Sompob Sanguanpanich


บทสรุป "มิลินทปัญหา"

๓. ปณามิตวรรค

อัคคัคคสมณปัญหา

ปัญหาว่าด้วยสมณะผู้ยอดเยี่ยม

****

      สมณะ ในพระบาฬีบางแห่งหมายถึง พระขีณาสพ แต่ในพระบาฬีอีกแห่งหนึ่งหมายเอาเพียงผู้มีธรรมเป็นให้สงบบาปธรรม ซึ่งไม่จำต้องเป็นผูู้สิ้นกิเลสาสวะโดยสิ้นเชิง เหมือนอย่างพระขีณาสพ.

      เกี่ยวกับเรื่องนี้ ต้องมีอะไรที่เป็นเหตุให้ทรงแสดงไว้ต่างกันเป็นแน่

      ติดตามเนื้อความที่กล่าวถึงเรื่องราวเหล่านี้ต่อไป ในพระคัมภีร์มิลินทปัญหานี้ที่ข้าพเจ้าแปลโดยภาษาบาลี - ไทย ตามนี้

https://dhammapalisikkha.blogspot.com/.../blog-post_31.html

****

      ถาม คำว่า สมณะ หมายถึง ผู้สิ้นอาสวะ เพราะมีหลักฐานพระบาฬียืนยันว่า อาสวานํ ขยา สมโณ โหติ ชื่อว่า เป็นสมณะ เพราะสิ้นอาสวะทั้งหลาย (ม.มู. มหาจุฬาเตปิฏก ๑๒/๔๓๘/๓๘๖), แต่ทำไม ผู้ยังไม่สิ้นอาสวะ ก็ยังมีชื่อว่า สมณะ อีก ดังพระบาฬีจตุโปสถิกชาดกนี้ว่า จตุพฺภิ ธมฺเมหิ สมงฺคิภูตํ, ตํ เว นรํ สมณํ อาหุ โลเก นรชนนั้นแลผู้พรั่งพร้อมด้วยธรรมทั้ง ๔ ประการ บัณฑิตทั้งหลายกล่าวว่า เป็นสมณะในโลก (ขุ.ชา. มหาจุฬาเตปิฏก ๒๗/๓๒/๒๑๕).

ธรรม ๔ ประการที่เป็นเหตุให้บุคคลเหล่านั้นแม้เป็นปุถุชน ยังได้ชื่อว่า สมณะ คือ

      ๑. ขันติ ความอดทน 

      ๒. อัปปาหารตา ความเป็นผู้มีอาหารน้อย 

      ๓. รติวิปปหานัง การละความยินดี 

      ๔. อากิญจัญญัง ความไม่มีสิ่งยุ่งเกี่ยว.


(เพิ่มเติม) ก็ในอรรถกถาแห่งพระบาฬีจตุโปสถิกชาดก อธิบายว่า

      พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นวิธุรบัณฑิต ได้ตรัสสอนบุคคล ๔ คน ซึ่งล้วนเป็นปุถุชน คือ (๑) พญานาค (๒) พญาสุบรรณ (๓) ท่านท้าวสักกะ (๔) พระเจ้าโกรัพยะ มีใจความว่า บุคคลได้ชื่อว่า สมณะ (ซึ่งแปลว่าผู้สงบ) ก็เพราะมีธรรมเครื่องให้สงบ คือ พญานาค จะได้ชื่อว่า เป็นสมณะ ก็เพราะมีขันติ ความอดทน อดกลั้น เป็นเครื่องสงบความกลัวพญาสุบรรณและความกลัวตาย. พญาครุฑ จะได้ชื่อว่า เป็นสมณะ ก็เพราะมีอัปปาหารตา ความเป็นผู้มีอาหารน้อย คือ ความคิดงดเว้นการถือเอาพวกนาคเป็นอาหารเครื่องสงบเวร .ท่านท้าวสักกะ จะได้ชื่อว่า เป็นสมณะ ก็เพราะมีรติวิปปหานะ การละความยินดี คือ ละเว้นหลีกห่างจากหมู่นางฟ้า เป็นเครื่องสงบความเร่าร้อนคือราคะ. พระเจ้าโกรัพยะ จะได้ชื่อว่า เป็นสมณะ ก็เพราะมีอากิญจัญญะ ความไม่มียุ่งเกี่ยวอันเป็นชื่อของความมักน้อยและความสันโดษ เป็นเครื่องสงบความขวนขวายไม่รู้จักหยุดในอันจะเผยแผ่พระราชอำนาจครอบครองแว่นแคว้นชนบท

เมื่อเป็นเช่นนี้ สมณะ ในพระบาฬีที่ ๑ เห็นจะไม่จริง เพราะสมณะ ที่ยังมีอาสวะก็มีอีก ดังที่มาในพระบาฬีชาดกนั้น มิใช่หรือ ก็หรือว่า สมณะในพระบาฬีที่ ๒ ไม่ถูกต้อง เพราะตามพระบาฬีที่ ๑ สมณะ ต้องหมายถึง พระขีณาสพ เท่านั้น.

      ตอบ เรื่องนี้ ควรใส่ใจในการแสดงธรรมของพระพุทธองค์มี ๒ นัย คือ

      ๑) สเสสวจนะ ยังมีส่วนเหลือ กล่าวคือ กล่าวไว้โดยอ้อม ถือเอาความตามบริบท เรียกอีกชื่อหนึ่ง ปริยายวจนะ

      ๒) นิรวเสสวจนะ ครบถ้วนบริบูรณ์ ถือเอาได้โดยตรงตามพระดำรัส เรียกอีกชื่อว่า นิปปริยายวจนะ

      บรรดาพระบาฬีทั้งสองนั้น

      พระบาฬีที่ ๑ ว่า ชื่อว่า เป็นสมณะ ก็เพราะสิ้นอาสวะทั้งหลาย ดังนี้ นี้ เป็นคำพูดที่หาส่วนเหลือมิได้ เป็นคำพูดโดยตรง เพราะหมายเอาพระอรหันต์เท่านั้น จัดเป็นนิปปริยายวจนะ

      พระบาฬีที่ ๒ นระนั้นแลผู้พรั่งพร้อมด้วยธรรม ๔ ประการ บัณฑิตทั้งหลาย กล่าวว่า เป็นสมณะในโลก ดังนี้ นั้น ตรัสไว้เกี่ยวกับเป็นคุณธรรมสำหรับบุคคลเหล่านั้นเท่านั้น ตามที่ปรากฏในพระบาฬีนั้นๆเท่านั้น ซึ่งยังยกเว้นไม่กล่าวถึงสมณะที่เหลือคือพระอรหันต์ แม้จะเป็นบุคคลผู้สงบกิเลสทั้งหลายได้โดยเด็ดขาดก็ตาม จึงจัดเป็นปริยายวจนะ

ด้วยเหตุนี้ ทั้งสองแห่งจึงไม่ขัดแย้งกัน ต่างกันเพียงวิธีการแสดงเท่านั้น

      ถาม มีอีกนัยหนึ่งบ้างไหม

      ตอบ อีกอย่างหนึ่ง บรรดาบุคคลเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อสงบกิเลส (คือเป็นสมณะ) พระขีณาสพผู้สงบกิเลสได้แล้วนั่นเทียว เทียบ ๆ กับบุคคลเหล่านั้นทั้งหมดแล้ว ก็จัดว่าเป็นยอดสมณะ

      หมายความว่า แม้ในที่อื่น จะตรัสถึงบุคคลผู้มีธรรม ๔ อย่างว่า เป็นสมณะ ก็ตาม ก็มิได้ตรัสไว้ทรงหมายเอาว่าเป็นยอดสมณะ ส่วนคำที่ตรัสว่า ชื่อว่าเป็นสมณะ ก็เพราะสิ้นอาสวะทั้งหลาย ดังนี้ นี้ ตรัสไว้ด้วยทรงหมายเอาว่าเป็นยอดสมณะ เพราะเทียบกับสมณะทั้งหมดในโลกนี้.

      ถาม อยากให้ยกคติโลกมาเป็นเครื่องเปรียบเทียบ อาจเข้าใจง่าย

      ตอบ เปรียบได้กับดอกไม้ทั้งที่เกิดในน้ำ ทั้งที่เกิดบนบก เหล่าใดเหล่าหนึ่ง บรรดาดอกไม้เหล่านั้น ดอกมะลิ กล่าวได้ว่าเป็นยอดดอกไม้ ก็ดอกไม้ชนิดต่าง ๆ เหล่าใดเหล่าหนึ่งที่เหลือ ดอกมะลินั่นเทียว เทียบ ๆ กับดอกไม้ทั้งหมดเหล่านั้นแล้ว ก็จัดว่าเป็นดอกไม้ที่คนปรารถนา ที่คนชื่นใจ

      หรือเปรียบได้กับข้าวสาลี กล่าวได้ว่า เป็นยอดข้าวแห่งประเภทข้าวทั้งหลาย ข้าวชนิดต่าง ๆ เหล่าใดเหล่าหนึ่งที่เหลือ ข้าวสาลีนั่นเทียว เทียบกับข้าวทั้งหมดเหล่านั้น ด้วยความเป็นโภชนะเยียวยาสรีระแล้ว ก็กล่าวได้ว่า เป็นยอดโภชนะแห่งบรรดาข้าวเหล่านั้น

      ด้วยเหตุนี้ บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อสงบกิเลสเหล่าใดเหล่าหนึ่ง พระขีณาสพผู้สงบกิเลสได้แล้วนั่นเทียว เทียบ ๆ กับบุคคลเหล่านั้นทั้งหมดแล้ว ก็จัดว่าเป็นยอดสมณะ เหมือนกัน”

...

เป็นอันว่า

      "สมณะ" คือ ผู้มีคุณเครื่องให้กิเลสสงบระงับ ตามที่มาในคัมภีร์มิลินทปัญหานี้ มี ๕ ประเภท ซึ่งแบ่งออกเป็นเฉพาะพระขีณาสพเท่านั้น (สมุจเฉทปหาน) และบุคคลผู้มีคุณเหล่านั้น (ตทังคปหาน)

ธรรมเป็นเหตุให้บุคคลได้ชื่อว่า สมณะ

      ๑. ขันติ ความอดทน

      ๒. อัปปาหารตา ความเป็นผู้มีอาหารน้อย

      ๓. รติวิปปหานัง การละความยินดี

      ๔. อากิญจัญญัง ความไม่มีสิ่งยุ่งเกี่ยว.

         (จตุโปสกถิกชาดก ขุ.ชา. มหาจุฬาเตปิฏก ๒๗/๓๒/๒๑๕)

      ๕. อาสวขยัง ความสิ้นอาสวะ

         (ม.มู. มหาจุฬาเตปิฏก ๑๒/๔๓๘/๓๘๖)

      ๑ ถึง ๔ แม้เป็นปุถุชนผู้มีคุณเหล่านี้ ยังได้ชื่อว่า สมณะ

      ส่วนที่ ๕ หมายเอาพระอรหันตขีณาสพเท่านั้น

      ดังนั้น พระบาฬี ๒ แห่งมิขัดแย้งกัน เพียงแต่ต่างกันในโวหารที่ใช้แสดงเท่านั้น.

****

ขอนุโมทนา

สมภพ สงวนพานิช

----------------

[full-post]

อาจารย์สมภพ,ปกิณกธรรม,มิลินทปัญหา,อัคคัคคสมณปัญหา

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.