โยนิโสมนสิการกธรรม ของพระพุทธองค์ -
(ข้อความจาก ธัมมปทัฏฐกถา ภาคที่ ๕ "โพธิกถา")
โส หิ โพธิรุกฺขมูเล นิสินฺโน, จริงอยู่ (พระโพธิสัตว์) นั้น ทรงประทับนั่ง ณ โคนต้นโพธิ
สุริเย อนตฺถงฺคเตเยว, เมื่อพระอาทิตย์ยังไม่ตกดิน (ยังไม่ถึงซึ่งการตั้งอยู่ไม่ได้)
มารพลํ วิธมิตฺวา - ทรงกำจัดมารและเสนามาร (กำจัดนิวรณ์ธรรม แล้วทรงบรรลุรูปฌาน, อรูปฌาน)
ปฐมยาเม ปุพฺเพนิวาสปฏิจฺฉาทกํ ตมํ ปทาเลตฺวา - ในปฐมยาม ทรงทำลายความมืดที่ปกปิดญาณ อันเป็นเครื่องรู้ขันธ์,อายตนะ,ธาตุ...ที่ในอดีต (ทรงบรรลุปุพเพนิวาสานุสสติญาณ คือทรงทำอภิญญาให้เกิดขึ้น (กุศลอภิญญา) แล้วน้อมไปเพื่อรู้ ขันธ์,อายตนะ,ธาตุ...ที่ในอดีตชาติต่าง ๆ มากมาย...)
มชฺฌิมยาเม ทิพฺพจกฺขุํ วิโสเธตฺวา - ในมัชฌิมยาม ทรงยังทิพพจักขุให้หมดจดแล้ว (คือทรงบรรลุทิพพจักขุอภิญญา หรือ จุตูปปาตญาณ, ญาณที่รู้การจุติและอุบัติของสัตว์ทั้งหลาย พร้อมกับทราบถึงกรรมที่ก่อให้เกิดวิบาก (ปฏิสนธิ,ปวัตติ) ของสัตว์ทั้งหลาย บางทีเรียกว่า "กัมมูปคญาณ" ฯ
ปจฺฉิมยาเม สตฺเตสุ การุญฺญตํ ปฏิจฺจ - ในปัจฉิมยาม ทรงอาศัยความกรุณาในสัตว์ทั้งหลาย
ปจฺจยากาเร ญาณํ โอตาเรตฺวา - จึงทรงยังพระญาณให้หยั่งลงในปัจจยาการ
ตํ (ปจฺจยาการํ) อนุโลมปฏิโลมวเสน สมฺมสนฺโต - ทรงใคร่ครวญพิจารณาปัจจยาการนั้น ทั้งอนุโลมและปฏิโลม...
อรุณุคฺคมนเวลาย สห อจฺฉริเยหิ สมฺมาสมฺโพธึ อภิสมฺพุชฺฌิ. - ทรงบรรลุสัมมาสัมโพธิญาณ พร้อมกับความมหัศจรรย์ทั้งหลาย (พร้อมด้วยพระญาณทั้งหลายมีเวสารัชชญาณเป็นต้น) ในเวลาที่เป็นที่ขึ้นไปแห่งอรุณ ฯ (คือทรงบรรลุ อาสวักขยญาณ)
จากนั้น ทรงเปล่งอุทาน "อเนกชาติ สํสารํ ...... ตณฺหานํ ขยมชฺฌคา ฯ
ข้อสังเกต : -
- ปฏิจจสมุปบาท เบื้องปลาย คือ ชรามรณะ, โสกะ,ปริเทวะ,ทุกข์ (พยาธิทุกข์ ทุกข์กาย), โทมนัส,อุปายาส - ปรากฏแก่พระองค์ ครั้งทรงเสด็จเลียบพระนครประพาสอุทยาน ทรงเห็น คนแก่ เจ็บ ตาย... หลังจากนั้น ขณะเสด็จเข้าพระราชฐาน มหาดเล็กมาทูลว่า พระนางยโสธราพิมพาทรงประสูติการพระโอรส ... พระองค์ทรงประมวลเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ทรงเห็นในขณะเสด็จเลียบพระนคร ประพาสอุทยาน ... เข้ามาหาการประสูติของราหุลกุมารว่า "ชรา-มรณะ, โสกะ...." นั้น...ไหลมาแต่ชาติ คือการเกิดนั่นเอง... ทรงดำริในขณะนั้นว่า แล้วอะไร? เป็นสาเหตุของชาติ คือความเกิด...เมื่อดำริไม่ออก จึงตัดสินพระทัยออกผนวช....ฯ ทรงตามหาธรรมที่เป็นเหตุของความเกิด....
- จากนั้น ในคราวก่อนการทรงบรรลุ ทรงน้อมอภิญญาจิตไปในอดีต...ด้วยอำนาจปุพเพนิวาสาสนุสติญาณ ...และพิจารณาการจุติ-อุบัติของสัตว์ทั้งหลาย ด้วยจุตูปปาตญาณ เป็นเหตุให้พระองค์เข้าใจแจ่มแจ้งว่า อะไรเป็นสาเหตุของความเกิด (ชาติ) หมดความสงสัยในสาเหตุของชาติ ว่า "สาเหตุของชาติ ก็คือ มูล ๒ อย่าง คือ อวิชชา ตัณหา นี่เอง"
- พอใกล้อรุณจะขึ้น พระองค์ก็บรรลุอาสวักขยญาณ ญาณเป็นเครื่องทำอาสวะ องค์ธรรม ๓ คือ โมหะ โลภะ ทิฏฐิ ให้สิ้นไป...
- และ อาสวะองค์ธรรม ๓ (โมหะ,โลภะ,ทิฏฐิ) นี้เอง พระองค์ตรัสว่าเป็น "กิเลสวัฏฏ์" (ตีณิ วฏฺฏานิ) ในปฏิจจสมุปบาท, และในปฏิจจสมุปบาท ว่าโดยมูล มี ๒ คือ โมหมูล และ โลภมูล
เหตุการณ์ช่วงก่อนและการตรัสรู้...
- ก่อนตรัสรู้ : พระองค์ทรงทำรูปฌาน อรูปฌานให้เกิดขึ้น (ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะพระองค์เคยกระทำได้มาก่อนแล้ว สมัยอยู่กับอาฬารดาบสและอุทกดาบส)
- ทำอภิญญา ๓ ให้เกิดขึ้น คือ ปุพเพนิวาสาสนุสสติญาณ, และและทิพพจักขุญาณ หรือ จุตูปปาตญาณ ซึ่งเป็นโลกียอภิญญา แล้วทรงบรรลุโลกุตตรอภิญญา คืออาสวักขยญาณในตอนท้ายของปัจฉิมยาม พระองค์จึงได้ชื่อว่า "อุภโตภาควิมุตติ" (หลุดพ้นทั้งส่วนรูปกาย,และนามกาย)
อนึ่ง (ปฏิจจสมุปบาท ก็เป็น ๑ ใน ๖ ของอารมณ์หรือภูมิธรรมอันหนึ่งของวิปัสสนา)
- ในยาม ที่ ๑, และ ยามที่ ๒, ตลอดจนถึงเบื้องต้นของยามที่ ๓ พระองค์ได้บรรลุวิชชา ๔ คือ
- ปุพฺพนฺเต ญาณํ ทรงรู้ขันธ์ อายตนะ ธาตุ ซึ่งเคยมีในอดีต...
- อปรนฺเต ญาณํ ทรงรู้ขันธ์ อายตนะ ธาตุ ซึ่งเคยมีในอนาคต...
- ปุพฺพนฺตาปรนฺเต ญาณํ ทรงรู้ขันธ์ อายตนะ ธาตุ ซึ่งเคยมีทั้งในอดีตและอนาคต
- ปฏิจฺจสมุปฺปาเทสุ ธมฺเมสุ ญาณํ ทรงรู้ธรรมอันเป็นปัจจัยและอาศัยปัจจัยเกิดขึ้นในเชิงของปฏิจจสมุปบาท
- ในตอนท้ายของยามที่ ๓ (ปัจฉิมยาม) พระองค์ทรงบรรลุอาสวักขยญาณ (ญาณเป็นเครื่องทำอาสวะให้หมดไป) เป็นญาณที่รู้และทำกิจในอริยสัจจ์ ๔ (ปริญญา,ปหาน,สัจฉิกรณ,ภาวนา) หมุนเวียนไปด้วย ญาณ ๓ คือ สัจจญาณ, กิจจญาณ, กตญาณ เป็นอันว่าพระองค์ได้ทรงบรรลุวิชชา ๘ (ตรงกันข้ามกับอวิชชา ๘ ในปฏิจจสมุปบาท)
จะเห็นได้ว่า กระบวนของเกิดของธรรม...เริ่มแต่ กามาวจรกุศล...ที่ปรารภครั้งแรก โดยเริ่มตั้งความเป็นพระโพธิสัตว์มีความคิดทางใจก่อน ว่า -
- ติณฺโณ ตาเรยฺยํ - เราข้ามพ้นแล้ว พึงยังผู้อื่นให้ข้ามพ้นด้วย
- มุตฺโต โมเจยฺยํ - เราหลุดพ้นแล้ว พึงยังผู้อื่นให้หลุดพ้นด้วย
- พุทฺโธ โพเธยฺยํ : เราตรัสรู้แล้ว พึงยังผู้อื่นให้ตรัสรู้ตามด้วย
พระดำริตรงนี้ เกิดด้วยอำนาจของกุศลจิต อันมีพื้นฐานมาจากความกรุณาต่อสรรพสัตว์ทั้งหลาย ดังนั้นในพระบาลีในธรรมบท จึงมีคำว่า "สตฺเตสุ การุญฺญตํ ปฏิจฺจ" (อาศัยพระกรุณาในสัตว์ทั้งหลาย)
- หลังจากนั้น กระบวนการสร้างบารมี เพื่อเสริมความแข็งแกร่งแห่งจิตใจ และเก็บเกี่ยวประสบการณ์ต่าง ๆ อันจะเป็นปัจจัยแห่งการบรรลุสัมมาสัมโพธิญาณ ก็ต่อยอดเรื่อยมา จากที่ทรงดำริอยู่ในใจ ๗ อสงไขย, ก็เปล่งพระวาจาอีก ๙ อสงไขย, และเมื่อได้รับพุทธพยากรณ์ เป็นนิยตโพธิสัตว์ ก็ทรงบำเพ็ญบารมีอีก ๔ อสงไขยแสนกัป รวมเบ็ดเสร็จ ๒๐ อสงไขย (ปัญญาธิกโพธิสัตว์)
อนึ่ง ความคิดนึกในพระทัย ๓ อย่าง มี "มุตฺโต โมเจยฺยํ" เป็นต้นนั้นแล เกิดด้วยกุศลจิต เพราะฉะนั้น กุศลจิตนั้น ท่านจึงเรียกว่า "มหา" (มหากุศลจิต) เพราะเป็นจิตที่น่าบูชา (มหฺ ธาตุ เป็นไปในความบูชา) เหตุเพราะทำให้เกิดพระโพธิสัตว์และกลายมาเป็นพระพุทธเจ้าในที่สุด ฯ
จุดเริ่มต้นจากามาวจรกุศลนั่นแล...เป็นปัจจัยแก่ รูปาวจรกุศล ...อรูปาวจรกุศล...และมรรคกุศลเป็นที่สุด
ธรรมอันเป็นโยนิโสมนสิการกธรรม ของพระพุทธองค์ ... เป็นไปดังนี้แล.
-----------------
นิติเมธี
แสดงความคิดเห็น
ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ