อธิบายในบาลีข้อที่ ๑๐  ที่แสดงถึงอาหาเรปฏิกูลสัญญา พร้อมด้วยแนวทางปฏิบัติ


      อาหาเรปฏิกูลสัญญา หมายความว่า การพิจารณาจนเกิดความรู้สึกยึดโดยความเป็นของน่าเกลียดในอาหารนั้น ชื่อว่า อาหาเรปฏิกูลสัญญา องค์ธรรมได้แก่สัญญาเจตสิกที่ในมหากุศล มหากริยา


วิธีพิจารณาให้ปฏิกูลสัญญาเกิดในการบริโภคอาหาร ๑๐ ประการ

            คมนา เอสนา โภคา        อาสยา จ นิธานโต

            อปกฺกา จ ปกฺกา ผลา      นิสฺสนฺทโต จ มกฺขนา

            เอวํ ทสหากาเรหิ           อิกเขยฺย ปฏิกูลตา ฯ

      แปลความว่า ผู่เจริญพึงพิจารณาเห็นเป็นของน่าเกลียดในการบริโภค โดยอาการทั้ง ๑๐ มีดังนี้ 

      ๑. โดยการไปสู่สถานที่ที่มีอาหาร 

      ๒. โดยการแสวงหา 

      ๓. โดยการบริโภค 

      ๔. โดยที่อยู่มี ดี เสมหะ หนอง เลือด 

      ๕. โดยกระเพาะซึ่งเป็นที่หมักหมมรวมกัน แห่ง อาหารใหม่ 

      ๖. โดยยังไม่ย่อย 

      ๗. โดยย่อยแล้ว 

      ๘. โดยผลที่สำเร็จ 

      ๙. โดยการหลั่งไหล 

      ๑๐. โดยเปื้อน

อธิบาย

      ๑. คมนา พิจารณาความเป็นปฏิกูล โดยการไปสู่สถานที่ที่มีอาหาร ว่าแม้จะมีการงานที่เกี่ยวกับคันถธุระและวิปัสสนาธุระ อยู่ในที่ที่ปราศจากคนยัดเยียดสะอาด ดี เรียบร้อย บริบูรณ์ด้วยน้ำท่าร่มเงาเยือกเย็น สุขสบายเงียบสงัดน่าพึงพอใจอย่างใรก็ตาม แต่พอถึงรุ่งรุณ ก็ต้องจัดการนุ่งห่มครองจีวร บ่ายหน้ามุ่งตรงต่อหมู่บ้านเพื่อหาอาหารเที่ยวไปในสถานที่ที่ไม่สงบและไม่เรียบร้อย ได้รับความลำบากต่างๆมีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น ในสิ่งที่ไม่ดีไม่งาม กรำแดดกรำฝน เบียดเบียนไปด้วยฝูงชนทั้งหลายอย่างน่าเบื่อ ถ้าเป็นคฤหัสถ์ก็ต้องไปทำงาน หรือ ประกอบการค้าขายเพื่อจะได้เงินมาเป็นค่าครองชีพ ดังนั้น การบริโภคอาหารนี้เป็นสิ่งที่น่าเกลียดลำบากยุ่งยากมากมิได้เว้นแต่ละวัน

      ๒. เอสนา พิจารณาความเป็นปฏิกูล โดยการแสวงหา ว่า เมื่อถึงหมู่บ้านแล้วก็ต้องแวะไปที่บ้านนั้นบ้าง บ้านนี้บ้าง จากถนนสายนี้ไปยังถนนสายอื่น เพื่อหาอาหารให้ได้พอเพียง บางพวกให้ บางพวกก็มิได้ให้ บางพวกก็ให้ของค้างแต่วานนี้บ้าง บูดแล้วบ้าง เก่าบ้าง ฝ่ายพวกที่มิได้ให้นั้น น้อยพวกนักที่จะกล่าวว่า โปรดสัตว์ข้างหน้าเถิดเจ้าข้า (อติจฺฉถ ภนฺเต) บางพวกก็ทำเป็นไม่เห็น หรือมิฉะนั้น ก็แสร้งทำเป็นพูดกับคนอื่นเสีย บางพวกก็ซ้ำด่าด้วยคำหยาบ จำต้องเหยียบหลุมโสโครกบ่อน้ำครำที่เจือปนด้วยน้ำล้างปลาและน้ำล้างเนื้อ น้ำซาวข้าว น้ำมูก น้ำลาย มูลสุนัขและสุกร เกลื่อนกล่นไปด้วยหมู่หมอนแมลงวันหัวเขียว ซึ่งเป็นแมลงวันที่ชาวบ้านเพาะขึ้นเที่ยวจับแฝงอยู่ที่ผ้าสังมาฏิบ้าง ที่บาตรบ้าง ที่ศีรษะบ้าง จำต้องเห็น จำต้องได้กลิ่น จำต้องอดกลั้น จำเดิมแต่เข้าไปจนกระทั่งออก ถ้าเป็นฆราวาสก็ต้องไปตลาดออกจากร้านนั้นเข้าร้านนี้ จากตลาดนี้ไปตลาดโน้น เหยียบย่ำไปในที่ที่เฉอะแฉะสกปรก ปะปนไปด้วยสิ่งที่ดีบ้างไม่ดีบ้าง ดังนั้นการบริโภคอาหารนี้เป็นสิ่งที่น่าเกลียดลำบากยุ่งยากมากมิได้เว้นแต่ละวัน

      ๓. โภคา พิจารณาความเป็นปฏิกูล โดยการบริโภค ว่า อาหารนี้เมื่อหย่อนมือลงไปหยิบทำป็นคำใส่เข้าในปาก ก็คลุกเคล้าปะปนด้วยน้ำลายใสที่ปลายลิ้น ด้วยน้ำลายข้นที่กลางลิ้น ฟันล่างทำกิจต่างครก ฟันบนทำกิจต่างสาก ลิ้นทำกิจต่างมือเคี้ยวอยู่ก็แปดเปื้อนด้วยมูลฟันที่ไม่ชำระฟันชำระไม่ถึง สี กลิ่น และ เครื่องปรุงที่จัดว่าเป็นอย่างดีนั้นก็กลับเปลี่ยนเป็นของน่าเกลียดไป ดุจดังรากสุนัขที่อยู่ในรางสุนัข แม้เป็นเช่นนั้นก็ยังกลืนกินได้ ก็เพราะลับสายตา หากว่าก่อนที่จะกลืน คายออกมาดูเสียก่อนแล้วจึงคอยหยิบใส่ปากกลืนไปใหม่ ดังนี้ก็จักบริโภคไปไม่ไหว นอกจากนี้ยังต้องบริโภคแล้วบริโภคอีกซ้ำๆ ซากๆ อยู่เสมอทุกค่ำเช้ามิได้เว้นวัน ดังนั้น อาหารที่คน ๆ หนึ่งได้บริโภเข้าไป นับจำเดิมแต่คลอดจากครรภ์มารดาจนกระทั่งถึงตายแต่ละอย่างๆ ถ้านำเอาออกมากองรวมไว้เป็นส่วนๆ เฉพาะๆ แล้ว ก็มีมากมายใหญ่โตเพียงแต่ข้าวสารกับน้ำ  อย่างเท่านั้น ข้าวสารคะเนว่าจะเป็นกองใหญ่เท่ากับเรือนหลังหนึ่ง จำนวนข้าวประมาณสัก ๑๕๐ กระสอบ น้ำเท่ากับสระโบกขรณี ๑ สระ นี้ว่ากันแต่ในภพนี้ ยังหาได้รวมภพก่อนๆ เข้าด้วยไม่ ฉะนั้น บัณฑิตทั้งหลายจึงกล่าวว่า ท้องของเรานี้เป็นมหาสมุทรอย่างหนึ่งที่มีประจำร่างกายของสัตว์ทั้งหลาย นี้แหละเป็นสิ่งที่น่าเกลียดในอาหารโดยการบริโภค

      ๔. อาสยา พิจารณาความเป็นปฏิกูล โดยที่อยู่ ว่า อาหารที่บริโภคเข้าไปนี้มีที่อาศัยอยู่ ๔ อย่าง คือ ๑. น้ำดี ๒. เสมหะ ๓. หนอง ๔. เลือด ใน ๔ อย่างนี้พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระเจ้าจักรพรรดิ์ มีอย่างใดอย่างหนึ่ง ส่วนชนทั้งหลายนอกจากนี้มีครบทั้ง ๔ เหตุนั้นผู้ใดมีน้ำดีมาก อาหารของผู้นั้นก็แปดเปื้อนด้วยน้ำดีดุจ ดังเขาเคล้าด้วยน้ำมันมะซางข้น ถ้ามีเสมหะมากก็แปดเปื้อนด้วยเสมหะ ดุจดังเขาระคนด้วยน้ำในกากะทิง ถ้ามีหนองมากก็แปดเปื้อนด้วยหนอง ดุจดังเขาระคนด้วยเปรียงเน่า ถ้ามีโลหิตมากก็แปดเปื้อนด้วยโลหิต ดังเขาระคนด้วยน้ำย้อม นี้แหละเป็นสิ่งที่น่าเกลียดในอาหารโดยที่อยู่

      ๕. นิธานโต พิจารณาความเป็นปฏิกูล โดยกระเพาะซึ่งเป็นที่หมักหมมรวมกันแห่งอาหารใหม่ ว่า อาหารที่ระคนด้วยน้ำดี เสมหะ หนอง เลือด ๔ อย่างๆใดอย่างหนึ่ง เมื่อเข้าไปสู่ภายในนั้น มิใช่ว่าจะไปหมักหมมรวมกันตั้งอยู่ในภาชนะเงินทอง แก้วมณี เป็นต้นแต่อย่างใดไม่ หากได้เข้าไปหมักหมมรวมกันไว้ในกระเพาะที่โสโครกน่าเกลียด ฉะนั้น ผู้มีอายุ ๑๐ ปีบริโภคเข้าไป อาหารก็ไปหมักหมมรวมกันไว้ในกระเพาะที่โสโครกนี้ตลอดระยะเวลา ๑๐ ปีโดยมิได้มีการชำระล้างถ่ายทิ้งออกเสียแต่อย่างใด เป็นไปเสมือนหนึ่งดุจหลุมคูถที่มิได้ขุดลอกถ่ายออกทิ้งก็ฉันนั้น ถ้าผู้มีอายุ ๒๐ ปี ๓๐ ปี จนถึง ๑๐๐ ปี บริโภคเข้าไป อาหารก็คงเข้าไปหมักหมมรวมกันไว้ในกระเพาะที่โสโครกนี้ตลอดระยะเวลานานเท่านั้น มิได้มีเวลาที่จะทำการถ่ายทิ้งชำระได้แม้แต่อย่างใดเลย คงเป็นไปเสมือนหนึ่งหลุมคูถที่มิได้มีการขุดถ่ายออกตลอดระยะเวลา ๒๐-๓๐-๑๐๐ ปี ก็ฉันนั้น  นี้แหละเป็นสิ่งที่น่าเกลียดโดยกระเพาะซึ่งเป็นที่หมักหมมรวมกันแห่งอาหารใหม่

      ๖. อปกฺกา พิจารณาความเป็นปฏิกูล โดยยังไม่ย่อย ว่า อาหารที่บริโภคแต่วานนี้ก็ดี วันนี้ก็ดี ที่เข้าไปหมักหมมรวมกันอยู่ในกระเพาะอันเป็นที่โสโครกนี้  มีอาการเป็นฟองเกิดขึ้น ด้วยอำนาจของปาจกเตโชที่มีประจำอยู่ภายใต้กระเพาะอาหารทำการเผาผลาญให้ย่อยละลาย เป็นไปเสมือนหนึ่งขยะมูลฝอยเศษอาหารต่างๆ หญ้าใบไม้ เสื่อลำแพนเก่า ซากงู สุนัข หนู เป็นต้นที่ชาวบ้านพากันทิ้งไว้ในหลุม เมื่อฝนตกในฤดูแร้งถูกแสงอาทิตย์แผดเผาให้ร้อน ก็เดือดปุดเป็นฟองขึ้นมาเป็นฝาอยู่ฉันใด อาหารที่บริโภคเข้าไปแต่วานนี้ วันนี้ ก็มีสภาพเป็นของน่าสะอิดสะเอียนยิ่งก็ฉันนั้น นี้แหละเป็นสิ่งที่น่าเกลียดโดยยังไม่ย่อย

      ๗. ปกฺกา พิจารณาความเป็นปฏิกูล โดยย่อยแล้ว ว่า อาหารที่ถูกเผาผลาญด้วยปาจกเตโชนี้ เมื่อย่อยเสร็จแล้วนั้นหาใช่กลายเป็นทองเป็นเงิน ดังเช่นการเล่นแร่แปรธาตุให้สำเร็จเป็นทองคำ เป็นเงินขึ้น เช่นนี้ก็หาไม่ หากแต่กลายไปเป็นอุจจาระและปัสสาวะ ส่วนที่เป็นอุจจาระนั้นก็ไปขังอยู่ในกระเพาะอุจจาระเป็นก้อนๆ เหมือนดังดินเหลืองที่เขาบดให้ละเอียดแล้วใส่ไว้ในกระบอกไม้ไผ่ฉันนั้น ส่วนที่เป็นปัสสาวะก็ไปขังเต็มอยู่ในกระเพาะปัสสาวะ นี้แหละเป็นสิ่งที่น่าเกลียดโดยย่อยแล้ว

      ๘. ผลา พิจารณาความเป็นปฏิกูล โดยผลที่สำเร็จ ว่า อาหารที่ย่อยเสร็จเรียบร้อยแล้ว ด้วยอำนาจปาจกเตโซธาตุนั้นย่อมให้สำเร็จเป็นเลือด เนื้อ กระดูก ผมขน เล็บ ฟัน เป็นต้น ส่วนอาหารที่ไม่ย่อยนั้นก็กลับทำให้โรคต่างๆ เกิดขึ้นมากมายเช่น ททฺทุ หิดเปื่อย, กณฺทุ หิดด้าน, กจฺฉุ คุดทะราด, กุฏฺฐ โรคเรื้อน, กิลาส กลาก, โสส หืด, กาส ไอ,  อติสาร ลงแดง เป็นต้น ล้วนแต่เป็นผลที่เกิดจากอาหารที่บริโภคเข้าไป นี้แหละเป็นสิ่งที่น่าเกลียดและน่ากลัวโดยผลที่สำเร็จ

      ๙. นิสฺสนฺทโต พิจารณาความเป็นปฏิกูล โดยการหลั่งไหล ว่า อาหารที่บริโคคเข้าไปนี้ เมื่อขณะบริโภคนั้นย่อมเข้าไปแต่ทางเดียว ครั้นเมื่อไหลออกก็ไหลออกจากช่องใหญ่ทั้ง ๙ ช่องเล็กทุกขุมขน เป็นไปโดยประการต่างๆ เป็นต้นว่าไหลจากช่องตาทั้งสองเป็นขี้ตา ไหลจากช่องหูทั้งสองเป็นขี้หู ไหลออกจากช่องจมูกทั้งสองเป็นขี้มูก ไหลจากช่องปากเป็น น้ำลาย เสมหะ ไหลจากช่องทวารหนักเป็นอุจจาระ จากทวารเบาเป็นปัสสาวะ ไหลจากช่องขุมขนเป็นเหงื่อ ขณะที่บริโภคอยู่นั้น ย่อมนั่งล้อมวงพร้อมหน้ากันเป็นหมู่ๆ เมื่อถึงคราวที่จะถ่ายออกเป็นอุจจาระ ปัสสาวะก็ต้องปลีกออกจากหมูไปแอบแฝงแต่เดียวดาย เมื่อบริโภคในวันแรกมีทั้งยินดี ร่าเริง สนุก-สนาน ปลื้มใจปีติโสมนัส ครั้นวันที่ ๒ เป็นเวลาที่จะถ่ายออก ย่อมปีดจมูก หน้านิ่วคิ้วขมวดสะอิดสะเอียน เก้อเขิน และในวันแรกมีความเอร็ดอร่อยชอบอกชอบใจจดจ่อหลงไหลหมกมุ่นกลืนกิน พอรุ่งขึ้นวันที่ ๒ ทิ้งไว้เพียงคืนเดียวก็หมดความชอบใจ กลับเกลียดขยะแขยง มีความรำคาญไม่สบายเพราะต้องทำการถ่ายออก เหตุนั้นท่านโบราณาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวว่า

            ๑. อนฺนํ ปานํ ขาทนียํ       โภชนญฺจ มหารหํ

               เอกทฺวาเรน ปวิสิตฺวา    นวทฺวาเรหิ สนฺทติ ฯ

            ๒. อนฺนํ ปานํ ขาทนียํ       โภชนญฺจ มหารหํ

               ภุญฺชติ สปริวาโร         นิกฺขาเมนฺโต นิลียติ

            ๓. อนฺนํ ปานํ ขาทนียํ       โภชนญฺจ มหารหํ

               ภุญฺชติ อภินนฺทนฺโต      นิกฺขาเมนฺโต ชิคุจฺฉติ ฯ

            ๔. อนฺนํ ปานํ ขาทนียํ       โภชนญฺจ มหารหํ

               เอกรตฺติปริวาสา         สพฺพํ ภวติ ปูติกนฺติ ฯ


แปลความว่า

      ๑) ข้าว เครื่องดื่ม ของคบเคี้ยว และของบริโภค ซึ่งควรแก่ผู้ที่ยิ่งใหญ่เข้าไปโดยทางเดียว แต่หลั่งไหลออกจากช่องใหญ่ทั้ง ๙ (และช่องขุมขน)

      ๒) ข้าว เครื่องดื่ม ของขบเคี้ยว และของบริโภค ซึ่งควรแก่ผู้ที่ยิ่งใหญ่ขณะที่รับประทานอยู่ก็รวมหน้าพร้อมกันหนดทั้งญาติ พี่น้อง ลูกหลาน และมิตรสหายครั้นถึงเวลาที่ถ่าย ก็ต้องปลีกตัวออกไปแอบแฝงอยู่แต่เดียวดาย

      ๓) ข้าว เครื่องดื่ม ของขบเคี้ยว และของบริโภค ซึ่งควรแก่ผู้ที่ยิ่งใหญ่ขณะที่กำลังรับประทานอยู่นั้นย่อมยินดี รื่นเริง เอร็ดอร่อย ครั้นถ่ายออกมาก็กลับขยะแขยง เกลียด เหม็น ไม่อยากมอง

      ๔) ข้าว เครื่องดื่ม ของขบเคี้ยว และเครื่องบริโภค ซึ่งควรแก่ผู้ที่ยิ่งใหญ่เข้าไปในท้องเพียงคืนเดียว พอรุ่งขึ้นก็บูดเน่าเสียไปหมด


      ๑๐. มกฺขนา พิจารณาความเป็นปฏิกูล โดยความแปดเปื้อน ว่า อาหารนี้แม้ในเวลาบริโภดอยู่ ย่อมแปดเปื้อนมือ ปาก ลิ้น เพดาน ฉะนั้น อวัยวะเหล่านี้จึงมีการเปรอะเปื้อนไปด้วยสิ่งเหม็นคาวสิ้น แม้ล้างแล้วก็ต้องล้างอีก ถึงกระนั้นกลิ่นคาวเหม็นก็ไม่ค่อยจะหมดไป จำต้องล้างด้วยเครื่องหอมซ้ำอีกเพื่อจักขจัดกลิ่นให้ลิ้นสูญ ครั้นถึงคราวที่จะไหลออก หลังจากย่อยเสร็จแล้วก็เปื้อนเปรอะไปทั่วตัว คือเปื้อนตาโดยเป็นขี้ตา เปื้อนหู โดยเป็นขี้หู เปื้อนจมูกโดยเป็นขี้มูก เปื้อนฟันโดยเป็นขี้ฟัน เปื้อนปากและลิ้นเพดานโดยเป็นน้ำลาย เสมหะ เปื้อนร่างกายทั่วไปโดยเป็นเหงื่อ เปื้อนทวารหนัก ทวารเบาโดยเป็น อุจจาระ ปัสสาวะ เปรอะเปื้อนน่าเกลียดทั่วไปหมด แม้ะหมั่นอาบน้ำชำระขัดสีอยู่ทุกวันก็ไม่สะอาดไปได้ เปรอะเปื้อนอยู่แต่อย่างนี้ตลอดไป บางส่วนของร่างกายชำระล้างเพียงครั้งหนึ่งหรือ  ครั้งก็พอจะสะอาดสะอ้านเกลี้ยงเกลาลงได้บ้างเสร็จแล้วมือก็ไม่ต้องล้าง คงสะอาดหมดจดไปด้วย สำหรับบางส่วนมีทวารหนักทวารเบานั้นต้องชำระล้างเป็นพิเศษ เสร็จแล้วก็ต้องทำการล้างมือเสียใหม่ด้วยเครื่องชำระล้างต่างๆ เพื่อขจัดความแปดเปื้อนสกปรกที่มือให้หมดไป นี้แหละเป็นสิ่งที่น่าเกลียดโดยความแปดเปื้อน


นิมิต ภาวนา และปริญญาในการเจริญอาหารปฏิกูลสัญญา

      เมื่อผู้เจริญได้ทำการพิจารณาในอาหารโดยความเป็นปฏิกูลด้วยอาการ ๑๐ อย่างติดต่อกันอยู่เสมอตามลำดับดังที่กล่าวแล้ว การเจริญกรรมฐานนี้ไม่มีอุคคหนิมิตและปฏิภาคนิมิตเกิด คงมีแต่บริกรรมนิมิตเกิดอย่างเดียว คือ อาหารต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องด้วยสัญญาของตนที่มีการเห็นว่าเป็นปฏิกูลนี้เอง

      ส่วนภาวนานั้นได้ ๒ อย่าง คือ บริกรรมภาวนาและอุปจารภาวนา ที่เป็นดังนี้เพราะการเจริญกรรมฐานนี้มีสภาวอาหาร คือ พพีการาหาร เป็นอารมณ์เป็นหลักเกณฑ์ สำหรับสมมุติอาหาร คือ ตัวอาหารต่างๆ ที่เห็นอยู่นั้น เพียงแต่เป็นเครื่องประกอบในการเจริญเท่านั้น ตามธรรมดาสภาวอาหารนี้มีสภาพละเอียดสุขุมลุมลึกทั้งเป็นธรรมารมณ์ ด้วยเหตุนี้ อุคคหนิมิต และ ปฏิภาคนิมิตทั้งสองนี้จึงไม่ปรากฏ เมื่อปฏิภาคนิมิตไม่ปรากฏ อัปปนาภาวนาอันเป็นตัวฌานก็เกิดขึ้นไม่ได้

      แต่อย่างไรก็ตาม การเจริญกรรมฐานนี้ ผู้เจริญย่อมได้ปริญญาทั้ง ๓ เกิดขึ้นตามลำดับดังนี้

      ๑. เห็นความทุกข์ยากลำบากโดยนานาประการในการบริโภค นับแต่การไปสู่สถานที่ การแสวงหา เป็นต้นจนถึง การเปื้อนเปรอะ นี้เรียกว่า ญาตปริญญา

      ๒. เห็นความเกิดดับของอาหารที่บริโภคเข้าไป ความเกิดดับของรูปภายในตนที่เกิดจากอาหาร และ ความเกิดดับของจิตใจในขณะที่กำลังบริโภค และ หลังจากบริโภคแล้ว นี้เรียกว่า ตีรณปริญญา

      ๓. สามารถประหาณรสตัณหา คือ ความยินดีพอใจในรสเสียได้ นี้เรียกว่าปหานปริญญา


อานิสงส์ที่ได้รับจากการเจริญอาหาเรปฏิกูลสัญญา

           ๑. อาหาเร จชเต ตณฺหํ     ปุตฺตมสํว ภุญฺชติ

              ตํ มุขา กามคุณิก-      ราโคปี ปริชานิโย ฯ

           ๒. ปริชาเน รูปกฺขนฺธํ        กาเย สติ จ ปูรติ

              อสุภสญฺญานุโลมํ        ปฏิปทมฺปี ปชฺชติ

              อมตํ อิธ อปฺปตฺโต       โส สุคฺคติปรายโน ฯ

      แปลความว่า

      ๑. ผู้เจริญอาหาเรปฏิกูลสัญญา สามารถประหาณรสตัณหาได้ ดุจดังสามีภรรยาที่บริโภคเนื้อบุตรในทางกันดารที่แร้นแค้นด้วยอาหารโดยไม่มีความยินดี ประสงค์เพียงแต่จะข้ามทางกันดารให้ถึงที่หมายปลายทางฉันใด ผู้เจริญก็ย่อมบริโภคไปฉันนั้นอาศัยเหตุ คือ การบริโภคอาหารที่ปราศจากรสตัณหา ประสงค์เพียงแต่จะดำรงชีวิตร่างกายเอาไว้ เพื่อจะได้ทำการปฏิบัติให้พ้นออกไปจากวัฏฏทุกข์นี้ แม้ตัณหา ราคะในกามคุณ ๕ ผู้เจริญก็ย่อมละลงได้

      ๒. อาศัยเหตุ คือ การละตัณหา ราคะ ในกามคุณ  ลงได้นี้ ผู้เจริญย่อมกำหนดรู้รูปขันธ์โดยปริญญาสาม แม้กายคตาสติภาวนาก็ย่อมสำเร็จบริบูรณ์ไปด้วย (กล่าวคือขณะพิจารณาความเป็นปฏิกูลโดย อาสยะ นิธานะ ได้โกฏฐาส ๔ คือ ปีตตัง เสมหัง ปุพโพ โลหิตัง ขณะที่พิจารณาความเป็นปฏิกูลโดยอปักกะ ก็ได้โกฎฐาส ๑ คือ อุทริยัง ขณะที่พิจารณาความเป็นปฏิกูลโดยปักกะ ก็ได้โกฏฐาส ๒ คือ กรีสัง มุตตัง และขณะที่พิจารณาความเป็นปฏิกูลโดยผล ก็ได้โกฏฐาสทั้งหมดที่เหลือมี เกสา โลมา เป็นต้น) และอนุโลมเข้าในปฏิปทาแห่งอสุภสัญญาด้วย อาศัยข้อปฏิบัติอย่างนี้แม้ว่าผู้เจริญยังมิอาจเข้าสู่พระนิพพานในภพนี้ทันตาเห็นก็ตาม แต่คงมีสุคติภูมิเป็นไปในเบื้องหน้าอย่างแน่แท้

      ความลำบากที่เกิดจากการบริโภคอาหาร และนามอาหาร ๓ พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ในสุตตนิบาตพระบาลี(1) ว่า

            ยํ กิญฺจิ(2) ทุกฺขํ สมฺโภติ       สพฺพํ อาหารปจฺจยา

            อาหารานํ นิโรเธน              นตฺถิ ทุกฺขสฺส สมฺภโว ฯ

      (1,2 สยา. ขุททกนิกาย สุตตนิปาต มหาวัคค ทวยตานุปัสสนาสูตร เล่ม ๒๕ ข้อ ๔๐๑ - ยงฺกิญฺจิ)

      แปลความว่า ทุกข์ใด ๆ ที่เกิดขึ้นแล้ว ทุกข์เหล่านั้นทั้งหมด ย่อมมีอาหารทั้ง ๔

      ช่วยอุดหนุนให้เกิดเสมอ ดังนั้นถ้าอาหารทั้ง ๔ ดับลงเมื่อใด ความเกิดขึ้นแห่งทุกข์

      ก็ไม่มีเมื่อนั้น


จบอาหาเรปฏิกูลสัญญา

--------//---------

[full-post]

ปริจเฉทที่๙,สมถกรรมฐาน,อภิธัมมัตถสังคหะ,อาหาเรปฏิกูลสัญญา

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.