การเจริญ อานาปานัสสติ
อานาปานัสสติ หมายความว่า การระลึกอยู่ในลมหายใจเข้าออก ชื่อว่า อานาปานัสสติ องค์ธรรมได้แก่ สติเจตสิกที่ในมหากุศลจิต ๘ ที่มีลมหายใจเข้าออกเป็นอารมณ์
อานาปานัสสติ เมื่อแยกบทแล้วมี ๓ บท คือ อาน + ปาน (หรือ อปาน)+ สติ, อาน = หายใจเข้า ปาน หรือ อปาน = หายใจออก สติ = ความระลึกเมื่อรวมแล้วเป็นอานาปานัสสติ การระลึกอยู่ในลมหายใจเข้าออกดังมีวจนัตถะแสดงว่า
"อานญฺจ ปานญฺจ = อานาปานํ" ลมเข้าข้างในและลมออกข้างนอก ชื่อว่าอานาปานะ
"อานาปาเน ปวตฺตา สติ = อานาปานสสติ" สติที่เกิดขึ้นโดยมีการระลึกอยู่ในลมหายใจเข้า ออก ชื่อว่า อานาปานัสสติ
หายใจเข้าเรียกว่า อานะ หายใจออกเรียกว่า ปานะ หรือ อปานะ นี้ เพราะมีคำว่าสติ อยู่ด้วย เป็นการกล่าวเรียกตามปวัตติกกมนัย นัยแห่งการเป็นอยู่ตามลำดับของลมหายใจที่มีแจ้งไว้ในพระสูตร อรรถกถา ตามปกติธรรมดาของคนย่อมมีการหายใจเข้าก่อน แล้วจึงจะหายใจออกภายหลัง ดังนั้น เมื่อทำการปฏิบัติก็ต้องปฏิบัติกำหนดไปตามอย่างที่เป็นไปอยู่ คือ กำหนดลมหายใจเข้าก่อนแล้วจึงจะกำหนดลมหายใจออกทีหลัง ส่วนอานาปานะที่แสดงไว้ในวินยอรรถกถา และอภิธรรมกถานั้น อานะ เรียกว่า หายใจออก ปานะ หรือ อปานะ เรียกว่า หายใจเข้า เป็นการเรียกตามอุปปัตติกกมนัย นัยแห่งการเกิดขึ้นตามลำดับของลมหายใจในขณะที่แรกคลอดจากครรภ์ เป็นความจริงอย่างนั้น เพราะสัตว์ทั้งหลายที่อยู่ ในครรภ์นั้นมิได้มีการหายใจด้วยตนเอง แต่ได้อาศัยการหายใจจากมารดา ฉะนั้น เมื่อแรกคลอดออกมาทารกจึงได้หายใจออกก่อน แล้วจึงหายใจเข้าทีหลัง ดังมีมาในสมันตปาสาทิกอรรถกถา(ฉ. ปาราชิกกัณฑ์อัฏฐกถา ทุติยภาค หน้า ๑๔) ว่า
สพฺเพสํ(ฉ. -สพฺเพสมฺปิ) คพฺกเสยยกาน มาตุกุจฺฉิโต นิกฺขมนกาเล ปฐมํ อพฺภนฺตรวาโต พหิ นิกฺขมติ, ปจฺฉา พาหิรวาโต สุขุมรชํ(ฉ. -สุขุมํ รชํ) คเหตฺวา อพฺภนฺตร ปวิสนฺโต ตาลุํ อาหจฺจ นิพฺพายติ ฯ
แปลความว่า สัตว์ทั้งหลายซึ่งอยู่ในครรภ์ทั้งหมด ในเวลาคลอดจากครรภ์มารดา ลมภายในย่อมออกข้างนอกก่อน จากนั้นลมภายนอกพัดเอาละอองธุลีที่ละเอียดเข้าไปภายในท้องโดยกระทบกันเพดานแล้วเงียบไป
อานาปานะ นี้ยังมีคำเรียกกันอีกอย่างหนึ่งว่า "อัสสาสปัสสาสะ" คำทั้งสองนี้มีความหมายเป็นอย่างเดียวกัน คือ อัสสาสะ หายใจเข้า ปัสสาสะ หายใจออก แยกบทแล้วเป็น ดังนี้ อา + สาส, อา แปลว่า ก่อน (อาทิมฺหิ) สาส แปลว่า สูดลมหายใจ ป แปลว่า หลัง (ปจฺฉา) สาส แปลว่า ระบายลมหายใจ ดังแสดงวจนัตถะ ว่า
"อาทิมฺหิ สาสนํ = อสฺสาโส" การสูดลมหายใจก่อนเรียกว่า อัสสาสะ
"ปจฺฉา สาสนํ = ปสฺสาโส" การระบายลมหายใจหลังเรียกว่า ปัสสาสะ
วิธีเจริญอานาปานัสสติ
การเจริญอานาปานัสสติมีพระบาลีชี้แนวทางไว้ดังต่อไปนี้
๑. โส สโต ว อสฺสสติ สโต ว ปสฺสสติ ผู้ปฏิบัตินั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติเฉพาะหน้าอารมณ์กรรมฐาน ณ สถานที่เงียบสงัด ย่อมตั้งสติ ทำความรู้สึกตัวแล้วจึงหายใจเข้า และ หายใจออก
๒. ทีฆํ วา อสฺสสนฺโต ทีฆํ อสฺสสามีติ ปชานาติ, ทีฆํ วา ปสฺสสนฺโต ทีฆํ ปสฺสสามีติ ปชานาติ เมื่อหายใจเข้ายาว และ หายใจออกยาวก็รู้ว่าหายใจเข้ายาว และ หายใจออกยาว
๓. รสฺสํ วา อสฺสสนฺโต รสสํ อสฺสสามีติ ปชานาติ, รสฺสํ วา ปสฺสสนฺโต รสฺสํ ปสฺสสามีติ ปชานาติ เมื่อหายใจเข้าสั้น และ หายใจออกสั้นก็รู้ว่าหายใจเข้าสั้น และ หายใจออกสั้น
๔. สพฺพกายปฏิสํเวที อสฺสสฺสสามีติ สิกฺขติ, สพฺพกาย ปฏิสํเวทีปสฺสสิสฺสามีติ สิกฺขติ ย่อมสำเหนียกว่า เราจะหายใจเข้า และ หายใจออก ก็ต้องรู้ โดยแจ้งชัด ต้นลม กลางลม ปลายลม
๕. ปสฺสมฺภยํ กายสงฺขารํ อสฺสสิสฺสามีติ สิกฺขติ, ปสฺสมฺภยํ กายสงฺขารํ ปสฺสสิสฺสามีติ สิกฺขติ ย่อมสำเหนียกว่า เราจะทำลมเข้า และ ลมออกที่หยาบ ให้ละเอียด แล้วจึงหายใจเข้า และ หายใจออก
ในพระบาลี ๕ ข้อนี้ ข้อ ๑ ทรงวางหลักการปฏิบัติอานาปานัสสติกรรมฐาน ข้อ ๒ ถึงข้อ ๕ ทรงเพิ่มเติมข้อปฏิบัติ เพื่ออบรมสมาธิให้กล้ายิ่งขึ้นไปจนถึงอัปปนาสมาธิเกิด
ตามนัยข้อที่หนึ่ง ผู้ปฏิบัติจะต้องตั้งใจคอยกำหนดลมหายใจที่กระทบกับปลายจมูก หรือ ริมฝีปากบน ในขณะที่ตนหายใจเข้าและหายใจออก การกระทบของลมที่ปรากฏชัดนั้นแล้วแต่บุคคล คือ บุคคลใดจมูกยาวลมก็ปรากฏชัดที่โครงจมูก ถ้าจมูกสั้นลมก็ปรากฎชัดที่ริมฝีปากบน การให้กำหนดรู้อยู่ในลมหายใจเข้าออกอยู่เสมอๆ นี้ ก็เพื่อจะมิให้จิตซัดส่ายไปในเรื่องอื่น ๆ เป็นการฝึกฝนอบรมจิตใจให้เกิดสมาธิ เพราะตามธรรมดา จิตใจของคนเรานี้ย่อมฟุ้งซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ หาเวลาสงบนิ่งอยู่ในอารมณ์อันเดียวได้ยาก แต่กระนั้นก็หารู้ตัวไม่ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะมิได้มีการสังเกตดูนั้นเอง หากจะสังเกตดูจริงๆ แล้วจะเห็นว่า ชั่วขณะที่สวดมนด์ไหว้พระอยู่ ใจก็หาได้นิ่งแน่วอยู่ในบทสวดมนต์นั้นไม่ คงว่าไปเปล่าๆ ด้วยความชำนาญเท่านั้น เหตุนั้นเมื่อจะทำการฝึกฝนอบรมจิตใจให้เป็นสมาธิ จึงจำเป็นที่จะต้องตั้งใจคอยกำหนดลมหายใจเข้าออกที่กระทบกับปลายจมูก หรือริมฝีปากบน ดังที่ท่านโบราณาจารย์ได้แสดงไว้ในวิสุทธิมรรคอรรถกถา*(ฉ. วิสุทธิมัคค ปฐมภาค หน้า ๒๖๑) ว่า
ยถา ถมฺเภ นิพนฺเธยฺย วจฺฉํ ทมํ นโร อิธ
พนฺเธยฺเยวํ สกํ จิตฺตํ สติยารมฺมเณ ทฬฺหนฺติ ฯ
แปลความว่า ผู้มีความประสงค์จะฝึกลูกวัวที่พยศ พึงจับผูกที่เสา ฉันใด
บุคคลที่อยู่ภายในขอบเขตแห่งคำสอนของพระพุทธศาสนา มีความประสงค์จะฝึกฝน
อบรมจิตของตน พึงผูกจิตด้วยเชือก คือ สติ ที่เสา คือ อารมณ์กรรมฐานให้มั่น ฉันนั้น
การอบรมจิตใจให้เกิดสมาธิด้วยวิธีเจริญกรรมฐานต่างๆ นั้น อานาปานัสสติกรรมฐาน เป็นกรรมฐานที่สะดวกสบายมากกว่ากรรมฐานอื่นๆ ฉะนั้น แนวทาง ๕ ประการที่ได้ทรงวางไว้เป็นหลักใหญ่ และข้อเพิ่มเติมนั้น พระโยคีบุคคลต้องดำเนินงาน
การปฏิบัติไปตามนัยทั้ง ๔ คือ
๑. คณนานัย การนับลมหายใจเข้าออกเป็นหมวดๆ มี ๖ หมวด ตั้งแต่หมวดปัญจกะ เป็นต้น จนถึงหมวดทสกะ
๒. อนุพันธนานัย การกำหนดรู้ตามลมเข้าและลมออกทุกๆ ขณะโดยไม่พลั้งเผลอทุกระยะที่หายใจเข้าออก
๓. ผุสนานัย ในขณะที่กำหนดรู้ตามคณนานัย และอนุพันธนานัยอยู่นั้นจะต้องกำหนดรู้การกระทบของลมพร้อมไปด้วย หมายความว่า ผุสนานัยนี้เข้าอยู่ในคณนานัย และอนุพันธนานัยทั้งสองนั้นเอง หาได้มีอยู่โดยเฉพาะไม่
๔. ฐปนานัย การกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกโดยอนุพันธนานัย กับผุสนานัยที่เป็นไปอย่างดีอยู่นั้น ครั้นเมื่อปฏิกาคนิมิตปรากฏ จิตก็เปลี่ยนจากการกำหนดรู้การกระทบของลม แล้วเข้าไปตั้งมั่นจดจ่ออยู่ในปฏิภาคนิมิตอย่างเดียว ตลอดจนกระทั่งรูปฌานเกิด นี้แหละเป็นฐปนานัย หมายความว่า การกำหนดรู้โดยฐปนานัยโดยเฉพาะนั้นไม่มี เช่นเดียวกับผุสนานัยนั้นเอง
ในนัยทั้ง ๔ นี้ คณนานัย มี ๒ นัย คือ
๑.) ธัญญมามกคณนานัย การนับลมหายใจเข้าออกด้วยวิธีนับช้าๆ ดุจคนตวงข้าวเปลือก การนับช้าๆ นั้นหมายความว่า ต้องนับแต่ลมหายใจเข้า หรือหายใจออก ที่รู้สึกชัดเจนทางใจเท่านั้น ส่วนลมหายใจที่ไม่รู้สึกชัดเจนทางใจจงทิ้งเสีย ไม่ต้องนับ สำหรับผู้ปฏิบัติก็ต้องมีการหายใจเข้าออกอย่างช้าๆ เพื่อจะได้กำหนดรู้ทันและนับถูก
๒.) โคปาลกคณานานัย การนับลมหายใจเข้าออกด้วยวิธีนับเร็วๆ ดุจคนเลี้ยงโคทำการนับโคที่เบียดกันออกจากคอกที่คับแคบเป็นหมู่ๆ การนับเร็วฯ นั้นหมายความว่า เมื่อทำการนับลมหายใจเข้าออกตามวิธีธัญญมามกคณนานัยอยู่เรื่อยๆนั้น ความรู้สึกชัดเจนทางใจก็มีขึ้นทุกๆ ขณะการหายใจเข้าและหายใจออก เนื่องมาจากมีสมาธิดี ความรู้สึกไม่ชัดเจนก็จะหมดไป การหายใจเข้าออกก็จะเร็วขึ้น การกำหนดนับก็เร็วตามไปด้วย
แนวทางการปฏิบัติอานาปานัสสติกรรมฐานนอกจากนัยทั้ง ๔ ที่ได้กล่าวแล้ว ยังมีอีก ๔ นัย ซึ่งเป็นนัยที่เกี่ยวกับวิปัสสนา คือ
๑. สลฺลกฺขณา หลังจากที่ได้ฌานที่เนื่องมาจากการเจริญอานาปานัสสติแล้วมีการกำหนดพิจารณารูปนามโดยความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ต่อไป เปรียบดังนักศึกษาที่จบการศึกษาชั้นมัธยมบริบูรณ์ ต่อแต่นั้นก็เข้าเตรียมอุดมเพื่อจะเข้ามหาวิทยาลัย
๒. วิวฏฺฏนา การเกิดขึ้นแห่งมรรคจิตเนื่องมาจากสัลลักขณา พร้อมกับการประหาณกิเลส สำเร็จเป็นมรรคบุคคล
๓. ปาริสุทฺธิ การเกิดขึ้นแห่งผลจิต สำเร็จเป็นผลบุคคล
๔. ปฏิปสฺสนา การเกิดขึ้นแห่งปัจจเวกขณญาณ คือ การพิจารณามรรค ผลนิพพาน กิเลส หลังจากสำเร็จเป็นอริยบุคคลแล้ว
การลงมือปฏิบัติอานาปานัสสติกรรมฐาน
พระโยคีบุคคลเข้าไปพักอาศัยในที่งียบสงัด อันสมควรแก่การปฏิบัติด้วยดีแล้ว ครั้งแรกต้องนั่งคู้บัลลังก์ อย่าซ้อนเท้า เป็นหญิงก็พับเพียบ ตั้งกายส่วนบนให้ตรงดำรงสติ เฉพาะหน้ากำหนดลมเข้าออกตามนัยดังต่อไปนี้
ธัญญมามกคณนานัย : -
หายใจเข้านับ ๑ หายใจออกนับ ๒ หายใจออกนับ ๑ หายใจเข้านับ ๒
หายใจเข้านับ ๓ หายใจออกนับ ๔ หายใจออกนับ ๓ หายใจเข้านับ ๔
หายใจเข้านับ ๕ (หมวดปัญจกะ) หายใจออกนับ ๕ หายใจเข้านับ ๖
(หมวดฉักกะ)
หายใจออกนับ ๑ หายใจเข้านับ ๒ หายใจเข้านับ ๑ หายใจออกนับ ๒
หายใจออกนับ ๓ หายใจเข้านับ ๔ หายใจเข้านับ ๓ หายใจออกนับ ๔
หายใจออกนับ ๕ หายใจเข้านับ ๖ หายใจเข้านับ ๕ หายใจออกนับ ๖
หายใจออกนับ ๗ (หมวดสัตตกะ) หายใจเข้านับ ๗ หายใจออกนับ ๘
(หมวดอัฏฐกะ)
หายใจเข้านับ ๑ หายใจออกนับ ๒ หายใจออกนับ ๑ หายใจเข้านับ ๒
หายใจเข้านับ ๓ หายใจออกนับ ๔ หายใจออกนับ ๓ หายใจเข้านับ ๔
หายใจเข้านับ ๕ หายใจออกนับ ๖ หายใจออกนับ ๕ หายใจเข้านับ ๖
หายใจเข้านับ ๗ หายใจออกนับ ๘ หายใจออกนับ ๗ หายใจเข้านับ ๘
หายใจเข้านับ ๙ (หมวดนวกกะ) หายใจออกนับ ๙ หายใจเข้านับ ๑๐
(หมวดทสกะ)
เสร็จแล้วก็เริ่มต้นนับใหม่อีก ตั้งแต่หมวดปัญจกะเป็นต้นจนถึงหมวดทสกะเวียนไปมาอยู่อย่างนี้จนกว่าจะนับลมเข้าออกที่ชัดเจนได้ทุกขณะ มิต้องเว้นลมเข้าออกที่ไม่ชัดเจน ตามลำดับหมวดทั้ง ๖ โดยไม่พลั้งเผลอ
อนึ่งการนับลมเข้าออกในหมวดต่างๆ ที่ได้กล่าวไว้นี้ยกเว้นหมวดปัญจกะเสียแล้ว การนับขึ้นต้นใหม่ว่า "หนึ่ง" ในหมวดต่างๆ บางทีก็นับลมออกว่า "หนึ่ง"ก่อน บางทีก็นับลมเข้าว่า "หนึ่ง" ก่อน ดังนั้น ตามที่แสดงไว้นี้ก็เป็นแต่เพียงตัวอย่างชี้ให้รู้วิธีนับเท่านั้น จะถือให้ตรงตามนี้ทีเดียวหาได้ไม่ ที่เป็นดังนี้ก็เพราะว่าการนับลมเข้าออกตามธัญญมามกคณนานัยนั้น นับเฉพาะแต่ลมเข้า และลมออกที่รู้สึกชัดเจนทางใจอย่างเดียว เว้นลมเข้าออกที่ไม่รู้สึกชัดทางใจเสียนั้นเอง
โคปาลกคณนานัย :-
เข้า ๑ ออก ๒ ออก ๑ เข้า ๒
เข้า ๓ ออก ๔ ออก ๓ เข้า ๔
เข้า ๕ (หมวดปัญจกะ) ออก ๕ เข้า ๖
(หมวดฉักกะ)
ออก ๑ เข้า ๒ เข้า ๑ ออก ๒
ออก ๓ เข้า ๔ เข้า ๓ ออก ๔
ออก ๕ เข้า ๖ เข้า ๕ ออก ๖
ออก ๗ (หมวดสัตตกะ) เข้า ๗ ออก ๘
(หมวดอัฏฐกะ)
เข้า ๑ ออก ๒ ออก ๑ เข้า ๒
เข้า ๓ ออก ๔ ออก ๓ เข้า ๔
เข้า ๕ ออก ๖ ออก ๕ เข้า ๖
เข้า ๗ ออก ๘ ออก ๗ เข้า ๘
เข้า ๙ (หมวดนวกะ) ออก ๙ เข้า ๑๐
(หมวดทสกะ)
การนับลมเข้าออกตามโคปาลกคณนานัยนั้น พระโยคีบุคคลต้องพยายามนับตามลำดับของลมเข้าออก ทั้งให้ถูกตรงตามลำดับเลขในหมวดนั้นๆ เหมือนอย่างที่ได้แสดงไว้นี้ อย่าให้ลักลั่น เพราะการปฏิบัติที่ได้ผ่านธัญญมามกคณนานัย มาเป็นอย่างดีแล้วนั้น สติ สมาธิย่อมดีขึ้น การหายใจเข้าออกก็เร็ว โดยเหตุนี้จึงต้องพยายามนับให้ถูกตามลำดับของลม และให้ถูกต้องตามลำดับเลข การนับก็อย่านับด้วยปาก ต้องกำหนดนับด้วยใจ
อนุพันธนานัยที่อยู่ในขั้นผุสนา :-
เมื่อได้กำหนดนับตามโคปาลกคณนานัยเรื่อยมาจนชัดเจนดีแล้ว ต่อไปก็หยุดนับกลับตั้งใจไว้อยู่ที่ปลายจมูก ทำการกำหนดรู้ตามลมเข้าออกทุกๆ ขณะอย่างนี้ คืออนุพันธนานัยที่อยู่ในขั้นผุสนา ที่กล่าวว่าการนับตามโคปาลกคณนานัยได้ชัดเจนดีนั้นคือ มีความรู้สึกชัดเจนทางใจทุกขณะตามลำดับของลมเข้าออก และการนับตัวเลบในหมวดหนึ่งๆ ก็ไม่ผิดพลาค เป็นไปด้วยดีทั้งสองประการ
อนึ่งการปฏิบัติที่เข้าถึงอนุพันธนานัยนี้ พระโยคีบุคคลต้องประกอบตามหลักของข้อ ๒ ถึงข้อ ที่พระพุทธองค์ทรงวางไว้ดังที่ได้กล่าวมาแล้วด้วย ตามข้อ ๒ และข้อ ๓ นั้น คือ เมื่อกำหนดรู้ตามลมเข้า และ ลมออกอยู่ทุกๆ ขณะนั้น ถ้าลมเข้าลมออกยาว ก็รู้ว่าหายใจเข้ายาว และ หายใจออกยาว ถ้าลมเข้าออกสั้น ก็รู้ว่าหายใจเข้าสั้น และ หายใจออกสั้น ธรรมดาคนเรามีการหายใจเข้าออกไม่เหมือนกัน บางคนก็หายใจเข้าออกยาว คล้ายๆ กับลมหายใจเข้าออกของงู วัว ช้าง บางคนก็หายใจเข้าออกสั้นคล้ายๆ กับลมหายใจเข้าออกของสุนัข แมว นก แม้กระนั้นในคนๆ เดียวกันก็มีได้ทั้ง ๒ อย่าง คือ คนที่มีลมหายใจเข้าออกยาว ครั้นเหนื่อยหรือไม่สบายก็มีการหายใจเข้าออกสั้น และคนที่มีลมหายใจเข้าออกสั้น ขณะที่กำลังคิดเรื่องต่างๆ หรือกำลังอ่านหนังสือเพลินอยู่ ในขณะนั้นก็มีการหายใจเข้าออกยาว
ตามหลักข้อ ๔ นั้น เมื่อกำหนดรู้ลมเข้าออก ยาว สั้น ได้ชัดเจนดีแล้ว จากนั้นก็ต้องกำหนดรู้ตัน กลาง ปลาย ของสมตามข้อ ๔ นี้อีกด้วย คือ
หายใจเข้า :- ปลายจมูกต้นลม หัวใจกลางลม สะดือปลายลม
หายใจออก :- สะดือต้นลม หัวใจกลางลม ปลายจมูกปลายลม
การกำหนดรู้ต้น กลาง ปลาย ของลมนี้ พระโยคีบุคคลต้องตั้งจิตไว้ที่ปลายจมูก อันเป็นที่กระทบของลมเข้าและลมออกเท่านั้น อย่าได้ส่งใจวิ่งไปตามลมตามหลักข้อที่ ๕ ขณะที่กำลังปฏิบัติตามหลักข้อที่ ๒-๓-๕ อยู่นั้น เวลานั้นลมหายใจเข้าออกก็จะค่อยๆ ละเอียดขึ้นๆ สำหรับบางคนก็ยังคงมีความรู้สึกติดต่ออยู่ได้ไม่ขาด เนื่องจากสติ สมาธิ ปัญญา ของผู้นั้นมีกำลังดี ส่วนบางคนที่สติสมาธิ ปัญญาอ่อน ความรู้สึกอาจหายไป ถึงกระนั้นก็จงตั้งสติไว้ให้มั่นอยู่ที่ปลายจมูกไม่ช้าความรู้สึกก็จะกลับมีมาอย่างเดิม อย่าวิตกกังวล และ ทำลมหายใจให้หยาบเข้าต้องยังการปฏิบัติให้ดำเนินไปตามหลักข้อที่ ที่พระพุทธองค์ทรงวางไว้ว่า จะต้องทำลมเข้า และลมออกที่หยาบให้ละเอียด แล้วจึงจะหายใจเข้า และ หายใจออก เพราะความรู้สึกที่เกิดขึ้นโดยอาศัยลมหายใจเข้าออกอย่างหยาบนั้น มิใช่เป็นด้วยอำนาจของสติ สมาธิ ปัญญา แต่ประการใด หากแต่เป็นไปด้วยอำนาจของอารมณ์ คือ ลมหายใจหยาบที่ตนพยายามทำให้เกิดขึ้นต่างหาก ดังนั้น ผู้ที่มีความรู้สึกในลมหายใจเข้าออกที่ละเอียดแล้วนั้นทรงห้ามมิให้กลั้นลมหายใจไว้นึ่งลมหายใจเข้าออกนี้เกิดจากจิต เรียกว่า จิตตชรูปสามัญ ผู้ที่ไม่มีลมหายใจนั้นก็มีแต่บุคคล ๘ จำพวกเท่านั้น นอกนั้นไม่ว่าบุคคลใดๆ ต้องมีลมหายใจด้วยกันทั้งสิ้น ผู้ที่ไม่มีการหายใจ ๘ จำพวกนั้น คือ ๑. ทารกที่อยู่ในครรภ์ ๒. คนดำน้ำ ๓. คนสลบ ๔. คนตาย ๕. ผู้เข้าปัญจมฌาน ๖. รูปาวจรพรหม ๗. อรูปาวจรพรหม ๘. ผู้ที่เข้านิโรธสมาบัติ
สรุปความในข้อ ๕ นี้ว่า ผู้ที่ไม่มีความรู้สึกในลมหายใจที่ละเอียด ก็ทรงห้ามมิให้ทำลมหยาบให้เกิดขึ้น ส่วนผู้ที่มีความรู้สึกอยู่ในลมหายใจที่ละเอียดอยู่แล้ว กีทรงห้ามมิให้กลั้นลมหายใจไว้ และทรงสอนให้มีสติตั้งไว้อยู่ที่ปลายจมูกซึ่งเป็นที่เข้าออกของลมแต่ประการเดียว การพยายามดังนี้แหละเรียกว่า ปสฺสมฺภยํ กายสงฺขารํ อสฺสสิสฺสามิ ปสฺสสิสฺสามีติ สิกฺขติ
คำแนะนำของอาจารย์บางท่าน และการวินิจฉัยในข้อแนะนำนี้ :-
ในขณะที่ทำการกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกตามแนวทาง ๕ ประการ ตามที่พุทธองค์ทรงวางไว้ ไปตามนัยทั้ง ๔ อยู่นั้น อาจารย์บางท่านได้ให้คำแนะนำเพิ่มเติมว่า ถ้ามี กามวิตก พยาปาทวิตก วิหิงสาวิตก อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นก็ดี หรือถิ่นมิทธนิวรณ์ เกิดขึ้นก็ดี พระโยคีบุคคลพึงหายใจเข้าออกให้แรงและถี่ พร้อมกับกำหนดรู้ตามลมนั้นด้วย เพื่อเป็นการขจัดวิตกต่างๆ หรือ ถีนมิทธนิวรณ์ให้สิ้นไป เมื่อสิ่งเหล่านี้หมดไปแล้วจึงหยุดทำเช่นนี้
ข้อนี้วินิจฉัยว่า การปฏิบัติอย่างนี้มิได้อยู่ในหลักเกณฑ์ ทั้งมิใช่เป็นข้อปฏิบัติที่ทำให้สมาธิแก่กล้าจนถึงได้ฌานแต่อย่างใด เมื่อมีวิตกต่างๆ หรือ ถีนมิทธนิวรณ์เกิดขึ้นก็ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติดังนี้ทุกครั้งไป เพียงแต่อาศัยใช้บ้างเป็นบางครั้งเท่านั้นถ้าวิตกต่างๆ หรือถีนมิทธนิวรณ์เกิดมากนัก ก็ควรตั้งสติไว้ให้มั่นที่ปลายจมูก เมื่อสติแก่กล้า คือ มีการกำหนดรู้อยู่ไม่ขาดระยะ และ สมาธิกับวิริยะก็มีกำลังเสมอกันดีแล้ววิตกต่างๆ หรือ ถึนมิทธะก็จะหายไปเอง
อาการพิเศษที่เกิดขึ้นในขั้นอนุพันธนานัย :-
พระโยคีบุคคล ทำการปฏิบัติได้เป็นอย่างดีเรื่อยๆ มา จนเข้าขั้นอนุพันธนานัยนั้น วิสุทธิมรรคอรรถกถา*(ฉ. วิสุทธิมัคค ปฐมภาค หน้า ๒๗๔) กล่าวว่าอาจมีอาการพิเศษเกิดขึ้นดังนี้
กสฺสจิ ปน คณนาวเสน(ฉ. -คณนาวเสเนว) มนสิการโต(ฉ. -มนสิการกาลโต) ปภูติ อนุกฺกมโต โอฬาริกอสฺสาสปสฺสาสนิโรธวเสน กายทรเธ*(ฉ. -กายทรเถ) วูปสนฺเต กาโยปี จิฺตตํ(ฉ. -จิตตมฺปี) ลหุกํ โหติ, สรีรํ อากาเส ลงฺฆนาการปตฺตํ วิย(ฉ. -ลงฺฆนาการปฺปตฺตํ วิย) โหติ ฯ
แปลความว่า เมื่อความกระวนกระวายทางกายสงบแล้ว ด้วยสามารถดับลมหายใจเข้าออกอันหยาบโดยลำดับ จำเดิมแต่การพิจารณาตามคณนานัยเป็นต้นมา ทั้งกายทั้งจิตย่อมเป็นธรรมชาติเบา ร่างกายมีอาการลอยขึ้นดังจะปลิวไปในกลางหาวย่อมมีแก่พระโยคีบางรูป
อนุพันธนานัยที่เข้าถึงขั้นฐปนา :-
การเจริญอานาปานัสสติกรรมฐาน มีนิมิต ๓ อย่างคือ บริกรรมนิมิต อุคคหนิมิต ปฏิกาคนิมิต ในนิมิตทั้ง ๓ นี้ ลมหายใจเข้าออกเป็นบริกรรมนิมิต ลมหายใจเข้าออกปรากฏ ดุจสายน้ำ เปลวควัน ปุยสำลี ไม้ค้ำ พวงดอกไม้ ดอกบัว ล้อรถลมต้าน เหล่านี้เป็นอุคคหนิมิต ลมหายใจเข้าออกดุจดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ พวงแก้วมณี พวงแก้วมุกดา เหล่านี้เป็นปฏิภาคนิมิต การกำหนดรู้ตามลมหายใจเข้าออกของพระโยคีที่ตั้งสติไว้ที่ปลายจมูกนั้น ครั้นปฏิภาคนิมิตปรากฎแล้วก็เปลี่ยนใจมาตั้งใจที่ในปฏิภาคนิมิต นี้คือ อนุพันธนานัยที่เข้าถึงฐปนา
การตั้งใจกำหนดลมหายใจเข้าออกในขณะที่มีบริกรรมนิมิต และอุคคหนิมิตอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นอารมณ์อยู่ สมาธินั้นเรียกว่า บริกรรมภาวนาสมาธิ การตั้งใจกำหนดลมหายใจเข้าออกที่มีปฏิภาคนิมิตเป็นอารมณ์ในระหว่างที่ยังไม่เข้าถึงรูปฌานสมาธินั้นเรียกว่า อุปจารภาวนาสมาธิ การตั้งใจกำหนดลมหายใจเข้าออกที่มีปฏิภาคนิมิตเป็นอารมณ์ที่เข้าถึงรูปฌานแล้ว สมาธินั้นเรียกว่า อัปปนาภาวนาสมาธิ ในสมาธิ ๓ อย่างนี้ อุปจารภาวนาสมาธิ เป็นสมาธิที่อยู่ในชั้นมหากุศล หากแต่มีปฏิภาคนิมิตเป็นอารมณ์ ทั้งนิวรณ์ต่างๆ ก็สงบเงียบ ดังนั้นผู้ที่เข้าถึงขั้นอุปจารภาวนาสมาธินี้จึงเรียกว่าได้อุปจารฌาน สำหรับอัปปนาภาวนาสมาธินั้น เป็นสมาธิที่อยู่ในชั้นมหัคคตกุศล มีปฏิภาคนิมิตเป็นอารมณ์ด้วยนิวรณ์ต่างๆ ก็ถูกประหาณเป็นวิกขัมภนปหานด้วย ดังนั้นผู้ที่เข้าถึงขั้นอัปปนาภาวนาสมาธินี้ จึงเรียกว่า ได้อัปปนาฌาน การปฏิบัติเป็นพิเศษ เพื่อรักษาปฏิภาคนิมิต ในการที่จะให้ได้รูปณานอนุพันธนานัย ที่เข้าถึงขั้นฐปนานี้ พระโยดีบุคคลจะต้องรักษาปฏิภาคนิมิตด้วยการปฏิบัติเป็นพิเศษ เพื่อจะให้ถึงซึ่งรูปฌาน การปฏิบัติเป็นพิเศษนั้น คือ เว้นจากอสัปปายะ แล้วถือเอาสัปปายะ ดังที่ได้อธิบายมาแล้ว และอัปปนาโกสัลละ ๑๐ คือ
๑. ทำความสะอาดเครื่องนุ่งห่ม เครื่องใช้สอย ที่อยู่ และชำระกายให้สะอาด
๒. ต้องเข้าใจในการกำหนดลมหายใจ
๓. ต้องข่มจิตในคราวที่จิตมีความพยายามมาก
๔. ต้องยกจิตในคราวที่จิตง่วงเหงา เกียจคร้านในการเจริญภาวนา
๕. ต้องยังจิตใจที่เที่ยวแห้งให้เกิดปีติโสมนัส
๖. ต้องวางเฉยต่อจิตที่กำลังดำเนินงานสม่ำเสมออยู่ในอารมณ์กรรมฐาน
๗. เว้นจากบุคคลที่ไม่มีสมาธิ
๘. คบหาแต่บุคคลที่มีสมาธิ
๙. ต้องอบรมอินทรีย์ ๕ ให้มีกำลังเสมอกัน
๑๐. มีจิตน้อมอยู่ที่จะได้อัปปนาฌาน
พระโยคีบุคคลใด สามารถปฏิบัติได้ตามนัยนี้ ปฏิภาคนิมิตที่ปรากฎแล้วก็ไม่มีการเสื่อมหายไปจากใจ และจะสำเร็จรูปฌานทั้ง ได้โดยลำดับ ทั้งนี้ก็เพราะว่าอนุพันธนานัยที่เข้าถึงขั้นฐปนานี้เป็นเหตุสำคัญที่จะให้ได้อุปจารณานและอัปปนาฌาน
อานิสงส์ของการเจริญอานาปานัสสติ
ผู้เจริญอานาปานัสสติกรรมฐานนี้ มิใช่เพียงแต่ได้รูปฌานอย่างเดียว หากยังเป็นบาทของมรรค ผล อีกด้วย และผู้เจริญก็สามารถป้องกันมิให้มิจฉาวิตกต่างๆ เกิดขึ้นแก่ตนได้ นอกจากนี้ ท่านที่ได้สำเร็จอรหัตตผลโดยอาศัยการเจริญอานาปานัสสติกรรมฐานเป็นบาท ย่อมกำหนดรู้ในอายุสังขารของตนว่าจะอยู่ได้เท่าใด และ สามารถรู้กาลเวลาที่จะปรินิพพานด้วย อันลมหายใจเข้าออกนี้มีที่สุด ๓ ประการ คือ
๑. ลมหายใจภวจริมกะ หมายถึงว่า กามบุคคลเมื่อได้ไปเกิดในรูปภพอรูปภพ ลมหายใจก็เป็นที่สุดคือไม่มีการหายใจ นี้อย่างหนึ่ง
๒. ลมหายใจฌานจริมกะ หมายถึงว่า กามบุคคลที่ได้ฌาน เมื่อเข้ารูปปัญจมฌานหรือ อรูปฌาน ลมหายใจก็เป็นที่สุด คือ ไม่มีการหายใจ นี้อย่างหนึ่ง
๓. ลมหายใจจุติจริมกะ หมายถึงว่า ลมหายใจที่เกิดขึ้นพร้อมกันกับอุปปาทักขณะของจิตดวงที่ ๑๗ ที่นับถอยหลังจากจุติจิตขึ้นไปนั้น ดับลงพร้อมกับจุติจิตลมหายใจนี้ก็เป็นที่สุด คือ ไม่มีการหายใจ นี้อย่างหนึ่ง
พระอรหันตบุคคลที่รู้กาลเวลาในขณะที่จักปรินิพพานได้ ก็เพราะอาศัยลมหายใจ จุติจริมกะนี้เอง ดังปรากฏมีเรื่องเล่าไว้ใน วิสุทธิมรรคอรรถกถาว่า ยังมีพระเถระ ๒ พี่น้อง อาศัยอยู่ในจิตตลบรรพตวิหารในลังกาทวีป องค์หนึ่งสวดปาฏิโมกข์ในวันเพ็ญอุโบสถ เสร็จแล้วจึงกลับไปสู่ที่พักของท่าน พร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์แวดล้อมอยู่ ครั้นถึงแล้วจึงยืนอยู่ ณ ที่จงกรม แลดูรัศมีพระจันทร์ตรวจดูอายุสังขารของตนกล่าวกับพระภิกสงฆ์ว่า พวกภิกษุปรินิพพานกันอย่างไรที่พวกท่านเคยเห็น บรรดาพระภิกษุ เหล่านั้น บางพวกก็ตอบว่า ท่านที่นั่งปรินิพพานพวกข้าพเจ้าก็เคยเห็น บางพวกตอบว่า ท่านที่คู้บัลลังก์นั่งบนอากาศปรินิพพาน พวกข้าพเข้าก็เคยเห็น พระเถระจึงกล่าวว่า บัดนี้ เราจะแสดงผู้ที่กำลังเดินก็ปรินิพพานได้แก่พวกท่าน แต่นั้นท่านก็ขีดเป็นเส้นขวางขึ้นไว้ในที่จงกรม แล้วพูดว่าเราจักเดินจากที่สุดจงกรมข้างนี้ ถึงที่สุดจงกรมข้างโน้น แล้วเดินกลับมาอีกพอถึงรอยเส้นขีดไว้นี้จักปรนิพพาน กล่าวเสร็จก็ขึ้นสู่ที่จงกรม เดินไปสู่ปลายสุดข้างโน้น แล้วเดินกลับมาปรินิพพาน พอดีกับขณะที่เท้าข้างหนึ่งเหยียบลงบนรอยเส้นที่ขีดไว้
อธิบายในอนุสสติ ที่มีคำว่า "อนุ" และ ไม่มีคำว่า "อนุ" อยู่ด้วย
ตั้งแต่พุทธานุสสติจนถึงมรณานสสตินั้นมีคำว่า "อนุ" ประกอบอยู่ด้วย แต่ในกายคตาสติกับอานาปานัสสติ ๒ อย่างนี้ ไม่มีคำว่า "อนุ" ประกอบที่เป็นดังนี้ เพราะ พุทธานุสสติจนถึงมรณานุสสติเหล่านี้ อารมณ์เป็นปรมัตถ์ ส่วนกายคตาสติกับอานาปานัสสติ อารมณ์เป็นบัญญัติ ธรรมดากรรมฐานที่มีอารมณ์เป็นปรมัตถ์ย่อมมีความละเอียดลึกซึ้งมากกว่ากรรมฐานที่มีอารมณ์เป็นบัญญัติ ทั้งนิมิตที่จะปรากฏขึ้นก็มีได้ยาก ฉะนั้น ผู้ที่พิจารณากรรมฐานที่มีอารมณ์เป็นปรมัตถ์นี้จะต้องพยายามพิจารณาอยู่เสมอ ๆ ให้ติดต่อกัน นิมิตนั้นๆ จึงจะปรากฎขึ้นได้
ส่วนกายคตาสติ และ อานาปานัสสติกรรมฐาน ที่มีอารมณ์เป็นบัญญัตินี้มีความละเอียดลึกซึ้งไม่มากเท่าใดนัก เพราะกายคตาสติมีอารมณ์เป็นโกฏฐาสบัญญัติคือ ส่วนต่างๆ ที่มีอยู่ในร่างกายมี ผม ขน เป็นต้น และอานาปานัสสติก็มีอารมณ์เป็นสมุหบัญญัติ คือ รวมวาโยธาตุที่เข้าออกในร่างกาย นิมิตที่ปรากฏขึ้นนั้นปรากฎได้ไม่ยาก การพิจารณากรรมฐานทั้งสองอย่างนี้ ใช้ความพยายามในการพิจารณาต่างกับกรรมฐานที่มีอารมณ์เป็นปรมัตถ์ คำว่า 'อนุ' แปลว่า บ่อยๆ หรือ เสมอๆ หรือติดต่อกัน ฉะนั้น คำว่า "อนุสสติ" จึงแปลว่า ระลึกถึงบ่อยๆ ระลึกถึงเสมอๆ หรือระลึกถึงติดต่อกันนั้นเอง ด้วยเหตุนี้ ในพุทธานุสสติจนถึงมรณานุสสติ จึงมีคำว่า "อนุ" ประกอบอยู่ด้วย ส่วนในกายคตาสติและอานาปานัสสติไม่มีคำว่า "อนุ" ประกอบ
จบอานาปานัสสติ
จบอนุสติ ๑๐
--------///--------
[full-post]
แสดงความคิดเห็น
ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ