Sompob Sanguanpanich
ผู้ดูแล

ผู้มีศีลดี (สีลวา)
...
ควรเข้าใจคำว่า ศีล ในเชิงพยัญชนะก่อน
“ศีล” มีความหมายตามศัพท์ว่า ตั้งมั่น มีอรรถาธิบายโดยสรุปว่า
      ที่ชื่อว่า ศีล (สีลนฏฺเฐน สีลํ) เพราะความหมายว่า สีลนะ (สีลนํ), สีลนะ มีความหมาย ๒ อย่าง คือ

      ก. ความมั่นคงไม่เสียหายแห่งกาย และวาจา เพราะเหตุที่มีศีลดี ดังคำจำกัดความว่า
         สมาธานํ วา, กายกมฺมาทีนํ สุสีลฺยวเสน อวิปฺปกิณฺณตาติ อตฺโถฯ
         การตั้งมั่นด้วยดี (สมาธานะ) คือ ภาวะที่กายกรรมเป็นต้นมั่นคง ไม่เป็นอันกระจัดกระจาย ด้วยความเป็นผู้มีศีลดี (วิสุทฺธิ.๑/๗)
.
      ข. การทรงไว้มั่น (อุปธารณะ) การทรงไว้มั่น หมายความว่า การเป็นที่รองรับกุศลธรรมมีฌานเป็นต้นโดยความเป็นที่อาศัย. เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวไว้ในคัมภีร์สัททนีติปกรณ์ ธาตุมาลา ความว่า
        สีลติ สมาธิยติ กายกมฺมาทีนํ สุสีลฺยวเสน น วิปฺปกิรตีติ สีลํฯ อถ วา สีลนฺติ สมาทหนฺติ จิตฺตํ เอเตนาติ สีลํฯ
        ชื่อว่า ศีล เพราะเป็นสภาวะที่ตั้งอยู่ด้วยดี คือ ความที่กายกรรมเป็นต้นไม่กระจัดกระจายไป โดยความเป็นผู้มีศีลดี (สีลธาตุ สมาธิมฺหิ ตั้งไว้ดี + อปัจจัย กัตตุสาธนะ). อีกนัยหนึ่ง ชื่อว่า สีล เพราะเป็นสภาวะทําให้จิตตั้งมั่น. (สีล + อ ปัจจัย กรณสาธนะ)
        สีเลติ กุสเล ธมฺเม อุปธาเรติ ปติฏฺฐาภาเวน ภุโส ธาเรตีติ สีลํฯ สีเลนฺติ วา เอเตน กุสเล ธมฺเม อุปธาเรนฺติ ภุโส ธาเรนฺติ สาธโวติ สีลนฺติ นิพฺพจนานิฯ
        ชื่อว่า สีล เพราะเป็นสภาวะรองรับกุศลธรรมอย่างดียิ่งโดยความเป็นที่ตั้ง (สีลธาตุ อุปธารเณ ทรงไว้ + เณปัจจัย (จุราทิ) + อปัจจัยกัตตุสาธนะ) . อีกนัยหนึ่ง ชื่อว่า สีล เพราะเป็นเครื่องรองรับกุศลธรรมไว้อย่างดียิ่งของสาธุชน (สีลธาตุ อุปธารเณ ทรงไว้ + เณปัจจัย (จุราทิ) + อปัจจัยกรณสาธนะ)
...
ยังมีความหมายอื่นๆของคำว่า ศีล ที่ควรทราบ
      ๑) สิรฏฺโฐ สีลตฺโถ ความหมายว่า ศีรษะ เป็นอรรถของสีลศัพท์ หมายความว่า ถ้าศีรษะขาดไป ร่างกายทั้งหมดก็พินาศไปด้วย ฉันใด, เมื่อศีลวิบัติแล้ว ร่างกายคือคุณธรรมทั้งหมด ก็พินาศไป ฉันนั้น
      ๒) สีตลฏฺโฐ ความหมายว่า เย็น ก็เป็นอรรถของสีลศัพท์ หมายความว่า สีลเป็นสภาวะที่ทำให้กิเลสอันเร่าร้อนสงบเย็น.
      ๓) สีลฏฺโฐ ความหมายว่า ตั้งมั่น
      ๔) สํวรฏฺโฐ ความหมายว่า สำรวม
      (อุทานฏฺฐฏถา เมฆิยสุตฺตวณฺณนา)
...
      เป็นอันทำความตกลงใจได้ว่า ศีล แท้ที่จริง คือ เป็นสภาวะที่รองรับ (สีเลตีติ สีลํ) อย่างหนึ่ง เป็นสภาวะทีี่เป็นเหตุให้จิตตั้งมั่น และเป็นเครื่องรองรับกุศลธรรมอื่นๆไว้ กล่าวคือ เป็นรากฐานให้ธรรมอย่างอื่นอันอาศัยตนเจริญงอกงามมั่นคง
...
      ผู้มีศีลดี มีศีลนี้อย่างครบถ้วน มีศีลนี้อย่างดีเยี่ยม ย่อมทำให้วิมุตติสำเร็จได้ไม่ยาก เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
      อปริปกฺกาย, เมฆิย, เจโตวิมุตฺติยา อยํ ทุติโย ธมฺโม ปริปากาย สํวตฺตติ
      (ความเป็นผู้มีศีลดี) นี้เป็นธรรมประการที่ ๒ ที่เป็นไปเพื่อความแก่กล้วแห่งเจโตวิมุตติที่ยังไม่แก่กล้า”
....
ผู้มีศีลดี จะมีธรรม ๔ ประการเป็นเครื่องสังเกต คือ
      ๑. เป็นผู้สำรวมระวังในพระปาติโมกข์อยู่ (ปาติโมกฺขสํวรสํวุโต วิหรติ)
      ๒. ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจร (อาจารโคจรสมฺปนฺโน)
      ๓. มีปกติเห็นภัยในโทษมีประมาณเล็กน้อย (อณุมตฺเตสุ วชฺเชสุ ภยทสฺสาวี)
      ๔. สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย (สมาทาย สิกฺขติ สิกฺขาปเทสุ)
      เมื่อประกอบด้วยคุณลักษณะ ๔ ประการนี้ ย่อมได้ชื่อว่า เป็นผู้มีศีลดี (สีลวา โหติ) เพราะฉะนั้น ความเป็นผู้มีศีล จึงเป็นธรรมอีกประการหนึ่งที่ช่วยทำให้ภิกษุเข้าถึงวิมุตติได้
สมดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแก่พระเมฆิยเถระ ในคราวที่พระเถระประสงค์จะหลีกเร้นเพื่ออบรมวิมุตติความว่า
      ‘‘ปุน จปรํ, เมฆิย, ภิกฺขุ สีลวา โหติ, ปาติโมกฺขสํวรสํวุโต วิหรติ อาจารโคจรสมฺปนฺโน, อณุมตฺเตสุ วชฺเชสุ ภยทสฺสาวี, สมาทาย สิกฺขติ สิกฺขาปเทสุฯ”
      อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้มีศีล สำรวมในพระปาติโมกข์ ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจร มีปกติเห็นภาัยในโทษมีประมาณเล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย”
      (เมฆิยสูตร ขุททกนิกาย อุทาน ๒๕/๘๘)
***
สรุป
      ข้อธรรมที่ควรทำความเข้าใจไว้เนืองๆในธรรมกถา วิมุตติปาจนียธรรม นี้
      ความเป็นผู้มีศีลดี จึงเป็น ๑ ในบรรดาธรรม ๕ ประการสำหรับภิกษุผู้อบรมวิมุตติให้แก่กล้า คือ
      ๑) มีกัลยาณมิตร
      ๒) มีศีล
      ๓) ได้กถาขูดเกลากิเลสโดยง่าย
      ๔) ปรารภความเพียร
      ๕) มีปัญญาพิจารณาเห็นความเกิดดับอันเป็นอริยะ ชำแรกกิเลสให้ถึงความสิ้นทุกข์
...
      ก็ธรรม ๕ ประการนี้ มีอยู่แก่ภิกษุใด ภิกษุนั้น ย่อมควรเพื่อเป็นผู้เจริญธรรม ๔ ประการให้ยิ่งขึ้นไป คือ เจริญอสุภะเพื่อละราคะ เจริญเมตตาเพื่อละพยาบาท เจริญอานาปานัสสติเพื่อตัดวิตก เจริญอนิจจสัญญาเพื่อถอนอัสมิมานะ เจริญอนัตตสัญญา เมื่อเจริญธรรม ๔ ประการให้แก่กล้าไปตามลำดับแล้ว ย่อมบรรลุนิพพานในปัจจุบัน (หมายถึง บรรลุพระอรหัตในชาตินี้)
...
      ขออนุโมทนา
      สมภพ สงวนพานิช

-----------------------------
[full-post]

ศีล,อรรถแห่งศีล

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.