จำแนกสมถกรรมฐาน ๔ โดยภูมิ

      ในบรรดากรรมฐาน ๔๐ นี้ 

      - ในมนุษยภูมิได้กรรมฐาน ๔๐ 

      - ในเทวภูมิ ๖ ชั้นได้กรรมฐาน ๒๙ (เว้นอสุก ๑๐ กายคตาสติ ๑ อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑) 

         ที่เป็นดังนี้ก็เพราะเทวดาเป็นส่วนมากเมื่อจุติแล้วไม่มีซากศพเหลืออยู่ ร่งกายสูญหายไปดุจดังดวงประทีปดับไป ฉะนั้น ส่วนร่างกายมี ผม ขน เล็บเป็นต้นก็เป็นสิ่งที่งดงามไม่เป็นปฏิกูล เรื่องอาหารก็ไม่ลำบากเพราะมีอาหารเป็นทิพย์ บริโภคแล้วให้เป็นเลือดเนื้ออย่างเดียว ไม่มีอุจจาระ ปัสสาวะ เสมหะน้ำลายที่เป็นปฏิกูลแต่อย่างใด ด้วยเหตุนี้อสุภ ๑๐ กายคตาสติ ๑ อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑ จึงไม่มีในภูมินี้ สำหรับจาตุมมหาราชิกาเทวดาบางพวกที่อยู่ติดต่อกันกับมนุษย์นั้น เมื่อจุติแล้วคงเป็นซากศพเหลืออยู่ก็มี สำหรับอวัยวะต่างๆ อาหารต่างๆ เป็นปฏิกูลยิ่งกว่ามนุษย์เสียอีก

      - ในรูปภูมิ ๑๕ ได้กรรมฐาน ๒๓ (เว้นอสุภ ๑๐ กายคตาสติ ๑ อานาปานัสสติ ๑ อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑) เพราะพรหมทั้งหลายไม่มีลมหายใจ ไม่มีการบริโภคอาหาร ดังนั้น อานาปานัสสติและอาหาเรปฏิกูลสัญญากรรมฐานจึงไม่มี ส่วนอสุก ๑๐ กายคตาสติ ๑ ไม่มีนั้นก็คงเป็นไปเช่นเดียวกันกับเทวภูมิเบื้องบน ๕ นั้นเอง

      - ในอรูปภูมิ ๔ ชั้นนั้น ชั้นที่ ๑ ได้อรูปกรรมฐาน ๔ เท่านั้น ชั้นที่ ๒ ได้อรูปกรรมฐาน ๓ (เวันอากาสบัญญัติกรรมฐาน) ชั้นที่ ๓ ได้อรูปกรรมฐาน ๒ (เว้นอากาสบัญญัติและอากาสานัญจายตนฌาน) ชั้นที่ ๔ ได้อากิญจัญญายตนฌานกรรมฐานอย่างเดียว ดังแสดงไว้ในอภิธัมมาวตารอรรถกถา(1) ว่า

      ๑. อสุภานิ ทสาหาร-         สญฺญา กายคตาสติ    

         เทเวสุ น ปวตฺตนฺติ(2)     ทฺวาทเสตานิ สพฺพทา

      ๒. ตานิ ทฺวาทส เจตานิ       อานาปานสฺสติปี จ(3)   

         เตรส(4) จ ปเนตานิ       พฺรหฺมโลเก น วิชฺชเร

      ๓. ฐเปตฺวา จตุรารุปฺเป(5)     นตฺถิ กิญจิ อรูปีสุ    

         มนุสฺสโลเก สพฺพานิ       ปวตฺตนฺติ น สํสโย ฯ

(1) ฉ.หน้า ๑๒๓  (2) ฉ. นปฺปวตฺตนฺติ (3) ฉ.อานาปานสตีปิ จ  (4) ฉ. เตรเสว  (5) ฉ. จตุรา รูเป 

แปลความว่า

      ๑. กรรมฐาน ๑๒ คือ อสุภ ๑๐ อาหารปฏิกูลสัญญา ๑ กายคตาสติ ๑ ย่อมเจริญไม่ได้โดยประการใดๆ ในเทวภูมิ ๖ ชั้น

      ๒. กรรมฐาน ๑๓ คือ กรรมฐาน ๑๒ ที่เจริญไม่ได้ในเทวภูมิ และอานาปานัสสติ ๑ ย่อมไม่มีในรูปภูมิ

      ๓. ในอรูปภูมินั้น นอกจากอารุปปกรรมฐาน ๔ แล้ว กรรมฐานอื่นๆ อย่างใดอย่างหนึ่งย่อมไม่มีเลย

         ส่วนในมนุษยภูมินั้น ย่อมเจริญกรรมฐาน ๔๐ ได้ โดยไม่ต้องสงสัยเลย


จำแนกสมถกรรมฐาน ๔๐ โดยปรมัตถ์ และ บัญญัติ

      ในบรรดากรรมฐาน ๔๐ นั้น บัญญัติกรรมฐานมี ๒๘ คือ กสิณ ๑๐ อสุภโกฏฐาสบัญญัติที่เป็นอารมณ์ของกายคตาสติ ๑ อัสสาสปัสสาสบัญญัติที่เป็นอารมณ์ของอานาปานัสสติ ๑ สัตวบัญญัติ ๔ ที่เป็นอารมณ์ของอัปปมัญญา ๔ อากาสบัญญัติ ๑, และ นัตถิภาวบัญญัติที่เป็นอารมณ์ของปฐมารุปปวิญญาณ และตติยารุปปวิญญาณ

      ปรมัตถกรรมฐานมี ๑๒ คือ อนุสสติ ๘ (เว้นกายะ อานาปานะ) อาหาเรปฏิกูลสัญญา  จตุธาตุววัตถาน ๑ อากาสานัญจายตนฌาน และอากิญจัญญายตนฌาน ที่เป็นอารมณ์ของทุติยารุปปวิญญาณ และจตุตถารุปปวิญญาณ ใน ๑๒ อย่างนี้พุทธานุสสติและสังฆานุสสติมี ศีล สมาธิ ปัญญา ที่เป็นปรมัตถอารมณ์ ธัมมานุสสติมีมรรค ๔ ผล ๔ นิพพานและศีล สมาธิ ปัญญา ที่เกิดจากปริยัติที่เป็นปรมัตถอารมณ์ สีลานุสสติมีศีลกุศลจิตตุปบาทเป็นอารมณ์ จาคานุสสติมีทานกุศลจิตตุปบาทเป็นอารมณ์ เทวตานุสสติมีสัปปุริสรัตนะและสัปปุริสธรรม ๗ อย่างเป็นอารมณ์ อุปสมานุสสติมีนิพพานเป็นอารมณ์ มรณานุสสติ มีความดับครั้งสุดท้ายแห่งรูปชีวิต นามชีวิตเป็นอารมณ์ กรรมฐาน ๔ ที่เหลือมีปรมัตถ์เป็นอารมณ์นั้น ความแจ้งชัดอยู่แล้ว

      การพรรณนาเนื้อความพร้อมด้วยแนวทางปฏิบัติในบาลีข้อที่ ๑ ถึงข้อที่ ๑๒ ที่ แสดงถึงสมถกรรมฐาน ๔๐ หมดลงเพียงเท่านี้


---------///----------


[full-post]

ปริจเฉทที่๙,สมถกรรมฐาน,อภิธัมมัตถสังคหะ,ภูมิกรรมฐาน

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.