การเจริญ มุทิตา

      มุทิตา หมายความว่า ความรื่นเริงบันเทิงใจในความสุขความสมบูรณ์ของผู้อื่นดังแสดงวจนัตถะว่า "ตํสมงฺคิโน โมทนฺติ เอตายาติ = มุทิตา" สัปบุรุษผู้มีใจถึงพร้อมด้วยมุทิตาทั้งหลาย ย่อมรื่นเริงในความสุขความสมบูรณ์ของผู้อื่นด้วยธรรมชาตินั้น ฉะนั้น ธรรมชาติที่เป็นเหตุแห่งการรื่นเริงชื่อว่า มุทิตา องค์ธรรมได้แก่มุทิตาเจตสิกที่มีสุขิตสัตวบัญญัติเป็นอารมณ์

      มุทิตา เมื่อว่าโดยสามัญแล้วมี ๒ อย่าง คือ มุทิตาแท้และมุทิตาเทียม ใน ๒ อย่างนี้ มุทิตาแท้ แม้ว่าจะมีความรื่นเริงบันเทิงใจต่อสัตว์ที่มีสุขอยู่ หรือจะได้รับความสุขต่อไปข้างหน้าก็ดี จิตใจหาได้มีการยึดถือหรืออยากโอ้อวดต่อผู้อื่นแต่อย่างใดไม่ มีแต่ความเบิกบานแจ่มใสเป็นตัวมหากุศล หรือ มหากริยาจิตตุปบาทที่เนื่องมาจากมุทิตาเจตสิก อันเป็นมุทิตาแท้ สำหรับมุทิตาเทียมนั้น แม้จะมีความยินดีปรีดาก็จริง แต่ก็มีการยึดถืออยากได้ดีมีหน้าซ่อนอยู่เบื้องหลัง เนื่องมาจากโลภมูลโสมนัสจิตตุปบาท มุทิตาเทียมนี้ ส่วนมากย่อมเกิดขึ้นในเมื่อได้เห็น บิดา มารดา ญาติพี่น้องบุตร ธิดา มิตรสหายของตนมียศ ทรัพย์ อำนาจ หรือได้ทราบว่าจะได้รับยศอำนาจในวันหน้า โดยความยึดถือว่าผู้นั้นเป็นบิดา มารดา ฯลฯ ของตนการเจริญมุทิตากรรมฐานนี้ ผู้เจริญต้องทำการแผ่มุทิตาแท้ ไปในสัตว์ทั้งหลายที่เป็นสุขิตบุคคล ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน ๒ จำพวก คือ ผู้ที่กำลังมีความสุขสบายอยู่หรือจะได้รับความสุขสบายในวันข้างหน้า อย่างหนึ่ง และผู้ที่เคยมีความสุขสบายมาแล้ว แต่เวลานี้กำลังมีความลำบากอยู่ อย่างหนึ่ง ดังนั้นถ้าผู้เจริญมิได้พบเห็นสุขิตบุคคลจำพวกที่ ๑ จะทำการแผ่ไปในบุคคลจำพวกที่ ๒ ก็ได้ โดยมาคำนึงว่าบุคคลนี้แม้ว่ากำลังได้รับความลำบากอยู่ก็ตามที แต่เมื่อก่อนนี้เคยเป็นผู้มั่งคั่งสมบูรณ์ความสุขกายสบายใจด้วย ยศ ทรัพย์สินเงินทองมาแล้ว 

เมื่อจะทำการแผ่ผู้เจริญจะต้องแผ่ไปในบุคคลโดยลำดับ มีดังนี้

      ๑. ต้องแผ่แก่ตนเองก่อน

      ๒. สุขิตบุคคล ประเภทที่หนึ่งและที่สอง ที่เป็นอติปียบุคคล

      ๓. สุขิตบุคคล ประเภทที่หนึ่งและที่สอง ที่เป็นปียบุคคล

      ๔. สุขิตบุคคล ประเภทที่หนึ่งและที่สอง ที่เป็นมัชฌัตตบุคคล

      ๕. สุขิตบุคคล ประเภทที่หนึ่งและที่สอง ที่เป็นเวรีบุคคล

      ในบุคคล ๕ จำพวกนี้ หลังจากการแผ่แก่ตนเองแล้ว จะต้องแผ่ไปในอติปียบุคคลก่อนปิยบุคคลสามัญ เพราะมุทิตาเทียมย่อมเกิดขึ้นโดยอาศัยอติปียบุคคลได้ง่ายฉันใด มุทิตาแท้ ย่อมเกิดขึ้นโดยอาศัยอติปียบุคคลได้ง่ายเช่นเดียวกัน ดังนั้น จึงต้องทำการแผ่ไปในอติปิยบุคคลก่อน ให้ทำการแผ่มุทิตาไปในบุคคลตามลำดับโดยนัยนี้เรื่อยไป จนกว่าจะได้สำเร็จถึงขั้นสีมสัมเภท ดังที่กล่าวไว้แล้วในเมตตา ข้อปฏิบัติที่จะมิให้โทสะ อิสสา เกิดขึ้นในเวลาที่ทำการแผ่ไปในเวรีสุขิตบุคคลประเภทที่หนึ่งและที่สองนั้น คงเป็นไปในทำนองเดียวกับที่ได้กล่าวไว้ในเมตตา จะมีการพิจารณาต่างกันบ้างเพียงเล็กน้อย ดังนั้น จึงมิได้แสดงช้ำอีก จากนั้นจึงจะใช้วิธีแผ่ตามแบบบริกรรมท่องจำแผ่ไปโดยส่วนรวม ดังจะแสดงต่อไปนี้

      คำที่สำหรับใช้แผ่นั้นมีอยู่อย่างเดียวกันทั้งตนและคนอื่น คือ แผ่แก่ตนใช้คำว่า อหํ ยถาลทฺธสมฺปตฺติโต มา วิคจฺฉามิ = ขอข้าพเจ้าอย่ได้สูญสิ้นจากความสุขตวามเจริญที่มีอยู่ แผ่ไปในผู้อื่น ถ้าเป็นคนเดียวใช้คำว่า ยถาลทฺธสมฺปตฺติโต มาวิคจฺฉตุ - ขอท่านอย่าได้สูญสิ้นจากความสุขความเจริญที่มีอยู่ ถ้า ๒ คนขึ้นไปก็ใช้คำว่า  ยถาลทธสมฺปตฺติโต มา วิคจฺฉนฺตุ - ขอท่านทั้งหลายอย่าได้สูญสิ้นจากความสุขความเจริญที่มีอยู่

      แบบบริกรรมท่องจำแผ่มุทิตาทั่วไปอย่างสามัญนั้น ว่าโดย อาการแห่งมุทิตาก็มีหนึ่งคือ ยถาลทฺธสมฺปตฺติโต มา วิคจฺฉตุ ว่าโดย บุคคลที่ได้รับการแผ่ มี ๑๒ จำพวก คือ อโนทิสบุคคล ๕ โอทิสบุคคล ๗ ทำการแผ่ไปดังนี้

      ๑. สพฺเพ สตฺตา ยถาลทฺธสมฺปตฺติโต มา วิคจฺฉนฺตุ = ขอสัตว์ทั้งหลายอย่าได้สูญสิ้นจากความสุขความเจริญที่มีอยู่

          ฯลฯ

      ๕. สพฺเพ อตฺตภาวปริยาปนฺนา ยถาลทฺธสมฺปตฺติโต มา วิคจฺฉนฺตุ = ขอสัตว์ที่มีอัตภาพทั้งหลายอย่าได้สูญสิ้นจากความสุขความเจริญที่มีอยู่

         รวมเป็น ๕ เรียกว่า อโนทิสผรณามุทิตา

      ๑. สพฺพา อิตฺถิโย ยถาลทฺธสมฺปตฺติโต มา วิคจฺฉนฺตุ = หญิงทั้งหลายอย่าได้สูญสิ้นจากความสุขความเจริญที่มีอยู่

      ๗. สพฺเพ วินิปาติกา ยถาลทฺธสมฺปตฺติโต มา วิคจฺฉนฺตุ = พวกวินิปาติกอสุราทั้งหลายอย่ได้สูญสิ้นจากความสุขความเจริญที่มีอยู่ 

          รวมเป็น ๓ เรียกว่า โอทิสผรณามุทิตา อโนทิสผรณามุทิตา ๕ โอทิสผรณามุทิตา ๗ รวมเป็น ๑๒ เรียกว่า ปุคคลวารผรณามุทิตา


เมื่อแผ่ตามทิศทั้ง ๑๐

      ๑. ปุรตฺถิมาย ทิสาย สพฺเพ สตฺตา ฯลฯ สพฺเพ วินิปาติกายถาลทฺธสมฺปตฺติโต มา วิคจฺฉนฺตุ ขอสัตว์ทั้งหลาย ฯลฯ วินิปาติกอสุราทั้งหลายที่อยู่ทางทิศตะวันออกอย่าได้สูญสิ้นจากความสุขความเจริญที่มีอยู่ ในทิศที่เหลือ ๙ ก็คงทำการแผ่ไปในทำนองเดียวกันนี้ เมื่อนับจำนวนมุทิตาที่แผ่ไปในบุคคลที่มีอยู่ในทิศทั้ง ๑๐ แล้ว ในทิศหนึ่งๆ ได้มุทิตา ๑๒ รวม ๑๐ ทิศได้มุทิตา ๑๒ เรียกว่า ทิสาผรณามุทิตา

      ปุคคลวารผรถามุทิตา ๑๒ ทิสาผรณามุทิตา ๑๒ สองอย่างรวมเป็น ผรณามุทิตาโดยพิสดาร ๑๓๒


นิมิต ๓ ภาวนา ๓ อานิสงส์ ๑๑ ก็คงเป็นเช่นเดียวกันกับเมตตา

ข้อความ ๘ อย่างที่ควรรู้มี ลักขณะ รส เป็นต้นมีดังนี้

      ๑. ลักขณะ :- ปโมทนลกฺขณา มีการบันเทิงใจในคุณความดี ทรัพย์ บริวารความสุขของผู้อื่น  เป็นลักษณะ

      ๒. รส :- อนิสฺสายนรสา มีการไม่ริษยาในคุณความดี ทรัพย์ บริวารความสุขของผู้อื่น เป็นกิจ

      ๓. ปัจจุปัฏฐาน :- อรติฆาตปจฺจุปฏฺฐานา มีการพิฆาตทำลายความริษยาเป็นอาการปรากฎแก่ผู้ที่ทำการพิจารณามุทิตา

      ๔. ปทัฏฐาน :- ปรสมฺปตฺติทสฺสนปทฏฺฐานา มีการรู้เห็นความเจริญด้วยคุณความดี ทรัพย์ บริวาร ความสุขของผู้อื่น เป็นเหตุใกล้

      ๕. สัมปัตติ :- อรติวูปสโม สมฺปตฺติ มีการสงบจากความไม่พอใจในสมบัติของผู้อื่น เป็นความสมบูรณ์แห่งมุทิตา

      ๖. วิปัตติ :- ปทาสสมฺภโว วิปตฺติ ความสนุกรื่นเริงโอ้อวดกำหนัดเกิดขึ้นเป็นความเสียหายแห่งมุทิตา

      ๗. อาสันนปัจจัตถิกะ :- เคหสิตํ โสมนสฺสํ อาสนฺนปจฺจตฺถิกํ มีความดีใจที่เนื่องด้วยกามคุณอารมณ์ เป็นศัตรูใกล้

      ๘. ทูรปัจจัตถิกะ :- อรติ ทูรปจฺจตฺถิกา ความไม่ยินดี ไม่สบายใจในความเจริญของผู้อื่น เป็นศัตรู่ไกล


จบมุทิตา

--------/////----------

[full-post]

ปริจเฉทที่๙,สมถกรรมฐาน,อภิธัมมัตถสังคหะ,การเจริญมุทิตา

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.