสันดานของตนที่ดับไปนั้นด้วยการพิจารณาว่า (วิญญาณ อนนฺตํ, วิญฺญาณํ อนนฺตํ) แล้วเข้าวิญญาณัญจายตนฌาน เมื่อออกมาก็เพ่งโอทาตกสิณที่มีการเพิกปฏิภาคนิมิตออก คงมีแต่อากาสบัญญัติ แต่แล้วก็มิได้สนใจที่จะพิจารณาในอากาสบัญญัต นี้ คงกลับไปสนใจในนัตถิภาวบัญญัติด้วยการพิจารณาว่า (นัตถิ กิญจิๆ) แล้วเข้าอากิญจัญญายตนฌาน เมื่อออกมาก็เพ่งอาโลกกสิณที่มีการเพิกปฏิภาคนิมิตออก คงมีแต่อากาสบัญญัติ แต่แล้วก็มิได้สนใจที่จะพิจารณาในอากาสบัญญัตินี้ คงกลับไปสนใจในอากิญจัญญายตนฌานที่เกิดในสันดานของตนที่ดับไปนั้นด้วยการพิจารณาว่า (สันติ ปณีตํ ๆ) แล้วเข้าเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน

      หมายเหตุ ในตอนต้นได้กล่าวว่าใช้แต่องค์กสิณ ๘ มีปถวีกสิณ เป็นต้นจนถึงโอทาตกสิณเท่านั้น ในการอบรมสมาธินี้ แต่ในข้อ ๑๒. ได้กล่าวว่า มีการเพ่งอาโลกกสิณ ก่อนที่จะเข้าเนาสัญญานาสัญญายตนฌาน ที่เป็นดังนี้ก็เพราะการเพ่งกสิญทั้ง ๘ นี้ได้หมดลงเพียงแค่อากิญจัญญายตนฌานซึ่งเป็นฌานสมาบัติอันดับที่ ๘ แต่เนวสัญญานาสัญญายตนฌานนั้นยังเหลืออยู่ เหตุนี้ก่อนที่จะเข้าเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน จึงจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนไปเพ่งอาโลกกสิณ แต่ถ้าฌานลาภีบุคคลนั้นได้รูปฌานตามจตุกกนัย องค์กสิณ ๘ กับฌานสมาบัติก็ครบกันพอดี มิต้องไปเพ่งอาโลกกสิณแต่อย่างใด อนึ่งการที่จัดอค์กสิณแต่เพียง ๘ นั้น ก็เพราะว่าอาโลกกสิญนี้ท่านสงเคราะห์เข้าในโอทาตกสิณอยู่แล้ว ส่วนอากาสกสิณนั้นมิสามารถที่จะช่วยอุดหนุนแก่การเข้าอรูปฌาน ฉะนั้น จึงมิได้นำมากล่าวไว้ในที่นี้ แต่ก็สามารถช่วยอุดหนุนแก่การเข้ารูปฌาน ทำการเพ่งอบรมสมาธิเพื่อประโยชน์ ในอันที่จะได้เนรมิตอากาศให้เกิดขึ้นภายใต้พื้นแผ่นดินและในน้ำ ดังนั้น แม้ว่าท่านอรรถกถาจารย์จะไม่ได้กล่าวไว้แต่ท่านฎีกาจารย์ได้แนะนำว่าใช้ได้เหมือนกัน

      ข้อ ๑๓. ปฐมฌานนี้มีองค์ฌาน ๕ ประกอบ ได้แก่ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา ทุติยฌานมีองค์ฌาน ๔ ประกอบ ได้แก่ วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา ตติยฌาน มีองค์ฌาน ๓ ประกอบ ได้แก่ ปีติ สุข เอกัคคตา จตุตตถฌานมีองค์ฌาน ๓ ประกอบ ได้แก่ สุข เอกัคคตา ปัญจมฌานมีองค์ฌาน ๒ ประกอบ ได้แก่ อุเบกขา เอกัคคตา อากาสานัญจายตนฌาน วิญญาณัญจายตนฌาน อากิญจัญญายตนฌาน เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน เหล่านี้มีองค์ฌาน ๒ ประกอบ ได้แก่ อุเบกขา เอกัคคตา เรียกว่า การอบรมสมาโดยการพิจารณาองค์ฌานไปตามลำดับแห่งสมาบัติ

      ข้อ ๑๔. ปฐมฌานที่เกิดขึ้นที่มีปถวีกสิณเป็นอารมณ์ ก็พิจารณาว่า ปถวีกสิณนี้ป็นอารมณ์ของปฐมฌาน ถ้ามีอาโป หรือ เตโชกสิณ เป็นต้นจนถึง โอทาตกสิณก็พิจารณาว่า อาโป เตโชกสิณ เป็นต้น หรือ โอทาตกสิณนี้ เป็นอารมณ์ของปฐมฌาน ทุติยฌาน เป็นต้นจนถึง ปัญจมฌาน ที่เกิดขึ้นจากการเพ่งกสิณนั้น ก็คงมีการพิจารณาไปในทำนองเดียวกันกับปฐมฌานเกิด เมื่ออากาสานัญจายตนฌานเกิดขึ้นแล้ว ก็พิจารณาว่าอากาสบัญญัตินี้เป็นอารมณ์ของอากาสานัญจายตนฌาน เมื่อวิญญาฌัญจายตนฌานเกิดขึ้นแล้ว ก็พิจารณาว่า อากาสานัญจายตนฌานนี้เป็นอารมณ์ของวิญญาณัญจายตนฌาน เมื่ออากิญจัญญายตนฌานเกิดขึ้นแล้ว ก็พิจารณาว่านัตถิภาวบัญญัตินี้เป็นอารมณ์ของอากิญจัญญายตนฌาน เมื่อเนวสัญญานาสัญญายตนฌานเกิดขึ้นแล้ว ก็พิจารณาว่า อากิญจัญญายตนฌาน นี้เป็นอารมณ์ของเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน เรียกว่า  การอบรมสมาธิด้วยการพิจารณากำหนดรู้อารมณ์กรรมฐานแห่งสมาบัติ ๙

      เมื่อสรุปความในหลัก ๑๔ อย่างนี้แล้ว จะเห็นว่า จุดประสงค์มีอยู่อย่างเดียว คือ จะให้ฌานลาภีบุคคลมีความชำนาญในการเพ่งกสิณ การเข้าฌานสมาบัติ อันเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยทำจิตให้มีอำนาจโดยมีสมาธิกล้าแข็งเป็นพิเศษ ซึ่งเป็นเหตุที่จะทำให้รูปปัญจมฌานอภิญญาเกิดขึ้น ดังนั้น การอบรมฝึกฝนสมาธิให้กล้าแข็งนี้ ฌานลาภีบุคคลจะมีวิธีอื่นเพิ่มขึ้นอีกก็ได้ มิเป็นการขัดข้องแต่ประการใด

[full-post]

ปริจเฉทที่๙,สมถกรรมฐาน,อภิธัมมัตถสังคหะ,อภิญญา,

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.