ทองย้อย แสงสินชัย

#บาลีวันละคำ (3,869)


ฤดูกาล

หญ้าปากคอกอีกคำหนึ่ง

อ่านว่า รึ-ดู-กาน

ประกอบด้วยคำว่า ฤดู + กาล

(๑) “ฤดู” 

บาลีเป็น “อุตุ” อ่านว่า อุ-ตุ รากศัพท์มาจาก -

(1) อิ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + ตุ ปัจจัย, แปลง อิ เป็น อุ

: อิ + ตุ = อิตุ > อุตุ แปลตามศัพท์ว่า “กาลเวลาที่เป็นไปประจำ” 

(2) อร (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + ตุ ปัจจัย, แปลง อร เป็น อุ

: อรฺ + ตุ = อรตุ > อุตุ แปลตามศัพท์ว่า “กาลเวลาเป็นที่เป็นไปแห่งหิมะเป็นต้น”

ความหมายนี้ “อุตุ” หมายถึง ฤดูกาล, เวลา, อากาศ, อุณหภูมิ 

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อุตุ” ในความหมายนี้ว่า good or proper time, season (เวลาที่ดีหรือเหมาะเจาะ, ฤดูกาล)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า - 

(1) อุตุ ๑ : (คำนาม) ฤดู. (ป.; ส. ฤตุ).

(2) อุตุ ๒ : (ภาษาปาก) (คำวิเศษณ์) สบาย (ใช้แก่กริยานอน) เช่น นอนหลับอุตุ.

นอกจากนี้ “อุตุ” ในบาลียังแปลว่า “โลหิตที่เป็นไปประจำ” อีกความหมายหนึ่ง หมายถึง ระดู, เลือดประจำเดือน (the menses)

“อุตุ” ในความหมายนี้ ภาษาไทยใช้ว่า “ระดู” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า - 

“ระดู : (คำนาม) เลือดประจําเดือนที่ถูกขับถ่ายจากมดลูกออกมาทางช่องคลอด.”

บาลี “อุตุ” สันสกฤตเป็น “ฤตุ” 

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ - 

“ฤตุ : (คำนาม) ฤดู, เทศกาล; ฤดู, โลหิตประจำเดือนของสตรี; เดือน; แสง; a season; the menses; a month; light.”

นอกจากใช้เป็น “อุตุ” ตามรูปบาลีแล้ว เรายังใช้ตามรูปสันสกฤตเป็น “ฤดู” (รึ-ดู) ด้วย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า - 

“ฤดู : (คำนาม) ส่วนของปีซึ่งแบ่งโดยถือเอาภูมิอากาศเป็นหลัก มักแบ่งออกเป็น ๓ ช่วง คือ ฤดูฝน ฤดูหนาว และฤดูร้อน หรือเป็น ๔ ช่วง คือ ฤดูใบไม้ผลิ ฤดูร้อน ฤดูใบไม้ร่วง และฤดูหนาว ที่แบ่งเป็น ๒ ช่วง คือ ฤดูแล้งกับฤดูฝน ก็มี, เวลาที่กําหนดสําหรับงานต่าง ๆ เช่น ฤดูเก็บเกี่ยว ฤดูทอดกฐิน ฤดูถือบวช, เวลาที่เหมาะ เช่น ฤดูสัตว์ผสมพันธุ์; คราว, สมัย, เช่น ฤดูนํ้าหลาก. (ส. ฤตุ; ป. อุตุ).”

(๒) “กาล” 

บาลีอ่านว่า กา-ละ รากศัพท์มาจาก กลฺ (ธาตุ = นับ, คำนวณ) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะ (ยืดเสียง) อะ ที่ ก-(ลฺ) เป็น อา (กล > กาล)

: กลฺ + ณ = กลณ > กล > กาล แปลตามศัพท์ว่า “เครื่องนับประมาณอายุเป็นต้น” “ถูกนับว่าล่วงไปเท่านี้แล้ว” “ยังอายุของเหล่าสัตว์ให้สิ้นไป” หมายถึง เวลา, คราว, ครั้ง, หน

“กาล” ที่หมายถึง “เวลา” (time) ในภาษาบาลียังใช้ในความหมายที่ชี้ชัดอีกด้วย คือ :

(ก) เวลาที่กำหนดไว้, เวลานัดหมาย, เวลาตายตัว (appointed time, date, fixed time)

(ข) เวลาที่เหมาะสม, เวลาที่สมควร, เวลาที่ดี, โอกาส (suitable time, proper time, good time, opportunity)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า -

“กาล ๑, กาล- : (คำนาม) เวลา, คราว, ครั้ง, หน. (ป., ส.).” 

อุตุ + กาล = อุตุกาล (อุ-ตุ-กา-ละ) แปลว่า “เวลาที่หมุนเวียนไปตามฤดู” 

ขยายความ :

“อุตุกาล” เป็นศัพท์ที่มีใช้ในบาลี ในคัมภีร์กฐินขันธกะ วินัยปิฎก มีข้อความตอนหนึ่งว่า -

..............

เตน  โข  ปน  สมเยน  อญฺญตโร  ภิกฺขุ  อุตุกาลํ  เอโก  วสิ  ฯ

สมัยต่อมา ภิกษุรูปหนึ่งอยู่รูปเดียวตลอดฤดูกาล

ที่มา: กฐินขันธกะ วินัยปิฎก มหาวรรค ภาค 2 พระไตรปิฎกเล่ม 5 ข้อ 164

..............

อรรถกถาไขความคำว่า “อุตุกาลํ” ว่า -

..............

อุตุกาลนฺติ  วสฺสานโต  อญฺญํ  กาลํ  ฯ

คำว่า อุตุกาลํ  หมายถึง กาลอื่นจากฤดูฝน

ที่มา: สมันตปาสาทิกา ภาค 3 หน้า 268

..............

ที่นำมาเสนอนี้ พอเป็นทางดำริถึงความหมายของศัพท์เฉพาะในบริบทนี้เท่านั้น ในบริบทอื่น “อุตุกาล” อาจมีความหมายเป็นอย่างอื่นได้อีก

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อุตุกาล” ว่า seasonable, favourable time [of the year] (ถูกตามฤดูกาล, เวลาที่เหมาะหรือดี [พูดถึงปี]) 

ในภาษาไทย มีคำว่า “ฤดูกาล” ซึ่งตรงกับ “อุตุกาล” ในบาลี พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ดังนี้ -

“ฤดูกาล : (คำนาม) เวลา, คราว, เช่น ฝนไม่ตกตามฤดูกาล.”

..............

ดูก่อนภราดา!

: ทำนาทำสวน ต้องสมควรแก่ฤดูเดือนปี

: ทำความดี ทำได้ทุกฤดูกาล

[full-post]

ฤดูกาล,อุตุ,สภาพอากาศ

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.