การเจริญจาคานุสสติ 


      จาคานุสสติ หมายความว่า การระลึกถึงการบริจาคทานของตน ที่เป็นไปโดยบริสุทธิ์ ไม่มีการโอ้อวด หรือ การเอาหน้า เอาชื่อเสียงแม้แต่ประการใด ๆ อยู่เนืองๆ ชื่อว่า "จาคานุสสติ" ดังแสดงวจนัตถะว่า "จาคา อนุสฺสติ = จาคานุสฺสติ" การระลึกถึงการบริจาคทานของตนที่เป็นไปโดยบริสุทธิ์อยู่เนืองๆ ชื่อว่า "จาคานุสสติ" องค์ธรรม ได้แก่ สติเจตสิกที่ในมหากุศลจิตที่มีบริจาคเจตนาเป็นอารมณ์


วิธีเจริญจาคานุสสติ

      การเจริญจาคานุสสตินี้ ผู้เจริญะต้องมีการบริจาคทานที่ถึงพร้อมด้วยคุณความดี ๓ ประการ คือ

      ๑. ธัมมิยลัทธวัตถุ คือ วัตถุสิ่งของที่เป็นเทยยธรรมนั้น ได้มาโดยชอบธรรม

      ๒. บริบูรณ์ด้วยเจตนาทั้ง ๓ คือ ปุพพเจตนา มุญจเจตนา อปรเจตนา

      ๓. มุตตจาค คือ การบริจาคที่สละละพ้นไปจากความตระหนี่ และ ตัณหา มานะ ทิฏฐิ

      เมื่อบริจาคทานของตน ได้ถึงพร้อมด้วยคุณความดีดังนี้แล้ว ก็มาคำนึงนึกถึงความเป็นอยู่ของโลกเทียบกันกับความเป็นอยู่ของตนว่า ตามธรรมดาชนทั้งหลายนั้น โดยมากมักมีความตระหนี่หวงแหนในทรัพย์สิน เงินทอง ของตน ไม่ใคร่จะยอมบริจาคให้เป็นทาน แต่กลับไปสนใจอยู่ในเรื่องการบำรุงบำเรอตัณหา มานะ ทิฏฐิ กล่าวคือ มีการตบแต่งร่างกายเกินกว่าเหตุ อาหารการบริโภคเกินสมควร การสนุกสนานเพลิดเพลิน โอ้อวดซึ่งกันและกัน ล้วนแต่เป็นเรื่องที่หาสาระมิได้ทั้งสิ้น สำหรับตนในคราวนี้นั้น ย่อมมีโอกาสได้ชัยชนะต่อศัตรูภายใน คือ ความตระหนี่ทวงแหนในทรัพย์สินเงินทองที่มีอยู่ ด้วยการยอมลดละจากการบำรุงบำเรอตัณหา มานะ ทิฏฐิ มีการตบแต่งร่างกายเกินควร เป็นต้นเสียได้ ซึ่งนับว่าเป็นโชคดีของตนอย่างแท้จริง แต่ต่อไปในภายภาคหน้าก็จะได้รับแต่อานิสงส์ที่ดีงาม มีอายุ วรรณะ สุขะ พละ ประกอบไปด้วยความโสมนัสอย่างยอดยิ่ง การคำนึงนึกถึงอย่างนี้แหละ ได้ชื่อว่าจาคานุสสติ ต่อแต่นั้นก็เริ่มต้นภาวนาว่า

            มนุสฺสตฺตํ สุลทฺธํ เม      ยฺวาหํ จาเค สทา รโต

            มจฺเฉรปริยุฏฺฐาย         ปชาย วิคโต ตโต ฯ

      ในบรรดาชนทั้งหลาย ที่มีมัจฉริยะก่อกวนกำเริบด้วยการหวงแหนอยู่นั้น แต่

      เรานั้นมีความยินดีปลื้มใจอยู่แต่ในการบริจาคทานโดยความปราศจากมัจฉริยะลงได้

      การที่เราได้เกิดมาเป็นมนุษย์นี้ดีจริงหนอ

      อนึ่ง บรรพชิตที่กำลังปฏิบัติสารณียธรรม หรือ สารณียวัตรอยู่นั้น ถ้าให้เจริญจาคานุสสติกรรมฐานไปด้วย ก็จะช่วยให้การปฏิบัติสารณียธรรมได้ดำเนินไปโดยเรียบร้อย เพราะการปฏิบัติสารณียธรรมนั้นต้องให้ทานทุกวันตลอดระยะเวลา ๑๒ ปีฉะนั้น ถ้าภิกษุได้ทำการเจริญจาคานุสสติกรรมฐานด้วยแล้ว ก็จะช่วยให้ได้รับผลทั้งสองฝ่าย


การปฏิบัติสารณียธรรม


      ผู้จะปฏิบัติสารณียธรรมนั้น จะต้องอยู่ในสถานที่ที่มี ภิกษุ สามเณรไม่มากและภิกษุ สามเณรที่อยู่รวมกันนั้น ก็ล้วนแล้วแต่เป็นสีลวัตตะและสิกขากามะ ประกอบไปด้วยคันถธุระ หรือ วิปัสสนาธุระด้วยกันสิ้น ที่ต้องเลือกสถานที่พร้อมด้วยบุคคลดังกล่าวนี้ ก็เพื่อที่จะให้การปฏิบัติได้ดำเนินไปโดยสะดวกสบายนั้นเองเมื่อได้อยู่ในสำนักที่กอปรด้วยองค์ ๒ ดังนี้แล้ว ก่อนที่จะทำการปฏิบัติ ผู้ปฏิบัติต้องตั้งจิตอธิษฐานเสียก่อนว่า นับแต่วันนี้เป็นต้นไป ข้าพเจ้าจะทำการปฏิบัติตามหลักของสารณียธรรม ที่พระพุทธองค์ทรงวางไว้ตลอดระยะเวลา ๑๒ ปี หลังจากได้อธิษฐานใจเสร็จแล้วก็ต้องไปแจ้งแก่พระภิกษุ สามเณรทั้งหลายให้ทราบทั่วกัน ว่าตนจักปฏิบัติสารณียธรรม

      ได้กล่าวแล้วว่าการปฏิบัติสารณียธรรมนี้ ผู้ปฏิบัติจะต้องทำทานทุกวันตลอดระยะเวลา ๑๒ ปี เมื่อผู้ปฏิบัติไปรับบิณฑบาตได้มาเท่าใด จะนำอาหารที่ได้มานั้นไปเที่ยวแจกจ่ายแก่ พระภิกษุ สามเณรตามความพอใจของตนไม่ได้ จะต้องนำไปถวายแก่องค์ที่มีพรษามากกว่าเพื่อนก่อน แล้วลดลำดับลงมาตามอายุพรรษา ถ้าหากจะถวายแก่รูปอื่นก่อน พระภิกษุที่ได้รับนั้น จะต้องเป็นภิกษุพวกใดพวกหนึ่งใน ๕ จำพวกจึงจะถวายได้ ภิกษุ ๕ จำพวกนั้น คือ ๑. ภิกษุ สามเณรที่อาพาธ ๒. ภิกษุสามเณรที่เป็นผู้พยาบาล ๓. ภิกษุ สามเณรที่เป็นอาคันตุกะ ๔. ภิกษุ สามเณรที่เป็นกัมมิกะ คือ จะรีบไปธุระ ๕. ภิกษุ สามเณร บวชใหม่ที่ครองจีวรและอุ้มบาตรยังไม่เป็น

      ในขณะที่ทำการถวายนั้น ผู้ปฏิบัติจะจัดแบ่งถวายไม่ได้ จะต้องส่งให้ทั้งบาตรแล้วแต่ผู้รับจะรับหรือไม่รับและหยิบตักเอาตามความต้องการ เหลือนั้นตนจึงจะนำเอาไปบริโภค ถ้าหากว่าไม่เหลือก็กลับไปรับบิณตบาตใหม่ในระหว่างที่ยังไม่ถึงเที่ยง เมื่อได้มาแล้วก็จัดการถวายอีกไปตามลำดับแห่งพรรษา เมื่อหมดก็กลับไปรับใหม่อีกจะเป็นกี่ครั้งกี่เที่ยวก็ตาม ทำอยู่อย่างนี้เสมอไป หากบางวันไปรับบิณทบาตหลายเที่ยวแล้วอาหารที่ได้มาผู้รับก็รับเอาเสียจนหมด จะกลับไปรับใหม่ก็หมดเวลา อย่างนี้ผู้ปฏิบัติต้องยอมอด ข้อที่สำคัญยิ่งก็มีอยู่ว่า ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ถือโทษโกรธเป็นอันขาดเกิดโกรธเวลาใด การปฏิบัติที่อุตส่าห์พยายามกระทำมาเป็นเวลาหลายวัน หลายเดือนหลายปี ก็พลอยสูญเสียไปหมดสิ้น ดังนั้นท่านอรรถกถาจารย์จึงได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่าผู้ปฏิบัติสารณียธรรมได้พยายามปฏิบัติมาด้วยดี จนครบเวลา ๑๒ ปี ในวันครบรอบปีที่ ๑๒ นั้น ได้กลับมาจากรับบิณฑบาตแล้ววางบาตรไว้ที่หอฉัน ตนเองก็ไปสรงน้ำ ในขณะนั้นพระเถระรูปหนึ่งมาเห็นบาตรนั้นเข้า ทราบว่าเป็นบาตรของผู้ปฏิบัติสารณียธรรมจึงหยิบตักเอาไปเสียจนหมดเหลือไว้แต่บาตรเปล่า เมื่อผู้ปฏิบัติกลับมาจากสรงน้ำได้เห็นบาตรเปล่าก็โกรธ บ่นว่า ไฉนจึงมาเอาไปจนหมดมิได้เหลือไว้ให้เราได้บริโภคบ้าง เมื่อความไม่พอใจเช่นนี้เกิดขึ้น การที่พยายามปฏิบัติมาด้วยดีตลอดเวลา๑๒ปี ครบวันนั้นก็เป็นอันว่าไม่สำเร็จ ถ้าจะประสงค์ให้สำเร็จก็จะต้องตั้งต้นปฏิบัติกันเสียใหม่ต่อจากวันนั้นไปจนครบ ๑๒ ปี ดังนั้นผู้ปฏิบัติสารณียธรรมนี้ ถ้ามีการเจริญจาคานุสสติกรรมฐานประจำทุกๆ ครั้งที่ได้ถวายทานว่า

            มนุสฺสตฺตํ สุลทฺธํ      เม ยฺวาหิ จาเค สทา รโต

            มจฺเฉรปริยุฏฺฐาย      ปชาย วิคโต ตโต ฯ

      ดังนี้แล้ว ก็จะช่วยคุ้มครองป้องกันมิให้ความโกรธเกิดขึ้น


อานิสงส์ที่ได้รับจากการปฏิบัติสารณียธรรม

      ภิกษุที่ทำการปฏิบัติสารณียธรรมสำเร็จแล้ว ในระหว่างที่ยังมีชีวิตอยู่ ย่อมได้รับอานิสงส์ ๔ ประการ คือ

      ๑. ไม่ลำบากในอาหารเครื่องบริโภค

      ๒. อาหารบิณฑบาตที่ได้มา แม้ว่าจะแบ่งถวายแก่พระภิกษุ สามเณร สักกี่รูป ก็ไม่หมด

      ๓. เมื่อได้รับการถวายทานด้วยการจับสลาก ย่อมได้แต่ของที่ดีเยี่ยม

      ๔. ภุมมัฏฐเทวดา และรุกขัฎฐเทวดาทั้งหลายเอาใจใส่ในการตักบาตร

      ในอานิสงส์ทั้ง ๔ ประการนี้ อานิสงส์ข้อที่ ๑ และที่ ๒ มีวัตถุสาธกว่าพระภิกษุรูปหนึ่ง มีนามว่า ติสสเถระ อาศัยอยู่ที่ภูเขาเสลาคิริ ได้สำเร็จการปฏิบัติ


      สารณียธรรมมาแล้ว ถัดจากภูเขานี้ออกไปไม่ไกลเท่าใดนัก มีหมู่บ้านหมู่หนึ่งชื่อมหาคิริ เป็นโคจรคามเที่ยวไปรับบิณฑบาตของท่าน อยู่มาวันหนึ่ง มีพระภิกษุ ประมาณ ๕๐ รูป เดินทางไปมนัสการพระเจดีย์ชื่อ นาคทีป่ะ พักแรมอยู่ ณ แห่งนั้น ครั้นถึงเวลาบิณฑบาต ต่างองค์ต่างก็เข้าไปรับบิณฑบาตในหมู่บ้านมหาคิริทุกรูป บิณฑบาตไม่ได้เลยแม้แต่ทัพพีเดียวจึงพากันกลับ ก็พอดีสวนทางกันกับพระติสสเถระ พระติสสเถระจึงกล่าวคำปฏิสันถารขึ้นว่า ท่านทั้งหลายได้อาหารบิณฑบาตพอควรแล้วหรือ พระภิกษุเหล่านั้นก็ตอบว่าไม่ได้อะไรเลย พระติสส จึงเอ่ยขึ้นว่า ถ้าเช่นนั้นขอพวกท่านจงรอคอยข้าพเจ้าอยู่ ณ ที่นี้สักประเดี๋ยวหนึ่งก่อน ข้าพเจ้าจักเข้าไปรับบิณฑบาตแล้วจักกลับมาหาท่าน พระภิกษุเหล่านั้นก็รับคำ จากนั้นท่านก็เข้าไปในหมู่บ้าน ยืนอยู่ที่หน้าเรือนหลังหนึ่งซึ่งเจ้าของเคยตักบาตรเป็นประจำ วันนั้นทายิกาผู้ใหญ่ในเรือนนั้นได้จัดทำข้าวต้ม นมสด คอยท่าอยู่ ครั้นเห็นพระเถระไปถึง จึงนำข้าวต้ม นมสดที่ได้จัดเตรียมไว้นั้นใส่ลงในบาตรจนเต็ม พระติสสเถระได้รับแล้วก็กลับไปยังที่นัดหมาย จัดการแบ่งถวายให้ได้ฉันทั่วถึงกันทุกรูปพร้อมด้วยตนเองจนอิ่มหนำสำราญพระภิกษุทั้งหลายเมื่อได้ฉันเสร็จแล้วก็แปลกใจคิดไปว่าพระเถระมีอิทธิฤทธิ์ จึงถามขึ้นว่า ข้าแต่พระคุณเจ้า ได้อิทธิฤทธิ์นี้แต่เมื่อใด ท่านตอบว่า หาใช่เป็นอิทธิฤทธิ์แต่ประการใดไม่ หากแต่เป็นอานิสงส์ที่ได้รับจากการปฏิบัติสารมียธรรม ดังนั้น อาหารที่มีอยู่ในบาตร แม้ว่าจะถวาย พระภิกษุตั้งแสนรูปก็ไม่หมด พระภิกษุเหล่านั้นได้ฟังแล้วก็มีความชื่นชมโสมนัสเป็นที่สุด จึงเปล่งวาจาว่า สาธุๆ ขึ้นพร้อมๆ กัน

      อานิสงส์ข้อที่ ๓ มีวัตถุสาธกว่า ครั้งหนึ่งที่ภูเขาเจติยปัพพตะมีงานนมัสการพระเจดีย์ ในงานมนัสการนี้ พระราชาพร้อมด้วยประชาชนทั้งหลายได้จัดการถวายทานด้วยวิธีจับสลาก พระติสสเถระที่อาศัยอยู่ ณ ภูเขาเสลาริก็ได้รับนิมินต์ให้ไปในงานนี้ด้วย เมื่อพระเถระไปถึงแล้วจึงถามประชาชนเหล่านั้นว่า ในบรรดาเทยยธรรมทั้งหมดนี้ เทยยธรรมอย่างไหนที่ดีวิเศษที่สุด ชนเหล่านั้นจึงพากันตอบว่า กองผ้า ๒๐ ชุดนั้นแหละเป็นของวิเศษที่สุดเจ้าข้า พระติสสเถระจึงเอ่ยขึ้นว่า ถ้าเช่นนั้นผ้ากองนั้นแหละจะต้องได้แก่อาตมาภาพชนทั้งหลาย ได้ฟังแล้วก็ไม่พอใจ อยากจะให้ผ้ากองนั้นได้แก่พระเถระที่มีตำแหน่งสูง หรือ ที่มีพรรษามาก ต่างคนต่างก็นึกภาวนาแต่ในใจ ขอให้เป็นไปดังที่ตนปรารถนา ครั้นถึงเวลาต่างก็พากันนำสลากมาถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ทั้งหลายทำการจับ ปรากฏว่า พระติสสเถระจับได้กองผ้า ๒๐ ชุด สมกับที่ได้กล่าวไว้พระราชาผู้เป็นประธานทรงมีความแปลกพระทัยเป็นที่สุด จึงมีพระดำรัสถามว่า พระผู้เป็นเจ้าได้อิทธิฤทธิ์มานานแล้วหรือ พระติสสเถระจึงถวายพระพรว่า ดูกรมหาบพิตรอาตมาภาพหาได้มีอิทธิฤทธิ์แต่อย่างใด ๆ ไม่ หากแต่เป็นอานิสงส์ที่ได้รับจากการปฏิบัติสารณียธรรมสำเร็จ พระราชาพร้อมด้วยมหาชนทั้งหลายเมือได้ฟังแล้ว ต่างก็มีความชื่นชมโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง จึงเปล่งวาจาว่าสาธุๆ ขึ้นพร้อมๆ กัน

      อานิสงส์ข้อที่ ๔ มีวัตถุสาธกว่า ในลังกาประเทศ มีหมู่บ้านแห่งหนึ่งชื่อภาตระ ในหมู่บ้านนั้นมีสำนักพระเถรีสำนักหนึ่ง มีพระเถรือยู่ ๑๒ รูป ผู้เป็นหัวหน้ามีนามว่านาคเถรี ได้สำเร็จการปฏิบัติสารณียธรรมมาแล้วในสมัยนั้นมีพวกโจรพวกหนึ่งหัวหน้ามีนามว่า พรหมณติสสะ ก่อกวนอาละวาด ปล้นสดมภ์ข่มเหงแย่งชิงทรัพย์สินเงินทองของชาวบ้านตลอดทั่วไปทุกแห่ง ชาวหมู่บ้านภาตระ มีความหวาดหวั่นเกรงกลัวเป็นที่สุด ในคืนวันหนึ่งเวลาดึกสงัดต่างก็พากันอพยพหลบหนีไปจากหมู่บ้านนั้นจนหมดสิ้น หาทันได้ไปลาพระเถรีเจ้าทราบแต่ประการใดไม่ รุ่งขึ้นหมู่บ้านภาตระนั้นก็เงียบสงัดจากฝูงคนที่เคยมี พระเถรีผู้เป็นหัวหน้าเมื่อพิจารณาดูเหตุการณ์นี้แล้ว ก็ทราบถึงความเป็นไป จึงให้โอวาทปลุกใจแก่บรรดาพระเถรีที่เป็นศิษย์ทั้งหลายว่าขอพวกเธอจงมีการตั้งใจศึกษา เล่าเรียนในพระปริยัติและปฏิบัติสมถภาวนา วิปัสสนาภาวนาต่อไปตามปกติ ดังเช่นที่ได้ทำกันอยู่แล้ว อย่าได้ละทิ้งเป็นอันขาด หลังจากที่ให้โอวาทเสร็จแล้ว ก็พอดีได้เวลาไปรับบิณทบาต เมื่อครองจีวรเสร็จทั้ง ๑๒ รูปแล้วพระนาคเถรีจึงชวนพระภิกษุณีทั้งปวงออกจากสำนักเข้าไปยืนอยู่ ใต้ตันโพธิ์ใหญ่ที่อยู่ตรงหน้าหมู่บ้าน ต้นโพธิ์นั้นมีรุกขเทวดาอาศัยอยู่ฝ้ายรุกขเทวดาเมื่อได้เห็นพระภิกษุณีทั้งหลายมายืนอยู่ จึงจัดนำอาหารตักบาตรทุกรูป พร้อมกับปวารณาว่า ขอพระคุณเจ้าทั้งหลายมารับบิณฑบาตที่นี้ ทุกวันไป

      กล่าวถึงพระนาคเถระน้องชาย ที่อาศัยอยู่ ณ หมู่บ้านอีกแห่งหนึ่ง มีพระภิกษุอยู่ด้วยกัน ๑๒ รูปรวมทั้งตัวท่าน เมื่อภิกษุเหล่านั้นเห็นชาวบ้านหลบหนีไปหมดก็เตรียมตัวที่จะย้ายไอยู่ที่อื่นบ้าง ก่อนที่จะไปนั้น พระนาคเถระคิดว่าควรจะไปลาพระเถรีผู้พี่เสียก่อนคิดแล้วก็ชวนพระภิกษุที่เป็นศิษย์ออกเดินทางไปยังสำนักของพระเถรี ครั้นถึงแล้วก็กล่าวคำอำลาว่าจะหลบภัยไปอยู่ที่อื่น พระนาคเถรีจึงกล่าวว่าอย่าหนีไปไหนเลย จงพักอยู่ด้วยกันเสียที่นี่ก่อนเถิด อาหารมีพอที่จะแบ่งกันฉันได้ ว่าแล้วก็จัดแจงแบ่งอาหารที่รุกขเทวดาถวายมานั้นให้แก่พระนาคเถระ พระเถระไม่รับโดยอ้างว่าพระพุทธองค์ทรงห้ามมิให้ภิกษุรับของ ของภิกษุณี เมื่อรุกขเทวดาได้ทราบเรื่องดังนั้นแล้วก็มีจิตชื่นชมโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง จึงได้กล่าวคำปวารณาต่อพระนาคเถระ  และพระภิกษุที่เป็นศิษย์ทุกรูปว่า ข้าพเจ้าจะขอถวายอาหารบิณฑบาตแด่พระคุณเจ้าทุกๆ วันไปขอได้โปรดมารับบิณทบาตจากข้าพเจ้าด้วยเถิด นับแต่นั้นต่างก็ได้อาศัยอาหารจากรุกขเทวดาเป็นเครื่องยังชีพตลอดไปเป็นเวลา ๗ ปี

      การได้รับบิณฑบาตของพระนาคเถระนั้น มิได้เกิดจากการปฏิบัติสารณียธรรมแต่ประการใด หากแต่ได้มาโดยอานิสงส์ของพระนากเถรีผู้พี่ กับการที่เคารพมั่นอยู่ในข้อห้ามของพระพุทธองค์


จบจาคานุสสติ

-------////--------


การเจริญเทวตานุสสติ

      เทวตานุสสติ หมายความว่า การระลึกถึงกุศลกรรมของตน มีศรัทธา เป็นตัน โดยเปรียบเทียบกับเทวดา พรหมทั้งหลาย ที่บริบูรณ์ด้วยสัปปุริสรัตนะอย่าง และสัปปุริสธรรม ๗ ประการอยู่เนืองๆ ชื่อว่า เทวตานุสสติ องค์ธรรมได้แก่สติเจตสิก ที่ในมหากุศลจิต ที่มีศรัทธาเป็นต้นเป็นอารมณ์


วิธีเจริญเทวตานุสสติ

      การเจริญเทวตานุสสตินี้ ผู้เจริญจะต้องอยู่ในสถานที่ที่เงียบสงัดจากฝูงชนแล้วระลึก ถึงความเป็นไปของเทวดาและพรหมทั้งหลายว่า ขณะที่ท่านเหล่านั้นยังเป็นมนุษย์อยู่นั้น ท่านเหล่านั้นล้วนแล้วแต่เป็นผู้บริบูรณ์ด้วยธรรมอันดีงามมีสัปปุริสรัตนะ ๗ อย่าง คือ ศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา หิริ โอตตัปปะ และสัปปุริสธรรม ๗ ประการ คือ ศรัทธา สติ หิริ โอตตัปปะ พาหสัจจะ วิริยะ ปัญญา ด้วยกันทั้งสิ้น ฉะนั้นเมื่อตายลงก็ได้ไปบังเกิดในเทวภูมิ พรหมภูมิ ธรรมที่มีสภาพอันดีงามเหล่านี้ตนก็มีอยู่เหมือนกัน เมื่อพิจารณา เปรียบเทียบดูอยู่อย่างนี้เนืองๆ แล้วก็บังเกิดความโสมนัสใจเป็นอย่างยิ่ง ดังที่ท่านฎีกาจารย์* กล่าวว่า "ยถารูปาย สทฺธาทิธมฺมชาตาย สมนฺนาคตา เทวตา อิโต จุตา ตตฺถ อุปฺปนฺนา, เมหมฺปิ ตตฺถารูปาย สทฺธาทิธมฺมา สํวิชฺชนฺติ ๆ" *(ฉ. วิสุทธิมัคคมหาฎีกา ปฐมภาค หน้า ๒๘๔ แสดงไว้ดังนี้ : -  "ยถารูปาย มคฺเคนาคตาย สทฺธาย สมนฺนาคนา สีเลน สุเตน จาเคน ปญญาย สมนฺนาคตา อิโต จุตา ตตถ อุปฺปนฺนา ตา เทวตา มยฺหมฺปี ตถารูปา สทฺธา สีลํ สุตํ จาโค ปญฺญา จ สํวิชฺชตีติ) 

      เทวดาและพรหมทั้งหลาย เมื่อขณะที่ยังเป็นมนุษย์อยู่นั้น ล้วนแต่เป็นผู้ที่บริบูรณ์ด้วยสัปปุริสรัตนะ ๗ อย่าง และสัปปุริสธรรม ๗ ประการ ที่มีสภาพดีงาม คือ ศรัทธาเป็นต้น อันใด ฉะนั้น เมื่อจุติจากมนุษย์แล้วก็ได้ไปบังเกิดในเทวภูมิ พรหมภูมิ ธรรมที่มีสภาพดีงาม คือ ศรัทธา เป็นต้นเหล่านี้ ก็มีอยู่ในเราเช่นเดียวกัน


จบเทวตานุสสติ

---------///----------

[full-post]

ปริจเฉทที่๙,สมถกรรมฐาน,อภิธัมมัตถสังคหะ,จาคานุสสติ,เทวตานุสสติ

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.