ทองย้อย แสงสินชัย

#บาลีวันละคำ (3,855)


เอก กับ ปฐม

ปีใหม่ที เรียนบาลีแบบเบาๆ

(๑) “เอก” 

ภาษาไทยอ่านว่า เอก บาลีอ่านว่า เอ-กะ รากศัพท์มาจาก อิ (ธาตุ = ไป, เป็นไป, ตั้งอยู่) + ณฺวุ ปัจจัย, แผลง อิ เป็น เอ, แปลง ณฺวุ เป็น อก (อะ-กะ)

: อิ > เอ + ณฺวุ = เอณฺวุ > เอก (เอ-กะ) แปลตามศัพท์ว่า (1) “ไปตามลำพัง” (คือไม่มีเพื่อนไปด้วย) (2) “ดำรงอยู่ในความเป็นหนึ่งเดียวเพราะไร้ผู้เหมือนกัน”

“เอก” ในบาลีใช้ใน 2 สถานะ คือ :

(1) เป็นสังขยา (คำบอกจำนวน) เช่น “ชายหนึ่งคน” เน้นที่จำนวน 1 คน = มุ่งจะกล่าวว่าชายที่เอ่ยถึงนี้มีเพียง “หนึ่งคน” ไม่ใช่ 2 คน หรือหลายคน แต่มีคนเดียว

(2) เป็นคุณศัพท์ เช่น “ชายคนหนึ่ง” ไม่เน้นที่จำนวน = มุ่งจะกล่าวถึงชายคนใดคนหนึ่งเท่านั้น ไม่ได้เจาะจงว่าเป็นชายคนนั้นหรือชายคนนี้

“เอก” หมายถึง หนึ่ง, หนึ่งเดียว, ดีที่สุด 

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า - 

“เอก, เอก- : (คำวิเศษณ์) หนึ่ง (จำนวน); ชั้นที่ ๑ (ใช้เกี่ยวกับลำดับชั้น หรือขั้นของยศ ตำแหน่ง คุณภาพ หรือวิทยฐานะ สูงกว่า โท) เช่น ร้อยเอก ข้าราชการชั้นเอก ปริญญาเอก; เรียกเครื่องหมายวรรณยุกต์รูปดังนี้ ‘่’ ว่า ไม้เอก; ดีเลิศ เช่น กวีเอก, สำคัญ เช่น ตัวเอก; (คำโบราณ) (คำนาม) เรียกลูกหญิงคนที่ ๗ ว่า ลูกเอก, คู่กับลูกชายคนที่ ๗ ว่า ลูกเจ็ด. (กฎ.). (ป., ส.).”

(๒) “ปฐม” 

ภาษาไทยอ่านว่า ปะ-ถม บาลี (ฐ ฐาน ไม่มีเชิง) อ่านว่า ปะ-ถะ-มะ รากศัพท์มาจาก -

(1) ปฐฺ (ธาตุ = พูด, กล่าว; สวด) + อม (อะ-มะ) ปัจจัย

: ปฐฺ + อม = ปฐม แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งอันเขาพูดขึ้นในเบื้องต้น” (2) “บทอันเขาสวดโดยเป็นบทที่สูงสุด”

(2) ปถฺ (ธาตุ = นับ) + อม (อะ-มะ) ปัจจัย, แปลง ถฺ เป็น ฐฺ 

: ปถฺ + อม = ปถม > ปฐม แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันเขานับในเบื้องต้น” 

“ปฐม” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ -

(1) เป็นปูรณสังขยา (เลขบอกลำดับที่): ที่หนึ่ง, ขึ้นหน้าที่สุด, ก่อน (the first, foremost, former) 

(2) เป็นคุณนาม: ชั้นต้น, เป็นครั้งแรก (at first, for the first time) 

(3) เป็นส่วนแรกของสมาส: ครั้งแรก, เร็วๆ นี้, ใหม่ๆ, เพิ่ง (first, recently, newly, just)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า - 

“ปฐม, ปฐม- : (คำวิเศษณ์) ประถม, ลำดับแรก, ลำดับเบื้องต้น; ชั้นที่ ๑, เรียกเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นที่ ๑ ในตระกูลจุลจอมเกล้าว่า ปฐมจุลจอมเกล้า ปฐมจุลจอมเกล้าวิเศษ. (ป.).”

ขยายความ :

“เอก” กับ “ปฐม” ในบาลีใช้ต่างกันอย่างไร?

“เอก” ใช้นับจำนวน ภาษาไวยากรณ์บาลีเรียกว่า “ปกติสังขยา” แปลว่า “คำที่ใช้นับตามปกติ” คือคำที่ใช้นับจำนวนว่าสิ่งนั้นๆ มีจำนวนเท่าไร ในที่นี้ “เอก” บอกให้รู้ว่ามีจำนวน “หนึ่ง” (1) ไม่ใช่ 2 หรือ 3

“ปฐม” ใช้บอกลำดับ ภาษาไวยากรณ์บาลีเรียกว่า “ปูรณสังขยา” แปลว่า “คำที่ใช้นับจำนวนเต็ม” คือคำที่ใช้บอกว่าสิ่งนั้นๆ อยู่ในลำดับที่เท่าไร ในที่นี้ “ปฐม” บอกให้รู้ว่าอยู่ในลำดับที่ 1 ไม่ใช่ลำดับที่ 2 หรือที่ 3

“ปกติสังขยา” กับ “ปูรณสังขยา” ต่างกันอย่างไร

ตัวอย่าง: 

- เด็กยืนเรียงแถวกัน 10 คน: “10 คน” คือ “ปกติสังขยา” พูดถึงเด็กทั้ง 10 คน

- เด็กคนที่ 10 เตี้ยกว่าเพื่อน: “คนที่ 10” คือ “ปูรณสังขยา” พูดถึงเฉพาะเด็กคนที่ 10 คนเดียว

แบบฝึกหัด:

ภาษาไทยว่า “เด็ก 1 คน” 

ภาษาบาลีว่า “เอโก ทารโก” 

(ทารโก อันว่าเด็ก เอโก หนึ่งคน)

ไม่ใช่ “ปฐโม ทารโก”

ภาษาไทยว่า “เด็กคนที่ 1” 

ภาษาบาลีว่า “ปฐโม ทารโก” 

(ทารโก อันว่าเด็ก ปฐโม คนที่หนึ่ง)

ไม่ใช่ “เอโก ทารโก”

..............

ดูก่อนภราดา!

: อยากรู้ความหมายบทสวดมนต์ก็เรียนบาลีนะจ๊ะ

: ไม่ใช่ไปเกณฑ์ให้พระสวดเป็นภาษาไทย

[full-post]

เอก,ปฐม

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.