น. ๑๐๗๔  คัมภีร์วิสุทธิมรรค


๕. ภังคานุปัสสนาญาณ

       [๗๔๑]  เมื่อโยคาวจรนั้นกำหนดรู้อยู่อย่างนี้แล้วชั่งใจ ไตร่ตรองรูปธรรมและอรูปธรรม (รูป และนาม) ทั้งหลายว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อยู่แล้วๆ เล่าๆ ญาณนั้นก็ดำเนินไปแก่กล้า สังขารทั้งหลายก็ปรากฏรวดเร็ว เมื่อญาณดำเนินไปแก่กล้า เมื่อสังขารทั้งหลายปรากฏรวดเร็ว ญาณก็ตามไม่ทันความเกิดขึ้น หรือความตั้งอยู่หรือความเป็นไป หรือนิมิต (ของสังขารทั้งหลาย) สติ (ที่เป็นปัจจัยแก่ญาณ) ก็ตั้งมั่นอยู่ในนิโรธคือความสิ้นไป ความเสื่อมไป และความแตกทำลายไปแต่อย่างเดียว


พระบาลีอธิบายความภังคานุปัสสนาญาณ

       เมื่อโยคาวจรนั้นเห็นอยู่ว่า "สังขารเกิดขึ้นอย่างนี้ แล้วดับไปอย่างนี้ เป็นธรรมดา" ดังนี้ วิปัสสนาญาณชื่อว่า "ภังคานุปัสสนา" ก็เกิดขึ้น ณ ที่ตรงนี้ ซึ่งท่านกล่าวระบุถึงไว้ (ในพระบาลีปฏิสัมภิทามรรค) แปลความว่า "ถามว่า ปัญญาในการกำหนดรู้อารมณ์ แล้วเห็นเนืองๆ ซึ่งความดับ ชื่อว่า วิปัสสนาญาณ เป็นอย่างไร"

       "จิตมีรูปเป็นอารมณ์เกิดขึ้นแล้วดับไป โยคีกำหนดรู้อารมณ์นั้นแล้วเห็นอยู่เนืองๆ ซึ่งความดับของจิตนั้น ที่ว่า "เห็นเนือง ๆ" คือ เห็นเนืองๆ อย่างไร คือ เห็นเนืองๆ โดยความไม่เที่ยง มิใช่เห็นเนื่อง ๆ โดยความเป็นของเที่ยง เห็นเนืองๆ โดยความเป็นทุกข์มิใช่เห็นเนืองๆ โดยความเป็นสุข เห็นเนื่องๆ โดยความเป็นอนัตตา มิใช่เห็นเนืองๆ โดยความป็นอัตตา เบื่อหน่ายอยู่ มิใช่เพลิดเพลินยินดี ปราศจากความกำหนัด มิใช่กำหนัดอยู่ ดับไป มิใช่ให้เกิดขึ้น สลัดทิ้งไป มิใช่ยึดถือไว้ เมื่อเห็นเนืองๆ โดยความไม่เที่ยง ก็ละนิจจสัญญา (คือความสำคัญว่าเที่ยง) เสียได้ เมื่อเห็นเนื่องๆ โดยความเป็นทุกข์ ก็ละสุขสัญญา (คือ ความสำคัญว่าเป็นสุข) เสียได้ เมื่อเห็นเนืองๆ โดยเป็นอนัตตา ก็ละอัตตสัญญา (คือความสำคัญว่ามีอัตตา) เสียได้ เมื่อเบื่อหน่าย ก็ละความเพลิดเพลินยินดี เมื่อปราศจากความกำหนัด ก็ละความกำหนัด เมื่อดับ ก็ละสิ่งเป็นแดนเกิด เมื่อสลัดทิ้งไป ก็ละความยึดถือไว้

       "จิตมีเวทนาเป็นอารมณ์...

       "จิตมีสัญญาเป็นอารมณ์...

       "จิตมีสังขารเป็นอารมณ์ ...

----------------

ปริจเฉทที่ ๒๑ ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธินิเทศ  น. ๑๐๗๕


       "จิตมีวิญญาณเป็นอารมณ์...

       "จิตมีจักษุเป็นอารมณ์ ...

       ฯลฯ

       "จิตมีชราและมรณะเป็นอารมณ์เกิดขึ้นแล้วดับไป ... ฯลฯ ...เมื่อโยคีสลัดทิ้งไปก็ละความยึดถือไว้"

       การย้ายไปสู่วัตถุที่ตั้ง การคงที่อยู่ในปัญญาและมีกำลังเข้มแข็งในการนึกคิด ชื่อว่า ปฏิสังขาวิปัสสนา (ความเห็นแจ้งด้วยการกำหนดรู้) การกำหนดรู้อารมณ์ทั้ง ๒ โดยสภาวะอันเดียวกันโดยดำเนินไปตามอารมณ์นั่นแล  คือความน้อมจิตไปในนิโรธชื่อว่า วยลักขณวิปัสสนา (คือความเห็นแจ้งลักษณะของความดับ)

       ภิกษุกำหนดรู้อารมณ์ ๑ และเห็นเนืองๆ ซึ่งความดับ ๑ ความปรากฏโดยความว่างเปล่า ๑ ชื่อว่าอธิปัญญาวิปัสสนา (คือความเห็นแจ้งด้วยปัญญารู้ยิ่ง) ภิกษุผู้ฉลาดในอนุปัสสนา ๓ และในวิปัสสนา ๔ ไม่หวั่นไหวในทิฏฐิต่างๆ เพราะความเป็นผู้ฉลาดในอุปัฏฐาน ๓(1)

       "การกำหนดรู้ ชื่อว่า ญาณ โดยความหมายว่า รู้แล้ว ชื่อว่า ปัญญา โดยความหมายว่า รู้ทั่ว เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ปัญญาในการกำหนดรู้อารมณ์แล้วเห็นอยู่เนื่องๆ ซึ่งความดับ ชื่อว่า วิปัสสนาญาณ"(2)


อธิบายความในพระบาลีปฏิสัมภิทามรรค

       [๗๔๒ ในพระบาลีนั้น คำว่า "กำหนดรู้อารมณ์" ความว่า กำหนดแล้วรู้อารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง หมายความว่า เห็นอารมณ์ไร ๆ โดยความสิ้นไป โดยความเสื่อมไป

       คำว่า "ปัญญาในการ เห็นเนืองๆ ซึ่งความดับ" ความว่า ปัญญาใดในการเห็นอยู่เนือง ๆ ซึ่งความดับของญาณที่เกิดขึ้น กำหนดรู้อารมณ์โดยความสิ้นไป โดยความเสื่อมไปนั้น นี้ท่านกล่าวว่า ญาณในวิปัสสนา คำถามด้วยมุ่งหมายเพื่อจะกล่าวตอบ (กเถตุกัมยตาปุจฉา ว่า วิปัสสนาญาณนั้นเป็นอย่างไร มีเนื้อความดัง (กล่าวมา)นี้ก่อน

--------------

(1) อนุปัสสนา ๓ วิปัสสนา ๔ อุปัฏฐาน ๓ ดูอธิบายช้างหน้า

(2) ดูเทียบ ขุ. ป. (ไทย) ๓๑/๕๒/๘๓

--------------

น. ๑๐๗๖ คัมภีร์วิสุทธิมรรค


       จากนั้น เพื่อแสดงอาการที่ญาณนั้นเป็นไป ท่านจึงกล่าวคำพระบาลีว่า "รูปารมฺมณตา - มีรูปเป็นอารมณ์" ดังนี้เป็นต้น ในพระบาลีนั้น คำว่า "จิตมีรูปเป็นอารมณ์เกิดขึ้นแล้วดับไป" หมายความว่า จิตมีรูปเป็นอารมณ์เกิดขึ้นแล้ว ก็แตกสลายไปอีกอย่างหนึ่งอธิบายว่าจิตเกิดขึ้นในความมีรูปเป็นอารมณ์แล้วแตกดับไป คำว่า "กำหนดรู้อารมณ์นั้น" หมายความว่า กำหนดรู้อารมณ์คือรูปนั้น อธิบายว่า เห็นอารมณ์คือรูปนั้นโดยความสิ้นไป โดยความเสื่อมไป คำว่า "เห็นอยู่เนืองๆ ซึ่งความดับของจิตนั้น" อธิบายว่า เห็นอารมณ์คือรูปนั้น โดยความสิ้นไป โดยความเสื่อมไป ด้วยจิตดวงใดแล้ว โยคาวจรเห็นเนือง ๆ ซึ่งความดับของจิตดวงนั้นด้วยจิตดวงอื่น เพราะฉะนั้นท่านพระโบราณาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวว่า "โยคาวจรเห็นแจ้งอยู่ซึ่งอารมณ์ที่รู้แล้วด้วยซึ่งญาณด้วย แม้ทั้ง ๒ อย่าง"


ความหมายของคำว่า "เห็นเนืองๆ"

       อนึ่ง คำว่า "อนุปสฺสติ - เห็นเนืองๆ" ในพระบาลีนี้ หมายความว่า ตามเห็นเนือง ๆ อธิบายว่า เห็นแล้วเห็นอีกโดยอาการหลายอย่าง เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า "ที่ว่าเห็นเนืองๆ คือ เห็นเนืองๆ อย่างไร ? คือเห็นเนืองๆ โดยความไม่เที่ยง" ดังนี้เป็นต้น ในอาการหลายอย่างนั้น เพราะเหตุที่ที่สุดของความไม่เที่ยง ชื่อว่าภังคะ (คือความดับ) ฉะนั้นโยคาวจรผู้เห็นเนืองๆ ซึ่งความดับ ผู้นั้นจึงเห็นอยู่เนืองๆ ในสังขารทั้งปวงโดยความไม่เที่ยง มิใช่เห็นเนือง ๆ โดยความเที่ยง แต่นั้น ก็เห็นอยู่เนือง ๆ ซึ่งสังขารทั้งปวงนั้นนั่นแล โดยความเป็นทุกข์ มิใช่เห็นเนืองๆ โดยความเป็นสุข เห็นเนือง ๆ โดยความเป็นอนัตตา มิใช่เห็นเนือง ๆ โดยความเป็นอัตตา เพราะความไม่เที่ยงเป็นทุกข์ และเพราะความเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อนึ่ง เพราะเหตุที่สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่พึงยินดีพอใจสิ่งนั้น และสิ่งใดที่ไม่พึงยินดีพอใจ ไม่พึงกำหนัดในสิ่งนั้น เพราะฉะนั้น โยคาวจรจึงเบื่อหน่าย ไม่เพลิดเพลินยินดี ปราศจากกำหนัด ไม่กำหนัดในสังขารที่ตนเองเห็นแล้วว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตานี้ โดยการรำลึกตามการเห็นเนือง ๆ ซึ่งความดับ เมื่อโยคาวจรนั้น ไม่กำหนัดอยู่อย่างนี้ ก็ทำความกำหนัด (ราคะ) ให้ดับไป มิให้เกิดขึ้น อธิบายว่า กระทำมิให้เกิดขึ้นด้วยญาณขั้นโลกีย์เท่านั้นก่อน

       อีกประการหนึ่ง โยคาวจรนั้นเป็นผู้ปราศจากกำหนัดอย่างนี้แล้ว ทำสังขารที่ตนเห็นแล้ว ให้ดับไป มิให้เกิดขึ้น ฉันใด ก็ทำสังขารแม้ที่มิได้เห็นให้ดับไป มิให้เกิดขึ้นด้วย-

-----------------

ปริจเฉทที่ ๒๑ ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธินิเทศ น. ๑๐๗๗


อำนาจญาณโดยลำดับ เหมือนกันฉันนั้น อธิบายว่า มนสิการโดยความดับอย่างเดียวคือว่าเห็นแต่ความดับอย่างเดียวของสังขารนั้น ไม่เห็นความเกิด เมื่อโยคาวจรผู้นั้น ปฏิบัติถึงอย่างนี้แล้ว ก็สลัดทิ้งไป ไม่ยึดถือไว้

       (ถามว่า) คำที่กล่าวมานั้น หมายความอย่างไร ?

       (ตอบว่า) อนุปัสสนา (คือความเห็นเนือง ๆ) มี อนิจจานุปัสสนา (คือความเห็นเนืองๆ โดยความไม่เที่ยง) เป็นต้น แม้นี้ ท่านเรียกไว้ (๒ อย่างคือ) ว่า "ปริจฺจาคปฏินิสฺสคฺโค การสลัดทิ้งไปด้วยการสละ" เพราะสละกิเลสทั้งหลายพร้อมทั้งขันธ์และอภิสังขารทั้งหลายด้วยตทังคปหาน (ละชั่วคราว) อย่าง ๑ เรียกว่า "ปกขนฺทนปฏินิสฺสคฺโค. - การสลัดทิ้งไปด้วยการแล่นเข้าไป" เพราะแล่นเข้าไปในพระนิพพานอันตรงข้ามกับสังขตธรรมนั้น โดยความน้อมไปในพระนิพพานนั้น ด้วยการเห็นโทษของสังขตธรรมอย่าง ๑ เพราะฉะนั้น พระภิกษุผู้ประกอบด้วยอนุปัสสนามีอนิจจานุปัสสนาเป็นต้นนั้น จึงสละกิเลสทั้งหลายได้ด้วย และแล่นเข้าไปในพระนิพพานด้วย โดยนัยดังกล่าวแล้ว  อีกทั้งไม่ยึดถือกิเลสทั้งหลายไว้ด้วย การทำให้เกิด ไม่ยึดถืออารมณ์แห่งสังขตธรรม ด้วยความเป็นผู้ไม่เห็นโทษ เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า "สลัดทิ้งไป ไม่ยึดถือไว้"

       [๗๔๓] ณ บัดนี้ เพื่อจะแสดงการละธรรมทั้งหลายที่เหลือ ซึ่งละได้ด้วยญาณทั้งหลายของพระภิกษุนั้น ท่านจึงกล่าวไว้ว่า "เมื่อเห็นเนืองๆ โดยความไม่เที่ยง ก็ละนิจจสัญญาเสียได้" ดังนี้เป็นต้น คำว่า "นนฺทิ - ความเพลิดเพลินยินดี" ในพระบาลีนั้น ได้แก่ ตัณหาประกอบด้วยปีติ คำนอกนั้นมีนัยดังกล่าวมาแล้วนั่นแล

       [๗๔๔] ส่วนในคาถา (บาลี) ทั้งหลาย คำว่า "การย้ายไปสู่วัตถุที่ตั้ง" หมายความว่า เห็นความดับของรูปแล้ว ความดับ (นั้น) เห็นด้วยจิตดวงใด ย้ายไปสู่วัตถุที่ตั้งอื่นจากวัตถุที่ตั้งเดิม ด้วยการเห็นความดับของจิตแม้ดวงนั้นต่อไปอีก คำว่า "คงที่อยู่ในสัญญา" หมายความว่า ละความเกิดเสีย และตั้งแน่วแน่อยู่แต่ในความดับ คำว่า "มีกำลังเข้มแข็งในการนึกคิด" หมายความว่า มีความสามารถในความนึกคิดติดต่อกันไปไม่มีหยุดคั่นเลย เพื่อเห็นความดับของรูปแล้ว จะได้เห็นความดับของจิต ซึ่งมีความดับ (ของรูปนั้น) เป็นอารมณ์ต่อไปอีก คำว่า "ปฏิสังขาวิปัสสนา" หมายความว่า การกำหนดรู้อารมณ์ (ดังกล่าว) นี้ ชื่อว่า "ภังคานุปัสสนา"

----------------------

น. ๑๐๗๘ คัมภีร์วิสุทธิมรรค


       [๗๔๕] คำว่า "การกำหนดรู้อารมณ์ทั้งสองโดยสภาวะอันเดียวกันโดยดำเนินไปตามอารมณ์นั่นแล" อธิบายว่า กำหนดรู้อารมณ์ทั้งสองโดยสภาวะอย่างเดียวกันนั่นแล อย่างนี้ว่า "สังขาร (ในปัจจุบัน) นี้ แตกดับอยู่ ฉันใด สังขารแม้ในอดีต ก็แตกดับไปแล้ว สังขารแม้ในอนาคต ก็จักแตกดับไปฉันนั้น" ดังนี้ โดยการดำเนินไปคือ โดยลำดับของอารมณ์ที่ตนเห็นแล้วโดยประจักษ์ เรื่องนี้ แม้ท่านพระโบราณาจารย์ทั้งหลายก็กล่าวไว้แล้วว่า:-

                     สํวิชฺชมานมฺหิ วิสุทฺธทสฺสโน

                     ตทนฺวยํ เนติ อตีตนาคเต

                     สพฺเพปิ สงฺขารคตา ปโลกิโน

                     อุสฺสาวพินฺทู สุริเยว อุคฺคเต ฯ

       แปลความว่า

              พระภิกษุผู้มีทัศนะบริสุทธิ์ในสังขารซึ่งมีอยู่ในปัจจุบัน

              ผู้นี้ นำเอาทัศนะอันบริสุทธิ์นั้นแลไปในสังขาร ซึ่งเป็น

              อดีตและอนาคตด้วย สังขารทั้งหลายแม้ทั่วทั้งปวงมีปรกติ

              แตกสลายไป เหมือนหยดน้ำค้าง เมื่อพระอาทิตย์ขึ้นมาก็

              สลายไป ฉะนั้น

       คำว่า "ความน้อมจิตไปในนิโรธ" หมายความว่า ทำการกำหนดรู้อารมณ์ทั้งสองโดยสภาวะอย่างเดียวกัน ด้วยความดับอย่างนั้นแล้ว น้อมจิตไปในนิโรธ กล่าวคือความดับนั้นแต่อย่างเดียว อธิบายว่า ความเป็นผู้หนักไปในความดับนั้น - น้อมไปในความดับนั้น โอนไปในความดับนั้น โน้มเอียงไปในความดับนั้น คำว่า "วยลักขณวิปัสสนา" ท่านกล่าวว่า การกำหนดรู้ (ดังกล่าว) นี้ ชื่อว่า วยลักขณวิปัสสนา (คือความเห็นแจ้งลักษณะของความดับ)

       [๗๔๖] คำว่า "กำหนดรู้อารมณ์ ๑" หมายความว่า รู้อารมณ์มีรูปเป็นต้นที่มีอยู่ก่อน ๑ คำว่า "เห็นเนื่องๆ ซึ่งความดับ ๑" หมายความว่า เห็นความดับของอารมณ์นั้นแล้วยังเห็นเนือง ๆ ซึ่งความดับของจิตซึ่งมีความดับนั้นเป็นอารมณ์ด้วย คำว่า "ความปรากฏโดยความว่างเปล่า ๑" หมายความว่า เมื่อโยคาวจรนั้นเห็นอยู่เนือง ๆ

----------------------

ปริจเฉทที่ ๒๑ ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธินิเทศ น. ๑๐๗๙


ซึ่งความดับอย่างนั้น ความปรากฏโดยความว่างเปล่า ก็ปรากฏชัดแจ้งว่า "สังขารทั้งหลายนั่นเอง แตกดับไป การแตกดับของสังขารทั้งหลายนั้นเป็นความตาย ไม่มีใครๆ อื่น" ดังนี้ เพราะฉะนั้น ท่านพระโบราณาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวไว้ว่า:

                     ขนฺธา นิรุชฺฌนฺติ น จตฺถิ อญฺโญ

                     ขนฺธาน เภโท มรณนฺติ วุจฺจติ

                     เตสํ ขยํ ปสฺสติ อปฺปมตฺโต

                     มณึว วิชฺฌํ วชิเรน โยนิโส.

       แปลความว่า

              ขันธ์ทั้งหลายดับไป ไม่มีใครอื่น ความแตกดับของขันธ์

              ทั้งหลาย เขาเรียกว่าความตาย โยคีผู้ไม่ประมาท เห็นอยู่

              ซึ่งความแตกดับของขันธ์ทั้งหลายเหล่านั้น ด้วยอุบายที่

              แยบคาย เหมือนช่างเจียระไน เห็นแก้วมณีที่ตนเจาะอยู่

              ด้วยเพชร ฉะนั้น (1)

       คำว่า "อธิปัญญาวิปัสสนา" ท่านกล่าวว่า ความกำหนดรู้อารมณ์ ๑ การเห็นเนือง ๆ ซึ่งความดับ ๑ การปรากฏโดยความว่างเปล่า ๑ (๓ อย่าง) นี้ ชื่อว่า อธิปัญญาวิปัสสนา (ความเห็นแจ้งด้วยปัญญารู้ยิ่ง)

       [๗๔๗]  คำว่า "ผู้ฉลาดในอนุปัสสนา ๓" คือว่า พระภิกษุผู้ฉลาดในอนุปัสสนา ๓ มีอนิจจานุปัสสนา เป็นต้น คำว่า "และในวิปัสสนา ๔" ได้แก่ ในวิปัสสนา ๔ มีนิพพิทานุปัสสนาเป็นต้น คำว่า "เพราะความเป็นผู้ฉลาดในอุปัฏฐาน ๓" ความว่าเพราะความเป็นผู้ฉลาดในอุปัฏฐาน คือ ความปรากฏ ๓ อย่างนี้ด้วย คือ (ความปรากฏ โดยความสิ้นไป ๑ โดยความเสื่อมไป ๑ โดยความว่างเปล่า ๑ คำว่า "ไม่หวั่นไหวในทิฏฐิต่างๆ" ความว่า ไม่ส่ายไปในทิฏฐิทั้งหลายมีประการต่างๆ มีสัสสตทิฏฐิ (ความเห็นว่าเที่ยง) เป็นต้น

-------------

(1) อธิบายว่า ช่างนั้นมุ่งดูอยู่ที่รูเจาะ มิได้เพ่งดูสีหรืออื่น ๆ ของแก้วมณี ฉันใด  โยคีก็เพ่งดูความแตกดับของขันธ์ทั้งหลาย มิได้เพ่งดูขันธ์ทั้งหลาย ฉันนั้น

-------------

น. ๑๐๘๐  คัมภีร์วิสุทธิมรรค


       [๗๔๘) เมื่อโยคาวจรนั้นไม่ส่ายไปส่ายมาอย่างนี้ เป็นผู้มีมนสิการดำเนินไปว่า "สิ่งที่ยังไม่ดับนั่นแลดับอยู่ สิ่งที่ยังไม่แตกนั่นแลแตกอยู่" ละความเกิดขึ้น ความตั้งอยู่ความเป็นไป และนิมิตของสังขารทั้งหลายทั้งปวงเสีย เห็นแต่ความแตกดับอย่างเดียวประดุจบุคคลเห็นการแตกของภาชนะบอบบางกำลังแตกอยู่ เห็นการแตกกระจายของฝุ่นละอองที่กำลังปลิวว่อนอยู่ เห็นการแตกของเมล็ดงาที่กำลังถูกคั่วอยู่ โยคาวจรนั้นเห็นอยู่ว่า "สังขารทั้งหลายทั้งปวง กำลังแตกดับอยู่ แตกดับอยู่" เหมือนบุรุษผู้มีดวงตา ยืนอยู่ ณ ริมฝั่งสระโบกขรณี หรือ ณ ริมฝั่งแม่น้ำ เมื่อฝนเม็ดหนากำลังตกอยู่เขาพึงเห็นต่อมน้ำใหญ่ ๆ เกิดขึ้น ๆ บนผิวน้ำ แล้วแตกไปทันทีทันใด ฉะนั้น แน่ละพระผู้มีพระภาคทรงหมายถึงโยคาวจรเช่นกล่าวนี้ จึงตรัสว่า.-

                     ยถา พุพฺพุฬกํ ปสฺเส   ยถา ปสฺเส มรีจิกํ

                     เอวํ โลกํ อเวกฺขนฺตํ      มจฺจุราชา น ปสฺสติ.

       แปลความว่า

              มัจจุราช มองไม่เห็นบุคคลผู้กำหนดเห็นโลก (คือ ขันธ์

              ๕) เหมือนเห็นต่อมน้ำ (และ) เหมือนเห็นพยับแดด"(1)


อานิสงส์ภังคานุปัสสนาญาณ

       [๗๔๙] เมื่อโยคาวจรผู้นั้น เห็นอยู่เนืองๆ ว่า "สังขารทั้งหลายทั้งปวงแตกดับไป แตกดับไป อยู่อย่างนั้น" ภังคานุปัสสนาญาณ ซึ่งมีอานิสงส์ ๘ ประการเป็นบริวารก็ถึงความมีกำลังแก่กล้า อานิสงส์ ๘ ประการในภังคานุปัสสนาญาณนั้น คืออานิสงส์เหล่านี้

       ๑. ละภวทิฏฐิ (คือความเห็นในความมีและไม่มีแห่งภพ)

       ๒. สละความอาลัยรักใครในชีวิต

       ๓. ประกอบความเพียรมั่นคงในความเพียรที่ควรประกอบอยู่ทุกเมื่อ

       ๔. มีอาชีพบริสุทธิ์

       ๕. ละความทะเยอทะยาน

       ๖. ปราศจากความกลัว

-----------------

(1) ดูเทียบ ขุ. ธ. (ไทย) ๒๕/๑๗๐/๘๖

-----------------

ปริจเฉทที่ ๒๑ ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธินิเทศ น. ๑๐๘๑ 


       ๗. ประกอบด้วยขันติและโสรัจจะ

       ๘. อดกลั้นต่อสิ่งไม่พอใจและในความกำหนัดยินดี

          เพราะฉะนั้น ท่านพระโบราณาจารย์ทั้งหลาย จึงกล่าวไว้ว่า:-

                     อิมานิ อฏฺฐคฺคุณมุตฺตมานิ

                     ทิสฺวา ตหึ สมฺมสเต ปุนปฺปุนํ

                     อาทิตฺตเจลสฺสิรสูปโม มุนิ

                     ภงฺคานุปสฺสี อมตสฺส ปตฺติยา.

       แปลความว่า

              มุนี ผู้มีปรกติเห็นเนืองๆ ซึ่งความแตกดับ ครั้นเห็นคุณ

              อันยอดเยี่ยม ๘ ประการ เหล่านี้แล้ว เป็นเสมือนบุคคลผู้

              มีผ้าโพกบนศีรษะถูกไฟไหม้ กำหนดพิจารณาเห็นแล้ว

              เห็นเล่า อยู่ในภังคานุปัสสนาญาณนั้น เพื่อบรรลุอมตนิพพาน


จบ ภังคานุปัสสนาญาณ

-----------------------

[full-post]

คัมภีร์วิสุทธิมรรค,วิสุทธิมรรค,ภังคญาณ,ภังคานุปัสสนาญาณ

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.