มองบวก มองลบ ขอให้จบที่มองถูก

------------------------------------

“มองบวก” เป็นคำที่มีผู้คิดขึ้นใหม่ บางทีก็พูดว่า “คิดบวก” ผมเข้าใจว่ารากของแนวคิดน่าจะมาจากคำฝรั่งที่ว่า positive และคำตรงข้ามคือ “มองลบ” คำฝรั่งคือ negative

พจนานุกรมสอ เสถบุตร แปล positive ว่า ในทางประกอบ, ในทางบวก และแปล negative ว่า ทางลบ, ทางปฏิเสธ

สรุปก็คือเป็นแนวคิดที่อิงคำฝรั่ง จะว่าคิดตามฝรั่งก็คงได้

คำจำพวกเดียวกันและใหม่พอๆ กันคือ “โลกสวย”

คำว่า “โลกสวย” ไม่ทราบว่าคำตรงกันข้ามมีใครบัญญัติหรือยัง ถ้ายัง ผมขอเสนอคำว่า “โลกทราม” เสียงจะได้ล้อกัน

คำเดิมที่เก่ากว่า เราพูดกันว่า “มองโลกในแง่ดี” ตรงกันข้ามคือ “มองโลกในแง่ร้าย”

ในทางจิตวิทยาหรือปรัชญา เข้าใจว่าใช้คำว่า “สุนิยม” คู่กับ “ทุนิยม” อันนี้ไม่แน่ใจว่าผมพูดถูกหรือเปล่า ญาติมิตรที่ถนัดเรื่องพวกนี้ขอความกรุณาตรวจปรู๊ฟให้ด้วยนะครับ

ความหมายของ คิดบวก โลกสวย มองโลกในแง่ดี หรือ สุนิยม ก็คือ ให้มองหรือให้คิดถึงแต่ผลดีที่จะเกิดขึ้นหรือที่จะได้รับจากเรื่องนั้นๆ จากเหตุการณ์นั้นๆ เหตุผลก็คือ มองอย่างนี้ คิดอย่างนี้แล้วสบายใจ ได้ประโยชน์กว่า ดีกว่าที่จะคิดในแง่เสีย-ซึ่งคิดแล้วมีแต่เศร้าหมอง บั่นทอนกำลังใจ ไร้ประโยชน์

ในทางตรงข้าม คิดลบ โลกทราม มองโลกในแง่ร้าย หรือ ทุนิยม ก็คือทรรศนะที่หงุดหงิดกับสังคม มองเห็นแต่เรื่องเสีย พฤติกรรมของผู้คนมีแต่เรื่องเสีย สิ่งแวดล้อมเสีย อะไรๆ เสียไปหมด คุยกันก็มีแต่เรื่องตำหนิติเตียนกัน วิพากษ์วิจารณ์ในทางเสียหาย จะต้องทำลายสิ่งเสียๆ ให้หมดไป จะต้องแก้ไขให้อะไรๆ มันดีขึ้น

น่าสังเกตว่า คนที่คิดแนวนี้มักจะทำเพียงบ่นว่าอาละวาดทางความคิด แต่ไม่ลงมือแก้ไขให้เกิดผลจริงจัง และมีเป็นจำนวนมากที่ตำหนิติเตียนอย่างเดียว แต่ไม่เสนอทางแก้ไขที่สามารถปฏิบัติได้จริง

ประโยคที่นิยมพูดกันคือ - สังคมเราอยู่ยากขึ้นทุกวัน - ก็มีพื้นฐานมาจากแนวคิดนี้ 

แต่ทำอย่างไรสังคมจึงอยู่ง่ายหรืออยู่สุข เราแทบไม่ได้ยินใครเสนอแนะ เสนอแนะบ้างก็พูดกว้างๆ หรือพูดทิ้งๆ วิธีทำ-ทำอย่างไร ไม่รู้ ไม่ใช่หน้าที่ของข้าพเจ้า ยังไม่ต้องพูดถึงคนที่ลงมือปฏิบัติหรือลงมือทำเพื่อให้สังคมอยู่ง่ายอยู่สุข-ลงมือทำด้วยตัวเองจริงๆ

.....................

ว่าตามหลักพระพุทธศาสนา ท่านไม่ได้บอกให้มองบวกหรือมองลบ แต่บอกให้มองถูก

คำบาลีคำหนึ่งที่ควรรู้คือ “ยถาภูตํ ปชานาติ” (ยะถาภูตัง ปะชานาติ) แปลว่า “รู้ชัดตามเป็นจริง” ซึ่งถอดออกมาเป็นคำว่า “มองถูก”

ผมไม่รู้จะอธิบายอย่างไรดี นึกได้อยู่เรื่องหนึ่งคือ มองความตาย

ถ้าคนที่เราเกลียดตาย เราก็ดีใจ เออ ตายเสียได้ก็ดี - นี่คือมองบวก

ถ้าคนที่เรารักตาย เราก็เสียใจ โถ ไม่น่าตายเลย - นี่คือมองลบ

แต่คนที่เราเกลียดนั่นเองก็ต้องมีคนรัก ดังนั้น คนที่เราเกลียดตาย เราดีใจ แต่ก็ต้องมีคนเสียใจ เรามองบวก แต่มีคนมองลบ-ในเรื่องเดียวกันนั่นเอง

คนที่เรารักก็ต้องมีคนเกลียด คนที่เรารักตาย เรามองลบ ก็ต้องมีคนมองบวก ก็ทำนองเดียวกัน

แต่ถ้าเรามองถูก เราก็จะไม่เอาความเกลียดหรือความรักมาเป็นตัวกำหนด มองเฉพาะความเป็นจริง ก็จะเห็นความจริง คือเห็นว่า สรรพสิ่งมีเกิดขึ้น ดำรงอยู่ และแตกสลาย เมื่อเห็นความจริงก็จะไม่ต้องเสียใจหรือดีใจ มีแต่ใจที่เป็นกลางเพราะเข้าใจความจริง 

เมื่อเข้าใจความเป็นจริง เราก็เป็นอิสระ ไม่ตกอยู่ในอำนาจความชอบความชัง ต่อจากนั้นก็จะมองเห็นความจริงต่อไปอีกว่า ควรทำอะไรและไม่ควรทำอะไร

“ควรทำอะไรและไม่ควรทำอะไร” - นี่แหละสำคัญนัก คนที่ตกอยู่ในอำนาจความชอบความชังมักจะมองไม่เห็นหรือมองผิด

อะไรที่ควรทำ แต่ไม่ทำ 

อะไรที่ไม่ควรทำ กลับไปทำเข้า

เกิดจากความชอบความชังทั้งสิ้น

เมื่อใดใจเป็นอิสระจากความชอบความชัง

เมื่อนั้น อะไรที่ควรทำก็จะทำ อะไรที่ไม่ควรทำก็จะไม่ทำ

ไม่ใช่เพราะมองบวกหรือเพราะมองลบ

แต่เพราะมองถูก

วันขึ้นปีใหม่ ขออนุญาตขึ้นธรรมาสน์ให้พรแทนพระสักวันนะครับผม

-----------------------------------

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๑ มกราคม ๒๕๖๖

๑๘:๕๙

[full-post]

มองลบ,มองบวก

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.