องค์ศีล (๓)
----------
ก่อนจะไปถึงรายละเอียดขององค์ศีล ขอทำความเข้าใจดังนี้
เช่นเดียวกับข้อกฎหมาย ซึ่งต้องมีองค์ประกอบว่าทำอย่างไรแค่ไหนจึงผิดกฎหมาย อย่างไรแค่ไหนไม่ผิด
๒ เรียนรู้องค์ศีลเพื่อประกอบการวินิจฉัย มิใช่เพื่อให้รู้ช่องทางหลบหลีก เช่นหาทางละเมิดศีล แต่ทำอย่างไรศีลจึงจะไม่ขาด เหมือนคนจงใจละเมิดกฎหมาย แต่หาวิธีว่าทำอย่างไรจึงจะไม่ถูกลงโทษ (ดังตัวอย่างที่เคยเห็นกัน เช่น-อ้างว่าจำเลยเป็นคนวิกลจริต อย่างนี้เป็นต้น)
๓ ศีลไม่ขาดไม่ใช่เครื่องรับรองความสุจริต คนที่จงใจละเมิดศีล ทำลงไปแล้วแม้ศีลจะไม่ขาดเพราะองค์ประกอบไม่ครบ ก็ยังได้ชื่อว่าเป็นคนไม่สุจริตอยู่นั่นเอง
อุปมาเหมือนคนทำผิดกฎหมาย แต่ไม่มีพยานหลักฐานยืนยัน ถูกฟ้องร้อง แม้ศาลจะตัดสินว่าไม่มีความผิด แต่ผู้กระทำการเช่นนั้นก็คือคนทำผิดอยู่นั่นเอง
ข้อนี้ต้องแยกให้ถูก มิเช่นนั้นจะชวนให้เข้าใจผิด
ดีของการรักษาศีลไม่ใช่อยู่ที่ศีลไม่ขาด แต่อยู่ที่เป็นคนสะอาดสุจริตเป็นสำคัญ
เหมือนคนทำผิด แต่กฎหมายเอาผิดไม่ได้ ไม่ใช่คนฉลาด แต่เป็นคนที่น่ารังเกียจ
.........................................................
ผมเชื่อว่า ชาวบ้านส่วนมากในเวลานี้ไม่เคยได้ศึกษาเรียนรู้เรื่ององค์ศีล แม้แต่ชาววัดนั่นเองถ้าไม่ใส่ใจขวนขวายศึกษา ก็น่าจะมีอยู่ไม่น้อยที่ไม่เคยรู้เรื่ององค์ศีลเช่นกัน
ที่พูดเช่นนี้ก็เพื่อกระตุ้นเตือนให้ฉุกคิดกันว่า การไม่ใส่ใจศึกษาเรียนรู้นั้นเป็นมหาภัยในพระศาสนา และเวลานี้มหาภัยนี้กำลังครอบงำพวกเราอยู่โดยที่เราส่วนมากไม่ตระหนักและไม่ตระหนก
ถ้าไม่ช่วยกันศึกษาเรียนรู้ตั้งแต่วันนี้ พระศาสนาที่มีในวันหน้าก็จะเต็มไปด้วยความเข้าใจที่วิปลาส การปฏิบัติที่วิปริต จนไม่เหลือเนื้อแท้ของพระพุทธศาสนาที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประกาศไว้
ขอจงตื่นขึ้นมาศึกษาเรียนรู้กันเถิด
.........................................................
ต่อไปนี้ จะได้นำองค์ศีลแต่ละข้อมาแสดง
.............
ศีลข้อที่ ๑
.............
คำบาลีว่า “ปาณาติปาตา เวรมณี” (ปาณาติปาตา เวระมะณี) แปลว่า เจตนางดเว้นจากการปลงชีวิต (to abstain from killing)
ศีลข้อนี้เรียกเป็นคำไทยว่า “ปาณาติบาต”
องค์ประกอบที่ตัดสินว่าเป็นปาณาติบาตมี ๕ ประการ คือ
(๑) ปาโณ ปาณะนั้นยังมีชีวิต
(๒) ปาณสญฺญิตา (ปาณะสัญญิตา) ผู้ทำรู้ว่าปาณะนั้นยังมีชีวิต
(๓) วธกจิตฺตํ (วะธะกะจิตตัง) มีเจตนาจะให้ตาย
(๔) อุปกฺกโม (อุปักกะโม) ลงมือทำ
(๕) เตน มรณํ (เตนะ มะระณัง) ปาณะนั้นตายด้วยการกระทำนั้นโดยตรง
ข้อสังเกต :
ศีลข้อ “ปาณาติบาต” นี้ มักพูดกันเป็นคำสามัญว่า “ฆ่าสัตว์”
คำว่า “สัตว์” ในภาษาไทย ชวนให้นึกแคบเข้าไปเฉพาะสัตว์เดรัจฉาน (animal) คือสัตว์ทั่วไปที่ไม่ใช่มนุษย์
แต่ในทางหลักธรรมวินัย ท่านจำกัดความไว้รัดกุมด้วยการใช้คำว่า “ปาณ” หมายถึง “สิ่งมีชีวิตที่มีลมปราณ” คือมีลมหายใจ
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปาณ” ว่า living being, life, creature
เพราะฉะนั้น สิ่งมีชีวิตที่มี “ปาณ” ทุกชนิด จะเป็นมนุษย์หรือสัตว์ทั่วไปก็ตาม ย่อมรวมอยู่ในศีลข้อนี้ทั้งสิ้น
.........................................................
ปัญหาลองภูมิ :
บ้านอยู่ริมถนน ตอนเช้าเปิดประตูบ้าน เห็นสุนัขจรจัดมานอนที่ประตู จึงเอาไม้ขว้างมันออกไป
สุนัขตกใจวิ่งถลาไปกลางถนน ถูกรถชนตาย
ศีลข้อปาณาติบาตขาดหรือไม่ เพราะเหตุไร?
.........................................................
พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย
๑๖ มกราคม ๒๕๖๖
๑๘:๐๐
แสดงความคิดเห็น
ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ