๖. ภยตุปัฏฐานญาณ
[๗๕๐] เมื่อโยคีนั้น เสพอยู่เนืองๆ ทำให้เกิดขึ้น ทำให้มากๆ ซึ่งภังคานุปัสสนามีนิโรธคือความสิ้นไป ความเสื่อมไป และความแตกดับของสังขารทั้งปวงเป็นอารมณ์อยู่อย่างนี้ สังขารทั้งหลายซึ่งมีความแตกดับ (บรรดามีอยู่) ในภพ (๓) กำเนิด (๔) คติ(๕) วิญญาณฐิติ (๗) สัตตาวาส (๙) ทุกหนทุกแห่ง ก็ปรากฏเป็นที่น่ากลัวมาก เช่นเดียวกับสีหะ พยัคฆะ เสือเหลือง หมี เสือดาว ยักษ์ รากษส โคดุ สุนัขดุ ช้างดุตกมัน อสรพิษร้าย สายฟ้า ป่าช้า สนามรบ และหลุมถ่านเพลิงที่ลุกโชติช่วงเป็นต้น ปรากฏเป็นที่น่ากลัวมากแก่บุรุษขลาด ผู้ปรารถนาดำรงชีวิตอยู่โดยสุขสบาย เมื่อโยคีนั้นเห็นอยู่ว่า "สังขารทั้งหลายที่เป็นอดีตก็ดับไปแล้ว ที่เป็นปัจจุบันก็กำลังดับอยู่ ถึงแม้สังขารทั้งหลายที่จะบังเกิดขึ้นในอนาคต ก็จักดับไป" ดังนี้ ณ ที่ตรงนี้ ญาณชื่อว่าภยตุปัฏฐานญาณ บังเกิดขึ้น
------------------
น. ๑๐๘๒ คัมภีร์วิสุทธิมรรค
อุปมาภยตุปัฏฐานญาณ ด้วยสตรีมีลูก ๓ และสตรีมีลูก ๑๑
ในการที่ภยตุปัฏฐานญาณ บังเกิดขึ้นนั้น มีอุปมาดังต่อไปนี้.
สมมติว่า สตรีผู้หนึ่ง มีบุตรชาย ๓ คน เป็นผู้มีความผิดในพระราชา พระราชาตรัสสั่งให้ (ลงโทษ) ตัดศีรษะของบุตรชายทั้งสามนั้น สตรีผู้นั้นได้ไปยังตะแลงแกงพร้อมกับบุตรชายทั้ง ๓ ด้วย ทันใดนั้น เขาก็ตัดศีรษะของบุตรชายคนโตของเธอแล้วเตรียมการเพื่อตัดศีรษะของบุตรชายคนกลาง สตรีนั้นเห็นศีรษะของบุตรชายคนโตถูกตัดไปแล้ว และเห็นศีรษะบุตรชายคนกลางกำลังถูกตัดอยู่ ก็ทอดอาลัยในบุตรชายคนเล็กเสียได้ว่า "แม้พ่อคนเล็กนี้ก็จักเป็นเช่นเดียวกับบุตรชายทั้ง ๒ นั้นนั่นแล" ในอุปมานั้น การที่โยคีเห็นความดับของสังขารทั้งหลายที่เป็นอดีต ก็เปรียบเหมือนการที่สตรีผู้นั้นเห็นศีรษะของบุตรชายคนโตถูกตัดไปแล้ว การที่โยคีเห็นความดับของสังขารทั้งหลายที่เป็นปัจจุบัน ก็เปรียบเหมือนการที่สตรีนั้นเห็นศีรษะของบุตรชายคนกลางกำลังถูกเขาตัดอยู่ การที่โยคีเห็นความดับของสังขารทั้งหลายที่จะบังเกิดขึ้นแม้ในอนาคต ก็เปรียบเหมือนการที่สตรีผู้นั้นทอดอาลัยในบุตรชายคนเล็กว่า "ถึงแม้พ่อคนเล็กนี้ก็จักเป็นเช่นเดียวกับบุตรชายทั้ง ๒ คนนั้นนั่นแล" เมื่อโยคีนั้นเห็นอยู่อย่างนี้ ณ ที่ตรงนี้ เกิด ภยตุปัฏฐานญาณ
มีอีกอุปมาหนึ่ง ซึ่งเล่าว่า สตรีผู้มีปรกติเป็นคนมีลูกบูดเน่า คลอดลูกมาแล้ว ๑๐ คน ใน ๑๐ คนนั้น ตายไปแล้ว ๙ คน คนหนึ่งกำลังจะตายอยู่ในอ้อมแขน อีกคนหนึ่ง (คนที่ ๑๑) ยังอยู่ในท้อง สตรีนั้นเห็นลูก ๙ คนตายไปแล้ว และคนที่ ๑๐ ก็กำลังจะตายจึงทอดอาลัยในลูกคนที่อยู่ในท้องได้ว่า "ถึงแม้เจ้าคนที่อยู่ในท้องนี้ ก็จักเป็นเหมือนลูกทั้งหลายเหล่านั้นนั่นแหละ"
ในอุปมานั้น การที่โยคีเห็นความดับของสังขารทั้งหลายที่เป็นอดีต ก็เปรียบเหมือนการที่สตรีนั้นรำลึกถึงความตายของลูกทั้ง ๙ คน การที่โยคีเห็นความดับของสังขารทั้งหลายที่เป็นปัจจุบัน เปรียบเหมือนการที่สตรีนั้นเห็นความที่ลูกตนอยู่ในอ้อมแขนกำลังจะตายอยู่ การที่โยคีเห็นความดับของสังขารทั้งหลายที่เป็นอนาคตเปรียบเหมือนการทอดอาลัยในลูกคนที่อยู่ในท้อง (ของสตรีผู้นั้น) เมื่อโยคีนั้นเห็นอยู่อย่างนี้ ในขณะนี้ เกิด ภยตุปัฏฐานญาณ
--------------
ปริจเฉทที่ ๒๑ ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธินิเทศ น. ๑๐๘๓
[๗๕๑] (ถามว่า) แต่ ภยตุปัฏฐานญาณ กลัว หรือ ไม่กลัว ?(ตอบว่า) ไม่กลัว เพราะว่า ภยตุปัฏฐานญาณนั้นเป็นแต่เพียงไตร่ตรองอยู่ว่า "สังขารทั้งหลายที่เป็นอดีต ก็ดับไปแล้ว สังขารทั้งหลายที่เป็นปัจจุบัน ก็กำลังดับไป สังขารทั้งหลาย ที่เป็นอนาคต ก็จักดับไป" ดังนี้เท่านั้น เพราะฉะนั้น จึงเปรียบเสมือนบุรุษผู้มีดวงตา แลดูหลุมถ่านเพลิง ๓ หลุม ที่ใกล้ประตูเมือง ตัวเขาเองไม่กลัว เขาเป็นแต่เพียงเกิดความไตร่ตรอง (รู้สึกเสียวๆ) อยู่ว่า คนทั้งหลายใดๆ จักตกลงไปในหลุมทั้ง ๓ นี้ ทุกคนจักได้รับทุกข์ไม่น้อยเป็นแน่" ดังนี้เท่านั้น ฉันใด ก็หรือว่าเปรียบเหมือนบุรุษผู้มีดวงตา แลดูหลาว ๓ เล่ม คือ หลาวไม้ตะเคียน ๑ หลาวเหล็ก ๑ หลาวทอง ๑ เขาปักไว้เรียงกันอยู่ ตัวเองมิได้กลัว เป็นแต่เพียงบุรุษนั้นไตร่ตรอง (รู้สึกเสียวๆ) อยู่ว่า "คนทั้งหลายใดๆ จักตกลงไปบนหลาวทั้งหลายนี้ ทุกคนจักเสวยทุกข์หาน้อยไม่" ดังนี้อย่างเดียวเท่านั้น ฉันใด ภยตุปัฏฐานญาณ ก็ฉันนั้นเช่นกัน ญาณเองมิได้กลัว เพราะว่าญาณนั้นเป็นแต่เพียงไตร่ตรองอยู่ว่า "สังขารทั้งหลายในภพทั้ง ๓ ซึ่งเปรียบด้วยหลุมถ่านเพลิง ๓ หลุม และเปรียบด้วยหลาว ๓ เล่ม ที่เป็นอดีตก็ดับไปแล้ว ที่เป็นปัจจุบัน ก็กำลังดับไป ที่เป็นอนาคต ก็จักดับเป็นแน่" ดังนี้แต่อย่างเดียวเท่านั้น แต่เพราะสังขารทั้งหลายที่ดำเนินไปอยูในภพ (๓) กำเนิด (๔) คติ(๕) วิญญาณฐิติ (๗) และสัตตาวาส (๙) ทุกหนทุกแห่ง เป็นสังขารถึงแล้วซึ่งความพินาศไป เป็นของที่มีภัยอยู่เฉพาะหน้า ปรากฏแก่ญาณนั้น โดยความน่ากลัวแต่อย่างเดียว เพราะฉะนั้น จึงเรียกญาณนั้นว่า ภยตุปัฏฐานญาณ
อนึ่ง ในความปรากฏโดยความน่ากลัวของญาณนั้น ดังกล่าวมานี้ มีพระบาลี (แปลความได้) ดังต่อไปนี้ "ถามว่า) เมื่อโยคีมนสิการอยู่โดยความไม่เที่ยง อะไรปรากฏโดยความน่ากลัว ? เมื่อมนสิการอยู่โดยความเป็นทุกข์...โดยความเป็นอนัตตาอะไรปรากฏโดยความน่ากลัว ? (ตอบว่า) เมื่อโยคีมนสิการอยู่โดยความไม่เที่ยงนิมิตปรากฏโดยความน่ากลัว เมื่อมนสิการอยู่โดยความเป็นทุกข์ ความเป็นไป (ของสังขาร) ปรากฎโดยความน่ากลัว เมื่อมนสิการอยูโดยความเป็นอนัตตา ทั้งนิมิตและความเป็นไป ปรากฎโดยความน่ากลัว" ดังนี้"(1)
------------------
(1) ดูเทียบ ขุ ป. (ไทย) ๓๑/๒๒๗/๓๘๓
------------------
น. ๑๐๘๔ คัมภีร์วิสุทธิมรรค
คำว่า "นิมิต" ในพระบาลีนั้น หมายถึง นิมิตคือสังขาร คำว่า "นิมิต" นี้ เป็นชื่อเรียกสังขารทั้งหลายโดยเฉพาะ ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน เพราะว่า เมื่อโยคีมนสิการอยู่โดยความไม่เที่ยง ก็เห็นแต่มรณะ (คือ ความดับ) อย่างเดียวของสังขารทั้งหลาย เพราะการเห็นแต่การดับนั้น นิมิตจึงปรากฏแก่โยคีนั้นโดยความน่ากลัวคำว่า "ความเป็นไป" หมายความว่า ความเป็นไปในรูปภพและอรูปภพ เพราะว่าเมื่อโยคีมนสิการอยู่โดยความเป็นทุกข์ ก็เห็นแต่ความบีบคั้นเฉพาะหน้าเนืองๆ อย่างเดียวของความเป็นไป แม้ที่ยกย่องกันว่าเป็นความสุข เพราะเหตุนั้น ความเป็นไป (ของสังขารทั้งหลาย) จึงปรากฎแก่โยคีนั้น โดยความน่ากลัว แต่เมื่อโยคีมนสิการอยู่โดยความเป็นอนัตตา ก็เห็นแม้ทั้ง ๒ อย่างนั้น (คือทั้งนิมิตและความเป็นไปของสังขาร) เป็นของว่าง เป็นของเปล่า เป็นของสูญ ไม่มีเจ้าของ ไม่มีผู้นำ เป็นประดุจบ้านร้างและเป็นประดุจพยับแดด และคนธรรพนคร (วิมานในอากาศ) เป็นต้น เพราะเหตุนั้นนิมิตและความเป็นไปทั้ง จึงปรากฏแก่โยคีนั้นโดยความน่ากลัว ด้วยประการฉะนี้
จบ ภยตุปัฏฐานญาณ
------------------
[full-post]
แสดงความคิดเห็น
ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ