การไม่กินเนื้อสัตว์กับวิธีให้เหตุผล

--------------------------------

เรื่องที่จะเขียนต่อไปนี้เกี่ยวกับค่านิยมหรือหลักปฏิบัติของคนไม่กินเนื้อสัตว์ จะเรียกว่ามังสวิรัติ กินเจ หรือจะเรียกอย่างไร ก็แล้วแต่จะเรียก แต่หมายถึงคนไม่กินอาหารที่เป็นเนื้อสัตว์

ขอบอกไว้เลยนะครับว่า เรื่องนี้ไม่ใช่จะมาวิจารณ์ว่าไม่กินเนื้อสัตว์ดีหรือไม่ดี กินเนื้อสัตว์ดีหรือไม่ดี พูดกันตรงๆ ไม่มีปัญหากับคนกินเนื้อสัตว์หรือไม่กินเนื้อสัตว์ 

ใครกินเนื้อสัตว์ก็กินต่อไป ตามสบาย ไม่ได้ไปตำหนิติเตียน

ใครไม่กินเนื้อสัตว์ก็ไม่กินต่อไป ตามสบาย ไม่ได้ไปกระแหนะกระแหน

จะขอชวนให้พิจารณาเฉพาะ “เหตุผลที่อ้าง” ในการชื่นชมการไม่กินเนื้อสัตว์ และในการตำหนิติเตียนการกินเนื้อสัตว์เท่านั้น

ที่ยกเรื่องนี้ขึ้นมาชวนคิดก็เพราะผมรู้สึกว่า เหตุผลบางข้อฟังดูทะแม่งๆ

.....................................................

“ทะแม่งๆ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ บอกความหมายว่า “มีลักษณะลับลมคมในหรือมีอะไรเคลือบแฝงอยู่ทําให้น่าสงสัย”

.....................................................

เช่น การไม่กินเนื้อสัตว์แสดงถึงมีเมตตา

ในทางตรงกันข้าม การกินเนื้อสัตว์ ก็ถูกมองว่า ขาดเมตตา มองว่าเป็นยักษ์เป็นมารไปโน่นเลยก็มี

การไม่กินเนื้อสัตว์เป็นการช่วยให้สัตว์ไม่ตาย เคยเห็นคำยกย่องว่า “หนึ่งชีวิตไม่กิน หมื่นชีวิตรอด” - แบบนี้ก็มี 

คำว่า “เมตตา” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ บอกความหมายว่า “ความรักและเอ็นดู, ความปรารถนาจะให้ผู้อื่นได้สุข, เป็นข้อ ๑ ในพรหมวิหาร ๔ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา”

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกไว้ว่า “เมตตา” คือ ความรัก, ความปรารถนาให้เขามีความสุข, แผ่ไมตรีจิตคิดจะให้สัตว์ทั้งปวงเป็นสุขทั่วหน้า”

จะเห็นได้ว่า “เมตตา” คือการตั้งอารมณ์ให้สรรพชีวิตเป็นสุขทั่วหน้า เมตตาเป็นงานทางใจ และที่สำคัญ เงื่อนไขของเมตตาไม่ได้อยู่ที่-ต้องไม่กินเนื้อสัตว์จึงจะมีเมตตาได้ หรือคนที่กินเนื้อสัตว์มีเมตตาไม่ได้

เพราะเอาเมตตาไปผูกเข้ากับการไม่กินเนื้อสัตว์ คนไม่กินเนื้อสัตว์ก็เลยเข้าใจว่า แค่ไม่กินเนื้อสัตว์ก็เท่ากับมีเมตตาแล้ว โดยไม่คำนึงว่าได้ตั้งอารมณ์ให้สรรพสัตว์เป็นสุขทั่วหน้า-ตามความหมายของเมตตา-ด้วยหรือเปล่า 

ความหมายของเมตตาก็เลยคลาดเคลื่อน

คำว่า “เมตตา” มีความหมายอย่างเดียวกับมิตร ไมตรี ดังนั้น ในทางปฏิบัติ เมตตาก็คือการมองสรรพชีวิตด้วยความรู้สึกว่า “นี่คือเพื่อนรักของเรา” 

มองกันแค่นี้ คนส่วนมากก็ทำไม่ได้แล้ว ทำได้ก็ยากมาก เหตุผลก็คือ-คนส่วนมากเป็นคนที่เราไม่รู้จัก ก็เมื่อเราไม่รู้จัก จะไปคิดว่าเขาเป็นเพื่อนรักของเราได้อย่างไร ใช่หรือไม่ 

แม้ในจำนวนคนที่เรารู้จักนั่นเอง ต้องเป็นคนที่เรารัก เราจึงจะคิดว่า “นี่คือเพื่อนรักของเรา” คนที่เรารู้สึกเฉยๆ ไม่รัก หรือบางคนเราเกลียดด้วยซ้ำ คนแบบนี้เราก็คิดไม่ได้ว่า “นี่คือเพื่อนรักของเรา” ใช่หรือไม่

จะเห็นได้ว่า เนื้อตัวแท้ๆ ของเมตตาอยู่ที่-ตั้งอารมณ์มองสรรพชีวิตด้วยความรู้สึกว่า “นี่คือเพื่อนรักของเรา” ทำอารมณ์แบบนี้ได้จริงจนเป็นพื้นอารมณ์ เป็นพื้นของจิตใจ เป็นนิสัยหรือถึงกับเป็นสันดานคือฝังรากลึกลงไปในชีวิตจิตใจ นี่คือมีเมตตา 

ไม่ได้เกี่ยวกับใครกินอะไรหรือไม่กินอะไรแต่ประการใดเลย ใช่หรือไม่

..................

คราวนี้มามองในแง่-ช่วยให้รอดชีวิต ตามคำแสดงอานิสงส์ที่ว่า “หนึ่งชีวิตไม่กิน หมื่นชีวิตรอด”

การที่สัตว์จะรอดชีวิต-ถ้าไม่ตายตามอายุขัย-ก็คือ การไม่ถูกทำให้ตาย จะทำให้ด้วยสาเหตุใดๆ ก็ตาม ถ้าสัตว์ไม่ถูกทำให้ตาย สัตว์ก็รอดชีวิต

แต่ที่กำลังเพ่งเล็งในกรณีกินหรือไม่กินเนื้อสัตว์ ก็คือตายด้วยการถูกฆ่า พูดสั้นๆ ตรงๆ - หมื่นชีวิตจะรอด เหตุผลตรงที่สุดก็คือ-เพราะไม่ถูกฆ่า ไม่ใช่เพราะคนไม่กินเนื้อสัตว์

เหตุผลที่เห็นได้ง่ายๆ-แต่มักจะถูกมองข้าม-ก็คือ สัตว์ไม่ได้ถูกฆ่าเพราะจะเอามากินอย่างเดียว แต่ถูกฆ่าเพราะวัตถุประสงค์อื่นๆ อีกสารพัด จะว่าไปแล้ว ถูกฆ่าเพราะเรื่องกินน้อยกว่าถูกฆ่าเพราะเรื่องอื่น 

....................................................

เมื่อมองข้อเท็จจริงที่ว่า สัตว์ไม่ได้ถูกฆ่าเพื่อกินอย่างเดียว แต่ถูกฆ่าอีกสารพัดเหตุ ก็จะไม่ต้องมาตั้งข้อสงสัยหรือข้อตำหนิว่า ห้ามฆ่า แต่ทำไมไม่ห้ามกิน 

หรือตั้งประเด็นว่า การไม่ห้ามกินเนื้อสัตว์ย่อมขัดแย้งกับการห้ามฆ่าสัตว์

หรือสรุปเอาเองว่า เพราะมีคำสอนห้ามฆ่า พระพุทธศาสนาที่ถูกต้องจึงต้องห้ามกินเนื้อสัตว์ด้วย

ถ้าอ้างเหตุผลเช่นนั้น ก็จะไม่ใช่เฉพาะเรื่องกินเนื้อสัตว์อย่างเดียวที่ต้องห้าม แต่จะต้องห้ามเรื่องอื่นๆ อีกมากมาย 

ผ้าไหม 

ผ้าขนสัตว์ 

พรมขนสัตว์ 

ของใช้ที่ทำด้วยหนังสัตว์ 

ยาและเวชภัณฑ์ที่ใช้ผลิตภัณฑ์จากสัตว์เป็นส่วนผสม

ฯลฯ

ปัจจัยสี่รอบตัวมนุษย์มีอะไรอีก ลองช่วยกันทำบัญชีรายการดูเถิด

สิ่งเหล่านี้ พระพุทธศาสนาจะต้องห้ามใช้ทั้งหมด จึงจะถูกต้อง ใช่หรือไม่

....................................................

อย่างไรก็ตาม ไม่ถูกฆ่าเพราะเรื่องกิน ก็ยังต้องนับว่าดี ไม่ใช่ไม่ดี แต่เมื่อยกเอา “หมื่นชีวิตรอด” ขึ้นมาเป็นเหตุผล วิธีที่ตรงที่สุดก็คือ “ไม่ฆ่า” ไม่ใช่ “ไม่กิน” 

ไม่ฆ่า รอดแน่ 

ไม่กิน ไม่แน่ว่าจะรอด 

เพราะถึงจะไม่ตายเพราะถูกฆ่ากิน ก็อาจจะต้องถูกฆ่าเพราะเหตุอื่นๆ อีกสารพัด

ไม่กิน รอดได้หยิบมือเดียว เฉพาะส่วนที่จะถูกฆ่าเอามากิน

ไม่ฆ่า รอดได้ทั้งหมด

เพราะฉะนั้น ถ้าปรารถนาจะให้หมื่นชีวิตรอด ต้องพุ่งเป้าไปที่-ไม่ฆ่า ช่วยกันรณรงค์ไม่ให้มีการฆ่า ไม่ว่าจะฆ่าเพื่อ-หรือเพราะ-เหตุใดๆ ทั้งสิ้น ทำได้อย่างนี้ ไม่ใช่แค่หมื่นชีวิตรอด และไม่ใช่รอดเฉพาะชีวิตที่เอามากินได้ แม้ชีวิตที่กินไม่ได้ก็รอด คือสรรพชีวิตรอดได้ทั้งหมด

..................

และถ้าตามไปดูการฆ่าเพื่อเอามากิน จะเห็นว่าปัจจุบันนี้เป้าใหญ่ที่สุดก็คือมีการเลี้ยงเพื่อฆ่า ทำกันอย่างเป็นอุตสาหกรรม 

อาจกล่าวได้ว่า เนื้อสัตว์ส่วนมากที่สุดที่เรากินกันในชีวิตประจำวันมาจากสัตว์ที่เลี้ยงเพื่อฆ่า

เพราะฉะนั้น ถ้าจะตัดรากถอนโคนกันจริงๆ จะต้องห้ามเลี้ยงด้วย เพราะมีการเลี้ยงจึงมีการฆ่า-สูตรเดียวกับที่ชอบอ้างกันว่า เพราะมีคนกินจึงมีคนฆ่า

ห้ามเลี้ยง-กลายเป็นเรื่องใหญ่ระดับโลกทันที ใครล่ะจะห้ามได้?

..................

เพราะฉะนั้น ขอสรุปว่า 

(๑) ถ้ามุ่งจะให้มีเมตตา จงฝึกฝนตั้งอารมณ์มองสรรพชีวิตด้วยความรู้สึกว่า “นี่คือเพื่อนรักของเรา” จนเป็นความรู้สึกจริงใจ ไม่ใช่เพียงท่อง-สัพเพ สัตตา ...

ไม่เกี่ยวกับ-ต้องไม่กินอะไรหรือต้องกินอะไร

(๒) ถ้ามุ่งจะให้สรรพชีวิตรอด จงช่วยกันเรียกร้องรณรงค์ให้เลิกฆ่า ไม่ว่าจะฆ่าเพื่ออะไร - ไม่ใช่เพ่งอยู่แต่เรื่องฆ่าเพื่อกิน 

ใครจะกินอะไรหรือไม่กินอะไร ก็ยังคงกินได้ตามอัธยาศัย

ย้ำนะครับ - เขียนเพื่อชวนให้คิดเท่านั้น

กรุณาอย่ามาทะเลาะกับผม

------------------------------------

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๑๓ มกราคม ๒๕๖๖

๑๗:๓๐

[full-post]

มังสวิรัติ,เมตตา

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.