ทองย้อย แสงสินชัย
#บาลีวันละคำ (3,872)
อนุฏฐานไสยา
นอนไม่ลุก ปลุกไม่ตื่น
อ่านว่า อะ-นุด-ถา-นะ-ไส-ยา
ประกอบด้วยคำว่า อนุฏฐาน + ไสยา
(๑) “อนุฏฐาน”
เขียนแบบบาลีเป็น “อนุฏฺฐาน” (มีจุดใต้ ฏฺ) อ่านว่า อะ-นุด-ถา-นะ รากศัพท์มาจาก น + อุฏฺฐาน
(ก) “น” (นะ) เป็นศัพท์จำพวกนิบาต แปลว่า ไม่, ไม่ใช่ (no, not)
(ข) “อุฏฺฐาน” อ่านว่า อุด-ถา-นะ รากศัพท์มาจาก อุ (คำอุปสรรค = ขึ้น, นอก) + ฐา (ธาตุ = ตั้งอยู่), ซ้อน ฏฺ ระหว่างอุปสรรคกับธาตุ (อุ + ฏฺ + ฐา) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)
: อุ + ฏฺ + ฐา = อุฏฺฐา + ยุ > อน = อุฏฺฐาน แปลตามศัพท์ว่า “การลุกขึ้น”
“อุฏฺฐาน” ในบาลี ใช้ในความหมายดังนี้ -
(1) การลุกขึ้น, การตั้งขึ้น, การตื่นขึ้น, การยืนขึ้น (rising, rise, getting up, standing) (เฉพาะความหมาย “การยืนขึ้น” ตรงข้ามกับ “สยน” และ “นิสีทน” การนอนลง และ การนั่งลง [lying or sitting down])
(2) การขึ้นสูง, มูลราก, เวลาหรือโอกาส (rise, origin, occasion or opportunity for)
(3) "ความอุตสาหะ", ความขยัน, ความเพียร, ความกระตือรือร้น, ความเอาใจจดจ่อ, ความแข็งขัน, ความพยายาม ("rousing", exertion, energy, zeal, activity, manly vigour, industry)
น + อุฏฺฐาน แปลง น เป็น อน ตามกฎการประสมของ น + กล่าวคือ :
(1) ถ้าคำหลังขึ้นต้นด้วยพยัญชนะ แปลง น เป็น อ-
(2) ถ้าคำหลังขึ้นต้นด้วยสระ (อ อา อิ อี อุ อู เอ โอ) แปลง น เป็น อน-
ในที่นี้ “อุฏฺฐาน” ขึ้นต้นด้วยสระ คือ อุ- จึงต้องแปลง น เป็น อน
น > อน + อุฏฺฐาน = อนุฏฺฐาน (อะ-นุด-ถา-นะ) แปลว่า “การไม่ลุกขึ้น”
(๒) “ไสยา”
บาลีเป็น “เสยฺยา” อ่านว่า เสย-ยา รากศัพท์มาจาก สิ (ธาตุ = นอน) + ย ปัจจัย, แผลง อิ ที่ สิ เป็น เอ (สิ > เส) ซ้อน ยฺ + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: สิ > เส + ยฺ + ย = เสยฺย + อา = เสยฺยา แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่นอน”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “เสยฺยา” ว่า a bed, couch (เตียง, เก้าอี้นอน)
บาลี “เสยฺยา” สันสกฤตเป็น “ศยฺยา”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า -
“ศยฺยา : (คำนาม) ‘ศัยยา,’ ที่นอน; การร้อย; a bed or couch; stringing.”
“เสยฺยา” ในภาษาไทยใช้เป็น “ไสยา” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า -
“ไสยา : (คำนาม) การนอน, ที่นอน. (ป. เสยฺยา; ส. ศยฺยา).”
อนุฏฺฐาน + เสยฺยา = อนุฏฺฐานเสยฺยา (อะ-นุด-ถา-นะ-เสย-ยา) แปลว่า “การนอนที่ไม่มีการลุกขึ้น”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อนุฏฺฐานเสยฺยา” ว่า a bed from which one cannot get up.
“อนุฏฺฐานเสยฺยา” ใช้ในภาษาไทยเป็น “อนุฏฐานไสยา” คำนี้ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกความหมายไว้ว่า -
..............
อนุฏฐานไสยา : “การนอนที่ไม่มีการลุกขึ้น”, การนอนครั้งสุดท้าย โดยทั่วไปหมายถึง การบรรทมครั้งสุดท้ายของพระพุทธเจ้า ในคราวเสด็จดับขันธปรินิพพาน.
..............
ขยายความ :
ในคัมภีร์บาลีบอกไว้ว่า “ไสยา” มี 4 อย่าง คือ -
(1) กามโภคิไสยา (กา-มะ-โพ-คิ-ไส-ยา) = นอนอย่างผู้บริโภคกาม คือนอนตะแคงซ้าย
(2) เปตไสยา (เป-ตะ-ไส-ยา) = นอนอย่างเปรต คือนอนหงาย
(3) สีหไสยา (สี-หะ-ไส-ยา) = นอนอย่างราชสีห์ คือนอนตะแคงขวา
(4) ตถาคตไสยา (ตะถา-คะ-ตะ-ไส-ยา) = นอนอย่างพระตถาคต คือนอนตะแคงขวา ซ้อนเท้าเหลื่อมเท้า ดำรงสติสัมปชัญญะ กำหนดเวลาที่จะลุกขึ้น
ที่มา: สุมังคลวิลาสินี ภาค 2 หน้า 292 (อรรถกถามหาปรินิพพานสูตร)
..............
ดูก่อนภราดา!
: ไม่ว่าจะนอนแบบไหน
: ถ้ายังลุกขึ้นได้ ก็ถือว่าโชคยังดี
[full-post]
แสดงความคิดเห็น
ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ