เรื่องอารมณ์ของวิปัสสนา (มีรายละเอียดไปตามลำดับ)
๑) เริ่มต้นของการปฏิบัติวิปัสสนา โยคีบุคคล จะกำหนดอารมณ์ ๖ ที่เป็นไปเฉพาะหน้า โดยความเป็น "รูป-นาม" การกำหนดนี้ เรียกว่า "นามรูปปริจเฉทญาณ" เป็นการแยกรูป-นาม ออกจากบัญญัติธรรม (เพื่อถอนสักกายทิฏฐิ ว่าเป็นสัตว์ - บุคคล หรือเป็นตัวตนของเรา... ออกได้)
๒) จากนั้น จะค้นคว้าหาเหตุ-ปัจจัยของรูป-นามนั้นว่า มีอะไรเป็นเหตุปัจจัย เพื่อตัดวิจิกิจฉา ความสงสัยว่า รูป-นามนี้ มีผู้เป็นใหญ่ดลบันดาลสร้างสรรมาหรือไม่อย่างไร? เมื่อค้นคว้าไป ก็จะรู้ความจริงว่า รูป-นาม เกิดขึ้นมาได้เพราะเหตุ-ปัจจัย ไม่มีผู้ดลบันดาลเสกสรรมา... แม้เหตุ-ปัจจัยที่ให้เกิดรูป-นามนั้น ก็เป็นสภาพธรรมที่เป็นรูป-นามนั่นเอง ไม่ใช่สัตว์บุคคล หรือเทพเจ้าใด ๆ ทั้งสิ้น เรียกการกำหนดค้นคว้านี้ว่า "นามรูปปัจจยปริคคหญาณ" (เป็นเหตุตัดความสงสัยในลักษณะ ๘ อย่างในพระสูตร, และความสงสัย ๑๖ อย่างในอภิธรรม / ดูปฏิจจสมุปบาท, กังขาวิตรณวิสุทธิ...ในวิสุทธิมรรค-ประกอบ)
๓) จากนั้น กิจของญาณ (ปัญญา) จะเห็นรูป-นาม แสดงลักษณะของความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา ออกมา...(สัมมสนญาณ)
- (จิต + ปัญญา กล่าวโดยปุคคลาธิษฐานได้แก่พระโยคาวจรบุคคล) จะเพ่งลักษณะอาการทั้ง ๓ ของรูป-นามนั้น และอาการที่ปรากฏชัดเจนของความไม่เที่ยงก็คือ "ความเกิดขึ้นและความดับไป" (อุทยัพพยญาณ)
- แต่อารการที่รูป-นามนั้น ไม่เที่ยง,เป็นทุกข์,เป็นอนัตตา ปรากฏชัดเจนที่สุดตรงความดับไปจุดเดียว (ภังคญาณ) (จิต + ปัญญา) จึงเพ่งไปที่จุดดับ (ภังคะ) ของรูป-นามนั้นอย่างเดียว....
- เมื่อเห็นเฉพาะจุดที่รูป-นามดับไปอย่างเดียว, ปัญญาเห็นภัยในรูป-นามก็เกิด (ภยญาณ), พร้อมกับการเห็นโทษ, ความน่าเบื่อหน่าย, และใคร่จะหลุดพ้นไปจากรูป-นาม (อาทีนวญาณ, นิพพิทาญาณ, มุญจิตุกัมยตาญาณ) ก็เกิดเป็นลำดับติดต่อกันไป...
- ในช่วงตั้งแต่ สัมมสนญาณ เป็นต้นไป...ญาณ หรือปัญญา ที่เกิดในขณะนั้น เพ่งลักษณะของรูปนามเป็นหลัก (เรียกว่ามีไตรลักษณ์เป็นอารมณ์)
อนึ่ง ลักษณะทั้ง ๓ ได้แก่ อนิจจลักษณะ,ทุกขลักษณะ,อนัตตลักษณะ นั้น ไม่ใช่เป็นอันเดียวกันกับรูป-นาม แต่เป็นอาการที่ปรากฏอยู่กับรูป-นาม, อุปมาเหมือนกับบุคคลไปซื้อผ้า เห็นผ้าผืนหนึ่งสวย ถูกใจ จึงหยิบขึ้นมาดู พลิกดู คลี่ผ้าออกดู ปรากฏว่าเห็นรูเล็ก ๆ ๓ รู (เล็กใหญ่ไม่เท่ากัน) ปรากฏที่ผ้า ซึ่งเกิดจากสะเก็ดไฟตกใส่ ความพอใจที่จะซื้อผ้านั้นก็หายไป....เพราะเห็นผ้านั้นเป็นรูเพราะถูกไฟไหม้เป็นรูนั้น...
- รู (ร่องรอยที่ถูกไฟไหม้) ที่ปรากฏที่ผ้า ไม่ใช่ผ้า
- อนึ่ง ผ้า ก็ไม่ใช่รู
แต่เพราะรูนั้น ปรากฏที่ผ้า จึงทำให้บุคคลคลายความพอใจในผ้า ... ฉันใด (เพ่งที่รู แต่คลายความพอใจในผ้า)
- พระโยคีบุคคล พิจารณาเห็นรูป-นาม มีข้อบกพร่อง ๓ จุด (ดุจคนเห็นรูปที่ผ้า ๓ รู) คือมีลักษณะอนิจจัง ๑, ทุกขัง ๑, อนัตตา ๑ อย่างใดอย่างหนึ่งชัดเจน ไม่เท่ากัน ที่ปรากฏอยู่ที่รูป-นาม จึงคลายความพอใจในรูป-นาม ฉันนั้น ฯ
- อนิจจลักษณะ - ลักษณะที่ไม่เที่ยง, ทุกขลักษณะ - ลักษณะที่เป็นทุกข์, อนัตตลักษณะ - ลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่รูป-นาม
- ในขณะเดียวกัน รูป-นาม ก็ไม่ใช่ ลักษณะทั้ง ๓ นั้น แต่ลักษณะทั้ง ๓ นั้นไปปรากฏอยู่กับรูป-นาม จึงเป็นเหตุให้โยคีบุคคล คลายความพอใจในรูปนาม เพราะเห็นลักษณะทั้ง ๓ นั้น ดุจบุคคล คลายความพอใจในผ้า เพราะเห็นผ้านั้นเป็นรู ฉะนั้น ฯ
*** สรูปว่า
- อารมณ์ของวิปัสสนา ตอนต้น เป็นรูป-นาม (นามรูปปริจเฉทญาณ และ ปัจจยปริคคหญาณ)
- หลังจาก สัมมสนญาณเป็นต้นไป จนถึง อนุโลมญาณ (ญาณที่ ๑๒) อารมณ์ของวิปัสสนาญาณ เป็นไตรลักษณ์
- พอถึง โคตรภูญาณ อารมณ์ของโคตรภูจิตนั้น เป็น "นิพพาน" (โคตรภู ไม่นับในวิปัสสนาญาณ)
- มรรคญาณ,ผลญาณ มีนิพพาน เป็นอารมณ์
- ปัจจเวกขณญาณ มี รูป-นาม (มรรค-ผล-กิเลสที่ละแล้วและยังไม่ได้ละ), นิพพาน ...เป็นอารมณ์ตามสมควร
---------//นิติเมธี//---------
แสดงความคิดเห็น
ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ