อธิบายในบาลีข้อที่ ๘ ที่แสดงถึงอนุสสติ ๑๐ พร้อมด้วยแนวทางปฏิบัติ
อนุสสติ หมายความว่า การระลึกเนืองๆ เมื่อแยกบทแล้วได้ ๒ บท คือ อนุ + สติ, อนุ = เนืองๆ สติ = ระลึก ดังแสดงวจนัตถะว่า
"สรณํ = สติ" การระลึกได้ ชื่อว่า สติ
"อนุปุนปฺปุนํ สติ = อนุสฺสติ" การระลึกเนืองๆ ชื่อว่าอนุสสติ ได้แก่ สติเจตสิก
คำว่า "อนุสสติ" นี้ น่าจะเป็น อนุสติ ตามที่แยกบทไว้ แต่ที่เป็นเช่นนั้นไม่ได้ ก็เพราะคำเดิมของ สติ มาจาก สรธาตุ ฉะนั้น สรธาตุมาอยู่ข้างหลัง อนุ ก็จะต้องเป็น ส สองตัว จึงสำเร็จเป็น อนุสสติ ไป
การเจริญพุทธานุสสติ
"พุทธานุสสติ" การระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้ามี อรหํ เป็นต้น เนื่องๆ ชื่อว่า พุทธานุสสติ ดังแสดงวจนัตถะว่า
"พุทฺธํ อนุสฺสติ = พุทฺธานุสฺสติ" การระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าเนืองๆ ชื่อว่า "พุทธานุสสติ" ได้แก่สติเจตสิก ที่มีคุณของพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์
ตามธรรมดา คำว่า "พุทธ" นั้น ย่อมหมายถึงพระสรีรกายของพระพุทธองค์ แต่ในที่นี้มุ่งหมายถึงพระคุณต่างๆ ที่มีอยู่ในสันดานของพระองค์ อย่างไรก็ดี การระลึกถึงพระคุณนี้ก็มิอาจเว้นจากพระสรีรกายไปได้ เพราะความงามแห่งพระสรีรกายนั้น ก็เป็นพระคุณอย่างหนึ่งที่เป็นบุญสิริอยู่ในบท "ภควา"
วิธีระลึกถึงพระพุทธคุณ
การระลึกไปในพระพุทธคุณนั้น จะระลึกเป็นภาษาบาลีหรือภาษาไทยก็ได้ ภาษา บาลีนั้นมีดังนี้ "อิติปี โส ภควา, อรหํ, สมฺมาสมฺพุทฺโธ, วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน, สุคโต, โลกวิทู, อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ, สตฺถา เทวมนุสฺสานํ, พุทฺโธ, ภควา ฯ
หรืออีกนัยหนึ่ง โส ภควา อิติปิ อรหํ, โส ภควา อิติปิ สมฺมาสมฺพุทฺโธ, โส ภควา อิติปิ วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน, โส ภควา อิติปิ สุคโต, โส ภควา อิติปิ โลกวิทู , โส ภควา อิติปิ อนุตฺตโร ปริสทมฺมสารถิ, โส ภควา อิติปิ สตฺถา เทวมนุสฺสานํ, โส ภควา อิติปิ พุทฺโธ, โส ภควา อิติปิ ภควา ฯ
ถ้าเป็นภาษาไทยก็ระลึกได้ดังนี้ "พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ทรงมีชื่อเสียงเลื่องลือเซ็งแซ่ตลอดทั่วไปจนถึงพรหมโลก ด้วยพระคุณบทว่า อรหํ เพราะเป็นผู้ห่างไกลจากกิเลส ๑๕๐๐ ทั้งวาสนาของกิเลสอย่างเด็ดขาด มีจิตใจบริสุทธิ์ ผ่องใสงดงาม เป็นผู้ควรได้รับการสักการะบูชาเป็นพิเศษจากมวลมนุษย์ เทวดา พรหม ทั้งหลาย
พระผู้มีพระภาคเจ้า ฯลฯ ด้วยพระคุณบทว่า "สมฺมาสมฺพุทฺโธ" เพราะเป็นผู้ตรัสรู้ เญยยธรรม ๕ ประการ คือ สังขาร วิการ ลักขณะ นิพพาน บัญญัติ ด้วยอำนาจแห่งพระสัพพัญญุตญาณโดยลำพังพระองค์เองอย่างถูกถ้วน
พระผู้มีพระภาคเจ้า ฯลฯ ด้วยพระคุณบทว่า "วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน" เพราะเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยความรู้และการปฏิบัติอย่างประเสริฐเป็นยอดเยี่ยม คือ วิชชา ๓ หรือ ๘ และ จรณะ ๑๕ ประการ
พระผู้มีพระภาคเจ้า ฯลฯ ด้วยพระคุณบทว่า "สุคโต" เพราะเป็นผู้ดำเนินกิจการต่างๆ เป็นอย่างดี เพื่อการที่จะได้มาซึ่งสัพพัญญุตญาณด้วยการสร้างบารมี ๓๐ ทัศ และ ทำการปฏิบัติอยู่อย่างซื่อตรง ปราศจากมิจฉาทิฏฐิประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ อันจะนำประโยชน์มาให้แก่เวไนยสัตว์ทั้งหลายที่เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภูมิทั้ง ๓ นับตั้งแต่ได้รับพุทธพยากรณ์ ในขณะที่ทรงซบพระเศียรแทบพระบาทของสมเด็จพระทีปังกรสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นต้นมาจนถึงโพธิบัลลังก์
พระผู้มีพระภาคเจ้า ฯลฯ ด้วยพระคุณบทว่า "โลกวิทู" เพราะเป็นผู้รู้แจ้งโลกทั้ง ๓ คือ สัตวโลก โอกาสโลก สังขารโลก อย่างทั่วถึงโดยรอบคอบทุกประการ
พระผู้มีพระภาคเจ้า ฯลฯ ด้วยพระคุณบทว่า "อนุตตโร ปริสทมฺมสารถิ" เพราะเป็นบุรุษผู้ยอดเยี่ยม หาที่เปรียบมิได้ในเชิงการอบรมสั่งสอนเวไนยสัตว์ทั้งหลายที่ไม่มี ศีล สมาธิ ปัญญา ให้ตั้งอยู่ใน ศีล สมาธิ ปัญญา โดยลำดับยิ่งๆ ขึ้นไปจนกระทั่งถึงได้ ฌาน มรรค ผล โดยอุบายวิธีต่างๆ ด้วยการปลอบโยน กดขี่ ยกย่องตามควรแก่อัธยาศัย ของสัตว์นั้นๆ
พระผู้มีพระภาคเจ้า ฯลฯ ด้วยพระคุณบทว่า "สตฺถา เทวมนุสฺสานํ" เพราะเป็นศาสดาของมนุษย์ เทวดา พรหม ทั้งหลาย ในการที่จะให้พ้นออกไปจากชาติ ชรามรณะ แล้วเข้าถึงพระนิพพาน เสมือนอย่างพ่อค้าเกวียนใหญ่ย่อมนำพวกเกวียนที่เป็นลูกน้องให้ข้ามพ้นจากทางกันดาร เข้าสู่แดนเกษมสำราญได้
พระผู้มีพระภาคเจ้า ฯลฯ ด้วยพระคุณบทว่า "พุทฺโธ" เพราะเป็นผู้รู้แจ้งอริยสั ๔ โดยรอบคอบอย่างถี่ถ้วน แล้วสามารถยังสัตว์ทั้งหลายให้รู้ตาม
พระผู้มีพระภาคเจ้า ฯลฯ ด้วยพระคุณบทว่า ภควา เพราะเป็นผู้มีบุญ ๖ ประการ คือ อิสฺสริย ธมฺม ยสฺส (ยส, หรือ ยสสฺสี) สิริ กาม ปยตฺต อย่างประเสริฐ น่าอัศจรรย์ยิ่ง
ข้อความที่ควรรู้ในบทพระพุทธคุณ
เญยยธรรม หมายความว่า ธรรมที่ควรรู้ เญยยธรรม มี ๕ ประการ คือ
๑. สังขาร ได้แก่ จิต เจตสิก และนิปฝันนรูป
๒. วิการ ได้แก่ วิการรูป ๕
๓. ลักขณะ ได้แก่ ลักขณรูป ๔
๔. นิพพาน ได้แก่ ธรรมชาติที่นอกจากขันธ์ ๕ และบัญญัติ
๕. บัญญัติ ได้แก่ สัททบัญญัติ คือ ชื่อต่างๆ ภาษาต่างๆ อัตถบัญญัติ ได้แก่เนื้อความ คือ คำอธิบายใจความในเรื่องนั้นๆ และรูปร่างสัณฐานของมนุษย์ เทวดา พรหม อบายสัตว์ ต้นไม้ แผ่นดิน ภูเขา แม่น้ำ ป่า เป็นต้น
วิชชา หมายความว่า ความรู้ ในพระสูตรบางแห่งแสดงวิชชา ๓ แต่ในบางแห่งแสดงวิชชา ๘
วิชชา ๓ คือ
๑. ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ได้แก่ ปัญญาที่สามารถระลึกชาติในอดีตได้
๒. ทิพพจักขุญาณ ได้แก่ ปัญญาที่สามารถเห็นสิ่งต่างๆ ในที่ห่างไกลหรือ เล็กที่สุดได้อย่างทะลุปรุโปร่ง มิว่าจะอยู่ในที่แจ้ง หรือ ลี้ลับกำบังไว้อย่างมิดชิดประการใดก็ตาม ย่อมสามารถเห็นได้เป็นอย่างดีเหมือนกับตาของเทวดาและพรหมทั้งหลาย
๓. อาสวักขยญาณ ได้แก่ ปัญญาที่สามารถทำลายกิเลสอาสวะให้หมดไปโดยสิ้นเชิง
วิชชา ๘ คือ
๑. วิปัสสนาญาณ ได้แก่ ปัญญาที่สามารถรู้แจ้ง รูป นาม ทั้งปวงที่มีสภาพเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
๒. อิทธิวิธญาณ ได้แก่ ปัญญาที่สามารถแสดงฤทธิ์ต่างๆ ได้
๓. มโนมยิทธิญาณ ได้แก่ ปัญญาที่สามารถเนรมิตร่างกายอื่นๆ ให้เกิดขึ้นภายในร่างกายของตน แล้วแต่จะต้องการ
๔. ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ได้แก่ ปัญญาที่สามารถระลึกชาติในอดีตได้
๕. เจโตปริยญาณ (ปรจิตฺตวิชานนญาณ) ได้แก่ ปัญญาที่สามารถรู้จิตใจของบุคคลอื่นได้อย่างถี่ถ้วน
๖. ทิพพจักขุญาณ ได้แก่ ปัญญาที่สามารถเห็นสิ่งต่างๆ ในที่ห่างไกลหรือ เด็กที่สุดได้อย่างทะลุปรุโปร่ง มิว่าจะอยู่ในที่แจ้ง หรือ ลี้ลับกำบังไว้อย่างมิดชิดประการใด ๆ ก็ตามที ย่อมสามารถเห็นได้เป็นอย่างดีเหมือนกับตาของเทวดา และพรหมทั้งหลาย
๗. ทิพพโสตญาณ ได้แก่ ปัญญาที่สามารถได้ยินเสียงในที่ห่างไกล หรือเบาที่สุดเหมือนกับหูของเทวดา และพรหมทั้งหลาย
๘. อาสวักขยญาณ ได้แก่ ปัญญาที่สามารถทำลายกิเลสอาสวะให้หมดไปโดยสิ้นเชิง
จรณะ หมายความว่า ความประพฤติ จรณะ มี ๑๕ ประการ คือ
๑. ศรัทธา เชื่อต่อการงานของสัตว์ทั้งหลายว่า เป็นบุญก็มี เป็นบาปก็มี และจะได้รับผลของ บาป บุญ นั้นอย่างแน่แท้ เชื่อในคุณของพระรัตนตรัยว่ามีจริง เชื่อว่าเคยเกิดมาแล้วในภพก่อนๆ
๒. สติ มีการระลึกอยู่ในการงานที่เป็นฝ่ายดี
๓. หิริ มีความละอายในการงานอันเป็นทุจริตทุราชีพ
๔. โอตตัปปะ มีความสะดุ้งกลัวในการงานที่เป็นทุจริตทุราชีพ
๕. วิริยะ มีความขยันในการงานที่เป็นฝ่ายดี
๖ สุตะ เคยฟัง เคยเห็นมามาก
๗. ปัญญา การเฉลียวฉลาดในกิจการทั้งปวง
๘. โภชเนมัตตัญญุตา รู้จักประมาณในการบริโภค
๙. ชาคริยานุโยค ตื่นไวในยามหลับ คือ มีการหลับนอนน้อย
๑๐. ศีล มีศีลสมบูรณ์
๑๑. อินทรียสังวร การสำรวมในทวาร ๖
๑๒. รูปปฐมฌาน ฌานที่มีองค์ฌาน ๕
๑๓. รูปทุติยฌาน ฌานที่มีองค์ฌาน ๓
๑๔. รูปตติยฌาน ฌานที่มีองค์ฌาน ๒
๑๕. รูปจตุตถฌาน ฌานที่มีองค์ฌาน ๒
จตุปาริสุทธิศีล จัดเข้าในจรณะ และ จำแนกวิชชา จรณะ โดยขันธ์ ๓ ในจตุปาริสุทธิศีลทั้ง ๔ ประการนี้ จัดปาฏิโมกขสังวรศีล. และ อาชีวปาริสุทธิศีล โดยคำว่า ศีล จัดอินทริยสังวรศีล โดยคำว่า อินทริยสังวร จัดปัจจัยสันนิสสิตศีล โดยคำว่า โภชเนมัตตัญญุตา วิชชาเป็นปัญญาขันธ์ จรณะเป็นศีลขันธ์ สมาธิขันธ์
คำตักเตือน บุคคลที่มีความประสงค์จะได้มาซึ่งโลกียสมบัติ หรือ โลกุตตรสมบัตินั้น จะต้องประกอบด้วยวิชชาและจรณะทั้ง ๒ ถ้าขาดไปเสียอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วก็จะเป็นผู้ไร้ผล คือ มิอาจได้รับประโยชน์ คือ สมบัตินั้นๆ ได้ ถ้ามีแต่วิชชา คือความรู้ แต่ขาดจรณะ คือ ความประพฤติแล้ว ทางฝ่ายโลกียสมบัติที่ควรจะได้ก็ไม่ได้ที่ได้แล้วก็ไม่ถาวร ฝ่ายโลกุตตรสมบัติ ก็ไม่ถึงฌาน มรรค ผล ถ้ามีแต่จรณะ คือ ความประพฤติ แต่ขาดวิชชาความรู้ ฝ่ายโลกียสมบัติ ก็จะทำให้ทรัพย์สินเงินทองที่มีอยู่หมดสิ้นไป ทั้งการงานต่างๆ ที่ตนกำลังดำเนินอยู่ก็ไม่มีทางก้าวหน้า สำหรับฝ่ายโลกุตตรสมบัตินั้นก็มิอาจที่จะได้มาซึ่ง ฌาน มรรค ผล มีแต่จะทำให้ ตัณหา มานะทิฏฐิ เจริญขึ้น ทั้งจรณะของตนที่กำลังดำเนินอยู่ก็จะตกไปในฝ่ายอัตตกิลมถานุโยคโดยไม่รู้ตัว ด้วยเหตุนี้ ผู้มีความประสงค์จะได้มาซึ่งโลกียสมบัติ หรือ โลกุตตรสมบัติจึงจำเป็นที่จะต้องมีทั้งวิชชาและจรณะ จึงจะได้นำตนให้ถึงจุดหมายตามความปรารถนาโดยสะดวก
อธิบายในบุญ ๖ ประการ
๑. อิสฺสริย เป็นผู้มีอิสสริยะ คือ ความเป็นใหญ่ บุญอิสสริยะนี้มีอยู่ ๘ ประการคือ
ก. อณิมา หายตัวได้อย่างมหัศจรรย์
ข. ลฆิมา เหาะไปได้อย่างรวดเร็ว
ค. มหิมา เนรมิตร่างกายให้ใหญ่ที่สุด จนหาที่เปรียบมิได้
ฆ. ปตฺติ เสด็จไปที่ใด ๆ ได้ตามพุทธประสงค์ โดยไม่มีสิ่งใดมาขัดขวาง
ง. ปากมฺม เนรมิตเป็นรูปร่างสัณฐานต่างๆ ประกอบด้วยสีสรรวรรณะต่างๆ กัน
จ. อีสิตา มีอำนาจบังคับบัญชาตนเองตลอดจนถึงมนุษย์ เทวดา พรหมทั้งหลายได้ทั่วหน้าทุกชั้น
ฉ. วสิตา สามารถเข้าฌาน และทำอภิญญาได้ทันทีในเมื่อต้องการ
ช. ยตฺถกามาวสายิตา สามารถทำธุรกิจต่างๆ ที่กำลังทำอยู่นั้นให้แล้วเสร็จอย่างรวดเร็ว ในเมื่อมีความจำเป็นเกิดขึ้น
๓. ธมฺม ... ได้แก่ โลกุตตรธรรม ๙ คือ มรรค ๔ ที่สามารถประหาณกิเลส ๑๕๐ ให้หมดไปเป็นสมุจเฉทปหาน และผล ๔ นิพพาน ๑
๓. ยสฺส มีเกียรติยศ ชื่อเสียง แผ่ทั่วไปในหมู่มนุษย์ เทวดา พรหม ทั้งหลายที่อยู่ในหมื่นจักรวาลตามคุณชาติ โดยไม่ต้องประกาศโฆษณา ยกย่องตนเอง ดังเช่นคนทั้งหลายที่ได้ทำกันอยู่ในสมัยนี้
๔. สิรี มีผิวพรรณเปล่งปลั่ง รูปร่างงดงาม เป็นสิริมงคลชวนดูไม่มีเบื่อ คือมหาปุริสลักษณะ ๓๒ อนุพยัญชนะ ๘๐
๕. กาม เมื่อประสงค์สิ่งใด ก็สำเร็จในสิ่งนั้นตามความประสงค์ทุกประการ
๖. ปยตฺต ใช้ความเพียรทั้งกลางวันกลางคืน ในอันที่จะให้เวไนยสัตว์ทั้งหลายได้รับประโยชน์ คือ เวลากลางวัน ในระหว่างที่เสด็จโปรดสัตว์และก่อนที่จะทรงกระทำภัตตกิจนั้น ทรงกระทำการอบรมสั่งสอนแก่ผู้ที่มาเฝ้าพอสมควร ภายหลังจากภัตตกิแล้วก็มีพระภิกษุมาเฝ้า ได้ประทานกรรมฐานและโอวาทตามสมควรแก่อัธยาศัยของพระภิกษุนั้น ๆ เมื่อพระภิกษุพากันกลับไปแล้วก็ทรงพักผ่อนชั่วครู่หนึ่ง ต่อไปก็ทรงแล้วทรงแสดง พิจารณาตรวจดูหมู่สัตว์ทั่วโลก ที่ควรจะกระทำการอบรมฝึกฝนได้ ทรงพระธรรมเทศนาแก่ปวงชนที่มาจากทิศต่างๆ หลังจากนั้นก็สรงน้ำและพักผ่อนชั่วขณะหนึ่ง ส่วนในเวลากลางคืนนั้น ตั้งแต่ ๖ โมงเย็นจนถึง ๔ ทุ่ม ซึ่งเป็นปุริมยาม มีพระภิกษุมาเฝ้าทูลขอกรรมฐานบ้าง ทูลถามปัญหาต่างๆ บ้าง ทูลอาราธนาให้ทรงแสดงธรรมบ้าง พระองค์ก็ทรงอนุโลมตามทุกประการ เสร็จแล้วพระภิกษุเหล่านั้นก็พากันกลับ เป็นอันว่าสิ้นปุริมยาม ตั้งแต่ ๔ ทุ่มถึงตี ๒ อันเป็นเวลาเงียงสงัด ย่างเข้าสู่มัชฌิมยาม มีเทวดาและพรหมทั้งหลาย มาเฝ้าจากหมื่นจักรวาล โดยมีการทูลถามปัญหาบ้าง ทูลอาราธนาให้ทรงแสดงธรรมบ้าง พระองค์ก็ทรงอนุโลมตาม เช่นเดียวกันเสร็จแล้วเทวดาและพรหมทั้งหลายก็พากันกลับ เป็นอันว่าสิ้นมัชฌิมยาม ตั้งแต่ตี ๒ จนถึง ๖ โมงเช้า ซึ่งเป็นปัจฉิมยามนั้น พระองค์ก็ทรงแบ่งเวลาออกเป็น ๓ ระยะ คือระยะที่ ๑ ทรงเดินจงกรมเป็นเวลา ๑ ชั่วโมง ๒๐ นาที ระยะที่ ๒ เข้าที่บรรทมเป็นเวลา ๑ ชั่วโมง ๒๐ นาที ระยะที่ ๓ ทรงพิจารณา ตรวจดูหมู่มนุษข์ เทวดา พรหมทั้งหลายว่า จะมีผู้ใดบ้าง ได้เคยสร้างปัญญาบารมีมาแล้วจากภพก่อนๆ ในศาสนาของพระพุทธเจ้าองค์อื่น ๆ ที่สมควรแก่พระองค์จะทรงโปรดให้บรรลุ มรรค ผล ได้
จบพุทธานุสสติ
------///------
การเจริญธัมมานุสสติ
ธัมมานุสสติ หมายความว่า การระลึกถึงคุณของพระธรรมเจ้า มี สวากฺขาโต เป็นต้นอยู่เนืองๆ ชื่อว่า ธัมมานุสสติ ดังแสดงวจนัตถะว่า "ธมมํ อนุสฺสติ =ธมฺมานุสฺสติ" การระลึกถึงคุณพระธรรมเจ้าเนืองๆ ชื่อว่า ธัมมานุสสติ องค์ธรรมได้แก่ สติเจตสิกที่ในมหากุศลจิต ที่มีคุณของพระธรรมเจ้าเป็นอารมณ์
วิธีเจริญธัมมานุสสติ
การเจริญธัมมานุสสติ ผู้เจริญจะใช้ระลึกเป็นภาษาบาลี หรือ ภาษาไทยก็ได้ เป็นภาษาบาลีนั้นมีดังนี้
สวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม, สนฺทิฏฺฐิโก, อกาลิโก, เอหิปสฺสิโก,โอปนยิโก, ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหิ ฯ หรืออีกนัยหนึ่ง ภควโต ธมฺโม สฺวากฺขาโต, ภควโต ธมฺโม สนฺทิฏฺฐิโก, ภควโต ธมฺโม อกาลิโก, ภควโต ธมฺโม เอหิปสฺสิโก, ภควโต ธมฺโม โอปนยิโก, ภควโต ธมฺโม ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหิ ฯ
เป็นภาษาไทยนั้นระลึกดังนี้
สฺวากฺขาโต พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงพระธรรม ๑๐ ประการ มีปีฏกทั้งสาม อรรถกถาบางอย่าง และมรรค ผล นิพพาน ไว้ดีแล้ว โดยทำให้ผู้ฟังสงบระงับดับเสียซึ่งความทุกข์ต่างๆ ซึ่งเนื่องจากกิเลสได้ชั่วระยะหนึ่ง กับทำให้จิตใจได้รับความชุ่มชื่นเบิกบานแจ่มใสขึ้น ระหว่างประพฤติปฏิบัติตามก็มีแต่ความสุขกายสบายใจฝ่ายเดียว หลังจากการประพฤติปฏิบัติแล้วก็ยิ่งได้รับความชุ่มชื่น อิ่มเอิบแห่งจิตใจเป็นทวีคูณ ใกล้ต่อการสิ้นไปแห่งทุกข์ สมความมุ่งหมายของตนที่ได้แสวงหามาเป็นเวลาช้านาน
สนฺทิฏฐิโก พระธรรม ๘ อย่าง มีมรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ นี้ มิใช่เป็นธรรมที่เพียงแต่ได้ยินได้ฟังแล้วจดจำเอาไว้เท่านั้น หากแต่เป็นธรรมที่ควรรู้ควรเห็นเป็นประจักษ์ด้วยตนเอง
อกาลิโก มรรค ๔ มีโสดาปัตติมรรค เป็นต้น นี้ย่อมให้ผลเกิดขึ้นในลำดับของตนโดยไม่มีการรอเวลาแม้แต่เพียงเล็กน้อย
เอหิปสฺสิโก พระธรรม ๘ อย่างมีมรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ นี้ เป็นธรรมที่ควรแก่การเชื้อเชิญชนทั้งหลายให้มาชมได้โดยกล่าวคำว่า ท่านจงมาดูเถิดๆ พระธรรมเหล่านี้มีจริง เหมือนดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ที่กำลังโคจรอยู่
โอปนยิโก พระธรรม ๙ อย่างมีมรรค ๔ ผล ๕ นิพพาน ๑ นี้ เป็นธรรมที่ควรยึดหน่วงให้มาปรากฏแก่ใจ แม้ที่สุดจะถูกไฟใหม้เครื่องนุ่งห่ม หรือ ผมที่อยู่บนศีรษะก็ตามที แต่ก็มิยอมที่จะทำการดับไฟนั้น โดยเหตุว่า ธรรมเหล่านี้เมื่อปรากฏขึ้นแล้วเพียงครั้งเดียว ก็สามารถปิดประตูอบายได้
ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหิ พระธรรม ๑๐ หรือ ๙ นี้ เป็นธรรมที่ผู้มีปัญญา คือ กัลยาณปุถุชน และ อริยบุคคลทั้งหลาย พึงรู้พึงเสวยด้วยตนเองโดยเฉพาะๆ
ข้อความพิเศษในบทพระธรรมคุณ
การที่พระธรรมคุณบทที่ ๖ มีพระปริยัติธรรมรวมอยู่ด้วยนั้น ก็เพราะว่าบุคคลใดสำเร็จการศึกษาพระบาลี อรรถกถา ฎีกา บุคคลนั้นก็ย่อมได้รู้ได้เสวยธรรมรสในพระปริยัติธรรมโดยเฉพาะตนเอง ส่วนผู้ที่ไม่สำเร็จในการศึกษานั้น มิอาจที่จะรู้ ที่จะเสวยธรรมรสในพระปริยัติธรรมนี้ได้ ดังนั้น พระปริยัติธรรมนี้ก็คงเหมือนกันกับมรรผล นิพพาน ที่ได้ชื่อว่า ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหิ
จริงอยู่ อรรถรสของมรรคผล นิพพานนั้น ย่อมได้รู้ ได้เสวยเฉพาะแต่บุคคลที่ได้สำเร็จเป็นอริยะจำพวกเดียว นอกจาก นี้แล้ว ก็มิอาจที่จะรู้จะเสวยได้เช่นระหว่างศิษย์กับอาจารย์ ถ้าศิษย์ได้บรรลุมรรค ผล นิพพาน แต่อาจารย์ยังมิได้บรรลุ เมื่อเป็นเช่นนี้ ศิษย์เท่านั้นที่จะได้รู้ได้เสวยอรรถรสในมรรค ผล นิพพาน สำหรับอาจารย์นั้นมิอาจที่จะรู้จะเสวยอรรถรสเหมือนกับศิษย์ได้ เพราะมรรค ผล นิพพานเป็น ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหิ ธรรม หรือ ในระหว่างลัทธิพุทธเก่ากับลัทธิพุทธใหม่ สมมุติว่าลัทธิพุทธเก่า ไม่ได้บรรลุมรรด ผล นิพพาน เนื่องมาจากความพอใจ แต่ในการบริจาคทานอย่างเดียว ขาดความเชื่อความเลื่อมใสในการปฏิบัติวิปัสสนา ลัทธิพุทธใหม่ได้บรรลุมรรค ผลนิพพาน อันเนื่องมาจาก ความเชื่อความเลื่อมใสในการปฏิบัติวิปัสสนา เช่นนี้ ลัทธิพุทธใหม่เท่านั้นที่จะได้รู้ได้เสวยอรรถรสในมรรค ผล นิพพาน ส่วนลัทธิพุทธเก่ามิอาจที่จะได้รู้ได้เสวยอรรถรสในมรรค ผล นิพพาน นั้นได้ เพราะ มรรค ผล นิพพานเป็น ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหิ ธรรม แต่อย่างไรก็ตาม คำว่า ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหิ นี้ก็เป็นชื่อของพระปริยัติธรรมด้วย แต่เป็นโดยอ้อม สำหรับ มรรค ผลนิพพาน นั้นเป็นชื่อโดยตรง
จบธัมมานุสสติ
---------///---------
การเจริญสังฆานุสสติ
"สังฆานุสสติ" หมายความว่า การระลึกถึงคุณของพระสังฆเจ้ามี สุปฺปฏิปนฺโน เป็นต้นอยู่เนืองๆ ชื่อว่า สังฆานุสสติ ดังแสดงวจนัตถะว่า
"สงฆํ อนุสฺสติ =สงฺฆานุสฺสติ" การระลึกถึงคุณของพระสังฆเจ้าเนืองๆ ชื่อว่า สังฆานุสสติ องค์ธรรมได้แก่ สติเจตสิกที่ในมหากุศลจิต ที่มีคุณของพระสงฆ์เป็นอารมณ์
วิธีเจริญสังฆานุสสติ
การระลึกไปในพระสังฆคุณนั้น จะใช้ระลึกตามภาษาบาลี หรือ ภาษาไทยก็ได้ ตามภาษาบาลีนั้นมีดังนี้
สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงโม, อุชุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ, ญายปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ, สามิจิปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ (ยทิทํ จตฺตาริ ปุริสยุคานิ อฏฺฐปุริสปุคฺคลา) เอส ภควโต สาวกสงฺโฆ , อาหุเนยฺโย, ปาหุเนยฺโย, ทกฺขิเณยฺโย, อญฺชลีกรณีโย, อนุตฺตรํ ปุญญกฺเขตฺตํ โลกสฺส ฯ
หรืออีกนัยหนึ่ง ภควโต สาวกสงฺโฆ สุปฏิปนฺโน, ภควโต สาวกสงฺโฆ อุชุปฏิปนฺโน, ภควโต สาวกสงฺโฆ ญายปฏิปนฺโน, ภควโต สาวกสงฺโฆ สามิจิปฏิปนฺโน , ภควโต สาวกสงฺโฆ อาหุเนยฺโย, ภควโต สาวกสงฺโฆ ปาหุเนยฺโย, ภควโต สาวกสงฺโฆ ทกฺขิเณยฺโย, ภควโต สาวกสงฺโฆ อญฺชลีกรณีโย, ภควโต สาวกสงฺโฆ อนุตฺตรํ ปุญฺญกฺเขตฺตํ โลกสฺส ฯ
ตามภาษาไทยนั้นระลึกดังนี้
สุปฏิปันโน พระอริยสงฆ์สาวก ๘ จำพวกของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น เป็นผู้ปฏิบัติดี สมบูรณ์ด้วยอธิศีลสิกขา อธิจิตตสิกขา อธิปัญญาสิกขา
อุชุปฏิปนฺโน พระอริยสงฆ์สาวก ฯลฯ เป็นผู้ปฏิบัติตรงต่อหนทางที่นำเข้าสู่พระนิพพานโดยส่วนเดียว ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องของโลก ทั้งไม่มีมารยาสาไถยแต่อย่างใดเข้ามาเจือปน
ญายปฏิปันโน พระอริยสงฆ์สาวก ฯลฯ เป็นผู้ปฏิบัติมุ่งต่อพระนิพพานอันเป็นอมตธรรม ไม่มีการปรารถนาอยากได้ภวสมบัติและโภคสมบัติแต่อย่างใดเลย
สามีจิปฏิปันโน พระอริยสงฆ์สาวก ฯถฯ เป็นผู้ปฏิบัติชอบสมควรแก่การเคารพกราบไหว้ของชนทั้งหลายด้วยกาย ใจ
(บุรุษ ๔ คู่ที่เป็นคู่กันตาม มรรค ผล อันใดมีอยู่ บุรุษเหล่านี้เมื่อแยกโดยเฉพาะๆ แล้วก็เป็นอริยบุคคล ๘ ดังนี้)
อาหุเนยโย พระอริยสงฆ์สาวก ๔ คู่ ๘ จำพวกของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น สามารถให้ผลเกิดขึ้นอย่างมหาศาล ดังนั้นจึงเป็นผู้ควรรับอามิสบูชาที่เขานำมาจากที่ไกล
ปาหุเนยโย พระอริยสงฆ์สาวก ๔ คู่ ฯลฯ เป็นแขกที่ประเสริฐสุดของคนทั่วโลก เพราะมีแต่ในสมัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นเท่านั้น ดังนั้น จึงเป็นผู้ที่ควรแก่การต้อนรับด้วยปัจจัย ๔ ที่เขาจัดไว้สำหรับรับแขกที่เป็นฝ่ายโลกียะ
ทักขิเณยโย พระอริยสงฆ์สาวก ๔ คู่ ฯลฯ สามารถให้อานิสงส์ผลเกิดขึ้นตามความประสงค์ของคนทั้งหลายได้ ดังนั้น จึงควรแก่การรับทักษิณาทาน คือ การบริจาคทานของผู้มีความปรารถนาภวสมบัติ โภคสมบัติ ที่เกี่ยวกับตน หรือ คนอื่นในภพหน้า
อัญชลีกรณีโย พระอริยสงฆ์สาวก ๔ คู่ ฯลฯ เป็นผู้ประกอบด้วย ศีลสมาธิ ปัญญา ดังนั้น จึงสมควรแก่การกระทำอัญชลีของมนุษย์ เทวดา พรหมทั้งหลาย
อนุตตะรัง ปุญญักเขตตัง โลกัสสะ พระอริยสงฆ์สาวก ๔ คู่ ฯลฯ เป็นดุจนา ซึ่งเป็นที่หว่านอันประเสริฐแห่งพืชต่าง ๆ คือ บุญกุศล ของมนุษย์ เทวดา พรหมทั้งหลาย เปรียบเหมือนพื้นที่นาชั้นเอกที่ทำให้เมล็ดพืชเจริญงอกงามเป็นอย่างดี แม้ที่สุดจะหว่านลงเพียงเล็กน้อย
ยถาปิ ภทฺทเก เขตฺเต พีชํ อปฺปํปิ โรปิตํ
สมฺมา ธารํ ปเวจฺฉนฺตํ ผลํ โตเสติ กสฺสกํ
ตเถว สีลวนฺเตสุ คุณวนฺเตสุ ตาทิสุ
อปฺปเกปิ กเต กาเร ผลํ โตเสติ ทายกํ.
(ขุ.ธ. ธรรมบทคาถา)
พืชน้อยนิด ที่เขาหว่านลงในนาที่ดี ได้รับหยาดฝนทั่วถึง ย่อมเผล็ดผลทำให้ชาวนาได้ชื่นชมยินดี ฉันใด
สักการะแม้น้อยนิด ที่บุคคลหว่านลงในพระสาวกผู้มีศีล มีคุณธรรม มีจิตมั่นคง ย่อมหลั่งผลให้ทายกได้ยินดี ฉันนั้น ฯ
ข้อความพิเศษในบทพระสังฆคุณ
คำว่า "สาวกสงฺโฆ" ในบทสังฆคุณทั้ง ๔ ดังที่ได้กล่าวแล้วนี้ มิใช่จะเป็นได้ เฉพาะพระภิกษุสงฆ์ฝ่ายเดียว แม้คฤหัสถ์ ชาย หญิง ที่ได้บรรลุ มรรด ผลแล้วก็เป็น สาวกสังโฆ พระสงฆ์สาวกได้เช่นเดียวกัน เพราะพระคุณทั้ง ๙ นี้ เป็นธัมมาธิฏฐานสำหรับพระภิกษุสงฆ์ที่ยังเป็นปุถุชนอยู่ ถ้าท่านเหล่านั้นถึงพร้อมด้วยศีลสมาธิ ปัญญา แล้วก็จัดว่าเป็น สาวกสังโฆ พระสงฆ์สาวกที่ประกอบด้วยคุณทั้งได้ตามสมควร ดังนั้น ในขณะที่ระลึกไปในพระคุณของพระอริยสงฆ์ ๔ คู่ ๘ จำพวกอยู่นั้น ก็ควรน้อมใจระลึกไปในคุณทั้ง ๙ ของพระภิกษุที่ยังเป็นปุถุชนอยู่นั้นด้วย
คุณ ๙ ประการที่เป็นเหตุและเป็นผล
ในบรรดาคุณทั้ง ๙ ประการนี้ คุณที่เป็นสาระหลักสำคัญยิ่งซึ่งเป็นคุณสมบัติภายในเฉพาะองค์พะสงฆ์นั้นก็มีอยู่เพียง ๔ คือ สุปฏิปันโน เป็นต้น จนถึงสามิจิปฏิปันโน เป็นที่สุด ส่วนคุณอีก ๕ นั้นหาใช่เป็นสาระหลักสำคัญยิ่งของพระสงฆ์ไม่เพียงแต่เป็นคุณที่เนื่องมาจากการถึงพร้อมบริบูรณ์ด้วยคุณทั้ง ๔ นั้น หมายความว่าบุคคลใดมีความประพฤติดำรงตั้งมั่นอยู่ในคุณทั้ง ๔ โดยสมบูรณ์อย่างถูกต้องดีแล้วบุคคลนั้นก็ย่อมตั้งอยู่ในคุณอีก ๕ เพื่อประโยชน์แก่เวไนยสัตว์ทั้งหลายทั่วไป ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าคุณทั้ง ๔ ข้างต้นเป็นเหตุ คุณที่เหลือ ๕ เป็นผล
อนึ่ง พุทธศาสนิกชนทั้งหลายพึงทราบว่า บทสวดมนต์ไหว้พระก็ตาม บทสวดมนต์เพื่อความคุ้มครองป้องกันภัยต่างๆ ก็ตาม บทพระพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณทั้ง ๓ ประะเภทนี้แหละเป็นบทที่สำคัญยิ่งกว่าบทอื่นๆ ฉะนั้น เมื่อจะทำการสวดมนต์ไหว้พระ หรือสวดมนต์เพื่อความคุ้มครองป้องกันภัยก็ตาม จึงไม่ควรเว้นจากบททั้ง ๓ ประเภทนี้ แต่ความสำคัญมีอยู่ว่า ผู้สวดมนต์ไหว้พระ ควรรู้ความหมายของบทนั้น ๆ เพื่อจะได้ทำใจให้มีสมาธิ และปีติโสมนัสเกิด อันเป็นติเหตุกกุศล ถ้าไม่รู้ความหมายแล้วจิตใจก็ไม่มีสมาธิและปีติโสมนัสก็ไม่เกิด กุศลนั้นก็จะเป็นทวิเหตุกกุศลไป
เหตุที่พระอริยบุคคล ๘ จำพวกได้ชื่อว่า สุปฏิปันนบุคคล เป็นต้น
ในบรรดาพระอริยบุคคล ๘ จำพวกนั้น พระเสขบุคคล ๗ ได้ชื่วว่า สุปฏิปันโน เป็นผู้ปฏิบัติดี อุชุปฏิปันน เป็นผู้ปฏิบัติตรงต่อหนทางที่นำเข้าสู่พระนิพพาน ญายปฏิปันโน เป็นผู้ปฏิบัติมุ่งต่อพระนิพพาน สามิจิปฏิปันโน เป็นผู้ปฏิบัติชอบสมควรแก่การกราบไหว้นั้น ก็เพราะว่า ท่านเหล่านี้กำลังดำเนินงานการปฏิบัติอยู่ ดังนั้นจึงแสดงวจนัตถะว่า "สุฏฺฐุ ปฏิปชฺชนฺตีติ = สุปฏิปนฺนา" บุคคลเหล่าใดกำลังดำเนินงานการปฏิบัติดี ฉะนั้น บุคคลเหล่านั้นจึงชื่อว่า สุปฏิปันนะ "อุชุ ปฏิปนฺนาติ = อุชุปฏิปนฺนา" บุคคลเหล่าใดกำลังดำเนินงานการปฏิบัติตรงต่อหนทางที่นำเข้าสู่พระนิพพาน ฉะนั้นบุคคล เหล่านั้นจึงชื่อว่า อุชุปฏิปันนะ "ญาเยน ปฏิปนฺนา = ญายปฏิปนฺนา" บุคคลเหล่าใดกำลังดำเนินงานการปฏิบัติมุ่งต่อพระนิพพาน ฉะนั้นบุคคลเหล่านั้นจึงชื่อว่า ญายปฏิปันนะ "สามิจึ กตฺวา ปฏิปนฺนาสามิจิปปฏิปนนา " บุคคลเหล่าใด กำลังดำเนินงานการปฏิบัติชอบสมควรแก่การกราบไหว้ ฉะนั้น บุคคลเหล่านั้นชื่อว่า สามิจิปฏิปันนะ
สำหรับพระอเสขบุคคล คือ พระอรหันต์ทั้งหลายที่ชื่อว่า สุปฏิปันโน เป็นตันนั้น ก็เพราะว่ากิจทั้ง ๔ นี้ ท่านได้ปฏิบัติถึงที่สุดเสร็จสิ้นบริบูรณ์เรียบร้อยแล้ว ดังนั้นจึงแสดงวจนัตถะว่า "สุฏฺฐุ ปฏิปชฺชิตฺถาติ = สุปฏิปนฺนา, อุชุกํ ปฏิปชฺชิตฺถาติ= อุชปฏิปนฺนา, ญาเยน ปฏิปชฺชิตฺถาติ - ญายปฏิปนฺนา, สามิจึ กตฺวา ปฏิปชฺชิตฺถาติ = สามิจิปฏิปนฺนา" บุคคลเหล่าใด เป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรงต่อหนทางที่นำเข้าสู่พระนิพพาน ปฏิบัติมุ่งต่อพระนิพพาน ปฏิบัติชอบสมควรแก่การคารพกราบไหว้ ในกิจทั้ง ๔ นั้นโดยเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว ฉะนั้น บุคคลเหล่านั้นจึงชื่อว่า สุปฏิปันนะ อุชุปฏิปันนะ ญายปฏิปันนะ สามิจิปฏิปันนะ
ความต่างกัน และ เหมือนกันในระหว่างคฤหัสถ์กับบรรพชิต ที่สำเร็จเป็นอริยบุคคล
การได้สำเร็จเป็นพระอริยบุคคลของคฤหัสถ์ทั้งหลายก็ดี การสำเร็จเป็นพระอริยบุคคลของบรรพชิตทั้งหลายก็ดี ในระหว่างบุคคลทั้งสองฝ่ายนี้ คงมีความต่างกันอยู่ที่ความประพฤติ คือดำเนินงานทางอธิศีลสิกขาเท่านั้น สำหรับความประพฤติดำเนินงานทางอธิจิตตสิกขา และอธิปัญญาสิกขานั้นเหมือนกัน กล่าวคือ อธิศีลสิกขาของคฤหัสถ์ก็เป็น ศีล ๕ อธิศีลสิกขาของบรรพชิตเป็นศีล ๒๒๗ หรือ ๘๑๙๐ โกฏิ ๕ ล้าน ๓ หมื่น ๖ พัน สิกขาบท ดังนั้นคุณทั้ง ๙ มี สุปฏิปันโน เป็นต้น จนถึง อนุตตรัง ปุญญัก เขตตัง โลกัสสะ นั้น เป็นคุณของบรรพชิต และคฤหัสถ์ที่เป็นอริยบุคคลได้ทั้งสองฝ่าย
บุคคลที่ไม่ได้ถึงพร้อมด้วยคุณทั้ง ๔ มี สุปฏิปันนะ เป็นตัน แต่ อาหุเนยยะ ปาหุเนยยะ และอัญชลีกรณียะ คุณทั้ง ๓ นี้มีได้
ในข้อนี้บุคคลที่ไม่ได้ถึงพร้อมด้วยคุณทั้ง ๔ มี สุปฏิปันนะ เป็นต้น แต่อาหุเนยยะ ปาหุเนยยะ อัญชลีกรณียะ คุณทั้ง ๓ ย่อมมีได้ ผู้นั้นได้แก่ บิดา มารดาของบุตรธิดาทั้งหลายนั้นเอง แต่ตามหลักธรรมดาแห่งธัมมาธิฏฐานนั้น บุคคลที่ควรได้รับ อาหุนวัตถุ คือ สิ่งของที่เขานำมาจากที่ใกล ปาหุนวัตถุ คือ สิ่งของที่เขาจัดเตรียมไว้สำหรับรับแขกที่เป็นฝ้ายโลกียะ ทักขิณวัตถุ คือ สิ่งของที่เขาบริจาคเป็นทานโดยมีความปรารถนาภวสมบัติ โภคสมบัติ ที่เกี่ยวกับตน หรือ คนอื่นในภพหน้าอัญชลีกัมมะ คือได้รับการกระทำอัญชกรรมเหล่านี้ บุคคลนั้นต้องถึงพร้อมด้วยคุณทั้ง ๔ มีสุปฏิปันนะ เป็นต้นก็จริง แต่สำหรับ บิดา มารดา ของบุตร ธิดา ทั้งหลายนั้น แม้ว่าจะไม่ประกอบด้วยคุณทั้ง ๔ ก็ตามที แต่ก็เป็นบุคคลที่ควรได้รับอาหุนวัตถุปาหุนวัตถุ และอัญชลีกรรมจากบุตร ธิดา ทั้งหลาย ตามปุคคลาธิฎฐาน
ฉะนั้น บุตร ธิดา ควรจะกระทำการบูชาคุณท่านด้วย อาหุนวัตถุ ปาหุนวัตถุและอัญชถีกรรม เพื่อเป็นสิริมงคลพ้นจากทุกข์ภัย อายุยืน ประกอบไปด้วย ลาภ ยศ ถ้าหาก บุตร ธิดา ไม่ได้ทำการบูชาด้วยวัตถุทั้งสองอย่าง และอัญชลีกรรมต่อท่านแล้ว บุตรธิดาเหล่านั้นก็จะได้รับแต่ความอัปมงคล ภัยต่างๆ ที่ไม่ควรจะประสบพบเห็นก็จะต้องประสบพบเห็น ถึงแม้จะมีอายุยืนแต่ก็ไม่มียศ เมื่อมียศแต่อายุก็จะสั้น สำหรับทักขิณวัตถุนั้น บิดา มารดาประเภทนี้ ไม่ควรได้รับ เพราะว่ามิให้สำเร็จตามความประสงค์ของบุตรธิดาได้ ถ้าบิดา มารดา ประกอบด้วยคุณทั้ง ๔ เหมือนหนึ่งนางวิสาขา และอนาถบิณทิกเศษฐีเป็นต้นแล้ว อย่าว่าแต่ของของบุตร ธิดาเลย แม้ทักขิณวัตถุของคนทั่วไปก็ควรได้รับ ทั้งนี้ก็เพราะว่าให้สำเร็จตามความประสงค์ของผู้บริจาคได้ เรื่องนี้สมเด็จพระผู้มีพระกาค ได้ทรงแสดงไว้ในอิติวุตตกพระบาลี เตมียชาดกพระบาลี และ ทักขิณวิภังค์
จบสังฆานุสสติ
------------///-----------
แสดงความคิดเห็น
ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ